ไม่ว่าใครหรือช่วงเวลาใด เราต่างเคยออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ความน่าสนใจของหนังสือการ์ตูนสักเล่มอยู่ที่ตรงไหน?

เป็นเพราะลายเส้นที่ดุดัน แอคชั่นสมจริง สื่ออารมณ์ได้เสมือนภาพเคลื่อนไหว

เป็นเพราะเสียงเอฟเฟค ‘ตู้มมม’ ‘ชิ้ง’ ‘คุคุคุคุคุ’ ตัวอักษรที่ส่งเสียงดังราวกับมีใครต่อลำโพงไว้

หรือเป็นเพราะความทะเยอทะยานของตัวเอก การดำเนินเรื่องแบบ zero to hero ที่ทำให้ผู้อ่านลุ้นตามแม้จะต้องรอตอนสุดท้ายนานนับสิบปี

แต่สำหรับ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ของ สะอาด กลับซ้อนภาพของใครบางคน บ้างก็สนิท บ้างก็ห่างเหิน แต่ล้วนเป็นคนที่พบเจอในชีวิตประจำวัน และหลายครั้งคราบน้ำหมึกในช่องสี่เหลี่ยมบนกระดาษของเขา ก็มีภาพของคนอ่านบนแอ่งน้ำสะท้อนอยู่

5 เรื่องแต่งของสะอาดที่เห็นภาพทับซ้อนของผู้คนในชีวิตจริงทั้งคงอยู่ ผ่านมา และหล่นหาย

การ์ตูนกลิ่นโชเน็นที่ตัวดำเนินเรื่องคือมนุษย์ช้ำชีวิต เรื่องราวของเหล่าผู้คนในสังคม ผู้ที่ต่างก็ค้นหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิต บ้างก็ค้นหาความฝัน บ้างก็ค้นหาความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งบางคนก็ค้นหาเสียงของตัวเอง

โปรดฟังระหว่างตามหาเสียงของตัวเอง

ร็อคสตาร์หยองกรอดกับมุข(ตุบ) ตับคณะแซ่บอีหลี

ความฝันแรกในชีวิตของผมเมื่อตอน ป.5 คือการได้เป็นร็อคสตาร์ ไม่ต่างจากหมาย นักร้องนำวงหยองกรอดจากตอน รส และความฝันถัดมาเมื่อขึ้น ม.1 คือผมอยากเป็นซุปตาร์ตลกคาเฟ่ เหมือนกับห้อย นักเรียนชั้นประถมในตอนยุทธการฮากลิ้งถล่มปฐพีพิฆาต

การ์ตูนใน 2 ตอนในเล่มทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงความฝันเก่า ๆ เปรอะฝุ่นที่มีเพื่อนอีก 2 คนคอยร่วมฝันด้วยกัน คนหนึ่งชื่อภู ปัจจุบันกำลังสำเร็จการศึกษาจากดุริยางค์ มหิดลฯ ส่วนอีกคนชื่อบิ๊ก ปัจจุบันเป็น HR อยู่บริษัทชั้นนำแห่งหนึ่ง

ภูไม่ต่างจากสมาชิกวงหยองกรอดที่คอยเชียร์หมายให้กินพิซซ่าหน้าปูปลาร้าของเจ๊น้อยให้หมดเพราะจะได้เงินรางวัลไปซื้อกีต้าร์ตัวใหม่ เพื่ออัพเกรดวงให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ในช่วงบ่ายของวันเมื่อตอนประถม ผมจะต้องไปซ้อมดนตรี และถึงแม้ผมจะอยากเป็นมือโซโล่กีต้าร์แค่ไหนแต่ผมสังกัดอยู่วงโยธวาฑิต เป่าคลาริเน็ต ทุก ๆ วันสิ่งที่ผมทำได้คือเป็นคนคอยถือฉาบให้กับภูเพื่อที่มันจะได้ตีกลองชุดที่สร้างจากกลองแต็กและกลองใหญ่ และมีผมคอยร้องเพลงเพี้ยน ๆ พอเป็นจังหวะให้รู้สึกว่าร็อคสตาร์สมัยเด็กเขาก็ฝึกกันอย่างนี้แหละ

ผมฟังเพลงเท่าที่จะหาโหลดได้จาก 4shared ซึ่งช่วงวัยของผมโตมากับวง poprock ไทยขึ้นชื่ออย่าง Clash, Bodyslam หรือ Potato พูดอีกนัยหนึ่ง ผมโตมากับความฝันทุนนิยมผ่านวงร็อคเหล่านี้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ชีวิตเป็นของเรา จงตามหาความฝันและลงมือทำมันซะ

จนรู้ตัวอีกที ผมเข้าเรียนเอกวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านท่าพระจันทร์และภูเข้าเรียนวิศวะอย่างที่พ่อมันอยากให้เป็น ก่อนจะสไตรค์ตามหาความฝันด้วยการกินเหล้าจนเกรดรวมเหลือแค่ 1.5 ตั้งแต่ปี 1 เทอม 1

ความฝันในวัย ม.1 ของผมดับสลายลงพอ ๆ กับห้อย กับคำถามในคาบภาษาไทยว่าผมอยากเป็นอะไร แม้การกระทำของผมจะไม่โฉ่งฉ่างเท่า แต่ผมตอบคุณครูไปอย่างชัดเจน ว่าผมอยากเป็นตลกเหมือนน้าค่อม อยากไปเล่นตลกคาเฟ่ในยุคที่คาเฟ่แบบนั้นตายไปหมดแล้ว

จนกระทั่งชั้นปีที่ 1 บิ๊กเข้ามาในชีวิตผม เพื่อนคนนี้เป็นคนตลกเข้าเส้น ที่สำคัญเล่นมุขตับได้อีกด้วย รับส่งจังหวะเข้าขากันได้อย่างดี ช่วงหนึ่งเราเสพมุขจนเข้าเส้น ขนาดที่ว่าปิดเสียงและเปิดฉากน้าค่อมเล่นเป็นคนตาบอดในน้ำ ผีนองสยองขวัญ ได้เหมือนกระทั่งจังหวะหายใจ แม้จะดันทุรังสมัครเป็นตลกฝึกหัดในรายการบริษัทฮาไม่จำกัด แต่สุดท้ายทุนนิยมไม่เรียกฮา แต่เรียกหาความมั่นคงในชีวิตไปเสียก่อน

ทั้งหมายและห้อยมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันกับเพื่อน ๆ ผม คือเมื่อตั้งใจว่าจะเป็นอะไรแล้วต่างก็ฝึกฝนเอาตาย เมื่อหมายท้อแท้กับการแข่งกินพิซซ่าปูปลาร้าของเจ๊น้อย เพื่อน ๆ ก็บอกให้นึกถึงความยากลำบากในการฝึกกีต้าร์ที่ผ่านมา เป็นนัยว่าอาหารหมาไม่รับประทานแค่นี้เทียบไม่ได้กับการฝึกฝนอันหนักหน่วง รวมถึงการเป็นตลกสังขาร(ตลกเจ็บตัว) ของห้อยตามแบบฉบับของคณะแซ่บอีหลี ที่ชีวิตตลกชื่อดังมักจะตกอับมาก่อน ห้อยเป็นเด็กธรรมดาแต่กลับต้องพาชีวิตให้รันทดเพื่อที่จะเล่นตลกได้คม เข้าถึงแก่นของมุข เพื่อจะให้เพลง สาวร่วมห้องประทับใจ

แต่ ความฝันที่หล่อเลี้ยงเรา เคยทำร้ายเราหรือคนรอบตัวบ้างหรือเปล่า

“บอกตามตรง ผมไม่เคยเห็นใครแดกพิซซ่าได้น่าเวทนาขนาดนั้นมาก่อน

เห็นพี่สภาพนั้นแล้วผมถึงกับถามตัวเองเลยว่ะ ว่าถ้าผมจริงจังกับดนตรีโคตร ๆ ต่อไปผมจะร้องไห้กระจองอแงกับดนตรีแบบพี่หรือเปล่า”
หมายถามศรีพร หญิงสาวที่หลังจากโดนทิ้งเพราะกินเยอะ ก็พึ่งเข้าใจว่าการกินเป็นความสุขอย่างเดียวที่แท้จริงของเธอ

หลายครั้งที่ทางแยกระหว่างความฝันกับความจริง ผมเคยนึกถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าถ้าหากผมยังดันทุรังไปต่อ ผมมีโอกาสจะได้ไปเป็นร็อคเกอร์กับเขาบ้างไหม หรือผมจะได้เป็นรับเชิญในรายการตลกชื่อดังบ้างหรือเปล่า

“ตอนนั้นก็ดีไม่ใช่เหรอวะ ทั้งได้ทำเพลง ทั้งส่งคลิปไปออดิชั่นรายการ มันก็มีอะไรบางอย่างติดตัวมาจากความพยายามบ้า ๆ มาจนถึงวันนี้นะเว้ย” เพื่อนทั้ง 2 คนตอบผมกลับมาแบบนี้

ห้อยกับหมายก็คงอยากบอกคนอ่านแบบนั้น ช่วงที่ดีที่สุดคงได้เป็นการทำอะไรบ้า ๆ ที่นั่งนึกขึ้นมาก็เป็นเรื่องราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่อาจไม่เกิดขึ้นอีกแล้วก็ได้

เจ๊น้อยในช่องสี่เหลี่ยม

ตอนอย่างน้อย ๆ เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดเมื่อสะอาดไปรับรางวัลที่ญี่ปุ่นด้วยหนังสือเล่มนี้ สะอาดเล่าว่าอาจจะเพราะด้วยวัฒนธรรมการทำงานการ์ตูนคงไปกระตุกเส้นเซนซิทีฟชาวญี่ปุ่น แต่ไม่ว่าที่ใดบนโลก การไม่ได้ทำงานตามความฝันคงจะเป็นเรื่องที่ชวนให้เข้าใจหัวอกกันได้ทั่วโลก

เรื่องราวของเจ๊น้อยราบเรียบและตรงไปตรงมา คือเจ๊คนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนเพราะความหลงใหลในวัยเด็ก จนกระทั่งวันหนึ่งท้อง ออกมาเปิดร้านเช่าหนังสือของตัวเอง และใช่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้งานในฝันกลายเป็นงานที่น่าเบื่อที่สุดในชีวิตแก

เป็นตอนที่ดูธรรมดา แต่ก็ชวนให้ผมนึกถึงผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกัน ใคร ๆ ก็เรียกแกว่าน้าริณน์ จะมีสรรพนามว่าพี่หรือน้องประปราย

วาริณน์ไม่ต่างจากเจ๊น้อยมากนัก เธอเคยมีความฝัน ทะเยอทะยาน อยากเป็นนักการฑูต แต่เธอยากจน จากบ้านเกิดที่สงขลามาอยู่กับพี่สาวแถวสมุทรปราการ ความทะเยอทะยานไม่ได้พาเธอให้กลายเป็นนักการฑูต แต่ก็พาเธอให้ทำงานในบริษัทแถวหน้าของเอเชีย เรียกได้ว่าเธอทำตามค่านิยมของคนเจน X ครบถ้วน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเธอมีลูก หนี้สินเริ่มก่อตัว ผัวตาย เหตุการณ์ก็พลิกผันก่อนเกษียณ เธอโดนโยกงาน ออกจากบ้านตี 5 กลับบ้าน 1 ทุ่ม ชีวิตกัดกร่อนเธอจนเธอจำไม่ได้ว่าความฝันของเธอมีหน้าตาเป็นอย่างไร

“กินอิ่ม นอนหลับ ก็พอแล้ว ชีวิตได้เท่านี้ก็โอเค พอเพียงไว้ตามที่พ่อ(ในหลวง) สอน อย่าไปโลภเยอะ ถ้าหากว่าโลภเดี๋ยวสิ่งที่เคยมีก็หายไปเสียหรอก” เธอบอกกับผมแบบนั้น

“ความฝันในตอนนี้เหรอ อยากปลดหนี้ได้ก่อนเกษียณนะ จะได้ไม่ต้องให้ลูกคอยเป็นห่วง แล้วเดี๋ยวก็จะกลับไปอยู่ใต้ ได้ดูแลสวน ได้ไปวัดสวดมนต์ พอแล้วชีวิตนี้ คุ้มแล้ว”

ช่วงคลายปมของเจ๊น้อยก็ยังเล่าด้วยความธรรมดาแต่เจ็บปวดเป็นพิเศษ เธอบอกสามีอยากไปทำตามความฝัน แต่สุดท้ายลูกที่ยังเล็กจะเอาอะไรกิน เมื่อชีวิตของเธอไม่ได้มีแค่เธอคนเดียวมาเป็นสิบปีแล้ว

“ไอ้ความฝันเท่ ๆ ก็ใช่ว่าผมจะไม่มี ที่ผ่านมาผมคิดจะลาออกไปเดินตามความฝันให้มันรู้แล้วรู้รอดไม่รู้กี่ครั้ง

แต่ทำไงได้วะ ผมไม่อยากเห็นลูกร้องไห้หิวข้าวนี่หว่า” สามีพูดกับเจ๊น้อยอย่างตรงไปตรงมา

วาริณน์ขำเมื่ออ่านถึงตรงนี้ เธอพูดพึมพำเล็ก ๆ ว่า ‘ก็จริง ๆ’

“แต่ชีวิตก็ไม่ได้ทำตามความฝันอย่างเดียว การมีลูกก็พิเศษพอ ๆ กัน ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้เลือกซะหน่อย ก็เลือกแล้วว่าอยากมีลูก แล้วก็มองว่าชีวิตมันเติมเต็มได้ด้วยวิธีอื่นได้เหมือนกัน”

เธอพูดเสร็จก็หยิบเงินให้ผมไปซื้อต้มเลือดหมูไม่เอาเลือดที่หน้าปากซอย เพราะการสัมภาษณ์เกือบจะเที่ยงวันเข้าแล้ว

“แม่ฝากซื้อแมสก์ที่ร้านยาด้วย เอาสีขาวนะ” เธอบอก

“โอเคแม่” ผมตอบ

ชายหูหนวก ลูกบาส สะอาดและคนอ่าน

ที่เปรียบเปรยไปช่วงต้นว่าการ์ตูนสะอาดมีความเป็นการ์ตูน(โชเน็น) เพราะในทุกเรื่องมักจะมีซีนที่อ่านแล้วจะมีเสียงประกอบขึ้นในหัวว่า ‘โฮ่ เอาอย่างนั้นเลยสินะ’ ‘ไม่จริงน่า!’ ‘ฉันนะ จะเป็นให้ได้เลย!’ อยู่เสมอ

ตอนที่ผมชอบที่สุดคือตอนทางบอล แม้ว่าผมจะไม่ชอบฟุตบอลสักเท่าไหร่ แต่ลายเส้นดุดัน ไม่มีบทพูด ให้ภาพบรรยายเส้นทางบอลของชุ จากเด็กหน้านิ่งสู่นักบอลทีมชาติผู้ได้ยิงประตูโทษให้กับทีมชาติไทยเพื่อเฉือนเอาชนะญี่ปุ่น 

จริง ๆ คำว่าทาง- มีความหมายที่น่าสนใจ แม้จะไม่ได้บัญญัติในราชบัณฑิตยสถาน แต่ความหมายที่เป็นอันรู้กันหมายความว่า มีความชำนาญ เชี่ยวชาญ หรือ กะไว้แล้วว่าต้องเป็นประมาณนี้ เดาได้ถูก คาดการณ์ได้ล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งความหมายของทางบอลในตอนทางบอล รับใช้กันได้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเห็นภาพได้

ผมเป็นคนเล่นกีฬาแต่เด็ก แต่ไม่แคล้วจะได้เหรียญหรือถ้วยอะไรกับเขาเท่าไหร่ ส่วนมากมักจะได้ที่ 2(เข้ารอบชิงแต่แพ้) ซึ่งผมมีเพื่อนชื่อกื้ด ที่เป็นที่ 2 กับผมตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย โดยกีฬาที่เราครองรองแชมป์กันมากที่สุดคือบาสเก็ตบอล ทั้งซ้อมหนักก็แล้ว ซื้อรองเท้าใหม่ก็แล้ว ตัวเลขก็ยังไม่ขึ้นหรือลง เป็นเลข 2 อยู่อย่างนั้นนานถึง 7 ปี

ว่ากันตามตรง พวกผมเป็นทางซ้อมซะมากกว่า ตอนซ้อมฟอร์มจะดี จับเป็นลง เล่นยังไงก็ชนะ แต่พอแข่งขึ้นมา พอชู้ตไม่ลงลูกเดียวเท่ากับว่าทั้งเกมนั้นมีโอกาสแพ้ไปแล้ว 70% ทางบาสของพวกผมจริงอยู่ในสนามซ้อม พอแพ้มาทีไรก็ทางใครทางมันไปวันสองวัน แล้วก็จะกลับมาซ้อมอย่างบ้าคลั่งกันใหม่ กับความฝันเดิมที่ว่าจะได้อันดับหนึ่งสักครั้ง

สะอาดเขียนในหน้าบรรณานุกรม ซึ่งเขียนไว้เฉพาะเล่มตีพิมพ์พิเศษและเป็นพาร์ทที่ผมชื่นชอบมาก ๆ ในหนังสือ เขาเขียนไว้ว่า

“แต่การ์ตูนเรื่องนี้เขียนเพื่อตั้งคำถามว่า บอลที่เคยเป็นความสนุกสมัยเด็กยังเป็นบอลลูกเดียวกับที่พระเอกเตะเพื่อให้ทีมชาติได้ไปบอลโลกไหม

ผมไม่รู้ว่าสำหรับนักบอล มันคือคำถามที่ไร้สาระรึเปล่า 
แต่ผมรู้ว่าสำหรับนักเขียนการ์ตูน คำถามนี้โครตสำคัญ”

มันทำให้โอ่ง ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเองทำงานกับความรู้สึกคนไปไม่ถึงฝัน บ้าคลั่งตามค่านิยมที่ทุนนิยามไว้ตามยุคสมัย

ผมว่าอาชีพหนึ่งที่ดูจะต้องใช้จิตวิญญานเยอะมาก ๆ คือนักดนตรี นอกจากคุณจะต้องรู้ดนตรี คือคุณจะต้องรู้สึกให้มาก เพื่อที่จะส่งสารที่คุณร้อง เล่น เต้น ออกไปถึงคนฟัง เช่นเดียวกับโอ่ง ที่รู้สึกรู้สาเอามากกับการสร้างวงครึ่ง ๆ กลาง ๆ กับจ๋า ที่มีลุงจุ๊บ พ่อของจ๋าเป็นอาจารย์สอนดนตรี

ตอนชายผู้เดินทางตามเสียงของตัวเอง แม้จะสั้น แต่การวางไว้ตอนเปิดและตอนปิดกลับทำให้เหตุผลของชื่อหนังสือต้องเป็นเรื่องนี้จริง ๆ ทุกตัวละครในเรื่องต่างเดินทางตามหาบางสิ่งบางอย่าง แต่คำถามคือเราตามหาสิ่งเหล่านั้นไปเพื่ออะไรกัน?

“ชั้นว่าสิ่งที่ป๊าชั้นทำอยู่ทุกวันนี้ มันก็เหมือนคนหูหนวกที่เกิดมาแล้วอยากได้ยินเสียงของตัวเองเท่านั้นแหละ

เป็นชายหูหนวกที่ออกเดินทางตามหาเสียงของตัวเอง เพียงเพราะหวังจะได้ยินอะไรบางอย่าง” หลังจากจ๋าพูด วันถัดมาโอ่งก็ย้ายบ้านและตามหาเสียงของตัวเองเป็นเวลากว่าสิบปี

การเชื่อมโยงทุกตัวละครเข้าไว้ในจักรวาลเดียวกัน หมายอาจเป็นไอ้ภู บิ๊กอาจเป็นไอ้ห้อย เจ๊น้อยอาจเป็นแม่ของผม ตัวละครในเรื่องยังคงเวียนวนอยู่ในชีวิตจริงของเราทุกคน

ความล้มเหลว ความผิดพลาด การสะดุดล้มของความฝันในห้องโถงแสดงคณะตลกแซ่บอีหลีคือการตอกย้ำอีกครั้งถึงความเป็นมนุษย์ นั่นคือการล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเป็นมนุษย์จึงได้หกล้ม มีบาดแผล แผลกลับมาสมานตัว และทิ้งรอยแผลเป็น

นั่นคงไม่ใช่นิยามของการเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นแบบหนึ่งที่ผมชื่นชอบที่จะมองมันแบบนั้น

ผมยังนั่งมองตัวเองในอดีตผ่านดิจิตอลฟุตปริ้นท์ที่มี ผมฟัง ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ของสะอาด  และนั่งฟังเพลงที่เคยอัดไว้ชื่อ ความสุขโดยสังเขป มาจนวันนี้ผมก็ยังคงเฝ้ารอ เป็นเด็กหนุ่มที่พูดพร่ำเขียนเพ้อ แม้กระทั่งบทความนี้ก็ยังมีคำถามระหว่างบรรทัดอยู่

หวังว่าสักวันจะได้เห็น ได้ยิน เสียงของตัวเองเข้าสักวัน 

พูดให้ชัด หวังว่าจะได้เจอกับคำตอบที่ตัวเองอยากได้ยินเข้าสักวัน

“สิบปีแล้วสินะ สิบปีที่เพื่อนชั้นออกไปเป็นชายใบ้ผู้ตามหาเสียงของตัวเอง”

“ได้ยินอะไรมาบ้างล่ะ”

จ๋าพูดประโยค(อยากให้โอ่ง) บอกเล่าไปแบบนั้น

หนังสือ : ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง
ผู้เขียน :  สะอาด
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์ไก่3

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี