ไฟป่าและฝุ่นควัน PM2.5 ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม - Decode
Reading Time: < 1 minute

Earth Calling

เพชร มโนปวิตร

ฤดูร้อนที่ผ่านมา มีคนราว ๆ 55 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับมลพิษในอากาศชนิดที่ต้องยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้งชั่วคราวอันเนื่องมาจากฝุ่นควัน PM2.5 สาเหตุหลักมาจากไฟป่ากว่า 400 แห่งที่กำลังเผาไหม้พื้นที่ไปแล้วกว่า 22 ล้านไร่ทางตอนเหนือของแคนาดา ในขณะที่ในประเทศกรีซ ประชาชนราว 2,500 คนต้องพากันหนีตายจากเมืองคอร์ฟูเนื่องจากไฟป่าเผาผลาญชุมชน มีการสั่งอพยพนักท่องเที่ยวเกือบ 2 หมื่นคนจากเมืองโรดส์ เมืองท่องเที่ยวสำคัญ นับเป็นฤดูไฟป่าที่เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงอย่างผิดปกติ จนคาดกันว่าปีนี้อาจจะเป็นฤดูไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อันเป็นผลโดยตรงการจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เรากำลังอยู่ในสงคราม (กับไฟป่า) สองสามสัปดาห์จากนี้เราต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ วิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ตรงหน้าเราแล้ว และมันจะส่งผลกระทบไปทั่วเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยภัยพิบัติที่รุนแรงยิ่งกว่านี้”

นายคีรีอาคอส มิตโซทาคิส นายกรัฐมนตรีของกรีซกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับไฟป่าที่ครั้งหนึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อยู่คู่กับโลกมานานแสนนาน

มนุษย์ใช้ไฟในการเปิดพื้นที่เพื่อทำการเกษตรมายาวนาน นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศธรรมชาติ ด้วยวิธี เก็บ ริบ สุม เผา พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยและตั้งถิ่นฐาน ปัจจุบันเราเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่ราว ๆ หนึ่งในสามเท่านั้นของพื้นผิวโลก การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนไป ประกอบกับแนวโน้มระยะยาวของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสภาพอากาศในแต่ละท้องที่ส่งผลให้รูปแบบไฟป่าทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก

ไฟป่าในปัจจุบันเกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการตกของฝนที่เปลี่ยนไป ในฤดูฝนอาจเกิดฝนตกหนักเป็นช่วง ๆ ต้นไม้แตกกิ่งก้านรวดเร็ว ทำให้มีการสะสมชีวมวลปริมาณมาก แต่เมื่อเข้าฤดูแล้ง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน อุณหภูมิที่สูงขึ้นยิ่งทำให้ความชื้นในดินหมดไปอย่างรวดเร็ว เมื่อขาดน้ำ พืชส่วนใหญ่ต้องหยุดสังเคราะห์แสง เพราะในกระบวนการสร้างอาหารที่ใช้แสงแดด พืชต้องเปิดปากใบเพื่อนำเข้าคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อต้องการเก็บรักษาน้ำภายในลำต้นให้นานที่สุดพืชก็ปิดปากใบ แล้วหันไปใช้พลังงานจากคาร์บอนที่เก็บไว้แทนและเริ่มอดอยาก (carbon starvation) ซึ่งหากเกิดสภาพแห้งแล้งยาวนาน ต้นไม้ก็ยืนต้นตายเพราะอดอาหาร ทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดฟ้าผ่าหรือมนุษย์จุดไฟเผา โดยเฉพาะในสภาวะลมกรรโชกแรง ก็เกิดไฟป่าในระดับที่ยากจะหยุดยั้ง

เมื่อเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ การเผาไหม้ของต้นไม้ใบหญ้าจะปลดปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างไฟป่า กระบวนการทางนิเวศวิทยา และสภาพภูมิอากาศ ทำให้ยากมากที่จะคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ยังไม่สามารถนำมาคำนวณได้อย่างถูกต้องในโมเดลสภาพภูมิอากาศ

นอกจากผลกระทบจากคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมาแล้ว ไฟป่ายังสร้างมลภาวะทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างรุนแรงโดยเฉพาะฝุ่นควันพิษ PM2.5 เกิดการปนเปื้อนคุณภาพน้ำบริเวณที่ถูกเผาไหม้ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและคร่าชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมาก ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียเมื่อปี 2020 เผาไหม้พื้นที่กว่า 150 ล้านไร่ ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 715 ล้านตันสู่ชั้นบรรยากาศ บ้านเรือนกว่า 1,400 หลังวายวอด และมีสัตว์ป่าถูกไฟคลอกตายราว 1 พันล้านตัว รวมถึงโคอาล่าเกือบ 1 หมื่นตัว

ความรุนแรงและความถี่ของไฟป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางตอนใต้ของยุโรป ทางตอนเหนือของรัสเซีย ฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มีรายงานการศึกษาบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความรุนแรงของไฟป่าในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย สภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูไฟป่ายาวนานขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ภูมิภาคที่ไม่เคยเกิดไฟป่าในอดีตก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ เช่นพื้นที่ป่าฝนของออสเตรเลียที่ถูกไฟเผาทำลายไปกว่าครึ่งหนึ่งภายในปีเดียวที่มีไฟป่ารุนแรง แม้แต่ป่ายูคาลิปตัสที่ว่าทนไฟก็เริ่มจะรับมือกับความรุนแรงของไฟที่เกิดขึ้นไม่ไหว จากที่เคยถูกไหม้เสียหายแค่ปีละ 2% เพิ่มขึ้น 10 เท่าเป็น 21% ในไฟป่าเมื่อปี 2020

สำหรับพื้นที่ป่าแอมะซอนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาป่าแอมะซอนถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในการผลิตอาหาร การจุดไฟเผาเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการเปิดพื้นที่ใหม่ และเมื่อไฟลามเข้าสู่ป่าก็กลายเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ การตัดไม้ทำลายป่าทำให้ภูมิภาคแอมะซอนโดยรวมแห้งแล้งขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้การบุกรุกพื้นที่ง่ายขึ้นด้วยการจุดไฟเผา แต่ต้องไม่ลืมว่าปริมาณน้ำฝนในป่าแอมะซอนส่วนใหญ่เกิดจากความชุ่มชื้นของป่าเขตร้อนผืนนี้ เมื่อป่าหายไป ปริมาณน้ำฝนก็หายไปด้วย นักนิเวศวิทยาเกรงกันว่าวงจรดังกล่าวจะส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอาจทำให้พื้นที่ป่าจำนวนมากกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าในอนาคต

สองสามปีมานี้เกิดไฟป่าครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในป่าแอมะซอนหลายครั้ง จนเกิดฝุ่นควันพิษ PM2.5 ปกคลุมหลายเมือง และสามารถสังเกตเห็นได้จากอวกาศโดยภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การนาซา ถ้าอัตราการบุกรุกทำลายป่ายังคงเพิ่มขึ้น เราคงจะได้เห็นปรากฎการณ์ไฟป่าที่รุนแรงเกิดขึ้นแบบนี้ทุกปี และการหายไปของป่าแอมะซอนจะส่งผลต่อระบบการทำงานของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

ป่าแอมะซอนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ราว 2.4 พันล้านตันต่อปี การปกป้องป่าแอมะซอนจึงเป็นมาตรการสำคัญในการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อป่าถูกทำลายไม่เพียงจะปล่อยคาร์บอนมหาศาลที่ถูกกักเก็บไว้ในต้นไม้และอินทรีย์วัตถุ แต่เท่ากับว่าเรายังสูญเสียเครื่องมือสำคัญในการดูดซับคาร์บอนในระยะยาว

รายงานของ IPCC คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เราไม่มีพื้นที่ป่าสำรองให้สูญเสียอีกแล้ว หากเราต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานการณ์ไฟป่าทางภาคเหนือของไทยในระยะหลัง เป็นอีกตัวชี้วัดว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นไฟป่าได้เปลี่ยนไปแล้ว ทุกครั้งที่เกิดไฟป่า มักจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ยากที่จะดับ และทำให้มลภาวะทางอากาศเลวร้ายตามไปด้วย หลายครั้งหลายเมืองในภาคเหนือมีค่าฝุ่นควันพิษ PM2.5 ทะลุเกินพันไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดอันดับหนึ่งของโลก เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ก็เท่ากับวันละ 5 ซอง! ไฟป่าในบ้านเราส่วนใหญ่เกิดจากมนุษย์ แต่สภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติก็เป็นตัวเร่งให้การควบคุมเพลิงทำได้ยากขึ้น เรียกว่าต้องรอให้เผาจนหมดเชื้อเพลิง หรือได้ฝนมาช่วยจึงดับไปเอง

เมื่อโลกยิ่งร้อน ไฟป่าก็ยิ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงทำให้ไฟป่าเดิม ๆ กลายเป็นไฟป่าที่ยิ่งมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศป่าไม้มากขึ้น เมื่อผืนป่าขนาดใหญ่ถูกเผาไหม้ทำลาย ไม่เพียงแต่จะปล่อยคาร์บอนมหาศาลที่ถูกกักเก็บไว้ในต้นไม้และอินทรีย์วัตถุ แต่เท่ากับว่าเรายังสูญเสียเครื่องมือสำคัญในการดูดซับคาร์บอนในระยะยาวอีกด้วย กลายเป็นยิ่งซ้ำเติมปัญหาสภาวะโลกร้อนให้ยิ่งวิกฤติหนักเข้าไปอีก

เมื่อไฟป่าลามลุกไหม้ไปทั่ว แม้จะมีคน มีงบประมาณ มากเท่าไหร่ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดยั้งไฟป่าที่เป็นเหมือนไฟประลัยกัลป์ สิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศขาดในเวลานี้ ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่อุปกรณ์ ไม่ใช่หน่วยงานดับไฟที่มีความสามารถ แต่คือรัฐบาลที่ยอมรับความจริงทางวิทยาศาสตร์ และมีแผนแก้ปัญหาและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

คำถามสำคัญสำหรับทุกคน เมื่อบ้านเราไฟไหม้เราจะทำอะไร เมื่อโลกเราลุกเป็นไฟเราจะทำอะไร