ความลับของฟ้า เปลี่ยนไปเมื่อได้รู้จัก รักเมื่อได้มอง - Decode
Reading Time: 3 minutes

Nephophilia (เนโฟฟีเลีย) หมายถึง คนที่หลงรักท้องฟ้าเเละก้อนเมฆ

ถ้าชอบมองฟ้าเหมือนกัน ฟ้าของคุณ-ฟ้าของเรา

คือฟ้าเดียวกันไหม

โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ หรือพี่โจ้ ประธานกรรมการ บริษัทบลูลิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพานิชย์ รวมทั้งยังคงขับเคลื่อนหลักสูตรสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of Bussiness Creativity หรือ ABC) ที่ ม.ศรีปทุม ร่วมกับหนุ่มเมืองจันท์ พี่โจ้ได้ผ่านทำงานที่หลากหลาย ทั้งวันที่เจอกับวิกฤตที่ถึงเวลาเป็นหมาก็ต้องเป็นหมา ต้องออกจดหมายขอโทษแทนลูกน้อง และวันที่ประสบความสำเร็จ ตอนที่ได้สร้างชื่อให้กับแบรนด์ ‘Happy’ ไปจนถึงดีแทค Feel Goood เหตุการณ์ที่ได้ล้ม ๆ ลุก ๆ นำไปสู่แก่นสำคัญออกมาเป็นหน้าตาหนังสือ ‘ความลับของฟ้า’ ซึ่งเป็นมุมมองสำหรับการทำงานและดำเนินชีวิตที่เจ้าของหนังสือบอกว่ากว่าจะเข้าใจ ชีวิตก็อยู่ในเลขห้าแล้ว

ก่อนที่จะรู้ได้ก็ต้องก้าวข้ามความไม่รู้มาก่อน ปัญหาคือเราจะกล้ายอมรับไหมว่าเราไม่รู้

อยากเอาชนะความไม่รู้โดยการตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท ก่อนหน้าคิดว่าคงไม่มีอะไรยากหรอกมั้งเพราะทำงานมาได้สักพักแล้ว ประสบการณ์น่าจะเป็นตัวช่วยให้การเรียนราบรื่นขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย บรรยากาศในคลาสเรียนเต็มไปด้วยหัวกะทิจากหลากหลายที่มา บางคนเคยทำงานกับสตูดิโอออกแบบที่ร่ำลือว่าเป็นที่สุดของประเทศ บางคนเป็นเทพแห่งฝีมือที่ไม่ว่าโปรแกรมอะไรก็เอาอยู่ หรือบางคนมาจากบริษัทด้านไอทีที่มีชื่อเสียง มีทักษะความรู้ด้านดิจิตอลและการออกแบบแอปพลิเคชันเป็นเลิศ เมื่อรอบตัวรายล้อมไปด้วยคนเก่ง เทอมแรกของการเรียน ถ้าเปรียบเทียบเป็นพายุคงเป็นเทอนาโดที่พร้อมกลืนกินทุกสิ่ง ฟังอาจารย์ไม่รู้เรื่อง จดไม่ทัน มีศัพท์เทคนิคมากมายที่เพื่อนเข้าใจกันเป็นเรื่องปกติ มีแต่เราที่ไม่เข้าใจ แถมไม่กล้าถามเพราะกลัวอะไรก็ไม่รู้ ผลของการสงสัยแล้วไม่ถามทำให้ทำการบ้านส่งอาจารย์ออกมาไม่ค่อยดี เมื่อฟังไม่เคลียร์การแก้ไขก็ไม่ตรงจุด โดนคอมเมนต์เยอะจนจิตตกก็มี

“ยิ่งไม่รู้ ยิ่งรู้” พี่โจ้ยกตัวอย่างเรื่องราวของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นายธนาคารที่เก่งและเฉียบแหลมที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย เป็นผู้ที่นำพาธนาคารรอดจากวิกฤติปี 1997 ปรับการทำธุรกิจธนาคาร ดึงมืออาชีพที่เก่ง ๆ เข้ามาเสริมจนธนาคารไทยพาณิชย์เติบโตแข็งแรงเป็นอย่างมาก มีอะไรที่เกี่ยวกับการธนาคาร ผู้บริหารทุกคนก็จะไปเรียนปรึกษาขอคำแนะนำและแนวทางอยู่ตลอด วันหนึ่งพี่โจ้ต้องการคำแนะนำจาก ดร.วิชิต ผู้ที่จะมีคำตอบให้ทุกอย่าง และก็ต้องหน้าเหวอเพราะ ดร.วิชิต บอกกับทุกคน “ผมไม่รู้ล่ะ คุณไปลองทำแล้วมาเล่าให้ผมฟังนะว่าไปเจออะไรบ้าง” จากเหตุการณ์นี้เองเป็นจุดที่ทำให้ SCB เปลี่ยนไปอย่างมาก เมื่อความรู้ถูกแสวงหาโดยลูกน้องจึงเกิดการกล้าเสนอไอเดียใหม่ ๆ ที่หลากหลาย แทนที่จะกระจุกตัวอยู่ที่เจ้านายคนเดียว เป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับองค์กร การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้เป็นเรื่องฝืนธรรมชาติมาก (โดยเฉพาะผู้บริหาร) เพราะต้องเอาชนะอีโก้ตัวเอง ซึ่งถ้าผู้มีอำนาจฝืนกฎแรงโน้มถ่วงได้ จะทำให้เกิดการปลดล็อกพลังวิเศษ (superpower) คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้บริหาร คือความสามารถที่ในการเรียนรู้ (ability to learn)

ถึงจะไม่ได้สวมหมวกผู้บริหารและอยู่คนละบริบท แต่คิดว่าความสามารถที่ในการเรียนรู้ก็สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์กับการเรียนได้เหมือนกัน หลังจากที่ฝ่าเทอนาโดมาได้แล้วความกลัวก็หายไป ในที่สุดก็หาได้แล้วว่ากลัวอะไร คำตอบคือตัวเองดูไม่ฉลาด เมื่อวางอีโก้ลงได้ ยอมรับว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่รู้ ปุ่มความสามารถที่ในการเรียนรู้ (ability to learn) จึงเริ่มทำงาน ซึ่งไม่เพียงได้ความรู้จากอาจารย์ ยังได้ความรู้จากเพื่อนที่เก่ง ๆ หลายคนในคลาส นี่เป็นความลับของฟ้าแรกที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ “ยิ่งไม่รู้ ยิ่งรู้”

เมื่อเอาแรงโน้มถ่วงเรื่องประสบการณ์ออก สิ่งที่ได้มาคือความเบาของความไม่รู้ที่จะทดลองวิธีใหม่ ๆ อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

“In the beginner’s mind there are many possibilities, but in the expert’s there are few. “

  • Shunryu Suzuki, Zen Teacher 

ไม่สามารถรู้ได้เลย ฟ้ากว้างเท่าไร

ไม่รู้ขีดจำกัด ทำให้ทลายข้อจำกัด

คลิฟฟ์ ยัง (Cliff Young) คุณลุงชาวนาวัย 61 ปีสร้างความตื่นตะลึงให้วงการวิ่งอัลตร้ามาราธอนของออสเตรเลีย ด้วยการลงแข่งแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่เป็นครั้งแรกในชีวิต ในการแข่งขันที่ไกลที่สุดในโลก จากซิดนีย์ไปเมลเบิร์นระยะทาง 875 กิโลเมตรร่วมกับนักวิ่งมืออาชีพสุดยอดของโลก ลุงคลิฟฟ์วิ่งต้อนแกะมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยวิ่งในการแข่งขันอะไรเลย ท่าวิ่งก็ตลกและช้าจนถูกล้อเลียนในวันแรก ลุงมาวิ่งด้วยชุดชาวนารองเท้าบูตเชย ๆ และอยู่ตำแหน่งรั้งท้าย ไป ๆ มา ๆ ลุงคลิฟฟ์ก็แซงหน้าแต่ละคนมาทีละวันจนเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ทิ้งอันดับ 2 เป็นสิบชั่วโมงแถมทำลายสถิติโลกอีกด้วย ผู้คนต่างตกตะลึงและรุมสัมภาษณ์แกเป็นการใหญ่ ลุงคลิฟฟ์ไม่รู้กระทั่งว่าการแข่งนี้มีเงินรางวัล พอได้แกก็แบ่งให้คนที่เข้าเส้นชัยต่อ ๆ จากแกจนหมด และความไม่รู้ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้แกชนะก็คือ แกบอกว่าไม่รู้ว่าแข่งแบบนี้เขาให้ไปนอนพักได้ช่วงกลางคืน แกเลยไม่กล้านอน มีแอบงีบบ้างแค่วันละชั่วโมง ทำให้แกมีเวลาวิ่งมากกว่าคนอื่นวันละ 7-8 ชั่วโมงจนชนะการแข่งขันในที่สุด

เมื่ออ่าน Chapter นี้ อดนึกถึงเรื่องนี้ไม่ได้ อาจารย์ได้เลคเชอร์เรื่องการหาแรงบันดาลใจอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ มาช่วยในการสร้างไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างแบรนด์ มีโจทย์ให้นิสิตหาภาพยนตร์ที่ชื่นชอบมาคนละ 1 เรื่อง จากนั้นวิเคราะห์ซีนสำคัญ ๆ แล้วหยิบซีนหรือสิ่งที่สนใจมาเล่าเรื่องในแบรนด์ ในระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ทำโดยที่ใช้สัญชาตญาณนำทางเพราะลืมสิ่งที่อาจารย์สอน อยู่ ๆ ก็นึกถึงกราฟิกของ Channel ที่มีสีหลักของแบรนด์เป็นขาว-ดำ แต่ในทางกลับกันในโจทย์นี้ CI หลักของงานคือกราเดียนสีสันสดใส เราก็ดันอุตริทำในเวอร์ชันขาว-ดำ แทรกไปเป็นอีก 1 เวอร์ชัน คิดว่ามัน(น่าจะ)ได้ และแล้วเมื่อถึงวันที่ต้องนำเสนอ Final Design หลังจากนำเสนอเสร็จ อาจารย์กลับบอกว่า “ในคลาสนี้ผมไม่ได้ให้ออกแบบที่เป็นขาว-ดำ เพราะอยากให้แบรนด์มี identity ที่แข็งแรงก่อน แต่ในชีวิตจริงถามว่าทำได้ไหม ทำได้ กรณีนี้ผมก็ไม่ติดที่มันจะมีเวอร์ชันขาว-ดำ และน้ำก็ทำได้ดี” หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ไม่รู้คณะมีเกณฑ์การคัดเลือกผลงานอย่างไร โปรเจ็กต์ที่เกิดจากจำไม่ได้ว่าอาจารย์สอนอะไร ได้ถูกนำไปแสดงที่งานสถาปนิก’66 ที่ผ่านมา

…ฟ้าก็ไม่ได้มีแต่วันที่สดใส

ตีนที่มองไม่เห็น

วันนั้นฉันยืนอยู่บนปากเหว

มีแม่น้ำสายหนึ่งที่เชี่ยวกราก ลึกลงไปในซอกผา

อยู่ดี ๆ มีตีนที่มองไม่เห็น ถีบฉันจนต้องกระเด็น ตกลงไปในสายน้ำที่ไหลบ่า

จม…ไม่จม ไม่มีเวลาให้มัวระทมใด

ตาย…ไม่ตาย ยังไงยังไงต้องตะกายให้ถึงฝั่ง

และแล้วก็ได้รู้ ถ้ามนุษย์ไม่ยอมสิ้นหวัง

อาจจะมีรางวัล จากฟ้าเบื้องบนแด่คนที่ไม่ยอมแพ้

ถ้าไม่มีวันนั้น คงไม่มีวันนี้

ไม่มีเสี้ยวนาทีให้จดจำอย่างภาคภูมิใจ

จะเดินก้าวไปช้า ๆ จ้องตากับปัญหาไม่หวั่นไหว

ใช้ชีวิตต่อไป อย่างเข้าใจและยอมรับมัน

วันนี้ฉันยืนอยู่บนฝั่งนี้ มองกลับไปดูสายน้ำเชี่ยวที่ฉันได้ว่ายข้ามมา

อยากขอบคุณ ขอบคุณตีนที่มองไม่เห็น ที่ถีบฉันจนต้องกระเด็น

ให้ได้เห็นว่าชีวิตช่างมีค่า

เพลง: ตีนที่มองไม่เห็น

ศิลปิน: วงนั่งเล่น x สาธิต กาลวันตวานิช

หลายคนคงเจอบททดสอบของการสู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ ชีวิตที่คิดว่าจะดีอยู่แล้วแท้ ๆ กลับมีตีนที่มองไม่เห็นมาถีบให้ตกน้ำหัวทิ่ม สำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ความรู้สึกน่าจะคล้ายกับการจมน้ำเผลอ ๆ อาจหนักกว่า เหมือนคนจะตาย หายใจไม่ออก ไปเรียนต่อเมืองนอกไม่ได้ ตกงาน แฟนบอกเลิก โควิด-19 ทำธุรกิจล้มละลาย ครอบครัวคาดหวังจนเป็นซึมเศร้า ป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน รัฐบาลหน้าใหม่ระบอบเดิม ฯลฯ คำถามที่น่าสนใจคือในระหว่างที่ จม…ไม่จม ตาย…ไม่ตาย ก้นบึ้งของใจเราบอกอะไรกับตัวเอง

“สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดีเสมอ” คุณว่ามันจริงไหม?

อาจารย์ที่ปรึกษาได้บอกกับนิสิตก่อนเข้าโค้งสุดท้ายในการทำวิทยานิพนธ์ ตอนที่ยังผ่านมันมาไม่ได้ ตอนที่กำลังจมน้ำ

ทำไมเลือกหัวข้อยาก

ทำไมต้องเลือกในเชิงวิชาการ (Academic)

ทำไมได้ที่ปรึกษาเป็นท่านนี้

ทำไมต้องเอาตัวเองมาเหนื่อยขนาดนี้

ทำไมต้องรีเสิร์ชมากมายแบบนี้

ทำไม….

สารพัดของ “ทำไม”

มีน้องที่น่ารักคนหนึ่งเคยถาม “เรียนจบแล้ว พี่ผ่านมาได้ไง”

สตั้นไป 300% เออ…นั่นสิผ่านมาได้ไง ไม่รู้จะอธิบายเป็นประโยคให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ยังไง

มีเพียงแต่คำว่า “Hope” ดังเบา ๆ ในใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ มันดีเสมอ(ในแบบของมัน) จริง ๆ ค่ะอาจารย์ การที่ได้มาทำหัวข้อนี้ทำให้หนูยิ่งต้องขยันขึ้นเพื่อยืนยันสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ การที่โดนเคี่ยวกรำจากอาจารย์ในเรื่องความละเอียดทำให้หนูเข้าใจขั้นตอนการวิจัยอย่างทะลุปรุโปรง และการที่โชคชะตาทำให้หนูได้มาเจออาจารย์ เจอเพื่อน ได้มาเรียนที่นี่ ทำให้ได้เจอประสบการณ์ระหว่างทางที่มีค่า

....ฟ้าคงมีเหตุผล....

ในฐานะผู้หลงใหลท้องฟ้า​ (เนโฟฟีเลีย)

ชอบการเก็บฟ้า

ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเมฆและฟ้า

ยามได้มองฟ้า เรานึกถึงอะไร

ความลับที่ได้จากฟ้า ยิ่งฟ้ากว้างเท่าไร ยิ่งต้องทำตัวให้เล็ก สิ่งเดียวที่จะกว้างตามฟ้าได้มีเพียง “ใจ” เท่านั้น (beginner’s mind) เมื่อไรที่ตระหนักได้เสมอว่าตัวเราเล็ก ฟ้าจะก็ค่อย ๆ เผยความลับบางอย่าง เป็นเครื่องเตือนใจในยามอีโก้เบ่งบาน เมื่อได้รู้ความลับของฟ้า หลังจากนี้คงมองฟ้าไม่เหมือนเดิม

ฟ้าของคุณ ฟ้าของเรา

หวังว่าจะเป็นฟ้าเดียวกัน 🙂

หนังสือ: ความลับของฟ้า
นักเขียน: ธนา เธียรอัจฉริยะ
สำนักพิมพ์: KOOB

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี