ชายขอบของข่าว มีเรื่องเล่าอยู่ตรงนั้น - Decode
Reading Time: 2 minutes

“บางทีออกไปลาดตระเวณเจอทหารเมียนมา เราก็ไม่ได้ยิงกัน ก็แค่ตะโกนบอกกันว่าอย่าล้ำเขตเข้ามา”

คำบรรยายด้านบนเป็นหนึ่งคำบอกเล่าจากนักรบกระเหรี่ยงแดงสะท้อนอีกแง่มุมในสนามรบ ผมคัดมาจากหนังสือ ‘คนชายข่าว คนชายขอบ ส่องนิเวศวัฒนธรรมและผลกระทบข้ามแดน’ 

หนังสือเล่มเล็ก ๆ ความหนา 173 หน้า ได้บรรจุชีวิตผู้คนริมชายแดน บางเรื่องเป็นเรื่องราวของทหารนักรบ บางเรื่องมาจากซอกมุมชุมชนที่กำลังถูกรัฐและทุนรุกคืบชูธงในนามของการพัฒนาที่พร้อมเบียดขับผู้คนที่อาศัยมาก่อนให้พ้นทาง หนังสือเล่มบางนี้ มาจากประสบการณ์ทำข่าวของ ภาสกร จำลองราช ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการสำนักข่าวชายขอบ

แม้เรื่องราว 20 เรื่อง จะบรรจุวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว กัมพูชา และ มาเลเซีย แต่ฉากหลังล้วนเป็นเรื่องการเข้ามาของทุนต่างชาติ เขื่อนในแม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน และโครงการขนาดใหญ่ หรือบางเรื่องก็เป็นชีวิตผู้คนที่หนีตายจากประเทศหนึ่ง แต่กลับกลายมาเจอชีวิตที่ย่ำแย่ในอีกประเทศหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2554 แต่ว่าช่วงหนึ่งใน “จากใจผู้เขียน” ได้อธิบายความจริงที่อ่านในวันนี้ก็ยังคงร่วมสมัย

“ที่ผ่านมาสังคมไทยรู้จักประเทศรั้วติดกันน้อยมาก และมองปัญหาของเพื่อนบ้านเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในระบบนิเวศขนาดใหญ่ของดินแดนสุวรรณภูมิที่เชื่อมร้อยกันหมด ไม่ว่าจะเกิดการทำลายล้างในจุดใด ย่อมส่งผลกระทบถึงกัน ดังนั้นการเรียนรู้ข้อเท็จจริงในทุกพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

หนีความตาย กลายมาเป็นสินค้ายี่ห้อกะเหรี่ยงคอยาว

ในบรรดาเรื่องเล่าในเล่มที่ข้องเกี่ยวกับผู้คนหลายพื้นที่ ผมรู้สึกกับเรื่องเล่าผู้คนที่หนีภัยจากเมียนมา อาจจะเพราะว่าพอจะมีโอกาสได้ทำงานสื่อสารที่ข้องเกี่ยวอยู่บ้าง แต่เรื่องการหาประโยชน์จากพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านการท่องเที่ยวเป็นอะไรที่สะเทือนใจผม

ภาสกร ได้เล่าว่า พี่น้องกะเหรี่ยงคอยาวถูกทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์จุดขาย ทั้ง ๆ ที่ในความจริงในชุมชนทั้งหญิงชาย ส่วนใหญ่ไม่ได้สวมห่วงที่คอและหน้าแข้งตลอดเวลา แต่เพราะการชูจุดขายคนใส่ห่วงให้กลายเป็นภาพประหลาดเหนือจริงทั้งในสื่อและการท่องเที่ยวอย่างหนักทำให้ส่งผลด้านกลับ ทำคนที่ไม่ใส่ห่วงกลายเป็นคนไร้มูลค่าในสายตาของทางการและนักธุรกิจ

แต่ถ้าคุณใส่ห่วงคุณจะมีหน้าที่นั่งเฉย ๆ ในกระท่อมหลังน้อยรอคอยนักท่องเที่ยว แล้วจะมีผู้จัดการคอยดูแลให้เงินเดือนละ 1,500 บาท แถมข้าวสาร น้ำมันพืช

ภาสกร เล่าว่า กะเหรี่ยงคอยาว หรือกะยาง หรือปะด่อง เป็นผู้ลี้ภัยความตายจากรัฐคะยาในฝั่งเมียนมา แต่หลังจากที่ย้ายหนีภัยมาฝั่งไทย ต่อมาได้มีคนจากทางการไทยในแม่ฮ่องสอนได้โน้มน้าวแกมข่มขู่ให้ชาวกะยางย้ายจากบ้านในสอยและห้วยเสือเฒ่า ให้เข้าไปอยู่บ้านห้วยปูแกง ด้วยเหตุผลการจัดระเบียบเพื่อความมั่นคงของประเทศ และบอกชาวบ้านว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในพื้นที่ใหม่ 

แต่สุดท้ายชีวิตของชาวกะยาง ไม่ได้ดีตามคำโฆษณา ทำให้หลายครอบครัวขอย้ายกลับไปที่บ้านห้วยเสือเฒ่า และบ้านในสอย ซึ่งเป็นจุดแรกที่พวกเขาหนีสงครามเข้ามา ในเรื่องเล่าชิ้นนี้สะท้อนการหาประโยชน์ผ่านท่องเที่ยวของรัฐ แม้จะชูเป็นจุดขาย แต่ชาวกะยาง สภาพความเป็นอยู่ในชีวิตไม่ได้ดีขึ้น พวกเขาต้องไปหาหน่อไม้ประทังชีวิต หรือแม้แต่บางครอบครัวมีการติดต่อให้ไปอยู่ประเทศที่สามอย่างฟินแลนด์ แต่ก็ไปไม่ได้เพราะจังหวัดไม่ยอม

ภาสกร ได้ถ่ายทอดบทสรุปของชาวกะยางที่ต้องอยู่ในหมู่บ้านในฐานะสินค้าและการท่องเที่ยวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า

“ที่ผ่านมามีประเทศที่ 3 หลายประเทศแสดงควมจำนงว่าต้องการรับคนกะเหรี่ยงคอยาวไปอุปการะ แต่ทุกครั้งจะได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลด้านการท่องเที่ยว ขณะที่แม่ฮ่องสอนมีคนเชื้อสายชนเผ่าต่าง ๆ อยู่ค่อนจังหวัด แต่ภาระดึงดูดนักท่องเที่ยวไปตกอยู่ที่กะเหรี่ยงคอยาวเพียงเผ่าเดียว”

ผมอ่านเรื่องราวนี้แล้วนึกถึงภาพป้ายไวนิลหลายแห่งที่เด่นหลาในเมืองท่องเที่ยว ที่ขายเรื่องราวของชาติพันธุ์ ผมไม่แน่ใจนักว่าชีวิตของผู้คนในป้ายเหล่านั้น มีความเป็นอยู่เช่นไร หลังจากนี้คงเป็นคำถามที่ติดอยู่ใจ

ถ้าชีวิตชาวกะยาง หรือปะด่อง ที่ข้ามมาฝั่งไทยกลายเป็นที่รู้จักในนามของ “กะเหรี่ยงคอยาว” พวกเขาคือชนกลุ่มหนึ่งในรัฐคะเรนนี ซึ่งประกอบด้วย คะยา กะยอ และปะกู นอกจากเรื่องราวผู้หนีข้ามแดนในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึงเพื่อนร่วมชาติพันธ์ุที่ยังต่อสู้อยู่ในฐานะกองกำลังกู้ชาติ ที่เลือกจับอาวุธปะทะกับทหารเมียนมามาถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่านักรบกระเหรี่ยงแดง

ในหนังสือเล่มนี้ภาสกรได้เล่าเรื่องราวของนักรบกองทัพ ‘คะเรนนี’ รัฐเล็ก ๆ ที่อยู่ติดชายแดนไทยบริเวณภาคเหนือ หรือที่คนไทยเรียก “กะเหรี่ยงแดง”  ซึ่งเป็นกองกำลังที่จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมามาเพราะถือว่าตนเองเป็นรัฐอิสระ ในนาม (Karenni Nationnal Progressive Party : KNPP) มีฐานที่มั่นอยู่ตามป่าสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน แต่ถอยร่นมาอยู่แนวชายแดนไทย

ภาสกรได้เล่าเรื่องราวของ ‘บยาแดะ’ ทหารในกองทัพกู้ชาติคะเรนนี ที่มีบ้านเดิมอยู่ที่เมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐคะเรนนี แต่หลังจากโดนทหารเมียนมาบุกเมืองก็ไม่มีโอกาสกลับบ้าน เหลือแต่ญาติที่อยู่บ้านเดิม

ในงานเขียนชิ้นนี้เล่าถึงชีวิตในกองทัพคะเรนนีไว้ว่า กองทัพกู้ชาตินี้ไม่มีเบี้ยเลี้ยงหรือเงินเดือน ทหารบางส่วนยังต้องลงจากฐานที่มั่นบนดอยไปรับจ้างเพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว และแบ่งรายได้สนับสนุนภารกิจกู้ชาติ ทำภารกิจในสนามรบหกเดือน และกลับไปรับจ้างในเมืองหกเดือน

“หลายคราวที่ทหารคะเรนนีจับทหารเมียนมาได้ แต่ก็นำมากักตัวไว้เฉย ๆ สักพักแล้วก็ปล่อยไป บางทีบางครั้งความเข้าใจและความเห็นใจกันเกิดขึ้นได้เสมอ แม้แต่ในสนามรบ เสียงปืนยังดังแว่วประปรายให้ชวนสงสัยอยู่เสมอ กระสุนทุกนัดที่ยิงออกมานั้นเพื่ออะไร”

พอกลับมาอ่านเรื่องนี้ในหนังสือ ผมจึงนึกออกว่าเคยอ่านและผ่านตางานเขียนเกี่ยวกับกองทัพกะเหรี่ยงแดงใน “สำนักข่าวชายขอบ” ที่ลงไว้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พอกลับไปดูในเว็บไซต์จึงได้ทราบจากหมายเหตุว่าเป็นงานเขียนในช่วงปี 2550

ผ่านมา 16 ปี หลังจากที่ภาสกรเขียน ณ วันนี้ การปะทะยังคงอยู่ และดูเหมือนรุนแรงมากขึ้น ในรายงานของไทยพีบีเอสเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า การสู้รบในรัฐคะเรนนี ทำให้มีผู้พลัดถิ่นกว่า 230,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 9,000 คน ทะลักเข้ามายังชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน

ในรายงานชิ้นเดียวกันระบุว่าหลังรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 โดย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ทำลายข้อตกลงการหยุดยิงที่เคยทำกันไว้เมื่อสิบปีก่อน ทำให้กระแสการปฏิวัติในหมู่ชาวคะเรนนี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) กลุ่มติดอาวุธเกิดใหม่ที่ต้องการโค่นล้มและต่อต้านคณะรัฐประหาร ด้วยเหตุผลนี้ทำรัฐคะเรนนี เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่กองทัพเมียนมาต้องเข้ายึดครองให้ได้

ผู้หนีภัยสงคราม

“ชาวบ้านที่หนีมาอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่ยังหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับบ้าน อยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขเหมือนอยู่บ้าน”

ข้อความข้างตนเป็นบทสทนาในค่ำคืนในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ภาสกรได้มีโอกาสไปนอนค้างในศูนย์รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบ ‘อิตุท่า’ ริมแม่น้ำสาละวิน บนฝั่งแดนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

ภาสกรเล่าต่อว่าคนในค่ายที่หนีมาจากตอนใต้เมืองตองอู เล่าให้ฟังว่า ทหารเมียนมาเมื่อทหารเมียนมาเข้ามาแล้วบังคับไม่ให้ทำนาทำไร่ พวกเขาต้องไปหลบซ่อนในป่า ต้องใช้การเดินเท้า ไม่เว้นแม้แต่เด็กหรือคนแก่ บางคนต้องใช้เวลาเดินอยู่ 7 วัน

“ชาวบ้านอีกจำนวนมากยังหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ เพราะหวังว่าทหารเมียนมาจะออกไป พวกผู้ชายหลบอยู่ในป่า พอกลางคืนค่อยหลบกลับไปดูบ้าน” หนึ่งผู้อาศัยในศูนย์รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบบอกเล่า

ผมอ่านเรื่องราวเหล่านี้แล้วเห็นภาพลาง ๆ แม้มันจะเป็นคนละพื้นที่กับในหนังสือ เพราะผมไม่เคยไปชายแดนไทยเมียนมาริมน้ำสาละวิน แต่พอจะมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียง ได้ฟังเสียงผู้หนีการปะทะริมแม่น้ำเมย พอที่จะทำให้เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้มีชีวิตแนบสนิทกับเรื่องในความทรงจำ

บ่ายวันหนึ่งในเดือนมกราคม 2565 ผืนดินทรายริมแม่น้ำเมย แถบ ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก มีหลังคาผ้าใบ และบ้านที่สร้างอย่างง่าย ๆ เพื่อใช้อยู่อาศัย เสียงเด็กเล่นน้ำ และเสียงปืน ดังสลับเคล้ากับภาษาที่ผมฟังไม่เข้าใจ

ภาพมนุษย์ต้องมาพักอาศัยริมน้ำ หรือ พื้นที่ที่ไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ (No Man’s Land) ตามแนวพรมแดนริมน้ำเมย เป็นผลลัพธ์จากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 เกิดการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมาและทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) การสู้รบดังกล่าวยาวนานเกือบ 1 เดือน ทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องหนีภัยสงคราม

การลงพื้นที่ครั้งนั้นผมได้มีโอกาสคุยกับผู้หนีการสู้รบคนหนึ่งระหว่างเดินข้ามแม่น้ำมารับของบริจาค เขาบอกกับผมว่า “ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงตอนนี้ ทุกคนก็ไม่สามารถทำงาน ทำอะไรได้เลยได้แต่ไปโน้นไปนี่ที หากินอยู่รอดไปเรื่อย ๆ สำหรับคนที่ไม่มี ก็ไม่กล้าพูดหรอก ว่าเราไม่มีจะกิน”

ผมยังจำบรรยาการวันนั้นได้ดี อันที่จริงผม และเพื่อน ๆ สื่ออยากไปที่ ‘คอกวัวเมยโค้ง’ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวจุดสำคัญในช่วงนั้น เพราะมีรายงานว่ามีผู้หนีการสู้รบหลายพันคนอยู่ที่จุดนั้น แต่เราไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะทหารสกัดกั้นสื่อไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ แม้จะพยายามสื่อสารแค่ไหน ทหารประจำการก็ไม่อนุญาตให้พวกเราผ่านไป

จริง ๆ ก่อนมาจุดนี้ ผมได้มีโอกาสไปเจอชาวเมียนมาที่หนีสงครามเข้ามาอีกคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาได้หนีเข้ามาก่อนเกิดการปะทะหนัก อาศัยการรับจ้างทำไร่ให้กับนายจ้าง เขาบอกว่าเขายังโชคดีที่หนีมาทัน ยังมีญาติพี่น้องอีกหลายคนที่ยังอยู่ฝั่งเมียนมา แต่ว่าคงหาทางช่วยเหลือกันต่อไป

ในการลงพื้นที่คราวนั้นผมได้ลงไปจุดนี้หลายวัน ระหว่างผมถ่ายภาพ พี่นักข่าวที่ไปด้วยกันได้ไปคุยกับทหารไทยที่ทำหน้าที่เฝ้าริมน้ำ บทสนทนาวันนั้นยังอยู่ในใจ ทหารนายหนึ่งบอกว่าเขาเห็นผู้คนอาศัยอยู่ริมน้ำ เมื่อเห็นคนเฒ่าคนแก่แล้วคิดถึงยายที่บ้าน บางคนป่วยต้องการยา ภาพคนที่ต้องมานอนกลางดินกินกลางทรายเป็นสิ่งที่สะเทือนใจทหารที่ต้องเฝ้าประจำการ

หรือแม้แต่เด็ก ๆ ที่อยู่ริมน้ำจากการถามล่ามที่ไปด้วย เมื่อถามว่าอยากได้อะไร หลายคนบอกอยากกลับไปเรียนหนังสือ

หลังจากช่วงเดือนมกราคมปี 2022 ผมไปแม่สอดอีกหลายครั้ง ได้คุยทั้งแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในโรงงาน แรงงานรับจ้างที่ผิดกฏหมาย ครูเมียนมาในไทย นักเรียนเมียนมาที่เรียนในไทย หลายคนต่างคาดหวังในการปะทะจบลง บางคนต้องตั้งต้นวางแผนชีวิตกันใหม่ เพราะประเทศเมียนมาไม่เหลือความแน่นอนสำหรับพวกเขา

และนานวันแม้มีข่าวคราวการปะทะ อาจเพราะมันเป็นเรื่องที่อยู่ไกล ความเดือดร้อน เสียงปืนที่ดังอยู่ริมชายแดนกลายเป็นความชินชา เป็นเพียงข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วผ่านไป

เดือนเมษายนที่ผ่านมาผมโทรไปคุยกับเพื่อนเมียนมาที่อยู่ในแม่สอด เธอบอกว่าพอเห็นข่าวสมาชิกสามคนของกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางแม่สอด เพื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ว่าถูกทางการไทยส่งกลับทางการเมียนมา อีกทั้งมีรายงานว่าได้ถูกสังหารในเวลาต่อมา เธอทั้งโกรธและเสียใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่โหดร้ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น

แม้จะผ่านมาสองปี ผมยังจำภาพเด็ก ๆ และคนเฒ่าริมน้ำเมยคราวนั้นได้ดี และเมื่อได้กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ความทรงจำเรื่องเล่าในเล่ม ทำให้ผืนน้ำสีทองกระทบแดดชัดขึ้นอีกครั้ง แม้ผ่านมานานแต่ความรู้สึกเศร้ายังคงอยู่ ภาพริมน้ำดอกหญ้าแม้สวยงาม แต่มันเป็นเรื่องผิดปกติที่มนุษย์ต้องมาอาศัยดื่มกินใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นด้วยพิษภัยสงคราม

Playread : คนชายข่าว คนชายขอบ
ผู้เขียน : ภาสกร จําลองราช
สำนักพิมพ์ : โครงการสื่อสารสุขภาวะของคนชายขอบ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี