คิดถึงวีรชนคนสามัญ: 50 ปี 14 ตุลา - Decode
Reading Time: 3 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ประเวศ เอมอมร วัย 18 อยู่สนามบินน้ำ ส่วนพีระศักดิ์ จิตต์วิมลกุล อายุ 21 บ้านอยู่สวนพลู วันหนึ่งเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อของตัวเองกับผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก

ย้อนหลังไป 50 ปี วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลา 2516

“แม่ผมมีร้านขายของในกรมทหารที่สนามบินน้ำ ผมช่วยแม่ขายของ” ประเวศเล่า “ช่วงนั้นทหารเขาปิดไม่ให้คนเข้าออก แล้วก่อนหน้านั้นมันก็มีการชุมนุมมาเรื่อย ผมอยากไปแต่ก็ไปไม่ได้เพราะเขาไม่ให้ออกจากค่ายทหาร พอมาถึงวันนั้นมันเป็นวันอาทิตย์ วันหยุด ผมแอบมุดรั้วหนีออกไปจนได้ ก็ไม่รู้อะไรมันดลใจให้ออกไป” แล้วประเวศก็ยกเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาในวันนั้นให้เป็นเรื่องของการที่ “คนมันจะโดนยิงน่ะ”

เขานั่งรถประจำทางเพื่อจะไปยังพื้นที่ที่มีการชุมนุมคือที่ราชดำเนินและธรรมศาสตร์ที่ซึ่งมีประชาชนไปรวมตัวกันต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายรูปธรรมคือรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อไปถึงแถวศรีย่านก็พบว่ามีการปิดถนนจึงตัดสินใจออกเดิน ระหว่างทางพบปะผู้คนที่มีความสนใจแบบเดียวกันที่ต่างมุ่งหน้าไปยังที่ชุมนุมด้วย จากที่เดินคนเดียวจึงกลายเป็นการเดินกันเกินร้อย ประเวศอธิบายว่าเป้าหมายปลายทางตอนนั้นของพวกเขาคือธรรมศาสตร์เพราะพวกเขาต่างได้ยินว่าที่นั่นเริ่ม “มีปัญหา” และในสมัยนั้นไม่มีหนทางจะให้ตรวจสอบข่าวสารจากใครได้และหากอยากรู้ก็ต้องไปดูให้เห็นกับตาเท่านั้น ระหว่างทางพวกเขายังได้พบเห็นทหารที่เตรียมตัวกันอย่างพร้อมพรัก “ราวกับจะไปรบที่ไหนสักแห่ง” เป็นที่ชัดเจนสำหรับเขาว่าทหารเหล่านั้นมาจากต่างจังหวัด

เมื่อไปถึงใกล้สี่แยกบางขุนพรหม ประเวศบอกว่าเขาเริ่มได้ยินเสียงปืน ครั้นพอถึงสะพานบางลำพู พวกเขาก็พบว่ามีทหารที่เขาเรียกว่าทหารป่าหวายจำนวนหนึ่งยืนเรียงรายเป็นแถวกั้นทางไว้ไม่ให้ผู้คนเดินผ่าน

“พอเขาบล็อก เราที่พวกเยอะก็เฮกันเข้าไป ตะโกนถามทหารว่าทำไมไม่ปล่อยให้ไป พอเขาดันออกเราก็ถอย มันก็เป็นแบบนี้”

“สักพักเขาก็ยิง ยิงขึ้นฟ้า คนก็ไม่ถอย ทีนี้ยิงลงพื้น ก็เข้าเลย กระสุนมันแฉลบจากพื้นมาโดนคน ก็เจอคนข้างหน้าแล้วก็เข้าที่ต้นขาผม ผมก็ล้มลง คนก็กระเจิง”

“ก็มีคนมาช่วย น่าจะเป็นนักศึกษา มาลากตัวออกไป เขาลากผมจากบางลำพูไปจนถึงบางขุนพรหม เจอรถพยาบาลที่บางขุนพรหม” ประเวศพบว่าตัวเขาเลือดออกจำนวนมากจนเกิดอาการสลึมสะลือ คนที่ไปช่วยพาตัวออกจากที่เกิดเหตุต้องคอยร้องตะโกนบอกไม่ให้หลับ อย่างไรก็ตามเมื่อไปถึงรถพยาบาลของโรงพยาบาลวชิระที่จอดที่บางขุนพรหม เขาก็ยังมีสติพอจะเห็นได้ว่าข้างในรถมีคนเจ็บนอนอยู่ในนั้นแล้วถึงสามคน และเนื่องจากรถพยาบาลยุคนั้นเป็นรถคันเล็ก คนเจ็บทั้งสี่ก็ต้องนอนเบียด ๆ กันไป

