ในความเคลื่อนไหว
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
ผลการเลือกตั้งใน 2 ประเทศได้สร้างความสั่นสะเทือนในหมู่นักสังเกตการณ์และผู้นำทางการเมืองทั่วโลก 2 ประเทศที่ว่าคือ อาร์เจนตินาและเนเธอร์แลนด์ อาร์เจนตินานั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่ของลาตินอเมริกา มีบทบาทสำคัญมากในการเมืองภูมิภาค และขนาดเศรษฐกิจก็ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค (รองจากบราซิลและเม็กซิโก) ส่วนเนเธอร์แลนด์นั้นถือเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปและของโลก
ที่ว่าสั่นสะเทือนเพราะผลการเลือกตั้งนั้นออกมาอย่างผิดความคาดหมาย นักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวคิดเอียงขวาสุดโต่งทั้งมีท่วงท่าทางการเมืองแบบแหกคอกนอกขนบกลายเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง
การเมืองอาร์เจนตินาเป็นระบบประธานาธิบดี ฉะนั้นจึงมีการเลือกตั้งผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง ผู้สมัครหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ทางการเมือง คือ ฆาเบียร์ มิลเล (Javier Milei) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกขานตัวเองว่าเป็นพวกสนับสนุนระบอบ “ทุนนิยมแบบอนาธิปไตย” เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 55.7% มีชัยเหนือคู่แข่งคนสำคัญ เซอร์จิโอ มาสซา ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งตอนแรกเป็นตัวเต็งที่จะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ปรากฎว่าในการแข่งขันรอบที่สอง (หลังจากรอบแรกไม่มีใครได้เสียงข้างมากเด็ดขาด) มาสซาได้คะแนนเพียง 44.3%
ฆาเบียร์ มิลเล มีชัยในการแข่งขันครั้งนี้ด้วยแนวทางการหาเสียงที่โผงผาง เช่น ถือเลื่อยยักษ์ขนาดใหญ่เป็นอุปกรณ์ประกอบในการหาเสียง ใส่แจ็กเก็ตเสื้อหนังเหมือนดาราวงร็อก และผมเผ้ารุงรังที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ที่ทำให้เขาได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนคือนโยบายหาเสียงที่ออกแนวขวาสุดโต่งและเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งโดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจที่เขาเสนอว่า หากเป็นประธานาธิบดีเขาจะยุบธนาคารแห่งชาติทิ้ง และจะยกเลิกการใช้สกุลเงินเปโซและหันมาใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของชาติแทน
นอกจากนั้นยังจะยกเลิกโครงการสวัสดิการและค่าใช้จ่ายของรัฐ ในด้านนโยบายทางสังคมและการเมืองก็เป็นไปในแนวทางอนุรักษนิยม-อำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงว่าจะยกเลิกสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง การปฏิเสธเรื่องสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเขาบอกว่าปัญหาโลกร้อนไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์แต่เป็นวงจรตามธรรมชาติ เขายังสนับสนุนระบอบเผด็จการทหารในอดีตที่ปกครองประเทศโดยทำลายประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างรุนแรงในช่วงปี 1976-1983 คำให้สัมภาษณ์ของเขาที่บอกว่าในช่วงที่ทหารปกครองมีคนถูกรัฐบาลอุ้มหายเพียงไม่มาก ทั้งที่ในความเป็นจริงสูงถึง 30,000 คน ฆาเบียร์ มิลเล ยังกล่าวหาอดีตนักกิจกรรมและประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีตว่าเป็นพวกกลุ่มก่อการร้ายและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สร้างความไม่พอใจให้กับครอบครัวที่สูญเสียลูกหลานไปภายใต้การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหาร
ด้วยบุคลิกลักษณะ แนวความคิด และนโยบายที่รณรงค์ในการหาเสียงดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่าเขาจะถูกขนานนามว่าเป็น “ทรัมป์แห่งอาร์เจนตินา” ทั้งยังมีความละม้ายคล้ายคลึงกับอดีตผู้นำประชานิยมฝ่ายขวาของบราซิลที่พ้นจากอำนาจไปแล้ว คือ ชาอีร์ โบลโซนาโร
ชัยชนะของมิลเลนั้นได้แรงส่งมาจากปัจจัยสำคัญสองเรื่อง คือ ปัญหาเศรษฐกิจอันหนักหน่วงและความเบื่อหน่ายของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ที่ครองอำนาจมายาวนาน มิลเลตระหนักดีถึงกระแสความอึดอัดคับข้องใจของชาวอาร์เจนตินาที่ทุกข์ทรมานกับสภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึง 140% ทำให้คนยากลำบากมากในการหาเลี้ยงชีพและประทังชีวิต ปัญหาหนี้สินของประเทศและปัญหาเศรษฐกิจนั้นเรื้อรังมานานพอสมควร ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็นชนชั้นล่างและชนชั้นกลางโกรธแค้นชนชั้นนำทางการเมืองว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหา ทั้งยังคอร์รัปชัน และเล่นพรรคเล่นพวก การลงคะแนนเสียงให้มิลเลเข้าข่ายเป็นการหย่อนบัตรเลือกตั้งเพื่อประท้วง (protest vote) รัฐบาลเดิมและนักการเมืองหน้าเดิม ผู้สมัครที่แหกคอกแบบฆาเบียร์ มิลเล ถูกมองว่าเป็นทางเลือกของประชาชนในสภาวะวิกฤตเพื่อหลุดพ้นจากสภาวะการครอบงำของการเมืองแบบเดิม ๆ
แน่นอนว่า สิ่งที่มิลเลเสนอนั้น เมื่อถึงเวลาจริงก็มิใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย เพราะหลายเรื่องต้องผ่านออกมาเป็นกฎหมายหรือกระทั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคของเขาไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภา (ชนะมาเพียงอันดับ 3) แต่ประเด็นสำคัญคือ ชัยชนะของเขาสะท้อนว่ากระแสการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวานั้นกำลังมาแรง และจะยังไม่จางหายไปในเร็ววัน
ในเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นการเมืองแบบระบบรัฐสภา คือ ไม่ได้เลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง แต่เลือกผ่านพรรคการเมืองในสภา ปรากฏว่าผลการเลือกตั้งก็สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วยุโรป เพราะพรรคการเมืองขวาจัดสุดโต่งที่ชื่อ Freedom party (PVV) ซึ่งนำโดยเกียร์ต ไวลเดอร์ส คว้าชัยมาเป็นอันดับหนึ่ง เหนือพรรคฝ่ายขวากลาง และพรรคฝ่ายซ้ายและพรรคกรีน
ไวลเดอร์สต่างจากมิลเล เพราะไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ แต่คร่ำหวอดในการเมืองดัตช์มากว่า 20 ปีแล้ว แต่ในอดีตเขาถูกมองเป็นตัวตลกหรือพวกมีแนวคิดตกขอบที่คนไม่ค่อยสนใจนัก เพราะเสนอแนวคิดต่อต้านอิสลาม (ถึงขั้นเสนอว่าให้แบนการสร้างมัสยิดและแบนคัมภีร์อัลกุรอาน) ต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านอียู แนวคิดเช่นนี้ยากที่จะทำให้เขาและพรรคของเขามีพื้นที่อยู่ในกระแสหลักของการเมืองดัตช์ ที่ใช้คุณค่ากับเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม พรรคของเขาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006 จึงไม่เคยชนะการเลือกตั้งหรือเป็นพรรคใหญ่ในระยะแรก
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2008 บวกด้วยปัญหาการก่อการร้าย และวิกฤตผู้อพยพ ทำให้พรรคของเขาค่อย ๆ ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากประชาชนที่รู้สึกถึงความไม่มั่นคงและปลอดภัยในชีวิต และความคิดที่ว่าอัตลักษณ์ของชาติกำลังถูกกระทบจากการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพต่างเชื้อชาติและศาสนาที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
จนกระทั่งครั้งนี้ที่พรรคของเกียร์ต ไวลเดอร์ส ถึงขั้นเบียดทุกพรรคขึ้นมาคว้าชัย ก็ด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ ภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดที่ยังไม่ฟื้นตัวและประเด็นผู้อพยพที่ยังคงเป็นปัญหาถกเถียงร้อนแรงในสังคม ทั้งนี้หากเศรษฐกิจดีการตัดสินใจรับผู้อพยพคงไม่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงเสียเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันด้วยภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ก็ยิ่งมาซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น บรรยากาศทั่วไปที่คนรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในการดำรงชีวิตและความยากลำบากทางเศรษกิจ ความหวาดกลัวและกระแสต่อต้านผู้อพยพก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะมองว่าผู้อพยพจะมาแย่งงานทำ ทำให้ราคาสินค้าและที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ซึ่งพรรคขวาจัดของไวลเดอร์สก็ฉวยใช้และเล่นกับกระแสอารมณ์ตรงนี้ของประชาชน นำมาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์หาเสียงในครั้งนี้
แม้ว่าหนทางในการจัดตั้งรัฐบาลและการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ของไวลเดอร์สจะไม่ง่าย เพราะพรรคของเขาแม้ชนะมาเป็นอันดับหนึ่งแต่ห่างไกลจากการมีเสียงข้างมาก จึงต้องเจรจาชักชวนพรรคอื่น ๆ มาตั้งรัฐบาลผสม แต่นโยบายขวาสุดโต่งของเขาก็ทำให้แม้แต่พรรคขวากลาง ๆ ยังลังเลที่จะทำงานร่วมด้วย เพราะขวากลางในการเมืองดัตช์นั้นอย่างน้อยยังยอมรับคุณค่าประชาธิปไตย ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และหลักนิติรัฐ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็สะท้อนว่าคลื่นประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรปในปัจจุบันยังคงพัดแรง ดังที่เราเห็นในอิตาลีที่พรรคการเมืองประชานิยมขวาจัดที่ชูอุดมการณ์แบบนีโอฟาสซิสต์ชนะเลือกตั้งขึ้นมาบริหารประเทศ ในสแกนดิเนเวียซึ่งปรกติพรรคการเมืองแบบขวาจัดสุดโต่งไม่ได้รับความนิยม ก็ปรากฏว่าพรรคในแนวทางนี้ได้รับคะแนนเสียงสูงขึ้นอย่างมากทั้งในสวีเดนและฟินแลนด์ ทั้งนี้มิต้องพูดถึงพรรคประชานิยมฝ่ายขวาในฝรั่งเศสที่นำโดย มารีน เลอ แปง ที่ยังได้รับความนิยมอย่างสูงและยังมีโอกาสที่จะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในอนาคต
หากมองคลื่นนี้นอกยุโรปข้ามไปที่สหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการเมืองขวา-ประชานิยมยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง และโอกาสที่นักการเมืองอย่างทรัมป์จะกลับมายึดกุมอำนาจในทำเนียบขาวอีกสมัยก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
ผลการเลือกตั้งในอาร์เจนตินาและเนเธอร์แลนด์สะท้อนว่าการเมืองแบบประชานิยมฝ่ายขวายังคงพัดแรงทั่วโลก ซึ่งเราสามารถอ่านผลการเลือกตั้งดังกล่าวในฐานะสัญญาณที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกที่อึดอัดคับข้องใจและไม่พอใจกับสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะชนชั้นนำทางการเมืองที่ครองอำนาจมายาวนานแต่ถูกมองว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชน ปัญหาเศรษฐกิจ สงคราม และความไม่มั่นคงในชีวิตเป็นเชื้อมูลที่ทำให้ผู้คนหันไปหาแนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง หวาดกลัวความหลากหลายทางวัฒนธรรม กระทั่งยอมรับผู้นำแบบอำนาจนิยมที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแบบเด็ดขาดรุนแรงด้วยวิธีการใช้ “ยาแรง”