ระบบจัดการผู้ลี้ภัยล้มเหลว ใบปริญญาจึงเป็นแค่ปลายทาง - Decode
Reading Time: < 1 minute

เหตุความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจำนวนมากทะลักเข้ามาในไทย แม้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาต้องลี้ภัยสงคราม ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสถานะของพวกเขาจึงถือว่าเป็นคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการโดนจับกุม กักกัน หรือผลักดันกลับไปสู่ประเทศของตน ในขณะที่มีอัตราการเกิดของเด็กทารกในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

De/code พูดคุยกับ Saw Dar Bo เป็นผู้ลี้ภัยที่อพยพมาไทยตั้งแต่ปี 2008 จากเหตุการณ์ความไม่มั่นคงในเมียนมาหลังพายุไซโคลนนาร์กิสถล่มเมียนมา กองทัพมีอำนาจเต็มในการกำหนดนโยบาย ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ครอบครัวเขาจึงตัดสินใจส่งเขามาที่ค่ายผู้ลี้ภัย อย่างน้อยเพื่อเรียนหนังสือในแคมป์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทำให้เขาได้ย้ายไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี 2008 จนกระทั่งได้ออกจากค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยทุนการศึกษา

ในอีกด้านของ Brave นักศึกษาชาวเมียนมาที่เป็นผู้ลี้ภัยจากการรัฐประหารของประเทศเมียนมาเมื่อปี 2021 ทำให้เขาไม่สามารถกลับไปเรียนในประเทศเมียนมาได้ และต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่องเอกสารทางการเรียนและการเข้าเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังพูดคุยกับ อ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมุมมองต่อผู้ลี้ภัยในหลายมิติ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงการศึกษา

ศึกษาเป็นแค่ปัญหาปลายทาง

“ตอนที่ฉันจบจากโรงเรียนที่แคมป์ผู้ลี้ภัย ฉันต้องใช้วุฒิการศึกษา GED เพื่อเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในไทย เพราะฉันไม่สามารถนำวุฒิจากโรงเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยไปใช้ได้”

Saw Dar Bo กล่าว

โดยสาเหตุมาจาก ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว มีเพียงการศึกษาชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัย แม้ว่าประเทศไทยจะมีค่ายผู้ลี้ภัยนานกว่า 10 ปี และปัญหาอีกอย่าง คือ หลักสูตรในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ Saw Dar Bo ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการสมัครสำหรับเข้ามหาวิทยาลัยที่มากกว่าเด็กทั่วไป ทั้งค่าสอบเทียบ GED 320 ดอลล่าห์สหรัฐหรือประมาณ 11,104 บาท ค่าหนังสือเรียน ค่าเดินทางไปสอบ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่พวกเขาต้องใช้เงินมาก เพื่อจะได้ใบเทียบวุฒิการศึกษาที่จะทำให้พวกเขาสามารถไปถึงฝั่งฝันของการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งต้องมีผลการทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษ เช่น คะแนนสอบ IELTS หรือ TOEFL หรือข้อสอบภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยกำหนดอื่น ๆ จึงทำให้การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยของไทยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าแค่ค่าสมัครมหาวิทยาลัย

“ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว เพราะมีเด็กหลายคนที่เกิดในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้ค่ายผู้ลี้ภัยกลายเป็นบ้านของพวกเขาแล้ว เราสร้างกำแพงยังไง เขาก็จะยังหาทางเข้ามาอยู่ดี ดังนั้นเราต้องมานั่งคิดว่า จะทำนโยบายผู้ลี้ภัยใหม่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้ แต่ปัญหาการศึกษาเป็นแค่เรื่องปลายทาง เพราะต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดก็มาจากระบบการจัดการผู้ลี้ภัยในไทย”

ดร.ภาณุภัทร กล่าว

เอกสารกำแพงกั้นสำหรับผู้ลี้ภัย

สาเหตุที่ Brave ไม่สามารถกลับไปที่ประเทศของตัวเอง เพราะเจอกับปัญหาด้านเอกสารการเข้าเมือง ไม่มีเอกสารครบถ้วน และถ้าต้องกลับไปประเทศเมียนมาก็อาจจะเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งไม่ได้แล้ว ยิ่งสถานการณ์ในเมียนมาปัจจุบันการออกพาสปอร์ตหรือการต่อพาสปอร์ตในสถานทูตเมียนมาในไทยก็เป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่ลี้ภัยมา และเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ยื่นก็ต้องมีผู้ยืนยันต่าง ๆ ทำให้เป็นอุปสรรคหนึ่งในการยื่นเอกสาร แต่สิ่งที่อาจมาแทนได้คือ Travel Document แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีเอกสารบางอย่าง เช่น ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งเขาก็ไม่มีเช่นกัน ทำให้ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะยื่น Travel Document

ดังน้้น สิ่งเขาต้องการคือ Travel Document เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เนื่องจากในตอนนี้การขอ Passport เป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก ทำให้กลายเป็นกำแพงด่านแรก เพื่อจะเป็นการกลับไปทำขั้นตอนการขอ Academic Document และเทียบเกรดต่าง ๆ แต่เขาก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องด้วยการทำ Travel Document จำเป็นต้องใช้บัตรประจำตัวคนต่างด้าว แต่เนื่องจากเขาเข้ามาในไทย โดยเป็นการลี้ภัย ซึ่งไม่ได้เป็นการเข้าประเทศโดยมีวีซ่า ทำให้การจะมีนายจ้างเพื่อมายืนยันในการทำบัตรประจำตัวชาวต่างด้าวก็เป็นเรื่องยาก จึงเป็นเหตุให้เขาไม่สามารถกลับประเทศของตัวเองได้โดยถูกกฎหมาย เพราะประเทศต้นทางก็อาจจะอ้างถึงเอกสารในการเข้าประเทศ

แม้ว่า Brave จะไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อในประเทศของตัวเองได้ แต่เขาก็คาดหวังที่จะเทียบโอน เพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไทย แต่ว่าด้วยเอกสารด้านการศึกษา ที่พวกเขาไม่มี เพราะลี้ภัยมาจากประเทศของตัวเอง ทำให้ก็ไม่มีเอกสารในด้านนี้ อีกทั้งการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในไทยบางที่ จำเป็นต้องมี Recommendation Letter เพื่อเป็นเอกสารประกอบสำหรับการพิจารณาต่อมหาวิทยาลัยในไทยด้วย

ไม่ใช่เพียงแค่ Brave คนเดียวที่เจอปัญหานี้ แต่ก็มีหลายคนที่ลี้ภัยมาเช่นกัน ทำให้การปิดกั้นผู้ลี้ภัยจึงไม่ใช่คำตอบ ดร.ภาณุภัทร เสนอว่า “เริ่มแรกเราต้องมีการรู้สถานะที่เขาเข้ามาก่อน หลังจากนั้นก็อาจจะจัดพื้นที่บริเวณชายแดน เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย หรือกาญจนบุรี เพื่อเป็นที่สำหรับการศึกษาและการทำงานของผู้ลี้ภัยในจังหวัดบริเวณนั้น ทำให้บริเวณนั้นก็จะได้รับแรงงานที่จะทำงานด้วย”

นอกจากนี้ ดร.ภาณุภัทร ได้พูดถึงประเด็นที่อำนาจส่วนใหญ่ในการจัดการผู้ลี้ภัยก็มักเป็นหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจคนเข้าเมืองและจับคนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทำให้บางทีผู้ลี้ภัยที่หนีภัยความไม่สงบมาก็อาจถูกจับและไม่ได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ประเทศไทยจึงควรมีกรมกิจการคนเข้าเมืองที่ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการจับกุม แต่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยหรือคนที่อพยพเข้ามาในเมืองอย่างเป็นระบบและทำให้ถูกต้อง เพราะประเทศไทยก็มีผู้ลี้ภัยมายาวนาน หลายคนก็อยู่ที่ไทยมานานกว่าหลายสิบปี ทำให้นโยบายเพียงแค่เฉพาะหน้าจึงไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เพียงพอ

แรงงานลี้ภัย เส้นทางอาชีพที่ไม่อยากเป็น

ทุนการศึกษาแทบจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเขามีโอกาสได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยและได้รับวีซ่านักเรียนที่ถูกต้องเพื่อทำให้อยู่ในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทุนการศึกษาก็ไม่ได้มีเพียงพอสำหรับทุกคน ทำให้หลายคนจึงต้องไปลักลอบทำงานในแรงงานทักษะน้อย แม้ว่าตัวเองจะเคยเรียนอะไรมาก็ตาม เพราะไม่มีเอกสารในการยืนยันตัวตน

“บางคนจบหมอ แต่ต้องไปทำงานก่อสร้างหรืองานที่ได้เงินน้อย เพียงเพราะไม่มีเอกสารในการยืนยันตน ทำให้ต้องจำยอมทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ตนไม่ได้เรียนจบมา” 

Brave กล่าว

ดร.ภาณุภัทร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำงานในสายที่ตัวเองเรียนจบมาได้ แม้ว่าจะเรียนจบมาในสายงานนั้น เนื่องด้วยไม่มีเอกสารในการยืนยันและการมีสถานะผู้ลี้ภัย แต่หากเราสามารถทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องและผลักดันให้เป็นแรงงานที่จะช่วยสนับสนุนแรงงานระดับสูงที่ขาดแคลนในปัจจุบัน เช่น การเป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีผู้ลี้ภัยหลายคนที่เคยเป็นแพทย์ที่ลี้ภัยมาที่ประเทศไทย ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ทำงานเพื่อช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ของไทยที่กำลังขาดแคลนอยู่ เและทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์ในการเข้าสู่ระบบหรือการได้รับเงินในการเลี้ยงชีพ โดยอาจจะเริ่มด้วยการจำกัดพื้นที่ในการทำงานเฉพาะบริเวณเขตชายแดนและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในการจะเป็นบุคลากรทางแพทย์ ก็ต้องมีแพทยสภาที่จะมารับรองและควบคุมคุณภาพต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างดังกล่าวจะทำให้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ไทยอาจต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ก็น้อยลงไปด้วย อีกทั้งประเทศไทยยังจะได้รับแรงงานที่กำลังขาดแคลน เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยอีกด้วย

มากกว่าใบปริญญา 

การเรียนระดับอุดมศึกษาจะทำให้เขาได้มีโอกาสที่จะทำให้พวกเขาสามารถมีโอกาสได้ใช้ชีวิตต่อในประเทศที่ 2 หรือ 3 แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้การมีทางเลือกอื่น ๆ ก็น่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า 

“การจบปริญญาตรีเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่โอกาสที่จะได้รับการศึกษาไม่ได้จำกัดแค่ปริญญาตรี เพราะทักษะระดับสูงก็สามารถมาจากหลักสูตรที่เป็นวิชาชีพหรืออนุปริญญา เพื่อที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะแรงงานทักษะน้อยเท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานทักษะสูงด้วย ถ้าหากเรามีความต้องการแรงงานที่เฉพาะทักษะ ทำไมไทยไม่ออกแบบหลักสูตรนั้นเพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้เรียนทักษะระดับสูง ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นอีกด้วย”

ดร.ภาณุภัทร กล่าว

ข้อเสนอหนึ่งของ ดร.ภาณุภัทร คือเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ลี้ภัยศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว ทำให้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะระดับสูง เพื่อมาพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหากประเทศไทยให้โอกาสผู้ลี้ภัยได้ศึกษาในระดับสูง อาจสามารถทดแทนแรงงานในช่วงวัยทำงานหรือสายงานที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนอยู่

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความฝันจริง ๆ ของพวกเขาก็คือ การกลับไปที่ประเทศของตน ในสถานการณ์ที่ประเทศเมียนมาเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ ทำให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในบ้านเกิดอย่างปกติของคนทั่วไป ที่ทั้ง Saw Dar Bo ได้จากประเทศบ้านเกิดตั้งแต่เด็ก หรือ Brave ที่ต้องลี้ภัยในขณะที่กำลังศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศเมียนมา แต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ทำให้พวกเขาไม่สามารถทำตามความฝันในบ้านเกิดของพวกเขาได้ จึงทำให้ประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนเป็นบ้านอีกหลังของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถกลับไปที่บ้านเกิดได้

แต่หากเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถศึกษาในระดับสูงและทำงานในระดับสูงได้ ซึ่งนำไปสู่การที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าสู่ระบบการจัดการในไทยอย่างถูกต้อง และจะทำให้ไทยสามารถระบุปัญหา สามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที นอกจากที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตในไทยได้อย่างไร้กังวล ประเทศไทยเองก็อาจได้แรงงานที่ขาดแคลนหรือภาพลักษณ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างเท่าเทียมและก้าวหน้า