ซอฟต์พาวเวอร์ในบรรพกาล - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

ซอฟต์พาวเวอร์คือการทำให้คนทำตามที่เราต้องการโดยไม่ใช้กำลังบังคับ และหนึ่งในวิธีการที่ใช้คือการสร้างการรับรู้และแรงโน้มน้าวโดยไม่พูดบอกออกมาตรง ๆ แต่แทรกบอกซ่อนในธรรมเนียมปฏิบัติ มารยาท ศิลปะ วิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นวิธีการสอนและหล่อหลอมคนแบบโบราณที่ได้รับนิยมในเอเซียมายาวนาน

พอเห็นรัฐบาลที่ผ่านมาและรัฐบาลนี้ออกอาการตื่นซอฟต์พาวเวอร์กันอย่างหนักก็เลยพานนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา และชวนคุยเล่นว่าอะไรเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ว๊าวแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ’ความดี’ ในภาษาจีน รูปอักษรจะประกอบขึ้นจากอักษรสองตัว …‘ผู้หญิง’ และ ’เด็ก’ ไม่แต่แค่นั้น หากมองตัวอักษรเก่าที่คลี่คลายมาจากอักษรภาพก็จะเป็นภาพเด็กอยู่ในอ้อมกอดผู้หญิงด้วย แปลว่าความดีคือแม่และลูก แปลลึกลงไปอีก…ความดีคือความรักที่ปราศจากเงื่อนไข

หรือแปลให้กว้างออกไป ความดีคือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน

จะเห็นว่าอักษรตัวนี้ยังนำมีการโน้มน้าวทางอ้อมแฝงมาด้วย นั่นคือแม่และลูกอยู่ด้วยกันนั่นคือความดี หรือการแยกแม่และลูกจากกันจะทำให้ความดีสลาย รวมถึงการได้เป็นแม่คือความดีหรือถือเป็นการกระทำดี หากมองข้ามแง่คิดที่มองผู้หญิงเป็นแค่โรงงานผลิตลูกแบบโบราณว่าเป็นการด้อยค่าผู้หญิง ก็จะเห็นความพยายามส่งเสริมการสร้างครอบครัวใหญ่ในนี้ด้วย ด้วยว่าแรงงานสำคัญในสังคมบรรพกาลคือแรงงานของสมาชิกในครอบครัว

อีกคำที่ชอบคือคำว่า ’ความปรองดอง’ หรือ ’สันติสุข’ ซึ่งก็เช่นกันประกอบขึ้นจากตัวอักษรสองตัว … ‘ปาก’ และ ’ข้าว’ อักษรนี้จึงให้ภาพว่าสันติสุขจะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีข้าวในปาก ในคำ ๆ เดียวอักษรตัวเดียวยังสอนคุณธรรม ปรัชญาและการปกครองไปด้วยในตัว ว่าหากปล่อยให้ประชาชนหิวโหยและอดอยากก็จะไม่ใช่ ไม่มีสันติสุข หรือพูดง่าย ๆ คือเกิดสงครามความขัดแย้งนั่นเอง

หากใครเคยไปวัดอินเดียก็จะพบว่าเมื่อไหว้สักการะเทพเสร็จ พระที่ยืนรออยู่แล้วข้างแท่นบูชาจะคอยเจิมหน้าผากด้วยผงเครื่องหอมพร้อมกับบริกรรมมนต์สั้น ๆ ให้พรผู้มาสักการะด้วย ศาสนาฮินดูเชื่อว่าตรงกึ่งกลางหน้าผากนั้นคือที่สถิตย์ของดวงตาที่สาม อันนอกจากเป็นดวงตาแห่งการตระหนักรู้ ที่คนจะมองเห็นสัจธรรมแล้ว ยังถือว่าดวงตาล่องหนนี้ยังเป็นอนาคตอีกโสตด้วย โดยนับว่าดวงตาซ้ายคืออดีต ดวงตาขวาคือปัจจุบัน ดวงตาที่สามกลางหน้าผากคือ อนาคต

ทีนี้เมื่อพระเจิมดวงตาที่สามมันจึงเป็นการบ่งด้วยว่าพระและเทพตอบแทนการสักการะของเราด้วยการช่วยให้เราเข้าใจสัจธรรม หรือนัยหนึ่งใช้นิ้วกดปุ่มให้ดวงตาที่สามของเราทำงาน รวมทั้งยังบอกว่าอนาคตของเราอยู่ในมือเทพหรือพระเจ้า เราได้รับพรและจะมีชีวิตที่ดีซึ่งถูกกำหนดโดยพระซึ่งเป็นตัวแทนของเทพและพระเจ้า

หรือการที่ผู้สักการะจะเอามือวักควันที่รวยรินเหนือกำยานเครื่องหอมในอากาศสาดใส่ตัว …ประหนึ่งอาบ ก็เป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างตัวเองให้บริสุทธิ์ด้วยการสักการะเทพ

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเทพฮินดู คือการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนหรือปฏิมากรรมรูปสลัก…เทพฮินดูจะปรากฏพร้อมกับสัตว์ประจำตัวอยู่เสมอ สิ่งนี้สื่อว่าพลังของเทพคือพลังของสัตว์ต่าง ๆ นอกจากทำให้มนุษย์รู้สึกต่ำต้อยถ่อมตนลง นี่ยังสอนให้เราเคารพการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสรรพสัตว์และธรรมชาติ

โดยเฉพาะพระพิฆเนศได้รับความนิยมสูงสุดจากคนทั้งโลก และถือเป็นเทพแห่งสติปัญญานี่ถึงกับรวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกับสัตว์เลยทีเดียว โดยมีร่างกายของมนุษย์และมีเศียรเป็นช้าง ซึ่งไม่แค่ยกย่องช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่มีสมองใหญ่กว่ามนุษย์เป็นตัวแทนของปัญญา แต่การเลือกรวมร่างกับสัตว์บกมีขนาดใหญ่ที่สุด และเลือกสัตว์ประจำองค์เป็นหนูตัวน้อย ยังบอกเป็นนัยด้วยว่า สติปัญญาคือการเข้าใจถึงพลังของด้านสองด้าน ใหญ่และเล็ก เข้มแข็งและอ่อนด้อย ดีและชั่ว

ในทางพุทธ ข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของสงฆ์ก็เช่นกัน อย่างการปลงผมและคิ้วก็ไม่ได้มีนัยยะแค่การสละความงามอย่างที่เราเข้าใจกันเท่านั้น เนื่องจากทั้งผมและคิ้วยังมีหน้าที่ปกป้องหัวและดวงตาด้วย การปลงผมและคิ้วจึงไม่เพียงแต่เป็นการปลดทิ้งสิ่งที่ปกปิดดวงตาและปัญญาไม่ให้มองเห็นเข้าใจธรรมมะออกไป หากยังหมายความถึงการสละกลไกปกป้องตัวลงด้วย …นั่นคือทำให้ผู้บวชตระหนักในการดำรงอยู่ในสภาพที่สิ้นไร้อย่างที่สุด

ความสิ้นไร้เป็นหนึ่งในหัวใจของศาสนาพุทธ

ในตอนแรกเริ่มเมื่อพุทธศาสนาก่อเกิดในประเทศอินเดีย  สบงจีวรต่าง ๆ จะไม่ใช้ผ้าใหม่ แต่จะใช้ผ้าห่อศพที่ถูกทิ้งตามที่ป่าเขาถนนหนทางเอามาซักทำความสะอาดและย้อมทำเป็นเครื่องนุ่งห่มสงฆ์

อาหารก็ห้ามไม่ให้ปลูกและหาทำกินเอง แต่ให้ออกบิณฑบาทขอชาวบ้านเอา …ทำตัวเป็นประหนึ่งขอทาน การขอจากคนอื่นเป็นสิ่งแรกของวันทุกวัน ได้อะไรมาก็ต้องรับ  ชอบหรือไม่ชอบก็ไม่สามารถเลือกฉันได้ คือการทำให้สงฆ์ตระหนักในความสิ้นไร้และต่ำต้อยของตน เป็นกลไกปฏิบัติแห่งการวางอัตตาความทะนงตนและกิเลสของผู้ละทางโลกอันเต็มไปด้วยมายาปรุงแต่งลง และนอกเหนือจากบังคับให้พระออกกำลังกายด้วยการเดินทุกเช้า ยังช่วยให้สงฆ์ยึดมั่นในพระวินัยด้วย เพราะหากไม่อยู่ในสำรวม หรือทำตัวไม่เป็นที่น่านับถือเช่นผิดศีลและข้อกำหนดต่าง ๆ ประชาชนเสื่อมศรัทธาก็จะไม่ใส่บาตรให้อาหาร

ขณะเดียวกันนี่เป็นการสอนธรรมให้กับญาติโยมโดยไม่สอนไปในตัว ผู้ศรัทธาตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่ทำคือเตรียมของใส่บาตรให้พระซึ่งจะออกบิณฑบาตรแต่เช้าตรู่ นี่คือการให้ผู้อื่นกินก่อน คือทำนุธรรมะพระศาสนาก่อน คือให้ก่อน ก่อนจะรับ ก่อนจะทำมาหากินเลี้ยงชีพตน คือการสอนให้นึกถึงผู้อื่นและธรรมะก่อนนึกถึงตนเองและความต้องการจำเป็นของตัวเอง ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับพรจากพระเป็นการเริ่มต้นวัน วันนั้นจะประกอบกรรมชั่วได้อย่างไร

แม้แต่ทางศาสนา ธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปก็เป็นการสร้างการตระหนักและเข้าใจในธรรมะด้วย อย่างการตั้งศพทำบุญร้อยวันในบ้านสมัยก่อน ก็เป็นรูปธรรมการสอนญาติโยมให้มองเห็นความอนิจจังเช่นกัน

หรือการทักทายในภาษาไทยของเราที่ใช้คำว่า ’สวัสดี’  อันแปลว่าดี งาม เจริญรุ่งเรือง คำคำนี้ไม่ได้เป็นแค่คำทักทายเฉย ๆ แบบเรียกชื่อ สรรพนามหรือส่งเสียงแบบเฮ้หรือเฮ้ย แต่ยังเป็นคำอวยพร ยังเป็นการแสดงความปรารถนาดีที่จะเห็นอีกฝ่ายมีชีวิตที่ดีด้วย เป็นสิ่งแรกสิ่งเริ่มของการปฏิสัมพันธ์ รวมทั้งเผยแพร่แก่นธรรมของพุทธศาสนา อันคือการแผ่เมตตาหรือต้องการเห็นคนอื่นอยู่ดีมีสุขไปด้วยในตัว

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือการสอนดนตรีไทย สมัยก่อนหากใครอยากเรียนดนตรีไทย ก็จะไปเรียนกับครูดนตรีซึ่งเป็นศิลปินชิ้นนั้น ๆ เป็นธรรมเนียมทั่วไปที่ครูจะเอาเด็กมาอยู่เป็นคนรับใช้ในบ้าน นานเป็นปีทีเดียวถึงจะให้จับเครื่องดนตรีและเรียน ทนไม่ไหวลากลับไปไม่ได้เรียนก็เยอะ ซึ่งนอกจากจะลดอัตตาคนลงให้พร้อมต่อการเรียนรู้ ยังฝึกให้มีความอดทนมุ่งมั่นด้วย

ที่สำคัญคือ ในระหว่างปีของการตักน้ำเช็ดถูล้างจานในบ้านครู เด็กจะได้ยินเสียงเพลงที่ครูซ้อมเล่นตลอดเวลา นี่คือการฝึกฟังซึ่งสำคัญมาก จะเล่นได้ต้องอ่านเสียงและโครงสร้างแตกฉาน ซึ่งทำได้ด้วยการฟังเท่านั้น พอมาได้จับเครื่องดนตรี โครงสร้างของดนตรีจะจารึกในสมองไปเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือฝึกกล้ามเนื้อมือ ปอด ขึ้นอยู่ว่าเล่นชิ้นไหน

จะเห็นว่ากุศโลบายโบราณ ไม่เพียงแต่สนใจการโน้มน้าวแบบซอฟต์ ๆ ไม่ใช้กำลัง ยังโน้มน้าวโดยไม่โน้มนาว สอนโดยไม่สอนลงไปอีกชั้น หล่อหลอมคนโดยไม่รู้ตัวด้วยการซ่อนแก่นสารสัจธรรมเอาไว้ในวิถีปฏิบัติประจำวัน ซึ่งเป็นอะไรที่ฉลาดมาก

จะเรียกว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมของซอฟต์พาวเวอร์ก็ยังได้

ครูและรัฐบาลควรให้ความสนใจมากกว่านี้ ไหน ๆ ก็โบราณและชอบความโบราณกันอยู่แล้ว ก็ควรกระเทาะแก่นวัฒนธรรมดู หาวาระและนัยยะซ่อนเร้น พิจารณาว่ามันทำงานอย่างไร แทนที่จะมุ่งมั่นยัดเยียดอะไรโต้ง ๆ ทื่อ ๆ ตื้น ๆ อย่างบื้อ ๆ โท่ง ๆ

กลับเอาแต่พยายามแปะสินค้าไทย ๆ พ่วงไปกับคนดัง  และตู่ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์เปรอะไปหมด

…การกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีของมิลลิ หรือการนุ่งผ้าไทยและถือบัตรประชาชนไทยของลิซ่าเป็นแค่การขายสินค้าพ่วง ยังไม่ใช่อำนาจหรือพาวเวอร์