ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เข้าบริหารประเทศในจังหวะที่น่าจะเรียกได้ว่าสมเหตุสมผลในเรื่องของการสร้างสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่ความขัดแย้งเดินมาครบยี่สิบปีในปีนี้ เวลายี่สิบปีกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยังไม่นับงบประมาณมากมายที่ทุ่มลงไปแก้ปัญหา ไหนจะผลสะเทือนที่เป็นแรงกระเพื่อมจากการแก้ปัญหา ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนที่น่าจะมากพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เคยแข็งกร้าวมีท่าทีที่อ่อนลงและพร้อมจะทำหลาย ๆ อย่างเพื่อใช้สันติวิธีและแก้ปัญหาด้วยการพบกันครึ่งทาง
เวลาที่เนิ่นนานมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ความคาดหวังของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นผู้สูญเสียนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เขียนเองเชื่อว่าเงื่อนไขความพร้อมด้านเหตุผลและอารมณ์นั้นเปิดให้อย่างมากในเวลานี้ และภายใต้รัฐบาลชุดนี้ การพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นคงจะเริ่มได้ในไม่ช้า คำถามก็คือ เราจะคาดหวังได้แค่ไหน เส้นทางของการผลักดันเรื่องสันติภาพภาคใต้มีเค้าลางที่ดีขึ้นหรือไม่หลังจากยี่สิบปีของความรุนแรง
การพูดคุยในช่วงแรกอาจจะถือว่าอยู่ในช่วงตั้งตัว วนเวียนอยู่กับเรื่องการหาตัวจริงเสียงจริง ส่วนเวลาเก้าปีภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการพูดคุยภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจนว่าคือกรอบของฝ่ายความมั่นคง ก่อนที่รัฐบาลจะอำลาไป
จุดที่ค้างกันเอาไว้คือขั้นตอนที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงของสิ่งที่เป็นเนื้อหาจริงจังของการต่อรองที่เรียกกันว่าเป็นสารัตถะ
หลังจากที่อยู่ในกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างยาวนานจนแทบจะลืมไปว่ามีการพูดคุย ก่อนหน้าที่คณะพูดคุยชุดเดิมจะหมดอายุลงตามรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลได้แสดงความกระตือรือร้นอย่างมากในอันที่จะสื่อสารเรื่องของการสร้างสันติภาพต่อสาธารณะ มีจัดแถลงชี้แจงข่าวหลายหน ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ดีในการรณรงค์สาธารณะให้สนับสนุนกระบวนการ เพียงแต่ว่ามันอาจจะมาช้าไปนิดและน้อยเกินไป ส่วนทางด้านบีอาร์เอ็น ในตอนท้ายแม้จะมีปัญหาหลายเรื่องแต่ยังยืนยันว่าไม่เดินหนี ในนัดสุดท้ายนั้น แม้จะไม่ส่งคณะไปร่วมโต๊ะคุยด้วย แต่ก็ยังแถลงว่าจะรอให้มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่เสียก่อน
การนำเสนอของบีอาร์เอ็นเช่นนี้คล้ายกับจะส่อเค้าการเปลี่ยนวิธีมอง หลายคนอาจจะคิดว่าบีอาร์เอ็นเชื่อว่า ภายใต้ระบบรัฐสภาและประชาธิปไตย จะมีการตัดสินใจที่ใจกว้างมากขึ้นสำหรับพวกเขา อันที่จริงก็เห็นได้ด้วยว่า ภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้ง ฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เริ่มมีความหวังและเชื่อกันว่าภายใต้สภาพที่เป็นประชาธิปไตย การแก้ปัญหาภาคใต้ของไทยจะมีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น โอบรัดเอาการเมืองเข้ามาเป็นแก่นมากขึ้น ช่วงนั้นเป็นบรรยากาศที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าเป็นบวกอย่างมากกับการสร้างสันติภาพ
