ประทับตรา 'เอกราช' ให้กลายเป็นอาชญากรรมทางความคิด - Decode
Reading Time: < 1 minute

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

เราไม่ได้เห็นการส่งเสียงมากนักจากคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ต่อประเด็นเรื่องนักศึกษาทำแบบสอบถามว่าควรจะถามเรื่องลงประชามติเอกราชหรือไม่ ซึ่งถูกขยายผลจนไปไกลอย่างยิ่งในเวลานี้ แต่เท่าที่ได้สัมผัสกับผู้คนที่นั่น ล่าสุดผู้เขียนพบว่าเรื่องนี้ส่งแรงกระเพื่อมไม่น้อย

อย่างที่รู้กันว่าทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนักศึกษาและนักกิจกรรมในพื้นที่หลายคน และไม่เพียงเท่านี้ คาดกันว่ายังจะมีการแจ้งความเพิ่มอีกในเวลาอันไม่ช้า นอกจากการเคลื่อนไหวในทางเปิด ยังมีการติดตามตั้งคำถามกับผู้เกี่ยวข้องซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา นักกิจกรรมรวมไปถึงนักวิชาการ เกิดแรงกดดันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจนอึดอัดกันไปทั่ว ในพื้นที่อันไม่กว้างใหญ่นักและเป็นพื้นที่ที่มีนักกิจกรรมตลอดจนนักวิชาการจำนวนไม่มากแถมรู้จักกันเป็นส่วนใหญ่อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แรงสะเทือนจึงเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเป็นที่รู้กันว่าใครโดนอะไรบ้างเพียงแต่พวกเขาจะพูดหรือไม่เท่านั้น แต่สิ่งที่พูดได้อย่างชัดเจนก็คือการขยายผลเรื่องนี้สร้างแรงกดทับเพิ่มจากบรรดาแรงกดทับเดิมที่มีอยู่แล้วในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก

นักศึกษาไม่ได้ทำแบบสอบถามเรื่อง “เอกราช” สิ่งที่พวกเขาทำคือตั้งคำถามว่าควรจะถามหรือไม่ อาจจะเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยฝ่ายประชาธิปไตยผู้ซึ่งมีท่าทีที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องรวมไปถึงเรื่องการทำงานของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เมื่อผนวกกับการมีพรรคการเมืองที่มีตัวแทนจากพื้นที่โดยเฉพาะพรรคเป็นธรรมที่มีสมาชิกจากกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกจับตาอย่างกลุ่ม The Patani เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล เรื่องเหล่านี้อาจจะยิ่งสร้างความหวั่นไหวให้กับกลุ่มอนุรักษ์จนออกมาประสานเสียงต่อต้าน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มเดอะปาตานีถูกมองว่าเกี่ยวโยงอยู่เบื้องหลังกิจกรรมของนักศึกษา มันกลายเป็นแรงกดดันจนเกิดการประทับตราทำให้การพูดถึง “เอกราช” กลายเป็นอาชญากรรมทางความคิดไปก็ว่าได้

อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าสังคมหรือผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ไม่เข้าใจความอ่อนไหวอันนี้ของสังคมไทย ผู้เขียนเห็นว่าพวกเขาเข้าใจดีและหลายภาคส่วนยับยั้งตัวเองในการพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยมานานแล้วเพราะเกรงว่าสังคมไทยจะรับไม่ได้จนนำภัยมาสู่ตนเอง การปิดปากในเรื่องนี้เกิดขึ้นนานจนแทบจะพูดได้ว่า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของบทสนทนาในเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่กลับไม่ได้รับการคลี่ออกเพราะความกลัว

มันไม่ใช่ว่าทุกคนในพื้นที่นี้อยากได้ “เอกราช” ที่จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ไม่มีใครแน่ใจได้แท้จริงว่าคนที่ต้องการ “เอกราช” นั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหนนอกเหนือไปจากคนที่เป็นสมาชิกขบวนการกลุ่มต่าง ๆ

ถ้าจะมอง “เอกราช” ในบริบทของการสร้างสันติภาพ ต้องมองก่อนว่าคำคำนี้นั้นอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดใหญ่ที่มีผู้เสนอมาแล้วในเรื่อง “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง” หรือ rights to self determionation ซึ่งเป็นความคิดที่แตกออกเป็นนามธรรมหลายรูปแบบ มันคือความต้องการกำหนดวิถีของตนเอง ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องของเอกราช แต่รวมไปถึงการปกครองตนเอง รวมไปถึงอำนาจในการกำหนดวิถีของตนเองในทางวัฒนธรรม ทางสังคม และทางเศรษฐกิจ

ความคิดนี้ว่ากันว่าเริ่มต้นมาจากยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและมาได้รับการขยายผลเป็นจริงเป็นจังในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะบรรยากาศของการต่อต้านเจ้าอาณานิคมเช่นในเอเชียลุกลาม และต้องถือว่าความสำเร็จ – แม้จะเพียงชั่วคราว ของญี่ปุ่นในช่วงแรกที่รุกไล่เจ้าอาณานิคมตะวันตกจนกระเจิงในหลายพื้นที่ไม่ว่าพม่า อินโดจีน คาบสมุทรมาลายา ได้กลายเป็นปัจจัยที่เติมกระแสชาตินิยมและเสริมความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ตลอดจนปลุกเร้าความต้องการเป็นอิสระ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี 2488 ว่ากันว่าหลังจากนั้นสหประชาชาติได้บรรจุหลักการในเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองไว้ในกฎบัตรของสหประชาชาติในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ปัจจุบันหลักการนี้ฝังตัวอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ

ต้องไม่ลืมว่าสหพันธรัฐมาลายาได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2500 นี่เอง กว่าจะได้เอกราชก็แน่นอนว่าต้องผ่านการขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น บรรยากาศอันนี้แผ่อิทธิพลเข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เพราะความใกล้ชิดทั้งผู้คนและพื้นที่รวมทั้งประเด็น ความคิดเรื่องการกำหนดชะตากรรมตนเองจึงน่าจะดำรงอยู่ในพื้นที่มานานแล้วเพราะได้รับอิทธิพลหลายด้านดังกล่าว ถ้าจะพูดอย่างถึงที่สุดแล้วผู้นำในพื้นที่ที่ผ่านมาอย่างหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนาที่ยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อต่อรัฐบาลในปี 2490 ก็มีแนวคิดเช่นนี้อยู่เบื้องหลังข้อเสนอของเขาแม้ว่าจะไม่ได้สกัดออกมาเป็นศัพท์ตัวเดียวกันเนื่องจากในเวลานั้นกรอบความคิดเรื่อง self determination ยังกำลังได้รับการจัดวางความชัดเจนกันอยู่

สิ่งที่น่าเชื่อด้วยก็คือว่า ความคิดอันนี้ในพื้นที่น่าจะผูกกับวิธีคิดการกำหนดวิถีของตนเองแบบสมัยใหม่และเคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กับการถกเถียงในสากลกับตัวแนวคิดที่ยังเคลื่อนที่อย่างไม่หยุดยั้ง เช่นการที่มีบางฝ่ายโต้แย้งว่าบางรูปแบบของการกำหนดชะตากรรมตนเองอย่างการต่อสู้ เพื่อเอกราชนั้นหลุดกรอบความเป็นไปได้ในเรื่องเวลาไปแล้วอันเนื่องมาจากศักยภาพในการทหารบวกกับประเด็นเรื่องของดินแดนที่ลงตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่อย่างไรก็ตามหลักการนี้ยังคงอยู่

กลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐบาลไทยก็นำเอาเรื่องนี้มาเป็นหลักการในการเจรจากับรัฐบาล มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นอันที่จริงแล้วโดยแก่นของเนื้อหาหลายข้อก็ไม่ต่างจากข้อเรียกร้องของหะยีสุหลง และในวันนี้จากแนวคิดดังกล่าวคู่พูดคุยสันติภาพคือตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มบีอาร์เอ็นได้นำไปกำหนดเป็นจังหวะก้าวเอาไว้ว่า ประเด็นหนึ่งที่จะต้องทำก็คือการจัดให้มีการหารือสาธารณะเพื่อหาทางออกทางการเมืองให้กับความขัดแย้ง แน่นอนว่าการหารือสาธารณะที่ว่านี้ก็ต้องเกี่ยวพันไปถึงการสำรวจตรวจสอบรูปแบบของการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชุมชนในพื้นที่

ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้คนในพื้นที่ต่างคิดเรื่องการกำหนดชะตากรรมตัวเองกันทั้งสิ้นแต่ว่าในระดับและรูปแบบที่ต่างกันออกไป แม้แต่คนพุทธในพื้นที่เองก็รู้ว่ามีบทสนทนาเช่นนี้และเข้าใจดีว่าผู้คนต่างความคิด สุภาพสตรีคนพุทธในนราธิวาสที่เป็นข้าราชการเกษียณรายหนึ่งบอกผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่าอยากเห็นการทำประชามติว่ามีคนต้องการเอกราชจริงหรือและมีกี่มากน้อย นั่นเป็นความมั่นใจของอดีตข้าราชการผู้นี้ที่เชื่อว่าจำนวนคนที่ต้องการเดินเส้นทางนี้ไม่ได้มีมาก เธออาจจะเข้าใจผิดก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยวิธีคิดเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าความเข้าใจถึงความหลากหลายของแนวคิดในสังคมมลายูมุสลิมในหมู่คนพุทธก็มี

และในความเป็นจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพูดถึง “เอกราช” ที่ผ่านมาคำว่าเอกราชได้มีการพูดถึงกันบ้างแล้วมิหนำซ้ำมากไปกว่าที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีทำ ในการทำสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับสันติภาพในพื้นที่ที่เรียกว่า peace survey ที่ทีมนักวิชาการจับมือกลุ่มภาคประชาสังคมร่วมกันดำเนินการหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีคำถามเรื่องเอกราชเช่นกัน ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจที่นักศึกษารัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่แถวหน้าของการศึกษาในเรื่องการเมืองจะอยากทำคำถามเช่นนี้ และโดยเฉพาะภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพ

“เอกราช” ก็คือเป้าหมายของขบวนการต่อสู้ในพื้นที่ เมื่อกลุ่มขบวนการกลุ่มต่าง ๆ เข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทยที่กำหนดว่า ประเทศไทยเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกมิได้ ก็ยิ่งทำให้มีคำถามว่า ในหมู่พวกเขาเองทำอย่างไรกับเป้าหมายอันนี้ที่วางเอาไว้ประดุจหมุดหมายสูงสุดของชีวิต หลายฝ่ายเชื่อว่าการเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยของกลุ่มบีอาร์เอ็นส่งผลข้างเคียงคือภายในกลุ่มเกิดปัญหาเอกภาพตามมาอย่างที่รู้ ๆ กันจนถึงขนาดว่าอาจจะทำให้กลุ่มแตกได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ยากยิ่งขึ้นในอันที่จะแก้ไขความขัดแย้งและสร้างสันติภาพแบบที่เรียกกันว่าสันติภาพเชิงบวก คือ สันติภาพที่ยั่งยืน

ประเด็นก็คือว่า ในพื้นที่อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้คนมีความคิดและความต้องการที่หลากหลาย ทุกคนพูดถึงการกำหนดชะตากรรมตัวเองในดีกรีต่างกันออกไป พวกเขาจะหาฉันทามติได้อย่างไรในเรื่องนี้หากไม่ได้พูดคุยกันอย่างจริงจังว่าผลดีผลเสียในแต่ละรูปแบบของการกำหนดชะตากรรมตนเองรวมไปถึงการได้ “เอกราช” นั้นเป็นอย่างไร กลุ่มบีอาร์เอ็นยอมวางเป้าหมาย “เอกราช” หรือไม่จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นคำถาม แต่กับคนที่ไม่ได้อยู่กับบีอาร์เอ็นพวกเขาประเมินเรื่องนี้อย่างไร จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะกระโดดข้ามบทสนทนาเรื่องนี้ แล้วคาดหวังว่าจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนได้ เรากำลังหลอกตัวเองหรือไม่