ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมาผมได้ตั้งประเด็นการถกเถียงในห้องเรียนวิชา รัฐสวัสดิการ มีนักศึกษาคนหนึ่งได้ตั้งประเด็นเรื่อง รัฐสวัสดิการกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ การนำเสนอของเธอน่าสนใจผมขอหยิบยกประเด็นมาขยายต่อได้ดังนี้
“เรามักกังวลกับสภาพสังคมผู้สูงอายุ ว่าต่อไปอนาคตถ้าผู้สูงอายุมากขึ้นและเด็กเกิดน้อยลงจะทำให้สังคมอาจถึงจุดจบได้”
นักศึกษาเริ่มต้นการนำเสนอ
“สุดท้ายรัฐบาลก็เริ่มหมกมุ่น กับการทำอย่างไรให้คนมีลูก เหมือนเรากลับไปยุคเกษตรกรรม ที่เรากลัวไม่มีคนทำงานเลี้ยงคนแก่ ทั้ง ๆ ที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วอย่างมากมาย”
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเราก็พบว่า มีหลายประเทศที่พยายามแก้ไขประชากรเกิดน้อย ดังเช่นในกรณีประเทศญี่ปุ่น โดยการเพิ่มสวัสดิการเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งดูแล้วในภาพรวมก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะทัศนคติว่าด้วยการมีลูกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นตัวกำหนดเสียทีเดียว
หรือหากพิจารณาอีกด้านก็จะพบว่าแม้ประเทศรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ตั้งแต่เกิดจนตาย สวัสดิการด้านการลาคลอดดี เลี้ยงดูเด็กดี ไม่ว่าในสวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เราก็จะพบว่าอัตราเกิดก็ลดลงแม้จะมีระบบสวัสดิการดี ดังนั้นถึงแม้ว่าระบบสวัสดิการที่ดีจะทำให้การเลี้ยงลูกคนหนึ่งง่ายขึ้น และมีความสุขมากขึ้น เด็กเติบโตได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น แต่เรื่องการมีลูกก็ซับซ้อนมากกว่าเรื่องทางเศรษฐกิจ เมื่อสังคมเปิดกว้างมากขึ้น การมีลูกก็ช้าลง หรือหลายความสัมพันธ์ก็สามารถสมบูรณ์ได้ โดยไม่ต้องมีลูก ขณะเดียวกันแรงจูงใจในการมีลูกเพื่อดูแลยามแก่ชรา ก็ดูไม่ใช่ค่านิยมในปัจจุบัน การเติบโตของสื่อออนไลน์ก็ทำให้ค่านิยมความสัมพันธ์ที่หลากหลาย และการรับรู้ทางเลือกของชีวิต
ในแง่ปัจเจกชน “การไม่มีลูก” จึงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายมาหลายทศวรรษแล้ว
แต่ในแง่ของ “สังคม” มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายหรือไม่กับการที่คนเกิดน้อยและคนแก่มาก จนถึงขั้นต้องกระตุ้นให้คนมีลูกขึ้นมาทดแทน
ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวมาได้หลายปีแล้ว และเรากังวลว่า เราจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะแก่ก่อนรวย หรือเอาเข้าจริง เรากังวลไปหมดว่าสังคมเราจะล่มสลายและไม่มีคนทำงาน
ความเป็นจริงแล้วสังคมเรามีความสมดุลมากกว่านั้น เราอย่าลืมว่าเทคโนโลยีและผลิตภาพพัฒนาขึ้นอย่างมาก อันหมายความว่า การทำงานด้วยหน่วยเวลาแบบเดียวกันอาจสร้างมูลค่าได้เป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับการทำงานลักษณะเดียวกันเมื่อยี่สิบปีก่อน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำงานของแรงงานในปี 2023 แรงงาน 1 คน ก็สามารถเทียบเท่ากับแรงงาน 2-3 คนในปี 2023 สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เกี่ยวกับความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานได้ดีกว่าคนรุ่นก่อน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางสังคม ทักษะการทำงานที่หลากหลายทักษะ (Multi-Task) รวมถึงทักษะการวิเคราะห์ที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน
ดังนั้น การที่ประชากรในแต่ละวัยไม่สมดุลกันก็นับเป็นเรื่องปกติที่ในแง่ประชากรก็จะเข้าสู่ความสมดุลในไม่ช้า แต่ในสังคมที่เด็กเกิดน้อย หรือเกิดช้า นักศึกษาในวิชารัฐสวัสดิการที่ผมสอนก็ช่วยวิเคราะห์ต่อว่า มันก็ไม่ได้เป็นผลแย่เสมอไปในสังคมที่เด็กเกิดน้อยลง ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1.เมื่อคู่สมรสมีบุตรช้าหรือน้อยลงลง ก็มีผลดีเช่นความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ ความพร้อมทางอารมณ์การวางแผนครอบครัว ซึ่งทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถเติบโตได้ผ่านเงื่อนไขที่มีความเสี่ยงน้อยลงต่อความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อความคาดหวังต่อการที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดูกลับน้อยลง
2.สำหรับผู้ที่ไม่มีบุตร งานวิจัยหลายชิ้นก็ยืนยันว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนวัยกลางคนที่ไม่มีบุตร จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนงาน การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่าง ๆ ดังนั้น แม้จะไม่มีส่วนในการสร้างพลเมืองในทางชีวภาพ แต่ผู้คนที่ไม่มีบุตรก็มีส่วนร่วมต่อการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับกลุ่มอื่น ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าทางสังคมที่แตกต่าง และอาจสูงขึ้น
3.ทางออกสำคัญอาจไม่ใช่ที่การพยายามกระตุ้นให้คนมีบุตร เพราะการมีลูกเป็นทางเลือกของแต่ละครอบครัวที่ไม่ใช่สถานการณ์บังคับหรือหน้าที่ แต่หัวใจสำคัญคือการทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีล้นเหลือในประเทศนี้ไหลลงสู่คนที่ใช้ชีวิตในสังคมเป็นสวัสดิการพื้นฐาน สำหรับคนทุกวัย เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับคนทุกคนในสังคมก็จะทำให้ผลิตภาพในสังคมสูงมากพอที่จะเลี้ยงดูผู้คนในสังคมต่อไป
ปัญหาสำคัญตอนนี้จึง ไม่ใช่เด็กน้อย หรือคนแก่เยอะ แต่เรามีคนรวยส่วนน้อยที่ถือครองทรัพยากรมากเกินไป และมีคนส่วนมากในสังคมที่แทบไม่มีทรัพยากรอะไรเลยแม้พวกเขาจะทำงานหนักมากมาย การกระจายทรัพยากรและสร้างรัฐสวัสดิการ จะเป็นคำตอบสำคัญของความกังวลต่อความไม่สมดุลของประชากรแต่ละช่วงวัยที่เป็นลักษณะชั่วคราวที่เราจะสามารถผ่านไปได้ด้วยการดูแลทุกคนให้ปลอดภัยอย่างเท่าเทียม