"ถูกหลอกเอาที่ดินไปแล้ว" แผลเรื้อรังของ อูรักลาโว้ย 'หลีเป๊ะ' - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปมขัดแย้งบนเกาะหลีเป๊ะที่เรื้อรังมานานนับ 30 ปี กรณีข้อพิพาทเอกสารสิทธิที่ดินระหว่างชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กับเอกชนที่ถือเอกสารสิทธิที่ดินแล้วอ้างกรรมสิทธิ์เพื่อเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยต้นตอของปัญหามาจากการนำพื้นที่สาธารณะของชาวเลอูรักลาโว้ย ประกอบด้วยสุสานบรรพบุรุษ ลำรางสาธารณะ เส้นทางสัญจรดั้งเดิม ตลอดจนพื้นที่ทางเดินลงสู่หาดออกเป็นเอกสารสิทธิ์ให้กับเอกชน และมีการซื้อขายกันเป็นทอดๆ จนเกิดกรณีผู้อ้างสิทธิ์ก่อรั้วปิดเส้นทางผ่านเข้า-ออกโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะที่ผู้คนท้องถิ่นใช้เป็นทางสัญจรมายาวนาน จนทำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ไม่สามารถใช้เส้นทางเดินทางเดิมไปโรงเรียนได้ จึงต้องใช้เรือเพื่ออ้อมไปอีกเส้นทาง

แม้ขณะนี้ข้อพิพาทดังกล่าวจะคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว โดยเอกชนรื้อถอนสิ่งกีดขวาง ขณะที่คนท้องถิ่นต้องลงขันกันเอง 700,000 บาท เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มตัดเป็นทางสาธารณะใหม่อีกเส้นหนึ่งผ่านหลังโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาลยาวไปถึงหน้าหาด แต่เรื่องพื้นที่สาธารณะบนเกาะหลีเป๊ะก็ยังเป็นปัญหาคาราคาซังอยู่จนถึงขณะนี้

ภาพจาก เครือข่ายชาวเลอันดามัน

ผู้เขียนได้พูดคุยกับชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งมีวิถีชีวิตทำประมงและเพาะปลูก โดยไม่คิดครอบครองหรือเป็นเจ้าของ “พื้นที่สาธารณะ” แต่จัดสรรปันส่วนการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ท่ามกลางความกังวลว่าพื้นที่สาธารณะเหล่านี้จะถูกแย่งชิงไปในไม่ช้า

พื้นที่สาธารณะที่ “เข้าถึง” แต่ไม่ต้อง “ครอบครอง”

“เราจะไปหาหอย ไปเดินแถวริมหาดหน้าโรงเรียนก็ไม่ได้ เขาจะมองพวกเราเป็นเหมือนส่วนเกิน บางทีเราก็มองว่าทำไมการที่เรามีชายหาดสาธารณะ คนในพื้นที่หรือคนนอกก็สามารถใช้พื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ใช้เส้นทางด้วยกันไม่ได้เหรอ ทำไมพวกเราไม่มีสิทธิ์อยู่ร่วมกันอยู่ได้”

สลวย หาญทะเล (หนึ่งในชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ) กล่าว

ภาพจาก เครือข่ายชาวเลอันดามัน

ชาวเลไม่ได้นึกถึงการครอบครองที่ดิน ริมหาดเป็นเหมือนสถานที่แห่งชีวิตของชาวบ้านทั้งพื้นที่ทำประมง สนามเด็กเล่น โรงเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน โดยที่ชาวบ้านไม่ได้คิดถึงเรื่องการครอบครอง แต่มองว่าพื้นที่เหล่านั้นล้วนเป็นของทุกคน แต่ภายหลังที่รัฐได้มีการประกาศจัดประเภทที่ดินรูปแบบต่าง ๆ จนสุดท้ายทั้งที่ดินที่เป็นบ้านของพวกเขา และพื้นที่สาธารณะกลายเป็นที่ดินของเอกชน และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีหน่วยงานรัฐดูแล แต่สำหรับชาวเลแล้ว การมีพื้นที่เพื่อส่วนรวมอย่างเท่าเทียมและเข้าถึงได้ทุกคนสำคัญกว่า

“แต่ก่อนไม่มีการปิดกั้นชายหาด เราสามารถใช้ได้หมด ถึงแม้จะมีเป็นเจ้าของ มีปลูกพืชสวนต่าง ๆ เราก็ยังไปขอแบ่งใช้กันได้ แต่พอมีเอกชนเข้ามาเริ่มสร้างรีสอร์ต ก็ได้สร้างกำแพงในการปิดกั้นเส้นทางเดิน พอเขาปิดทาง เราก็ไม่มีทางไปลงทะเลหรือไปชายหาด ที่ชายหาดทางรีสอร์ตเขาก็กั้นให้นักท่องเที่ยวเขาไว้ใช้ประโยชน์ อาบแดด เอาไว้ขายอาหาร แล้วก็ผูกทุ่นลอย ทำให้ชาวเลไม่สามารถเอาเรือมาจอดที่ชายหาดได้ พอเด็ก ๆ ไปเล่นที่ชายหาดเขาก็จะไล่ เพราะเสียงดังและรบกวนนักท่องเที่ยว

ตอนนี้ที่เหลือก็เหลือพื้นที่หน้าชายหาดโรงเรียน แล้วก็แถวละแวกโรงเรียน ยังเหลือไว้เล็ก ๆ ก็ยังมีปัญหาเรื่องทางลงทะเลที่เชื่อมกับทางโรงเรียน มันก็เลยเหลือแค่เส้นทางเดียวที่พี่น้องชาวเลใช้ แต่ก่อนชาวบ้านก็จะนั่งทำงานบริเวณหน้าชายหาด แล้วก็บริเวณข้างโรงเรียน แต่ตอนนี้พอชาวเลตัดไม้ ตัดหวาย แล้วก็เอามานั่งถักบริเวณชายหาด ทางรีสอร์ตเขาก็ขับไล่ อ้างว่าเป็นพื้นที่ของเขา เราก็ต้องมานั่งเบียด ๆ กันแถวบ้าน หรือแถวโรงเรียน ตอนนี้ก็เหลือแค่พื้นที่โรงเรียนที่เป็นพื้นที่สาธารณะของชาวบ้าน”

ผู้อยู่อาศัย กลายเป็น “ผู้บุกรุก”

อาจเพราะชาวเลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถือครองที่ดินมากนัก ทำให้ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ชาวเลกลายเป็นคนนอก กลายเป็นอื่น แม้ชาวเลจะอยู่บนเกาะหลีเป๊ะมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยรัฐบาลเคยมอบเอกสาร ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) ให้แก่ชาวเลจำนวน 41 แปลง แต่ภายหลังกำนันตำบลเกาะสาหร่ายในขณะนั้น รวบรวมที่ดินทั้งหมดและนำไปขอเปลี่ยนเป็นเอกสาร น.ส.3 เป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวกำนัน ไม่ใช่ของชาวเลเหมือนที่เคยบอกกับชาวเลว่าจะนำไปสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ยังมีที่ดินที่ยังมีข้อพิพาทกับชาวบ้าน ก็ทำให้การได้มาของที่ดินที่เหลือของชาวบ้าน ก็ได้มาอย่างไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน โดยไมตรีเล่าถึงวิธีการไล่ที่ว่า “ในอดีตใช้วิธีรื้อบ้านด้วยคนหรือรถ แล้วก็มีการใช้อิทธิพลมืดในการทำร้ายร่างกายเพื่อไล่ ชาวบ้านคนหนึ่งโดนรุมทำร้ายจนแขนหัก เพื่อที่จะข่มขู่ให้ออกไป พอยุคปัจจุบันก็เป็นวิธีการฟ้อง ก่อนหน้านี้เขาจะบีบบังคับด้วยการจะเปลี่ยนหลังคาที่รั้วไม่ได้ จะต่อเติมหรือซ่อมแซมก็ไม่ได้ หากทำก็จะถูกแจ้งความดำเนินคดี มีกระบวนการที่ไล่ด้วยหลายวิธี แต่ก่อนหน้านี้ที่ชาวบ้านอยู่ริมหาด เอกชนที่เขาไปยกที่ดินให้โรงแรมนั้นนี้แล้ว แล้วก็ถูกต้อนมาอยู่ตรงกลาง แต่ก็ยังถูกไล่ที่อีก

ภาพจาก อัยการ หลีมานัน

“กฎหมายที่มาบังคับใช้ มันเป็นหลักการของกฎหมาย แต่ไม่ใช่หลักความจริง เอกสารสิทธิ์ก็ได้มาด้วยกลอุบายที่หลากหลาย การหลอกเซ็นลายมือ แล้วก็ที่ดินบนเกาะมีประมาณ 40 แปลง หรือประมาณ 200 ไร่แต่ละแปลงก็จะมี 20-30 ไร่ ก็จะมีส่วนของชาวเลบางส่วนถูกหลอกให้ขายให้เอกชน แล้วก็มีชาวเลบางส่วนที่ปรับตัวไปกับการท่องเที่ยว เขาก็ทำห้องเช่าและที่พักด้วย เขาเป็นเจ้าของที่ดั้งเดิม แต่ด้วยเอกสิทธิ์ต่าง ๆ ในที่ดินกลับไม่อยู่กับเขา ชาวเลมักจะถูกให้มองแค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว ทั้งที่ความเป็นธรรมมันไม่อยู่กับชาวเลมันไม่อยู่กับชาวเลตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว มันก็ทำให้กฎหมายมาบังคับใช้แล้วชาวเลสิบกว่าครอบครัว ทุกคนถูกหลอกเอาที่ดินไปแล้ว ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

ไมตรี  (หนึ่งในชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ) กล่าว

การท่องเที่ยวพัดพาความเจริญเข้ามา แต่พัดพาชีวิตให้เลือนหายไป

เมื่อปี พ.ศ.2517 ได้มีการใช้พระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 กำหนดให้บริเวณที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวีและเกาะอื่น ๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็ทำให้ชาวเลที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติตามเกาะดังกล่าว ต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัย ที่ถูกทำให้เป็นอุทยานสำหรับนักท่องเที่ยว แล้วไปกระจุกตัวที่ชุมชนเกาะหลีเป๊ะจนเกิดความอึดอัดมากขึ้นไปอีก

“พอตรงไหนเป็นแหล่งทำประมงของคนในพื้นที่ อุทยานก็ทำเขตให้นักท่องเที่ยวไปดำน้ำตรงนั้น แล้วก็ขับไล่ชาวบ้านออก ทำให้พี่น้องชาวเลไม่มีพื้นที่ทำกิน เลยทำให้ต้องออกไปทำประมงไกล ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคน้ำหนีบ นอกจากนี้ยังมีบาฆัด คือ ที่พักแรมชั่วคราว ไว้สำหรับหลบคลื่นลม ที่จอดเรือ และที่เก็บอุปกรณ์ประมง ซึ่งชาวบ้านที่ทำประมงก็จะไปบาฆัดตามหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งก็จำเป็นต้องมีที่พักแรมชั่วคราว เพื่อจะได้ทำประมงได้สะดวกมากขึ้น แต่ก็ถูกอุทยานขับไล่ให้ออกไป ทำให้ตอนนี้เหลือแหล่งหากินไม่กี่ที่”

แสงโสม หาญทะเล (หนึ่งในชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ) กล่าว

ภาพจาก อัยการ หลีมานัน

ในช่วงแรกที่การท่องเที่ยวเข้ามา ชาวเลก็ยังสามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ แสงโสม ยอมรับว่า ตอนแรกช่วงที่การท่องเที่ยวเข้ามาปี ก็เป็นการเที่ยวแบบอนุรักษ์ธรรมชาติตามวิถีชีวิตชาวบ้าน แล้วทำให้ชาวเลได้เปิดโลกกว้าง รู้จักต่างชาติ รู้จักคนจากต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังทำให้หนุ่มสาวมีทางเลือกอาชีพใหม่มากขึ้นสามารถไปทำงานรับจ้างตามรีสอร์ตหรือสถานที่ท่องเที่ยว และชาวบ้านก็เปิดรีสอร์ตหรือบังกะโลให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก เพื่อเป็นรายได้มาเลี้ยงครอบครัวเพื่อเติม จนช่วงหลังเกิดสึนามิปี 2548 เป็นต้นไปจนปี 2557 ในช่วงนี้นักลงทุนเขาก็เห็นที่อื่นเสียหายหมด แต่ที่เกาะหลีเป๊ะก็ไม่ได้รับผลกระทบเยอะ นักลงทุนเขาก็เข้ามาลงทุนที่เกาะหลีเป๊ะ เขาก็ต้องการวิวที่สวยงาม เขาก็เริ่มมีการนำเอกสารสิทธิ์ที่ดินมาอ้าง พาตำรวจมาขับไล่ ตอนนั้นพี่น้องชาวเลก็ต่อสู้ในทางศาล แล้วก็มีการฟ้องร้องขับไล่ชาวเลออกไป

สลวย หาญทะเล ยังเล่าถึงปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น น้ำบ่อ ที่ไว้ใช้อุปโภคและบริโภคของชาวบ้าน ก็มีตะกอนสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ จะใช้อาบน้ำหรือดื่มก็ไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านก็ต้องซื้อน้ำกรองที่สะอาดจากนายทุนที่ทำรีสอร์ตบนเกาะหลีเป๊ะ กลายเป็นชาวบ้านนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการไล่ที่ แต่ก็ยังต้องเอาเงินให้กับนายทุน เพื่อแลกกับน้ำสะอาด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์คนคนหนึ่ง

ภาพจาก อัยการ หลีมานัน

สมการของการพัฒนาที่ชาวเลควรถูกนับ

การท่องเที่ยวที่เข้ามา ทำให้ชาวเลหลายคนต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ใต้เครื่องหมายของ”คำถาม”ต่อความเป็นธรรม และการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างวิถีชีวิตของชาวเลดั้งเดิมกับการท่องเที่ยว สลวย หาญทะเล สนับสนุนทางออกนี้โดยอธิบายว่า อยากสนับสนุนการท่องเที่ยวอยู่ร่วมกับชาวเล มานั่งคุยและประชุมหารือวางผังแต่ละส่วนของเกาะหลีเป๊ะ ทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนพี่น้อง คุณอยากแก้ปัญหาหรือพัฒนาอะไร คุณก็ควรมีพี่น้องชาวเลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการออกความเห็นด้วย อยากแก้ไขปัญหาอะไรมองที่ชาวเลด้วย และก็ควรมีการส่งเสริมอาชีพของชาวเล เช่น ไกด์นำเที่ยวโดยชาวบ้าน พาไปสถานที่ใหม่ ๆ เรียนรู้วิถีชีวิตชาวเลดั้งเดิม หรือพาไปดำน้ำที่ไหนสวย เพราะชาวเลเป็นคนพื้นถิ่นทำให้รู้จักสถานที่ที่สวยและน่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่าง ๆ

”ท้ายที่สุดนั้นแม้ว่าชาวบ้านจะอยู่ก่อน และได้รับสิทธิ์ในการเ้าถึงพื้นที่เหล่านั้น แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของพวกเขา ที่ไม่ได้มองถึงการครอบครองมากไปกว่าการที่จะครอบครองและแบ่งแยกที่ดินอย่างชัดเจน แต่ความคิดต่อส่วนรวมเหล่านั้นก็ทำให้พวกเขาถูกกลายเป็น “ผู้บุกรุก” บ้านของตัวเอง ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการดำเนินการไปหลายเรื่องแล้ว แต่ความฝันที่บ้านของพวกเขาจะกลับมาเป็นของพวกเขาจริง ๆ นั้น ก็อาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าหลายปี กว่าที่ “บ้าน” จะกลับไปสู่ “เจ้าของ” และแบ่งพื้นที่และทรัพยากรกับเอกชนได้อย่างยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

ภาพจาก อัยการ หลีมานัน