2 ปีไม่พบผู้ก่อเหตุสังหาร 'มานะ หงษ์ทอง' แต่พบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ 13 ตัว - Decode
Reading Time: 4 minutes

วันนี้(15 สิงหาคม 2566) ครบรอบ 2 ปีที่มานะ หงษ์ทอง ซึ่งถูกวัตถุคล้ายกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะขณะเดินทางกลับแฟลตดินแดงระหว่างที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อค่ำของวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ในวันดังกล่าวมีรายงานการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง โดยปรากฏภาพวีดีโอแสดงการยิงเข้าบริเวณหน้าคอนโดที่พักอาศัย และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มานะถูกยิง เขาล้มลงหัวฟาดพื้น นอนจมกองเลือดนานนับชั่วโมง จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ไม่มีกระบวนการค้นหาความจริงให้สิ้นสงสัย และไม่มีทีท่าต่อความรับผิดชอบใดๆจากตำรวจ คฝ.หน่วยงานผู้ควบคุมพื้นที่บริเวณที่มานะ หงษ์ทอง ถูกยิง มีเพียงส่งหนังสือกลับมาว่า “ตำรวจควบคุมฝูงชนไม่มีส่วนในเหตุการณ์”

ทั้งข้อมูลล่าสุดที่ได้รับจากทนายความที่รับผิดชอบคดีดังกล่าว ระบุทางตำรวจ สน.ดินแดงยุติการสอบสวน เพราะไม่สามารถหาตัวคนผิดได้

ผู้สื่อข่าว De/code ลงพื้นที่ในจุดเกิดเหตุและพบว่าพื้นที่ดังกล่าวที่มานะ หงษ์ทองถูกยิง มีกล้องวงจรปิดทั้งหมด 13 ตัว ในระยะโดยรอบไม่เกิน 20 ก้าวเดิน จุดที่มานะ หงษ์ทองถูกยิงเป็นบริเวณริมถนน ไม่มีมุมอับ มีแสงไฟชัดเจน ทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีเพียงตำรวจ คฝ.ที่ควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไม่สามารถหาหลักฐานหาตัวผู้ก่อเหตุได้

ไม่พบผู้ก่อเหตุ แต่พบกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ 13 ตัว

“ตำรวจแจ้งมาว่าการรวบรวมพยาน, เอกสาร, และหลักฐาน สรุปสำนวนคดีแล้ว คืองดการสืบสวน เพราะว่าไม่ทราบตัวผู้กระทำความผิด”

ทนายบี พรวิมล มุกขุนทด ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่เข้ามาดูแลกระบวนการยุติธรรมให้กับมานะ หงษ์ทอง ได้ให้ข้อมูลกับทาง De/code เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2023 ว่าที่ผ่านมาพยายามโทรไปติดตามความคืบหน้าเรื่องคดีความกับ สน.ดินแดง อยู่บ่อยครั้งแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า

จนกระทั่งต้องส่งหนังสือทวงถามติดตาม จนได้รับคำตอบจากตำรวจ สน.ดินแดงว่า การสรุปสำนวนคดีนั้นไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ และกำลังจะนำส่งพยานหลักฐาน ให้อัยการภายในวันที่ 10-14 ก.ค. นี้

ผู้สื่อข่าวจาก De/code ลงพื้นที่จำลองการเดินทางของมานะ หงษ์ทองในวันที่ถูกยิงพบว่า มานะเริ่มต้นเดินทางจากบ้านญาติของเขาในซอยสุคันธาราม เวลาประมาณ 18.00 – 19.00 น. ตามคำกล่าวอ้างของเพื่อนมานะ  เขาเดินจากซอยดังกล่าวเพื่อไปขึ้นรถเมล์สาย 12 ที่บริเวณ ถ.สุโขทัย

