21 ปีที่ไม่มีวันชนะช้างป่า 'เขาวงศ์' ความคับข้องใต้ภูเขาน้ำแข็งป่ารอยต่อ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ค่ายนักเขียน Decode Basecamp#1

ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ 

กว่า 20 ปีที่ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเริ่มออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของผู้ที่ทำกินอยู่บริเวณโดยรอบพื้นที่ป่า การเพิ่มจำนวนของช้างและทำลายพืชผลทางการเกษตรตลอดจนอันตรายต่อชีวิตผู้คน ที่ ณ ปัจจุบัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ายังคงมองไม่เห็นทางออก และหนทางแก้ไขปัญหาชุมชนและช้าง จึงต้องอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ภายใต้ปัญหาช้างป่าที่ขยายความขัดแย้งไปในวงกว้างมากขึ้น ชาวบ้านหลายคนเลือกที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองเพื่อรับมือกับช้างป่า หากแต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาใหม่ที่หลายชุมชนต้องเผชิญ เช่นเดียวกับที่บ้านเขาวงศ์ ที่เผชิญหน้ากับปัญหาช้างป่ามาตั้งแต่ ปี 2545 ตามคำบอกเล่าของกลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่าและคนในพื้นที่ระบุว่า เป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่เจอปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำร้ายคนในหมู่บ้าน

ยุคทองของเขาวงศ์ ล่มสลายหลัง 2545

บ้านเขาวงศ์หมู่บ้านเกษตรกรรมเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมาชิกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากภาคอีสาน โอษา กิติลาภะ ผู้ใหญ่บ้านเขาวงศ์เล่าว่า ตนเองและคนอื่น ๆ อพยพมาเมื่อปี 2528 เพื่อหนีจากอีสานที่แห้งแล้งโดยผ่านเข้ามาทางสนามชัยเขต ทำงานเป็นแรงงานสัมปทานไม้ในพื้นที่เขาวงศ์ด้วยความหวังว่าจะมีที่อยู่ที่ทำกินใหม่ หลังหมดยุคสัมปทานป่าไม้บ้านเขาวงศ์ก็หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกกล้วย อ้อย และรับจ้างเป็นแรงงานในไร่มันสำปะหลัง แต่ด้วยพื้นที่บ้านเขาวงศ์อยู่ติดกับผืนป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จึงมีโอกาสที่จะได้พบเห็นช้างอยู่ตามชายป่าอยู่บ้าง

ยอดรัก กิติลาภะ หลานชายของผู้ใหญ่โอษา หนึ่งในชาวบ้านเขาวงศ์ที่เกิดและเติบโตในชุมชน ช่วงวัยเด็ก ของยอดรักอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานป่าไม้ไปสู่การจับจองที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมของชาวบ้านอดีต แรงงานสัมปทานไม้ ชีวิตที่เติบโตท่ามกลางการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะมันสำปะหลังและผลผลิตราคาดีอื่น ๆ เช่น แตงโม ผักสวนครัวต่าง ๆ ทำให้ยอดรัก ตัดสินใจประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามรอยพ่อแม่ด้วยอาศัยความรู้

เดิมทีมีเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ณ ช่วงเวลาหนึ่งในอดีต มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างงานสร้างรายได้ให้ ชุมชนเขาวงศ์อย่างมาก นอกจากการเป็นเจ้าของไร่มันสำปะหลังแล้ว อีกหนึ่งอาชีพที่สร้างรายได้คือการเป็น แรงงานในไร่มันสำปะหลังให้กับคนนอกที่เข้ามาทำไร่มันในพื้นที่ ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว “สมัยก่อน รับจ้างขุดมันได้เงินสี่ร้อยบาท รายได้ดีมากขนาดที่ไปเที่ยวงานวัดทีนึงพกเงินไปสามสี่หมื่น” ยอดรักกล่าวถึงยุคทองของเกษตรกรรมในอดีตของชุมชนเขาวงศ์ ณ ช่วงเวลานั้นที่ข้าวสารถังละ 40 บาท อาชีพเกษตรกรจึงเป็นอาชีพที่ทำให้ชุมชนเขาวงศ์มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาชีพเกษตรกรรมของยอดรัก ณ ช่วงวัย 20 ต้น ๆ ถูกท้าทายด้วยปัญหาขนาดตัวที่ใหญ่ อย่างช้างป่าที่เริ่มออกจากป่าเข้ามาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนเขาวงศ์ ตั้งแต่ปี 2545 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สนามแข่งแห่งความคับข้องของ ‘ยอดรัก’ เมื่อช้างป่าเป็นฝ่ายชนะ

เป็นระยะเวลากว่า 21 ปีที่ ยอดรัก เปลี่ยนอาชีพและพืชผลทางการเกษตรครั้งใหญ่ละทิ้งองค์ความรู้ เดิมและเรียนรู้สิ่งใหม่ถึง 3 ครั้ง ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย และมีรัฐบาลสนับสนุนการปลูกพืชชนิดดังกล่าว กลับประสบปัญหาไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากถูกช้างขโมยกิน เพื่อปกป้องผลผลิตที่เป็นดั่งผลตอบแทนของต้นทุนและหยาดเหงื่อที่ลงทุนลงแรงเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดีนับแต่วันที่ เริ่มไถพรวนดินจนถึงวันเก็บเกี่ยว ณ ช่วงแรก ยอดรักและชาวบ้านเขาวงศ์จากเดิมที่เป็นเกษตรกรตอนกลางวัน ก็ ต้องผันตัวไปเป็นคนเฝ้าช้างเวลานอนตอนกลางคืน การเฝ้าระวังและไล่ช้างในช่วงแรกที่มีปัญหายังคงมี ประสิทธิภาพ ช้างป่ายังคงระแวดระวังภยันตรายจากมนุษย์และเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับมนุษย์ถ้าไม่จำเป็น หากแต่ เมื่อมนุษย์เผลอสบประมาทหรือเผลอหลับ ช้างป่าก็พร้อมที่จะเข้าขโมยกินพืชผลอยู่ตลอดเวลา

ความเหนื่อยล้าที่สะสมจากการทำงานตอนกลางวัน ประกอบกับการเฝ้ายามตลอดทั้งคืนในช่วงใกล้จะได้ เวลาเก็บเกี่ยว กลายเป็นปัญหาสุขภาพสะสมในชุมชนเกษตรกรที่มีปัญหาช้างป่า ยอดรักกล่าวอย่างแค้นใจว่า เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะอดหลับอดนอนติดกันได้เป็นเดือน ๆ ก็ต้องมีเผลอหลับบ้าง และช่วงที่เผลอนั่นแหละ คือ ช่วงเวลาที่ช้างป่าเฝ้ารออยู่ ยอดรัก เล่าถึงประสบการณ์การเฝ้าระวังช้างป่าในไร่ข้าวโพดของตนเอง ที่คนมองเห็น ช้างที่ชายป่า และช้างมองเห็นคนที่เต็นท์เฝ้าไร่ สถานการณ์เฝ้าระวังจึงกลายเป็นเกมจิตวิทยาที่แข่งกันว่าใครจะหมดความอดทนก่อนกัน และเกือบทุกสนามแข่งขันช้างป่ามักเป็นฝ่ายชนะและจบลงที่ชาวบ้านสูญเสียผลผลิตที่ลงทุนลงแรงมาแรมปีภายในช่วงเวลาเพียงข้ามคืนเดียว

แต่งงานมาสิบกว่าปี ‘นอนกับเมียไม่ถึง 20 คืน’

เมื่อการเฝ้าระวังช้างไม่ใช่ทางออกและคำตอบของปัญหา ชาวบ้านเขาวงศ์ตัดสินใจเปลี่ยนพืชผลที่ปลูก จำ ใจละทิ้งองค์ความรู้ที่สะสมมาตลอดชีวิตทั้งที่ตนเองเรียนรู้และสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ยอดรัก ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไร่มันสำปะหลังและข้าวโพด เป็นการปลูกไม้ผลอย่างลำไย เนื่องจากได้ยินคำบอกเล่าว่าช้างป่า ไม่กินลำไย หากแต่ความเป็นจริงไม่เป็นไปตามที่คิด ช้างป่าไม่กินลำไยเนื่องจากลำไยกว่าจะให้ผลผลิตก็ต้องเข้าปีที่สาม กลายเป็นว่าลำไยเป็นหนึ่งในของโปรดช้างที่แทบจะออกจากป่ามาเฝ้ารอตั้งแต่ช่วงออกดอกเลย

สุดท้าย การเปลี่ยนพืชที่ปลูกก็ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังช้างป่าตอนกลางคืนอยู่ดี หากแต่การเปลี่ยนแปลงอาชีพเริ่มแสดงให้เห็น ถึงความหวังว่ามีเวลาพักผ่อนนานขึ้น เพราะเฝ้ารอแค่ช่วงเวลาออกดอกจนถึงตอนเก็บเกี่ยวเท่านั้น แต่การรอลำไย เพียงอย่างเดียวตลอดทั้งปีเป็นไปไม่ได้ ยอดรักและชาวบ้านคนอื่น ๆ ยังต้องปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เพื่อหาเงินเลี้ยง ตนเองและครอบครัวด้วย

แต่งงานมาสิบกว่าปี นอนกับเมียไม่ถึง 20 คืน” คำพูดติดตลก(ร้าย)ของยอดรัก ที่พูดถึงชีวิตที่ผ่านมาที่ ต้องออกไปเฝ้าช้างไม่ให้ออกจากป่ามากินผลผลิตในไร่ของตน ยิ่งในกรณีของยอดรักที่มีที่ดินติดป่าอนุรักษ์ยิ่งต้อง ออกไปเฝ้าทุกคืนนับตั้งแต่วันที่เริ่มปลูกจนถึงวันที่เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะแตงโม หนึ่งในผลผลิตที่เคยทำเงินให้กับ ชาวบ้านเขาวงศ์ในอดีต ที่ ณ ปัจจุบันหลายบ้านเลิกปลูกเพราะยอมแพ้ให้กับช้างจากความเหนื่อยล้าที่ต้องคอยเฝ้าผลผลิตทุกค่ำคืนตั้งแต่วันที่เริ่มปลูก หากแต่ว่าแม้จะมีการเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น

แต่สุดท้ายแล้วชีวิตของชาวบ้านเขาวงศ์ก็ยังคงต้องสลับเปลี่ยนไปมาระหว่างเกษตรกรและคนเฝ้าระวังช้าง เนื่องจากช้างเองก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนเรียนรู้ว่าพืชชนิดใหม่เป็นอาหารที่ทำให้อิ่มท้องได้ไม่ต่างจากพืชเดิมที่มนุษย์เคยปลูก

พืชผักสวนครัวที่เป็นแหล่งรายได้ทางเลือกนอกจากพืชผลหลักเองก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เนื่องจากมีช้าง ป่าอยู่ในไร่ ช้างป่ากลายเป็นความกลัวที่ฝังอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านเขาวงศ์ ที่ทุกกิจกรรมในแต่ ละช่วงเวลาของวันจะต้องคำนึงถึงช้างป่าตลอดเวลา นางทองย้อย แม่ของยอดรัก เคยถูกช้างวิ่งไล่ในไร่ของตนเอง จนทุกวันนี้ไม่กล้าเหยียบเข้าไปในไร่ตอนเช้า ช่วงที่ช้างป่ากำลังเดินกลับป่า สองแม่ลูกเล่าถึงเหตุการณ์ตลกร้ายใน ชีวิตที่เข้าไปเก็บมะเขือพวงในไร่แล้วเจอช้าง แล้วลูกชายแซวให้ไปเก็บมะเขือพวงหลังจากเห็นช้างจึงเอ่ยขึ้นมาว่า “หึ้ย!!! โลละห้าร้อยกูก็บ่ไป 555555” ปัญหาช้างป่าจึงเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรจะปกติ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนชุมชนชินชาและปฏิบัติราวกับเป็นเรื่องปกติของชุมชนไปแล้วเนื่องจากสิ้นไร้หนทางในการแก้ไขด้วยกำลังของชุมชนเอง

คูกั้นช้างพิสดาร

ในขณะที่ชาวบ้านเขาวงศ์กำลังเผชิญปัญหาช้างป่า การแก้ปัญหาด้วยการทำคูกั้นช้างของหน่วยงานรัฐก็ดูจะมีความหวังอยู่บ้างว่าจะช่วยผลักดันช้างกลับเข้าป่า หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับยอดรัก กลายเป็นว่าแทนที่โครงการทำคูกั้นช้างจะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์กลับถูกขุดในที่ดินของชาวบ้าน โดยหนึ่งในชาวบ้านที่มีคูกั้นช้างในที่ดินนั้น คือนายยอดรักที่มีที่ดินติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

การขุดคูกั้นช้างดำเนินไปด้วยความสับสนในการชี้แจงรายละเอียด ยอดรักอธิบายว่า ณ ช่วงที่มีการติดต่อ ขอเข้าใช้พื้นที่ คิดว่าเป็นการขอผ่านเข้าไปขุดคูในพื้นที่ป่า แต่เมื่อมาดูอีกที กลายเป็นว่าเอกสารสัญญาระบุว่าขุดใน ที่ของยอดรัก ผู้ใหญ่โอษาเล่าเสริมว่า การขุดคูในที่ชาวบ้านคงเป็นปัญหาการดำเนินงานโครงการ ที่ผู้รับเหมาไม่ อยากไปกระทบกระทั่งกับหน่วยงานป่าไม้ อีกทั้งการขอทำเอกสารดำเนินการนั้นยุ่งยากและใช้เวลานาน เลยมาขุด ในที่ดินเอกชนของชาวบ้านเลยง่ายกว่า เมื่อรวมกับความเหนื่อยล้าที่ต้องคอยเฝ้าระวังช้างมาอย่างยาวนาน ยอดรักก็ยอมรับโครงการด้วยหวังว่าจะแก้ไขได้แต่เมื่อโครงการสร้างเสร็จได้ไม่นานนัก เรื่องตลกร้ายก็กลับมาอีกครั้ง

เหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนเปลี่ยนแปลงพืชผลทางการเกษตร เมื่อสิ่งที่คาดหวังไว้กลับไม่เป็นอย่างนั้น คูกั้นช้างขาดงบประมาณมาดูแลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงหน้าฝนเกิดการกัดเซาะและพังทลายลง ช้างป่าก็เดินข้ามมา อย่างปกติ โครงการคูกั้นช้างจึงเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำโดยแท้และยิ่งสร้างปัญหาให้กับเจ้าของที่ดินที่มีคูกั้นช้างด้วย เนื่องจากคูกั้นช้างนอกจากขังช้างแล้ว ก็ยังขังคนไว้ด้วย

“คูมันก็ขังเจ้าของ อย่างกับทำกรงขังลิงนั่นแหละ ทำกรงล้อมบ้านเจ้าของ พอคนออกมาช้างก็ไม่ไป เพราะติดคูกั้นช้าง ช้างก็อยู่กับเรา(คน) คูกั้นช้างก็เลยกันเจ้าของให้อยู่ในบ้าน ออกไปไม่ได้เพราะมีช้าง” ยอดรัก เล่าถึงประสบการณ์ที่เข้าไปในไร่แล้วเจอช้างแต่ไม่สามารถไล่กลับป่าไปได้เนื่องจากติดคูกั้นช้างที่กั้นระหว่างไร่กับป่า

กราฟหนี้สินพุ่ง ผลผลิตตกท้องช้าง

“เขาวงศ์ แร้นแค้นขนาดที่ช้างไม่มีอะไรจะกินเลยต้องออกไปหากินที่หมู่บ้านอื่น” ประโยคเปรียบสถานการณ์ช้างป่าในบ้านเขาวงศ์ ณ ปัจจุบัน ที่ปัญหาช้างป่าทุเลาลงแล้วเมื่อเทียบกับในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับช้างในอดีต หากแต่ยังรุนแรงบริเวณรอบนอกชุมชนที่ห่างไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ณ ปัจจุบันเขาวงศ์หันมาปลูกพืชไม้ยืนต้นเช่น ยางพารา และยูคาลิปตัสกันมากขึ้น ควบคู่กับการปลูกพืชผลที่เป็นแหล่งอาหารของช้าง แต่มีการเฝ้าระวังที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ช้างเข้ามากินได้ยากลำบาก จึงออกไปหากินยังแหล่งอื่น

แต่การเปลี่ยนแปลงพืชผลทางการเกษตรบ่อย ๆ ก็ไม่ง่ายสำหรับชาวบ้านเขาวงศ์ โดยเฉพาะหนี้สินที่ละลายไปกับการทดลองเปลี่ยนเงินที่ควรจะได้จากการขายผลผลิตตกสู่ท้องช้างแทนที่จะเข้ากระเป๋าและสมุดบัญชีธนาคารของคนในชุมชน

พอเปลี่ยนก็ต้องมีการลงทุนลงเงินใหม่ ทำมาเป็นสิบ ๆ ปีอยู่ ๆ จะมาเปลี่ยนมันก็ไม่ง่าย” ยอดรัก เล่าถึงที่มาของปัญหาหนี้สินในครอบครัวที่เกิดจากการประกอบอาชีพเกษตรกร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มมีปัญหาช้างป่า ปัญหาหนี้สินสะสมที่เกิดจากช้างแย่งกินผลผลิตจนขาดทุน กลายเป็นเรื่องปกติในวงสนทนาของชาวบ้านเขาวงศ์ที่ ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน ตัวยอดรักเองก็เคยสูญเสียเงินแสนจากการปลูกแตงแล้วถูกช้างขโมยกินภายในเวลาแค่คืนเดียว ในขณะที่เงินที่ได้จากภาครัฐเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการเยียวยาแทนการใช้คำว่าชดเชยได้อย่างเต็มปาก ชาวบ้านรายหนึ่งที่ผ่านมาแล้วได้ยินบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับยอดรัก เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเองปลูก ลำไยโดนช้างขโมยกินทั้งแปลงหมดไปเป็นหลักตัน แต่ได้ค่าชดเชยจากภาครัฐเพียงแค่ 1,000 บาท

“หนึ่งพันนี่ไม่ใช่ต่อต้นหรือต่อไร่นะ แต่นับทั้งแปลงลำไย จากลำไยที่ตันนึงขายได้สองหมื่นห้า ได้เงินชดเชยแค่พันเดียว ก็ยังดี๊!!(เสียงสูง)” ชาวบ้านคนดังกล่าวกล่าวทิ้งท้ายอย่างประชดประชันก่อนจะเดินกลับบ้าน ไปนอนพักเอาแรงก่อนจะไปเฝ้าไร่ตอนกลางคืนต่อ

หนี้สินสะสมกลายเป็นโซ่ตรวนผูกมัดให้ชีวิตเกษตรกรบ้านเขาวงศ์ยากจน และปัญหาช้างป่าที่บีบให้ไม่มี ทางเลือกมากนัก การปลูกพืชชนิดใหม่หมายถึงการลงทุนใหม่ที่คาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้ จากเดิมที่บ้านเขาวงศ์มีพืช เศรษฐกิจหลากหลาย ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่างตามการสนับสนุนของภาครัฐ หนี้สินที่แบกรับทำให้ยอดรักไม่ มีทางเลือกในชีวิตมากนัก จึงเลือกที่จะเปิดรับโอกาสทุกช่องทางที่เข้ามาในชีวิต หนึ่งในนั้นคือการทดลองเลี้ยงวัว ตามคำแนะนำของหน่วยงานภายนอก “ปัจจุบันที่ติดป่าเปลี่ยนมาเลี้ยงวัวตามคำแนะนำของมูลนิธิคชานุรักษ์ เขาให้วัวมาเลี้ยง 2 ตัว ตอนนี้ก็มีประมาณ 10 กว่าตัวแล้ว” ที่แม้ว่าตัวยอดรักเองจะไม่เคยคิดอยากทำมาก่อน แต่ด้วย เงื่อนไขที่ทำให้เลือกอะไรได้ไม่มากนัก

“เมื่อก่อนไม่เคยคิดจะเลี้ยงวัวเลย แต่พอมีช้างมาแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เลยลองเลี้ยงวัวไปก่อน เขาว่าอะไร ดีเราก็เอา เราปฏิเสธเขาไม่ได้อยู่แล้วตอนนี้ เขาให้เลี้ยงไก่เราก็เลี้ยง ถ้าเราปฏิเสธเราก็จะไม่ได้อะไรเลยขายที่อย่างเดียว เขาบอกให้ลองไปก่อน เราก็ลองตามเขา ดีกว่าไม่มีอะไรทำเลย”

การเลี้ยงวัวของยอดรักก็มีเงื่อนไขข้อจำกัดที่เพิ่มเข้ามาจากปัญหาช้างป่า ไฟล้อมคอกวัวก็ไม่สามารถเปิด ได้เพราะเสี่ยงช้างกำสายไฟแล้วตาย ตอนกลางวันก็เปิดไฟล้อมวัวไว้ไม่ให้ไปที่อื่น พอตกกลางคืนก็ปิดเพื่อไม่ให้มี ปัญหากับเจ้าหน้าที่ เพราะหากเกิดมีช้างตายขึ้นมาแล้วจะกลายเป็นความผิด เสียหายทั้งเงินและเวลา “เผลอ ๆ ติด คุกอีก” ก็เลยต้องอาศัยลงทุนลงแรงตัวเองเข้าไปแทนเอา

“ที่อยากได้คือวิถีชีวิตแบบเดิมในอดีตก่อนที่จะมีปัญหาช้างป่า ชีวิตที่อยากปลูกอะไรก็ปลูกได้ตามที่ใจ อยากจะปลูก อยากกินอะไรก็ปลูกแล้วได้กิน ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มกับการลงทุนลงแรงตลอดทั้งปีอยากเห็นการ แก้ไขปัญหาของรัฐที่ช้างป่าจะมีอาหารเพียงพอจะได้ไม่ต้องมาแย่งอาหารในไร่ชาวบ้าน” ยอดรักพูดแทนชุมชน ถึงความฝัน เป้าหมาย สิ่งที่คนบ้านเขาวงศ์อยากได้และอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในอนาคต