คำ(บังคับ)สารภาพของจำเลยใต้กฎอัยการศึก - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เขาใช้เท้าเตะก้านคอผม และบอกให้ผมรับสารภาพ”
“เขาบอกให้ผมรับสารภาพ ครอบครัวผมจะได้ปลอดภัย”

นี่คือส่วนหนึ่งจากจดหมายคำให้การของจำเลยที่ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวจากคดีระเบิดป่วนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งจำเลยได้ตัดสินใจเขียนเล่าให้ทนายว่าเขาถูกปฏิบัติอย่างไรขณะควบคุมตัว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เกิดเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพมหานครหลายจุด เช่น สถานีช่องนนทรี, ย่านพระรามเก้า, ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร, กองบัญชาการกองทัพไทย และภายในร้านกิ๊ฟชอปสาขาสยามสแควร์วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนและสรุปภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ว่านี่คือการก่อความไม่สงบจากกลุ่มผู้ก่อการในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คืนวันที่ 2 สิงหาคม 2562 เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมชายสองคนบนรถทัวร์ที่จังหวัดชุมพร ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินทางกลับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ต่อไปขอใช้คำว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2) ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวจำเลยทั้งสองไปดำเนินการสืบสวนและสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และค่ายสิรินธรจังหวัดยะลา จำเลยอีกคนถูกจับที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส(ต่อไปขอใช้คำว่าจำเลยที่ 3) ก็ถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่เดียวกัน

จุดร่วมของจำเลยทั้งสาม ที่กลับคำให้การในชั้นศาล คือพวกเขาเขียนจดหมายบอกเล่าต่อทนายว่า ที่ต้องจำใจยอมรับสารภาพ เพราะเจ้าหน้าที่ได้กระทำความรุนแรงและขู่เข็ญว่าครอบครัวจะได้รับอันตราย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายของจำเลยเปิดเผยข้อมูลและตั้งข้อสังเกตุว่า สิ่งที่เขาเจอในความไม่ปกติของการดำเนินการต่อจำเลยทั้งสามนั้น มีหลายข้อด้วยกัน

1.จำเลยไม่ได้ถูกนำตัวมาดำเนินคดี ณ สถานีตำรวจของพื้นที่เกิดเหตุ(กรุงเทพมหานคร) แต่กลับนำตัวไปสืบสวนสอบสวนที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีกฎหมายพิเศษทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ที่สามารถป้องกันการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ และควบคุมผู้ต้องหาได้ถึง 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล

2.จำเลยถูกกุมขังในสภาพที่ไม่มีทนาย คนใกล้ชิดจากครอบครัวหรือคนที่สามารถไว้วางใจได้ขณะถูกสอบสวนและบันทึกปากคำรับสารภาพ

3.การทำบันทึกปากคำรับสารภาพจากวีดีโอของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงแค่ลักษณะอ่านให้ฟังโดยให้จำเลยพยักหน้าหรือยกมือหากมีส่วนไหนที่ต้องการค้านกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการบันทึกปากคำโดยปกติคือการซักแบบถามตอบ พรเพ็ญเลยตั้งข้อสังเกตุว่า นี่เป็นผลมาจากการรับสารภาพกันก่อนแล้วใช่หรือไม่ แล้วนำตัวมาบันทึกวิดีโอ

4.ปรากฎบันทึกจากใบรับรองแพทย์ของจำเลยที่สาม ว่ามีแผลขนาดใหญ่ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร

พรเพ็ญ ทนายของจำเลยทั้งสามจึงชี้ประเด็นให้ศาลเห็นว่า กระบวนการได้มาซึ่งพยาน หลักฐานและคำรับสารภาพนั้น เกิดขึ้นภายใต้การใช้ความรุนแรง หรือที่เราเรียกกันว่าซ้อมทรมาน

De/code ได้รับจดหมายฉบับเต็มที่จำเลยได้เขียนเพื่อบอกเล่ากับทนายฯ จนนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นศาลของทนายว่าหลักฐานทั้งหมดเกิดขึ้นจากการซ้อมทรมานนั้น decode ไล่เรียงไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

จำเลยที่ 1 และ 2 ถูกควบคุมตัวที่จังหวัดชุมพร ขณะเดินทางลงใต้ด้วยรถทัวร์สายใต้ ในคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ซึ่งเจ้าตัวเขียนเล่าในจดหมายว่า “เวลาประมาณตี 2 รถจอดที่ด่านด่านหนึ่ง ทราบภายหลังคือด่านปฐมพร จ.ชุมพร ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นมาบนรถจากนั้นก็ให้เอาบัตรประชาชนขึ้นมาแล้วถ่ายรูปบัตรกับหน้าเรา จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ดึงผมลงจากรถ ผมยังไม่ได้แปลกใจอะไร จากนั้นก็กดผมลงจากพื้นแล้วใส่กุญแจมือ ผมตกใจเลยถามว่าจับผมทำไหม ก็ไม่มีใครตอบ แล้วก็ลากผมกับจำเลยที่ 2 เข้าไปข้างในเหมือนเป็นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ ผมพยายามถามว่า จับผมทำไม ผมทำอะไรผิด แต่ก็ไม่ตอบ และผมขอโทรหาญาติ เขาก็ไม่ให้”

กระทั่ง จำเลยทั้งสองได้ถูกส่งตัวไปที่ สภ.หนองจิก และส่งเข้าศูนย์พิทักษ์สันติ(ค่ายทหาร) หลังจากนั้น จำเลยเขียนเล่าต่อ ว่าพวกเขาทั้งถูกตบถูกเตะ ถูกขังห้องเย็น เพื่อให้รับสารภาพว่าได้กระทำการก่อเหตุลอบวางระเบิดทั่วกรุงเทพมหานคร “ตำรวจก็เข้ามากันหลายคน … 10 กว่าคนมาสอบสวนผม ผมไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นตำรวจหรือทหาร หรือเป็นอะไรบ้างมีทั้งผมยาว หนวดเครายาว ดูไม่เหมือนตำรวจทั่วไป พวกเขาบอกว่าผมเป็นคนวางระเบิด แต่ผมปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกคนถามผมไม่ทันตอบอีกคนจะตีหัวมั่ง ตบหน้าบ้างทุบหลัง ตีหน้าอก พวกเขาจะพยายามให้ผมรับสารภาพ จากนั้นพวกเขาก็ออกไป”

ทั้งสองคนถูกจับขังอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ถึงตัดสินใจยอมรับสารภาพ เพราะเจ้าหน้าที่ได้บอกว่า หากรับสารภาพ พรุ่งนี้ก็จะปล่อยกลับบ้าน และครอบครัวก็จะได้รับความปลอดภัย แต่หลังจากทำบันทึกรับสารภาพ ทั้งสองคนก็ถูกส่งตัวมาขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ค่ายทหาร พัน.ร.มทบ.๑๑ “พวกเขาจะถามผมตลอดว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้ารับจะได้หยุด ซ้อมผมแบบนี้อยู่นาน สุดท้ายผมไม่ไหว ทนรับไม่ไหวจริงก็เลยต้องรับ ผมทนโดนตีไม่ไหว พอผมบอกว่ารับ พวกเขาโห่ร้องทันทีเลย”

หลังจากรับสารภาพจำเลยที่ 1 และ 2 ก็ถูกส่งตัวเข้ากรุงเทพมหานคร ทำเรื่องดำเนินคดีที่ สน.ปทุมวัน และทำเรื่องฝากขัง ณ ศาลอาญารัชดา แต่ขณะนั้นศาลได้ให้จำเลยทั้งสองฝากขังไว้ที่ เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง ซึ่งจำเลยได้ร้องขอต่อศาลฝากขังที่ศาลพลเรือนแต่ศาลไม่อนุญาต “ตำรวจชุดอรินทราชก็นำตัวผมไปที่ศาลอาญารัชดา เพื่อทำการฝากขัง ฝากแรกคือวันที่ 15 สิงหาคม 2562 โดยศาลให้ได้ไปฝากขังที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้อง ผมได้ขอไปที่เรือนจำพลเรือนแต่ศาลไม่อนุญาติ”

จำเลยที่ 3 เป็นว่าที่บัณฑิตกำลังจะเรียนจบและรอรับปริญญาของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ถูกจับกุมที่สุไหงโกลกขณะรอแม่กลับจากมาเลเซีย เขาถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.โกลกและเปิดฉากด้วยการทำร้ายร่างกาย

“ในขณะนั้นได้มีทหารเขียวจากหน่วยไหนผมก็ไม่ทราบแต่ผมจำได้ว่าใช้ผ้าพันคอสีดำแถบแดงเข้ามาในห้องด้วยและถัดมาก็มีทหารพรานเข้ามาในห้องด้วย หลังจากนั้นผมก็โดนทำร้ายร่างกายเป็นรอบรอบไป โดยไม่มีการสอบสวนอะไรเลย”

จำเลยที่สามเขียนเล่าต่อว่า หลังจากนั้นเขาถูกส่งตัวไปยังศูนย์พิทักษ์สันติที่อยู่ภายในศูนย์บัญชาการตำรวจชายแดนใต้จังหวัดยะลา มีเจ้าหน้าที่หลายชุดได้ผลัดกันเข้ามาเบิกตัวไปเพื่อสอบสวน ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งจำเลยได้ขอพิสูจน์ให้พิจารณาจากบันทึกการเบิกตัวและคลิปวิดีโอบันทึกหลักฐานที่ไม่ได้ถ่ายอย่างต่อเนื่อง และบางคลิปได้ถ่ายหลังจากที่เบิกตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง “จุดสังเกตุเวลาที่ปรากฏในคลิปวิดีโอกับเวลาที่เบิกตัวผมมาจากศูนย์ซักถาม 1 เพื่อมาซักถามในชั้นไต่สวนซักถาม 2 จะไม่มีการถ่ายวิดีโอต่อเนื่องในการซักถาม แต่จะมีการถ่ายวิดีโอเป็นช่วง ๆ โดยจะถ่ายหลังจากที่เบิกตัวผมออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง หรือบางครั้งจะนานกว่า 12 ชั่วโมง”

คลิปวีดีโอดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ใช้พยาน หลักฐานในการดำเนินคดีต่อจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยได้ยอมรับสารภาพในชั้นสอบสวนแล้ว แต่จำเลยได้กลับคำให้การและบอกว่าที่ต้องรับสารภาพ เพราะเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังและขู่เข็ญถึงความปลอดภัยของครอบครัว

“ในการซักถามทุกครั้งจะดำเนินการเบิกตัวผมจากศูนย์ซักถาม 1 แล้วมาซักถามศูนย์ซักถาม 2 โดยจะซักถามต่อเนื่องตามสคริปที่ตำรวจนำมาและให้ผมพูดตามและบางครั้งให้ผมเซ็นชื่อด้วย ถ้าผมไม่ทำหรือพูดตามเจ้าหน้าที่ต้องการผมก็จะโดนตบ โดนทำร้ายร่างกายและข่มขู่ด้วย แต่บางครั้งมีการข่มขู่ถึงเรื่องความปลอดภัยของพ่อแม่ของผมด้วย ถ้าผมยอมพูดตามหรือทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่งแล้วก็จะมีการอัดวิดีโอเพื่อถ่ายคลิป จัดฉากขึ้นมาแล้วนำตัวบาบอที่เจ้าหน้าที่เตรียมการไว้มานั่งข้าง ๆ แล้วถ่ายคลิปวิดีโอ”

นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากจดหมายของจำเลยทั้งสามที่ได้เขียนบอกกล่าวแก่ทนายเพื่อใช้เป็นการต่อสู้ในชั้นศาล พรเพ็ญ คงขจรเกรียติ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ผิดทั้งหลักการสิทธิมนุษยชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตั้งแต่ต้น

หากย้อนดูหลักการสากลว่าด้วยการซ้อมทรมานเหยื่อของจำเลยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ข้อที่ 15 ระบุว่า ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่า จะยกคำให้การใดที่พิสูจน์ได้ว่า ได้ให้โดยเป็นผลจากการทรมาน อ้างเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีใดมิได้ เว้นแต่จะใช้เป็นหลักฐานผูกมัดบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการทรมาน ในฐานะเป็นหลักฐานว่าคำให้การได้มาโดยวิธีนั้น หรือกล่าวโดยสรุปคือให้กระบวนการยุติธรรมได้ยกคำให้การใด ๆ ที่ได้มาจากการใช้ความรุนแรง ซึ่งนักกฎหมายเรียกหลักการเหล่านี้ว่าบทตัดพยาน

สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/1 ว่า ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน แต่พรเพ็ญกล่าวแย้งว่า โดยเงื่อนไขของคำว่า “เว้นแต่” ในมาตรานี้ไม่อาจให้บทตัดพยานสามารถทำงานได้จริง ทั้ง ๆ ที่ควรบอกเลิกหลักฐานและพยานทั้งหมดที่ได้จากการทรมานเหมือนที่รัฐไทยได้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน

แต่สิ่งที่หวังที่สุดว่าศาลจะพิจารณารับฟัง คือใบรับรองแพทย์ของจำเลยที่ 3 ที่ได้มาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสุไหงโกลก ซึ่งจำเลยได้ถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงจนเกิดบาดแผลและได้นำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล สิ่งที่พรเพ็ญเน้นย้ำว่า นี่อาจเป็นความโชคดีของจำเลยอยู่บ้าง

“ที่โรงพยาบาลได้กล้าหาญในหลักจรรยาบรรณและมอบบันทึกใบรับรองแพทย์ชิ้นนี้ให้กับทางครอบครัว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้องการหลักฐานประเภทนี้จากทางนิติเวชโรงพยาบาลช่างยากเย็นแสนเข็ญ เหมือนจำเลยที่ 1 และ 2 ที่ไม่สามารถติดตามใบรับรองแพทย์ขณะถูกควบคุมตัว ทั้ง ๆ ที่ต้องเป็นหลักฐานที่แนบมากับฝั่งเจ้าหน้าที่เสียด้วยซ้ำ” พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติในฐานะทนายของจำเลยทั้งสาม และนักสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เรื่องต่อต้านการซ้อมทรมานในไทยมากว่าสิบปีกล่าวในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ว่า น่าเสียดายที่จำเลยทั้งสามไม่ได้เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ป้องการและปราบการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายที่ประกาศใช้ไปเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “แต่นี่เป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทยร่วมกัน ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองไว้ตั้งแต่ถูกควบคุมตัว”

จนถึงขณะนี้ จำเลยทั้ง 3 ยังถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และจะมีการตัดสินคดีฯ ในวันพรุ่งนี้(3 กรกฎาคม 2566)