เมื่อร้านชำข้างบ้าน กลายเป็นร้านสะดวกซื้อ ดิจิทัลวอลเลต ก็เป็นแค่ทางผ่าน? - Decode
Reading Time: 3 minutes

ร้านขายของชำภาพในความทรงจำของหลายคนคงไม่พ้นความทรงจำในวัยเด็ก ไม่น่าเชื่อว่าความทรงจำนั้นจะเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา หากดูตามการจัดอันดับธุรกิจดาวร่วงก็จะเห็นเลยว่าธุรกิจร้านของชำติดท๊อปธุรกิจดาวร่วงมาหลายปีซ้อน สอดคล้องกับจำนวนร้านขายของชำที่ลดจำนวนลงมาก สวนทางกับธุรกิจคู่แข่งรายใหญ่อย่างร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มจำนวนสาขามากขึ้นเรื่อย ๆ แทบจะมีให้เห็นทั่วทุกมุมถนน

‘อำนาจเหนือตลาด’ ระเบิดเวลาในมือ กขค.

ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) เปิดเผยผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ในปีงบประมาณ 2566 มีการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 46 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 10 เรื่อง ธุรกิจบริการอื่น ๆ และแฟรนไชส์ จำนวน 22 เรื่อง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 9 เรื่อง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และธุรกิจพลังงาน จำนวน 1 เรื่อง

จำแนกตามพฤติกรรม ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (มาตรา 50) จำนวน 2 เรื่อง การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน (มาตรา 54) จำนวน 3 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 57) จำนวน 19 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายการกระทำความผิดในหลายมาตรา ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดและการตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและไม่ใช่ตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาดและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 2 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 1 เรื่อง การขอคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา 60) จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่ไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 16 เรื่อง ในด้านการลงโทษ มีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง จำนวน 25 คำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ในด้านการรวมธุรกิจ สำนักงาน กขค. ได้รับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ จำนวนรวมทั้งสิ้น 28 เรื่อง แบ่งเป็น (1) การแจ้งผลการรวมธุรกิจ จำนวน 26 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ ธุรกิจการเงิน จำนวน 5 เรื่อง ธุรกิจบริการ จำนวน 4 เรื่อง สินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 12 เรื่อง สินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จำนวน 4 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 316,128 ล้านบาท และ (2) การขออนุญาตรวมธุรกิจ จำนวน 2 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1 เรื่อง และสินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 1 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 75,946 ล้านบาท

4 ทุนใหญ่ แบ่งเค้ก 20% ของตลาดหุ้นไทย

รายงานล่าสุดของ Reuters ระบุ 4 กลุ่มทุนใหญ่ของไทย ประกอบด้วย ตระกูลเจียรวนนท์ (CP) สารัชถ์ รัตนาวะดี (GULF) ตระกูลจิราธิวัฒน์ (Central) และเจริญ ThaiBev (TCC) มีส่วนแบ่งมากถึง 20% ของตลาดหุ้นไทยทั้งประเทศ และตั้งคำถามสำคัญว่าเศรษฐกิจไทยควรต้องเพิ่ม “การแข่งขัน” มากขึ้นหรือไม่ ?

หนึ่งในข้อสังเกตุคือ ข้อบัญญัติใน พ.ร.บ.อาจมีช่องโหว่จากการระบุเนื้อหาเอาไว้อย่างกว้าง ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เรื่องร้องเรียนหลายเรื่องยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่ อย่างกรณีร้านสะดวกซื้อรายหนึ่งวางแผนจะขายอาหารตามสั่งตลอด 24 ชั่วโมง ก็ไม่ถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 50 ว่าด้วยการกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม การตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่ง และมาตรา 57 ว่าด้วยการกีดกันทางการค้า การปฎิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม

ทางเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในขณะนั้นก็เพียงให้ความคิดเห็นว่า “การประกอบธุรกิจแม้จะไม่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ควรมองแค่ในด้านกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณทางสังคมควบคู่ไปด้วย” สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของบทบัญญัติที่เปิดช่องว่างให้ธุรกิจรายใหญ่สามารถทำได้ในหลายกรณี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อรายย่อยโดยตรง

ร้านชำ ‘ตามสั่ง’ สู้สะดวกซื้อ ‘เดลิเวอรี’

