Jurassic Park กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ และเราที่สูญพันธุ์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

แด่ปู่กึกกัก ผู้ขับรถกระบะสีดำคันใหญ่ที่มีโทรทัศน์

ติดตั้งภายในตัว และระบบเสียงสุดกระหึ่มตลอดทาง

มีรายงานการโจมตีเกิดขึ้นตามแนวชายหาดคอสตาริกา

บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่ได้รับการค้นพบ

บ้างก็ว่าเป็นฝีมือของฮูเปีย ผีไร้หน้าในนิทานพื้นบ้านที่ชอบลักพาตัวเด็กทารก ที่พ้องความหมายกับคำว่า raptor ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง หัวขโมย… และนกผู้ล่า

Playread สัปดาห์นี้ชวนย้อนวัยเยาว์ของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมากับหนังสัตว์กินคนสยองขวัญ – ระทึกขวัญตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะไดโนเสาร์ในยุคร่วมสมัย งูยักษ์และกล้วยไม้สีเลือด หรือเอเลี่ยนจากต่างแดน เธอดูวนซ้ำไปจนไม่เพียงแค่แผ่นซีดีเท่านั้นที่พัง แต่รวมไปถึงเครื่องเล่นแผ่นที่ต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก แต่ก็ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนจะมาโค่น Jurassic Park (1993) ได้เลย

เวลาผ่านมากว่าสิบปี คอมพิวเตอร์สมัยใหม่ไม่มีช่องใส่แผ่นเสียด้วยซ้ำไป เด็กคนเดิมเพิ่งยื่นจบมหาวิทยาลัยไปหมาด ๆ พร้อมบ็อกเซ็ตแผ่นซีดีที่ไม่มีเครื่องเปิด หนังสือต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Michael Crichton และร้อยสมาชิกสตรีมมิ่งที่ทำให้ดูภาพยนตร์จักรวาลนี้ซ้ำไปซ้ำมาได้ทุกที่ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีหนังเรื่องใดโค่นหนังในดวงใจเธอได้ แต่หากขออะไรสักอย่างหนึ่งก่อนตายได้วันนี้ เด็กคนนั้นไม่อยากเห็นไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ อีกต่อไป

ไม่ใช่เพราะเธอเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เลยเลิกอยากจะเห็น

แต่เพราะเธอเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ แต่ไม่ควรจะเป็นต่างหาก

ทุนนิยมเอ๋ย ขอได้ เสกได้

1 GCGTTGCTGG CGTTTTTCCA TAGGCTCCGC CCCCCTGACG AGCATCACAA AAATCGACGC

61 GGTGGCGAAA CCCGACAGGA CTATAAAGAT ACCAGGCGTT TCCCCCTGGA AGCTCCCTCG

121 TGTTCCGACC CTGCCGCTTA CCGGATACCT GTCCGCCTTT CTCCCTTCGG GAAGCGTGGC

181 TGCTCACGCT GTAGGTATCT CAGTTCGGTG TAGGTCGTTC GCTCCAAGCT GGGCTGTGTG

241 CCGTTCAGCC CGACCGCTGC GCCTTATCCG GTAACTATCG TCTTGAGTCC AACCCGGTAA

301 AGTAGGACAG GTGCCGGCAG CGCTCTGGGT CATTTTCGGC GAGGACCGCT TTCGCTGGAG

1341 AACATGAATG GTTCGGTT TCCGTGTTIC GTAAAGTCTG GAAACGCGGA AGTCAGCGCC

นี่ไม่ใช่การเรียงต่อกันของนิวคลีโอไทด์ธรรมดา แต่เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของไดโนเสาร์พลิกโลกในหนังสือ Jurassic Park ที่พามนุษย์ย้อนกลับไปกว่า 65 ล้านปีด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมล้ำสมัย – หรือหากจะพูดให้ถูกคือ พาโลก 65 ล้านปีมาติดตั้งไว้ในยุคปัจจุบัน โดยมีตัวตั้งตัวตีเป็น จอห์น แฮมมอนด์ นักสร้างสวนสนุกเลื่องชื่อ ซีอีโอของบริษัทอินเจน ผู้เฝ้าฝันอยากก่อตั้งจูราสสิค พาร์ค สวนสนุกที่ประกอบไปด้วยไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ

นอกจากนี้เรื่องราวของจูราสสิค พาร์คยังประกอบไปด้วยเฉดของตัวละครที่น่าสนใจที่มีตั้งแต่เห็นด้วย – ต่อต้านการสร้างสวนสนุกล้านปี ไม่ว่าจะเป็น อลัน แกรนท์ นักบรรพชีวินวิทยา ผู้หลงใหลในไดโนเสาร์ ดร.เอลลี แซทเลอร์ นักพฤกษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชดึกดำบรรพ์ เอียน มัลคอล์ม นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีความอลวน และ ดร.เฮนรี่ วู นักพันธุวิศวกรรมไฟแรง ผู้ไขรหัส DNA และฟื้นคืนชีพโดโนเสาร์ให้กลับมาโลดแล่นในโลกปัจจุบันอีกครั้ง

กระบวนการประกอบสร้างจูราสสิค พาร์คมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อทุนนิยมและวิทยาศาสตร์กอดกันกลม อำนาจเงินก็เสกทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้

อินเจนกว้านซื้ออำพันจำนวนมหาศาลหวังหาดีเอนเอไดโนเสาร์ในยุง เช่าที่หมู่เกาะในประเทศคอสตาริกาโดยอ้างว่าเพื่อสร้างพื้นที่ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ จ้างอลัน แกรนท์ ให้เตรียมคู่มือเลี้ยงไดโนเสาร์เด็ก ที่มีรายละเอียดตั้งแต่พฤติกรรม ช่วงอาณาเขต การให้อาหาร พัฒนาการด้านสังคม โดยอ้างว่าจะนำไปเปิดพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ซึ่งในฐานะนักบรรพชีวินวิทยาที่มีเงินทุนในการขุดค้นน้อยลงทุกปี อลันไม่ได้ตั้งคำถามกับข้อมูลดังกล่าวที่ให้ไปเสียเท่าไร 

เพราะแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสงสัยเกิดขึ้นมากมายว่าคราวนี้เหล่าคนรวยกำลังเล่นอะไร แต่ใครเล่าจะไปคิดว่าอินเจนกำลังสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมาจริง ๆ

Man make for man’s sake

เราไม่เชื่อในพระเจ้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจูราสสิค พาร์ค ไม่สามารถอธิบายเป็นคำใดได้เลยนอกจาก มนุษย์ที่กำลัง (พยายาม) เล่นบทพระเจ้า

ข้อกังขาของทุกคนถูกเฉลยเมื่อยามเดินทางไปถึงเกาะอิสลา นูบลาร์ หมู่เกาะห่างไกลในประเทศคอสตาริกา และพบกับไดโนเสาร์ตัวเป็น ๆ เป็นครั้งแรก แต่ความตื่นตาตื่นใจอยู่ได้ไม่นาน เพราะถูกแทนที่ด้วยความฉงนสนเท่ห์นับล้าน เมื่อเหล่าคนหัวกะทิแนวหน้าที่วาดฝันว่าตัวเองคือผู้กุมชะตาของมนุษยชาติ พร่ำบอกว่าพลังทางพันธุกรรมคือทางรอด โดยหลงลืมไปเสียสนิทว่า มนุษย์ไม่เพียงไม่อาจควบคุมธรรมชาติ แต่ ธรรมชาติ มีอำนาจเหนือเรา

และแม้จะปฏิเสธหัวชนฝาอย่างไร ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีอะไรในจูราสสิค พาร์คที่เป็นของจริง แม้กระทั่งไดโนเสาร์เองก็ตาม

ดร.เฮนรี่ วู ปรับปรุงสายดีเอ็นเอที่ไม่สมบูรณ์ผ่านการเติมดีเอ็นเอของสัตว์อื่นในโลกยุคปัจจุบันเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นหมึกกระดอง กบ หรืองูบางชนิด ผสมปนเปอยู่ในดีเอ็นเอสิ่งที่เรียกว่า ไดโนเสาร์

เมื่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกแปะป้ายเป็นลิขสิทธิ์ของอินเจน ดังนั้นเพื่อไม่ให้พวกมันมีชีวิตรอดนอกจูราสสิค พาร์ค ดร.เฮนรี่จึงทำให้พวกมันไม่สามารถผลิตไลซีนเป็นของตัวเองได้และต้องกินอาหารจากอินเจนเท่านั้น หากไดโนเสาร์บางตัวเร็วเกิน ดุเกินไป ก็ปรับพันธุกรรมเสียใหม่เป็นเวอร์ชั่น 1.0 2.0 3.0 นอกจากนี้เพื่อป้องกันการผสมพันธ์ุตามธรรมชาติ พวกมันยังถูกคุมกำเนิดตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนด้วยการสกัดโครโมโซมเพศชายไม่ให้ก่อตัว ทำให้ไดโนเสาร์ทุกตัวเป็นตัวเมีย

แต่ชีวิตย่อมมีหนทางของมัน

ไดโนเสาร์หลุดออกจากเกาะไปทำร้ายชาวบ้านในเกาะใกล้เคียง

และเมื่อสภาพแวดล้อมบังคับ ไดโนเสาร์ก็สืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ

ดำรงอยู่อย่างเสรีในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่เป็นอิสระ โดยที่เหล่ามนุษย์แสนฉลาดไม่รับรู้จนกระทั่งสายเกินไป

ความ ไม่จริง ของจูราสสิค พาร์คไม่ได้มีเพียงแค่ไดโนเสาร์ แต่ยังรวมไปถึงพืชพรรณจากโลกดึกดำบรรพ์ที่ถูกคัดสรรมาเพื่อสุนทรียะรอบพาร์ค โดยไม่สนสี่สนแปดว่ามันจะมีพิษหรือไม่ ในขณะที่เหล่าผู้ลงทุนไม่สนว่า ไดโนเสาร์ที่หลุดออกไปจะคร่าชีวิตไปแล้วเท่าไร ตราบใดที่ข่าวยังไม่ดัง

เพราะมนุษย์มีคำกล่าวอ้างต่าง ๆ นานา เมื่อต้องการอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

คำกล่าวอ้างของจอห์น แฮมมอนด์ยังยาวขึ้นเรื่อย ๆ แม้ทุกอย่างจะเริ่มดิ่งลงเหว จอห์น บอกว่าการฟื้นคืนชีพสิ่งมีชีวิตล้านปี คือการยกระดับเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (ถ้าตัวเองไม่ทำ คนอื่นก็คงทำ เขาว่า) คือการสร้างสวนสนุกให้กับเด็ก ๆ ได้ตื่นตาตื่นใจ (อย่างน้อยก็เด็กที่มีตัง เขาว่า) คือการสร้างเขตอนุรักษ์ – สวนสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้โลกได้ศึกษาสิ่งที่ก่อนหน้าได้เพียงแค่ขุดคุ้ย (แต่ถ้าทำเงินได้ด้วยก็ยิ่งดีไปกันใหญ่ เขาว่า)

หรือหากให้ใกล้ตัวกว่านั้น ไม่จำเป็นต้องนึกไกลไปถึงจูราสสิค พาร์ค สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ที่เราพบเห็นกันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะสุนัขหรือแมว มีกี่สายพันธุ์แล้วที่ถูกปรับสรีระเพื่อให้ น่ารัก สวยงาม ถูกใจ มาตรฐานที่มนุษย์ชื่นชอบ โดยไม่สนว่าสัตว์เหล่านั้นจะพิการและใช้ชีวิตยากเพียงใด

ขอแค่มันขาสั้น จมูกสั้น หลังเอนตก ทรวดทรงดีอย่างที่หวังก็พอแล้ว

แล้วเราก็อินจูราสสิค พาร์คกันเหลือเกิน

โลกอยู่มาก่อนเรา และจะอยู่หลังจากเรา

หลังจากนี้จะมีก็แต่เสียงกรีดร้อง การไล่ล่า และเลือดที่สาดกระเซ็น

ทว่าผลลัพธ์จากความโอหัง ทะนงตนของมนุษย์ที่ทำให้หลากชีวิตวายป่วงไม่ได้ทำให้เราตื่นรู้เสมอไป เพราะหลายครั้ง ‘การเรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีต’ ก็เป็นเพียงคำพูดโก้ ๆ ชั่วคราวก่อนเราจะเดินหน้าลงมือทำมันอีกครั้ง แล้วคาดหวังให้ผลลัพธ์ออกมาต่างจากเดิม

แต่มนุษย์ไม่เคยเลิกคิดว่า ตัวเองประเสริฐกว่าสัตว์อื่น

แต่มนุษย์ไม่เคยเลิกคิดว่า ตัวเองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทรัพยากรบนโลกใบนี้

แต่มนุษย์ไม่เคยเลิกคิดว่า ตัวเองคือผู้กอบกู้มนุษยชาติจากภัยอันตรายรอบตัว แม้ความจริงแล้วก็เป็นมนุษย์เองนั่นแหละที่กำลังทำให้ตัวเองสูญพันธุ์

เราคงไม่ได้วิ่งหนีไดโนเสาร์กันเร็ว ๆ อันที่จริงโลกที่สิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ได้คงอยู่ไม่ถึงช่วงที่ฟื้นคืนชีพไดโนเสาร์ให้มาไล่กินเราด้วยซ้ำไป หนังสือจูราสสิค พาร์คตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1990 จวบจนวันนี้ 2023 เรายังมองเผ่าพันธุ์ตัวเองเป็นใหญ่และใช้ประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แบ่งแยกตัวเองให้เหนือกว่าแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งธรรมชาติ ก่อนจะมาแบ่งแยกกันเองอีกครั้งผ่านทรัพยากรที่มีในกำมือ

และแม้คนสร้างจูราสสิค พาร์ค จะเป็นคนที่มีทรัพยากรมาก

แต่คนได้รับผลกระทบจากจูราสสิค พาร์ค คือ ทุกคน

มันจึงไม่เกินจริงหากจะพูดว่า วันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่เรากลับวิวัฒนาการถอยหลัง และสร้างระเบิดเวลาให้ตัวเอง

หนังสือ : Jurassic Park
เขียน :
Michael Crichton
สำนักพิมพ์ :
Alfred A. Knopf

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี