‘ใครจะมาส่งหนู’ ยื้อ 'ควบรวมรร.เล็ก' ให้นานที่สุด เพราะยาเม็ดเดียวไม่ได้แก้ทุกปัญหา - Decode
Reading Time: 3 minutes

: กลับมาก็เหนื่อย อยากกลับบ้านเร็ว ๆ
จะได้มีเวลาเล่นกับเพื่อน ไปเล่นกับเพื่อนจะได้หายเหนื่อย

: ที่ใหม่ก็มีอยู่ (สนามเด็กเล่น) แต่เล่นไม่ได้ ครูไม่ให้ออกไปไกล
ก็มีคนแอบไปเล่นอยู่ แต่หนูไม่ได้แอบไปเล่น กลัวครูด่า กลัวกลับมาช้า

: บ้านเพื่อนไกลอยู่ บางครั้งก็ขี่จักรยาน บางครั้งก็เดินไป

เมื่อสิ้นเสียงเครื่องยนต์ของรถตู้ เด็กสาวรีบวิ่งเข้าบ้าน วางกระเป๋านักเรียน จัดแจงเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อเตรียมตัวจะไปเล่นกับเพื่อน ๆ ที่นัดหมายกันไว้ทุกเย็นหลังกลับจากโรงเรียน

17:00 – 18:00 น. คือเวลาที่ ปาร์ตี้ เด็กหญิงตัวน้อยอายุราว ๆ 6 ปี จะกลับถึงบ้านในแต่ละวัน

ปาร์ตี้ไม่ได้เรียนพิเศษเพิ่มเติมกับโรงเรียน ทำให้เธอต้องรอกลับบ้านพร้อมกับเด็กอีกกลุ่มที่เรียนพิเศษเพิ่มเติม เพราะด้วยเงื่อนไขทางการเงินทำให้ครอบครัวไม่สามารถใช้จ่ายในส่วนนี้ได้

เดิมทีปาร์ตี้เคยเรียนอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาฝาย และครอบครัวก็ตั้งใจว่าจะให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในเขตบริการการศึกษาและชุมชนเดียวกัน เมื่อเธอจะขึ้นประถมหนึ่ง

ทว่าเมื่อจบการศึกษา หลายครอบครัวในชุมชนเลือกที่จะส่งลูกหลานไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเมืองวาปีปทุม (ชาวบ้านเรียกว่า โรงเรียนตลาด) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งออกไป ราว 12.6 กิโลเมตร

“หนูไปก็มีเพื่อน และถ้ามาเรียนที่นี่ (โรงเรียนบ้านนาฝายฯ) ใครจะมาส่งหนู”

เมื่อปาร์ตี้ต้องการมีเพื่อนที่คุ้นเคยในการเรียนด้วยกัน ก็เป็นการยากที่ แม่แหวว คุณยายของปาร์ตี้จะปฏิเสธหลานสาวได้ลง หากแต่การจะหาเงินเพื่อสนับสนุนหลานสาวที่อยากเรียนไกลบ้าน ก็หาใช่เรื่องที่ง่ายสักเท่าไหร่นัก

สุริยา โสภาการ หรือแม่แหวว แม่หญิงวัย 55 ปี แม่แหววเป็นผู้ปกครองแทนแม่ของปาร์ตี้ ที่ต้องเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ โดยที่จะส่งเงินกลับมาราว ๆ 5,000 บาท สำหรับใช้รองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของปาร์ตี้ และเหลือสำหรับค่ากินค่าใช้สำหรับแม่แหวว

“มันไม่พอหรอกลูก แค่ปาร์ตี้คนเดียวก็ตกเดือนละพันกว่าบาทแล้ว”

ปกติแล้วคุณตาของปาร์ตี้จะเป็นผู้ที่ขับมอเตอร์ไซค์ไปส่งหลาน ๆ ที่โรงเรียน ทว่าได้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นจนมือใช้การไม่ได้แล้ว อีกทั้งแม่แหววก็ขับรถไม่เป็น ทำให้ปาร์ตี้ต้องอาศัยรถตู้ของครอบครัวเพื่อนบ้านที่ลูกหลานเรียนที่เดียวกัน โดยแม่แหววจะช่วยค่าน้ำมันเดือนละ 600 บาท

แม่แหววอธิบายว่า โรงเรียนตลาดจะมีลักษณะที่ต่างไปจากโรงเรียนขนาดเล็ก คือจะมีกิจกรรมหรือการเรียนพิเศษเพิ่มเติม อาทิ วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ หรือวิชาดนตรีที่ปาร์ตี้ต้องเสียเทอมละ 500 บาท กระทั่งการต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนตลาดและล้อมรอบไปด้วยร้านรวงต่าง ๆ ทำให้บางครั้งค่ากินค่าใช้ของเด็กสูงขึ้นกว่าเดิมมาก “ไปโรงเรียนวันหนึ่ง 40 บาท บางวันโรง เรียนมีกิจกรรมก็มี 60 บาท” เธอเล่า

เดิมทีแม่แหววก็จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง เธอเล่าว่าแต่ก่อนได้เงินวันละ 1 บาท อยากกินอะไรก็เลือกซื้อได้ แต่ตอนนี้อยากกินอะไรก็กินไม่ได้ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่ได้ 

“ทุกวันนี้ให้หลานไปวันละ 40 บาทก็ไม่ได้ มันบอกว่าของมันแพง”

ก่อนหน้านี้แม่แหววทำงานที่ร้านอาหารที่ตลาดละแวกโรงเรียน ประกอบกับสามีของแม่แหวว ที่รับจ้างไถนาเพื่อหาเงินเข้าครอบครัว แต่เมื่อสามีของเธอป่วย ลูกสาวจึงตัดสินออกจากระบบการศึกษาและหางานทำเพื่อประคับประคองครอบครัว

และครั้นมื่อลูกสาวแม่แหววมีลูก แม่แหววจึงตัดสินใจออกจากงานของตน เพื่อมาดูแลเด็ก ๆ ทั้งสองจนถึงปัจจุบัน “ถ้าเราไม่เลี้ยง ก็ไม่มีใครเลี้ยงให้เขา แม่มันก็ไม่ได้ไปทำงาน” เธอย้ำ

ด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ของปาร์ตี้ แม่แหววจึงอยากให้ ไตเติ้ล หลานชายอีกคนเข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง หลังจากที่จบอนุบาลจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาฝาย เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายของเด็กสูงเกินไป และความสบายใจที่ลูกหลานยังอยู่ในสายตา

“เขาก็อยากจะไปเรียนกับพี่สาวเขา ก็เลยต้องหลอกเขาเอาว่า
หนูไปจะไม่มีเพื่อนนะ หนูตัวเล็กอยู่ ถ้าไปแล้วจะโดนแกล้งนะ”

มื่อโรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นอื่น

กรณีของโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง คล้ายกับช่วงแรกของโรงเรียนบ้านหนองบัวคู อดีตโรงเรียนขนาดเล็กที่ก็เคยประสบปัญหาเรื่องการขาดงบประมาณและบุคลากร กระทั่งอัตราการเกิดที่น้อยจนไม่มีเด็กเข้าเรียน จนต้องก้าวเข้าสู่ทางแยกสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ จะถูกยุบควบรวมหรือหานวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างต้นทุนให้โรงเรียน

“เราตัดสินใจเปลี่ยนสนามบอลน้ำขัง เป็นนาข้าว” การเปลี่ยนแปลงแรกของโรงเรียนบ้านหนองบัวคู บุญเรือง ปินะสา ผู้อำนวยการโรงเรียนอธิบายว่า สนามบอลน้ำขังนี้ทำให้โรงเรียนสูญเสียทรัพยากรมากและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ทว่าหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น ข้าวได้กลายเป็นผลผลิตสำคัญของโรงเรียน และทำให้มีหน่วยงานระดับจังหวัดเข้ามาดูงานหลายต่อหลายครั้ง

ซึ่งความไว้วางใจของหน่วยงานระดับจังหวัดเหล่านี้ เป็น ‘ต้นทุนสำคัญ’ ที่ทำให้โรงเรียนเริ่มเป็นที่ไว้วางใจของทั้งรัฐและประชากรในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างโรงเรียนทั้งในแง่คุณภาพของการเรียนการสอน บุคลากร และงบประมาณ

การยกระดับดังกล่าว ทำให้โรงเรียนบ้านหนองบัวคูให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนตัวเมือง ซึ่งคำว่า ‘คุณภาพ’ ของโรงเรียนขนาดเล็กหาใช่เพียงตัวเลขชี้วัดทางการศึกษาเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงความไว้วางใจของชุมชน ผู้นำหลักในระดับโรงเรียน และการทำให้โรงเรียนขนาดเล็กนั้นไม่เป็นภาระในสายตาของรัฐ

“ถ้าเราจะไม่ควบรวม ชุมชนต้องคุยกันว่าจะจัดการศึกษาให้เด็กได้อย่างไร”

‘บ้าน-วัด-โรงเรียน’ สั่นคลอน ยาเม็ดเดียวกันไม่ได้แก้ทุกปัญหา

ด้วยพื้นฐานของชุมชนที่ค่อนข้างเป็นปึกแผ่นและมีส่วนร่วมในการบริหารงบประมาณ ขณะที่โรงเรียนก็มีหน้าที่ในการบริหารการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ โดยที่มี ‘วัด’ เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองสถาบันนี้ โดยหากโรงเรียนต้องการอะไร วัดก็จะมีหน้าที่ในการประสานกับชุมชนเพื่อให้ได้ในสิ่งที่โรงเรียนต้องการ

บุญเรืองเสริมว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีภาระหน้าที่ไม่ต่างกับโรงเรียนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เลย ขณะที่งบประมาณและบุคลากรต่างกันราวฟ้ากับเหว นั่นทำให้แต่ละวันผู้อำนวยการของโรงเรียนขนาดเล็กต้องคิดถึง ‘การแก้ปัญหา’ มากกว่าการพัฒนา ไม่เหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่สามารถคิดต่อยอดเรื่องการพัฒนา เพราะว่าทรัพยากรพร้อมอยู่แล้ว

การทำผ้าป่ากรุงเทพหรือผ้าป่าชุมชน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อหางบประมาณบูรณาการโรงเรียนหรือว่าจ้างครูผู้สอน กระทั่งคุณครูที่ต้องเป็นทั้งผู้สอน ภารโรง เจ้าหน้าที่เอกสาร จนยากจะมีเวลาคิดนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบใหม่ “จริง ๆ การทำผ้าป่าผิดระเบียบนะ เพราะผู้อำนวยการไม่มีหน้าที่ไประดมทรัพยากร แต่ถ้าไม่ทำ คุณมาแก้ปัญหาให้เขาได้ไหมล่ะ” เขาตั้งคำถาม

เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง ที่ขณะนี้เห็นได้การเคลื่อนตัวของประชากรในชุมชน ที่มีข้อเรียกร้องเดียวกันในการปฏิเสธการควบรวมโรงเรียน ทว่าในส่วนของโรงเรียนที่ขณะนี้ มีเพียงครูประจำการ 1 ท่าน ครูอัตราจ้าง 2 ท่าน ครูดูแลเด็กพิเศษ 1 ท่าน และนักการ 1 ท่าน ซึ่งขาดกำลังหลักอย่าง ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ ที่จะขับเคลื่อนในระดับนโยบาย กระทั่งสถาบัน อย่าง ‘วัด’ ก็ยังไม่ปรากฎตัวอย่างชัดเจนในการเรียกร้องครั้งนี้

บุญเรืองย้ำว่า บริบทของโรงเรียนขนาดเล็กมีแตกต่างหลากหลาย ไม่สามารถใช้ยาเม็ดเดียวและแก้ไขทุกปัญหาได้ ฉะนั้นบุคลากรในระดับผู้กำหนดนโยบายจำต้องลงมาดูว่า แต่ละพื้นที่จะต้องใช้นโยบายหรือแก้ปัญหาแบบใด เพราะบางโรงเรียนก็ไม่สามารถทำตามนโยบายนั้นได้ แม้อยากจะทำเพียงใดก็ตาม

“ที่ผมเป็นห่วงคือ โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งเนี่ยไม่มีผู้อำนวยการ
ขาดผู้นำ ถ้ามีผอ.ยังไงมันก็ไปง่าย ถ้าผอ.เอาด้วย ครูก็เอาด้วย”

ขณะนี้ โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งได้เข้าสู่กระบวนการควบรวมเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้อำนวยการของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 16 รักษาการณ์โรงเรียน ขณะที่นักเรียนทั้งหมดจะถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 16 แต่ด้วยข้อเรียกร้องและความไม่พอใจของชุมชน ตอนนี้จึงมีเพียงนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 5 ที่ถูกย้ายไป เพราะชาวบ้านต้องการให้นักเรียนชั้นระดับอนุบาลยังอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง

ความพ่ายแพ้ในยกสาม ‘เด็กเล็กจะไปเรียนไหน

โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานเขตพื้นที่การศึกษาสารคามถึงสามครั้ง แต่ด้วยองค์ความรู้ด้านนโยบายที่ค่อนข้างน้อย รวมถึงกระบวนการควบรวมโรงเรียนก็เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้กระบวนการเรียกร้องต่อสู้แทบจะเป็นศูนย์

แม่แหววก็อยู่ในการประชุมพูดคุยแต่ละครั้งเช่นกัน โดยทางหน่วยงานการศึกษาให้เหตุผลว่าครูไม่ครบชั้น อีกทั้งจำนวนนักเรียนที่ไม่ถึง 40 คน จนไม่สามารถจัดหาผู้อำนวยการโรงเรียนได้ ในขณะที่จำนวนเด็กที่จะเข้ารับการศึกษาก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ “ชุมชนก็ว่าจะยุบได้ยังไง แล้วเด็กจากศูนย์เด็กเล็กจะไปเรียนไหน” แม่แหววย้ำ

“โรงเรียนนี้มันเสียอย่างเดียวคือมันผลิตเด็กไม่ได้”

จากข้อสังเกตของคุณครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาฝายฯ ที่ว่า เด็กแรกเกิดจนถึงเด็กเล็กในชุมชนมีน้อยมาก โดยเด็กเล็กในศูนย์ฯ ปีล่าสุดมีเพียง 20 คน รวมทั้งชุมชนมีเพียง 42 คนเท่านั้น ซึ่งตรงกับข้อสังเกตของ พ่อพิกุล ขันทัพไทย อดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชนบ้านนาฝายฯ ที่เปรยว่าโรงเรียนเริ่มผิดปกติและเด็กน้อยลงมาราว ๆ 2 ปีแล้ว

พ่อพิกุลเล่าว่า เขาเคยพูดคุยกับคนในชุมชน ก็ปรากฎว่าหลายครอบครัวเลือกที่จะไม่แต่งงาน และตามมาด้วยการเลือกที่จะไม่มีบุตรหลาน ที่อาจเป็นผลมาจากการที่หลายบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่คล่องตัวนักในพื้นที่

อีกประการสำคัญคือ ‘ความไม่ไว้วางใจในคุณภาพการเรียนการสอน’ ของโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง

นอกจากอัตราการเกิดในพื้นที่ที่น้อยแล้ว พ่อพิกุลเล่าว่าชาวบ้านในชุมชนที่ค่อนข้างมีฐานะ ก็มักจะส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนในตัวเมืองมากกว่า เพราะเชื่อในคุณภาพการเรียนการสอนโรงเรียนใหญ่มากกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก

“เขาอยากให้เด็กไปเรียนที่อื่น เขาว่าเก่งบ้านนอกไม่เท่าขี้คอกในเมือง”

คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กนั้น สอดคล้องกับทุกมิติของโรงเรียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่มีเด็กเกิดและเด็กเลือกเรียนโรงเรียนที่ดีกว่า เท่ากับว่าเด็กในห้องเรียนอาจมีนักเรียนไม่ถึง 20 คนซึ่งเป็นสัดส่วนปกติที่ สพฐ.ตั้งไว้ (ครู 1 คนต่อนักเรียน 20 คน) ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งมีนักเรียนเพียง 18 คนโดยคละชั้นปีระหว่างอนุบาลสาม-ประถมศึกษาปีที่สาม (แต่เดิมมี 32 คนแต่ถูกย้ายไปเรียนร่วมกับโรงเรียนที่ควบรวมแล้ว)

อคติแฝงฝัง ‘เก่งบ้านนอกไม่เท่าขี้คอกในเมือง

ขณะเดียวกัน จำนวนนักเรียนที่น้อยส่งผลโดยตรงกับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาจากรัฐบาล ที่คิดจากรายหัวของนักเรียนในโรงเรียน เมื่อเด็กน้อยเงินก็น้อย เวลาส่วนใหญ่จึงอาจหมดไปกับการหาเงินเข้าโรงเรียนเพื่อการบูรณาการ มากกว่าการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน เหมือนกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรพร้อมอยู่แล้ว

