อ่านพ่อมดอ๊อด ย้อนดูการเมืองไทย 2566 - Decode
Reading Time: < 1 minute

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสอ่านหนังสือ “พ่อมดอ๊อด”  ซึ่งเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กที่เขียนโดย อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ โดยเป็นการล้อหนังสือ The Wizard of Oz โดย L. Frank Baum ตีพิมพ์ในปี 1900 ปรับเข้าสู่บริบทการเมืองไทยในปี 2521 โดยเปลี่ยนจาก โดโรธี จากแคนซัส เป็นต้อย จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ถูกลมพายุพัดเข้าสู่เรื่องราวเมืองเทพนิยาย หนังสือ “พ่อมดอ๊อด” พิมพ์มาหลายครั้ง ในปี 2566 ผมมีโอกาสได้หยิบมาอ่านและมีหลายเรื่องชวนคิดจาก การเปรียบเทียบอุปลักษณ์ในหนังสือนิทานเด็กนี้

เรื่องราวของต้อยเด็กน้อยที่กำพร้าพ่อแม่ ในอุบัติเหตุรถสองแถวถูกรถบรรทุกชน และอาศัยอยู่กับลุงป้าที่มีรายได้ไม่แน่นอน จากประมงพื้นบ้าน ดูเป็นเรื่องราวของคนธรรมดา แสนธรรมดาในประเทศนี้ทั้งชาติกำเนิดวิถีชีวิต รวมถึงการตาย ต้อยถูกลมพายุหมุนพัดมา และได้ระบุการบอกกล่าวว่า “พ่อมดอ๊อด” สามารถช่วยให้เธอกลับบ้านได้เธอออกเดินทาง ซึ่งได้พบกับ หุ่นไล่กาที่ไม่มีจิตสำนึก หุ่นกระป๋องที่ไม่มีหัวใจ เสือโคร่งที่ขี้ขลาด ก่อนจะเดินทางไปหา “พ่อมดอ๊อด” ที่เมืองทับทิม

เมื่ออ่านจบผมลองเทียบเคียงบริบทการเมืองไทยในปี 2566 หุ่นไล่กาก็คือชาวนา หรือแรงงานภาคเกษตร แรงงานดั้งเดิมมหาศาลในสังคมไทย แม้แรงงานและมูลค่าภาคเกษตรจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังแรงงานภาคเกษตรอยู่ที่ ประมาณ 12 ล้านคน จากกำลังแรงงาน 38 ล้านคน แม้สัดส่วนจะลดลงแต่ก็ยังเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 หุ่นไล่กาที่ตามหาสมอง กับ เด็กผู้หญิงตัวน้อย เมื่อมองย้อนในบริบทการเมืองไทย การที่แรงงานภาคเกษตรจำนวนมหาศาลไม่สามารถที่จะรวมตัวต่อรองได้ ใช้ชีวิตกระจัดกระจาย ตามแต่ที่นโยบายรัฐและกลุ่มทุนจะโยนมาให้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสินเชื่อต่าง ๆ ที่ผลักให้เกษตรกรไทย อยู่ในกับดักหนี้ หนี้ทับหนี้  วนไป ทำให้พลังมหาศาลของแรงงานภาคเกษตรหายไป  และถูกควบคุมโดยกลุ่มทุนผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่เห็นอดีต ไม่เห็นปัจจุบัน ไม่มีอนาคต เหมือน “หุ่นไล่กา” ที่ทำงานซ้ำเดิม ไม่มีชีวิตชีวา เป็นร้อยเป็นพันปีไม่มีใครสนใจ

หุ่นกระป๋อง ที่เคยอยู่ในมหานครใหญ่ ตัวแทนของชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรม ทำงานจน หัวใจหายไป ระบบอุตสาหกรรมแปลกแยกชีวิตเขาออกจากความรักใด ๆ ไม่สามารถรู้สึกถึงชีวิตความเป็นมนุษย์ ระบบทุนนิยมพรากชีวิตความรู้สึกของพวกเขาไปทุกอย่าง ผู้ใช้แรงงานที่สร้างปราสาทพระราชวังแต่อยู่ในสลัม สร้างเครื่องนุ่งห่มแต่เหน็บหนาว สร้างรถยนต์ยานพาหนะแต่ไม่มีค่ารถกลับบ้าน จากคนธรรมดาที่มีเนื้อหนังมังสาก็กลายเป็นเครื่องจักร ที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ กลายเป็นฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ในระบบทุนนิยม

และสุดท้าย เจ้าเสือโคร่งขี้ขลาด “ทุกคนคิดว่าเสือโคร่งมีอำนาจ แต่ไม่ใช่ฉัน ฉันขี้ขลาด” เจ้าเสือโคร่งบอกกับเด็กผู้หญิงตัวน้อย เสือโคร่งคือ พรรคการเมือง หรือตัวแทนของประชาชน เราคาดหวังให้เจ้าเสือโคร่ง ทำอะไรเพื่อเราบ้าง กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่เสือโคร่งขี้ขลาด ไม่ทำอะไรเลยได้แต่หวาดกลัว

ในปี 2566 หลังการเลือกตั้งที่ยาวนานกว่าสามเดือน เราเห็นความทุกข์ยาก ของหุ่นไล่กา และหุ่นกระป๋อง ที่ต้องการสมองและหัวใจ เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่พวกเขา เราคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อเราเดินทางถึง “เมืองทับทิม” แต่แล้วมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราอยู่กับสิงโตที่ขี้ขลาดไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าตัดสินใจและยืนยันเพื่อคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด

Wizard of Oz บันทึกถึงยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกามีความเป็นซ้ายมากที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ศตวรรษที่ 20 ส่วนพ่อมดอ๊อดของ อ.ชาญวิทย์ เขียนในยุคสมัยที่การเมืองไทยเป็นขวามากที่สุดหลังเหตุการณ์การปราบปราม นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2519

ผมครุ่นคิดอยู่นาน หนังสือ Wizard of Oz เขียนเรื่องราวร้อยกว่าปีก่อน อาจารย์ชาญวิทย์เอามาเขียนใหม่เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เรื่องราวของสังคมยังคงคล้ายกัน ความฝันที่ค้างเติ่งของคนธรรมดาที่ไม่สามารถบรรลุได้เพียงลำพัง ถ้าเราอยู่ในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยของความไม่เป็นธรรมที่ถาโถมในสังคมไทย ยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่เผชิญกับความลำบาก แรงงานทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมยังยากลำบาก คนแก่ชราไม่มีเงินบำนาญ เราออกเดินทางกันมาหลายปี แต่ยังไม่เจอเมืองมรกตหรือเมืองทับทิม ผู้คนที่ร่วมเดินทางกำลังเหนื่อยล้าและสิ้นหวัง เราจะผ่านช่วงนี้ไปได้ตอนไหน จะผ่านไปได้อย่างไร

ผมจะอธิบายยุคสมัยนี้อย่างไร คนรุ่นหลังจะมองยุคสมัยนี้อย่างไร ผมได้ทำเต็มที่เพื่อพวกเขาแล้วหรือยัง หรือว่าพวกเขาจะย้อนกลับมามองแล้วโทษถึงยุคสมัยเลวร้ายในปี 2566 พวกเขาจะตั้งคำถามหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้นทำไมชีวิตของพวกเขาถึงย่ำแย่เพียงนี้

ผมเองไม่มีอำนาจหรือเครื่องมืออะไรมากมายนอกจากตัวอักษรและแป้นพิมพ์ เพียงแค่ต้องการจะสื่อสารถึงผู้มีอำนาจให้เห็นว่า เราจะอยากให้ยุคสมัยนี้ถูกจดจำอย่างไร เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและความหวัง หรือเปลี่ยนผ่านสู่ความสิ้นหวังของผู้คนที่ทุกข์ทนอีกครั้ง

หนังสือ: The Wizard of Oz 
แฟรงค์ โบม เขียน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปล
สำนักพิมพ์ดวงกมล พิมพ์ครั้งแรก 2523

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี