ดื่มศาสตร์ ดื่มด่ำมหาอำนาจ - Decode
Reading Time: 2 minutes

การดื่มกำลังเชื่อมเราสู่อดีต เสียดายที่วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี แต่ถึงอย่างไรคงต้องอดทนอีกนิด ดื่มกาแฟหรือชาเพื่อหล่อรื่นการทำงานไปก่อน ก่อนถึงพรุ่งนี้ที่เราจะได้แฮ๊งเอ้าท์ชนแก้ว ระบายความเครียดเบา ๆ ตามวิถีมนุษย์เงินเดือนยุค 2023 วางกรอบศีลธรรมแบบที่เป็นขนบไว้สักครู่

Playread สัปดาห์นี้จะชวนดื่มด่ำไปกับประวัติศาสตร์เครื่องดื่มจากยุคหิน ยุคเกษตรกรรมสู่ยุคทุนนิยมคืบคลานในช่วงหลังสงครามเย็น เป็นหนังสือน่าอ่านอีกหนึ่งเล่มที่ชวนตื่นใจ ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้วของ Tom Standage และเป็นดั่งที่เขาว่าอ่านเล่มนี้แล้วจะทำให้เรามองเครื่องดื่มแก้วโปรดของเราเปลี่ยนไป แม้ว่ามันจะรสชาติดีก็เถอะ

6 เครื่องดื่มชุ่มคอที่เป็นมากกว่าเครื่องดับกระหาย

6 เครื่องดื่มที่ก่อร่างสร้างอารยธรรมมนุษย์ พลิกโฉมประวัติศาสตร์โลก

6 เครื่องดื่มที่เป็นตัวแทนแต่ละยุคสมัย

6 เครื่องดื่มที่เริ่มต้นจากสังคมครัวเรือน ก่อนขยับสู่เส้นทางการค้าของมหาอำนาจ

6 เครื่องดื่มที่เริ่มต้นจากความเสรี แต่วันนี้มีบางส่วนถูกผูกขาดในบางมุมโลก

6 เครื่องดื่มที่ว่าคือ เบียร์ ไวน์ สุรา กาแฟ ชา และ โคคา-โคล่า

คราฟต์เบียร์มีมาก่อนคริสตกาล

ผู้คนสมัยยุคหินใหม่หันมาดื่มเบียร์กันเพราะมันมีเชื้อโรคปนเปื้อนน้อยกว่าน้ำ ก่อนที่มนุษย์จะเพิ่งเข้าใจธรรมชาติและจุลชีพที่พอจะอธิบายเรื่องการปนเปื้อนของน้ำและหาทางจัดการปัญหาแหล่งน้ำที่บรรพบุรุษของเราต้องต่อสู้มาหลายศตวรรษ

บทส่งท้าย

จากเกิดจนตาย ชีวิตของชาวสุเมอร์และชาวอียิปต์โบราณผูกพันอยู่กับเบียร์ หนังสือเล่มนี้พาเราออกเดินทางไปพบกับวัฒนธรรมการดื่มที่เก่าแก่ที่สุดคือ นั่นคือการดื่มเบียร์ เรื่องราวของเบียร์ถูกบันทึกไว้ในบันทึกค่าแรงกับใบเสร็จรับเงินของชาวสุเมอร์ เป็นเอกสารข้อความที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีข้อสันนิษฐานว่าเบียร์เกิดขึ้นในยุคหิน ยุคของชาวเมโสโปรเตเมีย ช่วง 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หลักฐานที่พบคือภาพตราสัญลักษณ์ที่มนุษย์สองคนดูดเบียร์จากไหใบใหญ่กว่าตัว 

ต่อมาหลักฐานเชิงประจักษที่ค้นพบอธิบายว่ามนุษย์รู้จักวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ชัด ๆ ช่วงที่มนุษย์เริ่มตั้งชุมชนอยู่เป็นหลักแหล่งและทำการเพาะปลูก เมื่อการเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมากเกิน มันถูกเก็บไว้ในหลุมสะสมนานวัน เจอน้ำเจอลมเกิดเป็นความหวานเรียกกันว่า มอลต์ พัฒนาสู่การผสมระหว่างโจ๊กมอลต์กับยีสต์ในป่าจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชัดเจนว่าเบียร์ในยุคแรกเริ่มเกิดขึ้นจากการหมักบ่มของเหลือในไร่ข้าว รสชาติและกลิ่นคงไม่เหมือนเบียร์ที่เราจิบกัน เพราะไร้องค์ประกอบที่เรียกว่า ฮอปส์ ที่ทำให้ความขมมาผสมตัดกับความหวาน

