เมื่อเราปลอดภัย ไร้ความกลัว สมองส่วนสร้างสรรค์จะทำงาน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงเด็กทารกซึ่งพบว่ามีข้อคิดที่น่าสนใจ แม้บางอย่างดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ก็กระตุกให้ผมเกิดความสนใจอย่างมาก มีงานเขียนของนายแพทย์ ท่านหนึ่งจาก สหรัฐอเมริกากล่าวไว้ว่า

การร้องไห้ของเด็กทารกนั้นเป็นกลไกสำคัญในการเอาชีวิตรอด

ถึงแม้ว่าเราจะทราบว่าเมื่อเติบโตขึ้น รอยยิ้ม และ เสียงหัวเราะ เป็นสิ่งที่ทำให้สามารถเข้าสังคมได้เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพดีต่อพัฒนาการมากกว่าแต่มนุษย์เมื่อเกิดมาอยู่ในโลกนี้การร้องไห้คือกลไกการป้องกันตัวอันดับแรกที่ทำให้มนุษย์ตั้งแต่ในยุคหินจนกระทั่งในยุคปัจจุบัน สามารถที่จะรอดจากความตายได้ ดังนั้นจึงเป็นกลไกธรรมชาติ ที่เมื่อเด็กน้อยร้องไห้ พ่อแม่ก็จะเข้าไปเพื่อทำให้หยุดร้องไห้ เพื่อให้เด็กน้อย ได้เอาตัวเองออกจากสถานะความหวาดกลัวอาการเอาตัวรอด ความสัมพันธ์พื้นฐานนี้น่าสนใจเพราะการโอบอุ้มในสัมผัสแรกที่เกิดขึ้นโดยพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์ พ้นจากความหวาดกลัว มีผลทำให้สมองส่วนการสร้างสรรค์พัฒนา และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ทำให้เกิด กวี นักดนตรี วิศวกรรม การแพทย์ นักการละคร นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา ฯลฯ อันทำให้สังคมมีความก้าวหน้า เกิดพัฒนาการทางสังคม

ขณะเดียวกันเมื่อเด็กน้อยถูกปล่อยให้ร้องไห้หรือถูกละทิ้งเป็นเวลานาน สมองที่พัฒนาขึ้นคือส่วนของการเอาตัวรอด อันเป็นสมองส่วนเดียวกับสัตว์ เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นภาคส่วนตกค้างจากความเป็นสัตว์ที่ยังอยู่กับมนุษย์ การใช้ความรุนแรง สงคราม คดโกง เอาเปรียบ และอาชญากรรม ประเด็นนี้สำคัญอย่างมากที่ทำให้ผมคิดตามต่อไป ว่า เรามักพูดกันอยู่เสมอว่า “การแข่งขันคือธรรมชาติของมนุษย์” แต่จริง ๆ แล้วหาได้เป็นแบบนั้น “เราคุ้นเคยกับการดูแลและความปลอดภัย” ความปลอดภัยต่างหากที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ หรือเราคุ้นเคยกับรัฐสวัสดิการ มากกว่า ทุนนิยม ผมขอสรุปประเด็นพื้นฐานดังต่อไปนี้

เมื่อมนุษย์รู้สึกปลอดภัยและมีความสุขในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความแข่งขันสูง จะทำให้เราสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้คือเหตุผลที่เกี่ยวข้อง

การคิดอย่างอิสระ เมื่อมนุษย์รู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องมีความกังวลในการแข่งขันกับผู้อื่น จะสามารถคิดอย่างอิสระและสร้างความก้าวหน้าได้มากขึ้น การมีเวลาว่างเพื่อคิดค้นและสร้างสรรค์ความคิดใหม่สร้างสังคมและเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้น

การเรียนรู้และพัฒนา เมื่อไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงมาก ผู้คนจะมีโอกาสมากขึ้นในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับเรื่องเงิน เรื่องผลประโยชน์ หรือการเอาตัวรอด การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและสะดวกสบายช่วยให้ผู้คนมีแรงบันดาลใจในการอุทิศตนศึกษาและเสริมสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ คำอธิบายนี้ฟังดูชัดเจนว่า เมื่อเราอยู่ในประเทศที่ระบบสวัสดิการดี เราจะสามารถเลือกสาขาที่เรียนต่าง ๆ ได้ตามความถนัดและสนใจ มากกว่าสาขาที่ทำเงิน

สร้างสังคมที่ร่วมมือกัน การมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดกว้างทำให้เกิดความเชื่อมั่นในสังคม คนสามารถทำงานร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ช่องว่างระหว่างสังคมก็จะลดน้อยลงเช่นกัน

ส่งเสริมความคิดบวกและนวัตกรรม เมื่อมนุษย์รู้สึกปลอดภัยและไม่ต้องมีความกังวลในการแย่งชิงทรัพย์สินตำแหน่งสูง เพื่อการอยู่รอด ก็จะมีโอกาสสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาให้กับสังคม ความคิดบวกและนวัตกรรมเกิดขึ้นเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดและความเป็นอิสระในการทำงาน

ในทางกลับกัน สังคมที่แข่งขันสูงอาจทำให้มีความกดดันและความเครียดในการแสดงความสามารถ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์หรือให้เติบโตในทางที่ต้องการ ดังนั้นการสร้างสังคมที่มีความสงบและเปิดโอกาสให้กับทุกคนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพราะอาจนำสู่ ความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพย์สิน เมื่อมีความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพย์สินในสังคม อาจเกิดความไม่สงบและเกิดความเชื่อถือที่น้อยลงในกันและในสังคมโดยรวม นอกจากนี้ความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ คนอาจรู้สึกไม่พอใจในความเหลื่อมล้ำทำให้มีการทำร้ายเพื่อให้ได้สิทธิและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก

สังคมที่เหลื่อมล้ำและแข่งขันสูงยังสามารถสร้าง ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการขัดแย้งและการไม่ไว้ใจกันในสังคม และทำให้ภาพความแตกต่างด้านวัฒนธรรมถูกเชื่อมตรงสู่ประเด็นปัญหาปากท้อง นอกจากนี้อาจเผชิญกับสื่อมวลชนและการกระจายข้อมูลที่ไม่เป็นกลาง สังคมที่เหลื่อมล้ำ จะทำให้ชนชั้นนำสามารถครอบงำสื่อ ส่งผลให้สื่อมวลชนที่กระจายข้อมูลที่ไม่เป็นกลาง ส่งผลให้มีการสร้างความแตกแยกและความขัดแย้งในสังคม ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและข่าวปลอมอาจส่งผลให้มีความเชื่อถือที่น้อยลงในกันและในสังคมโดยรวม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง อาชญากรรม และการเผชิญหน้ากัน

โดยสรุปแล้ว การโอบอุ้ม ดูแลกันคือฟันเฟืองสำคัญในการทำให้สังคมมนุษย์พัฒนาขึ้น สลัดส่วนเป็นสัตว์ที่ถือการเอาตัวรอดทิ้งออกไป ความก้าวหน้าที่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เกิดเมื่อสมองและหัวใจเราปลอดภัยจากการดูแลของเพื่อนร่วมสังคม ในทางตรงกันข้าม การทำร้ายระหว่างกัน อาชญากรรม สงคราม การเอาเปรียบเกิดขึ้นจากสังคมที่แข่งขันกัน เมื่อสังคมทอดทิ้งเรา ความเป็นสัตว์ที่ประหัตประหารกันก็จะพัฒนาขึ้น