แต่ก็อยากเตือนความจำด้วยว่า ในช่วงหนึ่ง หลายคนที่คาดหวังกับการคลี่คลายความขัดแย้งเชื่อว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งจำเป็นนักสำหรับการสร้างสันติภาพ มีการไปดูตัวอย่างของการสร้างสันติภาพที่ประสบความสำเร็จในบางประเทศแล้วสรุปว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือแรงสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด โดยเฉพาะสำหรับประเทศอย่างไทย แรงผลักดันจากผู้มีอำนาจตัวจริงก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการสร้างสันติภาพ ที่จริงวิธีคิดนี้ดำรงอยู่ไม่เฉพาะเรื่องปัญหาใต้ กับเรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน เรามักเชื่อกันว่าเมื่อผู้มีอำนาจยินยอมหรือเห็นดีเห็นงาม ทุกอย่างเป็นไปได้หมด
ความเชื่อเช่นนั้นทำให้มีการมองหาตัวบุคคลในลักษณะดังกล่าวในสังคมไทย
ความคิดเช่นนี้ทำให้บางทีเราละเลยประเด็นอื่นไปก็มี เช่นทำให้มองข้ามความสำคัญของแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมาเราจึงไม่ได้พยายามรณรงค์สร้างความเข้าใจทั้งในแง่ความเข้าใจต่อปัญหาและความตระหนักรู้ถึงวิธีการคลี่คลายปัญหาเพื่อเตรียมความพร้อมของสาธารณะให้แสดงบทบาทสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ปล่อยทุกอย่างให้อธิบายตัวเองผ่านปรากฏการณ์และงานข่าวซึ่งไม่ได้แตะต้องเรื่องวิธีคิดในเรื่องสร้างสันติภาพ หรือการแก้ปัญหาสามจังหวัดใต้ด้วยการเมือง
เก้าปีที่ผ่านมาหรืออาจจะยาวนานกว่านั้นก็ได้ที่ความหวังของการต่อรองสันติภาพไปฝากไว้กับ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ในบ้านเมือง ความเชื่อมั่นนี้เห็นได้ชัดกับกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงจากคนในพื้นที่แม้ว่าในยุคของเขาจะมีเหตุการณ์เช่นตากใบ กรือเซะ การประกาศใช้กฎอัยการศึก ฯลฯ คนนอกหลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่า คนในพื้นที่จำนวนหนึ่งยังคงมองทักษิณว่าอยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาได้เมื่อใดก็ตามที่เขา “ตื่น” เพราะทักษิณในช่วงนั้นคือนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ถือว่ามีอำนาจมากที่สุดก็ว่าได้จากการที่กุมเสียงข้างมากในสภา มิหนำซ้ำมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงยิ่งเป็นทุนหนุนเสริมสถานะมากขึ้น
ความเชื่อมั่นในผู้นำที่มีอำนาจยังปรากฏต่อมาในยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เราได้เห็นการพูดคุยของบีอาร์เอ็นกับรัฐบาล ความคิดสำคัญที่ผลักดันพวกเขาจากที่ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ก็คือ การคุยกับทหาร (หรือคนของทหาร) ถือว่าเป็นการคุยกับ “ผู้กุมชะตากรรมตัวจริง” ของประเทศ ดีเสียอีกที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง
ปัญหาสำคัญที่ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจในการพูดคุย คือปัญหาอำนาจในการตัดสินใจในส่วนของรัฐบาลในเรื่องที่ไปพูดคุย เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นประเด็นตั้งแต่ที่คณะพูดคุยยังไม่ได้แตะต้องเรื่องของสาระสำคัญด้วยซ้ำ แม้แต่การพูดคุยภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ คณะพูดคุยก็ไม่ได้แสดงตัวว่ามีอำนาจในการที่จะตัดสินใจ เห็นได้จากการที่ไม่ได้พยายามจะลงนามในเอกสารใด ๆ โดยแจ้งว่าจะต้องรอให้ตกลงกันให้ได้ทั้งหมดก่อนแล้วจึงจะมีการลงนาม ประเด็นเรื่องการลงนามกลายเป็นเรื่องใหญ่ในตอนท้าย และผู้เขียนเชื่อว่าในเวลานี้บีอาร์เอ็นก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า การคุยกับรัฐบาลทหารก็ยากไม่แพ้รัฐบาลพลเรือน เพราะถึงที่สุดแล้วทหารก็อาจจะไม่อยากหรือไม่สามารถตัดสินใจในหลายเรื่องได้ พวกเขายังจะต้องฟังกลไกที่เป็นหัวใจของรัฐบาลอีกหลายกลุ่ม ผู้เขียนเชื่อว่าแม้แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เองก็ไม่อยากตัดสินใจในเรื่องพวกนี้เพราะมันหมายถึงการจะต้องปรับกลไกการบริหารหลายอย่างซึ่งทำไปแล้วไม่น่าจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยม ทั้งไม่เป็นการฝากผลงานที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของนายทหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ อย่างเช่นสมมุติว่าจะให้มีการกระจายอำนาจและปกครองพื้นที่ด้วยระบบพิเศษ แน่นอนว่าภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ที่จำกัดกรอบการกระจายอำนาจโดยทั่วไป เรื่องเช่นนี้ย่อมสวนทางกับกรอบที่ตัวเองวางไว้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจจะพบว่ามีวิธีที่ง่ายกว่าที่จะสร้างสันติภาพซึ่งก็คือการใช้กำลังจัดการ
ถึงที่สุดแล้ว การต่อรองที่จะมีผลให้มีการปรับกลไกรัฐในเรื่องอำนาจทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้นักการเมืองที่ไม่เพียงมีอำนาจผ่านการได้รับฉันทานุมัติที่ชัดเจน แต่จะต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองในอันที่จะทำเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทำแล้วอาจจะไม่ได้คะแนนเสียงอันใดเพิ่ม แต่รู้ว่าจำเป็นต้องทำเพื่อโอกาสและอนาคตของสาธารณะ
ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพซึ่งเป็นการคลี่คลายความขัดแย้งแบบ “เด็ดยอด” จึงเจอทางตันเพราะข้อจำกัดในเรื่องขาดการหนุนเสริมจากผู้นำที่มีลักษณะดังว่า เราอาจมีผู้นำที่มีอำนาจ หรือได้ฉันทานุมัติ แต่ขาดเจตนารมณ์ทางการเมือง
วันนี้เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่กลับเงียบเชียบอย่างยิ่งในเรื่องสันติภาพภาคใต้ เราแทบไม่ได้ยินนายกรัฐมนตรีเปิดเผยแนวคิดในการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่นี้ต่อสาธารณะเลย การไปพบปะกับผู้นำมาเลเซียก็เน้นหนักไปในเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายมาเลเซียนั้นแสดงท่าทีให้ความสำคัญกับการมีบทบาทช่วยแก้ไขความขัดแย้งในสามจังหวัดใต้มาแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข่าวของนายอันวาร์ อิบราฮิมผู้นำมาเลเซียเองเมื่อมาเยือนประเทศไทย หรือการที่เขาแต่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ที่แสดงความกระตือรือร้นอย่างมากและได้เดินทางไปพบปะผู้คนในพื้นที่มาแล้ว
อย่าว่าแต่นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลปัจจุบันเรามองไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าจะมีนักการเมืองในอำนาจรายใดที่เข้าแบกรับภาระในเรื่องการสร้างสันติภาพ แม้แต่ปัจจัยทางการเมืองที่จะหนุนเสริมให้มีการลดความขัดแย้งก็ยังดึงดูดความสนใจจากรัฐบาลได้ไม่มาก ทั้งที่มีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีผู้แทนจากในพื้นที่ร่วมอยู่โดยตรง ตัวอย่างที่สดใหม่มากคือปรากฏการณ์ล่าสุดที่มีการทะยอยแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีนักกิจกรรมหลายคนในพื้นที่โดยผู้กระทำการแทนแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 ที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรง แต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากนักจากรัฐบาลจนประชาชนหลายกลุ่มต้องร้องเรียน ทั้งทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำรัฐบาล และร้องเรียนแม้แต่กับสหประชาชาติ พวกเขายืนยันว่า การจะสร้างสันติภาพให้ได้และอย่างยั่งยืนมันต้องมีหลักประกันให้ผู้คนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ต่อให้มีการพูดคุยก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะ การคุยสันติภาพแต่ปิดปากสาธารณะก็ไม่ต่างไปจากการรวบหัวรวบหางทำข้อตกลงนั่นเอง