“ไปถึงวชิระ พยาบาลก็มารับ แป๊ปเดียวก็มีตำรวจวิ่งตามเข้ามา มีหมอซึ่งผมจำได้ว่าเป็นคนตัวเล็ก ๆ บอกตำรวจว่า รู้ไหมว่านี่มันห้องฉุกเฉิน คุณยังจะมาจดชื่ออะไรกันอีกเหรอ คือเขามาตามว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ”

ประเวศบอกว่าในเวลานั้นมีผู้คนที่บาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมถูกนำตัวเข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก กรณีของเขาถือว่ายังเบากว่าอีกหลายคนเขาจึงต้องรอให้มีการรักษากรณีที่เร่งด่วนกว่าก่อน หมอฉีดมอร์ฟีนแก้ปวดให้ทำให้เขาพอจะรับมือกับความเจ็บปวดได้ เขาสังเกตเห็นว่าคนถูกยิงเข้ารับการรักษาจนล้นห้องฉุกเฉิน แพทย์และพยาบาลต้องจัดการกับคนเจ็บกันนอกห้องนั่นเอง

“ไม่นานเขาพาสามเณรที่ถูกยิงที่สนามหลวงเข้ามา เณรคนนี้ไปเรียนหนังสือแล้วออกมาแถวนั้นพอดี ก็ถูกยิงที่หัว ผมได้ยินเขาพูดว่าเคสนี้หนัก พอหันไปดูก็เห็นเขากำลังเจาะหัวท่านกันตรงนั้นเลย แต่อีกสักพักก็คลุมผ้า”

เด็กหนุ่มวัยสิบแปดอย่างประเวศจึงได้เห็นคนเจ็บคนตายต่อหน้าต่อตาหลายราย เขายืนยันว่ามีคนโดนยิงที่หัวและลำตัวหลายคน “คนที่รักษาแล้วพอไปได้เขาก็พาไปทางหนึ่ง ส่วนที่ตายแล้วก็เอาไปอีกทาง”

“คือทหาร เขามีไว้ให้ต่อสู้กับศัตรู ประชาชนไม่มีอะไรเลย มีแต่มือเปล่า มันไม่ใช่แล้วแบบนี้”

วันเดียวกันนั้นในช่วงเช้าเช่นกัน พีระศักดิ์ออกจากบ้านของเขาที่สวนพลู เนื่องจากมันเป็นวันอาทิตย์ เขาจึงไม่ต้องไปส่งอะไหล่รถยนต์อันเป็นงานที่ทำตามปกติ วันนั้นเขาตั้งใจเต็มที่ว่าจะไป “ดู” การชุมนุมแต่เช้า เพราะหลายวันก่อนหน้านั้นอันเป็นวันธรรมดาเขาไปได้เฉพาะตอนเย็นเท่านั้น เช้าวันที่ 14 ตุลาพีระศักดิ์นัดหมายเพื่อนวัยเดียวกันจากแถวบ้านนั่งรถประจำทางเข้าไป

แม้ว่าพีระศักดิ์จะไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนหน้านั้นหลายวันต่อเนื่องกัน แต่เขากลับไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ชุมนุม ทั้งไม่ยืนยันด้วยว่าตัวเองในขณะนั้นสนใจการเมืองจริงจังมากมาย เขาให้เหตุผลว่าที่ไปดูการชุมนุมต่อเนื่องกันหลายวันนั้นเพราะต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของนักศึกษา เมื่อมองย้อนกลับไป พีระศักดิ์เชื่อว่าเขามีประเด็นร่วมที่ทำให้สนใจความเคลื่อนไหวครั้งนั้น เขาอธิบายว่ามันเป็นเพราะตัวเองมี “ปม” บางอย่างอันสืบเนื่องจากประสบการณ์ในเรื่องของความไม่เป็นธรรมที่ได้รับเป็นการส่วนตัวในฐานะลูก “คนจีนต่างด้าว”

พีระศักดิ์เล่าตัวอย่างว่า พ่อแม่เขาที่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว เมื่อได้ลูกฝาแฝดคือเขาและพี่ชาย พ่อกับแม่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดให้เองภายในเวลาแต่ได้ขอให้คนอื่นทำให้ทีหลัง การไปแจ้งที่อำเภอกลายเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง กล่าวคือเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมบันทึกวันเกิดให้พวกเขาว่าเกิดในวันเดียวกันและยืนยันจะต้องให้พี่ชายของเขาเกิดก่อนสี่เดือน และไม่ว่าพวกเขาจะทุ่มเถียงเพียงใดก็ตามก็ไม่สามารถจะจัดการเรื่องนี้ได้ในที่สุดจึงต้องยอมตามเจ้าหน้าที่ นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าการรับมือกับข้าราชการยิ่งตอกย้ำให้รู้สึกถึงความอ่อนแอของสถานะตัวเอง มันเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการที่จะต่อรองกับผู้มีอำนาจในความรู้สึกของเขา เมื่อมีการชุมนุมของนักศึกษา พีระศักดิ์รู้สึกว่านักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีพลัง เขาจึงเริ่มติดตามด้วยความสนใจ มีทั้งการตามข่าวและไปดูการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์

