ความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ที่สูญหาย - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประเทศเต็มไปด้วยคำตอบอันปราศจากคำถาม

วีรพร นิติประภา

ประเด็นเรียกร้องยกเลิกการสวมเครื่องแบบไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ที่ถูกเยาวชนหยิบยกขึ้นมา และไม่ใช่ครั้งแรก แม้ผู้ใหญ่หลายคนจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ถือว่าการเรียกร้องได้ทำให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหลายมิติ

ทำให้ได้อ่านผ่านตาการพูดคุยกันน่าสนใจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น

‘เครื่องแบบนักเรียนลดหรือยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ’

‘เด็ก ๆ จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบเหมือนทหาร หรือเป็นแค่ซากอารยธรรมตกค้างมาจากยุคสร้างชาติหลังสงครามโลก’

‘การไม่สวมเครื่องแบบทำให้เราไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กคนไหนเป็นนักเรียนและนักเรียนโรงเรียนอะไร จนไม่สามารถดูแลเด็ก ๆ ได้จริงหรือไม่’

ไปจนถึงเรื่องสำคัญจริง ๆ อย่าง

‘เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ ควรเป็นการตัดสินใจของผู้ใหญ่แต่ถ่ายเดียวหรือไม่’

รวมทั้ง ‘เด็ก ๆ ควรหรือไม่ควรมีสิทธิ์เรียกร้องอะไรในโรงเรียน’ และ ’การกำกับอำนาจนิยมในโรงเรียนควรถูกทำให้หมดไปจากระบบการศึกษายุคใหม่หรือไม่’ …และอื่น ๆ อีกมากมาย

มีสองสามเรื่องที่ไม่พูดถึงและอยากชวนคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้สักนิด …แน่นอน ในแง่ผลเสียของเครื่องแบบมากกว่า  เพราะผลดีนั้นถูกพูดถึงกันเยอะมายาวนานแล้ว

เรื่องของความเป็นตัวของตัวเอง คนไทยไม่ค่อยมีความเป็นตัวของตัวเอง น้อยมากเมื่อเทียบกับชาวโลก และไม่เกี่ยวกับความอ่อนน้อมถ่อมตน เรามีนิสัยชอบทำตาม ๆ กันไปหมด เห็นใครทำอะไรก็ทำบ้าง จะทำอะไรที่แตกต่างก็กลัว ‘เดี๋ยวเค้าว่า’ โดยไม่ระบุด้วยซ้ำว่าเค้าที่ว่านั้นเป็นใคร มีสำคัญต่อชีวิตเราหรือไม่ หรือทำไมเราต้องสนใจว่าใครจะว่าและว่าอะไรในเรื่องของเราและไม่เกี่ยวกับเขา

เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร  ชอบอะไร เหมาะกับอะไร มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร

และผลตามมาจากสิ่งนี้ก็คือเราไม่มีความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่ทั้ง ’ความคิดริเริ่ม’ และ ’ความคิดสร้างสรรค์’ ถูกระบุให้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ด้วยเหตุที่มีแค่ไม่กี่เรื่องที่มนุษย์เหนือกว่าหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกโปรแกรมมาให้เหมือน ๆ กันไม่ว่าจะชาญฉลาดแค่ไหน

ความอ่อนด้อยในด้านนี้ของประชากรไทยจัดได้ว่าเป็นอันตรายใหญ่หลวงของชนชาติในโลกสมัยใหม่ทีเดียว  

เราเป็นประเทศที่ต่างชาติมาลงทุนมากที่สุดประเทศหนึ่งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกือบศตวรรษที่เราผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายให้โรงงานของญี่ปุ่นป้อนออกสู่ตลาดโลก แต่เรากลับไม่มีสินค้าเหล่านี้เป็นแบรนด์ไทยของเราแม้แต่ยี่ห้อเดียว เรามี Know how  ความรู้ และทักษะ แต่เราไม่มีความคิดริเริ่ม หรือกระทั่งมีความกล้าที่จะสร้างอะไรสักอย่างเป็นของเรา …ในแบบของเรา

เราเป็นชนชาติที่มีรสนิยมแฟชั่นและแต่งตัวค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประชาชนชาติอื่น ๆ ในเอเซีย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังมีดีไซน์เนอร์ติดอันดับโลกน้อยมาก เรามีสินค้าดีไซน์ที่สวยงาม แต่ตัวสินค้ากลับไม่มีเอกลักษณ์มากพอ และมักมีกลิ่นอายการออกแบบของคนอื่นฉาบอยู่เสมอ หรือพูดง่าย ๆ คือหยิบยืมต้นธารความคิดของเขามาปรับแต่ง  ซึ่งแม้จะทำได้สวยงามและน่าสนใจแค่ไหนก็ไม่สามารถผลักดันเราให้ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งหรือเป็นต้นธารความคิดได้

ที่แย่กว่านั้นคือการเหมือน ๆ กันและพยายามเหมือน ๆ กันยังทำให้เราไม่มีความหลากหลาย เรามีคนที่แสดงออกไม่กี่แบบ เราไม่มีความกล้าที่จะแสดงออกเป็นคนในแบบที่เราเป็น แต่กลับมีประชากรจำนวนมากที่ข้างหน้าอย่างลับหลังอย่าง หลายครั้งที่คนดูดีมีความน่าเชื่อถือในสังคมถูกเปิดโปงว่าเป็นคนอีกแบบและไม่สุจริต ดังที่เห็นเป็นข่าวคนดังหลอกลวงคนมาลงทุนและโกงจำนวนมาก เช่นเดียวกับครอบครัวดูดีแต่ทั้งสามีและภรรยาต่างก็มีมือที่สามที่สี่ที่ห้าไม่ซื่อสัตย์ต่อกันตลอดเวลา

การไม่หลากหลายยังทำให้เราเป็นชนชาติช่างบุลลี่ ใครอย่าแตกต่างหรือทำอะไรผิดไปจากมวลรวมจะตกเป็นเป้าการล้อเลียนเหยียดหยามในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่สำเนียงภาษาถิ่นที่พอออกเหน่อหน่อยก็จะโดนล้อ ความอ้วนหรือผอม ความขาวดำของสีผิว เพศสภาพ เสื้อผ้าหน้าผม ทุกอย่าง เรามองไม่เห็นความงามของความหลากหลาย ไม่เข้าใจแก่นสารของความเหมาะเจาะลงตัวในแบบต่าง ๆ …ในขณะที่โลกเข้าสู่ยุคพหุวัฒนธรรม พหุเพศ พหุทุกอย่าง

ไม่ยากที่จะมองเห็นว่านี่เป็นผลิตผลโดยตรงจากการของการแต่งตัวเหมือน ๆ กันทำทุกอย่างเหมือน ๆ กันมายาวนานร่วม 25 ปีหรือเศษหนึ่งส่วนสามของชีวิตในสถานศึกษา  …ไม่มากก็น้อย

การออกมาตั้งคำถามหรือเรียกร้องของเด็ก ๆ ควรถูกรับฟัง เราไม่สามารถจะมองว่าเด็ก ๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่โง่เขลากว่าเราได้อีกต่อไป ในความเป็นจริง…ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเด็ก ๆ ทุกวันนี้ฉลาดกว่าคนยุคก่อน ๆ มาก ด้วยข้อเท็จจริงว่าพวกเขาสามารถสืบค้นทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต ที่แค่เพียงคลิกเดียวพวกเขาสามารถได้คำตอบห้าล้านคำตอบกลับมาในเวลาแค่วินาทีเดียว

เขาจะโง่เขลากว่าเราได้อย่างไร 

เหนืออื่นใด การห้ามปรามบังคับสั่งสอนตลอดเวลายังเป็นเรื่องอันตรายต่อตัวเด็ก ๆ เอง เพราะแม้อินเทอร์เน็ตจะทำให้เด็กๆ ฉลาดขึ้น แต่กระนั้นเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามีอะไรเลวร้ายแอบแฝงซุกซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ เราก็ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้ เราจะปกป้องคนจากสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามีอยู่ได้อย่างไร

สิ่งเดียวที่เราสามารถคือทำให้เด็ก ๆ เข้มแข็ง ดูแลตัวเองได้ คิดเป็น สามารถคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และรับมือเองได้ และนั่นก็คือเราต้องไม่คอยบอกเขาทุกอย่าง ตั้งกฏบังคับให้เขายอมตามทุกเรื่อง เราต้องให้สิทธิ์เขาตั้งคำถามและตั้งคำถามกับทุกอย่าง รวมทั้งเข้าใจด้วยว่าคำตอบไม่ได้มีแค่คำตอบเดียวอีกต่อไป และแน่นอน …ใครเขาทำ ๆ อะไรกันมาก็ทำ ๆ กันไปไม่ใช่คำตอบที่ดีพอ

เหนืออื่นใด โลกไม่ได้แค่เชื่อมต่อ แต่มันอยู่ที่นี่แล้ว …ในโทรศัพท์ทุกเครื่อง ปรากฏซ้อนและซ่อนอยู่ในประเทศไทยตลอดเวลา ผู้ใหญ่ไม่เพียงแต่ต้องรับฟัง และเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ พูดหรือเรียกร้อง เรายังต้องกระตุ้นให้เขาพูดและเรียกร้อง และโอนอ่อนปรับเปลี่ยนให้พบกันกับเขาตรงไหนสักตรงระหว่างทาง เพื่อจะเติบโตเป็นประชากรโลกไปด้วยกัน

…ไม่ใช่คอยห้าม ประณาม และเกื้อกูลให้เขาเติบโตขึ้นเป็นคนแบบที่เราถูกเลี้ยงมา