ด้วยในวันที่ 16 สิงหาคม 2021 ตำรวจปิดล้อมพื้นที่บริเวณแยกดินแดง รถเมล์จึงมาจอดส่งมานะ ที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้นเขาเดินผ่านด่านตรวจของตำรวจ ที่อนุญาตให้มานะเดินเข้ามาในพื้นที่ที่ถูกควบคุมอยู่โดยตำรวจ คฝ. เพื่อเดินกลับบ้านที่แฟลตดินแดง ตรงข้ามกระทรวงแรงงาน (ตามคำอ้างอิงของเอ๋ -หลานมานะ)

มานะเดินข้ามแยกดินแดง เดินเลาะฟุตบาทจนมาถึงบริเวณสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร เขาล้มลงตรงจุดดังกล่าว โดยถูกวัตถุของแข็งที่ไม่ใช่ของมีคมกระทบที่หน้าผาก

จากการลงสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2023 ผู้สื่อข่าวพบว่า พื้นที่ดังกล่าวที่มานะถูกยิง เป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีจุดอับ ทั้งยังมีแสงไฟส่องสว่างจากบริเวณถนน ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่ผู้ยิงมานะ จะกระทำไปเพราะความผิดพลาด โดยไม่ได้จงใจยิง

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบพบว่า ในรัศมีระยะก้าวเดินไม่เกิน 20 ก้าว บริเวณที่มานะล้มลง ผู้สื่อข่าวพบกล้องวงจรปิดทั้งสิ้น 5 จุด ทั้งหมด 13 ตัว

กล้องวงจรปิดจุดที่ 1 จำนวน 3 ตัว ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสี่แยกดินแดง โดยมีกล้องหนึ่งตัวจับภาพไปยังทิศทางที่มานะล้มลงอย่างชัดเจน

กล้องวงจรปิดจุดที่ 2 บริเวณสถานธนานุบาล จำนวน 2 ตัว เป็นกล้องวงจรปิดที่อยู่ใกล้กับจุดที่มานะล้มลงมากที่สุด

กล้องวงจรปิดจุดที่ 3 บริเวณธนาคารออมสิน จำนวน 2 ตัว คือตึกอาคารที่อยู่ถัดจากสถานธนานุบาล และมีข้อมูลว่าเป็นสถานที่ตรึงกำลังพลของตำรวจ คฝ.ในวันเกิดเหตุ

กล้องวงจรปิดจุดที่ 4 บริเวณหัวมุมถนนดินแดง ตัดเข้า ถ.มิตรไมตรี มีกล้องทั้งหมด 4 ตัว ครอบคลุมทุกทิศทาง ที่มีความเป็นไปได้ไม่ยากที่จะเห็นในจังหวะที่มานะล้มลง รวมทั้งเห็นภาพผู้ก่อเหตุ

กล้องวงจรปิดจุดที่ 5 จำนวน 2 ตัว อยู่บนเสาไฟฟ้าริมถนนดินแดงในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูง และทิศทางกล้องหันไปทางถนนดินแดง ทั้ง 2 ฝั่ง

ในขณะที่ตำรวจ คฝ.ปิดล้อมพื้นที่ และตรึงกำลังไว้บริเวณธนาคารออมสิน ที่ใกล้กับจุดที่มานะล้มลงไม่เกิน 10 เมตร เป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะไม่เห็นมานะล้มลง และเป็นไปได้อย่างไรกันที่ ตำรวจ สน.ดินแดงจะกล่าวว่า ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้

นอกจากนี้เมื่อย้อนดูคลิปวิดีโอในวันดังกล่าวก็พบเสียงจาก ตำรวจ คฝ.ที่บอกว่า

“ยิงเบิกทางเลยนะ ไม่ต้องถามละนะใครมา ยิงได้เลย”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า สน.ดินแดงกำลังปกปิดความจริง ไม่ยอมสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา?

“เรากังวลเรื่องการเข้าถึงพยานหลักฐาน (เรื่องกล้องวงจรปิดในพื้นที่ รวมทั้งเอกสารจากทางโรงพยาบาลถึงสาเหตุการตายของมานะ) ที่ทางทนายเข้าไม่ถึง แต่ตำรวจมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานเหล่านี้ ที่ผ่านมาเราพยายามขอหลักฐานทั้งกล้องวงจรปิด เอกสารทางการแพทย์ กับทางตำรวจมาโดยตลอด แต่เขาก็มีท่าทีกลับมาด้วยคำว่า ‘จำไม่ได้ว่ามีหรือเปล่า ต้องไปคุยกับนาย’”

ทนายบีได้ให้ข้อมูลกับทาง De/code ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาดูแลคดีความนี้ ความช่วยเหลือแรกคือการเข้าถึงการเยียวยา ที่ทางญาติของมานะ ได้รับเงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทั้งสิ้น 177,193 บาท จนกระทั่งช่วงเดือนมีนาคม 2022 มานะได้เสียชีวิต ด้วยความที่เขาไม่มีครอบครัว จึงไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมาย การขอเอกสารต่าง ๆ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน จึงเป็นไปด้วยความลำบาก

จากนั้นวันที่ 31 มีนาคม 2022 ทนายบีได้พาพรรณี สุขสมาน น้องสาวของมานะ เข้าแจ้งความ

กับตำรวจ สน.ดินแดง ในข้อหาการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส  รวมทั้งในคำร้องทนายบีกล่าวว่า ได้ระบุขอให้ตำรวจรวบรวมบันทึกกล้องวงจรปิดที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเอกสารทางการแพทย์ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่า ตำรวจ สน.ดินแดงได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน ตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่า ที่ทางทนายบีโทรไปขอข้อมูลติดตามความคืบหน้า ก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ จนกระทั่งทำหนังสือถึงผู้กำกับ สน.ดินแดง และได้คำตอบกลับมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สรุปผลสำนวนคดีไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด

“มันคือกระบวนการลอยนวลพ้นผิดของตำรวจ จากเหตุการณ์การชุมนุม 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครออกมารับผิดชอบในด้านคดีอาญา ที่ทำให้ประชาชนต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต”

ในขณะที่ไม่มีความคืบหน้าจากการสอบสวนคดีของตำรวจ สน.ดินแดง ทางทนายบีได้ยกรายงานอีกชุดจากทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เข้าไปสอบสวนกับทีมแพทย์และตำรวจในพื้นที่ โดยในรายงานอ้างอิงจากข้อมูลการรักษาพยาบาลของแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีระบุว่าบาดแผลของมานะ มีร่องรอยขนาด 3 ซม. เป็นร่องรอยที่เกิดจากของแข็งลักษณะคล้ายกระสุนยาง พร้อมระบุด้วยว่า พื้นที่ที่มานะล้มลงเป็นพื้นที่ที่ตำรวจ คฝ.ควบคุมพื้นที่ แต่กลับไม่ทำหน้าที่ในการแจ้งหรือปฐมพยาบาลใด ๆ

De/code ได้สรุปรายละเอียดจากรายงาน เพื่อให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์

รายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และถ้อยคำจากตำรวจ สน.ดินแดง

ในรายงานผลการตรวจการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า 
จากการพิจารณาคำร้องข้อเท็จจริงของฝ่ายผู้ร้อง (สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน) ว่านายมานะ หงษ์ทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะจากการใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุม ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน โดยปรากฎข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ประชาชนหลายกลุ่มได้จัดการชุมนุมคาร์ม็อบทั่วประเทศ เพื่อแสดงพลังกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีการจัดกิจกรรมครอบคลุมสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้าแยกลาดพร้าว แยกราชประสงค์ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 13.00 – 18.00 น. โดยภาพรวมพบว่าผู้เข้าร่วมได้ดำเนินกิจกรรมด้วยความสงบ

ในวันเดียวกันเวลา 17.00 น. ได้ปรากฏการชุมนุมของผู้ชุมนุมไม่ทราบกลุ่ม ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ เริ่มรวมกลุ่มกันที่แนวตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำมาติดตั้งเพื่อกีดขวางไว้ที่บริเวณแยกดินแดง ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต  
ผู้ชุมนุมมีการขว้างปาประทัด ยิงลูกแก้ว และตะโกนยั่วยุไปทางแนวตู้คอนเทนเนอร์ที่มีตำรวจประจำการอยู่  ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการใช้แก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่

จนกระทั่ง 19.45 น. ตำรวจ คฝ.ได้ตั้งแถวและเดินกระชับพื้นที่จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทางแยกดินแดง พบการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางตลอดการเคลื่อนแถว ผู้ชุมนุมยิงพลุตอบโต้ ตำรวจ คฝ.เดินบีบพื้นที่กดดันผู้ชุมนุมจนต้องถอยร่นไปยังแยกประชาสงเคราะห์ ตำรวจ คฝ.ตรึงกำลังครอบคลุมบริเวณตลอดถนนดินแดง

21.21 น. ได้มีการพบเห็นชายสูงอายุ สวมเสื้อลายสก็อต กางเกงยีนขายาว สะพายกระเป๋าและสวมรองเท้าผ้าใบ นอนหงายหมดสติอยู่ที่ฟุตบาทหน้าสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร สาขาดินแดง (ในบริเวณที่มีกล้องวงจรปิด 13 ตัว) บริเวณใกล้กันพบหมวกใบหนึ่งตกอยู่  จึงได้เรียกอาสาสมัครทางการแพทย์ที่ประจำการอยู่ในซอยมิตรไมตรี มาช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผู้พบเห็นได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวอยู่ในขณะนั้นว่า พบนายมานะนอนหมดสติอยู่เป็นเวลานาน ตั้งแต่ตำรวจ คฝ.ยังตรึงกำลังอยู่ที่หน้าธนาคารออมสิน สาขาดินแดง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่พบมานะ
ผู้พบเห็นได้เรียกให้ตำรวจ คฝ.ทราบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่พวกเขาไม่ให้ความสนใจ ทั้งนี้จากการตรวจสอบจากอาสาสมัครทางการแพทย์พบว่า มานะมีแผลลึกที่บริเวณศีรษะ ทำให้มีเลือดไหลกองอยู่บนพื้นเป็นจำนวนมาก เลือดบางส่วนมีลักษณะแห้ง ซึ่งน่าจะเกิดเหตุขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง จึงประสานนำตัวส่งโรงพยาบาลในเวลา 21.36 น.

จากข้อมูลการรักษาพยาบาลของแพทย์โรงพยาบาลราชวิถีระบุว่า ที่หน้าผากด้านขวาของมานะ มีแผลฉีกขาดที่ไม่ได้เกิดจากของมีคม ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า บาดแผลนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด ทั้งยังพบอาการสมองช้ำจากแรงกระแทกที่สมองด้านซ้าย แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเลือดออกจากสมอง และเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตรวจสอบบันทึกภาพจากการรายงานข่าวพบว่า มานะถูกทำให้บาดเจ็บในช่วงระหว่าง 20.11 น. ถึง 21.15 น. ก่อนที่จะมีผู้พบเห็นว่ามานะนอนหมดสติ

ในช่วงเวลาดังกล่าวตำรวจ คฝ.ได้กระจายกำลังอยู่บริเวณโดยรอบแยกดินแดงเป็นจำนวนมาก ผู้ชุมนุมถูกผลักดันไปอยู่ที่บริเวณแยกประชาสงเคราะห์แล้ว ทำให้ไม่พบว่ามีผู้ชุมนุมคนใดเหลืออยู่ที่บริเวณโดยรอบแยกดินแดงอีก

ในขณะเดียวกันพบว่า ตำรวจ คฝ.จำนวนหลายสิบนายได้ตรึงกำลังอยู่ที่ถนนหน้าธนาคารออมสิน สาขาดินแดง ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ติดกันกับบริเวณที่พบมานะนอนหมดสติ รวมทั้งมีการเดินตรวจตราบริเวณโดยรอบอยู่เป็นระยะ จนกระทั่งมีการถอนกำลัง ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีไฟส่องสว่างชัดเจน ไม่มีสิ่งกีดขวางบดบัง จึงเป็นไปได้ยากมากที่ ตำรวจ คฝ.ซึ่งอยู่บริเวณดังกล่าวหลายนาย จะไม่สังเกตเห็นมานะได้รับบาดเจ็บอยู่

แต่ด้วยข้อจำกัดของภาพวิดีโอ จึงไม่สามารถระบุผู้กระทำให้มานะบาดเจ็บได้ การเพิกเฉยของตำรวจ คฝ. จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้มานะได้รับอันตรายเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นในกรณีนี้ควรมีการเยียวยาเกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากจะต้องมีการชดเชยในรูปของตัวเงินแล้ว ควรรวมไปถึงการสืบสวนสอบสวน เพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้รับการคลี่คลาย

โดยในวันที่ 7 ก.ค. 2023 ผู้สื่อข่าว De/code ได้โทรติดต่อ ร.ต.ท.ณัฐวุฒิ อันชูฤทธิ์ รองสว.(สอบสวน) สน.ดินแดง เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับคดีของมานะ ได้ข้อมูลมาว่า ทางตำรวจกำลังส่งสำนวนคดีให้อัยการภายในวันที่ 14 ก.ค. 2023

เมื่อผู้สื่อข่าวถามในกรณีการหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถให้คำตอบได้ต้องไปถามที่หัวหน้างานสอบสวนเท่านั้น

นอกจากนี้ทาง ร.ต.ท.ณัฐวุฒิ ได้กล่าวว่าไม่มีความกังวลในกระบวนการสอบสวน แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบตำรวจด้วยกันเองก็ตาม โดยเขาได้กล่าวทิ้งท้ายกับทางผู้สื่อข่าวว่า

“ไม่ต้องห่วงทาง สน.ดินแดงจะทำงานอย่างเต็มที่ เราทำงานกันไปตามพยานหลักฐาน”

จนกระทั่งวันที่ 27 ก.ค. 2023 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์หา ร.ต.ท.ณัฐวุฒิ อีกครั้ง ก่อนได้รับคำตอบว่า ขอเลื่อนส่งสำนวนคดีให้อัยการไปเป็นสัปดาห์หน้า 1-6 ส.ค. 2023  เพราะทางเจ้าหน้าที่ติดภารกิจเพิ่งกลับมาจาก จ.เชียงใหม่

เช็กบิลผู้กระทำผิด! ผู้ใช้ความรุนแรงจะต้องไม่ลอยนวล

“ผมเชื่อว่าคดีที่ยากกว่านี้ ทางตำรวจไทยก็สามารถตามหาคนร้ายได้ ผมเชื่อมั่นในเรื่องของความสามารถ”

รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง De/code ในฐานะของตัวแทนพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายสนับสนุนกระบวนการทางความยุติธรรมต่อผู้ถูกความรุนแรงทางการเมือง

“แต่อีกด้านหนึ่งผมก็เป็นกังวล ว่ากรณีที่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง มันไม่ใช่เรื่องของตำรวจไทยไม่มีความสามารถ แต่มันอาจจะเป็นในเรื่องของการที่มันมีความช่วยเหลือผู้กระทำความผิด หรือการที่ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องรับผิดชอบ”

พรรคก้าวไกลเองมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวหลายประการ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกดำเนินคดีโดยเฉพาะจากมาตรา 112 และ 116  รวมทั้งการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งการนิรโทษกรรมนั้น จะใช้กลไกการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ขึ้นตรงกับรัฐสภา เพื่อพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

โดยในส่วนของผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากการชุมนุมนั้น รังสิมันต์ โรมกล่าวว่า ในส่วนแรกจะต้องมีการตามหาผู้กระทำผิดและดำเนินคดี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่กระบวนการบังคับใช้ยังไม่เกิดขึ้น

“ถ้าเกิดคนร้ายเหล่านี้ถูกดำเนินคดี โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในอนาคตก็จะน้อยลง เพราะว่าคนทำรู้ว่าตัวเองไม่ปลอดภัย แต่ทุกวันนี้คนร้ายเหล่านี้รู้สึกว่า เขาทำร้ายผู้ชุมนุม โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ”

ประเด็นต่อมาคือการเยียวยา รังสิมันต์ โรม ได้ยกนโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 – 2553 ในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้งบประมาณเป็นจำนวนเงินกว่า  2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทางพรรคก้าวไกลสนใจนำมาพิจารณา เพื่อทำให้ผู้ที่สูญเสีย ได้รับความเป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้เสนอระบบการตรวจสอบตำรวจจากภายนอก ในลักษณะของผู้ตรวจการตำรวจที่ขึ้นตรงกับรัฐสภา เพราะอย่างที่เราเห็นกันว่าการตรวจสอบจากภายในนั้น เช่นกรณีของมานะ หงษ์ทอง ระหว่างตำรวจ สน.ดินแดงกับทางหน่วยงานของตำรวจ คฝ.ที่ย่อมทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการทำงานตรวจสอบกันเอง หากสามารถสร้างกลไกนี้ขึ้นมาได้ สังคมจะสามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้เข้มข้นขึ้น

อย่างไรก็ตามรังสิมันต์ โรมกล่าวว่า การดำเนินการมีความจำเป็น ที่จะต้องมีนโยบายจากภาครัฐ โดยเฉพาะกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ โดยทางพรรคก้าวไกลยอมรับว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่ใช่คนที่มาจากพรรคก้าวไกล การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ก็อาจจะไม่ได้เป็นไปทั้งหมดตามที่ทางพรรคก้าวไกลเสนอ ประเด็นสำคัญในตอนนี้จึงอยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น จะเป็นคนที่มาจากฝั่งพรรคการเมืองใด สิ่งนี้ส่งผลต่อนโยบายสนับสนุนกระบวนการทางความยุติธรรม ต่อผู้ถูกความรุนแรงทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

“แน่นอนว่าก้าวไกลไม่ว่าจะอยู่ในฐานะพรรคการเมืองแบบไหน เราพร้อมผลักดัน แต่ต้องยอมรับว่าการผลักดันจากคนที่มีต้นทุนที่เห็นปัญหามาตั้งแต่ต้น กับคนที่ไม่คิดถึงเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญตั้งแต่ต้น อาจจะไปมองเรื่องอื่นมีความสำคัญมากกว่า ก็อาจทำให้การผลักดันเป็นไปได้ยาก”

โดยในตอนท้ายรังสิมันต์ โรม ได้ฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมือง โดยเขาเชื่อว่าท้ายที่สุดกลไกความยุติธรรมของประเทศไทยจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อไหร่ที่กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อนั้นคดีต่าง ๆ ที่ค้างคาอยู่ ก็จะถูกนำกลับมาปัดกวาดอีกครั้ง เขาได้ยกตัวอย่างกรณีโครงการทุจริต GT200 ที่เจ้าหน้าที่ทหารระดับกลางถึงล่าง ต่างต้องเข้ามาพัวพันและถูกดำเนินคดีในท้ายที่สุด แต่ผู้เกี่ยวข้องในระดับสูงยังคงลอยนวล

“อย่าคิดว่าการที่คุณรับใช้นายอย่างดีที่สุดในวันนี้ จะทำให้คุณอยู่รอดปลอดภัย เพราะในท้ายที่สุด ไม่มีใครปกป้องคุณได้ตลอด และคุณก็จะต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมด้วยตัวของคุณเอง”

ตรงนี้เคยมีมานะ หงษ์ทอง

จากการสอบถามพูดคุยกับคนในละแวกซอยสุคันธาราม เราได้พบกับวิทย์และหยก เพื่อนของมานะ ที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาทั้งสองได้พูดถึงมานะไว้ว่า

“ผมเรียกเขาว่าอาจารย์ เวลาคนแถวนี้อะไรเสียแกจะช่วยซ่อมให้ แกไม่เคยขอค่าแรงหรอก จะรับค่าแรง 50-100 บาทก็เมื่อแกไม่มีตังเท่านั้น ผมรู้จักแกมา 20-30 ปี แกเป็นคนไม่มีพิษมีภัย ไม่เคยมีปัญหากับใครทั้งนั้น ถ้าแกกลับช้ากว่านี้ อยู่คุยกับผมต่ออีกสักนิดวันนั้นแกคงไม่ตาย”

ในขณะที่เอ๋ เอกรินทร์ หงส์ทอง ผู้เป็นหลานชายของมานะ ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง De/code ในวันที่ครอบครัวสูญเสียสมาชิกไป 1 คน แต่ชีวิตของพวกเขายังคงต้องทำมาหากินใช้ชีวิตกันต่อไป

ผมไม่เคยเชื่อมั่นในตำรวจไทย เราสิ้นหวังกับการถูกปฏิเสธความรับผิดชอบแบบนี้ มันคงเป็นความธรรมดาของตำรวจไทย”

เอ๋เล่าให้ฟังว่าหลังเกิดเหตุ หน่วยงานของตำรวจ คฝ.เคยเรียกเขาเข้าพบ เพื่อไปให้ปากคำ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ก็มีการส่งหนังสือกลับมาว่า

“ตำรวจควบคุมฝูงชนไม่มีส่วนในเหตุการณ์”

สิ่งธรรมดาสามัญที่สุดที่ญาติของผู้สูญเสียอยากได้ คือคำขอโทษจากกลุ่มคนที่ควรรับผิดชอบ แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับนั้นมีเพียงการปัดความรับผิดชอบ พร้อมกับผลกระทบของครอบครัวที่ไม่มีวันกู้กลับคืนมาได้

“มันคือชีวิตคนคนหนี่ง เวลาผมมองไปรอบ ๆ บ้าน เกือบทุกอย่างแกเป็นคนทำไว้ทั้งนั้น แม่ผมที่เป็นพี่สาวแก เคยอยู่ด้วยกันกับลุงมานะ แกก็ซึมไปเลยเพราะผมต้องไปทำงานต่างจังหวัดตลอด ก่อนหน้านี้แกยังมีลุงมานะอยู่เป็นเพื่อน”

เอ๋บอกกับเราว่า มานะคือคนที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ  มานะเป็นคนเฮฮา เจ้าสำราญ ชอบเล่นกับหลาน ๆ สิ่งสะเทือนใจสำหรับครอบครัวคือการที่เขาต้องมาเสียชีวิต ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเหตุการณ์การชุมนุมเลย

อ่านบทความย้อนหลังที่เกี่ยวข้องกับ ‘มานะ หงษ์ทอง’ เหยื่อกระสุนยางกับความยุติธรรมที่ล่าช้า

อย่าลืมเขา “มานะ หงษ์ทอง” เหยื่อกระสุนยาง
7 เดือนผ่านไป…ประตูยุติธรรมของ ‘มานะ หงษ์ทอง’ ยังปิดตาย

อ้างอิงข้อมูลจาก

รายงานจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่สม.0003/4417

ครม.เห็นชอบเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมือง l ThaiPBS

“ยิงเปิดทางเลยนะ ไม่ต้องถามแล้วนะ ใครมายิงได้เลย” l FB Page ช่องONE31