ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เด็กที่กลัวความมืด
ในทางปรัชญานั้น เด็กที่กลัวความมืดอาจเกิดจากการรับรู้และการตีความที่สร้างขึ้นจากจิตวิญญาณหรือความคิดของตนเอง เด็กตอนนี้ยังไม่สามารถเข้าใจและตีความความเป็นจริงได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเด็กจึงมีแนวโน้มที่จะมองว่าความมืดเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตราย นับเป็นเรื่องปกติทั้งในทางจิตวิทยาและการเติบโตทางสังคม และเมื่อเติบโตขึ้นพวกเขาก็เลิกที่จะกลัวความมืด เมื่อมีสิ่งที่สามารถอธิบายความมืดได้ แต่คำถามสำคัญ ในสังคมเรามีผู้ใหญ่จำนวนมากที่เติบโตแล้ว พวกเขายังหวาดกลัวต่อแสงสว่าง ยังสมัครใจคุ้นชินกับความมืด และพยายามที่สร้างให้แสงสว่างเป็นเรื่องน่ากลัว ข้อถกเถียงระหว่างเด็กที่กลัวความมืดกับผู้ใหญ่ที่กลัวแสงสว่าง เป็นความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นทุกยุคสมัย และบ่อยครั้งเองความขัดแย้งที่ไม่คลี่คลายนี้ ก็ทำให้สังคมไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ในบทความนี้ผู้เขียนจะชวนพิจารณาถึงแนวทางการคลี่คลายปัญหาข้างต้น
การเมืองไม่แน่นอน เศรษฐกิจไม่มั่นคง
ความกลัวที่แตกต่างของคนสองรุ่น
การกลัวความมืดของเด็ก ในทางจิตวิทยาเกิดจากสภาวะทางจิตใจที่เกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงภายในตัว เด็กอาจรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้สึกถึงแสงและมีความรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยเมื่อมีแสง แต่เมื่อสภาวะเปลี่ยนไปเป็นความมืด เด็กอาจรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงและอาจเกิดความกลัวและความไม่มั่นคง ในทางเศรษฐกิจการเมืองความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่คนรุ่นใหม่เผชิญอยู่เป็นตัวเร่งให้เกิดความหวาดกลัวต่ออนาคตที่ไม่สามารถบอกถึงทิศทางต่อไปในอนาคตได้ เช่นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีหนี้สิน พ่อแม่ทำงานกินค่าจ้างขั้นต่ำ กู้นอกระบบเพื่อมาจ่ายค่าเทอม ความมืดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาหวาดกลัวต่อโลกใบนี้
แต่ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีชีวิตที่มั่นคงแล้ว แต่พวกเขากลับกลัวแสงสว่าง แสงสว่างในที่นี้อาจหมายถึงความเท่าเทียม ไม่ว่าในรูปแบบสวัสดิการ ค่าจ้าง หรือเสรีภาพของผู้คน พวกเขาหวาดกลัวว่า เมื่อพวกเขาคุ้นชินกับความมืด มากกว่าแสงสว่าง คุ้นชินกับความเหลื่อมล้ำมากกว่าความเท่าเทียม พวกเขาไม่ได้รักหรือชอบความมืด พวกเขาเกลียดมันเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าการอยู่รอดในความมืดเป็นทักษะเดียวที่พวกเขามี การมีแสงสว่างจึงจะเป็นการทำลายสิ่งที่พวกเขายึดถือไป พวกเขาจึงหวาดกลัวแสงสว่าง และปฏิเสธความเท่าเทียม แม้พวกเขาจะได้ประโยชน์จากแสงสว่างเช่นกัน
ความกลัวจากสัญชาตญาณและความเป็นไปไม่ได้
การกลัวความมืดของเด็กเกิดจากสัญชาตญาณที่รับรู้และระบุความเสี่ยงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มืดมัว การรับรู้และการตัดสินใจของเด็กอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและความคิดเห็นของเขา ความมืดเป็นสัญญาณสำคัญของความเสี่ยงและอันตราย ความมืดทำให้เราไม่กล้าเดิน ไม่กล้าตั้งคำถาม และอยู่กับความเป็นไปไม่ได้ในเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น เหมือนกับเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับสังคมที่มองว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ การใช้ความรุนแรงในบ้าน ในโรงเรียน วัฒนธรรมที่กดทับความเหลื่อมล้ำทางเพศ ลักษณะนี้ เด็กจึงย่อมปรารถนาให้ความมืดเหล่านี้หายไป
ความมืดที่ทำให้สัญชาตญาณของการยอมจำนนทำงาน เด็กทุกคนย่อมปรารถนาให้ความมืดหายไป
แต่ในทางกลับกัน ผู้ใหญ่ที่ชินกับความมืด อาจมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของโลกที่มีแสง มีสี มีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย พวกเขาจินตนาการไม่เห็นประโยชน์ของความเสมอภาคหลากหลายมิติในสังคม มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ทุกคนได้รับการรักษาพยาบาลฟรีอย่างมีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การทำให้เด็กทุกคนได้เรียนมหาวิทยาลัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือทำให้คนแก่ทุกคนมีเงินบำนาญ ล้วนเป็นแสงสว่างที่พวกเขาไม่คุ้นเคย พวกเขาจึงปฏิเสธแสงสว่างนั้น อาจไม่ใช่ว่าเพราะมันน่ากลัว แต่พวกเขาปฏิเสธว่าแสงสว่างเหล่านั้น ไม่มีจริง และไม่จำเป็นที่จะต้องมีแสงสว่าง
เมื่อพิจารณาภาวะ “กลัวความมืด” และ “กลัวแสงสว่าง” จากประสบการณ์ของคนสองรุ่นที่แตกต่างกัน สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อคือ หากเราสามารถสร้างสังคมใหม่ที่เราคุ้นชินกับแสงสว่างตั้งแต่แรก การออกแบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ทำให้คนที่ไม่ว่าจะเกิดในชนชั้นใดของสังคม สามารถมีชีวิตที่ดีได้อย่างเท่าเทียมกัน เติบโต เจ็บป่วยอย่างเท่าเทียมกัน แก่ชราอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าแสงสว่างหรือรัฐสวัสดิการมาถึงเราตั้งแต่ห้วงเวลาแรกของชีวิต เป็นความปกติใหม่ของสังคม เด็กก็จะไม่กลัวความมืด และผู้ใหญ่ก็จะคุ้นชินกับแสงสว่างและไม่กลัวการหายไปของความมืดที่ตนคุ้นชินอีกต่อไป