วันอาทิตย์นั้นเขาออกจากบ้านไปพร้อมกับเพื่อนและน้องชาย เมื่อไปถึงพบว่ามีการปิดถนนหลายส่วน พวกเขาจึงเดินข้ามสะพานพุทธก่อนจะตรงไปทางถนนดินสอแล้วทะลุไปจนถึงสี่แยกคอกวัว ระหว่างที่เดินก็ได้พูดคุยกับบรรดาผู้คนที่พบและก็ได้รับการบอกเล่าว่าที่ธรรมศาสตร์เริ่มมีการยิงกันแล้ว

ที่สี่แยกคอกวัวพวกเขาพบผู้คนเป็นจำนวนมากและเห็นชัดว่าเหตุการณ์กำลังชุลมุน ในช่วงนั้นได้เห็นแล้วว่าบนหนทางข้างหน้ามีการยิงแต่พวกเขายังคงหาทางเพื่อจะขยับไปข้างหน้าเรื่อย ๆ แบบที่เขาบอกว่า “เดินไปหลบไป” จนเมื่อถึงหน้ากรมประชาสัมพันธ์ก็เห็นได้แต่ไกลว่ามีทหารพร้อมรถถังตั้งมั่นอยู่ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

“ถามว่าเขายิงยังไงตอนนั้นมันแยกไม่ได้ รู้แต่ว่ามีการยิงใส่แล้ว เวลาเขายิงมา เราก็หมอบ พอเสียงเงียบเราก็ลุกขึ้น คือพยายามจะเข้าไป ก็เห็นว่ามีคนเจ็บ พอมีคนเจ็บเขาก็หามกันออกไป”

แล้วทำไมต้องเข้าไปให้ได้ในเมื่อทหารยิงขนาดนั้น

“คือมันเหมือนกับ ในความคิดเรามันมีคำถามว่า ทหารมายิงพวกเราทำไม เราจะเข้าไปตรงนี้แค่นั้น” พีระศักดิ์ว่าและดูเหมือนเขาต้องการช่วยเหลือผู้ชุมนุมรายอื่นอีก “ผมเห็นแล้วมันก็สงสาร มีแต่นักเรียนนักศึกษา ในใจมันก็อยากจะเข้าไปใกล้ ๆ ไปถามว่าทำไมทำกับประชาชนแบบนี้ เรามากันมือเปล่า ก็อยากจะเข้าไปถาม ทีแรกก็คิดว่าจะคุยกันได้ถ้าไปกันเยอะ ๆ แต่มันไม่ได้เป็นยังงั้น”

พอเข้าไปใกล้หน้ากรมประชาสัมพันธ์ มีคนเสนอให้กลับบ้านแต่แล้วก็คิดกันว่าเมื่อเข้าไปถึงขั้นนั้นแล้วก็อยากจะไปให้สุด

“ช่วงก่อนจะโดนนั้นเรากำลังหมอบ ทางโน้นยิงมาเราก็หมอบ พอเสียงเงียบเราก็ลุก พอจะไป ก็ยิงมาอีก ก็หมอบอีก สักพักนึงมันรู้สึกมีอะไรข้างหลัง หันไปดูมีคนโดนยิง แล้วเหมือนจะเป็นขามั้ง ข้างหนึ่ง ที่มาลงที่หลัง ก็ไม่รู้ขาใคร ขาดเลย มาอยู่ที่หลัง ก็หยิบขาออก แล้วพอกำลังจะลุกขึ้นก็รู้สึกเสียวแปล๊บที่เหนือเข่า”

คุณพีระศักดิ์ จิตต์วิมลกุล

“เราก็มอง เอ้า ขาเราเอง อ้าว ขาเป็นอย่างนี้เลยเหรอ คือแบบเละไปเลย”

พีระศักดิ์ชี้ให้ดูขาตัวเองข้างหนึ่งที่หายไปตั้งแต่ท่อนบนลงมา

“มันเหมือนเอามะละกอสุก ๆ ลูกนึงแล้วเอาหินทุ่มลงไป กระจาย แบบนั้น”

เขาจำได้ว่าน้องชายที่อยู่ด้วยข้าง ๆ รีบกระโดดขึ้นคร่อมตัวเขาทันที หลังจากนั้นก็มีคนช่วยพาตัวไปขึ้นรถพยาบาล เขาขอเจ้าหน้าที่พยาบาลให้น้องติดรถไปด้วยในฐานะญาติ แต่ที่สำคัญคือกลัวว่าน้องจะแค้นเคืองและตามเข้าไปในพื้นที่อีก เขากลัวว่าน้องจะโดนด้วย

ในรถ พีระศักดิ์น่าจะหมดความรู้สึกจนไปถึงโรงพยาบาล

“เขาพาไปโรงพยาบาลจุฬาฯ ตอนเขาเข็นเข้าห้องฉุกเฉิน  ผมยังได้ยินหมอบอกว่า เสื้อผ้าชุดนี้ขอนะครับ ผมบอกครับ จากนั้นก็ไม่รู้สึกไปเลย แต่ก่อนหน้านั้นเห็นตัวเอง ในใจมันก็รู้แล้ว พอฟื้นมาก็ถามพยาบาลว่าขาผมเป็นไงมั่ง พยาบาลอึกอัก ผมก็บอกไม่เป็นไรบอกมาเถอะผมรับได้ เขาก็บอกว่าขาดแล้ว คือจริง ๆ มันขาดตั้งแต่ที่นั่นแล้ว เขาก็แค่ตัดแต่งเย็บแผลให้”

“แล้วพยาบาลก็บอกว่า แต่พวกเราชนะแล้วนะ” นั่นคือสิ่งที่พีระศักดิ์จำได้

นอนเจ็บตัวในโรงพยาบาลนานร่วมสองเดือน พีระศักดิ์พบว่าแรงสนับสนุนจากที่บ้านคือสิ่งที่ช่วยให้เขาผ่านพ้นห้วงเวลานั้นมาได้ ทั้งที่ในตอนแรกเขาหวาดเกรงปฏิกิริยาจากทางบ้านมากที่สุดโดยเฉพาะจากพ่อที่ค่อนข้างเข้มงวดกับลูก แม้แต่น้องชายที่กลับบ้านไปก็ไม่กล้าบอกความจริงกับครอบครัว ให้ข้อมูลเพียงว่าพี่ชายถูกยิงที่หัวเข่านอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล พ่อไปรู้เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว พีระศักดิ์พบด้วยความแปลกใจว่านอกจากพ่อจะไม่ดุแล้วยังไปเยี่ยมและเฝ้าไข้เขาทุกวัน มันทำให้เขาตระหนักว่า อันที่จริงพ่อรักเขามากกว่าที่เขาคิด

ส่วนประเวศอยู่โรงพยาบาลเกือบสองเดือนเช่นกัน เหตุเพราะช่วงแรกต้องรอให้มีผู้ปกครองไปให้ความยินยอม หลังจากนั้นการผ่าตัดยังต้องทำถึงสามครั้งกว่าที่แพทย์จะค้นหาหัวกระสุนและเอาออกมาได้ ระหว่างนั้นก็ได้อาศัยมอร์ฟีนจากหมอระงับปวดไปเรื่อย ๆ คนที่ไปให้ความยินยอมในฐานะผู้ปกครองและทำให้เริ่มกระบวนการผ่าตัดได้กลายเป็นอาของเขาที่ขณะนั้นรับราชการเป็นทหารคนสนิทของพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เข้าไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล

“พล.อ.กฤษณ์เห็นเข้าก็ถาม ไงไอ้หนูเป็นไงบ้าง แต่อาผมเขากลัวผมโกรธ เขารีบบอกไอ๊แป๊ะ อาไม่เกี่ยวนะ เขานึกว่าเราโกรธเขา” การไปเยี่ยมเยียนของนายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนและการมีญาติเป็นทหาร ตลอดจนการมีสายสัมพันธ์กับทหารในค่ายดูเหมือนจะทำให้ประเวศแยกแยะความรู้สึกของตัวเองระหว่างตัวบุคคลและสถาบันได้ไม่น้อย

ประชาชนโกรธแค้นทหารมีแน่นอน

ประเวศบอกว่าเขารู้ว่าที่ด้านนอกโรงพยาบาลในแต่ละคืนจะมีกลุ่มนักเรียนช่างกลพากันไปจุดพลุทำให้เกิดความวิตกกันว่าจะมีคนพยายามแก้มือและเพิ่มความโกลาหล  แต่ขณะเดียวกันผู้คนก็รู้ว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นอันที่จริงแล้วไม่มีอาวุธอะไรมาก ส่วนใหญ่เป็นพลุหรือวัตถุระเบิดที่ส่งเสียงดัง

การนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทำให้ได้พบเห็นคนเจ็บด้วยกันจำนวนมาก ประเวศพบว่าผู้คนที่ล้มตายหลายคนเป็นเพราะโดนทหารยิงเข้าระดับหัวหรือลำตัว ประเวศเชื่อว่าเขาถูกยิงด้วยเอ็ม 16 แต่เป็นกระสุนที่แฉลบขึ้นจากพื้นเพราะหากยิงตรง ๆ เชื่อว่ากระสุนจะทะลุอก ส่วนพีระศักดิ์นั้นเชื่อว่าตัวเขาเองถูกยิงด้วยปืนที่ติดบนรถถัง

“มีคนบอกมาว่าเป็นปืนกล 93 อันเล็กบนรถถัง คือถ้าเป็นต้นไม้ก็ขาด เขายิงเป็นครึ่งวงกลม เราโดนกันตอนที่หมอบอยู่ ทำไมต้องเอามาใช้กับคน”

จนถึงบัดนี้พีระศักดิ์ก็ยังไม่รู้ว่าเจ้าของขาที่ขาดและกระเด็นมาโดนหลังเขานั้นเป็นใคร แต่เขาพบว่ายังมีเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ขาขาดเช่นกันจากการโดนยิงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขายังเล่าถึงผู้ป่วยอีกรายที่ไปนอนรักษาตัวอยู่บนเตียงข้าง ๆ กันชื่อสินชัยซึ่งขับรถ บขส.ลุยเข้าไปในพื้นที่ที่แยกอุณากรรณ สินชัยโดนกระสุนเอ็ม 16 ที่ทะลุตัวรถเข้าไปฝังตัวเรียงกันเป็นตับอยู่ในขาขวาของเขา

“คือขาข้างขวาทั้งแถบ กระสุนทะลุรถเข้ามา มาคาอยู่ที่ขาหมด หมอบอกไม่ต้องนับ คงหมดแม็ก”

ทั้งพีระศักดิ์และประเวศจึงได้เพื่อนมาหลายคน บางคนกลายเป็นเพื่อนสนิทไปก็มี

ออกจากโรงพยาบาลก็เป็นอันชัดเจนกับพีระศักดิ์ว่าเขาต้องตกงานเพราะขาขาดย่อมไม่สามารถไปทำงานส่งของได้เหมือนเดิม เขากลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านจนกระทั่งในที่สุดพี่ชายที่ทำงานร้านทองและแยกตัวออกมารับจ้างทำเอง ได้เสนอให้เขาไปช่วยงานซึ่งเริ่มต้นด้วยการฝึกการเป็นช่างทำทอง ชีวิตพีระศักดิ์เปลี่ยนทิศทาง แต่เมื่อมองย้อนกลับไป พีระศักดิ์บอกว่าเขาไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองเลยว่าคิดถูกหรือผิดที่ออกจากบ้านไปราชดำเนินในวันที่ 14 ตุลา 2516

“ไม่ได้คิด โดนแล้วก็โดนเลย ก็หาอาชีพใหม่ ทางบ้านก็คอยซัปพอร์ต ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ก็มาทำงานงานฝีมือดีกว่า มีขาข้างเดียวก็ยังทำได้ ก็ยังโชคดีที่พี่ชายทำทอง คือแยกตัวรับมาทำเองที่บ้าน จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดนะ คือผมเป็นคนไม่มานั่งเสียใจ ถ้ามันจะเกิดก็ต้องเกิด คิดอีกมุม มันยังดีกว่าการไปเกิดอุบัติเหตุและถือว่ายังโชคดีที่เราไม่เป็นมากกว่านี้ และมันก็ทำให้เราได้รู้อะไรอีกหลาย ๆ อย่าง เช่นน้ำใจ ความรักของพ่อแม่ที่ให้เราที่เขาไม่เคยแสดงออก”

เหตุการณ์ 14 ตุลาเปิดโลกใหม่สำหรับพวกเขาอย่างมากก็เพราะเรื่องทหารยิงประชาชนนี้เอง พวกเขายอมรับว่าเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายและมันเปลี่ยนวิธีมองหลายเรื่อง แม้จะมีความเจ็บปวดและสูญเสีย แต่มันกลับผลักดันทั้งสองคนให้สนใจการเมืองหนักมากกว่าเดิม

“สมัยเด็กมีแต่คำขวัญทหารเป็นรั้วของประเทศ แต่พอมีเรื่องกลับเป็นว่าเอาทหารมายิงประชาชน” พีระศักดิ์ว่า

ยิ่งกว่านั้น ในช่วงแรก ๆ ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับว่ามีการทำร้ายประชาชน ประเวศบอกว่าเมื่อเขาได้ยินรายงานข่าวอ้างตัวละครสำคัญในการยิงสังหารประชาชนบอกว่าไม่มีใครโดนยิงทำให้โกรธมาก

“เขาประกาศทางวิทยุนะ บอกล้มทับกันเอง พวกผมก็พากันไปเลยที่สนามหลวง นี่ไง ไหนว่าไม่มีคนโดน”

ประเวศเชื่อว่าเพราะการไม่สำนึกและยอมรับผิดนี้เองที่ทำให้เกิดเรื่องต่อเนื่องและทำให้การเมืองไทยช่วงนั้นมีอาการ “เหมือนจะจบแต่ไม่จบ” มันขยายตัวต่อยอดไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลา 2519 หรืออีกราวสามปีให้หลัง

พีระศักดิ์บอกว่าในช่วงแรก ๆ เขาโกรธและเกลียดทหารมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปอายุมากขึ้นและมีประสบการณ์ชีวิตเนื่องจากผ่านการเรียนรู้เพิ่มเติมทำให้เขาเริ่มยอมรับได้ว่า ทหารที่ยิงเป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องรับคำสั่งมาและหากไม่ทำก็จะมีความผิด เขาบอกว่าเรื่องนี้พอจะยอมรับได้ แต่กับคนสั่งการนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

“อันนี้พูดจริง ๆ ว่าไม่โอเค ก็ยังนึกอยู่จนทุกวันนี้ คนสั่งเขาก็เห็นว่าคนมาเยอะขนาดนี้ สั่งยิงคนที่ไม่มีอาวุธ มันไม่น่าจะทำกันขนาดนี้ ทุกวันนี้ก็ยังคาใจ ถึงเขาจะตายไปแล้วเราก็ยังคาใจ” พีระศักดิ์บอกว่าเท่าที่เขารู้ไม่เคยมีการแสดงความเสียใจหรือขอโทษใด ๆ จากผู้สั่งการ เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรบวชเป็นเณรกลับเข้าประเทศไทย พีระศักดิ์จึงลงความเห็นว่ามันเป็นการยืนกรานว่าตัวเองไม่ผิดและไม่ยอมรับในการกระทำ และนั่นคือจุดที่เขาเชื่อว่ากลายเป็นชนวนเหตุให้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอีกครั้งหนึ่งและเป็นที่มาของการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลา 2519

“ยังไงเขาก็ไม่ยอม เขาจะเอาอำนาจของเขาคืน”

พีระศักดิ์มองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคมเป็นความพยายามเรียกคืนอำนาจด้วยการปราบกลุ่มนักศึกษา เขายอมรับว่าในเวลานั้นนักศึกษาเองก็เคลื่อนไหวหนักไปจนคนส่วนหนึ่งรับไม่ได้เช่นกัน ในห้วงเวลานั้นนักศึกษาสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหลากหลายที่เกิดขึ้นรอบด้านในห้วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งนั่นทำให้เกิดภาพของความปั่นป่วนวุ่นวาย เมื่อมองย้อนหลังพีระศักดิ์รู้สึกว่าเขามองทะลุไปถึงความวิตกกังวลของทั้งสาธารณะจำนวนหนึ่งและชนชั้นนำทางการเมืองของไทยในเวลานั้น

ในวันที่ 5 ตุลา 2519 พีระศักดิ์อยู่ในธรรมศาสตร์ เพราะก่อนหน้านั้นบรรดาญาติวีรชน 14 ตุลาได้รับแจ้งให้ไปร่วมประชุมเพื่อพูดคุยกรณีการกลับเข้าประเทศไทยของจอมพลถนอม พีระศักดิ์และพี่ชายได้ไปค้างคืนในมหาวิทยาลัยโดยเข้าไปตั้งแต่วันที่ 4 ตุลา เขาอยู่ในนั้นถึงเย็นวันที่ 5 และได้ตระหนักถึงบรรยากาศและสถานการณ์ที่เริ่มรุนแรงตั้งแต่เช้า โดยที่ด้านนอกมหาวิทยาลัยมีกลุ่มกระทิงแดงรวมตัวไปก่อกวน ภายในมหาวิทยาลัยเริ่มมีคนบาดเจ็บเพียงแต่ยังไม่มาก เย็นวันที่ 5 ตุลา เมื่อเห็นว่าสถานการณ์มีเค้าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แกนนำนักศึกษาจึงส่งตัวพวกเขาออกมาจากมหาวิทยาลัยโดยใช้วิธีให้กลุ่มนักศึกษาจับมือกันยืนเป็นกำแพงคุ้มกันและส่งตัวออกจากพื้นที่ผ่านทางประตูท่าพระจันทร์ มีรถไปรับพวกเขาออกมาจากจุดดังกล่าวซึ่งพีระศักดิ์บอกว่า กว่าจะกลับถึงบ้านที่ตลาดพลู พวกเขาต้องเปลี่ยนรถถึงสองครั้งเนื่องจากกลัวการติดตาม

“เช้าวันที่ 6 ดูข่าวว่าไปถึงไหน เขาบอกว่ามีการล้อมปราบแล้ว ยิงกันตั้งแต่ตีห้า

อันนี้ช็อกยิ่งกว่า 14 ตุลา คือ 14 ตุลานั้นเรารู้ตัวเราเข้าไปอยากมีส่วนร่วม แต่อันนี้เราออกมาแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะเป็นขนาดนี้ คือคิดว่าคงจะล้อมเฉย ๆ เดี๋ยวคงเจรจากันได้ แต่ที่ถ่ายรูปมานี่มีการยิงกันแล้ว”

“ตอนนั้นเขาอ้างว่าข้างในมีคอมมิวนิสต์ เพราะนักศึกษาสะสมอาวุธ เขาถึงต้องปราบ ความรู้สึกผมมันค้านกับข่าว  มันไม่จริง ก็เราอยู่ในนั้น มันจะเป็นไปได้ยังไง เราเข้าไปก็เห็น ๆ อยู่ไม่มีอะไรเลย เรารู้สึกแต่ไม่รู้จะพูดยังไง กับคนที่คุยได้ก็บอกไม่จริง ใครมาถามบอกผมคนหนึ่งล่ะไม่เชื่อ เพราะเท่าที่เราเห็นไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่คนที่ไม่รู้ดูแต่ข่าวก็จะเชื่อ ประชาชนบางคนที่ไม่รู้ก็คิดว่าเป็นเวียดนามเป็นอะไร อนาถใจจริง ๆ นักศึกษาทั้งนั้นที่โดน มันบอกไม่ถูก เขาไม่ได้ผิด นสพ.นี่แหละตัวปั่นข่าวทำให้คนเกลียดกันเอง”

ประเวศเองก็ไปธรรมศาสตร์เหมือนกันในวันที่ 6 ตุลา เขารู้ว่านักศึกษาเจอข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อไปถึงธรรมศาสตร์ ประเวศเห็นภาพการสังหารภายนอกมหาวิทยาลัย เขาเห็นคนวิ่งออกมาข้างนอกแต่แทนที่จะได้รับความช่วยเหลือกลับถูกจับและรุมทำร้าย เขาเห็นฉากการเอาศพมาวางทับกันและเห็นฉากการเผายางอย่างถนัดชัดเจน ที่ติดอยู่ในความทรงจำมากที่สุดคือภาพที่บางคนในกลุ่มนั้นที่ยังไม่ตายดีด้วยซ้ำในขณะที่ถูกเผา

“ผมยืนดูอยู่ก็ค่อย ๆ ถอยออก ถ้าเราออกตัวก็คงตายด้วย”

14 และ 6 ตุลา เป็นบทเรียนครั้งใหญ่สำหรับพีระศักดิ์และประเวศ จากในช่วงแรกที่ไปร่วมการชุมนุมเพราะอยากรู้อยากเห็น พวกเขากลายเป็นคอการเมืองที่เหนียวแน่นและไปร่วมหรือไม่ก็ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองแทบทุกงานชนิดไม่มีพลาดรวมทั้งเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งพีระศักดิ์บอกว่าเป็นงานเดียวที่เขาแค่แว่บ “ไปดู” ในการแวบไปดูนั้นยังเอาลูกชายไปด้วยพร้อมทั้งชี้ให้ดูจุดสำคัญ ๆ ของการล้อมปราบในช่วง 14 ตุลา 2516 ส่วนประเวศไปสังเกตการณ์การชุมนุมทุกฝ่ายรวมถึงของ กปปส.และแน่นอนว่ารวมถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วย ประเวศบอกว่าเขาวนเวียนไปเปิดโลกทัศน์สะสมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเมืองให้กับตัวเองด้วยคำถามว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย เขาได้คำตอบว่าการยึดอำนาจคือหนทางสู่ผลประโยชน์

“คนทำรัฐประหารไม่เคยจน” เขาว่า

มาจนถึงปัจจุบันพวกเขาก็ยังรู้สึกว่าการเมืองไทยวนเวียนที่เดิม อยู่กับการต่อสู้ประเด็นเดิม

ในขณะที่พวกเขาเรียนรู้ว่าผู้มีอำนาจที่กระทำต่อประชาชนแทบไม่ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำ อีกด้านพวกเขาก็รู้ด้วยตัวเองว่า ประชาชนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 14 ตุลา 2516 นั้นส่วนใหญ่คือคนธรรมดาสามัญและมือเปล่าไร้ซึ่งสถานะใด ๆ อันทำให้ยากขึ้นไปอีกในอันที่จะต่อรอง เห็นได้ชัดจากการเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจที่ยากเย็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในการเยียวยาก็ใช้เวลาเนิ่นนาน ประเวศทวนความหลังว่า ในช่วงหนึ่งของการเรียกร้อง เขากับเพื่อนไปปักหลักนอนกันที่หน้ารัฐสภากินเวลาร่วมเดือน กว่าที่จะมีนักการเมืองไป “มองเห็น” พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือในที่สุดจากรัฐบาลเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 32 ปี จากการตัดสินใจของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อเดือนมีนา 2549 ให้จ่ายเงินช่วยเหลือวีรชนและญาติวีรชนโดยประเมินจากผลกระทบและรายได้ที่ควรจะได้หากไม่พิการหรือทุพพลภาพบวกกับดอกเบี้ย พวกเขาได้รับเงินชดเชยกันไปคนละราวล้านกว่าบาทแต่ใช้เวลากว่าสามสิบปีถึงจะได้มา

ถัดมาในสมัยของรัฐบาล นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากมีการร้องขอและผ่านการต่อรองกันแล้ว ครม.ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือให้กับวีรชนและญาติวีรชนที่ยังเหลือโดยรัฐบาลตกลงจะจ่ายเป็นรายเดือนให้คนละ 7,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้กลับถูกระงับไปในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามากุมอำนาจบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อกลุ่มญาติวีรชนไปติดตามทวงถามเรื่องดังกล่าว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีมติใหม่ให้จ่ายเงินช่วยเหลือให้พวกเขาเดือนละ 3,000 บาทต่อคน

คุณประเวศ เอมอมร

ประเวศเปิดเผยว่าเขาและเพื่อน ๆ อยากจะดำเนินเรื่องเพื่อร้องขอต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับไปรื้อฟื้นมติของ ครม.ชุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมาอีกครั้งในเรื่องการช่วยเหลือกลุ่มญาติวีรชนซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในวัยเจ็ดสิบขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพไม่ทางกายก็ทางใจ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถรับมือกับช่วงเวลาที่เหลือของชีวิตได้และอย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งมีทุนพอสมควรในการร่วมมือกันทำงานเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต

รายชื่อของผู้เสียชีวิตในกรณี 14 ตุลานั้นได้รับการจารึกไว้ที่อนุสรณ์สถานบนถนนราชดำเนิน ส่วนคนที่เหลืออยู่ที่ยังต้องแบกรับผลพวงของการบาดเจ็บทุพพลภาพ พิการ หรือมีปัญหาทางด้านจิตใจและสมอง ในจำนวนร้อยกว่าคนนั้น หลายคนล้มหายตายจากไปตามกฎของธรรมชาติ คงเหลืออยู่ราวหกสิบคน จากการพูดคุยพบว่า พวกเขารู้จักกันแทบทั้งหมดผ่านการเข้าร่วมงานรำลึกในแต่ละปีรวมไปถึงกิจกรรมที่ดูแลกันเองของกลุ่มญาติ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การจัดงานรำลึกก็ทำได้น้อยลงเรื่อย ๆ การทำกิจกรรมใด ๆ ร่วมกันก็เช่นกันเพราะพวกเขาไม่ได้มีทุนในขณะที่เรี่ยวแรงก็ร่อยหรอลง แต่สำหรับปีนี้ ประเวศตั้งใจแน่วแน่ว่าเขาและเพื่อนบางคนที่เหลืออยู่อยากจะจัดงานอีกสักครั้งเพราะถือว่าเป็นการครบรอบห้าสิบปีของเหตุการณ์

แม้จะอธิบายได้ไม่คล่องแคล่วแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า 14 ตุลาคือเหตุการณ์จุดหักเหสำคัญในชีวิตสำหรับพวกเขา มันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่ยังดำเนินต่อไป มันเป็นบทเรียนที่แลกมาด้วยเลือดและน้ำตาของคนธรรมดาสามัญดังที่มีใครสักคนในหมู่พวกเขานิยามสิ่งที่ได้มาว่า มันคือเกียรติยศข้างถนนนั่นเอง