เหลือเพียงความทรงจำ เมื่อกำแพงกันคลื่น กลืนชายหาด - Decode
Reading Time: 2 minutes

ผมเกิดที่ทะเล โตมากับทะเล อยู่กับชายหาดตั้งแต่จำความได้ ผมและเพื่อนเตะบอลชายหาดหลังเลิกเรียนทุกวันและชะล้างเศษทรายบนร่างกายด้วยการโดดน้ำทะเล ก่อนจะกลับไปเจอกับไม้เรียวพ่อที่ถือท่ารออยู่ เพราะเป็นบ้านที่พ่อไม่อนุญาติให้เล่นทะเล ทุกเดือนเมษาจะมีหน้าทรายก่อตัวขึ้นบนผิวน้ำที่เดินลงไปในทะเลเกือบ 50 เมตร เหมือนพวกเราเดินอยู่บนน้ำได้อย่างไรอย่างนั้น

ผมเพิ่งรู้จากหนังสือเล่มนี้เช่นกัน ว่าหน้าทรายที่ก่อตัวขึ้น คือตะกอนทรายที่รอเข้าทับถมชายหาดเข้าเติมหาดทราย หลังจากผ่านหน้ามรสุมมาอย่างยาวนาน (หน้ามรสุมก่อตัวขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมและลาจากไปในเดือนธันวาคม) แต่ชายหาดวันนี้ไม่เหมือนเดิม ไม่มีหาดทรายให้เหล่าเด็กผู้ชายได้เตะบอล ไม่มีหน้าทรายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นผลมาจากกำแพงกันคลื่นยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร

จนผมได้มาเจอนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี ที่ทำงานด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และรณรงค์ให้ข้อมูลว่ากำแพงกันคลื่นไม่ได้คืนชายหาดอย่างที่ทางการไทยชอบว่าไว้ แต่มันกลืนชายหาด และปล่อยโครงสร้างทางกายภาพทิ้งไว้ ให้เป็นแผลเป็นจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

โครงสร้างแข็งยาแรงที่มีผลข้างเคียง ยากจะเยียวยา

ก่อนจะเข้าใจเนื้อหาโดยรวมของหนังสือ ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการพาเรารู้จักกับรูปแบบต่าง ๆ ของโครงสร้างทางวิศวกรรมที่เอาไว้ป้องกันแนวชายฝั่ง ซึ่งแบ่งออกเป็นสามแบบที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย คือ กำแพงกันคลื่น รอดักทราย และเขื่อนกันคลื่น โครงสร้างแต่ละประเภททำหน้าที่ต่างกัน แต่ล้วนมีผลกระทบต่อชายหาดทั้งสิ้น ซึ่งรูปแบบที่ถูกใช้มากที่สุดในบ้านเราคือโครงสร้างประเภทกำแพงกันคลื่น ที่เป็นโครงสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือหินก้อนใหญ่เรียงต่อกันไปตามแนวชายฝั่ง

นับตั้งแต่ปี 2550 เราสูญเสียงบประมาณในการถล่มชายหาดไปแล้วกว่าหมื่นล้าน แต่ตัวเลขนี้ยังไม่น่าจะตกใจเมื่อเราเทียบดูว่าในช่วง 2550-2557 รัฐใช้เงินในการสร้างกำแพงกันคลื่นไปเพียงแค่ 1,900 ล้าน แต่หลังจากประกาศยกเลิกว่ากำแพงกันคลื่นต้องทำ EIA ในปี 2557 กำแพงกันคลื่นก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ปี 2558- 2566 รัฐใช้เงินกว่าแปดพันล้านเพื่อสร้างกำแพงกันคลื่น เป็นยุคสมัยที่เพิ่มงบประมาณหลายเท่าตัว นำมาสู่หายนะเกิดขึ้นกับชายหาดเยอะที่สุดในประวัติกาล และนี่เป็นผลโดยตรงจากผลพวงทางนโยบายที่จะอยู่กับชายหาดไทยไปอย่างถาวร

แต่ส่วนสำคัญคือผู้เขียนชวนเราในฐานะผู้อ่าน ทำความรู้จักชายหาด ที่ไม่ใช่แค่หาดทรายขาวโพลน ทอดไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา แต่ชายหาด “เกิดขึ้นได้จากตะกอนที่ตกทอดมาตามลำน้ำ ไหลลงสู่ทะเล ก่อเกิดสันดอนตามปากแม่น้ำ ขนานยาวไปตามชายฝั่ง รอคลื่นตามแต่ฤดูกาลของทิศลม พัดพาให้ตะกอนทรายเหล่านั้นเคลื่อนตัวไปตามชายฝั่ง ก่อนเกิดเป็นชายหาดที่มีความสมดุลระหว่างตะกอนที่ถับถมและตะกอนที่เคลื่อนตัวออกไป” แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมนุษย์เอาโครงสร้างแข็งอันถาวรมาปักหลักลงบนหาดทราย นั่นเป็นสาเหตุทำให้ตะกอนดินที่ไหลเวียนตามฤดูกาลอย่างเป็นวัฏจักรถูกแทรกแซงและหยุดชะงัก ส่งผลให้หาดทรายแหว่ง และถูกกระแสคลื่นในหน้ามรสุมกัดเซาะเข้าสู่แผ่นดิน เป็นที่มาของการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะเป็นโดมิโนต่อๆกัน ไม่มีที่สิ้นสุด

ผมที่เกิดและโตมากับทะเล ก็พึ่งจะเข้าใจกลไกของชายหาดหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ทั้ง ๆ ที่ตั้งคำถามมาตั้งแต่เด็ก ว่าทำไมกำแพงกันคลื่นนี่สร้างไม่เสร็จเสียที ตอนผมอายุประมาณ 13 ก่อนออกไปเรียนมัธยมที่ต่างจังหวัด แนวกำแพงกันคลื่นหน้าหมู่บ้านเรียงยาวเพียงแค่ ห้าร้อยเมตร หลังจากจบวัยมัธยม กำแพงกันคลื่นถูกสร้างเพิ่มเกือบ 1 กิโลเมตร และในวันที่ผมจบมหาลัย แนวหมู่บ้านริมชายฝั่งกว่า 2 กิโลเมตร ณ ตำบลบ่อตรุ จังหวัดสงขลาก็เต็มด้วยโขดหิน ไม่เหลือภาพความทรงจำของหาดทรายที่แล่นอยู่ในนัยน์ตาตั้งแต่วัยเยาว์

ผมนิยามตัวเองว่า เป็นผู้ประสบภัยและได้รับผลกระทบจากกำแพงกันคลื่น อันไม่อาจพาหมู่บ้านผมกลับมาอยู่จุดเดิม และทุกครั้งที่กลับบ้านในช่วงวันหยุดยาว ทั้งผม ผองเพื่อน และเด็ก ๆ ต้องขับรถออกไปนับกิโลเพื่อจะวิ่งเล่นบนหาดขาว ๆ ที่มองเห็นลาง ๆ ว่ากำแพงกันคลื่นกำลังคืบคลานมาอีกแล้ว

แต่หมู่บ้านผมมันไกลเกินกว่าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพว่าหาดที่หายไปเพราะการมาของกำแพงกันคลื่นมีหน้าเป็นอย่างไร แต่หากให้สรุปอย่างง่าย สภาพในปัจจุบันก็ไม่ต่างกับชะอำมากนัก

ชะอำ สิ้นชื่อ ไม่มีคำว่าหาดอีกแล้ว

หาดชะอำที่จังหวัดเพชรบุรี หลายคนคงคุ้นหู หลายคนเคยไปเยือน หลายคนยังคงหวังว่าสักวันจะได้ไป แต่ชะอำกลายเป็นชะอำที่ไม่มีหาดเสียแล้ว หลังผ่านหน้ามรสุมด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างหนักหน่วง เพราะชายหาดที่ทอดยาวกว่า 3 กิโลเมตร ถูกถาโถมด้วยโครงสร้างกันคลื่นแบบขั้นบันได ด้วยงบประมาณกว่า 220 ล้าน ภาพเตียงผ้าใบ กับผู้คนที่นอนทอดยาวออกไปเพื่อรับแดดรับลมในวันหยุดหายหด เหลือเพียงแค่ร้านค้าที่เงียบเหงาและคราบตะไคร่บนโครงสร้างคอนกรีต แต่นี่คือสิ่งที่หน่วยงานรัฐประกาศ ว่าเป็นความสำเร็จในการปกป้องชายหาด ผู้เขียนโต้ว่า “ถ้านี่นับว่าสำเร็จ ทำไมตัวเลขหาดทรายตลอดสิบปีที่ผ่านมาลดลง”

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อ 19 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุลื่นล้มบนกำแพงกันคลื่น เพราะมีตะไคร่เกาะหนาหนึบ ศีรษะกระแทกกับพื้นบาดเจ็บสาหัสแพทย์โรงพยาบาลลงความเห็นให้นักท่องเที่ยวรายนี้เป็นผู้พิการหลังจากรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึงสองเดือนเต็ม ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า “กำแพงกันคลื่นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชายหาดในเชิงกายภาพและนิเวศวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตประชาชนอีกด้วย”

หรืออีกกรณี ที่น่าหดหู่ไม่แพ้กัน คือกำแพงกันคลื่นที่หาดหน้าสตน จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นมาสิ้นสุดที่หลังบ้านนายเกษม ซึ่งนี่คือส่วนท้ายของกำแพง และเป็นส่วนที่กระแสน้ำโดนเบี่ยงจากกำแพงกันคลื่นเข้าอย่างหนักหน่วง อย่างที่ผู้เขียนบอกไปก่อนหน้านี้ ว่าผลของกำแพงกันคลื่นคือโดมิโน่ที่ไม่มีวันจบ หลังจากเราสร้างแนวกันคลื่นด้วยโครงสร้างแข็งที่ถาวรแล้ว กระแสน้ำก็จะเปลี่ยนและสร้างรอยแหว่ง เพิ่มการกัดเซาะออกไปเรื่อย ๆ ตามหัวหรือท้ายของแนวกันคลื่นที่ไม่มีที่สิ้นสุด โชคร้าย ที่จุดสิ้นสุดโครงการตรงกับบ้านนายเกษมพอดี กระแสคลื่นในหน้ามรสุมก็กระชากหลังบ้านนายเกษมกลืนสู่ทะเลไปด้วย และเมื่อโครงการก่อสร้างมาลงอีกครั้ง หลังบ้านต่อไปที่จะเป็นจุดสิ้นสุดโครงการไม่รู้ว่าจะเป็นบ้านของใคร และจะเป็นแบบนั้นไปอีกเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะไม่มีชายหาดให้เชยชม แต่สถานการณ์ที่นี่ก็ต่างออกไป ไม่เหมือนกับชายหาดม่วงงามที่ชาวบ้านลุกขึ้นต่อต้าน

ที่ไหนมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ ที่บ้านม่วงงามก็เช่นกัน

นี่นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดในห้วงปีที่ผ่านมา เพราะชาวบ้านชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา ลุกขึ้นประท้วง ต่อต้านโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งกำลังก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหน้าบ้านพวกเขา ชาวบ้านทำงานร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น เพื่อรวบรวมและพิสูจน์ว่า ชายหาดที่นี่ไม่อยู่ในเกณฑ์ของการกัดเซาะที่สามารถสร้างกำแพงกันคลื่นได้ และแม้จะมีการก่อสร้างเดินหน้าไปแล้ว ศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้ตัดสินให้ประชาชนผู้ยื่นฟ้องในนาม กลุ่ม save หาดม่วงงามได้รับชัยชนะ ต้องให้กรมโยธาธิการยุติการดำเนินการก่อสร้าง และเมื่อไม่นานมานี้หลังเทศบาลได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งทำให้กรมโยธาธิการต้องยุติโครงการนี้ไปในที่สุด

หนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากคนตัวเล็ก ที่ทนไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ซึ่งฝืนธรรมชาติเกินไป เพราะมนุษย์คงคิดไปเอง ว่าตัวเองมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะอยู่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาจากภาวะทางธรรมชาติ ชายหาดไทยที่เปลี่ยนไปในรอบทศวรรษอย่างที่ไม่อาจหวนคืน คือหลักฐานอันประจักษ์ของการดำเนินการทางนโยบายที่ผิดพลาด ขาดการคิดและรับฟังที่รอบคอบ เนื่องจากการประกาศเลิก EIA สำหรับกำแพงกันคลื่น อย่างน้อยที่สุด หนังสือเล่มนี้ก็มอบบทเรียนราคานับหมื่นล้าน ให้กับรัฐ คนไทยแนวชายฝั่ง ชอบเที่ยวชายหาด หรือฝันว่าสักวันจะอยู่บ้านริมหาดทรายในวัยเกษียณ

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ Beach For Life

หนังสือ : กำแพงกันคลื่น กลืนชายหาด ให้มันจบที่รุ่นเรา
เขียนโดย : อภิศักดิ์ ทัศนี และ สมปราถนา ฤทธิ์พริ้ง

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี