Welcome to Consent เพราะคำว่า ‘ไม่’ ก็สวยงามไม่แพ้กัน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่-

‘ไม่’ คำสั้น ๆ ที่พิมพ์ง่าย แต่ใครหลายคนไม่อาจพูดออกมาได้เต็มปากเต็มคำ แม้พวกเขาจะอยากพูดมันสักแค่ไหน เพราะ ‘ไม่’ ใช่ทุกครั้งที่การปฏิเสธคนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมกลุ่มนิยมอิงบริบทสูง พูดหนึ่งเป็นสอง พูดสองเป็นสาม ต้องคิดหน้าคิดหลังก่อนจะเอื้อนเอ่ยคำอะไรออกไป

แต่ใครจะรู้บ้างว่า คำว่า ‘ไม่’ นี่เอง ที่เป็นคำแสนทรงพลัง และไม่ได้สวยงามน้อยกว่าคำว่า ‘ใช่’ แม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าจะ ใช่ หรือ ไม่ ล้วนแต่สามารถสร้างความเข้าใจ และแสดงถึงความคิดและต้องการของเราในฐานะปัจเจกชนได้อย่างชัดเจน

Playread สัปดาห์นี้เราจึงขอชวนอ่าน Welcome to Consent : How to Say No, When to Say Yes and Everything in Between. หนังสือสี่สีเล่มหนาที่ชวนให้คนทุกวัยมาทำความรู้จักกับร้อยวิธีตอบตกลง พันวิธีบอกปฏิเสธ ด้วยฐานของเพื่อนเก่าที่เราไม่ค่อยพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาอย่าง ความยินยอมพร้อมใจ (consent) ผ่านภาพประกอบสุดน่ารัก เขียนโดย Melissa Kang และ Yumi Stynes

ชีวิตก็เหมือนทุ่งดอกไม้ ที่คำตอบมีทั้ง ‘ใช่’ ‘ไม่’ ‘ไม่แน่ใจ’ และอื่นใดระหว่างทาง

ความยินยอมฯ คือดอกไม้หลากสี

สังคมไทย – ไม่สิ หลายสังคมทั่วโลกที่ประกอบสร้างขึ้นโดยมนุษย์มักตีความและยึดโยงคำว่า ‘ความยินยอมพร้อมใจ’ หรือ ‘ความเต็มใจ’ เข้ากับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก แม้ความจริงแล้วการขอความยินยอมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้เพื่อนลอกการบ้าน การตัดสินใจไม่สวมชุดนักเรียนที่มีชื่อ-นามสกุลปักอยู่บนอก ตลอดจนการปฏิเสธแม่ค้าที่บอกว่า ‘คนสวยจ๋า เอาอีกสักสองไม้ไหมลูก ป้าขายจะหมดแล้ว’ อย่างหนักแน่น

เมื่อการขอความยินยอมพร้อมใจเกิดได้ตลอดเวลา บางครั้งเราเป็นผู้ให้ บางครั้งเราก็เป็นผู้เอ่ยคำถาม และในชีวิตก็มีคำตอบปะปนกัน หลากหลายมากกว่าสองขั้ว ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’ ไปไกลโข แต่ลำพังจะพูดคำสามัญอย่าง ‘ไม่’ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย เพราะบทสนทนาถึงเรื่องนี้แทบไม่ปรากฏให้เราได้รู้จักและฝึกฝนกันยามเติบโต

“ตอนเด็กที่บ้านสอนเราว่า อย่าให้ใครมาแตะเนื้อต้องตัวง่าย ๆ ยกเว้นกับญาตินะ (ขำ) เมื่อก่อนก็รู้สึกอึดอัด แต่ไม่ได้พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ และไม่รู้ว่าเราพูดได้ไหมเพราะเราเป็นเด็ก”

อเมทิส นักวาดอิสระ เล่าให้เราฟังว่า กว่าจะรู้จักการขอความยินยอมฯ ก็เมื่อโตเสียแล้ว ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองเสียด้วย เพราะตนไม่เคยมีประสบการณ์การจับเข่าคุยเรื่องนี้กับคนในครอบครัว ทั้งยังไม่รู้ว่าจะสามารถตั้งคำถามกับคำว่า ‘ไม่’ ที่ก่อตัวขึ้นในใจกับเหล่าผู้ใหญ่ได้หรือเปล่า จะมีก็เพียงแต่สุภาษิตสอนหญิงที่บรรดาคนโตกว่าพร่ำสอนว่า ‘เป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว’ โดยไม่ได้อธิบายอะไร ๆ ต่อ

แม้อเมทิสเป็นคนติดสกินชิพ แต่อเมทิสไม่ชอบให้ใครมาแตะตัวโดยที่ไม่ถาม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน สนิทเพียงใด หรือกระทั่งคนในครอบครัวเอง อเมทิสในวันนี้จึงขีดเส้นความยินยอมไว้ชัด ๆ พร้อมไฮไลท์สีสะท้อนแสงไว้ว่า ‘ไม่ว่าใครก็ต้องถามความยินยอมฯ ก่อนจะสัมผัสตัวฉัน’

“ถึงเราจะเป็นลูกของพ่อแม่เราตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะแตะเนื้อต้องตัวเราได้ตลอดเวลา คนรักก็เช่นกัน”

… แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งหรอกนะที่การขอความยินยอมฯ จะหน้าตาชัดเจน และบางครั้งคำตอบก็เอนไปทาง ‘ไม่แน่ใจ’ บ่อยกว่าไม่หรือใช่ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเอาเสียเลย เพราะความยินยอมหรือความเต็มใจในการทำอะไรสักอย่างนั้นควงแขนมาพร้อมกับเพื่อนสนิทอย่าง สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย (bodily autonomy) เสมอมา

ความยินยอมและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายอยู่คู่กันเสมอ เหมือนหยิน-หยาง พระจันทร์-ดวงดาว และข้าวเหนียว-ส้มตำ

ความยินยอมฯ คือความสุข

“ตอนแรกเรากับเขาวิดีโอคอลคุยกัน ถกนู่นถกนี่เป็นชั่วโมง พอประเด็นซีเรียสจบ เราอยากผ่อนคลาย สักพัก sexual tension เริ่มมา แต่เราไม่รู้จะพูดยังไง การสื่อสารคือกุญแจก็จริง แต่เราต้องมีศิลปะในการพูดด้วย เพราะการยินยอมไม่ใช่การตะล่อมให้เขาอยากมีเพศสัมพันธ์กับเราผ่านโทรศัพท์”

แอดมินกิฟท์ จาก @thepillowtalks อธิบายประสบการณ์คุยเสียวของตัวเอง โดยเล่าว่าความยินยอมพร้อมใจแรกที่เกิดขึ้นคือการคุยเสียวผ่านเสียง ขั้นต่อมาคืออยากเห็นเรือนร่าง แต่ตัวเองกลับรู้สึกอายและไม่มั่นใจขึ้นมา เป็นความรู้สึก ‘อยากนะแต่ยังไม่พร้อม’ และสิ่งที่อีกฝั่งทำคือ รอ รอแบบไม่ให้กิฟท์รู้สึกว่าต้องรีบ เพราะกลัวว่าเขาจะหมดอารมณ์ 

“เราโคตรมีความสุข เพราะคอนเซนท์คือความพิเศษ มันทำให้เกิดความเชื่อใจ ความปลอดภัย ประกอบสร้างหลายอย่างที่รับประกันว่า ทั้งสองฝ่ายมีความสุข เรารู้สึกเติมเต็ม มีพลัง ฉันผ่านสิ่ง ๆ นี้ไปแล้วมีคนเคารพฉัน และฉันเคารพเขา เราเกิดความเชื่อใจกันและกัน เป็นความมั่นคงทางจิตใจด้วย”

นี่คือการเคารพความยินยอมฯ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของกันและกันที่เกิดขึ้น โดยเราต่างต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีความยินยอมใดเป็นแพคเกจเหมาจ่าย การไปเดท ≠ ยอมให้จูบกอดได้ / การมีเพศสัมพันธ์ ≠ อนุญาตให้ตั้งกล้องถ่ายโดยไม่ต้องขอ หรือถ้าถ่ายได้ ≠ ยินยอมให้เผยแพร่อยู่ดี

นอกจากนี้ความยินยอมพร้อมใจสามารถเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ เพราะเราต่างเป็นบอสของร่างกายตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไร เพศใด เชื้อชาติไหน หรือมีร่างกายแบบใด หาใช่ใครอื่น

… แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งหรอกนะที่เราจะรู้สึกเป็นนายตัวเอง  เพราะโลกนี้เต็มไปด้วย ความต่างของอำนาจ (power dynamics) ผ่านสถานะทางสังคมต่าง ๆ ระหว่างบุคคลหนึ่งและบุคคลหนึ่ง ก่อเกิดเป็น ความไม่สมดุลทางอำนาจ (power imbalance) ที่ทำให้ใครหลายคนไม่อาจเปล่งเสียงความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยากมากเพียงใดก็ตาม

แม้จะเป็นไดโนเสาร์เหมือนกันแต่ก็ไม่เหมือนกันหรอกนะ เขาทั้งตัวใหญ่กว่า แรงเยอะกว่า แถมยังดังในหมู่มนุษย์มากกว่าด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นไดโนเสาร์น้อยกว่าสักหน่อย

ความยินยอมฯ คืออำนาจ

คุณครู – นักเรียน

หัวหน้า – ลูกน้อง

ลูกค้า – พนักงานขาย

รัฐบาล – ประชาชน

ความสัมพันธ์เหล่านี้ต่างเป็นความสัมพันธ์ที่มีความแตกต่างทางอำนาจอย่างชัดเจน บางครั้งเราคือคนที่อยู่ในสถานะที่มีอำนาจต่ำกว่า และบางครั้งเราก็เป็นคนกุมบังเหียนอำนาจนั้นเสียเอง

ครั้งหนึ่งเราเคยเป็นวิทยากรสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศในห้องเรียน วิชาพลวัตในสังคมโลก และประเด็นทางสังคม ในคลาสนั้นเต็มไปด้วยนักศึกษาปี 1 ที่ยังรู้จักเพื่อนในสาขากันเองยังไม่ครบเสียด้วยซ้ำ ซึ่งมีกิจกรรมหนึ่งที่ทีมงานจะแปะเทปสองขั้วไว้ที่พื้น ให้ผู้เรียนเลือกยืนตามคำตอบและความสบายใจของตัวเอง เช่น เพศกำเนิดชาย-เพศกำเนิดหญิง แรงดึงดูดเพศตรงข้าม-แรงดึงดูดเพศเดียวกัน

และนั่นคือวินาทีที่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งกระทุ้งแขน หยอกล้อเสียงดังให้เพื่อนของตัวเองเดินไปอยู่ฝั่งมีแรงดึงดูดเพศเดียวกัน จนทำให้เพื่อนร่วมคลาสคนอื่น ๆ เริ่มหันไปมองตาขวาง สิ่งที่เราทำได้ในฐานะคนที่มีอำนาจมากกว่าในห้องนั้นจึงสามารถหยุดการกระทำนั้นเสียผ่านการตักเตือนผ่านไมค์ในมือ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักศึกษาคนอื่น ผ่านการส่งสายตาเข้าใจมาให้ เป็นสายตารู้กันแม้ไม่ได้ปริปากพูดอะไรออกมา…

นอกจากนี้บางอำนาจอาจดูไม่เหมือนว่าจะมีพิษมีภัยเสียเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น ศิลปิน-แฟนคลับ หรือเปรียบเทียบแบบใกล้ตัวมากขึ้นก็อาจเป็นคนดัง-คนทั่วไป แต่เล็กจนโต คงมีหลายครั้งที่เราไม่อยากมีปัญหากับคนที่เป็นที่รู้จัก นั่นก็เพราะอำนาจที่มาพร้อมกับชื่อเสียงยังไงล่ะ

ถึงจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายแล้วโลกนี้ก็สลับซับซ้อนเสียเหลือเกิน หลายครั้งเราทุกคนต่างเคยอยู่ในสถานะที่ไม่อาจเปลี่ยนขั้วอำนาจได้ หรือแม้แต่ลบความแตกต่างนี้ออกไปจนกลายเป็นพื้นที่แห่งอำนาจเท่า แต่นั่นไม่ได้หมายความเราต้องจำนนหากมีการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง อันละเมิดเส้นความยินยอมภายในใจเรา

ดังนั้นเราจึงดีใจที่ได้ค้นพบหนังสือเล่มนี้ เพราะแม้ว่าแนวคิดเรื่องการยินยอมพร้อมใจจะถูกพูดถึงเรื่อยมา แต่กลับมีตัวอย่างสถานการณ์จำกัด ไม่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันเสียเท่าไร แม้การเรียนรู้เรื่องความยินยอมและอำนาจภายในคือสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรตระหนัก เพื่อให้เรารู้สิทธิและอาณาเขตของตัวตน (boundary) ของตนเองและเพื่อนมนุษย์คนอื่น 

และหวังว่าสักวัน คำว่า ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ของคุณ จะได้รับการโอบกอดไม่ต่างกับคำว่า ใช่ นะ :))

ภาพโดย อรวรา เทพานนท์

หนังสือ: Welcome to Consent : How to Say No, When to Say Yes and Everything in Between.
นักเขียน: Melissa Kang และ Yumi Stynes
สำนักพิมพ์: Hardie Grant Children’s Publishing

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี