สุพราหมัณยัมและชัยศังกร: สองพ่อลูกเบื้องหลังการต่างประเทศอินเดียร่วมสมัย - Decode
Reading Time: 3 minutes

พินิจถิ่นอินเดีย

รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

หลายคนคงรู้จัก ดร.ชัยศังกร (S. Jaishankar) จากคลิปที่เขาให้สัมภาษณ์ในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการต่างประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัสเซียบุกยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีน หรือการประชดประชันประเทศตะวันตก ฯลฯ ล้วนแต่เป็นคลิปที่มีผู้คนเข้าไปชมผ่านสื่อสังคมออนไลน์กันมากมาย คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ในบรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลอินเดียปัจจุบันนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) รัฐมนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคือชัยศังกร (เวลาสื่อสารกับชาวอินเดียหรือชาวต่างชาติ ควรออกเสียงว่า แยชังเกอร์)

ผู้เขียนเคยพูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อนนักวิชาการชาวอินเดียหลายคน แม้แต่คนที่ไม่ฝักใฝ่พรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party) พรรคที่ชัยศังกรสังกัดและเป็นพรรคนำรัฐบาลในปัจจุบัน ก็ยังยอมรับว่า ชัยศังกรคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ช่ำชองโลกมากเป็นพิเศษ ตัวผู้เขียนเองก็เชื่อเช่นนั้น และเชื่อด้วยว่า เขาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ.1947 ก็ว่าได้

ชื่อเต็มของรัฐมนตรีฯ คนนี้คือสุพราหมัณยัม ชัยศังกร (Subrahmanyam Jaishankar) หลายคนที่พอรู้เรื่องอินเดียอยู่บ้าง ก็คงเดาจากภาษาได้ว่าชื่อแบบนี้มักจะเป็นชื่อของผู้คนที่มาจากตอนใต้ของอินเดียโดยเฉพาะมลรัฐทมิฬ นาฑู (Tamil Nadu) ชัยศังกรนั้นเกิดที่เดลี (Delhi) ทว่าครอบครัวของเขามาจากมลรัฐทมิฬ นาฑู

คุณพ่อของชัยศังกรชื่อกฤษณะสวามี สุพราหมัณยัม (Krishnaswamy Subrahmanyam) คุณแม่ชื่อสุโลจนา สุพราหมัณยัม (Sulochana Subrahmanyam) ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 4 คน บุตรคนแรกคือเอส. วิชัย กุมาร (S. Vijay Kumar) เกิดในปี ค.ศ.1953 คนที่สองคือชัยศังกรเกิดในปี ค.ศ.1955 คนที่สามคือสัญชัย สุพราหมัณยัม (Sanjay Subrahmanyam) เกิดในปี ค.ศ.1961 และบุตรีคนเดียวของครอบครัวคือสุธา สุพราหมัณยัม (Sudha Subrahmanyam) ทว่าสุธาก็เป็นเช่นเดียวกับสุโลจนามารดาของชัยศังกร คือแทบจะไม่มีข้อมูลให้หาอ่านได้นัก ฉะนั้นแล้ว จึงไม่ขอกล่าวถึงทั้งสองในบทความนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า แต่ละคนประสบความสำเร็จในอาชีพการงานอย่างโดดเด่นยิ่ง กุมารบุตรคนแรกเป็นข้าราชการพลเรือน เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนปลดเกษียณเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงถึงสองกระทรวงด้วยกัน คือกระทรวงว่าการเหมืองแร่ และกระทรวงว่าการพัฒนาชนบท คนที่สองได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก่อนจะดำรงตำแหน่งนี้เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและปลัดกระทรวงการต่างประเทศมาก่อน ส่วนคนสุดท้ายคืออดีตศาสตราจารย์เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมอินเดียยุคต้นสมัยใหม่ เคยสอนหนังสือในสถาบันที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกหลายแห่งทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น สถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านสังคมศาสตร์ (École des Hautes Études en Sciences Sociales) ในฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles) ในสหรัฐฯ

สุพราหมัณยัมผู้พ่อเกิดในปี ค.ศ.1929 สมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดียอยู่ บ้านเกิดของเขาคือติรุจิรัปปัลลิ (Tiruchirappalli ปัจจุบันอยู่ในมลรัฐทมิฬ นาฑู) ในวัยเยาว์เขาใช้ชีวิตในติรุจิรัปปัลลิ และมัดราส (Madras ปัจจุบันคือเชนไน (Chennai) เมืองหลวงของมลรัฐทมิฬ นาฑู)

สุพราหมัณยัมเป็นอดีตข้าราชการพลเรือน และนักคิดนักเขียนด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่ง ในปี ค.ศ.1950 ระหว่างที่สุพราหมัณยัมกำลังศึกษาปริญญาโทด้านเคมีปีสุดท้าย ณ มหาวิทยาลัยมัดราส (University of Madras) เขาสอบเป็นข้าราชการพลเรือนอินเดียได้ที่ 1 ของรุ่น และได้รับบรรจุเป็นข้าราชการในปี ค.ศ.1951

ในช่วงเริ่มแรก สุพราหมัณยัมเป็นข้าราชการระดับล่าง และใช้เวลาพักหนึ่งก่อนจะย้ายมาอยู่เดลี ระหว่างปี ค.ศ.1965 ถึง 1966 สุพราหมัณยัมลาศึกษา โดยได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ให้ศึกษาต่อด้านยุทธศาสตร์ศึกษาที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political Science)

เมื่อกลับมาอินเดีย เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนที่สองของสถาบันมโนหร ปรรรีกรเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ด้านกลาโหม (Manohar Parrikar Institute for Defence Studies and Analyses, IDSA) สถาบันแห่งนี้ซึ่งในอดีตไม่มีคำว่า “มโนหร ปรรรีกร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสถาบันนั้น นับได้ว่าตราบจนทุกวันนี้ยังเป็นสถาบันคลังสมองด้านความมั่นคงที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของอินเดีย กล่าวได้ด้วยว่า ในช่วงหลายปีระหว่างก่อตั้งสุพราหมัณยัมมีความเกี่ยวข้องกับ IDSA อย่างมาก เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 ถึง 1975 และครั้งที่สองตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ถึง 1987 นอกจากตำแหน่งนี้แล้ว สุพราหมัณยัมยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ในฐานะข้าราชการด้วย

สุพราหมัณยัมมีความโดดเด่นในยุคสมัยของเขามาก เป็นคนรุ่นแรกที่พยายามนำวิถีคิดด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียออกจากโลก “อุดมคตินิยม” (idealism) แบบยวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) เขายึดมั่นในหลักภาวะการเมืองแห่งความเป็นจริง (realpolitik) อย่างหนักแน่น และประสบความสำเร็จอย่างสำคัญในฐานะกระบอกเสียงที่มีอิทธิพลด้านความมั่นคงของอินเดียมาเป็นเวลานาน

สำหรับสุพราหมัณยัมแล้ว สถาบัน IDSA เปรียบเสมือนสถานที่ที่เขาประสงค์จะทำตามความปรารถนาหลากหลายประการ รวมถึงการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้จาก IDSA เขาจริงจังกับเรื่องความมั่นคงมากจนถึงกับพยายามรวมสถาบันแห่งนี้เข้ากับมหาวิทยาลัยยวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru University) อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สุพราหมัณยัมเองมีบทบาทในการสอนจำกัดมาก เพราะไม่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก และไม่มีปริญญาบัตรด้านรัฐศาสตร์ ทว่าสถาบันที่มองเห็นความรู้ความสามารถของสุพราหมัณยัมและไม่แยแสกับวุฒิการศึกษาของเขากลับกลายเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ที่แต่งตั้งให้เขาเป็นอาจารย์

สุพราหมัณยัมมักเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ทรงภูมิแห่งแวดวงความมั่นคงของอินเดีย ข้อแนะนำที่สำคัญสุดของสุพราหมัณยัมอันสะท้อนความเข้าใจเรื่องการต่างประเทศแบบภาวะการเมืองแห่งความเป็นจริง คือการแนะนำให้อินเดียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเหตุผลการป้องปราม (deterrence) ทว่าในทรรศนะของเขา โครงการนิวเคลียร์จำต้องจำกัด และคำนึงถึงต้นทุนที่สูง สะท้อนสถานภาพทางการเงินการคลังของอินเดียในเวลานั้น

นี่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้บางคนเรียกสุพราหมัณยัมว่า เป็นนักคิดแบบ “นิวเคลียร์สายพิราบ” (nuclear dove) หรือ “เรียลลิสต์เชิงปฏิบัติ” (pragmatic realism) ตัวอย่างอีกข้อหนึ่งที่น่าจะบ่งชี้ความเป็นเรียลลิสต์เชิงปฏิบัติของเขาชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เขาไม่เชื่อว่าลัทธิชาตินิยมจำต้องขัดแย้งกับลัทธิสากลนิยมเสมอไป ตลอดอาชีพการงานของเขา เขาได้สำแดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติอินเดีย แต่ในฐานะเรียลลิสต์เชิงปฏิบัติ เขาก็ไม่เคยรู้สึกขวยเขินที่จะปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของเขา ด้วยเหตุนี้เขาจึงกล้าเปลี่ยนข้อแนะนำให้เป็นไปตามบริบทโลก หรือตามโครงสร้างโลกที่เป็นจริง ตัวอย่างที่ชัดเจนในประเด็นนี้ เช่น สุพราหมัณยัมเป็นผู้ปกป้องความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น แต่ก็สุพราหมัณยัมอีกเช่นกันที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียยุคหลังสงครามเย็นอย่างขะมักเขม้น นอกจากนี้สุพราหมัณยัมยังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดียให้เสรี เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ และได้เสนอให้ปฏิรูปการปกครองและวัฒนธรรมการเมืองอินเดียด้วย

สุพราหมัณยัมยังเคยมีผลงานอีกมากมายที่สำคัญ เคยเป็นประธานคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอินเดีย รวมถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องคาร์กิล (Kargil) ที่จัดตั้งขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1999 สามวันหลังจากกองทัพอากาศอินเดียร่วมกับกองทัพบกอินเดียประสบความสำเร็จในการขับไล่กองทัพปากีสถานและกองกำลังกึ่งทหารปากีสถานออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ตามแนวเส้นพรมแดนที่กำหนดไว้

ชัยศังกรเคยกล่าวถึงบิดาของตนในฐานะข้าราชการที่ถูกกลั่นแกล้งโดยผู้นำพรรคคองเกรส (Congress Party) บางคน และเคยกล่าวถึงความทะเยอทะยานที่จะเป็นข้าราชการระดับสูงโดยกล่าวถึงบิดาของตนด้วย

ว่าด้วยชีวประวัติของชัยศังกร เขาเกิดในปี ค.ศ.1955 เรียนหนังสือที่โรงเรียนกองทัพอากาศ (Air Force School) ที่เดลี และโรงเรียนทหารบังกาลอร์ (Bangalore Military School) ในมลรัฐกรนาฏกะ (Karnataka) เมื่อจบระดับมัธยมปลายแล้ว ก็เข้าเรียนปริญญาตรีด้านเคมี ณ วิทยาลัยเซ็นต์สตีเฟนส์ (St. Stephen’s College) สังกัดมหาวิทยาลัยเดลี (Delhi University) ครั้นจบปริญญาตรีแล้ว เขากลับเปลี่ยนใจไปศึกษาต่อด้านรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาโท ตามด้วยปริญญาโทใบที่สองและปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยยวาหระลาล เนห์รู วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเกี่ยวกับการทูตนิวเคลียร์ นี่ก็น่าจะบ่งบอกได้ไม่น้อยว่าบิดาของเขาซึ่งครั้งหนึ่งเคยเสนอให้อินเดียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์นั้น น่าจะมีอิทธิพลต่อเขาไม่น้อยเลย

ชวนสังเกตด้วยว่า เรื่องราวเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอินเดียนั้นสำคัญมาก และย่อมไม่ผิดด้วยที่จะกล่าวว่าเป็นเรื่องเดียวกับผลประโยชน์แห่งชาติเลยก็ว่าได้ หากจะขยายความก็คือ อินเดียไม่เคยลงนามให้สัตยาบันสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Proliferation Treaty) อินเดียเชื่อว่าหากประเทศอื่นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้ อินเดียก็ย่อมทำได้ และแล้วแผนที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยเนห์รู ก็นำไปสู่การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินครั้งแรกในกลางปี ค.ศ.1974 โดยอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) แห่งพรรคคองเกรส และอีก 24 ปีถัดมา อินเดียก็ทดสอบระเบิดอีกครั้ง ครั้งหลังนี้โดยอะตัล พิหารี วัชปายี (Atal Bihari Vajpayee) แห่งพรรคภารตียชนตา ผลที่ตามมาจากการทดลองระเบิดทั้งสองครั้งคือ มหาอำนาจกีดกันอินเดียในทางต่าง ๆ ทำให้อินเดียต้องปรับประยุกต์ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการทูตนิวเคลียร์เพื่อให้มหาอำนาจยอมรับอินเดียในฐานะประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างถูกต้องชอบธรรม

ว่าด้วยประเด็นนิวเคลียร์ ชัยศังกรร่วมกับ ซี. ราชา โมหัน (C. Raja Mohan) นักวิชาการด้านการต่างประเทศอินเดียคนสำคัญ เคยตีพิมพ์บทความเรื่องนิวเคลียร์ในปี ค.ศ.1977 บทความนี้ใช้ชื่อว่า “Nuclear Cartelisation: Theory and Practice” (แปลเป็นไทยประมาณว่า “กระบวนการรวมหัวทางนิวเคลียร์: ทฤษฎีและการปฏิบัติ”) บทความนี้สะท้อนว่าทั้งสองเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศในเรื่องนิวเคลียร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะความพยายามของประเทศตะวันตกบางประเทศที่มีจุดมุ่งหมายจะทำลายล้างโครงการนิวเคลียร์ที่คล้ายคลึงกับของอินเดีย ซึ่งทั้งสองมองว่าการรวมหัวนี้อย่างไรเสียก็ไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้ “เนื่องจากการแข่งขันและความอิจฉาริษยาระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้…”

ชัยศังกรสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้ ซึ่งนับว่าเป็นสนามสอบที่มีการแข่งขันสูงมากเป็นพิเศษ เขาเริ่มรับราชการเป็นนักการทูตเมื่อปี ค.ศ.1977 ณ กระทรวงการต่างประเทศเขาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญมากมายในสถานทูตอินเดียหลายแห่ง เช่น มอสโก (Moscow) โคลัมโบ (Colombo) บูดาเปสต์ (Budapest) โตเกียว (Tokyo) และในกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี ค.ศ.2000 ถึง 2018 ชัยศังกรเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำ 4 ประเทศ ได้แก่ 1. สาธารณรัฐเช็ค (2000 – 2004) 2. สิงคโปร์ (2007 – 2009) 3. จีน (2009 – 2013) และ 4. สหรัฐอเมริกา (2013 – 2015) ก่อนจะดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย

หลังจากปลดเกษียณในปี ค.ศ.2018 ชัยศังกรได้รับแต่งตั้งโดยบริษัททาทา ซันส์ จำกัด (Tata Sons Private Limited) ให้ดูแลด้านการเสริมสร้างสถานะทางธุรกิจของเครือบริษัททาทาทั่วโลก ซึ่งการแต่งตั้งครั้งนี้ก็บ่งบอกถึงคุณสมบัติอันดีเยี่ยมของชัยศังกรไม่น้อยเลย เพราะทาทาคือธุรกิจขนาดมหึมาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ดีที่สุดของอินเดียเลยก็ว่าได้ นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2019 ชัยศังกรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ทะยานขึ้นมาเป็นเจ้ากระทรวงฯ พร้อมกับตำแหน่งนี้เขาเป็นสมาชิกพรรคภารตียชนตา และสมาชิกสภาสูงหรือราชยสภา (Rajya Sabha) ของมลรัฐคุชราต (Gujrat) ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม ปี ค.ศ.2019

ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก่อนดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต คือระหว่างปี ค.ศ.1979 ถึง 2000 ชัยศังกรได้สั่งสมประสบการณ์แบบรอบโลกเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะสมัยประจำการที่มอสโก สหภาพโซเวียต ซึ่งมีความสำคัญต่ออินเดียมากเป็นพิเศษในเวลาหนึ่ง หรือจะร่วมแก้ไขข้อพิพาทกับสหรัฐฯ ในบางประเด็นเกี่ยวกับนิวเคลียร์ หรือจะประเด็นเพื่อนบ้านอินเดียแบบศรีลังกา หรือกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือการทูตพาณิชย์กับฮังการี หรือการร่างสุนทรพจน์ให้ประธานาธิบดีอินเดีย หรือการดำรงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยกับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์อินเดียครั้งที่สอง ประสบการณ์เหล่านี้ล้วนแต่หล่อหลอมความเข้าใจในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติของแต่ละประเทศในแต่ละด้านและบริบทความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับประเทศเหล่านี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างอำนาจของโลกและการปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย

ตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ถึง 2007 ชัยศังกรในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จอย่างสำคัญยิ่งในการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ความสำเร็จที่ว่านี้คือเรื่องการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์พลเรือนและปรับปรุงความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ และการเปิดพื้นที่เจรจากับสหรัฐฯ ด้านพลังงาน

การดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำ 4 ประเทศของชัยศังกรดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็บ่งชี้ความสามารถทางการทูตของเขาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ 3 ประเทศหลัง

ณ ประเทศสิงคโปร์ ชัยศังกรมีบทบาทสำคัญในการทำให้ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระหว่างอินเดียกับสิงคโปร์ปฏิบัติได้จริงมากขึ้น โดยเน้นขยายธุรกิจอินเดียในสิงคโปร์ อีก 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การจัดการด้านกลาโหมสิงคโปร์ว่าด้วยการเก็บยุทโธปกรณ์ทางทหารบางส่วนในอินเดียเป็นการถาวร และ 2. การส่งเสริมชาวอินเดียโพ้นทะเลในสิงคโปร์ให้เชื่อมโยงกับอินเดียมากขึ้น

ณ ประเทศจีน ที่ซึ่งชัยศังกรดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง อันนับได้ว่ายาวนานที่สุดของอินเดีย เขาได้พยายามอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างอินเดียกับจีน และที่สำคัญสุดคือ การจัดการข้อพิพาทชายแดนจีน อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธมิได้ว่าการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนนั้นมีความท้าทายไม่น้อยเลย เขายินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับจีนมากยิ่งขึ้น

ตราบใดที่จีนเคารพผลประโยชน์ของอินเดีย ด้วยเหตุนี้ ชัยศังกรจึงยึดหลักนี้เพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดบ้างและดีบ้างสลับสับเปลี่ยนไปมา เช่น ในปี ค.ศ.2010 ชัยศังกรได้แนะนำคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอินเดียให้ระงับความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างอินเดียกับจีน เพราะจีนปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้แก่หัวหน้ากองบัญชาการภาคเหนือของกองทัพอินเดีย ก่อนสถานการณ์จะคลี่คลายลงในปีถัดมา หรือเช่นในปี ค.ศ.2012 เมื่อหนังสือเดินทางจีนระบุว่าอรุณาจัลประเทศ (Arunachal Pradesh) และอัคไซชิน (Aksai Chin) เป็นส่วนหนึ่งของจีน ชัยศังกรตอบโต้จีนโดยสั่งให้หน่วยงานอินเดียออกวีซ่าแก่ชาวจีนโดยสำแดงให้เห็นว่าสองพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงการขู่ยกเลิกกำหนดการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) จนกว่าจีนจะถอนการตั้งค่ายกองทัพจีนบนที่ราบเดปซังลาดัก (Ladakh’s Depsang Plains) ณ ประเทศจีนนี้ด้วยที่ชัยศังกรได้มีโอกาสพบปะมุขมนตรีแห่งคุชราตที่ชื่อโมดี ในปี ค.ศ.2011 โมดีเดินทางไปจีนในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของมลรัฐคุชราต ชัยศังกรให้สัมภาษณ์ว่า “…เขา[โมดี]สร้างความประทับใจให้แก่ผมอย่างมาก ภายในปี ค.ศ.2011 ผมเคยเห็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีหลายคนเข้า ๆ ออก ๆ แต่ไม่เคยเห็นใครที่เตรียมพร้อมได้มากกว่าโมดี”

ในสมัยที่ชัยศังกรดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำสหรัฐฯ เขามีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ในแทบทุกด้าน พร้อมการเตรียมแผนเยือนสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2014 ซึ่งเป็นการเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของโมดี การกระชับความสัมพันธ์นี้เขาและพ่อของเขารู้ดีมาโดยตลอดเวลาว่าสหรัฐฯ นั้นสำคัญต่ออินเดียอย่างไร ทันทีที่ชัยศังกรเดินทางถึงสหรัฐฯ ก็มีประเด็นนักการทูตเทวยานี โขพราคเฑ (Devyani Khobragade) ที่เขาต้องรีบจัดการอย่างเร่งด่วน โขพราคเฑคือนักการทูตหญิงอินเดียวัย 39 ปี รองกงสุลใหญ่อินเดียในนิวยอร์ก (New York) (ปัจจุบันคือเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา) ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกงวีซ่า และโกหกเรื่องการจ่ายเงินให้แม่บ้านของเธอชื่อสังคีตา ริชาร์ด (Sangeeta Richard) ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ

โขพราคเฑถูกใส่กุญแจมือ ถูกสั่งให้เปลื้องผ้าค้นตัว ถูกตรวจค้นช่องคลอด ทั้ง ๆ ที่เธอยืนยันว่าเธอมีความคุ้มกันทางการทูต อินเดียโต้ตอบสหรัฐฯ ทันที โดยขอให้สหรัฐฯ ถอนนักการทูตของตน 1 คนที่มีตำแหน่งเท่ากับโขพราคเฑออกจากอินเดีย สั่งให้สถานทูตสหรัฐฯ ปิดสโมสรสำหรับชาวอเมริกัน และรื้อสิ่งกีดขวางเพื่อความปลอดภัยด้านนอกสถานทูตสหรัฐฯ ออกด้วย ไม่ทราบว่าทูตชัยศังกรได้แนะนำให้อินเดียทำเช่นนั้นหรือไม่ แต่ที่แน่ชัดคือ ทันทีที่สหรัฐฯ ยอมอ่อนลงในประเด็นนี้ ชัยศังกรในฐานะเอกอัครราชทูตก็ได้สำแดงทักษะทางการทูตอย่างเลิศล้ำ คือพูดถึงความจำเป็นที่ทั้งสองประเทศจะต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพราะทั้งสองก็ต้องพึ่งพากัน กล่าวอีกนัยคือ ชัยศังกรได้ส่งข้อความสำคัญให้สหรัฐฯ รับทราบด้วยว่า สหรัฐฯ เองก็ต้องการอินเดียเช่นกัน นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ชัยศังกรมองออกตั้งแต่ต้น ซึ่งความคิดนี้ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาก็ตอกย้ำให้เห็นว่า ต่อให้เป็นโมดีหรือพรรคภารตียชนตาที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนชาตินิยมฮินดูนำรัฐบาลอินเดีย ซึ่งไม่น่าจะเป็นที่พึงพอใจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำหรับประธานาธิบดีที่สังกัดพรรคเดโมแครต (Democratic Party) แต่อุดมการณ์ในบางเรื่องก็ไม่อาจอยู่เหนือผลประโยชน์แห่งชาติได้

เมื่อครบวาระตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ชัยศังกรก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพราะคงไม่มีข้าราชการคนอื่นใดที่จะเหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่าชัยศังกรอีกแล้ว ในช่วงเวลานี้ เขาได้ทำงานร่วมกับโมดีและสุษมา สวราช (Sushma Swaraj) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียอย่างใกล้ชิด และดังนั้นจึงมีโอกาสหยั่งอิทธิพลต่อนโยบายการต่างประเทศอินเดียได้มากเลยทีเดียว แม้ในเวลานั้นโมดีและสวราชจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดด้านการต่างประเทศ แต่โมดีคงตระหนักด้วยว่า การต่างประเทศอินเดียในบริบทที่อินเดียกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวทีโลก ซึ่งเป็นโลกที่ซับซ้อน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทว่าก็ต่างจากโลกของสงครามเย็นในอดีตนั้น จำต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้ช่ำชอง ผู้จะจัดวางอินเดียในโลกโดยไม่บั่นทอนผลประโยชน์แห่งชาติ แม้สวราชจะได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ดี แต่ก็เป็นเพียงรัฐมนตรีที่ทำตามโมดีโดยส่วนใหญ่ มิได้ช่วยกำหนดนโยบายการต่างประเทศแต่อย่างใด

ชัยศังกรปลดเกษียณจากตำแหน่งปลัดกระทรวงในปลายเดือนมกราคม ปี ค.ศ.2018 จากนั้นเพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้น บริษัททาทาก็แต่งตั้งเขาให้ช่วยเสริมสร้างสถานะทางธุรกิจของเครือบริษัททาทาทั่วโลก ในปี ค.ศ.2019 สวราชไม่ขอลงเลือกตั้งเพราะปัญหาทางสุขภาพ และอีกประมาณ 1 เดือนหลังเลือกตั้งทั่วไปเธอก็อำลาจากโลกไป หลังจากโมดีชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย เขาก็แต่งตั้งชัยศังกรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลโมดีสมัยที่สอง ไม่ทราบว่าโมดีมีใครอื่นในใจหรือไม่ ทว่าการตัดสินใจแต่งตั้งชัยศังกรเป็นรัฐมนตรีนับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของโมดีครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ที่น่ายกย่องมากเป็นพิเศษ เพราะโมดีให้ความสำคัญของประเทศอยู่เหนือกว่าการเมือง ที่ซึ่งจะต้องมาคอยแต่งตั้งใครต่อใครตามการเมืองของพรรค โมดีจัดการเรื่องการเมืองให้ชัยศังกรในตำแหน่งสมาชิกสูงแห่งราชยสภา

และแล้วเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ชัยศังกรก็ได้สำแดงให้เห็นว่าโมดีตัดสินใจได้ถูกต้องที่สุด ไม่ว่าการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในระดับทวิภาคี ซึ่งนับได้ว่าในปี ค.ศ.2023 นี้เติมเต็มความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมยิ่ง ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีแบบอินโด – แปซิฟิกที่ชัยศังกรได้มีบทบาทเติมเต็ม แต่ก็ไม่ยอมให้ใครมาบีบให้อินเดียประณามรัสเซียที่บุกยูเครนหรือพม่าที่ทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะอากัปกิริยาอันแข็งกล้าของชัยศังกรต่อจีนในประเด็นข้อพิพาททางดินแดน ไม่ว่าการจัดประชุม G20 ที่อินเดียประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด ล้วนแต่สื่อให้เห็นว่าชัยศังกรได้กลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย

พึงสังเกตว่า ความคิดว่าด้วยเรียลลิสต์เชิงปฏิบัติของชัยศังกรประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้น นับตั้งแต่ชัยศังกรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และมีหลัก 2 ประการที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1. อินเดียจะต้องเป็นหนึ่งในประเทศที่ “นำ” ไม่ใช่ประเทศที่ “ตาม” กล่าวอีกนัยคือ อินเดียจะมิใช่ประเทศที่คอยแต่จะมีปฏิกิริยาหลังเกิดเหตุใด ๆ หรือเป็นประเทศที่ถ่วงดุลอำนาจตามความคาดหวังของประเทศใด และ 2. การเป็นประเทศ “นำ” ที่ว่านี้ อินเดียไม่ประสงค์ที่จะรื้อถอนระบบระหว่างประเทศ หากแต่เสนอให้ปฏิรูประบบระหว่างประเทศให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น และสะท้อนโลกตามความเป็นจริง การปฏิรูปที่ว่านี้ รวมถึงการให้อินเดียเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการเปิดช่องทางให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทในเวทีโลกมากยิ่งขึ้นด้วย

อาจจะด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่นักวิชาการบางคนเรียกชัยศังกรว่าเป็นเรียลลิสต์แบบเสรีนิยม (Liberal Realism) กล่าวคือในขณะที่อินเดียส่งเสริมหลักเสรีนิยมระดับโลก อินเดียก็จะดำเนินตามหลักผลประโยชน์แห่งชาติด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะทั้งสองหลักสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่า การเป็นประเทศ “นำ” ของอินเดียหมายถึง การที่อินเดียจะมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมปทัสถานระหว่างประเทศ และหยั่งอิทธิพลต่อระบบระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มพูนความมั่นคงแห่งชาติอินเดียทั้งแบบดั้งเดิมและแบบไม่ดั้งเดิม ซึ่งประการหลังมีตัวอย่างเช่น เรื่องความรับผิดชอบของอินเดียต่อประเด็นด้านความมั่นคงของมนุษย์ ภาวะโลกร้อน และการต่อต้านก่อการร้ายข้ามชาติ เป็นต้น

สำหรับอินเดียแล้ว ประเด็นการก่อการร้ายคือเรื่องเดียวกันกับปากีสถาน กล่าวคือ อินเดียพร้อมที่จะใช้เวทีระหว่างประเทศกดดันปากีสถานในเรื่องการสนับสนุนการก่อการร้าย ในขณะเดียวกัน อินเดียก็จะไม่ขวยเขินที่จะใช้กำลังตอบโต้ปากีสถานอย่างแน่นอน เรื่องของจีนก็เช่นเดียวกัน อินเดียพร้อมที่จะใช้กลไกระหว่างประเทศทุกครั้งที่จีนละเมิดกฎกติกาอันสัมพันธ์กับพื้นที่พิพาท ทว่าการเตรียมตอบโต้จีนก็ไม่ใช่เรื่องห่างไกลนัก ณ ขณะนี้แลดูเหมือนอินเดียกำลังซื้อเวลาเพื่อพัฒนาการทหารของตนให้ทันหรือไปไกลกว่าจีน ดังที่ครั้งหนึ่งชัยศังกรเคยกล่าวในลักษณะข่มขู่ว่า

“ถ้าคุณยื่นมือมาหาผม ผมก็จะยื่นมือไปจับมือคุณ แต่ถ้าคุณเล็งปืนมาที่ผม ผมก็จะเล็งปืนไปที่คุณ”

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า อินเดียจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ว่าด้วยความเป็นเรียลลิสต์ของนโยบายการต่างประเทศอย่างไร ณ เวลานี้สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ความเป็นเรียลลิสต์แบบอินเดียที่สุพราหมัณยัมได้ริเริ่มคิดไว้ บัดนี้ปรากฏอยู่ในตัวลูกอย่างชัดเจนแล้ว แม้ทั้งสองไม่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าประวัติศาสตร์จะปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ไม่ได้ นั่นคือ สองคนนี้คือบุคคลสำคัญเบื้องหลังการขยับขับเคลื่อนอินเดียสู่ความเป็นเรียลลิสต์เชิงปฏิบัติอย่างเต็มตัว