ล้นป่า ล้ำชุมชน วิกฤตช้าง(นอก)ป่า - Decode
Reading Time: 3 minutes

15 ปีแล้ว ที่ช้างกลุ่มแรกเดินออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

10 กว่าปีแล้ว ที่ประชากรช้างล้นเกินขีดจำกัดจะรับมือไหว

การปะทะกันของคนและช้างคร่าชีวิตทั้งสองฝ่ายไปแล้วหลายชีวิต

ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ.2440 ประเทศไทยเคยมีจำนวนช้างป่ามากกว่าแสนตัว ทว่าวันนี้จากหลักแสนลดเหลือเพียงหลักพัน ช้าง หรือสัตว์ประจำชาติของไทยตกอยู่ในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (IUCN Endangered species) เพราะการล่าเอางาและการบุกรุกผืนป่าอย่างกว้างขวาง แผนรับมือเพื่อปกป้องป่าและช้างจึงถูกสร้างขึ้นมา และดำเนินการอย่างต่อเนื่องหวังคืนสมดุลให้ระบบนิเวศ

ความสำเร็จนี้ทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดที่เป็นหัวใจของระบบนิเวศรวมถึงช้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาด จนทำให้ช้างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่าผืนใหญ่รอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เริ่มเดินเตร็ดเตร่ออกจากป่า ถือกำเนิดความขัดแย้งระหว่างช้างและชุมชนรอบแนวเขตรักษาพันธุ์ฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และไม่มีทีท่าจะทุเลาลงในเร็ววัน

ถอดรหัสหลากมุมมองจาก SPECIAL FORUM: อยู่ร่วมหรือขัดแย้ง? คนกับช้าง ณ ป่าตะวันออก (A Fragile Coexistence – Humans and Elephants in Eastern Thailand) เมื่อยุทธศาสตร์ชาติระบุว่า คนต้องอยู่ร่วมกับสัตว์ได้ แต่ปลายทางและความต้องการจากคนในพื้นที่ ตลอดจนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ชวนหาคำตอบไปพร้อมกัน

อันตราย ระวังช้างป่า

“เราก็ไม่รู้ว่าการรองรับพื้นที่จัดสรรให้ช้างอยู่ได้ประมาณเท่าไร แต่ในสายตาคนพื้นที่ที่มองเห็น บางครั้งเราเจอกลุ่มหนึ่งเป็นร้อยก็มี”

เจือจุล แก้วคำ ผู้ใหญ่บ้านโปร่งเกตุ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า อธิบายว่า พื้นที่บ้านโปร่งเกตุ ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ห่างจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประมาณ 40 กิโลเมตร ช้างที่ชาวบ้านเจอ เมื่อออกมาจากป่าแล้ว ไม่ว่าจะเพราะลุ่มหลงกับอาหาร หรือขยายถิ่นที่อยู่ ก็สร้างปัญหาแก่ชุมชนและการทำมาหากินของชาวบ้าน อย่างไรก็ตามแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐทำงานร่วมกันมาโดยตลอด แต่การแก้ไขปัญหายังไม่เป็นที่บรรลุ

“แรก ๆ เราก็คิดว่าเขาจะกินแค่กล้วย อ้อย มัน สัปปะรด แต่ต่อมาเขาก็กินเปลือกไม้ ใบยางพารา บ้านไหนที่ปลูกต้นค็อกเทล (ปาล์มหางกระรอก) เขาจะมาฉีกกิน เขาไม่กินใบ แต่กินส่วนแกนต้น ถ้าปลูกติดบ้าน จะดึงดูดเข้ามาถึงชายคาเลย” เจือจุล ว่า โดยปรกติช้างที่พบจะอยู่กันเป็นฝูง 20-50 ตัว ประกอบด้วยช้าง 2 ประเภท คือ ช้างฝูง ส่วนใหญ่มีแม่ลูกอ่อน 20-30 และช้างโทน ช้างตัวผู้ หรือช้างตกมัน 7-10 ตัว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้พบเห็นได้

“บางครั้งที่เราเห็นเขาตัวใหญ่ก็อยากเข้าไปดู เข้าไปถ่ายรูป บางครั้งที่มีความเสียหายเกือบถึงชีวิตนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าช้างมีความเร็วสูง ตรงนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชน”

ปัญหาระดับช้าง

“มันไม่มีแนวโน้มจะลดลง แม้เราจะทุ่มสรรพกำลัง ทุ่มแนวทางการแก้ไขปัญหาออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ปัญหานี้ลุกลามบานปลายและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ”

เผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาช้างนอกเขตอนุรักษ์แพร่กระจายไปกว่า 16 กลุ่มป่า โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือ กลุ่มป่าตะวันออก หรือที่รู้จักในชื่อ EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นก็คือจังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี ซึ่ง ณ ตอนนี้มีจำนวนช้างป่าในป่าธรรมชาติต่อตารางกิโลเมตรสูงที่สุดในประเทศ

4,013-4,422 ตัว คือจำนวนของช้างป่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ว่ายังหลงเหลือในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาคนและช้างนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชตั้งเป้าหมายไว้ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งอาศัยของช้าง ทำแนวป้องกันช้างป่า ทำชุดผลักดันและเฝ้าระวังช้างป่าจากเครือข่ายของชุมชน ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า จัดการพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน และควบคุมประชากรช้าง

เผด็จ ยอมรับว่าแนวทางข้างต้นยังคงพบกับอุปสรรคมากมายด้วยหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การใช้หลักหาอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าที่ไม่สอดรับกันในแต่ละพื้นที่ การไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.ให้มีวัคซีนเพื่อทำหมันช้างและควบคุมประชากร ตลอดจนการไม่มีกฎหมายเยียวยาความเสียหายต่อประชาชน แต่เผด็จและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพื่อบรรเทาปัญหานี้อย่างสุดความสามารถ

“ในสมัยที่ผมอยู่อ่างฤาไน 2 ปี แรก ๆ เราไม่ได้มีความรู้ว่าปัญหาเรื่องช้างมันแก้ยังไง และผมได้ฝึกมาเรื่อย ๆ ฉะนั้นหน้าที่ของผมมันจับฉ่ายมากเลย คือทำยังไงให้ชาวบ้านอยู่ได้ก่อน”

พิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี กล่าว พร้อมเสริมว่า เมื่อมีปัญหาเรื่องช้าง ชาวบ้านมักจะคิดว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานทุกระดับคือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้หมด อย่างไรก็ตามการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้จำเป็นต้องใช้ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์หลายต่อหลายปี เพื่อเอาตัวรอดในการจัดการปัญหาช้างป่า “ถ้าเกิดการพลาดขึ้นมา ไม่ใช่แค่ว่าบาดเจ็บ แต่ถึงตาย” พิทักษ์ ว่า

โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่และชาวบ้านจะมีอคติต่อกันและกัน พิทักษ์ระบุว่า เป็นเรื่องที่ยากในการทำความเข้าใจ น้อยคนจะพร้อมเปิดใจรับฟัง ดังนั้นงานของตนคือการสื่อสารการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ให้ชาวบ้านที่ไม่ค่อยเข้าใจได้รับรู้

“ช้างออกมามากขึ้น เพราะวิถีของเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไป”

รศ.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากเทียบพื้นที่ป่า ปี 2500 จะพบว่า ประเทศไทยมีป่ามากกว่า 50% แต่ในปัจจุบันลดเหลือเพียง 31% ที่เป็นเขตป่าอนุรักษ์ โดยพื้นที่สีเขียวเหล่านี้หลังจากสัมปทานป่าไม้เรียบร้อยแล้ว และมีชุมชนเข้ามาอยู่รอบ ๆ ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับช้างไปโดยปริยาย

จากข้อมูลการกระจายของช้าง พบว่า ช้างค่อนข้างชอบพื้นที่ราบ และหากเทียบระหว่างหน้าแล้งกับหน้าฝนต้องลงรายละเอียดไปจนถึงพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกเพราะการเกษตรของภาคตะวันออกไม่เหมือนกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นมันสำปะหลัง แต่ช่วงนึงยางพาราราคาแพง เกษตรกรหันไปปลูกยูคาลิปตัส ช่วงนึงมีโครงการสนับสนุนการปลูกอ้อย เกษตรก็ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ช้างป่าก็ปรับตัวตามวิถีเกษตรกรรมที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ รศ.รัตนวัฒน์ ยังระบุว่า แหล่งน้ำก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ช้างออกมาภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการส่งเสริมการขุดบ่อน้ำขนาดเล็กในพื้นที่เกษตร และส่งเสริมแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อหล่อเลี้ยงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่าง EEC แม้พื้นที่เหล่านี้จะมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของช้าง นี่จึงเป็นหนึ่งโจทย์สำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องสื่อสารให้เกษตรกรรับรู้ ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขไปพร้อมกัน

อยู่ร่วม หรือขอแยก

“ถ้าอยู่ในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งไม่มีชาวบ้านมาทำกิน จะไม่มีปัญหา แต่ในพื้นที่ป่าหย่อมป่าที่มีพื้นที่ทำกินอยู่รอบ ๆ เหมือนที่อาจารย์พูดว่าเวลาพืชผลที่มันโตขึ้นจะเป็นแนวเชื่อมต่อของช้าง ซึ่งพอเกิดปัญหาเราก็ต้องยอมรับความจริง และคิดแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าอกเข้าใจกัน ช้าง เป็นสัตว์จะทำตามสัญชาตญาณ มนุษย์มีการคิดวิเคราะห์ ก็ต้องมาปรับกันในส่วนตรงนี้” 

เผด็จ เสริมว่าเราต้องทำความเข้าใจก่อนความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางกลุ่มได้รับผลกระทบมาก บอกว่า รับไม่ได้ อีกกลุ่มบอกว่า รับได้ แต่ห้ามเข้ามาในพื้นที่ทำกิน ในขณะที่อีกกลุ่ม รับได้ อยู่ร่วมกันได้ไม่มีปัญหา เมื่อผลกระทบมากขึ้นจนคนในพื้นที่ทนไม่ไหว เมื่อนั้นคำถามสำคัญจึงควรเป็นคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้ช้างกลับไปถิ่นที่เขาควรอยู่ 

“คำพูดว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่มีสิทธิ์อยู่บนโลก การอยู่ร่วมกันคือการอยู่ร่วมกัน ไม่มีใครในประเทศนี้อยู่ด้วยกันกับช้างป่าได้” เผด็จว่า เพราะบางครั้งการอยู่ร่วมกันคือต่างคนต่างอยู่แต่ต้องเรียนรู้กัน แม้จะชอบหรือไม่ชอบกันอย่างไร คนและช้างจะพบกันเสมอ เพราะเส้นต่าง ๆ ที่ขีดขึ้นเป็นเพียงเส้นสมมติ เป็นเพียงกติกาที่มนุษย์เขียนไว้แต่สัตว์ไม่รู้เรื่อง ดังนั้นการอยู่ร่วมกันไม่ควรสร้างความขัดแย้ง

เพราะในวันนี้ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโจทย์ของการคิดว่าจะนำช้างกลับเข้าป่าอย่างเดียว ด้าน รศ.รัตนวัฒน์ ก็ระบุว่า การหาแนวทางการพาช้างกลับป่าให้มีประสิทธิภาพก็ควรได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกัน เพราะหากนำตัวผู้ไปอยู่กับตัวผู้ก็ต้องห้ำหั่นกันจนตาย หากนำตัวผู้ไปอยู่กับตัวเมียโดยไร้มาตรการทำหมันที่มีประสิทธิภาพ ช้างก็มีลูกกลับออกมาด้านนอกอยู่ดี

จากบทสทนาที่มีทั้งเห็นตรงกันและต่างกันนี้ นำไปสู่บทสรุปที่หลายภาคส่วนมองเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ท้ายที่สุดแล้วการเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดของมนุษย์และเข้าใจพฤติกรรมของช้างตั้งแต่วันนี้ อาจเป็นทางออกให้ปัญหาคนและช้างลดน้อยลงในอนาคตได้