Endangered – Part 3 ชัยชนะของการอนุรักษ์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

After Play เกมจบคนไม่จบ

แดนไท สุขกำเนิด

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเล่นบอร์ดเกมคือชัยชนะ หรือถ้าเจาะจงไปอีกคือวิธีการชนะ ความสำคัญของมันไม่ใช่แค่การที่ชนะแล้วจะได้รางวัล (ซึ่งก็ไม่มีหรอก :P) แต่เป็นผลกระทบของเป้าหมายต่อผู้เล่น ในเกมนี้นักออกแบบเกมจูงใจผู้เล่นให้ชนะเกมผ่านวิธีการไปโน้มน้าวประเทศต่าง ๆ ให้มาสนับสนุนการอนุรักษ์ให้ได้ภายในระยะเวลา (รอบ) ที่จำกัด ดังนั้นแอคชั่นต่าง ๆ ที่ทำให้แต้มโน้มน้าวไปอยู่กับประเทศต่าง ๆ จึงสำคัญมาก และอาจสำคัญกว่าการช่วยเสือหรือฟื้นฟูป่าด้วยซ้ำในบางบริบท

รู้สึกแปลกใช่มั้ยครับ? ทำไมเกมนี้ถึงทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่าเอาใจต่างประเทศสำคัญกว่าช่วยเสือได้ ทั้งที่ถ้าเป็นชีวิตจริงอาจจะต้องกลับกัน (หรือเปล่า?) ในพาร์ทสุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจถึงทางรอดที่เกมนี้เลือกที่จะนำเสนอ และมาลองคิดกันว่าถ้าเกมไม่ชนะด้วยการสนับสนุนจากต่างประเทศ เราควรจะชนะอย่างไร

เหล่าผู้คุมชะตาชีวิต

การหาความช่วยเหลือจากนานาชาติ คือการทำให้ 4 ประเทศมาโหวต YES ให้การสนับสนุนประเทศเราภายในปีที่ 4 ถ้าทำไม่ได้ก็มีโอกาสแก้ตัวอีกครั้งในปีถัดไป โดยการทำให้ประเทศต่าง ๆ สนับสนุนนั้นจะขึ้นกับแต้มการโน้มน้าว (influence) ซึ่งเป็นลูกบาศก์ (cube) สีเขียว ๆ ไปวางบนประเทศที่เลือกได้ ซึ่งก็เปรียบได้กับการได้รับการสนับสนุนจากประเทศเหล่านั้น โดยถ้าถึงจำนวนที่แต่ละประเทศตั้งไว้ (ไม่เท่ากันด้วย) ก็จะสำเร็จ

พูดแบบนี้อาจเหมือนง่าย แต่อย่าลืมว่าภายใน 20 ตานี้เราก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ แอคชั่นที่จะเพิ่มแต้มโน้มน้าวนั้นก็ต้องใช้เงินมากหรือถ้าไม่ใช้ก็โน้มน้าวได้น้อย นี่จึงเป็นการยากทีเดียวที่จะได้รับการสนับสนุน แต่นานาประเทศก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น เพราะแต่ละประเทศก็จะมีเงื่อนไขของตัวเองที่จะทำให้ประเทศนั้น ๆ โหวต YES โดยนำแต้มที่ได้จากเงื่อนไขมารวมกับแต้มโน้มน้าวแล้วค่อยเช็คกับจำนวนที่ประเทศนั้น ๆ ต้องการ เงื่อนไขของแต่ละประเทศเป็นประเด็นที่สร้างบทสนทนาเป็นเรื่องแรกเลยหลังเกมจบ ไม่ใช่แค่เพราะมันยึดโยงกับการชนะมาก ๆ แต่เงื่อนไขเหล่านี้ยังสะท้อนถึงมุมมองต่าง ๆ ต่อการอนุรักษ์ที่ควรสนับสนุน ซึ่งก็ส่งผลต่อวิธีการอนุรักษ์ที่ผู้เล่นจะเลือก

🎲 นานาชาติที่มีให้ในแต่ละเกมจะมีอยู่ 6 ประเทศเท่านั้น โดยจะสุ่มมาจากประเทศกว่า 12 ประเทศ โดยประเทศที่ใช้เล่นนั้นจะถูกวางคว่ำไว้ตอนต้นเกม ทำให้ไม่รู้ว่าสุ่มได้ประเทศใดขึ้นมา ผู้เล่นจะรู้ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไขได้ก็ต่อเมื่อมีการนำแต้มโน้มน้าวไปใส่ในประเทศนั้นแล้วเท่านั้น (ต้องไปทำความรู้จักก่อนถึงมาช่วย)

ตัวอย่างเช่นสามประเทศแรกได้แก่จีน อินเดียและรัสเซียที่จะให้ความสำคัญกับตัวผลลัพธ์ของการอนุรักษ์ เช่นจีนก็จะนับประชากรเสือโดยตรง ในขณะที่รัสเซียนับอาณาเขตของเสือ และอินเดียนับเสือที่พร้อมผสมพันธุ์ (อยู่เป็นคู่) การตั้งตัวชีวิตการอนุรักษ์แบบนี้ถือว่าค่อนข้างไปในแนวทางเดียวกับที่ผู้เล่นเลือกอนุรักษ์ตั้งแต่ก่อนจะรู้ว่าแต่ละประเทศมีเงื่อนไขใดบ้างเสียอีก ทำให้การหาเสียงสนับสนุนจากประเทศเหล่านี้ แทนที่จะต้องเน้นการใช้แต้มโน้มน้าว ก็เน้นดูแลป่าและเสือ ทำให้ในหลาย ๆ วงที่เล่นก็จะเห็นประชากรเสือที่ค่อนข้างคงตัวและกระจุกกัน และมีการเว้นระยะห่างจากป่าแหว่งเพื่อป้องกันความขัดแย้งกับมนุษย์ อย่างไรก็ดีเป้าหมายนี้ก็ส่งผลย้อนกลับเหมือนกัน แม้ว่าโจทย์ของทั้งสามประเทศคือการเพิ่มเสือ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเลือกทำในรอบแรก ๆ จนมีเสือถึง 10 ตัว แต่สุดท้ายเราก็ยอมปล่อยให้ประชากรเสือลดลงเพราะโจทย์ไม่ใช่เพิ่มเสือให้มากที่สุด แต่เป็นให้ถึงเกณฑ์ ซึ่งก็อาจดูย้อนแย้งประมาณหนึ่งถ้าผู้เขียนเป็นผู้ให้ทุนจากสามประเทศนี้

บางประเทศนั้นมีเงื่อนไขขึ้นกับดวงจากลูกเต๋า ซึ่งก็อาจจะหมายถึงความซับซ้อนและไม่แน่นอนภายในประเทศที่มีผลต่อการสนับสนุนการอนุรักษ์ เช่น เยอรมันให้ทอยเต๋าสองลูกแล้วเลือกลูกที่มากกว่า ส่วนอินโดนีเซียให้นำมาบวกกันแทน ประเทศแรกอาจแสดงถึงความสนใจที่มีโดยพื้นฐานอยู่แล้วแต่ด้วยเงื่อนไขภายในประเทศจึงอาจไม่แน่นอน ส่วนประเทศหลังการเมืองก็มีความแกว่งสูง อาจจะกลายเป็นสนับสนุนมาก หรือไม่สนใจเลย ในมุมมองของผู้เล่น ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่สามารถหวังพึ่งได้ในยามที่สถานการณ์ย่ำแย่แล้ว เพราะลูกเต๋านั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับป่าแหว่งหรือเสือ แต่นั่นก็หมายถึงการที่ต้องเสียเวลาไปเพิ่มแต้มโน้มน้าวให้ประเทศเหล่านี้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แทนที่จะไปทำแอคชั่นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของเสือและป่า

ประเทศอย่างญี่ปุ่นและแคนาดานั้นมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างแตกต่าง ทั้งสองประเทศจะดูที่จำนวนการ์ดแอคชั่นโดยญี่ปุ่นดูบนมือ (ยังเป็นไอเดีย) และแคนาดาดูแอคชั่นที่พร้อมเล่น (วางแผนแล้ว) เกณฑ์ที่ประเทศเหล่านี้กำหนดจะสูงลิ่วแบบที่ใช้แต้มโน้มน้าวก็อาจจะไม่คุ้ม แต่มองในทางกลับกันโจทย์นี้ก็ทำให้เราเลือกจั่วการ์ดและเพิ่มการ์ดแอคชั่นมาก ๆ ซึ่งก็เป็นทางออกจากเส้นโค้งรูปตัว S ที่ได้กล่าวไปในพาร์ทที่แล้วด้วย จะเห็นได้ว่าสองประเทศนี้ให้ความสำคัญกับความสามารถและวิธีการอนุรักษ์มาก จะให้ความช่วยเหลือก็ต่อเมื่อพร้อมจะแก้ปัญหาแล้วเท่านั้น

คล้าย ๆ กันนั้น อเมริกาก็มีเงื่อนไขการสนับสนุนขึ้นกับไทล์ป่าแหว่งที่อยู่นอกกระดาน (พูดให้ง่ายคือมีป่าแหว่งในกระดานไม่เกินเกณฑ์หลังหักลบกับแต้มโน้มน้าว) นั่นแปลว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากอเมริกา เราก็ต้องทำแอคชั่นฟื้นฟูป่าเป็นประจำเพื่อไม่ให้ป่าแหว่งเกินจำนวน แต่จากที่เล่นจริงนั้น แอคชั่นสำคัญที่จะทำให้ชนะใจอเมริกาได้กลับเป็นแอคชั่นที่แก้ปัญหาผลกระทบโดยเฉพาะการตัดไม้ล้มแปลง (clearcutting) และสัมปทานป่า (logging permit) เพื่อที่จะทำให้อัตราการสูญเสียป่าอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

อย่างไรก็ดี บางคนก็ไม่ได้ถูกใจเงื่อนไขของอเมริกานัก เพราะเป็นเหมือนการตั้งกำแพงว่าต้องจัดการตัวเองได้อยู่แล้วจึงจะได้รับการช่วยเหลือ (ซึ่งก็นำมาสู่คำถามว่าแล้วจะช่วยทำไม) ประเทศฝรั่งเศสถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามในกรณีนี้ โดยยิ่งมีผลกระทบเรื้อรังมาก ยิ่งมีโอกาสสนับสนุนมาก ซึ่งก็เหมือนเป็นเงื่อนไขหลักประกันคล้าย ๆ กับเยอรมันและอินโดนีเซีย แต่การจะเข้าเงื่อนไขของฝรั่งเศสนั้นก็มักจะเกิดในรอบสุดท้ายเท่านั้น เพราะถ้าเข้าเงื่อนไขตั้งแต่รอบแรก ๆ ก็คงจะแพ้เพราะจัดการกับผลกระทบไม่ได้เหมือนกัน หากคิดนอกกรอบของเกม แม้ว่าจะมีผลกระทบมากจนชนะใจฝรั่งเศส แต่ถ้าต้องเล่นต่อหลังเกมจบก็คงจะแพ้อยู่ดีด้วยผลกระทบดังกล่าว และฝรั่งเศสก็ไม่น่าจะช่วยเหลืออะไรมากได้

แน่นอนว่าประเทศและเงื่อนไขที่กล่าวมานี้เป็นเพียงเรื่องสมมติหรือลดทอนรายละเอียดในเกม ดูอย่างประเทศที่ใช้ลูกเต๋าก็พอจะเดาได้ว่ากลไกส่วนนี้ออกแบบมาเพื่อความเป็นเกมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ถึงกระนั้นเมื่อมองแบบเกมที่มีจุดจบและการนับคะแนน เป้าหมายและแนวทางของการอนุรักษ์มันกลับชัดเจนขึ้นมาก ถึงในชีวิตจริงที่งานอนุรักษ์นั้นไม่สิ้นสุด แต่ถ้าลองคิดเล่น ๆ ว่าถ้าการอนุรักษ์มีจุดสิ้นสุดและแพ้ชนะ เราเลือกวัดการชนะนั้นจากเงื่อนไขอะไรดี?

🎲 ในอีกสามประเทศที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือบราซิล ไนจีเรียและเม็กซิโก สองประเทศแรกนั้นใช้ลูกเต๋าเช่นเดียวกับเยอรมันและอินโดนีเซีย ส่วนเม็กซิโกนั้นนับที่จำนวนเงิน ซึ่งก็มีความหมายว่าต้องรวยก่อนถึงจะชนะใจได้ (หืมม??)

ชัยชนะของการอนุรักษ์

เกม Endangered ได้ถูกออกแบบมาให้การช่วยเหลือจากต่างประเทศเปรียบเสมือนพระเอกของเกม เมื่อได้รับการช่วยเหลือความพยายามในการอนุรักษ์ก็สามารถสิ้นสุดลงได้ (หรือก็คือเกมจบลงด้วยชัยชนะ) การเลือกวิธีการจบแบบนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องอะไรที่น่าแปลกนักถ้ามอง Endangered ในฐานะของเกม แต่เมื่อมองเสมือนภาพสะท้อนของความจริง ทุก ๆ วงที่ผู้เขียนเคยนำเกมนี้ไปชวนเล่นต่างสงสัยว่ามีความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาก็เพียงพอแล้วหรือ

ในความเห็นของผู้เขียน ความช่วยเหลือระดับนานาชาติไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่นความพยายามในการเพิ่มประชากรเสือซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรนานาชาติอย่าง WWF (World Wildlife Foundation), Fauna and Flora International และ IUCN (International Union for the Conservation of Nature) และองค์กรอื่น ๆ ที่ทำให้ประชากรเสือทั่วโลกมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นหลังจากลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในปี 2010 และเมื่อมองในภาพใหญ่สิ่งมีชีวิตหลาย ๆ ชนิดก็กินอาณาบริเวณข้ามชายแดนประเทศที่เพิ่งมีขึ้นภายหลัง ความพยายามอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ร่วมกันข้ามพรมแดนผ่านองค์กรระหว่างประเทศจึงมีส่วนทำให้เกิดการฟื้นคืนได้มากกว่าเพียงประเทศเดียว

แต่ความช่วยเหลือจากต่างประเทศนั้นก็คงจะไม่ใช่ทางออกที่ทันทีและถาวรอย่างที่เกมนำเสนอ แต่อาจจะเป็นทุนในการพัฒนาการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างในตัวอย่างก่อนหน้าก็กินเวลาไปกว่าทศวรรษแล้วแต่ประชากรเสือก็ยังคงไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่เคยมีเมื่อ 100 ปีก่อน อีกประเด็นที่สำคัญที่เกมเลือกจะละไว้คือประเภทของความช่วยเหลือ เงินและทรัพยากรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ แต่การเข้ามามีส่วนร่วมของนักวิจัยนานาชาติก็ทำให้ความเข้าใจในการอนุรักษ์พัฒนาขึ้นได้ หรือในสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ในธรรมชาติแล้วในบางประเทศอาจยังมีเหลืออยู่ในประเทศอื่นก็มีความ เช่นเสือชีตาห์ที่ปัจจุบันพบแค่ในแอฟริกาและตะวันออกกลางบางส่วน ก็มีการทดลองปล่อยที่อินเดียซึ่งเคยเป็นแหล่งอาศัยในอดีต และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากคือเรื่องคำแนะนำและข้อเสนอเชิงกฎหมายและนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงรุกโดยรัฐ

รัฐบาลและราชการเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการอนุรักษ์ แม้ว่าในเกมจะมีการกล่าวถึงรัฐบาลอยู่ผ่าน ๆ เช่นผ่านแอคชั่นการฟ้องร้อง แต่ก็จะเห็นถึงผลลัพธ์ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ (ถ้าไม่นับรวมถึงหลาย ๆ ครั้งที่รัฐบาลในเกมทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเป็นว่าเล่นเช่นผลกระทบสัมปทานป่า) เหตุผลที่ผู้เขียนมองว่ารัฐบาลนั้นควรจะเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการอนุรักษ์เพราะรัฐสามารถจัดการกับปัญหาในเชิงรุก หรือจำกัดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาในอนาคตได้ ต่างจากผู้เล่นในเกม (ซึ่งไม่ใช่รัฐบาล) ที่สามารถทำได้แค่ตั้งรับกับการเพิ่มขึ้นของป่าแหว่ง การลักลอบล่าสัตว์ การสัมปทานป่าเป็นต้น

ช่องทางหลักของรัฐบาลในการป้องกันความเสี่ยงเพื่อการอนุรักษ์นั้นก็คือผ่านช่องทางกฎหมาย (นิติบัญญัติและตุลาการ) และนโยบาย (บริหาร) อย่างเช่นการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ที่จะเห็นว่าเป็นปัญหามากในเกม ในไทยได้มีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ไปแล้วในปี พ.ศ. 2532 ซึ่งก็มีผลไม่น้อยในการทำให้พื้นที่ป่าของไทยจากที่ลดลงตลอดนั้นคงตัว หรือประเด็นอย่างเรื่องการวางผังเมือง การจัดแบ่งพื้นที่สำหรับธรรมชาติและพื้นที่กันชน และการสร้างแรงจูงใจในการเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติ (เช่นผ่าน negative land tax) ก็จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์เกิดได้ยากขึ้น การบุกรุกป่าที่ทำให้เกิดป่าแหว่งทุกรอบก็จะหยุดลง

หากเรามองไปยังประเด็นปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ที่นอกเหนือจากเรื่องเสือ เราจะพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลนั้นมีอำนาจพอจะแก้ปัญหา เช่นตัวเกมในเวอร์ชั่นนากเราก็จะพบกับปัญหาน้ำมันรั่ว ซึ่งการแก้ไขและป้องกันก็สามารถทำได้ผ่านการทำ EIA (ที่มีประสิทธิภาพ) การตั้งกฎเกณฑ์และการตรวจวัดสารปนเปื้อนเป็นต้น หรือแม้แต่การต่างประเทศที่มีบางพรรคการเมืองเสนอแนวคิดทูตเชิงรุกสำหรับปัญหาข้ามพรมแดนอย่างเรื่องฝุ่น ก็สามารถนำมาใช้ในหลักการเดียวกันกับเรื่องระบบนิเวศได้ เช่นแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านหลายประเทศ แต่การก่อสร้างเขื่อนในบริเวณต้นน้ำนั้นส่งผลต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตตลอดสายน้ำ

อีกทางเลือกของชัยชนะที่เกมนี้เลือกจะไม่พูดถึงคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่ ในเกมนี้ประชาชนนั้นมีส่วนแต่สร้างปัญหากับเสือโดยการบุกรุกป่า ล่าเสือ และฆ่าเมื่อพบเจอ แต่ในไทย ถ้าเราพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์อย่างปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตร่วมกับป่า การดำรงอยู่ของพวกเขานั้นเป็นประโยชน์ต่อผืนป่า วิถีการทำไร่หมุนเวียนซึ่งแม้มีการตัดป่าแต่ก็ในปริมาณที่น้อยกว่ามากและมีการพักฟื้นฟู ซึ่งแม้จะไม่ใช่ป่าแต่เป็นทุ่งหญ้า (grassland) ที่มีสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือลงมาหากิน จนกระทั่งพื้นที่ฟื้นกลับเป็นป่า ต่างจากไร่ข้าวโพดและสัมปทานป่า ในบางพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์ก็ได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นป่า ซึ่งก็หมายถึงการป้องกันการลักลอบตัดไม้และล่าสัตว์ซึ่งเป็นภัยสำคัญของเสือโคร่งในไทยได้

ถ้าเกมยังเล่นต่อหลังจากรอบสุดท้ายไปอีก 10 ปี 20 ปี ปัญหาหลาย ๆ อย่างสัมปทานอาจหมดไป แต่ปัญหาใหม่ก็อาจจะตามมา การขยายตัวของประชากรเสือนั้นก็ทำให้เสือเผชิญหน้ากับคนง่ายขึ้น แม้คนจะไม่ได้ขยายชุมชนแล้วก็ตาม ไม่ใช่แค่การยิงหรือวางยาเบื่อที่เป็นอันตรายต่อเสือ แต่เชื้อโรคที่อาจติดจากปศุสัตว์ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน ปัญหานี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับช้างป่าในปัจจุบันที่มีการบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งก็นำมาซึ่งวิธีการเตือนภัยและเยียวยาเพื่อแก้ปัญหานี้ ในระยะถัดไปการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์ก็หมายถึงการเพิ่มพื้นที่กระดานหรือพื้นที่ป่าและการเชื่อมป่าที่กระจายไปกลับมาต่อกัน

สุดท้ายจึงอยากขอย้อนกลับมาที่กติกาสำคัญสามข้อของเกมนี้ วิธี “ชนะ” นั้นมีเพียงวิธีเดียวคือต้องหาประเทศสนับสนุนให้ได้ แต่วิธีการ “ไม่แพ้” นั้นมีสองวิธีคือทำให้สัตว์ไม่สูญพันธุ์และทำให้ป่าไม่ถูกบุกรุกจนเกินไป มันจึงเกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นกับผู้เล่น แม้ว่าชัยชนะนั้นอาจมีความหมายมากกว่าในเกม แต่เป้าหมายของการอนุรักษ์จริง ๆ นั้นอยู่ที่การช่วยเหลือและทรัพยากรจากต่างประเทศที่จะทำให้การอนุรักษ์ดีขึ้นจริงหรือ ยิ่งเมื่อมองไปสู่ความจริงที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ารอบสุดท้าย การอนุรักษ์ยังต้องดำเนินไปเรื่อย ๆ ชัยชนะนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น แต่เป็นการ “ไม่แพ้” ที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ต่างหากที่สำคัญ