“จริง ๆ ก็ไม่ได้อยากมาทำตั้งแต่แรกหรอก แต่สถานการณ์มันบังคับให้ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็อดตาย… เราขายของแบบนี้ก็ได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับลูกด้วย มันคุ้มกว่า”

พี่บี- จันทร์แรม สงกล่ำ เจ้าของร้านชำ เธอเล่าว่าเมื่อ 30 ปีก่อนตั้งแต่ที่แม่สามีเปิดร้านยุคที่ยังไม่มีร้านสะดวกซื้อร้านนี้เป็นร้านขายของชำร้านเดียวที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อของเยอะมาก ของที่ขายในร้านก็หลากหลายตั้งแต่ขนม เครื่องดื่มของเล่นของใช้เครื่องเขียน เหล้า เบียร์ ยา ยาสูบสมุนไพร ถ่าน ข้าวสาร จนถึงเครื่องปรุงต่าง ๆ นอกจากนี้ร้านของเธอยังขายอาหารตามสั่งด้วยทำให้ลูกค้าหลายคนชอบมาอุดหนุนเพราะสามารถซื้อทั้งของและข้าวได้พร้อมกันถือว่าสะดวกมาก ๆ ในยุคนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปร้านสะดวกซื้อถือกำเนิดขึ้นมา และเริ่มเข้ามาในพื้นที่จากร้านเดียว ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2 เป็น 3 จนในที่สุดตอนนี้ร้านของเธอถูกร้านสะดวกซื้อขยับเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ ในรัศมีไม่ถึง 1 กิโลเมตรจากร้านของเธอพบร้านสะดวกซื้อทั้งหมด 5 ร้านด้วยกัน

“ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนลูกค้าน้อยลงไปเยอะ เราก็เน้นขายลูกค้าในพื้นที่อยู่แล้ว แต่เดี๋ยวนี้ส่วนมากเค้าก็ไปเซเว่นกันด้วยเพราะมันใกล้มากกว่า เขาก็ไม่เดินมาทางนี้กันแล้ว”

ร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาในพื้นที่ช่วงแรกก็ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อรายได้ของร้านมากนักส่วนหนึ่งเพราะเมื่อก่อนร้านสะดวกซื้อยังมีสินค้าให้เลือกไม่เยอะนักและเมื่อก่อนราคาสินค้าในร้านสะดวกซื้อก็ถือว่าราคาแพงระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับร้านของเธอจึงไม่ได้แย่งลูกค้ากันเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร้านสะดวกซื้อก็เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเรื่อย ๆ สินค้าก็เพิ่มขึ้นและหลายประเภท กระทั่งบริการเสริมเช่นส่งไปรษณีย์ จ่ายบิล ซื้อยาจากเภสัชกร จนถึงบริการส่งเดลิเวอรีถึงบ้าน ซึ่งกลายเป็นว่าสินค้าและบริการที่ร้านสะดวกซื้อมีทั้งหมดไปซ้ำกับร้านของเธอทั้งสิ้น

“ขายแค่โชห่วยอย่างเดียวไม่รอดหรอก แต่นี่เรามีข้าวด้วย อยู่ได้เพราะขายข้าวเลย”

เธอเล่าว่า พอร้านสะดวกซื้อเข้ามาตั้งในพื้นที่สินค้าหลายอย่างก็เริ่มขายไม่ค่อยได้ทำให้ต้องสั่งของมาขายน้อยลง ตัดสินค้าบางประเภทที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดทุนต่อวันให้น้อยที่สุดส่วนโชห่วยตอนนี้ก็เลยน้อยลง เอาพื้นที่ที่เหลือมาขยายที่นั่งฝั่งร้านตามสั่งให้ใหญ่ขึ้นแทน กล่าวได้ว่ารายได้หลักของกิจการตอนนี้แทบทั้งหมดมาจากการขายอาหารตามสั่งมากกว่าและลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาซื้อของจากร้านขายของชำก็คือลูกค้าที่มาซื้อข้าวจากร้านตามสั่งด้วยนั่นเอง

พักเที่ยงในราคามิตรภาพ กลยุทธ์บ้าน ๆ มัดใจลูกค้า

“พี่เขาใจดี อาหารอร่อย ราคาไม่แพง มีขนมด้วย… บางทีก็ให้โครงไก่กลับบ้าน”

ลูกค้าประจำของร้านคุณปูแม่ของเธอเป็นลูกค้าประจำของร้านคุณปูมาตั้งแต่เริ่มทำงานแล้วเพราะที่ทำงานอยู่ถัดจากร้านไปประมาณแค่ 2~3 หลังเท่านั้นเมื่อคุณเมย์เข้ามาทำงานที่เดียวกับแม่จึงกลายเป็นลูกค้าประจำอีกคนหนึ่งของร้านคุณปูไปโดยปริยาย

เมย์ – ลูกค้าร้านชำ ยอมรับว่าร้านนี้เป็นร้านอาหารที่ใกล้ที่ทำงานที่สุดราคาอาหารไม่แพง มีทั้งเมนูเนื้อวัว ทะเล และรวมมิตรในราคาไม่เกิน 60 บาท เวลาพักเที่ยงก็แค่โทรมาสั่งแล้วค่อยลงมาเอาก็ได้ไม่ต้องจ่ายเงินก่อน แล้วก็ไม่ต้องลงไปรอต่อคิวที่ร้าน เธอเองไม่ค่อยกินข้าว แต่จะชอบซื้อพวกน้ำผลไม้ นมกล่อง และขนมห่อ 5 บาท ทุกวันทั้งเธอและแม่ของเธอก็สนิทสนมกับคุณปูเกิดเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันบางครั้งตอนใกล้ปิดร้านแล้วพวกเธอแวะ ไปซื้อของพอดีเจ้าของร้านก็จะให้โครงไก่ที่ใช้ต้มซุปเพื่อทำอาหารด้วย

“เอาแค่พออยู่ได้ไม่ได้อยากขึ้นราคาหรอก สงสารลูกค้าราคาวัตถุดิบมันขึ้นทุกวันขนาดว่าเราไม่ได้ขึ้นราคามานานแล้วด้วยนะ ลูกค้าบางคนยังบอกเลยว่า ไม่มีใครขายราคานี้แล้ว ขึ้นราคาได้แล้ว แต่บางคนก็ยังบอกว่าเราขายแพง ให้ก็น้อย เราก็ไม่รู้จะตอบเขายังไงเพราะนี่ก็แทบ ไม่ได้อะไรละ”

จุดเด่นของร้านชำอีกอย่างหนึ่งคือสินค้าราคาถูกเธอดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมต่อลูกค้าเสมือนญาติมิตร เธอไม่เคยบังคับขายสินค้า ถ้าลูกค้าถามเรื่องสินค้าว่าชิ้นไหนดี ชิ้นไหนอร่อยก็ตอบตามจริงต่างกับร้านสะดวกซื้อที่ต้องเคร่งครัดเรื่องการคิดราคาให้ถูกต้อง และต้องทำยอดสินค้าของแต่ละสาขาให้ได้ตามเป้าในบางครั้งหากสินค้าในร้านชำไม่สมบูรณ์หรือใกล้หมดอายุถ้าลูกค้าจะซื้อบางทีก็ให้ฟรีไปเลย ไม่ก็ลดราคา และน้อยครั้งมากที่เธอจะขึ้นราคาสินค้าแม้ราคาทุนสินค้าก็เพิ่มขึ้นทุกวันแต่ถ้ายังพอทนไหวเธอก็จะยังเลือกตรึงราคาเดิมเอาไว้ให้นานที่สุด

นอกจากนี้ในร้านของเธอยังเน้นขายขนมห่อขนมปังเบเกอรี่ของทานเล่นทุกชิ้น 5 บาทด้วย เป็นราคาที่หาได้ยากในยุคนี้ในร้านยังมีสินค้าขายดี อีกประเภทหนึ่งคือโอเลี้ยง และชาดำเย็นขวดเล็ก 10 บาท ที่เจ้าของร้านชำรับมาขายอีกทีที่การันตีความอร่อยในราคาหลักสิบ เจ้าของร้านชำยังรับประกันด้วยว่า หากซื้อสินค้าชิ้นไหนในร้านซื้อไปแล้วเสียหรือหมดอายุสามารถเอามาคืนได้เลย การบริการที่จริงใจ และง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ร้านสะดวกซื้อไม่อาจทำได้

เมื่อร้านชำข้างบ้าน กลายเป็นร้านสะดวกซื้อ

“เมื่อก่อนก็เข้าร้านชำบ่อยนะ เพราะบ้านอยู่ข้าง ๆ เมื่อก่อนแม่ใช้ให้ไปซื้อของเวลาจะทำกับข้าวกินเองด้วย แต่พอโตขึ้นไปโรงเรียนแล้วก็ไม่ค่อยได้เข้า…”

เอมี่-ลูกค้าประจำของร้านสะดวกซื้อ เล่าให้ฟังว่าบ้านของเธอเคยอยู่ติดกับร้านขายของชำขนาดใหญ่ ด้วยความที่ร้านขายของชำแห่งนี้เป็นร้านขายของชำเพียงร้านเดียวในบริเวณนี้ ทำให้มีลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรแวะเวียนกันเข้ามาจับจ่ายสินค้าที่ร้านชำแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าของร้านอายุมากขึ้นเลยตัดสินใจขายหน้าร้านไป ร้านขายของชำข้างบ้านจึงกลายเป็นร้านสะดวกซื้อแทน ร้านสะดวกซื้อนอกจากจะขายสินค้าที่จำเป็นแล้วยังมีบริการอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของเธอด้วย เช่นมีตู้ ATM และซื้อตั๋วคอนเสิร์ตได้ทำให้วิถีชีวิตของเธอวนเวียนอยู่กับร้านสะดวกซื้อ

“ชีวิตมันก็ต้องดำเนินต่อไป บางทีเราก็คิดแค่ว่าทำยังไงให้เงินในกระเป๋าเราเหลือเยอะที่สุดไม่ได้คิดถึงผลกระทบในระยะยาวหรอก”

เอมี่เป็นคนหนึ่งที่รู้จักระแสการต่อต้านร้านสะดวกซื้อในช่วงหนึ่งเธอเคยร่วมแคมเปญ ‘งดเซเว่นทุก Wednesday’ แต่ถึงจะเข้าร้านสะดวกซื้อน้อยลง แต่ก็ยังต้องเข้าไปใช้บริการอยู่ดี เพราะบริเวณรอบบ้านเธอไม่มีร้านขายของชำอยู่เลย นอกจากเรื่องความสะดวกสบายแล้วสินค้าในร้านสะดวกซื้อก็มักมีโปรโมชันอยู่บอยครั้งและราคาสินค้าบางประเภทก็ถูกว่าร้านอื่น คุณพ่อของคุณเอมี่ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อเป็นประจำด้วยเหตุผลเรื่องราคา

ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดร้านของคุณปูก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ต้องปิดตามนโยบายควบคุมโรคระบาด แต่โชคดีว่าร้านของเธอเป็นทั้งร้านขายของชำ และร้านอาหารตามสั่งทำให้เธอยังสามารถเปิดให้บริการได้ ครอบครัวของเธอจึงยังมีรายได้จุนเจือในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือร้านขายของชำที่ต้องปิดให้บริการไปในช่วงเวลานั้นเลย ผิดกับร้านสะดวกซื้อที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ

จากวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเดลิเวอรีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการซื้อสินค้าและบริการ เจ้าของร้านชำเองก็เคยได้รับคำแนะนำจากลูกค้าให้เปิดหน้าร้านบนแอปพริเคชันบ้าง แต่เธอคิดว่าหากมาคำนวณรายได้กับค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเพิ่มขึ้นและค่าส่วนต่างที่ต้องหักจากรายได้ของร้าน เพื่อจ่ายให้แอปพริเคชันแล้วก็เป็นจำนวนที่ได้ไม่คุ้มเสียนักที่สำคัญเธอก็ไม่มีลูกจ้าง เพราะหากเธอจ้างลูกจ้างต้นทุนที่ใช้ต่อวันก็จะสูงขึ้น ดังนั้นลำพังแค่ให้บริการในร้านก็เต็มความสามารถของเธอแล้ว เธอเองก็ยังยืนยันว่า อยากดูแลรับผิดชอบสิ่งที่ร้านของเธอมีอยู่ในปัจจุบันให้ดีมากกว่า เพราะเป้าหมายของเธอไม่ใช่การขยายกิจการร้านให้ใหญ่โต เธอหวังแค่ให้ครอบครัวของเธออยู่ได้ก็พอ

ในแง่ของนโยบายจากภาครัฐในปัจุบันยังไม่มีนโยบายที่ออกมาสนับสนุนกลุ่มร้านขายของชำโดยตรง มาตรการของภาครัฐที่มีความเกี่ยวโยงของร้านขายของชำที่สุดน่าจะเป็น ‘โครงการคนละครึ่ง’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และเพิ่มสภาพคล่องแก่ร้านค้ารายย่อย เมื่อซื้อสินค้ากับร้านที่ร่วมลงทะเบียนในโครงการภาครัฐจะจ่ายค่าสินค้าให้ครึ่งหนึ่งของราคาจริง รายย่อยหรือร้านขายของชำที่เหมือนจะเป็นหนึ่งในผู้ได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้แต่จริง ๆ แล้วกลับไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่คิด เพราะว่าเงินที่ได้จากการโอนผ่านแอปเป๋าตังไม่ได้เข้าบัญชีของร้านค้าในวันนั้นทันที แต่ต้องรอถึง 3 วัน ร้านค้าจึงต้องมีเงินทุนสำรองเพื่อใช้หมุนเวียนในร้านค้าเพื่อซื้อสินค้าก่อนที่จะได้รับเงินซึ่งขัดกับธรรมชาติของร้านอาหาร และร้านขายของชำที่ต้องซื้อของทุกวันเพื่อใช้ในการขายสินค้าแบบวันต่อวัน

ห่วงดิจิทัลวอลเลต เป็นแค่ทางผ่าน-ทุนจม

ส่วนนโยบายล่าสุดที่มีความเกี่ยวข้องกับร้านขายของชำ แม้ยังไม่ถูกบังคับใช้แต่กำลังเป็นนโยบายที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และได้รับเสียงวิจารณ์ ในแง่ลบมากมายจากนักวิชาการ คือนโยบาย Digital Wallet ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กลับมาหมุนเวียน โดยการแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนที่ตรงตามเงื่อนไขนำไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่ร่วมโครงการในรัศมี 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้าน ในแง่ของร้านค้าเงินที่ร้านค้าได้รับนั้นเป็นรูปแบบของเงินดิจิทัล

หากร้านค้ามีการจดทะเบียนการค้าเอาไว้จะสามารถนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสดได้ ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนร้านค้าที่ไม่จดทะเบียนจะไม่สามารถแลกเงินสดได้ แต่สามารถนำเงินที่ได้รับนี้ไปใช้ซื้อสินค้ากับร้านค้าที่จดทะเบียนได้จะเห็นว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตยังคงมีช่องโหว่อยู่มาก ระยะเวลาในการแลกเงินสดที่ไม่แน่นอนเป็นปัญหาสำคัญที่อาจทำให้ร้านค้าที่ร่วมโครงการต้องนำเงินส่วนตัวมาหมุนไปก่อนเป็นระยะเวลานานจน “ทุนจม”

อีกทั้งการถือเงินในรูปแบบดิจิทัลยังมีข้อจำกัดมีความไม่แน่นอนสูงและไม่อาจใช้เป็นหลักประกันที่มั่นคงไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้ ร้านที่ร่วมโครงการจึงต้องมีทุนระดับหนึ่งและสามารถรับความเสี่ยงได้ส่วนร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้าก็เหมือนเป็นแค่ทางผ่าน ไม่ได้มีเงินเก็บถือไว้ในมือมีแค่ได้มาและจ่ายออกไป นโยบาย Digital Wallet ยังไม่ใช่มาตรการของภาครัฐที่มีเพื่อช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยมากนัก

จากคำบอกเล่าของเจ้าของร้านชำ แสดงให้เห็นอีกหนึ่งชีวิตที่คอยหล่อเลี้ยงอีกหลายชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยในเมือง ความเข้าอกเข้าใจ ความใกล้ชิดต่อคนที่มีรายน้อยให้อยู่รอดในแต่ละวัน จากวันที่เคยรุ่งเรืองจนเหลือกำไรแค่เพียงให้ร้านอยู่ได้ในยุคที่ร้านสะดวกซื้อครองเมือง เมื่อมีปัจจัยที่เกินกว่ากำลังประชาชนจะแก้ไขได้ ชีวิตของรายย่อยที่ขาดกำลังในการแข่งขันในวันที่ธุรกิจร้านขายของชำที่ผ่านพ้นทุกยุคสมัยกำลังประสบกับความยากลำบาก หนึ่งชีวิตที่ดับสูญอาจหมายถึงอีกหลายชีวิตที่ต้องสูญสิ้น อาจจะเป็นลมหายใจสุดท้ายของร้านขายของชำที่ค่อย ๆ เบาบางลงจนกลายเป็นพ่ายแพ้ในเกมนี้