เรื่องจริงกระแสรองของคนข้ามเพศสูงวัย ไม่ใช่ทุกคนจะกลับบ้านได้ จนกลายเป็นคนไร้บ้านสูงวัยในที่สุด - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ผู้มีความหลากหลายทางเพศสูงอายุ เข้าถึงบริการไม่ได้ อาชีพรับรองก็ไม่มี”

“เราอยู่ชนบท ไม่ได้เรียนหนังสือ เปิดเผยตัวตนไม่ค่อยได้”

นี่คือเสียงสะท้อนที่เราไม่ได้ยินกันบ่อยนักในการเรียกร้องและรณรงค์เรื่องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศกระแสหลัก แต่วันนี้ปัญหาจากประสบการณ์ตรงของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนอย่างการเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ชนบท ก้องกังวานทั่วลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครฯ ภายในงาน ไท pride ประจำปี 2023

ชวนอ่านบทสนทนาเคล้าความทุกข์สุขดิบ ของ De/code กับสองคนข้ามเพศชายขอบมากประสบการณ์อย่าง พี่หล้า ธนิชา ธนะสาร อดีตผู้ใหญ่บ้านที่นิยามตัวเองว่าเป็นทอม และ พี่ขวัญ สมควร กองดี สาวประเภทสอง จากมูลนิธิซิสเตอร์ที่ดูแลผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่พัทยา ตั้งแต่วันที่ความหลากหลายถูกมองให้เป็นอื่น จวบจนปัจจุบันที่แม้จะเปิดกว้างขึ้นแต่ก็ยังไม่ถูกยอมรับในฐานะพลเมืองเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ประเทศไทยเข้าใกล้สังคมสูงอายุระดับสุดยอดขึ้นอีกปี 

ชนะ 99 คะแนน แต่ยังต้องสู้กับความเกลียดชังที่ฝังราก

มีผู้ใหญ่บ้านเป็นทอม ไม่อายหรอ

“ไม่อายเหรอที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นทอม ไม่อายหรอที่จะไปบอกคนอื่นว่าผู้ใหญ่บ้านเป็นทอม ทอมทำงานได้จริงเหรอ คนแบบนี้จะมีปัญญาทำเหรอ”

พี่หล้า – ป๋าหล้า – หนานหล้า ธนิชา ธนะสาร อายุ 62 ปี เล่าประสบการณ์การถูกตีตราเมื่อยามเป็นแคนดิเดตลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านที่นิยามว่าตัวเองเป็น ‘ทอม’ จากภูธร จังหวัดเชียงใหม่

พี่หล้าอยากเป็นผู้ชายตั้งแต่จำความได้ ผู้คนมักเรียกพี่หล้าว่า ‘อีปู๊’ โดย อี หมายถึง ผู้หญิง และปู๊ หมายถึง ผู้ชาย เมื่ออายุมากขึ้นได้เข้ามาเรียนในตัวเมือง ผู้คนก็ใช้คำศัพท์ที่ต่างกันไปและหันมาเรียกพี่หล้าว่า ทอม ซึ่งพี่หล้าก็นิยามตัวเองว่าทอมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การเป็นทอมในสังคมชทบทไม่ใช่เรื่องง่าย พี่หล้าพบเจอกับการด้อยค่า ดูถูก เหยียดหยามจากสังคมภายนอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากสิ่งที่ตัวเองเป็น เมื่อมีเหตุการณ์ทางธรรมชาติใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะฝนตกหนัก น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง ไฟไหม้ก็มักถูกชาวบ้านด่าทอว่าเป็นเพราะคนวิปริตผิดเพศ โดยคำกล่าวเหล่านั้นยิ่งโหมกระหน่ำหนักเมื่อยามลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน อย่างไรก็ตามจุดตัดของชีวิตที่ทำให้พี่หล้าเข้มแข็งและมั่นคงได้คือ ครอบครัว และญาติพี่น้องที่คอยสนับสนุนไม่ไปไหน ทำให้พี่หล้าเอาชนะใจคนในชุมชน และผู้ใหญ่คนเก่า 2 สมัย อยู่ 99 คะแนน จากทั้งหมด 268 ครอบครัว และได้รางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นในเวลาต่อมา

“พี่เข้าหาทุกครอบครัวเลย ยกมือไหว้ ฝากเนื้อฝากตัวทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเรา พี่ไม่ได้อวดตัวเองว่าเก่งมาจากไหน แต่ก็มีคนรอบข้างกลับมาบอกว่าเมื่อก่อนก็เสียใจอยู่ที่ไม่เชียร์เรา” พี่หล้า กล่าว ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้การรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของพี่หล้าจะถือเป็นก้าวใหม่ของชุมชน เพราะการมีตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ครู ดารา หรืออาชีพอื่น ๆ อย่างสภาผู้แทนราษฎร ที่หากลองดูสัดส่วน ณ ปัจจุบันนี้พบว่า มี ส.ส.ผู้มีความหลากหลายทางเพศอยากเปิดเผยเพียง 4 คนเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ยังไม่ใช่บทส่งท้ายอคติต่อเพศหลากหลายที่ฝังรากลึกในสังคมสองเพศในภูธร

“มีผู้ปกครองบอกว่า ‘จะไปไปกับเขานะ เดี๋ยวจะเป็นทอม’ มันไม่ใช่นะ พี่จะบอกเสมอว่ามันไม่ใช่โรค มันอยู่ที่จิตใจ ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นผู้หญิงไปแล้วสิ (ขำ)”

จิตวิทยาการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในการทำงานของพี่หล้าเป็นอย่างมาก เพราะบางทีการสอนอย่างตรงไปตรงมาอาจทำให้เกิดการต่อต้านจากผู้ปกครอง พี่หล้าจึงพยายามสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ให้กับเด็ก ๆ ที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน ที่ไม่เพียงปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจความหลากหลาย แต่ยังรวมไปถึงผู้ปกครองที่มีทัศนคติต่อความหลากหลายทางเพศที่ติดลบมากับลูกหลานด้วยเช่นกัน

“พี่ไม่ได้บอกว่าทอมดี ผู้หญิงดี ผู้ชายดี กะเทยดี พี่พยายามบอกว่าคนเราทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนนะ อย่างน้าหล้าเป็นทอม น้าหล้าก็ยังสามารถถูกเลือกมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะว่าเราก็คือเรา เราทำงาน ดำเนินชีวิตของเราไป เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร ดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ แล้วเราจะเป็นอะไรก็ได้” พี่หล้าว่า

“ตั้งแต่จำความได้น้าหล้าก็ใส่กางเกงของผู้ชาย ไม่เคยใส่กระโปรงเลย เด็กบางคนบอก ‘หนูอยากเป็นเหมือนน้าหล้า’ ‘หนูอยากใส่กางเกงผู้ชาย’ ก็ใส่เลยลูก พ่อแม่ก็หัวเราะ เพราะเวลาทำกิจกรรม เราสอนให้เขาดูแลสังคมและชุมชน พ่อแม่เขาก็ภูมิใจ ตอนนี้น้อง ๆ หลายคนโตมาเป็นพยาบาล เป็นอาจารย์พยาบาล มีอาชีพที่หลากหลาย เขากล้าออกมาทำงานในชุมชนแล้ว เขาไม่กลัวที่จะถูกตำหนิแล้ว สังคมก็ยอมรับเขา”

พี่หล้าพูดพร้อมรอยยิ้ม

หน้าชื่นอกตรมคนข้ามเพศ

‘กะเทย ๆ อิแมงตายเบี่ย’ นี่คือประโยคที่ พี่ขวัญ – สุขวัญ กองดี อายุ 49 ปี ได้ยินจากคนรอบตัวในฐานะที่เธอเป็นสาวประเภทสองที่เติบโตมาในชนบทของจังหวัดอุดรธานี โดยคำว่า แมงตายเบี่ย หมายถึง พวกผิดเพศ ในภาษาอีสาน หากได้กันฟ้าจะผ่า เกิดมาเสียชาติเกิด ตั้งแต่เด็กพี่ขวัญนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงเสมอมา ไม่ใช่กะเทย ไม่ใช่สาวประเภทสอง และไม่รู้ว่าหญิงข้ามเพศอะไร หากพูดถึงปัจจัยทางครอบครัวของพี่ขวัญ ตั้งแต่พ่อแม่จนถึงญาติพี่น้องรับได้กับตัวตนของเธอ จะมีก็เพียงแต่พี่ชายคนนึงและสังคมรอบข้างที่รับไม่ได้เสียมากกว่า

“คนสมัยก่อนเขายอมรับเพศแบบนี้ไม่ค่อยได้ พี่ชายก็อาจจะโดนกดดันแล้วก็มาทะเลาะกับน้อง ชาวบ้านยังไม่เข้าใจคำว่ากะเทย ไม่เข้าใจเพศเรา ก็มาล้อเรา สาวประเภทสองส่วนมากจะไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ไขว่คว้าหาชีวิตตัวเอง พอเจอแล้วเขาก็จะอยู่กับที่ ถ้าถามว่าอยากอยู่บ้านเกิดไหม ก็ไม่ได้อยากจะหนีจากบ้านเกิด แต่มันมีอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง ทำให้เราไม่อยากอยู่”

พี่ขวัญเล่า ก่อนอธิบายต่อว่า ครอบครัวของพี่ขวัญไม่ได้ร่ำรวย แม้จะมีที่นาแต่ก็ไม่ได้พอกินพอใช้กับพี่น้องทั้งหมด 6 คน พี่ขวัญดิ้นรนส่งตัวเองเรียนสูง ๆ และหาที่ทางของตนเองจนเจอ และได้ทำงานกับมูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ระยอง ซึ่งเป็นศูนย์บริการสุขภาพชุมชนคนข้ามเพศที่ตอบโจทย์ตนเอง

จากประสบการณ์ทำงานพลัดถิ่นมาหลายปี พี่ขวัญระบุว่า พื้นที่อุตสาหกรรมอย่างระยองมีความเหลื่อมล้ำสูง ถ้ารวยก็รวยมาก และหากจนก็จนมากเช่นเดียวกัน เกย์รวยในพื้นที่ระยองมักเป็นเจ้าของโรงงาน ในขณะที่สาวสองมักเป็นคนต่างจังหวัดที่หากสู้ค่าครองชีพไม่ไหวก็ต้องระหกระเหินกลับบ้านเกิดอย่างเลี่ยงไม่ได้ การใช้ชีวิตและหางานในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อหลายสิบปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นคนข้ามเพศ ซึ่งมีสองปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคในการหางานคือ (1) การเข้าไม่ถึงการศึกษา (2) หน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวัง

“การกินฮอร์โมนก็ทำให้คนสวยขึ้น ละมุนขึ้น สมัยก่อนไม่ทานฮอร์โมน กะเทยหน้าผู้ชายเลย แล้วถ้าจะมาไว้ผมยาว แต่งหญิง หลายบริษัทเขาไม่เอา ยิ่งไม่มีความรู้ยิ่งไม่เอา สมัยรุ่นพี่ขวัญ ม.3 ก็แทบจะไม่จบกัน บางคนถ้าไม่มีอันจะกินหรือพ่อแม่ไม่ร่ำรวย ป.6 ก็ไม่จบ เลยทำให้ไม่มีงานทำในสมัยนั้น” 

พี่ขวัญกล่าว ก่อนเสริมว่า ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนที่สามารถกลับบ้านได้ และกลายเป็นคนไร้บ้านสูงวัยในที่สุด เพราะแม้จะมีหลายองค์กรยื่นมือเข้ามาช่วย ก็ไม่สามารถช่วยได้อย่างครอบคลุม เพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศสูงวัยหลายคนก็รู้สึกอาย และไม่ต้องการการช่วยเหลือ “เราไม่อยากทิ้งคนแก่ไว้ข้างหลัง แต่ทำยังไงได้ เราพยายามสุด ๆ แล้ว อยากให้หน่วยงานภาครัฐทำให้พวกเขาถึงสถานบริการ และเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดี” พี่ขวัญว่าอย่างนั้น

แม้นไม่ถึงฝัน ยังเฝ้ารอ…

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริบทของชุมชนต่างจังหวัดในอดีตไม่มีองค์ความรู้เรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะพลเมืองเท่าใดนัก พี่หล้ากล่าว ก่อนเสริมว่า คนอายุเท่าพี่หล้าเมื่อมีคู่ก็อยู่ด้วยกันปกติ มีบ้าน มีรถ มีอาชีพด้วยกัน แต่พวกเขาไม่เคยประสบปัญหาเรื่องเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล และไม่เคยเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลคนรักตัวเองได้ จะมีก็แต่เรื่องราวของ ป๋าภา ที่จากไปด้วยคำนำหน้าที่เป็นนางสาว แม้จะใช้ชีวิตอย่างผู้ชายมาตลอดชีวิตก็ตาม

“เราจะมาส่งดวงวิญญาณของนางสาวโสภาไปสู่สวรรค์” คือประโยคที่ถูกเอ่ยในงานศพของป๋าภา

พี่หล้าเล่าต่อว่า เมื่อใดก็ตามที่ต้องไปใช้บริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลแล้วมีการเรียกชื่อพร้อมคำนำหน้าเมื่อใด ไม่ว่าจะพี่หล้า หรือป๋าภา ก็มักจะโดนคนรอบตัวส่งสายตาตัดสิน หรือซุบซิบกันว่า ‘เป็นแม่ญิงแต้ ๆ ทำไมถึงเป็นป้อจาย’

ดังนั้น พี่หล้าจึงอยากให้ภาครัฐหันมาดูแลพี่น้องผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนดูแลประชาชนคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศ การเปลี่ยนคำนำหน้า การเข้าถึงสวัสดิการคนข้ามเพศ ที่มักถูกมองเป็นการศัลยกรรมแทนที่จะเป็นการรักษา ตลอดจนสมรสเท่าเทียม และนโยบายที่สร้างรากฐานให้ทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน “พี่แก่ขนาดนี้แล้ว คำนำหน้าพี่คงไม่เปลี่ยน แต่พี่เห็นด้วย สมรสเท่าเทียมพี่เห็นด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่มีแล้ว พี่กับแฟนมีสร้างอะไรด้วยกัน ถ้าพี่ตายไปก่อนหรือแฟนพี่ตายไปก่อน มันก็จะเป็นปัญหา

“พี่เห็นด้วยกับทุกข้อเรียกร้องที่ทำให้พี่น้องเพศหลากหลายสามารถเป็นตัวเองได้ เพราะเราทุกคนมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน เป็นคนเหมือนกันหมด ถึงแม้เราจะมีความหลากหลาย มันก็มาจากจิตใจเรา เป็นแล้วมันเปลี่ยนไม่ได้ อย่ากระทำกับพวกเราเหมือนพวกเราไม่ใช่คน อยากให้นโยบายภาครัฐสนับสนุนในสิ่งที่พวกเราเรียกร้อง อยากให้เข้าใจแล้วก็รับข้อเสนอไว้”

ในขณะที่พี่ขวัญก็เห็นด้วยกับการมองเห็นที่ครอบคลุมในระดับกฎหมายทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการบริการจากภาครัฐโดยปราศจากการตีตรา นอกจากนี้ในฐานะผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.คู่ชีวิตมานานร่วมกับกลุ่มองกรณ์อื่น ๆ ที่พบว่ายังไปไม่ถึงไหนเสียที พี่ขวัญระบุว่า แม้จะไม่รู้ว่าจะต้องรอถึงอายุเท่าไร แต่พี่ขวัญก็อยากเห็นความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม สมรสเท่าเทียมขับเคลื่อนมาหลายปี อยากให้เป็นจริงเสียที เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา 

“อยากบอกรัฐบาลว่า หลาย ๆ อย่างที่คุณไม่อนุมัติ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคุณจะไม่ทราบปัญหา คุณทราบแต่คุณไม่ทำ คุณรู้แต่คุณไม่ทำ กลุ่มผู้มีความหลายหลายทางเพศ ในประเทศไทยก็เป็นคนไทยคนนึง เมื่อคุณเป็นรัฐบาล เมื่อคุณเป็นกระบอกเสียง ทำไมคุณไม่อนุมัติสักที เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป”

พี่ขวัญกล่าวทิ้งท้าย