น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรายังไม่เห็นเงาผู้นำที่เข้าใจความจำเป็นของพื้นที่อย่างอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เต้ของฟิลิปปินส์ที่มีรากเหง้ามาจากพื้นที่ความขัดแย้งโดยตรงคือมินดาเนา เขาจึงเข้าใจความร้ายแรงและผลกระทบของปัญหา เดือดร้อนมากพอที่จะดันในสิ่งที่คิดว่าจะช่วยคลี่ความขัดแย้งได้ นั่นคือการยอมให้กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟได้เขตปกครองตนเอง เราไม่มีคนอย่างโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เข้าไปคลุกกับการต่อรองกรณีไอร์อาร์เอด้วยตัวเองจนได้ข้อตกลงกู้ดฟรายเดย์ยุติความรุนแรงและความขัดแย้งลงได้ แน่นอนว่าทั้งสองคนได้ฉันทานุมัติจากประชาชนในฐานะที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมีใจมุ่งมั่นที่จะแก้ไขความขัดแย้ง มันคือเจตนารมณ์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง
เมื่ออาการเป็นแบบนี้ ทำให้น่าคิดว่า การผลักดันเรื่องสันติภาพที่เวลานี้ทำผ่านเรื่องการเจรจา/พูดคุยนั้นน่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการประจำกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แม้ว่าการฝากความหวังไว้กับข้าราชการให้เป็นผู้ผลักดันกระบวนการสันติภาพอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะถึงอย่างไรการพูดคุยก็ต้องให้พวกเขาเป็นคนดำเนินการอยู่แล้ว แต่คำถามก็คือว่า ข้าราชการที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งนั้น จะกล้ารับปากในเนื้อหาต่าง ๆ ได้อย่างไรเพราะแน่นอนว่าสิ่งที่จะมีการเรียกร้องจะต้องเป็นสิ่งที่อยู่เหนือโครงสร้างทางการเมืองแบบปกติ และเมื่อไม่มีผู้นำทางการเมืองหนุนหลังจริงจัง การจะทำอะไรแต่ละอย่างก็แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาในการไปเบิกทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างคือประเด็นเรื่องการยอมให้คนของบีอาร์เอ็นเข้ามารับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ แค่เรื่องนี้อย่างเดียวก็ยากเย็นอย่างยิ่งแล้ว นอกจากนั้นคนที่ทำเรื่องการพูดคุยสันติภาพยังเป็นคนกลุ่มใกล้เคียงกับที่เกาะกุมงานที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง อย่างน้อยหนึ่งในนั้นก็เป็นตัวแทนของ กอ.รมน.ภาค 4 ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ จชต.นั่นเอง ผู้เขียนนึกไม่ออกว่าคนที่ทำงานเช่นนี้จะสลับหมวกกันอย่างไรในระหว่างสองเรื่องนี้ เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะที่งานสร้างสันติภาพคืองานการเมือง
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขที่ว่าเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีระบบรัฐสภา ผู้เขียนก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ลำพังข้อเท็จจริงอันนี้ในทางทฤษฎีก็ทำให้เกมการผลักดันสันติภาพชัดขึ้นมากแล้ว เพราะเท่ากับว่าต่อไปนี้กระบวนการสันติภาพจะคืบหน้าได้ก็คือมาจากการผลักดันของรัฐบาลและตัวแทนประชาชน ไม่ใช่กลไกเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะไปทำหน้าที่ตัดสินใจแทนองคาพยพทั้งสองอย่างนี้ และหากมีแนวทางที่ชัดเจนในการพูดคุยและคณะพูดคุยสามารถสร้างความก้าวหน้าได้ ก็มีกลไกตัดสินใจที่ชัดเจนคือรัฐสภา การตัดสินใจของรัฐสภาย่อมขึ้นอยู่กับผู้แทนซึ่งจะต้องมีหลักยึดอยู่ที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดในเรื่องขั้นตอนเช่นนี้มีความชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมจากที่เราไม่รู้ชัดว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ
ผู้เขียนเห็นว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราพึ่งพาวิธีการสร้างสันติภาพแบบปฏิบัติการ “เด็ดยอด” คือเอาคนที่เป็นตัวแทนความขัดแย้งสองฝ่ายมาคุยกัน ซึ่งแน่นอนว่าหลายฝ่ายเป็นห่วงถึงความยั่งยืนของผลที่ได้ แต่การขยายวงคนมีส่วนร่วมแม้จะเห็นกันว่าจำเป็นและต้องทำ แต่ยังไม่ปรากฏแนวทางที่ชัดเจนแต่อย่างใด ในบรรยากาศเช่นปัจจุบันนี้ก็มีความเสี่ยงที่เห็นได้ชัด หากการหารือสาธารณะอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรวบรวมความเห็นประกอบการแสวงหาทางออกทางการเมืองทำได้ไม่เต็มที่ ผู้คนไม่มีส่วนร่วม เชื่อว่าสิ่งนี้จะบ่อนเซาะพลังของการพูดคุยอย่างแน่นอน ความเสี่ยงของการแก้ปัญหาด้วยลักษณะการเด็ดยอดก็จะมีเช่นนี้
ดังนั้นประเด็นในเวลานี้คือ แม้ว่าการพูดคุยจะเดินหน้า แต่ถ้ากระบวนการพูดคุยไม่เป็นประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ เราจะได้สันติภาพจริงหรือ ประการที่สอง สมมุติว่าในการพูดคุยสามารถตกลงกันได้ และสามารถผลักดันผลผ่านการกลั่นกรองของบรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันไปคนละทางสองทางนั้นออกมาจนได้ ข้อตกลงนั้น ๆ ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภา โอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจาก สส.มีมากเพียงใด แน่ใจหรือว่าประชาชนคนไทยทั่วไปสนับสนุนการแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ด้วยวิธีการเช่นนี้ อย่าว่าแต่หากข้อตกลงนั้นมีลักษณะก้าวหน้าคงจะยากที่จะผ่านได้
หรือว่าอันที่จริงแล้วเราควรแสวงหาทางเลือกว่า นอกจากการสร้างสันติภาพผ่านโต๊ะพูดคุยแล้ว ควรจะมีการทำงานรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภาคใต้ ให้เกิดความเข้าใจในวิธีคิดในการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธีซึ่งไม่ใช่งานง่าย ๆ ในภาวะที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน รวมทั้งกระแสอิสลาโมโฟเบียที่ขึ้นสูงเพราะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
ที่ผ่านมาการสร้างความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นจุดบอด แม้จะมีการพูดคุยมานานแล้วแต่จนถึงวันนี้ความพยายามสื่อสารในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีต่อประชาชนยังมีน้อยมาก การสื่อสารที่เราเห็นในเรื่องความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพยังคงวนเวียนอยู่แต่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ และในเวลานี้เน้นหนักไปที่เรื่องความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยเสียเป็นหลัก สังคมไทยยังไม่ได้อยู่ในกระบวนวิธีคิดเรื่องคลี่คลายความขัดแย้งภาคใต้ด้วยสันติวิธี
ที่สำคัญเราควรจะต้องแสวงหามาตรการอื่นในการสร้างสันติภาพ เช่น การลดเงื่อนไขความขัดแย้ง โดยที่ไม่ฝากความหวังไว้กับเรื่องเดียวอีกต่อไป ถ้าคำตอบต่อคำถามนี้ชัดเจน อย่างน้อยเราจะไม่จุดไฟเพิ่มใน จชต.ด้วยการปิดปากประชาชนดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นกันในวันนี้