ลิ้มรสความทรงจำตากใบ ในสายตา 'คนใน' - Decode
Reading Time: 3 minutes

“…ฝากให้ซื้อมะตะบะที่ตากใบเอาไว้แก้บวช เพราะเป็นมะตะบะที่อร่อยมากในความรู้สึกของเรา ไม่ได้กินมะตะบะเจ้าที่ตากใบเจ้าอร่อยนานแล้ว…”

ประโยคด้านบนเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำของกะนะที่มีต่อ ‘มามาสุกรี ลาเต๊ะ’ สามีที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ 

เธอเล่าว่าวันเกิดเหตุเป็นวันที่สามีเธอเพิ่งได้รับเงินค่าจ้างจากการไปทำนา เขาบอกกับเธอว่าจะไปเที่ยวตากใบ กะนะอยากไปด้วยเพราะไม่ได้เที่ยวตากใบนานแล้ว แต่สามีเธอปฎิเสธไม่ให้ไป เพราะคนที่ไปมีแต่ผู้ชาย สุดท้ายเธอเลยฝากสามีซื้อชุดรายอและมะตะบะเจ้าเด็ดที่ตากใบ 

เย็นวันนั้นเธอเฝ้ารอทั้งของฝากและสามี แต่ว่าเธอผิดหวัง 

25 ตุลาคม 2547 วันฝนตกในช่วงเดือนรอมฎอนกลายเป็นวันแห่งการสูญเสีย มีผู้ถูกคุมตัว 1,370 คน ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกในท่านอนคว่ำตลอดการเดินทาง ราว 5-6 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม 7 คน สูญหาย 7 คน เสียชีวิตในรถบรรทุก 78 คน

“เด็กดี เด็กขยัน และใฝ่เรียน”

“ผู้ชายที่เพียบพร้อม”

“น้องชายอายุแค่ 16 ปี”

“ลูกชายที่แม่ไม่เห็นอีกเลย”

ถ้าที่ผ่านมาเรารับรู้ถึงผู้สูญเสียในแง่ของตัวเลข หนังสือเล่มนี้ได้พาเราไปรับรู้ถึงตัวตนของผู้เสียชีวิต เช่น รอสือไมย์จากไปขณะที่ภรรยาตั้งครรภ์ได้ 9 เดือน หรือน้องสาวของแวฮาเล็มยังคงเก็บเสื้อบอลตัวโปรด และธนบัตร 10 บาทที่อยู่กระเป๋าของพี่ชายที่จากไปไว้ตลอด 

หรือเรื่องราวของ ดุลกีพือลี มะซา ลูกชายคนเดียวของครอบครัว มีพี่น้อง 6 คน วันเกิดเหตุแม่ของเขาไม่อยู่บ้าน แต่ได้ทราบข่าวจากคนในหมู่บ้านว่า ดุลกีพือลี ไปตากใบ ครอบครัวได้ไปหาทั้งที่ค่ายอิงคยุทธฯ แต่ไม่พบชื่อในรายชื่อผู้เสียชีวิต และรายชื่อผู้ถูกจับกุม ต้องไปพึ่งหมอดู ได้คำตอบว่า ลูกชายเสียชีวิตแล้ว 

สุดท้ายได้คุยกับเพื่อนลูกชายที่ถูกคุมตัว จึงทราบว่าดุลกีพือลีไปที่ตากใบด้วย ถึงแน่ใจว่าลูกชายจากไปแล้ว

“ตอนนั้นไม่มีใครมาเยี่ยม ไม่มีใครมาถามเรื่องลูกชายที่หายไป จนมีสื่อจากนอก (ลอนดอน) เข้ามาเยี่ยมมาพูดคุย และน่าจะเป็นคนดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวของลูกที่หายไป จากนั้น ศอ.บต. มีหนังสือให้ไปที่ยะลา ผ่านไปเป็นปี จึงมีกระเช้าจากทางการมาเยี่ยมที่บ้าน นับเป็นครั้งแรกที่มีทางการเข้ามาสอบถาม เลยไม่ทราบว่าลูกชายหายไปไหน แต่ครอบครัวก็ได้รับเงินเยียวยาตามที่รัฐจัดสรรให้”

ผู้จากไปหลายคนเป็นกำลังหลักในการเลี้ยงดูครอบครัว บางคนเป็นความหวังของยายที่ตั้งใจจะฝากชีวิตบั้นปลายไว้กับหลานชายที่พูดอย่างชัดเจนว่า “แม้คุณจะให้เงินมาเป็นกระสอบมันเทียบไม่ได้กับชีวิตของหลานรัก”

บางครอบครัวกินข้าวไม่ได้เป็นเดือนหลังเกิดเหตุการณ์ หรือแม้แต่บางคนไม่อยากเห็นอำเภอ หรือสถานีตำรวจอีก เพราะมันเจ็บปวดไม่อยากนึกถึง

ผู้จากใปได้คืนตัวตนเลือดเนื้อผ่าน 17 ความทรงจำผ่านคำบอกเล่าของคนใน” ที่ถูกกักเก็บไว้ในสิ่งของ แยกเป็น 4 ประเภทคือ ของที่ติดตัวผู้เสียชีวิต, ของที่ระลึกที่ผู้เสียชีวิตเคยมอบให้ครอบครัว, ของใช้ในชีวิตประจำวัน และของที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 

ความทรงจำรสชาติอย่างไร ผมอยากเปิดบทสนทนาถึงหนังสือ “ลิ้มรสความทรงจำตากใบ” ด้วยคำถามนี้ 

ในฐานะ “คนนอก” หลังจากอ่านจบรับรู้เรื่องราว รสชาติที่ได้ช่าง “ขม” มันเป็นความขมเข้มที่ยากจะกลืน หลายความทรงจำเปิดเรื่องด้วยการเล่าย้อนถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน ความหวัง ชีวิต ก่อนจะตัดมาความทรงจำสุดท้ายเกี่ยวกับร่างที่เต็มไปด้วยความบอบช้ำ บาดแผล แม้ผ่านมายาวนานเกือบ 20 ปี แต่มันยังคงฝังลึกอยู่ในใจของผู้เกี่ยวข้อง 

ภาพถ่ายที่จำไม่ได้ ลืมไม่ลง

หลายความทรงจำเล่าตรงกันว่า หลังเกิดเหตุการณ์การครอบครัวต่างออกตามหา มุ่งหน้าสู่ค่ายอิงคยุทธฯ เพื่อมาดูรายชื่อผู้เสียชีวิต หรือแม้แต่บางคนเห็นภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่เปิดให้ดู จำนวนไม่น้อยไม่สามารถจำญาติได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่สามารถรับร่างกลับไปทำพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้าน หลายครอบครัวเล่าตรงกันว่ามารับรู้ภายหลังว่าคนที่รักได้ถูกฝังที่กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ 

หนึ่งในนั้นคือ อิหซาน บินสะกรี หลานชายที่ยายเที่ยวตามหา ยายย้อนความทรงจำว่าหลังจากได้ทราบข่าวได้เดินเหมือนคนขาดสติร้องไห้ถามข่าวคราวจากคนในหมู่บ้าน จนสุดท้ายวันรุ่งขึ้นโต๊ะอิหม่ามได้พาไปหารายชื่อค่ายอิงคยุทธฯ แต่ไม่พบหลานรัก 

“ไม่มีรายชื่ออิหซาน แต่มีรายชื่อลูกชายของยายโดนจับกุม ตอนนั้นร้อนใจมาก ยังดีที่ลูกชายยังมีชีวิตอยู่ ห่วงแต่อิหซานไม่ทราบอยู่ไหน หาไม่เจอความรู้สึกเหมือนหมดสิ้นทุกอย่าง” 

สุดท้ายหลังจากทราบว่ามีการฝังศพที่กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ ยายของอิหซานจึงได้ไปสอบถามบาบอแมถึงแหวนทับทิมที่หลานใส่ติดตัว

“ยายไปถามบาบอแมว่า มีศพที่มีแหวนมีเม็ดทับทิมสีชมพู และสายคล้องเอวหรือเปล่า บาบอแมตอบว่ามี สิ่งของ 2 สิ่งนี้ก็เก็บไว้ แต่ยายมอบให้กับบาบอแมหลังจากนั้น จากนั้นก็ไปที่กุโบร์ตะโลมาเนาะตลอด”

หรือแม้แต่เรื่องราวของอาร์ฮัม มะวิง ที่ครอบครัวเทียวมาเทียวไปที่ค่ายอิงคยุทธฯ หลายครั้งเพื่อหาลูกชาย แต่สุดท้ายผ่านไปหนึ่งเดือนเจ้าหน้าที่ถึงส่งบัตรประชาชนของอาร์ฮัมมาที่บ้าน พร้อมแจ้งว่าร่างของเขาฝังไว้ที่กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ

มะไซดี บือราเซ็ง เป็นอีกคนที่ครอบครัวเขาหาร่างไม่พบ เพราะติดปัญหาเรื่องการสื่อสารทางโทรศัพท์ที่จำกัด ทำให้ครอบครัวไม่ได้มีโอกาสบอกรายละเอียดเรื่องแผลเป็น สุดท้ายครอบครัวถึงทราบว่าเขากูอยู่ที่นั้น หมดโอกาสนำร่างมาฝังที่กุโบร์ที่บ้าน 

