'เรียนดี มีความสุข' ยอดภูเขาน้ำแข็งของการศึกษาไทย - Decode
Reading Time: 3 minutes

เวลาผ่านไป ปัญหาเก่าของการศึกษาไทย ในมือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ยังเป็นเผือกร้อนของเจ้ากระทรวงฯ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการศึกษาถึงประสบการณ์และความเหมาะสม จากกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ในข้อหาเมาแล้วขับซึ่งทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ลงนามแทน ผบ.ตร. ในการไม่เห็นแย้ง ทำให้คดียุติลงทันที หลังจากเข้ารับตำแหน่ง ป.ป.ช.ชงเรื่องส่งให้ ชี้มูล ผิดวินัยแต่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง กลายเป็นข้อกังขาสำคัญต่อความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่เริ่มทำงานผ่านปากคำของ ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ ที่เน้นย้ำต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา เคยทำงานหรือมีความสนใจด้านการศึกษาที่คนทั่วไปเห็นและพอรู้จักวิธีคิดด้านการศึกษา เพราะสิ่งเหล่านั้นจะเป็นการแสดงถึงวิธีการจัดการบริหารและจัดสรรงบให้คุ้มค่าและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง

“โดยปกติแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็จะมีทีมที่ปรึกษาต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบริหารงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด แต่เราไปค้นหาประวัติ ประสบการณ์ หรือวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา ของทีมที่ปรึกษา ส่วนใหญ่ก็กลับไม่พบเจอความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นลูกหลานนักการเมืองตามพื้นที่ต่าง ๆ ตามเครือข่ายอำนาจของตัวเอง ซึ่งก็ทำให้ความคาดหวังด้านการศึกษาคาดหวังได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ De/code ยังพูดคุยกับ ยาวาเฮ ดอเล๊าะ และอรุณ ยันติง เจ้าหน้าที่จากศูนย์เดอะฮับสายเด็ก ที่ทำงานเชิงลึกกับข้อมูลเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไทย พบสาเหตุหลักๆมาจากครอบครัว ,การย้ายถิ่นที่อยู่ ,รายได้ไม่เพียงพอ ,ปัญหาสุขภาพหรือความพิการ และผลกระทบจากโควิด 19

จากครูเดอะแบก สู่ครูผู้สอนที่แท้จริง

ถ้อยแถลง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้

  • ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • ครูและบุคลากรคืนถิ่น โดยไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง
  • แก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา
  • จัดหาอุปกรณ์สอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet

โดยนโยบายด้านการลดภาระหนี้ครูที่จากแถลงการณ์มีการพูดถึงการให้ครูประหยัด เช่น การนั่งรถรวมกันไปสอน ไปงานที่ต้องใส่ซอง ก็ไม่ต้องใส่ซอง ให้ช่วยงานอย่างอื่นแทน เป็นต้น ซึ่งการแนะนำดังกล่าวก็แทบจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่จากปัญหาหนี้สินของครูมีต้นเหตุมาจากสินเชื่อหนี้ที่มักจะปล่อยให้ครูอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ครูมักจะเป็นอาชีพที่ถูกหักรายได้อยู่บ่อยครั้ง แต่มีระเบียบ ศธ.ที่ออกมากำกับว่า เงินเดือนต้องเหลือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่า บางเขตพื้นที่โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษามีการหักเงินเดือนครูน้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาที่ครูจะกู้ยืมเงินนอกระบบ และตามมาด้วยปัญหาดอกเบี้ยที่สูงและการทวงหนี้ที่โหด ทำให้ก็กลายเป็นวงจรวนลูปอยู่ซ้ำซาก

อีกทั้งยังมีนโยบายการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เราก็จะเห็นนโยบายดังกล่าวถูกพูดถึงจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนก่อน ๆ อยู่เสมอ ธนวรรธน์ได้พูดถึงการแถลงการณ์ดังกล่าวที่พูดถึงแค่ในด้านเอกสารการประเมินของครูและวิทยฐานะ ซึ่งงานเหล่านี้ก็ไม่นับเป็นชั่วโมงการทำงาน และก็ยังมีภาระงานนอกจากนี้อีก เช่น ครูบางคนเมื่อพักเที่ยงต้องคอยไปตั้งอาหารกลางวันให้นักเรียน หรือต้องไปทำงานธุรการการเงินและพัสดุต่าง ๆ ทำให้ครูต้องแบ่งเวลาจากการเตรียมการสอน มาทำงานในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้เขตการศึกษาผู้เป็นคนควบคุมคุณภาพโรงเรียนต่าง ๆ ก็มักจะทำหน้าที่จี้ เพื่อให้ได้แบบประเมินที่ดี แทนที่จะมุ่งหวังผลลัพธ์การศึกษาที่ดี

“ตอนนี้กลายเป็นว่าครูไม่ได้ทำแบบประเมินเพื่อสร้างประโยชน์เพื่อนักเรียนหรือครู แต่กลับทำให้ผู้บริหารสถานศึกษากลายเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการประเมินมากที่สุด เพื่อการเลื่อนขั้นต่าง ๆ” ธนวรรธน์ กล่าว

จากแถลงการณ์ดังกล่าวก็แทบไม่เห็นการพูดถึงเรื่องการพัฒนาหรือเพิ่มบุคลากรครูหรือนโยบายการศึกษานอกระบบเลย ทั้งที่การศึกษานอกระบบก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับบางคน อรุณ และยาวาเฮ บอกกับเราว่า มีเพียงครูคนเดียวที่จะมาสอนที่ศูนย์เดอะฮับ มูลนิธิสายเด็ก ทำให้ต้องแบกรับเนื้อหาการสอนก็ไปตกที่ครูคนเดียว ซึ่งทำให้ไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่ทุกอย่าง และทำให้ผู้เรียนไม่สามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้มากเท่าที่ควร ถ้าวันไหนครูไม่ว่าง ผู้เรียนก็จะไม่ได้เรียนด้วย ทำให้ชั่วโมงการเรียนเหล่านั้นก็สูญเปล่าไปเลย สุดท้ายปัญหาครู กศน.ก็ยังเป็นปัญหาชายขอบที่ถูกมองข้ามอยู่

การศึกษานอกระบบหลากหลาย แต่ไม่เท่าเทียม

“การศึกษานอกระบบก็แทบไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไหร่ เพราะการศึกษาในระบบยังไม่ตอบโจทย์กับผู้เรียน การศึกษานอกระบบก็ยิ่งถูกมองข้ามไป แต่การศึกษานอกระบบก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับหลายคน เพราะต่างคนต่างก็มีปัญหาที่ทำให้เรียนในระบบไม่ได้ เช่น ปัญหาด้านการเงิน สังคม หรือครอบครัว ทำให้ กศน.กลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นสำหรับบางคน” อรุณ กล่าว

การศึกษานอกระบบกลายเป็นตลาดที่กว้างและมีความหลากหลาย การศึกษานอกระบบที่มาจากเอกชน ซึ่งมีทั้งทางเลือกในการเรียนที่หลากหลาย จำนวนครูและบุคลากรที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนแทบจะทุกประเภทความสามารถที่นักเรียน และรูปแบบการประเมินที่มุ่งเน้นไปที่ตัวนักเรียนมากกว่า เพื่อให้แค่แบบประเมินออกมาดี และผู้บริหารได้เลื่อนขั้น แต่ครูกับนักเรียนก็ยังต้องจมปลักอยู่กับปัญหาทางการศึกษาต่อไป อีกทั้งหากวันไหนที่ครูหยุดก็จะมีทั้งระบบออนไลน์ที่ทดแทนการเรียนในส่วนนี้ด้วย แต่ก็ต้องแลกมากับค่าเทอมที่ราคาสูงมาก จนเป็นทางเลือกที่หลายคนเอื้อมไม่ถึง

แต่การศึกษานอกระบบของรัฐ ที่ฟรี และหลายคนสามารถเอื้อมถึงได้ แต่ก็มีปัญหาครูและบุคลากรที่ไม่เพียงพอและไม่หลากหลายครอบคลุมตามความสามารถของเด็กอย่างครอบคลุม เช่น หากผู้เรียนที่มีความสนใจด้านดนตรี ก็อาจไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์หรือครูเฉพาะทางด้านนี้ หรือบางที่อาจจะมีครูที่สอน แต่ด้วยทรัพยากรที่ไม่พอ ก็ทำให้กลายเป็นสวัสดิการที่ต้องคอยแย่งกัน ซึ่งกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่สามารถเข้าถึงการศึกษานอกระบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาให้ตรงจุดกับความสามารถหรือความสนใจของผู้เรียน ก็ถูกจำกัดแค่เฉพาะผู้เรียนที่มีต้นทุนทางการเงินสูงเท่านั้น

“เด็ก กศน.ที่คนภายนอกอาจจะมองว่า รุนแรงหรือยอมรับไม่ได้ แต่ความคิดของเขาอาจดูเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาเติบโตมาในสังคมที่มีความรุนแรงแบบนั้น ทำให้เขามองเป็นเรื่องปกติ ซึ่งพอเขาได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ทำให้เขาค่อย ๆ ปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมได้ อาจจะใช้เวลานานหลายปี แต่ก็ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กคนหนึ่ง” ยาวาเฮ กล่าว

ยาวาเฮ มองข้อดีว่า ได้เรียนรู้ทักษะอย่างอื่น แม้ทฤษฎีจะไม่แน่นเหมือนเด็กในระบบ เราก็พยายามเสริมทักษะชีวิตต่าง ๆ ให้กับเขา ตอนนี้เรามีหลักสูตรที่พัฒนาทักษะพื้นฐาน เช่น ซักผ้า ทำอาหาร การติดต่อหน่วยงานราชการ การเตรียมพร้อมเพื่อไปทำงาน การเตรียมเอกสาร เป็นต้น เพราะเรื่องทฤษฎีเราไม่สามารถไปอัดแน่นให้เขาไม่ได้ เราก็จะเน้นไปที่การส่งเสริมด้านอาชีพมากกว่า เราก็เลยอยากจะทำ MOU กับสถาบันการเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงทักษะต่าง ๆ ได้ เช่น สถาบันอาชีวะ แล้วก็ได้รับใบรับรองจากการอบรม เพื่อนำไปสมัครงานในอนาคต

แต่การได้รับใบรับรองเหล่านั้นก็จะติดปัญหาตรงที่ว่า มีผู้เรียนบางส่วนที่เขาไม่มีบัตรประชาชน เนื่องด้วยทั้งพิสูจน์ผู้ปกครองไม่ได้หรือเป็นคนไร้บ้าน ทำให้การได้รับใบรับรองเมื่อฝึกอบรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับ ทำให้การฝึกอบรมนั้นอาจไม่สามารถนำไปสมัครงานได้ นอกจากนี้บางทีจำนวนคนที่จะเข้ารับอบรมก็มีจำนวนที่อาจจะเยอะเกินกว่าที่ทางศูนย์เดอะฮับจะจัดหาได้ ทำให้ก็เสียโอกาสตรงส่วนนี้ไปด้วย

นอกจากนี้ เรื่องระยะเวลาที่อาจไม่สะดวกสำหรับผู้เรียนที่เรียน กศน.เพราะบางคนต้องทำงานเวลากลางคืน หรือลางานไม่ได้ ทำให้เมื่อถึงช่วงเวลาสอบหรือเรียน ก็ไม่สามารถไปเรียนได้ ยาวาเฮเสนอให้เพิ่มรอบสอบ หรือปรับเวลาสอบ เพราะโดยส่วนใหญ่ของตารางสอบ กศน.ก็มักจะเริ่มตั้งแต่ 8:30 – 17.30 น. และจัดสอบ 2 วัน ซึ่งผู้เรียน กศน.ส่วนใหญ่มักทำงานระหว่างเรียนไปด้วย และในบางครั้งก็ไม่สามารถลางานได้ ก็ต้องเสียโอกาสตรงนี้ไปด้วยเช่นกัน

งบเยอะสุด แต่ผลงานดีสุด?

ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุดในบรรดากระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ จำนวน 325,900 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 3,185,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมด แต่เหตุใดปัญหาการศึกษาที่ยังวนอยู่ที่เดิมอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะปัญหาภาระงานของครู หรือคุณภาพของหลักสูตรที่ไม่มีความเท่าเทียมกันตามแต่ละพื้นที่

ธนวรรธน์ตอบว่า “แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการที่ใช้งบประมาณเยอะที่สุด แต่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว โดยประมาณ 62% เป็นงบบุคลากร และเรามีข้าราชการ ลูกจ้าง บุคลากรภาครัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีประมาณกว่า 500,000 คน ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งจากทุกกระทรวง โรงเรียนเราเยอะอยู่แล้ว ครูเราก็ต้องเยอะตามด้วย แต่เราไม่สามารถกระจายงบไปยังโรงเรียนได้อย่างทั่วถึง เพราะต้องผ่านผู้มีอำนาจตามแต่ละพื้นที่ก่อน ทำให้งบที่ไปถึงครูผู้สอนจริง ๆ ก็น้อยตามไปด้วย”

นอกจากนี้การจัดอัตรากำลังที่คิดตามรายหัว แต่ไม่ได้ดูตามภารกิจหรือความเหมาะสมของโรงเรียนนั้น ๆ ก็ทำให้มีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพตามแล้วแต่โรงเรียน อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการจัดทำโครงการโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โดยมีกรอบอัตรากำลังนักเรียนต่อครู 700 : 70 คน แล้วก็มีบุคลากรด้านอื่น ๆ อีก 30 คน ซึ่งแปลว่า กระทรวงศึกษาธิการรู้ว่า ต้องจัดการทรัพยากรอย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกโรงเรียน เพราะติดปัญหาที่งบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ

ถ้าเราทำตามรูปแบบโครงการโรงเรียนวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ธนวรรธน์เสนอเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียม โดยโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงที่เด็กส่วนใหญ่ต้นทุนด้านการเงินดี ก็อาจให้งบลดหลั่นลงมา ถ้าทรัพยากรของโรงเรียนนั้นมีเพียงพออยู่แล้ว แต่รัฐก็อาจยังสนับสนุนงบอยู่ แต่หากเป็นโรงเรียนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ก็อาจมีการเพิ่มงบลงทุนกับทั้งบุคลากรหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีใกล้เคียงกันได้ เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ก็อาจเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่จะยิ่งซับซ้อนและหาทางแก้ไขได้ยากในอนาคต

สุดท้ายนี้การลงทุนเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาอาจไม่สามารถเห็นผลได้ในทันที แต่เรากำลังสร้างอนาคตอีก 10 ปีหรือ 20 ปี ที่จะทำให้เกิดแรงงานหรือประชากรที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างประเทศที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน และไม่สามารถเกิดได้เพียงแค่ลงทุนด้านงบประมาณ แต่ต้องรู้จักจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับภารกิจที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ควรลงทุนกับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่จะทำให้การศึกษาไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนเพื่อให้เพียงแค่คนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ควรเป็นการศึกษาที่จะโอบอุ้มทุกคนให้สามารถโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม