คิสซิงเจอร์ในความทรงจำของอินเดีย - Decode
Reading Time: 2 minutes

พินิจถิ่นอินเดีย

รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายนปีที่แล้ว เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ได้อำลาจากโลกไปด้วยอายุ 100 ปีเศษ ทันทีที่เขาถึงแก่กรรม หลายคนที่ติดตามข่าวต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอก็ได้อ่านบทความจำนวนหลายบทที่นักคิดนักเขียนพรรณนาถึงเขาในหลายแง่ บางคนก็ชื่นชมเต็มที่ บางคนก็เอาแต่โจมตีอย่างเดียว ขณะที่บางคนก็เขียนเป็นกลาง ๆ ให้ข้อมูลและความรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาในสมัยของเขา แต่ละแง่ที่แต่ละคนเขียนถึงคิสซิงเจอร์ก็น่าจะสะท้อนมุมมองของตนที่มีต่อการเมืองโลกทั้งในปัจจุบันและอดีต

กล่าวได้ด้วยว่าในบรรดาอดีตที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่น่าจะมีคนใดที่มีคนเขียนถึงมากมายเพียงนี้ คงมีเหตุผลหลายข้อว่าทำไมจึงมีวรรณกรรมมากมายเกี่ยวกับคิสซิงเจอร์ทั้งก่อนและหลังเขาจากโลกไป ในที่นี้ขอพูดถึงเหตุผล 2 ข้อด้วยกัน

ข้อแรกอาจจะเป็นเพราะคิสซิงเจอร์เป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และได้กำหนดนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ ในช่วงสำคัญของสงครามเย็นเลยก็ว่าได้

ข้อที่สองอาจจะเป็นเพราะการดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) นั้น โลกได้เห็นมหาอำนาจสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและความมั่นคงแบบคิสซิงเจอร์ที่เต็มไปด้วยความประหลาดใจและหยาบกระด้างนับตั้งแต่สงครามเย็นบังเกิดขึ้น จะเรียกการดำเนินนโยบายนี้ว่าเรียลลิสม์ (Realism) แบบคิสซิงเจอร์ก็คงไม่ผิด หากจะขยายความเพิ่มเติมอีกก็คือ คิสซิงเจอร์ให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ ความท้าทายที่จะสร้างระเบียบที่มีเสถียรภาพในโลกที่ปราศจากรัฐบาลโลก และการปะทะกันของผลประโยชน์ที่แข่งขันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในโลกของคิสซิงเจอร์ มนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชนหาได้มีความสำคัญเหนือกว่าผลประโยชน์แห่งชาติไม่

สำหรับหลายคนที่ยึดกับหลักผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ หลักที่ทำให้สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจของโลกสามารถจัดการกับประเด็นหรือประเทศต่าง ๆ ได้นั้น คิสซิงเจอร์ได้รับคำชื่นชมไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็น (1) “การทูตแบบเดินสายเจรจา” (shuttle diplomacy) ของคิสซิงเจอร์ คือต้องเดินทางไปเจรจากับบรรดาประเทศอาหรับให้ยุติการคว่ำบาตรน้ำมันต่อสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เข้าไปหนุนอิสราเอลหลังจากอียิปต์และซีเรียโจมตีอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด ซึ่งในที่สุดความเพียรพยายามของคิสซิงเจอร์ก็มีส่วนทำให้องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC – โอเปก) ตัดสินใจยกเลิกการคว่ำบาตรดังกล่าว หรือ (2) การหยั่งอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองในบางประเทศ เช่น ชิลี (Chile) หรือแองโกลา (Angola) เป็นต้น หรือ (3) การผ่อนคลายความตึงเครียด ตามด้วยสนธิสัญญาอาวุธกับสหภาพโซเวียต หรือ (4) การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างล้วนได้รับความชื่นชมจากผู้คนที่มองว่าการจัดการระเบียบโลกของสหรัฐฯ มีลำดับความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ทว่าดังที่ได้กล่าวแล้วคือ ใช่ว่าทุกคนจะยึดหลักดังกล่าวเหนือสิ่งอื่นใด ฉะนั้นแล้ว หลายคนจึงประณามการกระทำของคิสซิงเจอร์ในหลายประเด็น เช่น คริสโตเฟอร์ ฮิตเชนส์ (Christopher Hitchens) นักเขียนผู้ประพันธ์หนังสือ The Trial of Henry Kissinger (ตีพิมพ์ปี ค.ศ.2001) ผู้ซึ่งเคยเสนอว่า คิสซิงเจอร์เจ้าของรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพปี ค.ศ.1973 ควรนับเป็นอาชญากรสงครามเสียมากกว่า หนังสือเล่มนี้มองว่า ความโหดร้ายที่คิสซิงเจอร์ได้กระทำไว้ ไม่ว่าจะในอินโดจีน บังคลาเทศ ชิลี ไซปรัส ติมอร์ตะวันออก หรืออื่น ๆ ล้วนแต่เป็นการกระทำเยี่ยงอาชญากรสงคราม

ประเด็นที่บทความนี้สนใจหาใช่เรื่องคิสซิงเจอร์เป็นคนดีหรือไม่ เพราะวรรณกรรมภาษาไทยจำพวกนั้นหาอ่านได้ดาษดื่น ที่ใครเล่าให้ฟังคือ คิสซิงเจอร์พลาดพลั้งในเรื่องเกี่ยวกับอินเดีย กล่าวได้ด้วยว่า คิสซิงเจอร์แพ้ทางอินเดียที่นำโดยอินทิรา คานธี (Indira Gandhi ซึ่งต่อจากนี้ไปจะใช้คำว่า อินทิรา)

เรื่องมีอยู่ว่า คิสซิงเจอร์ต้องการจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งความสัมพันธ์นี้เคยสิ้นสุดลงเมื่อเหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ในนามของคอมมิวนิสต์ยึดจีนแผ่นดินใหญ่สำเร็จในปี ค.ศ.1949 เหตุที่คิสซิงเจอร์ประสงค์จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ก็เพราะสงครามที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเวียดนามทำให้สหรัฐฯ มองหาวิธีปรับปรุงความสัมพันธ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในเอเชีย โดยหวังว่านโยบายดังกล่าวอาจช่วยลดความขัดแย้งในอนาคต บั่นทอนความเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ โดดเดี่ยวเวียดนามเหนือทางการทูต และเพิ่มอำนาจของสหรัฐฯ ในการต่อต้านโซเวียต ในฝั่งจีนความตึงเครียดระหว่างจีนกับโซเวียตก็มีส่วนทำให้ผู้นำจีนปรารถนาที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่

บุคคลที่สหรัฐฯ เลือกใช้เพื่อประสานความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนคือ ยะห์ยา ข่าน (Yahya Khan) ผู้นำประเทศปากีสถานตะวันตกในเวลานั้น แท้จริงแล้ว สหรัฐฯ ได้สำรวจหนทางต่าง ๆ มาแล้วหลายหนทางเพื่อติดต่อกับจีน แต่หนทางที่ได้ผลดีคือผ่านทางปากีสถานนั่นเอง

อินเดียนำโดยอินทิรารู้สึกกังวลใจเรื่องนี้ไม่น้อยเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะทั้งจีนทั้งปากีสถานล้วนเป็นคู่อริของอินเดีย อีกทั้งเคยทำสงครามกับอินเดียมาแล้วทั้งคู่ ณ บัดนี้ในสายตาของอินเดีย สหรัฐฯ ก็กำลังเข้ามาร่วมวงตรงนี้ด้วย หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “US-China-Pak nexus” อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน) ต้องหนีเข้าไปลี้ภัยในอินเดียมากถึง 10 ล้านคน มูลเหตุมาจากข่านในฐานะผู้ประสานให้คิสซิงเจอร์ได้พบปะกับโจว เอินไหล (Zhou Enlai) ได้รับการตอบแทนจากสหรัฐฯ คือสหรัฐฯ นอกจากจะยกเลิกการคว่ำบาตรทางอาวุธต่อปากีสถานตะวันตกแล้ว ยังสนับสนุนหรือเอาหูไปนาตาไปไร่เมื่อข่านปราบปรามชาวปากีสถานตะวันออกอย่างหนัก ในประเด็นนี้สหรัฐฯ ถึงกับเพิกเฉยต่อรายงานที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เขียนพรรณนาความโหดร้ายที่หน่วยงานความมั่นคงปากีสถานตะวันตกกระทำต่อชาวปากีสถานตะวันออก ดังที่อาร์เชอร์ บลัด (Archer Blood) กงสุลใหญ่สหรัฐฯ ในกรุงธากา (Dhaka) ได้เขียนถึงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างเร่งด่วนเพื่อขอแทรกแซง ทว่าที่บลัดประสบคือ “ความเงียบอันอื้ออึง” (deafening silence) ซ้ำร้ายสหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่ปากีสถานตะวันตกต่อไปอีกด้วย

อินทิราผู้เปี่ยมไปด้วยศิลปะและไหวพริบด้านการต่างประเทศจึงจำเป็นต้องป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า ชาวปากีสถานตะวันออกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุด และอินเดียเองจำต้องแบกรับภาระที่จะต้องเลี้ยงดูชาวปากีสถานตะวันออกจำนวนมาก ครั้นเมื่ออินทิราเริ่มมั่นใจแล้วว่า จีนกับสหรัฐฯ สนับสนุนปากีสถานตะวันตกอย่างแน่นอน และแน่ชัดแล้วว่าคงไม่มีอะไรจะมาบรรเทาวิกฤตการณ์นี้ได้ เธอจึงตัดสินใจดึงโซเวียตเข้ามาเป็นพันธมิตร ลงนามใน “สนธิสัญญาสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ” กับโซเวียตในวันที่ 9 สิงหาคม ปี ค.ศ.1971 ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าโซเวียตจะคอยช่วยเหลืออินเดียหากจีนหรือสหรัฐฯ คิดโจมตีอินเดีย พร้อมกันนี้เธอก็อนุญาตให้อวามีลีก (Awami League) แห่งปากีสถานตะวันออกที่ประสงค์จะปลดแอกตนจากปากีสถานตะวันตกจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกัลกัตตา (โกลกาตา) ให้จัดตั้งกองกำลังมุกติบาหินี (Mukti Bahini) โดยมีทหารอินเดียคอยให้ความช่วยเหลือด้วย

ด้านการทูตอินทิราก็เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และในต้นเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.1971 เธอก็ได้เยือนสหรัฐฯ เพื่อหารือกับนิกสันที่เป็นคู่ปรับของอินเดียในสถานการณ์นี้ ในการเยือนครั้งนี้ เธอได้วิงวอนต่อชาวอเมริกันเรื่องปากีสถานตะวันออกด้วย และแล้วสภาคองเกรสสหรัฐฯ ก็ได้รีบจัดหางบช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนี้บ้าง ทว่าเธอทราบดีแล้วว่า สหรัฐฯ คงจะดำเนินตามผลประโยชน์ของตน และย่อมไม่มีวันที่จะประณามการกระทำของปากีสถานตะวันตกในปากีสถานตะวันออกอย่างแน่นอน

ในวันที่ 3 ธันวาคม ปี ค.ศ.1971 ภาวะตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานตะวันตกก็เริ่มหนักขึ้น และวันถัดมาอินทิราก็ประกาศสงครามกับปากีสถานตะวันตก ทหารอินเดียใช้เวลาเพียง 12 วันบุกยึดกรุงธากา นายทหารอินเดียระดับผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับการจำนนของกองกำลังทหารปากีสถานตะวันตกมากกว่า 9 หมื่นนาย เมื่อชนะแล้ว อินทิราก็รีบประกาศหยุดยิงทันที เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นว่าการใช้กำลังของอินเดียเป็นไปเพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น คือความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย โดยให้เหตุผลว่า อินเดียจำต้องปกป้องตนเองจากการเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานตะวันออก ซึ่งนำมาสู่ภาวะตึงเครียดทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก การใช้เหตุผลเช่นนี้ย่อมหมายความด้วยว่า อินทิราต้องการให้วิกฤตการณ์นี้เป็นเรื่องภายในของภูมิภาคเอเชียใต้ แต่หากจีนกับสหรัฐฯ คิดโจมตีอินเดีย เธอก็มีโซเวียตคอยหนุนหลังอยู่ และแล้วทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่อินทิราวางไว้ ทั้งจีนกับสหรัฐฯ ก็หาได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใดไม่

เอกสารลับซึ่งเปิดเผยในภายหลังระบุว่า ในระหว่างการประชุมกลางปี ค.ศ.1971 นิกสันและคิสซิงเจอร์วิพากษ์วิจารณ์อินเดียโดยตราหน้าชาวอินเดียว่าเป็นคนที่ “จืดชืดมากที่สุด” และ “น่าสมเพช” และผู้หญิงอินเดียเป็น “ผู้หญิงที่ไร้เสน่ห์ที่สุดในโลก” หนึ่งเดือนก่อนการแทรกแซงของอินเดียในปากีสถานตะวันออกเมื่ออินทิราได้พบกับคิสซิงเจอร์และนิกสัน หลังการประชุมทั้งสองเรียกอินทิราว่าเป็น “นังแรด” (bitch) โดยคิสซิงเจอร์กล่าวหาอินทิราว่า เป็นผู้ “เริ่มสงคราม” และเรียกชาวอินเดียว่า “พวกสารเลว” (bastards) และ “ผู้คนที่ก้าวร้าวที่สุด”

แท้จริงแล้วคำพูดที่เลวร้ายของคิสซิงเจอร์ต่ออินเดียยังมีอีก แต่ที่นำมาเล่าให้ฟังก็น่าจะสะท้อนให้เห็นวาจาเสื่อมเสียของคิสซิงเจอร์ต่ออินเดีย และสะท้อนอย่างชัดแจ้งด้วยว่า ทั้งนิกสันและคิสซิงเจอร์รู้สึกโกรธแค้นกับอินเดียมาก กล่าวอย่างเรียบง่ายเลย เธอไม่ทำตามสหรัฐฯ เธอยืนกรานที่จะดำเนินตามผลประโยชน์แห่งชาติของอินเดีย

แม้คิสซิงเจอร์จะไม่ได้คิดดีกับอินทิราหรืออินเดียที่นำโดยอินทิราในเวลานั้น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป มุมมองของคิสซิงเจอร์เกี่ยวกับอินทิราก็เปลี่ยนไป หลังจากที่อินเดียทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในปี ค.ศ.1974 คิสซิงเจอร์ก็เลือกใช้แนวทางเชิงปฏิบัติ ปฏิเสธข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศที่ให้แถลงการณ์เชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง กล่าวคือ คิสซิงเจอร์ต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่ออินเดีย และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียซับซ้อนยิ่งขึ้น

ในช่วงทศวรรษ 2000 คิสซิงเจอร์ได้แสดงความรู้สึกเสียใจต่อวาจาเสื่อมเสียดังกล่าว พร้อมกับชื่นชมอินทิรา และชวนให้พิจารณาว่าบทสนทนาดังกล่าวนอกจากจะไม่ใช่บทสนทนาอย่างเป็นทางการแล้ว จำต้องมองบริบทด้วยว่าสหรัฐฯ และอินเดียมีจุดประสงค์ต่างกัน ใจความตอนหนึ่งที่คิสซิงเจอร์ได้กล่าวไว้ในภายหลังระบุว่า

“ผมเสียใจที่ใช้คำเหล่านี้ ผมเคารพนับถือนาง[อินทิรา]คานธีในฐานะรัฐบุรุษเป็นอย่างสูง… ความจริง[คือ]เรามีเป้าหมายที่แตกต่างกันในเวลานั้น… เธอเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ผู้ทำสิ่งอันยิ่งใหญ่เพื่อประเทศของเธอ”

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงและอินเดียเริ่มทะยานขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก มุมมองของคิสซิงเจอร์เกี่ยวกับอินเดียก็เปลี่ยนไปในเชิงบวกอย่างเห็นได้ชัด คิสซิงเจอร์สนับสนุนสหรัฐฯ ให้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอินเดีย ในปี ค.ศ.2008 คิสซิงเจอร์กล่าวว่า “อินเดียมีเป้าหมายคู่ขนานกับสหรัฐฯ” เขาเรียกอินเดียว่าเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2018 คิสซิงเจอร์กล่าวด้วยว่า “เมื่อผมนึกถึงอินเดีย ผมชื่นชมยุทธศาสตร์ของเขา” ในประเด็นนี้ คิสซิงเจอร์กล่าวไว้ว่า “อินเดียจะเป็นแกนกลางของระเบียบแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ อิงอยู่กับภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และขนบของการเป็นผู้นำที่เจนโลก ในสมการทางยุทธศาสตร์และอุดมการณ์ของภูมิภาค และของระเบียบโลกที่ปฏิสัมพันธ์กัน”

กล่าวกันด้วยว่า ในช่วงไม่กี่ปีหลังนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดีย คิสซิงเจอร์ก็ได้กลายเป็น “แฟนตัวยง” ของโมดีด้วยซ้ำไป และในปีนี้เมื่อโมดีเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ คิสซิงเจอร์ก็ได้เดินทางไปวอชิงตันเพื่อพบปะและฟังคำปราศรัยของโมดีด้วย

ไม่รู้ว่าอินเดียจะจดจำคิสซิงเจอร์อย่างไร อินเดียไม่น่าจะจดจำเขาในทางที่ดีนัก ในเมื่อนโยบายของคิสซิงเจอร์เป็นภยันตรายต่ออินเดียในแง่ที่ว่าทำให้ความสัมพันธ์จีน–ปากีสถานแน่นแฟ้นขึ้น และตราบจนทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังเป็นภัยคุกคามหลักของอินเดียอยู่ ทว่าครั้นเมื่อผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับอดีตนักการทูตอินเดียทั้งหมด 3 คน กลับพบว่าทั้งสามไม่ประสงค์จะจดจำคิสซิงเจอร์ในทางลบแต่อย่างเดียว จึงเห็นว่าควรอย่างยิ่งที่จะนำคำพูดของอดีตนักการทูตหนึ่งในสามมาปิดท้ายบทความ

“ที่คิสซิงเจอร์เคยพูดจาไม่ดีเกี่ยวกับอินเดียนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก็เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงรอยกัน ย่อมไม่แปลกที่คิสซิงเจอร์สบถด่าอินเดีย อินเดียก็คงสบถด่าสหรัฐฯ ไม่น้อย ที่อินเดียคงไม่มีใครบันทึกไว้ สำหรับผมเมื่อผลประโยชน์ไม่ตรงกัน มันก็คือที่มาของความขัดแย้ง ทุกคนต่างดำเนินหน้าที่ตามบทบาทของตน ส่วนตัวผมแล้ว คิสซิงเจอร์แม้จะไม่เอื้อต่ออินเดียในสมัยของเขา แต่เขาก็คือครูคนหนึ่ง ครูที่ทำให้เราเห็นว่า การทูตนั้นสามารถทำอะไรได้มากมาย เวลาเราเรียนรู้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคิสซิงเจอร์ทั้งหมด เพราะอินเดียไม่ใช่สหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่อินเดีย ทุกเรื่องราวมีบริบทด้วย

โลกในวันนี้ก็มิได้มีโครงสร้างเหมือนวันวาน ผมจะไม่มีวันจดจำเฮนรี่ คิสซิงเจอร์แต่ในทางลบทางเดียว”