'ฝนเดือนพฤศจิกา' ไม่ตกไปตลอดกาล - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เอาไปทำไร…ชีวิตอะ
เดี๋ยวก็ตาย แล้วก็จบ…ทุกอย่าง”

คำโปรยจากละครเวที ‘ฝนเดือนพฤศจิกา’ ที่ตรึงชิ้นส่วนของจิตวิญญาณที่หลงทางของเราให้ฉุกคิด 

ความทรงจำของการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้นได้โลดแล่นเข้ามาในหัวอีกครั้ง ความรู้สึกของเราคงไม่ต่างอะไรกับ แบงค์ มายด์ และแนน ตัวละครทั้ง 3 ที่พบทางตันของชีวิตในช่วงที่กำลังจะเรียนจบ และจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน จึงหลีกหนีโลกความเป็นจริงมาหลบฝนใน ‘โรงเรียนสตรีจุลนาค’ โรงเรียนร้างย่านนางเลิ้ง หรือที่ทำงานของไอซ์ ในฐานะคนเฝ้าโรงเรียน

“กูเรียนที่นี่ จบที่นี่ แล้วก็ทำงานที่นี่”

ในสายตาของชนชั้นกลางในเมืองหลวง ไอซ์ อาจถูกมองได้ว่าเป็นบุคคลที่ไม่ productive ไม่มีความฝัน ไม่มีความมั่นคงของชีวิต เพราะหลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนนี้ ก็เลือกที่จะทำงานเป็นคนเฝ้าโรงเรียนต่อ แต่เมื่อบทละครค่อย ๆ ถอดแว่นค่านิยมของสังคมออกจากคนดู เรากลับพบว่าคนแบบไอซ์ ทำงานกับความคิดของเพื่อน ๆ (แปลกหน้า) ได้ดี ‘ไม่ต่างอะไรกับจิตแพทย์และเพื่อนสนิทของเราเลย’

รำวงวันลอยกระทง บุญจะส่งให้เราสุขใจ

ขณะที่กำลังหลบฝนและฟังเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ ที่เล่นในงานที่จัดขึ้นบริเวณโรงเรียน ทุกคนก็ได้ตั้งคำถามถึงบาปบุญและความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นจากเทศกาล แนน คนที่มองเห็นถึงความไม่เข้ากันของเหตุและผลในแต่ละความเชื่อ เธอมองว่าเรื่องพวกนั้นมันเป็นสิ่งงมงาย

“แต่กูว่าคนที่มีความเชื่อ เขาใช้ชีวิตง่ายดีนะ”

ในยุคที่ผู้คนหลงทางและจมดิ่งไปกับความสิ้นหวัง คำพูดของไอซ์ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริงเลย เพราะช่วงเวลาที่มนุษย์อ่อนแอที่สุด คือช่วงที่เราพึ่งตัวเองไม่ได้อีกต่อไป เมื่อยืนไม่ได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องหาอะไรยึดเกาะ มันทำให้เรานึกถึงตัวเองช่วงมัธยมที่ตัดสินใจเป็นคนมีศาสนา เพราะด้วยปัญหาครอบครัวที่ใหญ่เกินกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะรับไหว เราต้องการที่พึ่งทางจิตใจ และปฏิเสธไม่ได้ว่า“การมีความเชื่อ มันเอื้อต่อการก้าวข้ามความเจ็บปวดได้จริง ๆ”

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาสำหรับทุกคน อย่างแนนที่เลือกหนีออกจากบ้าน เพราะพ่อที่เคย เชื่อใจและเป็นที่พึ่งพิงคนสุดท้าย หลังจากแม่เสีย กลับปิดบังความจริงที่ว่าเขามีแฟนใหม่และกำลังตั้งท้อง โลกทั้งใบของแนนแตกสลาย เพราะเธอไม่สามารถเชื่อใจพ่อได้เหมือนเดิมอีก

เมื่อได้ฟังที่แนนเล่าเรื่อง ภาพความทรงจำของเราและกลุ่มเพื่อนในโบสถ์คริสต์ก็ถูกฉายซ้อนขึ้นมา อาจพูดได้ว่าพวกเรามาพบและรวมตัวกันด้วย

‘กฎแรงดึงดูดฉบับพิเศษสำหรับเด็กจากครอบครัวไม่สมบูรณ์’

บาดแผลที่ประทับในจิตใจของพวกเราถูกเผยขึ้นมา มันแสดงให้เห็นว่าเราผิดหวัง เราเสียใจ เราแตกสลายจากครอบครัว แต่เรามาพูดคุยกัน และหาทางออกด้วยความหวังที่ว่า

“เพราะเด็กทุกคนล้วนอยากมีครอบครัวที่มีความสุข”

“ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยังไงก็กลับมาเป็นเหมือนเดิมไม่ได้หรอก แต่ถ้ายังอยากเป็นครอบครัวเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะอยู่ด้วยกันได้เอง”

คำพูดไอซ์ไม่ใช่แรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่หรือการให้กำลังใจแนนแบบสวยหรู แต่คือความเป็นจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญ เมื่อมนุษย์ผู้เป็นที่รักใช้สิทธิ์ในการเลือก แต่ไม่ได้เลือกทางเดียวกับเรา ความสัมพันธ์ที่เลือกจะไปต่อก็ต้องมีการปรับตัว แต่ถ้าหากว่าใครสักคนเจ็บปวดเกินจะยอมรับไหว ทุกอย่างก็อาจจะต้องจบลง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับการเลือกและการเจรจา แต่สุดท้ายก็จบที่การเปลี่ยนแปลงอยู่ดี

เพราะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติที่เข้าขั้นสัจธรรม แต่มันไม่ง่ายสำหรับสิ่งมีชีวิตที่จิตใจอ่อนไหวอย่างมนุษย์เลย

“รู้ไหมว่าการที่ติดต่อคนที่เราแคร์ไม่ได้ มันแย่แค่ไหน!”

เสียงที่พูดด้วยความเจ็บปวดของแบงค์ สะท้อนบาดแผลที่ถูกฉีกออก จากการที่แนนไม่รับสายพ่อที่โทรเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบงค์แค่อยากให้แนนรับโทรศัพท์และยืนยันกับปลายสายว่าเธอยังปลอดภัย เพราะเขารู้ดีถึงการถูกตัดขาดจากการติดต่อ และไม่ได้พบเจอคนรักอีกเลย เขาคิดว่าตนเองเรียนรู้คำว่า ‘สายเกินไป’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากน้องชายผู้เป็นที่รักที่จากไปด้วยอัตวินิบาตกรรม

สิ่งที่ยากที่จะยอมรับ ไม่ใช่การไม่มี แต่คือการ ‘เคยมี’

เราต่างรู้วิธีรับมือกับการจากลา แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเราต้องต่อสู้กับการทำงานของความทรงจำที่พรั่งพรูเข้ามาหลังจากการสูญเสีย ก่อให้เกิดเป็นชุดคำถามมากมายที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ถ้า…

ถ้ากูเป็นพี่ชายที่ดี รับฟังมันมากกว่านี้ มันคงไม่เลือกที่จะจากไปใช่ไหม

ถ้าเกิดมาเป็นเด็กที่เข้มแข็งกว่านี้หน่อย คงไม่ต้องทรมานแบบนี้ใช่ไหม

ถ้ากูบอกว่ากูเข้ากับใครไม่ได้เลยบนโลกใบนี้นอกจากมัน มันจะยังอยู่ต่อให้กูไหม

ถ้าเกิดเล่าให้ใครสักคนฟัง เขาจะไม่ทุกข์ใจใช่ไหม

ถ้าอยากให้เรื่องทุกอย่างมันจบลง เราต้องหายไปจากโลกใบนี้ใช่ไหม

สายตาของแบงค์ที่มองทอดลงไปยังพื้นปูนชั้น 1 ของโรงเรียน คงดูว่างเปล่าไม่ต่างกับเราในตอนที่นัดพบจิตแพทย์และได้พูดคุยถึงการการุณยฆาต

วลี live fast, die young ในความหมายทั่วไป คือการใช้ชีวิตให้เต็มที่เหมือนว่าพรุ่งนี้จะไม่มีอีกแล้ว แต่สำหรับเรา มันอาจหมายถึงการที่เผชิญชีวิตจนบาดแผลเต็มตัวแบบไม่มีช่องว่าง เลยตั้งคำถามตลกร้ายกับโลกใบนี้ว่า “ถ้าใช้ชีวิตได้ขนาดนี้แล้ว ขอตายไวได้ไหม” เพราะนั่นอาจจะเป็นความสงบที่แท้จริงที่เราตามหาอยู่

“จะเร็วจะช้า คนเราก็ต้องตายอยู่ดี มึงก็ไม่ต้องรีบหรอก”

“ความตายเป็นเรื่องที่สุดท้ายทุกคนก็ต้องเจอ ดังนั้นหมอว่าการเลือกที่จะอยู่ต่ออีกหน่อย มันน่าจะดีสำหรับตัวหมอเองและเรานะ”

บทสนทนานี้อาจชวนเข้าใจได้ว่านี่คือบทละครที่ดำเนินไปตามปกติ

แต่ความจริงแล้วมันคือการทับซ้อนกันของคำพูดจากไอซ์และจิตแพทย์ที่ดูแลเราในชีวิตจริง ความคิดที่ว่าความตายเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ไม่ต้องรีบร้อน มันกำลังทำงานกับเราและแบงค์อย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราก็ได้โต้กลับไปในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งพูดถึงความอดทนที่เกินขีดจำกัด และการมีเวลาเป็นศัตรู

“ถ้าวันหนึ่งมึงสามารถเจอคนที่เขาเหมือนมึงได้ มึงยังอยากรอเจอคน ๆ นั้นไหม”

อยากเจอ…

เราตอบไอซ์พร้อมกันโดยทันที ต่างกันแค่การพูดออกเสียงและการพูดในใจ เพราะจิตวิญญาณที่สิ้นหวังไม่ได้ต้องการจะจากไป แต่เราต้องการบางสิ่งหรือบางคนที่จะเป็นแสงสว่างให้อีกครั้ง และยืนยันได้ว่าช่วงเวลาแห่งความสุขจะมาถึงเราจริง ๆ ก่อนที่ชีวิตจะดับสลาย

แต่การรอใครสักคนที่เปรียบเสมือนชิ้นส่วนที่หายไปของชีวิต ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีกฎตายตัวถึงวันเวลาที่จะเกิดขึ้น และสำหรับใครบางคนก็อาจมองว่ามันเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับชีวิตขนาดนั้น หรืออาจไม่เคยคิดถึงมันเลย

“ถ้าให้เลือกใครสักคนบนโลกมารักเรา ก็คิดไม่ออกว่าจะเป็นใคร…

มายด์ นักแสดงที่ตัดสินใจเลือกรับบทคนอกหัก เพื่อหาสิ่งที่จะมาเติมเต็มช่องว่างในจิตใจตนเอง ในฐานะคนที่ไม่เคยขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรัก และไม่เคยเข้าใจว่าการรักบางสิ่งบางอย่างหรือใครบางคนอย่างแรงกล้า จนสร้างเป็นแรงผลักดันให้กับชีวิตได้ มันเป็นเช่นไร

บางครั้งค่านิยมของสังคม ‘productive’ บีบคั้นให้ใครหลายคนต้องทำสิ่งต่าง ๆ ด้วย ‘passion ความชอบ หรือความรัก’ เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จอันสูงสุด จนทำให้ผู้คนที่มีวิถีชีวิตต่างออกไป ถูกผลักออกมาโดยไม่รู้ตัว ก่อเกิดเป็นความรู้สึกแปลกแยก และโดดเดี่ยวลึก ๆ เหมือนกับมายด์ ณ ตอนนี้

แม้เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเปราะบางอย่างโดดเดี่ยวของเธอ แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่ามันคือช่องว่างหรือความผิดปกติอะไร เพราะนั่นอาจเป็นวิถีหรือตัวตนที่เข้ากับเธอได้พอดี แต่ถ้าเธออยากจะเริ่มออกเดินทางค้นหาสิ่งใหม่ ๆ มาประกอบสร้างตัวตนใหม่ เพื่อที่จะเติบโตขึ้น ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามนุษย์คนเราไม่จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรักเพียงอย่างเดียว เพราะโลกใบนี้ยังมีอีกหลายอย่างให้ยึดถือ อาจจะเป็นวิถีแบบ slow life ที่ยืดหยุ่น และค่อย ๆ ซึมซับชีวิตอย่างมีสติ หรือการใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่ได้มีความตื่นเต้นใด ๆ แต่ทำให้จิตใจสงบอยู่เสมอ หรือแม้แต่ชีวิตที่โฟกัสแค่ว่า ‘พรุ่งนี้จะกินอะไร’ ก็ยังมีความหมาย ตราบใดที่ชีวิตยังไปต่อได้ เพราะการใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวันก็นับเป็นเรื่องยากพอแล้ว

“ฝนหยุดแล้ว กลับบ้านไหม”

เมื่อฝนตก ก็ย่อมมีช่วงหยุดตก เมื่อมีความทุกข์ ก็ย่อมมีความสุขสลับกันไป ละครเวทีเรื่องนี้อาจไม่ได้สร้างความหวังใหม่หรือเติมเชื้อไฟให้กับการใช้ชีวิต แต่กลับสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าชีวิตคนเราก็แค่นี้ ไม่ว่ากำลังเผชิญกับอะไร เราก็ต้องไปต่อ มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ได้พบเจอความผิดหวัง การสูญเสีย การแตกสลาย ความมืด ความเศร้า ความสิ้นหวัง และปัญหาต่าง ๆ ไม่ต่างไปกับการพบเจอสิ่งต่าง ๆ และผู้คนใหม่ ๆ การพูดคุยและรับฟัง การฟื้นฟู แสงสว่าง ความสุข และความหวัง มันอยู่ที่ว่าเราจะให้คุณค่ากับอะไรที่เข้ามาในชีวิต

เราคิดว่ามนุษย์ทุกคนรู้วิธีจัดการกับปัญหาของตัวเอง เพียงแต่กระบวนการยอมรับและการแก้ไขที่เชื่อมโยงกับความพร้อมของจิตใจเป็นจุดที่ยาก ทั้งนี้ สติจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการก้าวข้ามสิ่งต่าง ๆ ไปได้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไม่ลืมว่าเราคือ ‘มนุษย์’ ที่มีความเปราะบางและอ่อนไหว ยิ้มได้และเจ็บเป็น คำว่า ‘เข้มแข็ง’ อาจไม่ได้หมายถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยจิตใจที่มั่นคงพร้อมท่าทางที่มั่นใจเสมอไป แต่อาจเป็นการเผชิญพร้อมน้ำตาที่เอ่อล้น ขา 2 ข้างที่สั่นไหว และจิตใจที่แตกสลายในบางครั้ง

เพราะนี่คือสัญลักษณ์ของการรักตัวเอง โอบกอดตัวเองในทุก ๆ ด้าน ยอมรับทุกความรู้สึกของตัวเองที่ถาโถม เพราะเจ็บปวดจึงร้องไห้ เพราะอ่อนล้าจึงล้มลง เพราะเคยมีความหวังจึงผิดหวัง เพราะเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้นในสักวัน จึงดิ้นรนหาคำตอบ

เพราะเรากำลังเติบโต

เราไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ตราบใดที่เวลายังเดินต่อ เหมือนกับฝนเดือนพฤศจิกาที่ผ่านไปแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความหวังและแสงสว่างในเดือนธันวา ในเทศกาลคริสต์มาส!

ละครเวที : ฝนเดือนพฤศจิกา (1 ในละครเวทีของเทศกาลละครกรุงเทพ 2023)
จัดโดย : Otter with Daisy Theatre
ผู้กำกับ : ไวน์ ชาคร ชะม้าย
ผู้เขียนบท : ยีน ดาราพัสส์ ภิรนานนท์
นักแสดง : บุ๋น พิชญุตม์ รุ่งโรจน์ทรัพย์, เมี่ยงคำ ปานมาศ ทองปาน, ต้นเตย จิดาภา ผลโรจน์ปัญญา และเตอร์ นวิน พรกุลวัฒน์
ภาพโดย : อรญา ศรีสังวาลย์