พ่อพิกุลอธิบายเพิ่มว่า ความไม่เชื่อมั่นของผู้ปกครองก็เป็นผลมาจากการที่ไม่มีครูประจำการเพียงพอ จนทางชุมชนต้องหาวิธีจัดการปัญหานี้เอง เขายกตัวอย่างถึงตอนที่ครูที่โรงเรียนบ้านนาฝายฯ เกษียณ ทางชุมชนจึงทำ ‘ผ้าป่า’ เพื่อเรี่ยไรเงินมาว่าจ้างครูอัตราจ้างเพื่อมาสอนในโรงเรียน

ซึ่งชุมชนก็คาดหวังที่จะได้บุคลากรที่จบวิชาชีพครูโดยตรง ทว่าชุมชนกลับได้บุคลากรที่มีวุฒิการศึกษามัธยมหก หาใช่วิชาชีพครูแต่อย่างใด ทำให้คนที่มีฐานะในชุมชนไม่ไว้วางใจและพาบุตรหลานไปเรียนที่อื่นแทน

“ตราบใดที่ไม่มีครู เด็กก็ไม่อยู่ ถ้ามีครู เดี๋ยวเด็กก็จะทยอยมาเอง”

ขณะที่แม่แหววก็มีความกังวลเรื่องคุณครูเช่นกัน เธอเล่าว่าเคยสนิทกับครูอัตราจ้างในโรงเรียน กระทั่งครูที่เกษียณไปแล้วก็เคยสอนลูกสาวของเธอ ซึ่งทำให้เธอเห็นถึงความสำคัญของคุณครู ที่นอกจากให้การสอนเด็ก ๆ แล้ว ยังเป็นดั่งความสบายใจและพื้นที่ปลอดภัยของเด็กและพ่อแม่

แม่แหววเล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่ปาร์ตี้ไปที่โรงเรียนใหม่ครั้งแรก ปาร์ตี้ก็โดนแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งตรงกับที่ชาวบ้านหลายคนในชุมชนบ้านนาฝายฯ เล่าให้ฟังว่า เด็กบางคนก็โดนขโมยกระเป๋า หรือกระทั่งรับน้องด้วยการตบหัวต่าง ๆ

ซึ่งหากโรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งมีครูประจำกลับมา เด็กนักเรียนก็อาจกลับมาที่โรงเรียนเพิ่ม และอาจนำมาสู่การมีผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับโรงเรียนในการเรียกร้อง คลายความกังวลของผู้เป็นพ่อแม่ที่ลูกหลานต้องไปเรียนไกลตา และลูกหลานก็สามารถเล่นสนุกได้โดยที่ไม่ต้องไปไกลบ้าน

“เรียนตลาดมันมีหน้ามีตา มีแต่หน้าไปใช้จ่าย แม่ก็คิดผิดเหมือนกันที่ให้ปาร์ตี้ไป อยู่นั่นเราก็กังวลความปลอดภัยทุกอย่าง ถ้าเขาเรียนที่นี่ ได้มีเพื่อน ได้เล่นสนุกสนาน และอยู่ใกล้บ้านเราก็จะดี ก็เลยจะต่อสู้จนกว่าจะไม่มีนักเรียนที่นี่”

แม้โรงเรียนบ้านนาฝายเหล่าหุ่งจะอยู่ในกระบวนการควบรวมมาสักระยะแล้ว และเห็นได้ถึงความพยายามของชาวบ้านในชุมชนบ้านนาฝายเหล่าหุ่ง(กลุ่มหนึ่ง) ที่เรียกร้องยกเลิกการควบรวมนี้เสีย

แต่การดำเนินการในระดับนโยบายยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้วยความไม่รู้ว่าจะผลักดันให้เป็นนโยบายได้อย่างไรของชาวบ้าน และขาดกำลังหลักที่จะช่วยผลักดันในระดับนโยบาย แนวทางที่ชุมชนพอจะทำได้นี้ คือ การพยายามให้เด็กยังอยู่กับโรงเรียนให้นานที่สุด

และทำให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับโรงเรียนและชุมชนให้ได้