ความงดงามที่ไม่เคยเรียกร้องชื่อธรรมชาติ และแอนิเมชั่นวาดมือครั้งสุดท้ายของฮายาโอะ มิยาซากิ - Decode
Reading Time: 5 minutes

ยังดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ

การ์ตูนแฝงปรัชญา-อบอุ่นหัวใจ-เพลงประกอบไพเราะ
ไล่พนักงานออกหลังโปรเจคจบ-สตูดิโอคับแคบ-ไม่ชอบศิลปะที่ไม่ได้มาจากมือมนุษย์

ทั้งหมดนี้คือความจริงของสตูดิโอจิบลิ ที่ไม่ใช่เหรียญสองด้าน ขาวหรือดำ แต่เป็นแอ่งน้ำในป่าลึก ที่เป็นความชุ่มชื้นให้ผืนป่า เป็นแหล่งน้ำให้สรรพสัตว์ ในขณะเดียวกันเต็มไปด้วยอันตรายและปริศนาที่รอการตีความ

ก่อนที่เดือนกรกฎาคม 2566 ประเทศไทยกำลังจะมีนิทรรศการเต็มรูปแบบจากสตูดิโอจิบลิ และผลงานชิ้นสุดท้ายของฮายาโอะในเรื่อง ‘How do you live’ จะเข้าฉายในญี่ปุ่น มองให้ลึกลงไปใต้ใบบัวบนหัวโตโตโร่ ความสัมพันธ์บนขบวนรถไฟของจิฮิโระและไร้หน้า หรือคำสาปบนแขนเจ้าชายอาชิทากะ

ในนั้นมีความดื้อรั้น หัวขบถ และความพยายามตลอด 39 ปีของสตูดิโอเล็ก ๆ ที่อยากถ่ายทอดความงดงามที่ไม่เคยเรียกร้องบนดาวเคราะห์สีน้ำเงิน

มิยะซัง

สตูดิโอจิบลิมี 3 เสาหลักที่ร่วมก่อตั้งและขับเคลื่อนอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ, ทาคาฮาตะ อิซาโอะ นั่งแท่นผู้กำกับ และโทชิโอะ ซูซูกิ เป็นหัวหน้าโปรดิวเซอร์และการตลาด แต่ความสัมพันธ์ของมิยะซังและซูซูกิซังคือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้สตูดิโอจิบลิดังเป็นพลุแตก และเป็นรูปแบบการทำงานชั้นยอด ในชนิดที่เรียกว่าถ้าไม่สำเร็จก็คงเจ๊งไม่เป็นท่า แต่มาในวันนี้คือเรื่องราวที่คอยโอบอุ้มผู้คน โดยการันตีถึงรางวัลนับไม่ถ้วนทั้งในและต่างประเทศ

แม้อิซาโอะ จะสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นขึ้นหิ้งหลายเรื่องสำหรับสตูดิโอจิบลิอย่าง Grave on the Flyflies(สุสานหิ่งห้อย), My Neighbors the Yamadas(ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา) หรือ The Tale of the Princess Kaguyaz(คางุยะ เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฮายาโอะ มิยาซากิ แทบจะกลายเป็นโลโก้แทนเจ้าโตโตโร่ได้เลย โดยเฉพาะแอนิเมชั่นสองเรื่องอย่าง Princess Mononoke และ Spirited Away ที่เป็นจุดเปลี่ยนของสตูดิโอจิบลิให้เติบโตขึ้นจนสามารถตีตลาดโลกได้

สตีฟ อัลเพิร์ต หัวหน้าฝ่ายขายต่างประเทศของสตูดิโอจิบลิเล่าไว้ว่า “ซูซูกิซังแทบจะเป็นคนเดียวในโลกที่รู้วิธีในการเจรจากับมิยะซัง(ฮายาโอะ มิยาซากิ) เวลาที่เราไปนำเสนออะไรถ้าเขาคิดว่ามิยะซังจะรับฟัง เขาจะเดินทางไปเจรจากับมิยะซังด้วย แต่ถ้าไม่ เขาจะบอกแค่ว่า ‘ลองไปคุยกับมิยะซังดูแล้วกัน’ ส่วนคำตอบว่าเพราะอะไรซูซูกิถึงได้รู้วิธีเกลี้ยกล่อมมิยะซังนั้น ก็เป็นหนึ่งในปริศนาของสตูดิโอเหมือนกัน”

แม้ฮายาโอะจะเป็นผู้กำกับชั้นยอด คอยรังสรรค์ภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจ ที่มีความขบถและตั้งคำถามต่อธรรมเนียมเก่า แต่ในความเป็นจริงเขาคืออนุรักษนิยมจ๋าคนหนึ่ง รวมถึงค่อนข้างจะเป็นเผด็จการที่กดขี่ในที่ทำงาน

อัลเพิร์ตยังเล่าต่อว่า ระบบการทำงานของจิบลินั้นแตกต่างกับสตูดิโอแอนิเมชั่นเจ้าใหญ่ทั่วโลก ทั้งพื้นที่ทำงานแสนคับแคบ รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่เกินกว่าชั่วโมงสูงสุด(แม้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ณ ขณะนั้นจะยังไม่ซีเรียสกับการทำงานหนักเกินไป) ระบบการทำงานของพวกเขาดูจะย้อนแย้งกับความคิดสร้างสรรค์ที่โลดแล่นบนจอฟิล์มเอามาก ๆ

หลายครั้งที่พนักงานไม่สามารถตามทันความคิดของฮายาโอะได้ เขาเป็นคนที่มีภาพอยู่ในหัวอย่างชัดเจน แต่ความต้องการนั้นมันไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจมัน

มิยะซังเป็นคนญี่ปุ่นหัวโบราณที่ยังไม่นิยมการนั่งเครื่องบินนาน ๆ เพื่อไปต่างประเทศ พูดอีกแบบคือเขาชินกับบ้านเกิดมากกว่า มีครั้งหนึ่งที่อัลเพิร์ตได้พยายามเชิญมิยะซังไปเอสโตเนียเพื่อไปงานรางวัลแห่งหนึ่ง เขารู้ว่ามิยะซังสนใจสถาปัตยกรรมยุคกลาง ปราสาทหิน และสนใจเมืองเอสโตเนียมานานแล้ว จึงใช้โอกาสนี้ในการลากตัวไป แต่กลับกลายเป็นว่ามิยะซังคือคนที่คาดเดาไม่ได้ที่สุดในโลก

“ที่ผมชอบเอสโตเนียไม่ใช่ว่าผมชอบศิลปะยุคกลางแบบที่ผมใส่ในหนังของผมหรอกนะ ผมแค่อยากไปเห็นร่องรอยสงครามกลางเมืองที่นั่น คุณคิดดูสิ โคลนเหนอะหนะกับรถถังที่วิ่งไปมา ผ่านมาหลายสิบปีร่องรอยเหล่านั้นก็ยังอยู่ คุณไม่คิดว่ามันน่าสนใจเหรอ” มิยะซังกล่าว

ตลอดจนการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ มิยะซังไม่ใช่คนที่ชอบออกสื่อมากนัก เขาสำนึกตัวเองว่าเป็นเพียงคนที่อยากเล่าเรื่อง งานนอกเหนือจากนั้นคือความน่ารำคาญ

ในขณะที่การ์ตูนจิบลิเต็มไปด้วยสัญญะที่แฝงปรัชญามากมาย แต่คำตอบจริง ๆ ของรายละเอียดเหล่านั้นกลับไม่มีอยู่ อัลเพิร์ตเล่าว่า ทุกครั้งที่มิยะซังให้สัมภาษณ์กับนักข่าว มันขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเขาจริง ๆ บางวันเขาก็ตอบสั้น ๆ ว่าฉากนั้นเขาไม่ได้คิดอะไร ในขณะที่อีกวันเขากลับตอบยาวเหยียดถึงความในใจ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องดีสำหรับนักข่าว ที่สามารถมีเนื้อหาไปเขียนได้ใหม่ทุกครั้ง

หนึ่งในความหัศจรรย์ของการ์ตูนจิบลิอาจเป็นบุคคลที่มีความย้อนแย้งและคาดเดาไม่ได้ที่ชื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ ก็เป็นได้

สัญญานิติเลือดของดิสนีย์

ในปี 2013 หลัง The Wind Rises(ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก) เข้าฉาย ฮายาโอะประกาศว่าจะรีไทร์จากการทำหนัง

ทั้งสื่อ สังคม และผู้คนทั่วโลกต่างก็แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สตูดิโอจิบลิถึงจุดจบแล้ว เพราะที่ผ่านมา โกโร่ มิยาซากิ ที่ได้ขึ้นแท่นผู้กำกับต่อจากพ่อ ก็ทำแอนิเมชั่นหลายเรื่องพังไม่เป็นท่า ทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์

แต่ความเป็นจริงนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สตูดิโอจิบลิล้มลง เพราะตั้งแต่ก่อตั้งสตูดิโอมา จิบลิต่างต้องพบเจอกับการพยายามหาเงินเพื่อมาจุนเจือสตูดิโออยู่ตลอด รวมถึงการแข่งขันในตลาดแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น แต่ที่ดูยากที่สุดคือสัญญาเลือดในการซื้อขายลิขสิทธิ์-จัดจำหน่าย-ฉาย กับดิสนีย์

แต่เดิมจิบลิเป็นบริษัทลูกในเครือโทคุมะกรุ๊ป ภายใต้การบริหารของยาสุโยชิ โทคุมะหรือโทคุมะฉะโจว ท่ามกลางจุดอิ่มตัวจุดหนึ่งของสตูดิโอจิบลิ การขยายฐานการตลาดสู่ทั่วโลกคือการยกระดับแอนิเมชั่นประเทศญี่ปุ่นรวมถึงเป็นการสร้างกำไรให้กับสตูดิโอจิบลิได้มากขึ้น

แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการตีตลาดฝั่งตะวันตกทั้งอเมริกา ยุโรป วัฒนธรรมตะวันออกที่แฝงฝังในการ์ตูนจิบลิเข้าใจยากเกินไป ในแง่สินค้านี่ไม่ใช่สิ่งที่จะขายได้เลย รวมถึงความน่ารัก สดใส หรือสิทธิเด็กที่สตูดิโอจิบลิก็ไม่ได้นึกถึงในช่วงเวลานั้น อย่างฉากแขนขาด เลือดสาด หรือกางเกงในเด็กสาวโผล่เพราะปลิวตามลม

แต่ความลำบากพึ่งเริ่มขึ้น หลังการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ จิบลิต้องพบกับปัญหามากมายในการเป็นคู่ค้ากับดิสนีย์ กรณีที่น่าสนใจคือการจะยึดลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายตลอดไปและการปรับเปลี่ยนถอดรื้อบทภาพยนตร์

ช่วงแรกเริ่ม อัลเพิร์ตในนามของตัวแทนจิบลิได้เข้าไปติดต่อกับตัวแทนจากดิสนีย์ ซึ่งในเวลานั้นดิสนีย์กำลังเริ่มทำโตเกียวดิสนีย์แลนด์และดิสนีย์ซี จิบลิเป็นเพียงสตูดิโอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเกาะเล็ก ๆ นั่นทำให้สัญญาในช่วงแรกถูกบีบบังคับให้สิทธิ์จัดจำหน่ายเป็นของดิสนีย์เป็นส่วนใหญ่

สัญญาเลือดของดิสนีย์ที่ว่ามาอยู่ตรงช่องว่างระหว่างบรรทัดในสัญญา อัลเพิร์ตเล่าว่าการทำงานของอเมริกาและญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิง “ที่ญี่ปุ่น เราจะเชื่อกันว่าหากอะไรที่ได้ตกลงกันแล้ว ก็ถือเป็นไปตามนั้น แต่สำหรับอเมริกาไม่ใช่ปัญหาทางด้านกฎหมายคือสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดสำหรับวงการภาพยนตร์อเมริกา มีการฟ้องร้องกันตลอด สัญญาจะถูกแก้ไขไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝั่ง และไม่มีคำสัญญาไหนจริงบนโต๊ะเจรจา”

สตูดิโอจิบลิหลายเรื่องนำบทประพันธ์เก่าหรือนิทานเก่าของอังกฤษ ยุโรป มาตีความใหม่ นั่นทำให้บริบทในเรื่องนั้น ๆ กลายเป็นภาษาเก่าแก่ของญี่ปุ่น ชนิดที่ว่าบางทีคนญี่ปุ่นกันเองก็ยังไม่รู้จัก ปัญหาถูกตกไปอยู่ที่การเจาะตลาดโลก เมื่อการแปลภาษากลายเป็นความผิดพลาดที่จะทำให้ใจความของจิบลิผิดเพี้ยน

ครั้งหนึ่งที่ดิสนีย์จะนำลาพิวต้า(Castle in the Sky) มาฉาย แต่แนวคิดแบบญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถเข้าถึงคนอเมริกาได้แน่นอน จึงมีการดัดแปลงเนื้อเรื่องหลายส่วนจนไม่คล้ายกับลาพิวต้าของสตูดิโอจิบลิเลย ไปจนถึงการเปลี่ยนชื่อตัวละครหลักอย่างชีต้าและปาซู กลายเป็นอันลีและชาลูลู เพื่อให้ดูมีความเป็นเอเชีย(จีน) ขึ้น

ไปจนถึงกรณีกระทบทั่งกันหลายครั้งของผู้บริหารดิสนีย์กับโทคุมะฉะโจว ขนบธรรมเนียมที่ต่างกันและความหยิ่งทะนงของทั้งคู่ คือความบาดหมางที่แทบจะทำให้ดีลสำคัญล่มสลายไปหลายครั้ง นั่นจึงเป็นที่มาคุณโมริโยชิ อีกคนสำคัญที่ประคับประคองการล่มสลายนี้มานักต่อนัก

“คุณโมริโยชิไม่เพียงแต่เป็นล่ามที่เก่งด้านภาษา ความยากของล่ามในงานด้านนี้คือการทำให้บทสนทนาราบรื่น หลายครั้งที่โทคุมะฉะโจวบอกในทำนองว่า ‘บอกไอหนุ่มนั่น(เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของดิสนีย์) ด้วยว่าฉันไม่ใช่เพื่อนเล่นของแก’ คุณโมริโยชิกลับแปลไว้ว่า ‘ทางเรายินดีอย่างมากที่ดิสนีย์สนใจ แต่พอจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะมีทางเลือกอื่น’ ”

จิบลิไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ที่สามารถต้านทานลมแรง แต่เป็นวัชพืชที่ฆ่าไม่ตายต่างหาก เพราะยาฆ่าแมลงในโลกธุรกิจภาพยนตร์นั้น บางทีก็ทำให้ไม้ใหญ่กว่า 3 คนโอบล้มทั้งยืนมาแล้ว

จิบลิ ‘เล็ก’ ในทุกอณู

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับโลโก้ของสตูดิโอที่จิบลิใช้อย่างยักษ์ใหญ่ใจดีสีเทาโตโตโร่ แต่ความหมายของชื่อสตูดิโอจริง ๆ คือ ‘ลมร้อนที่พัดผ่านผืนทะเลทรายซาฮาร่า’ ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักบินชาวอิตาลีเอาไว้ใช้เรียกเครื่องบินสอดแนมของตัวเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความชอบเครื่องบินของฮายาโอะ อีกทั้งเป็นนัยถึงการติดปีกบินและการเอาตัวรอดของสตูดิโอเล็ก ๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

แต่อีกความหมายคือการพ้องเสียงของจิบลิ(ジブリ)กับจิบิ(ちび) ที่แปลว่าเล็ก ซึ่งเป็นการตระหนักถึงรายละเอียดทุกเม็ดในแอนิเมชั่นเรื่องหนึ่ง

แม้ภาพยนตร์ก่อนหน้าหลายเรื่องจะเป็นที่พูดถึงในประเทศ แต่เรื่องที่สามารถติด Box Office และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือ Princess Mononoke(เจ้าหญิงโมโนโนเกะ) หลังจากนั้นไม่นาน Spirited Away(มิติวิญญาณมหัศจรรย์) ก็คว้ารางวัลออสการ์

ความน่าสนใจในการสร้างแอนิเมชั่นภายใต้การกำกับของฮายาโอะ มิยาซากิคือ เขาจะเริ่มวาดต้นเรื่องก่อน หลังจากพอเป็นรูปเป็นร่าง เขาก็ส่งให้ฝ่ายแอนิเมเตอร์จัดการต่อ และวาดฉากถัดไปจนกระทั่งจบ แต่ปัญหาคือเขาไม่เคยคิดตอนจบที่สมบูรณ์แบบได้ สิ่งที่ทำให้ตอนจบเกิดขึ้นคือเดดไลน์ในวันที่หนังต้องฉายโรงแล้ว

หนึ่งในสาเหตุของความล่าช้านี้คือการประณีตอย่างขั้นสุดกับการตูนเรื่องนั้น ๆ อย่างในฉากที่ซาน(มนุษย์ลูกหมาป่า) วิ่งบนระเบียงเพื่อเข้าโจมตีเอโบชิ ทั้งฉากนั้นมีเวลาไม่ถึง 10 วิ แต่กลับใช้เวลาการสร้างนับเดือนและทั้งหมดถูกสร้างโดยการวาดมือ

“คุณจะเห็นว่าน้ำหนักของซานไม่มาก เธอเป็นเด็กผู้หญิง ฉะนั้นแล้วเธอต้องตัวเบา แต่เธอกำลังโกรธและกำลังจะไปฆ่าคน และกระเบื้องแต่ละชิ้นที่เธอเหยียบจะต้องมีเสียงลมแทรกออกมา มันคือการวิ่งบนระเบียงของเด็กผู้หญิงที่กำลังจะไปฆ่าใครสักคน”

ฮายาโอะพูดกับอัลเพิร์ต และเปิดความแตกต่างของซีนเพียง 10 วินาทีนี้ ที่มีเสียงลมจากการวิ่งและไม่มี ที่สามารถสร้างความสมจริงจนทำให้ผู้ชมเชื่อว่าซานกำลังวิ่งเพื่อไปฆ่าใครจริง ๆ

ในสารคดี Never Ending Man : Hayao Miyazaki ของช่อง NHK ในช่วงท้ายที่แอนิเมชั่นเรื่อง Boro ถึงทางตัน ทางซูซูกิได้เชิญบริษัทสตาร์ทอัพเกี่ยวกับ AI Learning เพื่อเข้ามาช่วยเหลืองานภาพ ในขณะที่บริษัทกำลังนำเสนอถึงความก้าวหน้าของ AI ในปี 2015 ซึ่งสามารถจำลองร่างกายมนุษย์ที่พยายามใช้หัวเดินโดยที่ไม่มีหัว แต่สิ่งที่ฮายาโอะกล่าวกลับเป็นสิ่งนี้

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนพิการ เขาไม่มีแม้กระทั่งแรงจะยกมือด้วยซ้ำ ไม่ว่าใครก็ตามที่พยายามสร้างอะไรแบบนี้(แบบที่โชว์ให้ฮายาโอะดู) เป็นคนที่ไม่รู้จักความเจ็บปวด ไม่มีความเป็นมนุษย์และยังดูถูกมนุษย์ด้วยกัน” ฮายาโอะกล่าว

ไม่ต้องเล่าต่อก็พอจะรู้ว่าฉากถัดไปคือตัวแทนของสตาร์ทอัพนั่งหน้าเจื่อน ซูซูกิถามอีกครั้งว่าเป้าหมายสูงสุดของบริษัทนี้คืออะไร สิ่งที่ตัวแทนตอบยังคงเป็นเรื่องเดิมคือการที่วันหนึ่งเราจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถลงสีหรือสร้างแอนิเมชั่นได้แทนมนุษย์ ซึ่งดูจะขัดแย้งกับแนวทางของจิบลิที่เชื่อว่าการวาดมือโดยมนุษย์สมจริงกว่า

รวมถึงฉากที่ฮายาโอะเข้าไปให้คำแนะนำกับฝ่าย CGI ที่พึ่งเข้ามาใหม่ 2 คน ทั้งคู่ต่างคิดว่าฮายาโอะคงคาดหวังกับเขาเป็นแน่ ทั้งแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวของตัวละครหลักในเรื่องหรือแนะนำวิธีการหันมองของตัวละคร ทั้งคู่ต่างคิดว่ามิยะซังคงคาดหวังกับเขามาก แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ การที่ฮายาโอะเข้าไปชี้แนะคือเขาไม่เชื่อศักยภาพของ CGI ถึงแม้รวดเร็วแต่ขาดความเป็นจริงที่เมื่อผู้ชมได้เห็นคงอาจไม่คิดอะไรมาก แต่สำหรับมิยะซังคือการหลอกลวง

ความละเอียดละออของสตูดิโอจิบลิ แม้จะโอบอุ้มหัวใจทุกคนบนโลก แต่โชคร้ายที่ไม่ใช่สำหรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี นอกจากฮายาโอะจะไล่พนักงานออกหลังจากโปรเจคนั้น ๆ จบ ภายหลังไม่มีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำงานในสตูดิโอรางวัลออสการ์นี้ นั่นเป็นปัญหาว่าการเกณฑ์คนเข้ามาทำงานหนังเรื่องหนึ่ง จิบลิต้องจ่ายเงินเพื่อจ้างยอดฝีมือและต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้เขามาทำงานภายใต้ความพิถีพิถัน จนกระทบกระเทือนจิตใจ

ในยุคหนึ่งฮายาโอะอาจเป็นคนที่หัวก้าวหน้ามาก แต่ช่วงเวลาหนึ่งเขาก็กลายเป็นคนที่หัวโบราณแบบสุดโต่ง

แต่เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้ แอนิเมชั่นแทบทุกเรื่องกลายเป็นลายเส้นในการเล่าเรื่องที่ไม่มีใครเหมือน ด้วยวัยเด็กของฮายาโอะที่ผ่านช่วงสงคราม ความโหดร้าย ความสิ้นหวัง กลายเป็นเชื้อไฟที่เขาใส่ในช่องว่างระหว่างเฟรม ความปราณีตของคน Gen X และความขบถที่โดดเด้งจากคนในรุ่น ทำให้เขาสามารถตระหนักถึงรายละเอียดเล็ก ๆ เหล่านี้ที่หลายคนมองข้ามแต่สามารถสร้างแตกต่างและทรงพลังอย่างชัดเจน

สิ่งที่สตูดิโอจิบลิพยายามถ่ายทอดมาตลอดเป็นเพียงใจความสั้น ๆ อย่าง ความงดงามที่ไม่ถูกสังเกต(Beauty otherwise notice) ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้า แสงแดด หรือสายลม ทั้งหมดนั่นเป็นความละเอียดละออที่ฮายาโอะยังไม่เชื่อว่าระบบปฏิบัติการใด ๆ จะสามารถสื่อสารสิ่งนี้ได้ดีไปกว่ามนุษย์ที่เชื่อมันสร้างขึ้นมา

และเป็นความเชื่อของชายวัยล่วง 80 ปีคนหนึ่งที่ยอมตายเสียดีกว่าอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร ที่พยายามสร้างหนังเรื่องสุดท้ายไม่สำเร็จและกลายเป็นการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นทำมือเรื่องสุดท้ายของเขาในชื่อ How Do You Live?

Never Ending Man

ในสารคดีหลาย ๆ ชิ้นที่เล่าเรื่องของฮายาโอะ มักจะใช้คำนิยามตัวเขาว่า Never Ending Man นั่นเป็นเพราะฮายาโอะประกาศวางมือมาแล้วถึง 7 ครั้ง จนกระทั่งในวัย 70 ปี เขาก็ยังไม่สามารถวางมือจากการทำงานได้เลย

ความน่าเสียดายและเป็นสิทธิพิเศษสำหรับสตูดิโอจิบลิในคราวเดียวกัน คือการมีอยู่ของฮายาโอะ มิยาซากิ ในขณะที่ผู้ชมเฝ้ารอแต่ฮายาโอะ ภาพยนตร์เรื่องอื่นของจิบลิกลับไม่สามารถทำเงินได้มากพอ ฮายาโอะก็ตระหนักเรื่องนี้ดีถึงขนาดที่เคยกล่าวไว้ว่า ‘ฉันหวังอยากให้มีฉันอีกสักคน ให้การเล่าเรื่องแบบนี้ยังคงอยู่’ หากฮายาโอะจากไปจะเป็นจุดจบของจิบลิเลยหรือไม่ เรื่องนี้ก็คงไม่มีใครตอบได้

ทุกครั้งหลังฮายาโอะทำงานเสร็จสิ้น เขาจะไม่กลับมามองโปรเจคนั้น ๆ อีก เขาถือว่ามันได้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงเวลานั้นแล้ว แต่ไม่เกิน 2 เดือน เขาก็กลับมาพร้อมโปรเจคใหม่ที่เริ่มเขียนหัวเรื่องไว้เสร็จสิ้น

หลัง Boro เสร็จสิ้นในฐานะภาพยนตร์สั้นที่จะเอาเข้าฉายในพิพิธภัณฑ์จิบลิ เขาประชุมผู้บริหารอีกครั้งหนึ่งว่าเขาไม่อยากจากไปด้วยความรู้สึกที่ค้างคาอย่างนี้ แม้ซูซูกิจะบอกกับเขาว่า ‘ไม่เอาน่า นายจะตายก่อนวาดสตอรี่บอร์ดเสร็จอีก’ กลับมีแต่เสียงหัวเราะเต็มบทสนทนา ที่การตายทั้งที่การ์ตูนเรื่องสุดท้ายไม่เสร็จ ยังดีกว่าตายไปพร้อมกับความล้มเหลวในการสร้างแอนิเมชั่น

How Do You Live? คือนิยายแนว Coming of Age จากปลายปากกาของ เก็นซาบุโร่ โยชิโนะ ที่ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1937 เป็นเรื่องที่ฮายาโอะตัดสินใจว่าต่อให้ตายตอนที่ยังไม่เสร็จก็จะทำและยังเป็นหนึ่งในหนังสือเด็กที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ ชื่นชอบมากที่สุด ทางด้านสตูดิโอออกมาชี้แจงว่าเป็นการยืมชื่อมาใช้เท่านั้น

สิ่งที่สร้างความตะลึงจากผู้กำกับและนักการตลาดที่โด่งดังที่สุดในยุคหนึ่ง คือการออกมาประกาศว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะไม่มีการโปรโมทใด ๆ ให้ผู้ชมเข้าไปรับชมความสดใหม่ในโรงกันเอาเอง

ด้านซูซูกิได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในขณะที่หนังจากฝั่งฮอลลีวูดจะปล่อยตัวอย่างมาถึง 3 แบบ นั่นทำให้คนดูทั้ง 3 แบบนี้จะเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด แล้วนั่นจะมีความหมายอะไร ในขณะที่จิบลิพยายามโปรโมทเรื่องอื่น ๆ มานับสิบปี มันทำให้เกิดความคิดว่า ‘เอ๊ะ หรือครั้งนี้เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นกันแล้วนะ’

จากเรื่องราวของสตูดิโอจิบลิและฮายาโอะ ใครจะไปรู้ ความเป็นจริงฮายาโอะอาจจะแค่ไม่อยากตอบคำถามสื่อในวัยล่วง 80 ปี หรือสตูดิโอกำลังพบกับปัญหาทางการเงินจนไม่สามารถโปรโมทได้ หรือการตลาดสุดประหลาดจากโปรดิวเซอร์มือทอง ที่คิดว่าชื่อสตูดิโอจิบลิและฮายาโอะ มิยาซากิ อาจจะเป็นการตลาดที่ดีที่สุด เท่าที่วงการแอนิเมชั่นเคยมีมา ก็เป็นได้ทั้งสิ้น

สิ่งที่ทำให้สตูดิโอจิบลิสามารถกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่เพราะลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ความดื้อรั้น อัตตา และความเป็นมนุษย์ที่แทรกอยู่ในทุกอณู คือสิ่งที่ทำให้จิบลิกลายเป็นแอนิเมชั่นที่สามารถเข้าถึงใจคนได้มากที่สุดแบบหนึ่ง

‘โอ๊ะ กบร้องแล้ว’ ‘นายไม่คิดว่าวันนี้ท้องฟ้าสวยบ้างเหรอ’ เป็นคำพูดสั้น ๆ ในสารคดีที่เล่าถึงฮายาโอะหลายเรื่องที่นิยามตัวเขาได้เป็นอย่างดี สิ่งที่จิบลิต้องการอาจไม่ใช่ฮายาโอะคนต่อไป แต่อาจเป็นคนที่เห็นถึงความงดงามที่ไม่ถูกสังเกต เพราะนั่นคือสิ่งที่โตโตโร่ ฮาวล์ หรือยะคูล พยายามบอกเราอยู่ตลอด

จุดสิ้นสุดของการเดินทางตลอด 82 ปีของชายสูบบุหรี่จัด ชอบกาแฟดำ สั่นขากระวนกระวายเมื่อคิดงานไม่ออกและสำนึกตนว่าเป็นเพียงคนเล่าเรื่อง หรือการมีอยู่ของสตูดิโอจิบลิจะไปต่ออย่างไรในวันที่ AI สามารถสร้างแอนิเมชั่นได้เองแล้ว เราเองก็หวังว่าจะพบคำตอบที่ซ่อนอยู่ในแอนิเมชั่นวาดมือชิ้นสุดท้ายที่ชื่อ How Do You Live?

“โลกใบนี้บอกบางสิ่งกับเราอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าจะตั้งใจฟังมากแค่ไหน” 
Laputa Castle in the Sky (1986)

คืนนี้ลองเปิดการ์ตูนจิบลิเรื่องโปรดดูอีกสักครั้ง เสียงลมในหุบเขา ฝนตกในเมืองใหญ่ หรือจิ้งหรีดในฤดูร้อน อาจกำลังบอกบางสิ่ง อยู่ที่ว่าคุณตั้งใจฟังมากแค่ไหนเช่นกัน

ภาพประกอบจาก Studio Ghibli

อ้างอิง

Sharing a House with the Never-Ending Man : 15 Years at Studio Ghibli l Steve Alpert

Never-Ending Man:Hayao Miyazaki l NHK

Studio Ghibli to release Hayao Miyazaki’s final film with no trailers or promotion l The Guardian