แต่ไม่ว่าเบียร์จะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมากี่ร้อนหนาว หลักฐานในอดีตที่หนังสือบอกเล่า คือเบียร์ถูกใช้เป็นของแลกเปลี่ยนในยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักเงินตรา เบียร์เป็นค่าแรง เป็นของตอบแทน แรงงานสร้างพีระมิดได้รับปันส่วนเป็นขนมปัง 3-4 แถว และเบียร์สองไห(4 ลิตร) ชาวอียิปต์โบราณมองเบียร์เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพถึงขนาดมีบันทึกว่า เบียร์และขนมปัง เป็นคำทักทายในชีวิตประจำวัน ให้ความหมายในทำนองว่า โชคดีหรือขอให้สุขภาพดี

วัฒนธรรมการดื่มเบียร์ไหลและหลอมเข้ากับผู้คนในหลายพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก ส่วนรสชาติเดาว่าแตกต่างกันออกไปนอกจากแสดงถึงความคราฟในฐานะเครื่องดื่ม อดีตเบียร์ยังถูกใช้เป็นยาทั้งในเมโสโปเตเมียและอียิปต์ แผ่นบันทึกอายุราว 2,100 ปีก่อนคริสตกาลของชาวสุเมอร์ มีรายชื่อยาสูตรต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของเบียร์ ส่วนในอียิปต์ บันทึกสูตรยาสมุนไพรจำนวนมากมีเบียร์เป็นส่วนผสม ในทางสรรพคุณจริงแท้คงมีรายละเอียดที่ต้องคุยกันยาว แต่ในทางความเสรี การไม่ถูกมองเป็นภัย อาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เบียร์เดินทางข้ามเวลามาหาเรา

ไวน์วังวนชนชั้น

เบียร์คือเครื่องดื่มทั่วไปสำหรับชาวอียิปต์ คล้ายกับไวน์ตรงที่ต้นกำเนิดชัด ๆ ยังคงเป็นปริศนา โดยการอ้างอิงว่าไวน์เกิดขึ้นในช่วงยุคหินใหม่ ซึ่งเก่าแก่พอ ๆ กัน แต่สำหรับไวน์ซึ่งผลิตจากผลองุ่นบูดกับยีสต์ธรรมชาติ กลายเป็นเครื่องดื่มกระแสนิยมของคนมั่งคั่งหรือคนชั้นนำทั้งในอียิปต์และเมโสโปเตเมียชัดเจนว่าช่วงต้นที่เริ่มได้รับความนิยมไวน์คือเครื่องบอกสถานะและอำนาจ มีศักดิ์เทียบเท่าทองคำ แร่เงินม้า และ โค ก่อนที่ต่อมาความรู้ในการผลิตและการปลูกองุ่นจะแพร่หลายกระจายการเข้าถึงไวน์ได้มากขึ้นแม้แต่ทาสก็หาดื่มได้

วัฎจักรของการให้ค่ากับไวน์เป็นวังวน เมื่อความนิยมดื่มด่ำไวน์เดินทางมาถึงกรีกและนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตไวน์จำนวนมากการวิวัฒนาการคั้นให้ได้น้ำองุ่นจำนวนมาก กรีกหลงใหลการดื่มไวน์จนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่ไวน์กรีกดื่มแบบผสมน้ำเพื่อไม่ให้เมาเกินไปเพราะชาวกรีกจะนิยมดื่มไวน์ในซิมโพเซียม สถานบ่มเพาะปรัชญาที่เต็มไปด้วยการถกเถียง เพลโต นักปรัชญากรีก เชื่อว่าไวน์คือเครื่องมือทดสอบบุคลิกของมนุษย์

ในช่วงต้นที่ไวน์เฟื่องฟูถูกส่งขายแบบดาษดื่นจำนวนมากหนีไม่พ้นไวน์จากกรีก ส่วนยุคต่อมาไวน์จากโรมันตีตลาดด้วยการเอาคุณภาพเข้าสู้ ชาวโรมันโชว์เหนือด้วยการบอกว่าสามารถระบุรสชาติของไวน์จากที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งนั่นเป็นจุดกำเนิดของชนชั้นไวน์ที่ส่งต่อมาถึงวันนี้ ไวน์ดี ๆ เป็นเครื่องบอกสถานะ ไวน์ยังครองแชมป์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมและอารยะมากที่สุด ไวน์ถูกเสิร์ฟในงานเลี้ยง งานพูดคุยสำคัญ ๆ ของชนชั้นนำ ขนาดมื้อค่ำของช่วงเวลาหารือจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2566 โดยพรรคก้าวไกล ยังเสิร์ฟเลยจริงไหม แตกต่างจากความเชื่อกระแสหลักตรงที่เป็นไวน์มะม่วงและไวน์ข้าวเหนียวดำจากข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวของสังคมไทยในการให้คุณค่ากับไวน์จากท้องถิ่นบนโต๊ะเจรจาการเมืองระดับชาติ

เหล้ารัมวิสกี้ ภาษีและการปฏิวัติ

ชาวอาหรับมีภูมิปัญญาเรื่องการกลั่น การกลั่นแอลกอฮอล์จึงมีจุดเริ่มต้นในห้องทดลองของนักเล่นแร่แปรธาตุชาวอาหรับ คุณสมบัติที่ชัดเจนคือเป็นน้ำติดไฟ มีการประยุกต์ใช้เป็นยาสำหรับภายในและภายนอกร่างกาย ภายหลังชาวยุโรปล่องเรือเดินทางไปพบจึงเกิดการกระจายสุรากลั่นอย่างแพร่หลายถึงขนาดการเก็บภาษีและการควบคุมสุรากลั่นเป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง (นี่ยืดเยื้อมาถึงวันนี้เลยหรือ ?)

เหล้ารัมผูกติดกับการผลิตอ้อยและแรงงานทาส ตลอดยุคอาณานิคม เหล้ารัมคือเครื่องมือหลีกหนีจากความลำเค็ญ มีการใช้เหล้าเพื่อกำราบควบคุมทาส

ต่อมาบรั่นดีผลิตได้ในฝรั่งเศส จึงมีการกีดกันเหล้ารัมซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่ายังด้วยการประกาศห้ามผลิตเหล้ารัม ผู้ผลิตอ้อยในฝรั่งเศสจึงขายกากน้ำตาลราคาถูกให้พ่อค้าชาวนิวอิงแลนด์ จากเดิมที่กลุ่มนี้ซื้อกากน้ำตาลจากเกาะในอังกฤษ กลายเป็นแผลใหญ่ที่ทำให้อังกฤษประกาศใช้กฎหมายจำกัดการนำเข้ากากน้ำตาล กฎมีไว้ฝ่าคงถูกให้ความหมายมาตั้งแต่ยุคนั้น พ่อค้าผลิตเหล้ารัมชาวนิวอิงแลนด์ พากันฝ่ากฎนำเข้ากากน้ำตาลเลี่ยงภาษีราคาถูกจากฝรั่งเศสมาผลิตเหล้ารัม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

ชัดเจนว่าการผลิตเหล้ารัมเพิ่งกากน้ำตาลได้จากไม่กี่ที่แต่มันก็เป็นเครื่องดื่มแห่งยุคอาณานิคมเวลาต่อมาผู้คนที่ไปตั้งรกรากลึกเข้าไปทางตะวันตกซึ่งต่อมาคืออเมริกา เปลี่ยนจากความนิยมเหล้ารัมไปคลั่งไคล้วิสกี้ซึ่งกลั่นจากเมล็ดธัญพืชหมักหาได้ตามท้องถิ่น การเกิดขึ้นของรัฐชาติทำให้มีความพยายามจากผู้นำสหรัฐในการออกกฎหมายเก็บภาษีวิสกี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบหลักคือเกษตรกรที่อยู่ต้นทาง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มต่อต้าน เกิดเหตุการณ์ปราบกบฏวิสกี้ นั่นนับเป็นการประท้วงต่อต้านภาษีครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาได้เอกราช

Cafe’ ความขมกับยุคแห่งเหตุผล

ระหว่างที่หลงใหลอยู่กับที่มาที่ไปของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิด ก็ถึงเวลาคอฟฟี่เบรกกับกาแฟเครื่องดื่มเสริมสติ ความแพร่หลายของกาแฟถูกนิยามว่าเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเหตุผลอินเตอร์เน็ตโบราณเกิดขึ้นในร้านกาแฟเพราะคนไปรวมตัวดื่มกาแฟและถกเถียงสารพัดเรื่องที่นั่น คนที่ร้านกาแฟรู้โลกก็รู้

หลังสหรัฐอเมริกามีการปราบกบฏวิสกี้ การปฏิวัติทางการเงินดำเนินไปในอังกฤษ การปฏิวัติอีกแบบนึงกำลังก่อตัวขึ้นในฝรั่งเศส ช่วงศตวรรษที่ 18 ร้านกาแฟในกรุงปารีสเป็นแหล่งรวมของปัญญาชนสารานุกรมที่เป็นแหล่งรวมความรู้ทุกแขนงในยุคนั้นก็เกิดขึ้นที่นั่น

ร้านกาแฟในกรุงปารีสเป็นสถานที่พบปะของปัญญาชนไม่ต่างกันกับในกรุงลอนดอน ปารีสกลายเป็นศูนย์กลางความคิดเกี่ยวกับความสว่างไสวทางปัญญา อันที่จริงดีเดอโลก็แต่งสารานุกรมในร้านกาแฟชื่อเดอลาเรชอง …กระนั้นความแตกต่างระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษก็ปรากฏชัดในร้านกาแฟเช่นกันร้านกาแฟในลอนดอนเป็นสถานที่เพื่อการถกเถียงทางการเมืองอย่างเสรีบางครั้งร้านกาแฟเป็นศูนย์บัญชาการของพรรคการเมืองด้วยซ้ำ โจนาธาน สวิฟต์ นักเขียนชาวอังกฤษแสดงความเห็นว่าเค้าไม่เชื่อว่าการเข้าถึงผู้มีอำนาจจะทำให้เราได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงเท่ากับการเข้าไปฟังเรื่องราวการเมืองในร้านกาแฟ

บทที่ 7 ยอดเครื่องดื่มเสริมสติ

เรื่องราวของกาแฟในหนังสือเล่มนี้ไม่ยืดยาวมากนัก และทุกบรรทัดเต็มไปด้วยบทสนทนาของเหตุและผล แต่เท่าที่จับใจความได้กาแฟเป็นเพียงหนึ่งเดียวจากเครื่องดื่มทั้งหกที่ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจของทุนใหญ่ ไม่ได้เป็นเครื่องต่อรองการค้าระหว่างประเทศ เราจึงยกให้กาแฟเป็นตัวแทนแห่งเสรีภาพยามรุ่งอรุณในเช้าวันใหม่

มะหาอำนาด ในเส้นทางการดื่ม

ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมาการจัดระเบียบโลก มักมีเครื่องดื่มแห่งยุคอยู่ในสมการ การจิบชาสักแก้ว สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ และยังขยายแรงสั่นไหวข้ามภูมิภาค ไปไกลถึงจีนกับอินเดีย

เราต่างรู้กันว่าใบชาขึ้นชื่อถูกส่งออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ผิด นั่นเป็นเรื่องจริงตั้งแต่อดีต จีนส่งออกใบชาไปหลายที่แต่ไปติดลิ้นคนอังกฤษเป็นพิเศษ ชาวอังกฤษชื่นชอบการจิบชาถึงขนาดซึมอยู่ในรากวัฒนธรรม ความต้องการมีมากแต่การส่งออกจากไร่ชาในจีนซึ่งผลิตแบบชาวไร่ไม่ทันใจ

การค้นพบสายพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในอินเดียกลายเป็นเป้าหมายใหม่ เอกชนในอังกฤษจึงก่อร่างเป็นบริษัทอินเดียตะวันออก เป็นบริษัทเดียวที่มีสิทธินำเข้าชาสู่เมืองผู้ดี โดยเพาะกล้าการผลิตแบบอุตสาหกรรมเกษตรลงในไร่ชาที่อินเดีย ทำให้ปริมาณการผลิตเที่ยงตรงต่อความต้องการ การผูกขาดการค้าชาในอังกฤษส่งผลให้เกิดการประท้วง และมีคนลักลอบขึ้นเรือขนส่งสินค้าเพื่อเทใบชาทิ้งน้ำ เรื่องราวใบชาอยู่ในเส้นทางการกุมอำนาจโลกของจักรวรรดิ มีทั้งการกดขี่ทางการค้าในอินเดีย การผูกขาดการค้าในประเทศปลายทาง และความพยายามกดดันจีนแผ่นดินใหญ่ อังกฤษช่วงชิงความหมายวัฒนธรรมการดื่มชาจากเจ้าของต้นชามาอย่างแนบเนียน ชากลายเป็นวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหารของชาวอังกฤษชนิดขาดไม่ได้ ต้องเสิร์ฟชาคู่กับเมนูหลักในมือเช้า English Breakfast และเสิร์ฟชาในชุดเครื่องเซรามิกสวย ๆ คู่กับของว่าง ชาเป็นวัฒนธรรม ส่วนเครื่องเซรามิกเป็นตัวชี้วัดชนชั้น

แม้ยุคหลังความนิยมชาลดลงเพราะถูกกาแฟมาแย่งสัดส่วนการตลาด แต่ร่องรอยของใบชาที่เคยเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่และทหารอังกฤษยังอยู่ จีนและอินเดียยังเป็นแหล่งใบชาขนาดใหญ่ดั่งอดีต ต่างตรงที่อินเดียคือตลาดใบชาแดง ขณะที่จีนเป็นตลาดใบชาเขียว ต่อมาสมรภูมิใบชาของจักรวรรดิเจือจางความเข้มข้น โดยมีเครื่องดื่มหวานซ่าชนิดใหม่มาแทนที่ในช่วงสมรภูมิอำนาจยุคโลกาภิวัฒน์

โคคา-โคล่า ระบาดจากช่วงสมานฉันท์ถึงสงครามเย็น ระบาดหนักก็ตอนที่สหรัฐอเมริกาเดินหน้าจัดกองทัพรุกคืบหวังครองดินแดน ทรัพยากร รวมถึงต่อสู้กับโซเวียต จุดเริ่มต้นของโคคา-โคล่าและเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลมพัฒนาจากห้องทดลองของนักบวชและนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษในปี 1767

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อซอฟพาว์เวอร์ที่มาแรงรุกเร็วกว่าทหารแนวหน้า คือโคคา-โคล่า ถ้าที่ไหนเครื่องดื่มสีดำหวานซ่าไปเยือน นั่นแปลว่าสหรัฐอเมริกาบุกไปถึงแล้ว คงไม่เกินจริง มันเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยอเมริกาให้ได้ครองตำแหน่งชาติมหาอำนาจ

หนึ่งในสาวกของโคคา-โคล่า คือผู้นำทหารในโซเวียต นั่นทำให้ช่วงสมานฉันท์ยุคก่อนสงครามเย็น มีการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มชนิดนี้ในโซเวียตเลยทีเดียว มันเกิดขึ้นก่อนการแตกหัก

เหตุเพราะปี 1948 โซเวียตท้าทายสหรัฐด้วยการปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตก กลุ่มคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นไม่ปลื้มโคคา-โคล่า อีกต่อไปและยกให้เป็นความเลวร้ายของทุนนิยม ส่วนฝ่ายในอเมริกันซึ่งเดินทางสายประชาธิปไตย โคคา-โคล่า ถูกดื่มกลืนไปถึงดีเอ็นเอของตะวันตก เป็นเครื่องสะท้อนเสรีภาพประชาธิปไตย และทุนนิยมตลาดเสรี ถึงตรงนี้ชัดเจนว่าโคคา-โคล่าเป็นเครื่องดื่มที่มี Target เชิงอุดมการณ์

ความ popular ของมันในตลาดเดี่ยวกินเวลายาวนาน ซึ่งต่อมาเกิดคู่แข่งอย่างเป๊ปซี่เข้ามาลงสนามแข่งในสมรภูมิสงครามน้ำดำ ธุรกิจน้ำหวานซ่าเติบโตคู่ขนานกับการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา

นอกจากจะสื่อถึงความเป็นอเมริกา โคคา-โคล่ายังเป็นตัวแทนของการพัฒนาสู่ภาวะโลกที่เป็นตลาดเดียว หรือโลกาภิวัฒน์ ผู้ศรัทธาในโลกาภิวัฒน์เชื่อว่าการยกเลิกกำแพงการค้า ภาษีนำเข้าและอุปสรรคอื่น ๆ ต่อการค้าเสรีระหว่างประเทศ เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะให้ประโยชน์แก่ทั้งประเทศมั่งคั่งและประเทศยากจน เช่นการเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทประเทศมั่งคั่ง และช่วยสร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจแก่ประเทศที่ยากจนกว่า ขณะที่ฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์กลับประนามพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็นการขูดรีดเพราะสร้างแต่งานระดับล่างที่ได้ค่าแรงต่ำ

บทที่ 11 จากโซดา-โคคาโคล่า

ดื่ม(ไม่)เสรี

ดำดิ่งกับเรื่องราวเครื่องดื่มทั้ง 6 แก้วจะพบว่า ทั้งหมดเริ่มคิดค้นตั้งต้นจากห้องทดลองของประชาชน บ้างเป็นชาวนาชาวไร่ บ้างเป็นนักบวชและนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเปรียบเหมือนตลาดทดลองความนิยมก่อนจะมีใครบางส่วนเห็นโอกาสและหยิบฉวยไปทำการผลิตแบบอุตสาหกรรม แต่ละแก้วล้วนเริ่มต้นจากชนชั้นประชาชนที่เคยหาดื่มได้อย่างแพร่หลาย

เสรีภาพของการดื่มถูกเปิดประตูตั้งแต่ยุคหิน แต่ในวันที่การแพทย์ก้าวหน้าความกังวลใจในเรื่องสุขภาพ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการจำกัดการผลิต เกิดการผูกขาดทางการค้า จนลืมไปว่าหากเราต่างมีแหล่งความรู้ เราต่างควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจดื่มหรือไม่ดื่มด้วยตัวเอง ความเชื่อเรื่องการผลิตมามอมเมาประชาชนมากอาจส่งผลต่อกลุ่มทุนมากกว่า ในอีกนัยยะความเชื่อเรื่องการจำกัดการผลิตจะทำให้ความมัวเมาในสังคมน้อยลงอาจเท่ากับดูถูกดูแคลนหรือด้อยค่าเพื่อนร่วมสังคม อย่างไรก็เถอะเสรีภาพการดื่มจะเบ่งบานเมื่อไร ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมไทยกำลังถกเถียง แต่เครื่องดื่มทั้ง 6 แก้ว ยังคงข้ามเวลามาร่วมประวัติศาตร์กับเรา

ไม่ธรรมดาจริง ๆ การดื่มหลังรีวิวหนังสือเล่มนี้คงเต็มไปด้วยอรรถรสใหม่

ทิ้งท้ายด้วยปริศนาในหนังสือเล่มนี้เพื่อชวนคิดชวนหาซื้อมาอ่านกันต่อ

เครื่องดื่มชนิดใดกันล่ะที่จะกำหนดอนาคตของเรา ดูเหมือนว่าเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวเต็งได้เผยโฉมออกมาแล้ว…แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือ เครื่องดื่มที่ว่านี้เป็นตัวจุดประกายการเริ่มต้นพัฒนาอารยธรรมของมวลมนุษย์มาตั้งแต่แรกเครื่องดื่มที่ว่านี้คือน้ำ

บททิ้งท้าย

Playread : ประวัติศาสตร์โลกใน 6 แก้ว 

ผู้เขียน Tom Standage 

แปลโดย คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์

สำนักพิมพ์ Book scape 

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี