ขบวนรถไฟแห่งชีวิต กม.11 บนเส้นทางของการพัฒนาที่ไม่ถูกนับ - Decode
Reading Time: 3 minutes

หากคุณมีโอกาสเดินทางไปยังพื้นที่โดยรอบของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นอกเหนือไปจากพื้นที่ความงดงาม สะดวกสบายของย่านการค้าและสถานที่ราชการแล้วนั้น ยังคงมีชุมชนที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่และเกี่ยวพันกับเส้นทางรถไฟอย่างไม่อาจแยกขาดจากกัน  

ชุมชนดังกล่าวคือนิคมรถไฟ กม.11 ในเขตจตุจักรที่มีจุดแรกเริ่มจากย่านพักอาศัย และโรงเรียนวิศวกรรมของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย เวลาผ่านไปบ้านพักต่อเติมก็เกิดขึ้นจากการขยับขยาย ครอบครัวของพนักงานการรถไฟเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ความเป็นชุมชนเด่นชัดเพิ่มมากขึ้นผ่านความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัย

เมืองหลวงแห่งความหวัง

“ช่วงต่อเติมบ้าน พนักงานจะสร้างบ้านตรงพื้นที่ว่างระหว่างตึก บางส่วนก็บุกเบิกพื้นที่ป่ากระถิน แต่ก่อนนี้เป็นพื้นที่รกร้าง พอมีบ้านเพิ่มมากขึ้นพื้นที่ชุมชนก็ขยายตามไปด้วย”

พี่อ้อ – ณภัทร สุริยชน ประธานชุมชนริมคลอง กม.11 และสมาชิกที่ร่วมดำเนินกิจกรรมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการรถไฟ บอกเล่าถึงที่มาของชุมชนนอกเหนือไปจากพนักงานเกษียณอายุที่ผูกพันกับพื้นที่ ลูกหลาน พนักงานการรถไฟ ยังมีผู้ถูกไล่รื้อจากชุมชนบริเวณใกล้เคียง นับรวมไปถึงผู้ที่เดินทางจากต่างจังหวัดพร้อมกับการหอบหิ้วความหวังถึงชีวิตใหม่ในเมืองหลวงเข้ามาพำนักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว จากที่พักของพนักงานการรถไฟจึงเคลื่อนผ่านไปสู่การเป็นชุมชนอันประกอบไปด้วยเส้นทางเรื่องราวของชีวิตที่แตกต่างกัน  

การเดินทางของพี่อ้อมีต้นทางที่จังหวัดลพบุรีก่อนจะเข้ามาเมืองหลวงด้วยวัย 19 ผ่านคำชักชวนของญาติที่เข้ามาทำงานก่อนหน้า พี่อ้อเริ่มต้นงานแรกในฐานะพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมย่านนวนคร ด้วยความมุ่งมั่นที่จะจุนเจือครอบครัวในฐานะพี่สาวคนโต พี่อ้อหารายได้เพิ่มเติมจากการทำงานในร้านอาหาร เพื่อไม่ให้สูญเสียเวลาอันมีค่าจากพนักงานเสิร์ฟสู่ตำแหน่งผู้จัดการร้านอาหาร ถือเป็นช่วงเวลาการเติบโตในหน้าที่การงาน และรายได้ที่เข้ามาของพี่อ้ออย่างสูงสุด

เป็นธรรมดาของชีวิตที่จะมีจังหวะช่วงเวลาสุขทุกข์ สภาวะเศรษฐกิจที่ผันแปรประกอบกับความรู้สึกตึงเครียด ไร้อิสระจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนานเป็นแรงผลักให้พี่อ้อมุ่งหาอาชีพใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่คุณอาซึ่งประกอบอาชีพเป็นพนักงานการรถไฟเชิญชวนให้มาพำนักอยู่ที่ชุมชนร่วมกัน พี่อ้อได้เริ่มต้นอาชีพค้าขายผ่านการเช่าพื้นที่ค้าขายในชุมชน สร้างครอบครัวกับสามีซึ่งเป็นลูกหลานของพนักงานการรถไฟ 

กระทั่งวันที่การรถไฟเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ไปสู่บางซื่อเมืองอัจฉริยะ (Bang Sue Smart City) หากวิเคราะห์ไปให้เห็นถึงผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาปรับภูมิทัศน์พื้นที่ ย่อมเป็นพนักงานการรถไฟที่ต่อเติมบ้านพักอาศัย โอนย้ายกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นเข้ามาเช่าพื้นที่พักอาศัยและทำการค้าขาย ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยไปกระทั่งถึงนักธุรกิจรายใหญ่ ก่อตั้งกระทรวงพลังงาน สำนักงานใหญ่ บริษัทปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) คำกล่าวของพี่อ้อในฐานะสมาชิกที่อาศัยในชุมชนมากว่า 20 ปี

ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาพื้นที่จึงเกิดขึ้นภายหลังการขยายใหญ่ของชุมชนได้อย่างเด่นชัด “ช่วงที่ไม่มีแผนการพัฒนา การรถไฟก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจ การเช่าชื้อกรรมสิทธิ์มีทั้งคนในพื้นที่และคนลงทุนภายนอก เมื่อการรถไฟขาดทุนพื้นที่ตรงนี้จึงสำคัญในฐานะแหล่งรายรับผ่านการให้นักลงทุนเข้ามาเช่าประกอบกิจการภายในพื้นที่” 

สิ้นสุดยุคบุกเบิก

แม้จะเรื่องราวของการเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ บุกเบิกพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่เปรียบเสมือนชนักติดหลังของพนักงานการรถไฟ รวมไปถึงการที่ผู้เช่าชื้อกรรมสิทธิ์ต้องย้ายออกจากพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากมองให้ไกลกว่าสถานะที่เปรียบเสมือนผู้กระทำผิดโดยใช้อำนาจกฎหมายมาเป็นตัวกลางในการเจรจา การที่ชุมชนเป็นแหล่งรองรับที่พักอาศัยให้กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัดสามารถมีพักใกล้กับสถานที่ทำงาน เป็นหนึ่งในแรงดึงดูดให้ผู้คนยังคงเลือกเข้ามาทำงานในพื้นที่ จนอาจกล่าวได้ว่าหากไม่มีการบุกเบิกพื้นที่การพัฒนาอื่นใดที่เราเห็นเช่นทุกวันนี้คงไม่ถือกำเนิดตามมา 

แผนพัฒนาบางซื่อเมืองอัจฉริยะเป็นรูปธรรมผ่านการออกแบบและดำเนินโครงการโดยบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่รับผิดชอบการออกแบบผังเมือง โดยนับเป็นการบริหารทรัพย์สินการรถไฟภายใต้การดูแลของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย หากพิจารณาจากรายได้การบริหารงานจะพบว่าการรถไฟขาดทุนมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน การพัฒนาพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ถือเป็นหนึ่งในทิศทางการสร้างผลกำไรให้งอกเงยจากสินทรัพย์ที่ตนถือครองอยู่ 

เส้นทางชีวิตที่หลากหลายของสมาชิกในชุมชนเปรียบเสมือนทิศทางภายหลังความชัดเจนของการเวนคืนพื้นที่ เพราะชุมชนนิคมรถไฟ กม. 11 ไม่ได้จดทะเบียนเป็นชุมชนผ่านสำนักงานเขตบางซื่อ กระทั่งบริษัทฯ เข้ามาสำรวจพื้นที่และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงได้รับรู้ว่ายังมีชุมชนที่ตกสำรวจจากการได้รับผลกระทบของการพัฒนาในครั้งนี้

แรงงานเหมือนกันแต่ปลายทางของเราไม่เท่ากัน

“พนักงานการรถไฟได้รับแฟลตที่จะสร้างรองรับ ลูกหลานการรถไฟต่อสู้เพื่อให้ได้เช่าพื้นที่บ้านมั่นคง ในขณะที่ผู้เช่ากรรมสิทธิ์ต้องสรรหาที่พักอาศัยใหม่โดยไม่ได้รับการเยียวยาแม้แต่น้อย” นี่คือปลายทางอันนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่เทียบเท่ากันของสมาชิกในชุมชน อีกทั้งการเช่าพื้นที่พักอาศัยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์การถือครองชัดเจนไม่ได้เรียบง่ายเช่นที่ใครหลายคนเข้าใจ เพราะการต่อเติมไม่ได้มีการขอเลขทะเบียนบ้านกับสำนักงานเขต ทำให้ผู้เช่าต้องอาศัยต่อเติมไฟฟ้าและน้้ำประปาจากบ้านพักของพนักงานการรถไฟโดยมีอัตราค่าน้ำหน่วยละ 30 บาท ค่าไฟหน่วยละ 10 บาท ซึ่งไม่ใช่ราคาที่กำหนดโดยการประปาและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่เป็นราคาที่นับรวมไปกับค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่

สาเหตุที่ผู้เช่าตัดสินใจจ่ายค่าสาธารณูปโภคในอัตราที่สูงกว่ามาตรฐานนั้นเป็นเพราะที่พักอาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ทำงาน อีกทั้งการประกอบอาชีพค้าขายของสมาชิกในชุมชนยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลากหลายของมื้ออาหารที่มีราคาเป็นธรรมต่อรายได้ที่ได้รับมา เมื่อเทียบเคียงกันแล้วจึงสมเหตุสมผลกว่าการที่จะพักอาศัยไกลออกไปจากแหล่งรายได้ 

อาชีพค้าขายของพี่อ้อผูกพันกับผู้ที่เดินทางมาใช้แรงงานในเมืองใหญ่ ในทัศนะของฉันพี่อ้อเปรียบเสมือนมาตรชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา ด้วยประสบการณ์ค้าขายที่สั่งสมมายาวนาน พี่อ้อวางแผนในด้านต้นทุนแหล่งวัตถุดิบเพื่อยังคงให้ได้กำไรเพียงพอยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว

“เราเคยอด เคยต้องประหยัดมาก่อน จึงเข้าใจว่าช่วงเวลาที่เขาเรียกว่าไม่มีเงินนั้นเป็นอย่างไร พี่คิดว่าเราพออยู่ได้ด้วยกำไรเท่านี้ ลูกค้าที่มาซื้อเราก็อยู่ได้ด้วยเช่นกัน”

แม้การค้าขายไม่ได้กำไรงอกเงยเช่นในอดีต เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู พี่อ้อบอกเล่าเรื่องราวที่ตนลงทุนเดินทางไปค้าขายสินค้าโดยยึดโยงกับช่วงเวลาเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ ฤดูกาลที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือเมืองใหญ่ เป็นหนึ่งในช่วงเวลาสร้างรายได้ให้พี่อ้อได้อย่างคุ้มค่ากับการลงทุน กระทั่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 เปลี่ยนให้แหล่งรายได้ของพี่อ้อจำกัดอยู่เพียงบริเวณโดยรอบชุมชนเท่านั้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด–19 ซ้อนทับช่วงเวลาเดียวกันกับที่แผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สมาชิกในชุมชนบางส่วนได้รับหมายศาล พ่นสีเพื่อนับจำนวนบ้านต่อเติม กระบวนการต่อสู้นอกจากจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสมาชิกภายในชุมชนแล้ว ยังต้องอาศัยการร่วมมือกับองค์กรภายนอก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ (P – move) เครือข่ายสลัมสี่ภาค (Four Regions Slum Network) เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์กรภาครัฐภาคเอกชนไปกระทั่งถึงการรวมกลุ่มกันระหว่างชุมชนผู้ได้รับผลกระทบซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนด้านพื้นที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม

“การเจรจากับการรถไฟ เราจะมองแต่ในส่วนของชุมชนไม่ได้แต่ต้องประนีประนอมรับฟังในส่วนของการรถไฟเพื่อให้สามารถหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน ในขณะที่ความตั้งใจของเราก็ยังต้องหนักแน่นว่าจะขอเช่าพื้นที่” 

ปรากฏการณ์ Gentrification ชะตากรรมของ “ผู้เช่า”

แนวทางการเจรจากับการรถไฟของพี่อ้อตอกย้ำว่าบ้านมั่นคงคือเป้าหมายปลายทางการต่อสู้ ด้วยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์กรมหาชน (พอช.) มีโครงการสนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 160,000 บาทสำหรับการก่อสร้างบ้านมั่นคง อีกทั้งยังสนับสนุนการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ภายในชุมชนเพื่อให้สมาชิกมีหลักประกันสำหรับการเช่าพื้นที่การรถไฟ

หากได้รับการเช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคง นอกเหนือไปจากการก้าวข้ามผ่านสถานะที่ถูกกดทับผ่านอำนาจทางกฎหมาย ยุติวัฏจักรการไล่รื้อเวนคืนผ่านสิทธิในการเช่าพื้นที่อยู่อาศัยเป็นระยะเวลา 30 ปี เทียบเท่ากับการเช่าพื้นที่ของกลุ่มผู้ลงทุน การต่อสู้ในวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นความมุ่งหวังที่จะไม่ต้องเห็นบุคคลรุ่นต่อไปต้องเดินทางในเส้นทางชีวิตเช่นเดียวกับที่ตนเคยผ่านมา 

การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (Gentrification) คือคำกล่าวที่ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความคิดเห็นผ่านงานเสวนาภาพยนตร์สารคดี Push (2019) ที่นำเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเมืองใหญ่ไว้ว่าคือรากฐานการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เมืองให้กลายเป็นสินค้าผ่านการปลดเปลื้องการถือครองผู้อยู่อาศัยเดิม เพิ่มราคาเช่าพื้นที่พักอาศัยให้ผู้ถือครองเดิมไม่อาจแบกรับได้ ก่อนที่จะ เปลี่ยนแปลงที่ดินให้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล สิ่งเหล่านี้นับเป็นการเบียดขับภาคธุรกิจขนาดเล็กให้เหลือเพียงการผูกขาดการเติบโตของกลุ่มนายทุนรายใหญ่

หากเป็นเช่นที่ภาพยนตร์ Push และคำกล่าวของ รศ.ประภาสที่ได้นำเสนอไว้นั้น กระบวนการ  Gentrification ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในกรณีพื้นที่เมืองในประเทศไทยหรือชุมชนนิคมรถไฟ กม.11 เพราะในความเป็นจริงยังคงมีเรื่องราวการแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้นภายในเมืองใหญ่จำนวนมากที่นับวันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้าง และต้องอาศัยการทำความเข้าใจไปให้ไกลถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนภายในเมืองที่การมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อำนาจรัฐและเอกชนที่ไม่อาจแยกขาดไปกับผลประโยชน์ที่ไม่เทียบเท่ากันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เส้นทางสายรถไฟที่เดินทางมาจากสถานีต้นทางอันแตกต่างหลากหลายล้วนมาบรรจบที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เปรียบได้กับเส้นทางสายชีวิตของสมาชิกในชุมชนนิคมรถไฟ กม. 11 ที่ยังคงเดินทางร่วมไปกับการพัฒนาเมือง ระบบทุนนิยมที่อุ้มชูและกดทับให้บุคคลกลุ่มหนึ่งต้องดิ้นรนให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไป

“เพราะอีกเพียงไม่กี่ปี พื้นที่ตรงนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก และภาพของความเป็นชุมชน คงไม่เหมือนเช่นในวันนี้อีกต่อไปแล้ว”

หากความหมายของ “อภิวัฒน์” คือคำนิยามถึงการพัฒนาอันเจริญงอกงาม อยากชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่าการพัฒนานั้นสมบูรณ์เพียงใด หากยังมีบุคคลที่ถูกเบียดขับไปจากการมีส่วนร่วมในความเจริญ แบกรับผลกระทบจากการพัฒนาโดยไร้ซึ่งความเข้าใจที่มีต่อการกำหนดทิศทางชีวิตที่ไม่อาจเลือกเดินได้อย่างเสรี

“300 ชุมชน 35 จังหวัด คือตัวเลขทั้งหมดของผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่การรถไฟ และในวันนี้ยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรม”

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม

ไทยรัฐ. ศักดิ์สยาม เดินหน้าตั้งบริษัทลูกบริหารทรัพย์สิน “รถไฟไทย”. 2564.

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร. แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่โดยรอบสถานีกลาง บางซื่อ (Smart city of Bang Sue Area Transport Center). 2563.  

The Active. การพัฒนาเมืองไม่เคยยุติธรรมกับคนจน. 2566.