“วันสุดท้ายที่แม่เจอลูกชาย ก็คือวันที่ลูกอยู่บนรถและไม่หันหน้ามาหาแม่ หลังจากนั้นแม่ก็ไม่ได้เห็นหน้าลูกแม่อีกเลย” แม่ของมะไซดีเล่าความทรงจำถึงลูกชาย

สิ่งที่สะเทือนใจผมไม่น้อยคือเรื่องราวของอาดูฮา อาแว ชายอายุ 20 ปี เขาคือคนหนุ่มอนาคตไกลที่กำลังทำเรื่องเรียนต่อที่ประเทศจอร์แดน กว่าครอบครัวจะทราบข่าวก็ล่วงเลยไป 3 วัน และก็เหมือนกับคนอื่น ๆ เปิดภาพครอบครัวจำไม่ได้ และไม่มีรายชื่อในผู้เสียชีวิต และที่ถูกคุมขัง ต่อมาถึงได้ทราบว่าถูกฝังที่กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ เช่นกัน

แม่ของอาดูฮา เล่าว่า “ครอบครัวไปที่ค่ายฯ  นำทั้งเสื่อและผ้าห่มคลุมไปด้วย คิดว่าถ้าเสียชีวิตจะพากลับบ้านเลย”  

ครอบครัวของอาดูฮาได้นำภาพขณะเสียชีวิต และภาพตอนมีชีวิตเคลือบในการกระดาษไว้ด้วยกัน แม้ในหนังสือเหมือนจะนำกระดาษปิดภาพขณะเสียชีวิตไว้ แต่แค่เห็นผมก็รู้สึกเย็น คำอธิบายของภาพเขียนไว้ว่า “ภาพของลูกชายที่ครอบครัวอยากจดจำ”

กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ สุสานของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

มัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิดวาดิล ฮูเซ็น ศาสนสถานอายุหลายร้อยปีที่ตั้งอยู่บ้านตะโละมาเนาะ ต.ลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ถูกกล่าวถึงในหลายความทรงจำในหนังสือเล่มนี้ 

2 ปีก่อน ผมมีโอกาสไปมัสยิดแห่งนี้ มันเป็นวันฟ้าครึ้มในปลายเดือนมีนาคม ผมเดินข้ามสะพานที่มีเด็กเล่นน้ำ เดินไปยังสุสานที่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ 

“สุสานของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

วันที่ 10 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1425 25 October 2004″

คำแปลป้ายด้านบน ผมได้ความเมตตาจากมิตรสหายช่วยแปล เพราะคนนอกวัฒนธรรมอย่างผมไม่สามารถอ่านออก ในวันนั้นผมได้รับคำอธิบายจากคนในพื้นที่ว่า 

“ตรงนี้จะเป็นจุดที่ฝังศพของเคสที่ไม่ทราบว่าเป็นญาติของใคร จากเหตุการณ์ตากใบจะมีคนที่เสียชีวิตที่ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครเป็นญาติ หรือญาติไม่มารับศพ ก็จะมาฝังรวมกันที่นี่ ทุกปีใครที่รู้ว่าไม่ได้ทำพิธีกับญาติ กับศพญาติตัวเอง หรือไม่รู้ว่าศพอยู่ที่ไหน ก็จะมาเยี่ยมสุสานแห่งนี้ มันเป็นคุณค่าทางจิตใจว่า ญาติเขาอาจเป็นคนที่อยู่ในสุสานนี้ก็ได้”

ในวันนั้นผมถามคนในพื้นที่ว่า “เพราะอะไรเขาถึงเลือกที่นี่”

“เพราะว่าสถานที่ตรงนี้ มันเป็นเหมือนจุดรวมทางจิตใจ มันจะมีมัสยิดอายุกว่า 400 ปีอยู่ด้วย มันมีชุมชนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา มันมีนักปราชญ์เยอะสมัยก่อน ก็เลยประชุมร่วมกันว่า อย่างน้อยที่นี่ก็มีคนมาเยี่ยมทุกปี ก็เลยเลือกเป็นพื้นที่ในการฝังศพ จะได้เป็นสถานที่ที่คนไป ๆ มา ๆ กันเยอะด้วย” 

นี่เป็นคำตอบที่ผมได้เมื่อสองปีก่อน แต่หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ หลายความทรงจำในเล่ม ได้พาผมย้อนกลับไปเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ทำให้ผมได้รับรู้คำอธิบายใหม่ต่อสถานที่แห่งนี้ที่เศร้าลึกกว่าเดิม

ความทรงจำของบาบอแม หนึ่งในคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดนราธิวาส บอกเล่าว่าเมื่อได้รับทราบข่าวการสลายการชุมนุมที่ตากใบ คืนนั้นเขานอนไม่หลับ และในช่วงเช้ามีคนโทรมาร้องไห้บอกกับเขาว่ามีการวางร่างผู้เสียชีวิตไว้ที่สนามในค่ายทหาร 

บาบอแม เล่าว่าในวันนั้นคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดมาที่ค่ายทหารร่วม 20 คน เมื่อเห็นความจริงเบื้องหน้าบางคนร่ำไห้ เพราะ “สภาพศพถูกปล่อยทิ้งไว้ให้นอนกลางสนามตากแดดตากฝน ทำเหมือนกับเขาไม่ใช่คนมาก่อน”

บาบอแมเล่าต่ออีกว่าในวันรุ่งขึ้นหลายครอบครัวมารับร่างกลับบ้าน และได้บอกสาเหตุว่าทำไมต้องไปฝังที่ กุโบร์ มัสยิดตะโละมาเนาะ ไว้ว่า

“สภาพศพแต่ละคนนั้นแทบจำไม่ได้ เพราะใบหน้าถูกทำร้ายจนบวม มีรอยช้ำสีเขียว สีแดง สีม่วงเต็มไปทั่วร่างกาย มีศพที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครถึง 22 ศพ บาบอจึงพาไปฝังศพที่กุโบร์ตาโละมาเนาะ สาเหตุที่ฝังมัสยิดตาโละมาเนาะไม่ได้อ้างอิงถึงประวัติศาสตร์ เพียงแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ศพได้ฝังเร็วที่สุด และมองว่ามัสยิดแห่งนี้เป็นประตูสู่จังหวัดนราธิวาส นายอำเภอก็เห็นด้วยที่จะฝังศพไว้ที่นี่จึงไม่ได้คิดอะไรมาก” 

“เป็นวันที่เศร้ามาก ๆ” บาบอแมย้อนนึกถึงเหตุการณ์

บาบอแม เล่าว่าปกติเป็นคนกลัวแผลกลัวเลือด แต่วันนั้นอัลลอฮ์ทำให้เขาเข้มแข็ง ทุกวันนี้เขายังเก็บเสื้อที่ใส่ในพิธีศพไว้ และยังตั้งคำถามว่าทำไมการส่งตัวคนจากตากใบถึงปัตตานีใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง เพราะมีผู้รอดชีวิตเล่าให้เขาฟังว่าระหว่างทางได้ยินเสียงคนร้องขอความช่วยเหลือดังตลอดทาง

ความทรงจำตกค้างจากสิ่งที่เหลืออยู่

“ตอนที่ทำงานที่สนามบินภูเก็ต พอมีคนเข้ามาคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบและทราบว่าพ่อน้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ เขาว่าพ่อเป็นโจรใต้ที่ยิงกับเจ้าหน้าที่”  

หมู่บ้านที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ต่างถูกมองเป็นภัย กลายเป็นหมู่บ้านสีแดง บางหมู่บ้านวัยรุ่นหนีออกไปอยู่ที่อื่น เพราะถูกทหารจับตามอง

นิการีม๊ะ หะยีนิเลาะ เป็นหนึ่งในคนถ่ายทอดความทรงจำบทสุดท้าย ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานในโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงท้ายเธอได้พูดถึงความตายในศาสนาอิสลามที่ผสานกับประสบการณ์ขณะทำงาน ผมคิดว่าเสียงของเธอมันสะท้อนทั้งความเป็น คนใน และ คนนอก เธอได้ถ่ายทอดรสของความทรงจำไว้ว่า

“ในศาสนาอิสลาม การตายของทุกคนย่อมมีสาเหตุ เมื่อถึงคราวตาย ทุกคนต้องตาย หนีไม่พ้น เช่นผู้ตายจากเหตุการณ์ตากใบก็เช่นเดียวกัน ถ้าวันนั้นไม่ตายจากเหตุการณ์ วันใดวันหนึ่งก็ต้องตาย จากการทำงานของฉันในครั้งนี้ ฉันได้ทราบว่า ความสูญเสียมีมากมายเหลือเกิน เป็นเรื่องที่สะเทือนใจ เศร้าใจ และสลดใจ ต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ความรู้สึกของผู้ที่บาดเจ็บ พิการ ความรู้สึกของผู้ที่ได้รับการเยียวยา และยังมีอีกหลายคนที่ไม่รับการเยียวยา เพราะกลัวที่จะแจ้งชื่อให้กับทางการทราบในตอนนั้น

“เหตุการณ์นี้อาจจากไปพร้อมพี่น้องที่เสียชีวิต และหลายครอบครัวไม่พร้อม และไม่ต้องการพูดถึงอีกต่อไป”

Playread : ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ
ผู้เขียน : ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร 
สำนักพิมพ์ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี