ดีกรีของความเป็นชุมชน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ในตอนที่แล้วผมเขียนเรื่อง “ความเป็นชุมชน” และพูดถึงยุคชุมชนที่ไม่ผูกติดกับสถานที่ (post-place community) ทราบว่าชวนให้เป็นที่ถกเถียงว่า หากสถานที่ (place) ไม่สำคัญ แล้วสาขาวิชาที่ทำงานในด้านการออกแบบสถานที่จะไม่ตกยุคหมดสมัยแล้วหรือ

แม้ว่าปัจจุบันคนจำนวนมากพูดคุยผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้งกว่าพูดคุยเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ติดกันเสียอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชุมชนบนฐานของสถานที่ (place-based community) ที่ผู้คนพบหน้าค่าตากันจริง ๆ จะหมดความหมายโดยสิ้นเชิง และหากเปรียบเทียบกันแล้ว สถานที่ที่ผู้คนได้พบหน้ากันตัวเป็น ๆ ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเหนียวแน่นมากกว่าชุมชนไร้สถานที่ (place-less community) เช่น ชุมชนบนโลกออนไลน์

ถึงกระนั้น ทั้งชุมชนบนฐานของสถานที่และชุมชนไร้สถานที่ต่างก็ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ล้วนต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่อยากโดดเดี่ยว เพียงแต่ทำหน้าที่ภายใต้บริบทของชีวิตผู้คนที่แตกต่างกัน

ชุมชนบนโลกออนไลน์ : เปิดกว้างแต่บางเบา

เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสังคมใหม่ ผู้คนสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านน้อยลง เนื่องจากต่างคนต่างประกอบอาชีพการงานต่างกันและมีความสนใจหลากหลาย อย่างไรก็ดี แทนที่จะมองในเชิงลบว่า ชุมชนละแวกบ้านเสื่อมถอยลง เราสามารถมองในเชิงบวกได้ว่าเป็นการ “ปลดปล่อย” ความเป็นชุมชนให้มนุษย์ได้ “เลือก” ว่าไม่จำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับคนในละแวกบ้านเท่านั้น แต่สามารถสร้าง “ชุมชน” กับผู้คนที่มีความสนใจตรงกันได้ แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้กัน เป็นชุมชนบนฐานความสนใจ (interest community) เช่น ชมรม สมาคม ของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน

ในยุคดิจิทัล การ “ปลดปล่อย” ความเป็นชุมชนก้าวข้ามไปอีกขั้น ด้วยการทำลายขีดจำกัดของระยะห่างด้านกายภาพ เราสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับคนต่าง ๆ บนโลกที่มีความสนใจร่วมกันได้ แม้จะอยู่คนละประเทศ ไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันจริง ๆ จนเกิดคำว่า หมู่บ้านโลก (global village) หรือชุมชนเสมือน (virtual community) ซึ่งก็มีข้อท้วงติงว่า จะเรียกชุมชนบนโลกออนไลน์ว่า “ชุมชนเสมือน” คือ ไม่เหมือนจริง ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากผู้คนที่สนทนามีปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แล้วรู้ร้อนรู้หนาวในเรื่องเดียวกัน และรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้นร่วมกันก็สามารถนับเป็นชุมชนได้ เพียงแต่เป็นชุมชนที่ไม่มีสถานที่รองรับ

การที่ชุมชนบนโลกอินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเข้ากันได้ดีกับความเป็นปัจเจกนิยมของมนุษย์ในยุคสมัยใหม่ที่ทุกคนต่างต้องการเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง เพราะโลกออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเลือกชุมชนที่สอดคล้องกับความสนใจของตัวเอง ชุมชนบนโลกอินเทอร์เน็ตจึงเป็นชุมชนถูกทำให้สอดคล้องกับแต่ละคน (personalized community) ใครจะเป็นสมาชิกของชุมชนแฟนด้อมเกาหลี ชุมชนคนเล่นเกมส์ออนไลน์ ชุมชนคนชอบดูหนัง ฟังเพลงสไตล์เดียวกัน ชุมชนของคนเชียร์ฟุตบอลทีมเดียวกันที่อินกับการเชียร์ทีมฟุตบอลสโมสรต่างประเทศมากกว่าทีมสโมสรในประเทศเสียอีก และก็อินทั้งเสียใจและดีใจเมื่อทีมที่ตัวเองเชียร์แพ้หรือชนะ รวมถึงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทีมของตัวเอง นี่คือส่วนหนึ่งของการรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไร้สถานที่

มากกว่านั้น อินเทอร์เน็ต ทำให้คนเข้าถึงการสื่อสารได้ง่ายและทั่วถึงขึ้น คนชายขอบสามารถใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต “สื่อสาร” เรื่องราวของตัวเอง มองหาคนที่สนใจและเข้าใจพวกเขาได้ง่ายกว่าการไปแย่งชิงหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ที่มีแต่ผู้ใหญ่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้านผูกขาดการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตยังต่างจากการสื่อสารทางอื่นที่เป็นการสื่อสารทางเดียว เพราะเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถเป็นผู้ส่งสารได้ด้วย เมื่อเรื่องราวของเราถ่ายทอดลงบนชุมชนเสมือนจริงแล้วมีการโต้ตอบ ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนในยามสื่อสารออกไปแล้ว ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ตอบรับ

ผมถามนักศึกษาในชั้นเรียนว่า

ถ้าจะให้เลือกช่องทางเริ่มต้นพูดคุยกับคนไม่รู้จัก จะเลือกคุยกับคนในโลกออนไลน์ก่อน หรือคุยกับคนที่เห็นหน้ากันจริง ๆ ก่อน

พวกเขาตอบไปในทางเดียวกันว่า

เลือกคุยกับคนบนโลกออนไลน์ก่อน เหมือนค่อย ๆ เริ่มต้นบทสนทนา ถ้าคุยไม่ถูกคอก็หยุด ไม่เสียหาย ถ้าไว้วางใจหรือเห็นว่าถูกคอ จึงค่อย ๆ คุยกันรู้จักกันมากขึ้น แต่ถ้าเริ่มคุยกับคนที่ไม่รู้จักแบบ face to face เวลาไม่อยากจะสนทนาต่อก็จะตัดบทยากกว่า

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์สอดคล้องกับวิถีของคนเมืองที่มีลักษณะระแวดระวังมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ชุมชนบนโลกออนไลน์ที่เปิดกว้างให้ใครต่อใครสามารถมีส่วนร่วมได้ง่าย ก็มีข้ออ่อนเช่นกัน เพราะสายสัมพันธ์ของผู้คนบนชุมชนออนไลน์ไม่เหนียวแน่น กลายเป็นชุมชนของคนแปลกหน้า ไบรอัน เทอร์เนอร์ (Bryan Turner) นักสังคมวิทยาร่วมสมัย เรียกชุมชนบนโลกออนไลน์ว่า ชุมชนบางเบา (thin community)[i] คือเป็นชุมชนที่แต่ละคนต่างหวงแหนความเป็นปัจเจกของตัวเอง ไม่อยากสนิทกับใครง่าย ๆ จึงมีลักษณะชั่วคราว (ephemeral) มีพลวัตของสมาชิกสูง

นอกจากนี้ การปฏิสัมพันธ์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่อาจเข้าถึงความรู้สึกของคู่สนทนาเหมือนดังปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้า จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อรู้จักกันบนโลกเสมือนแล้ว หากสนิทกัน ก็ย่อมพัฒนาเป็นความสัมพันธ์แบบเห็นหน้าเห็นตัว โดยส่วนตัวผมเองก็ยังชอบการปฏิสัมพันธ์แบบ face to face มากกว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวง่าย ๆ คือ การไปเลือกดูหนังสือที่ร้านหนังสือ คุยกับคนขายหนังสือ ถามไถ่ถึงหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ รู้สึกมีชีวิตชีวามากกว่าการซื้อหนังสือออนไลน์

ชุมชนบนฐานของสถานที่ : ออกแบบได้ แต่ไม่เสมอไป

เนื่องด้วยชุมชนบนโลกออนไลน์ แม้จะมีข้อดีและตอบสนองความต้องการของคนจำนวนมากได้ แต่ก็มีข้อจำกัด เราจึงไม่อาจละเลยชุมชนบนฐานของสถานที่ได้ เลย์ลา มาฮมูดี ฟาราฮานี (Leila Mahmoudi Farahani)[ii] นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนบนฐานของสถานที่ เช่น ชุมชนในละแวกบ้าน (neighborhood) เพราะมีจุดแข็งที่ชุมชนไร้สถานที่ไม่อาจให้ได้ หากผู้คนรู้สึกมีความผูกพันกับชุมชน กับผู้คนในละแวกบ้าน จะให้ความรู้สึกปลอดภัย ความพึงพอใจถิ่นที่อยู่ ฯลฯ

ฟาราฮานีอธิบายว่า ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนนั้นมีระดับหรือดีกรีต่างกัน เวลาที่มีคนพูดว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้ ส่วนอีกคนพูดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น แต่ละคนอาจพูดถึงความรู้สึกต่อชุมชนในความหมายที่แตกต่างกัน โดยแจกแจงเป็น 4 ระดับ จากขอบเขตเล็ก ๆ ไปสู่ขอบเขตที่กว้างขึ้นจากระดับความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างกระชับไปสู่ระดับที่เบาบาง

ระดับแรก ความสัมพันธ์ของผู้คนแน่นกระชับที่สุด คือ มีความไว้วางใจและพึ่งพากันได้ (trust and dependency) เกิดขึ้นในพื้นที่ขนาดเล็กที่คนต่างมองเห็นและคุ้นเคยกัน ที่ชุมชนวัดดวงแข ซึ่งผมเคยลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านร่วมสองปี เห็นได้ชัดว่า คนในซอยย่อยจะสนิทในระดับที่พึ่งพากันได้ เช่น ฝากดูแลพ่อที่ป่วยติดเตียงได้ ฝากเงินให้จ่ายหนี้นอกระบบให้ได้ เพราะตัวเองต้องออกไปทำธุระ

ระดับที่สอง ความสัมพันธ์เป็นลักษณะมีความอดทนและมีความรับผิดชอบต่อกัน (tolerance and responsibility) ความสัมพันธ์ในระดับนี้ คือ ไม่ถึงขั้นพึ่งพากันแต่ก็ไม่รบกวนกัน หากมีการทำอะไรที่ไม่ถูกใจยังพอยอมรับอดทนกันได้

ระดับที่สาม ผู้คนตระหนักถึงกัน (recognize others) แต่ไม่ถึงกับมีปฏิสัมพันธ์กันลึกซึ้ง เจอหน้ากันก็อาจพยักหน้าให้กันบ้าง แต่ไม่เคยสนทนาพูดคุยกันโดยละเอียด แค่รู้ว่าเป็นคนชุมชนเดียวกัน ย่านเดียวกัน ซึ่งเป็นแง่บวก อย่างน้อยก็ รู้ว่าใครเป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาในละแวกบ้านของเรา

ระดับที่สี่ คือ ขอบเขตพื้นที่ที่คนรู้สึกสะดวกที่จะแฮงค์เอาท์ ไม่แปลกแยก (comfort and belonging) แม้จะไม่ได้พูดคุย แต่รู้สึกว่าตัวเองเข้ากับย่านที่มีบุคลิกแบบนี้

ดีกรีของความเป็นชุมชนที่ฟาราฮานีแจกแจงมาชวนคิดว่า แม้ชุมชนบนฐานของสถานที่จะมีความสำคัญแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะออกแบบสถานที่แล้วสร้างความเป็นชุมชนขึ้นมาได้โดยง่าย ดังที่เรามักจะเห็นว่า หมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งมักจัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สวนหย่อม พื้นที่ออกกำลังกาย ไปจนถึงสโมสร สระว่ายน้ำ แต่ก็ใช่ว่าผู้คนในหมู่บ้านจัดสรรนั้น ๆ จะรู้สึกถึงความเป็นชุมชนเดียวกัน อย่างหมู่บ้านที่ผมอยู่มีบ้านมากกว่า 400 หลัง แต่ผมกลับรู้จักคนในหมู่บ้านเดียวกัน แบบรู้จักชื่อมีไม่ถึง 5 หลัง (ระดับสอง) กับคนที่เคยเห็นหน้าพอพยักหน้าทักทายแต่ไม่รู้จักชื่ออีกประมาณ 10 คน (ระดับสาม) และไม่มีบ้านไหนที่สนิทระดับไว้วางใจพึ่งพากันได้ (ระดับหนึ่ง)

สิ่งที่นักออกแบบสามารถทำได้ คือ แค่ออกแบบสถานที่ที่ “เอื้อ” ให้คนมาปฏิสัมพันธ์กันเท่านั้น แต่จะมั่นใจว่ามีสถานที่แล้วจะเกิดชุมชนนั้นคงไม่ได้ เราเห็นสวนหย่อม สนามเด็กเล่นจำนวนไม่น้อยที่ถูกทิ้งร้าง เพราะไม่มีคนไปใช้ แต่ถึงกระนั้นการมีสวนหย่อม มีพื้นที่ส่วนกลางย่อมดีกว่าไม่มี แต่หลังจากที่คนมีโอกาสพบปะกันนั้นจะยกระดับการสนทนาไปได้แค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับความสนใจที่มีร่วมกัน

ผมถามนักศึกษาในชั้นเรียนที่โตในหมู่บ้านจัดสรรว่า รู้จักเพื่อนบ้านบ้างหรือไม่ พวกเธอตอบว่า ยังพอมีที่รู้จัก กันอยู่บ้าง เพราะสมัยเด็ก ๆ เคยเล่นด้วยกัน และถ้าเพื่อนวัยเดียวกันคนไหนเรียนที่เดียวกันหรือเรียนพิเศษที่เดียวกัน พ่อแม่ที่ไปรับไปส่งลูกก็จะค่อย ๆ พัฒนาความสัมพันธ์และรู้จักกันมากขึ้น ทำนองเดียวกัน แต่เดิมผมรู้จักเฉพาะเพื่อนบ้านที่อยู่รั้วติดกันเท่านั้นแต่ไม่รู้จักบ้านอื่นเลย ครั้นพอผมเริ่มจูงน้องซูโม่ไปวิ่งเล่นที่สวนหย่อม ก็เริ่มคุยกับคนที่พาน้องหมามาที่สวนหย่อมเหมือนกัน บทสนทนาจึงงอกเงยขึ้น

สองตัวอย่างข้างบนแสดงให้เห็นว่า ลำพังการมีบ้านอยู่ใกล้กันยังไม่พอที่จะทำให้คนปฏิสัมพันธ์กัน แต่ต้องมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการพบปะกัน และมากกว่านั้น ต้องพบปะคนที่มีความสนใจตรงกันการสนทนาจึงขยายต่อไปได้  แต่การคาดหวังถึงการพึ่งพากันในระดับฝากรับลูกรับหลาน สำหรับสังคมในหมู่บ้านจัดสรร สังคมเมืองยังต้องการการปฏิสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องและบ่อยครั้งก่อนจะไปถึงระดับนั้น

ท้ายที่สุด ผมอยากจะบอกอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนออนไลน์หรือชุมชนบนฐานของสถานที่ จะมีดีกรีเข้มข้นต่างกันอย่างไร แต่ท้ายที่สุดชุมชนทั้งสองแบบต่างก็ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่โหยหาชุมชน (hunger for community) เพราะไม่มีใครอยากแปลกแยกโดดเดี่ยวอยู่ตามลำพังในสังคมอันผันผวนวุ่นวาย


[i] Turner, Bryan. 2001. “Outline of a general theory of cultural citizenship”. In Culture and citizenship, Nick Stephen Z ed.). London: Sage. Pp 11-33.

[ii] Mahmoudi Farahani, Leila. 2016. “The value of the sense of community and neighboring”. Housing, theory and society33(3): 357-376.


บทความที่เกี่ยวข้อง