วรรณกรรมสมมติ ค่าแรงสิของจริง - Decode
Reading Time: 2 minutes

 

ดับ 3 ศพ เจ็บอีก 4 นั่งร้านพังทับคนงานก่อสร้างโรงแรมสุดหรูกลางกรุง ข่าวร้ายเมื่อปีกลายตามมาขัดจังหวะนักเดินทางระหว่างกลับจากแก่งกระจาน ฉันขับรถผ่านบ้านแพ้วที่กำลังก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 – บ้านแพ้วทอดยาวสุดลูกหูลูกตา “พี่เบี่ยงออกซ้ายสุดไปได้ไหม” ผู้ร่วมเดินทางบอกเล่าเป็นประโยค “คำสั่ง” มิใช่ “คำถาม” เธอนิ่งงัน “รอ” จนรถแล่นพ้นจุดเกิดเหตุหน้าศาลเจ้าแม่งู ถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกแสมดำ เธอรวบรัดตัดบท “เพิ่งมีข่าวแท่นปูนก่อสร้างทางด่วนหล่นทับคนงานตาย” ไม่มีใครสมควรตาย เพราะความประมาทที่ตนไม่ได้มีส่วนสร้างขึ้น ถึงจะเป็นคนงานก่อสร้างก็เถอะ เพียง “ลุง” เป็นคนงาน อายุราว ๆ 54 ปี อีก 6 ปีเกษียณ แล้วมันใช่ครั้งแรกซะเมื่อไร ตั้งแต่คานสะพานกลับรถถนนพระราม 2 ถล่มเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว ไม่ถึงปีเหตุสลดก็เกิดซ้ำบนถนนสายเก่า

แน่ล่ะ! คนงานตาย พูดไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้คือพวงหรีดและค่าทำศพจำนวนหนึ่งไม่ถึงเศษหนึ่งส่วนครึ่งของมูลค่าการก่อสร้าง สิ้นประโยคนั้น “ความเงียบงัน” ของถนนสายเก่าก็ถูกแทนที่ด้วย “ความคิด” ที่เสียงดังกว่ารถสิบล้อสวนกัน เหมือนโลกสมมติอันย้อนแย้งของวิทยากร เชียงกูล ที่เริ่มสร้างตัวละครสมมติในเรื่องยาวเรื่องแรกและจบฉากสุดท้ายด้วยทุ่งข้าวรวงเหลืองสุกถูกทิ้งร้างโดยปราศจาก “แรงงาน” เก็บเกี่ยว ปรากฏในบทสุดท้ายของวรรณกรรมเล่ม 10 บาท “ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง” ฉันขุดขึ้นมาเล่าเรื่องคนงานใหม่ใน พ.ศ.นี้ แม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2522  เรื่องราวของชีวิตคนทำงานมูฟออนเป็นวงกลมอยู่ในวัฏจักร “แก่-จน-เจ็บ” ไปอย่างช้า ๆ ถึงแม้เนื้อหาของเรื่องจะมีลักษณะการเล่าแบบสารคดีหรือดูคล้ายเป็นเรื่องจริงอยู่บ้าง เขาก็ยังอยากให้ฉันมองงานเขียนชิ้นนี้ในแง่ที่เป็นนิยายอยู่ดี ในเมื่อผู้เขียนไม่ได้เขียนเรื่องนี้ โดยใช้วิธี “สมมติ” เอาเองทั้งหมด แต่ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตในอิตาลีจริง ได้ตัวละคร และเหตุการณ์จากการสังเกต อ่านหนังสือ และพูดคุย เป็นต้นว่า ตัวละครสำคัญ ปู่อัลโม่ ชาวนาอาวุโสในบทสุดท้ายนั้น จริง ๆ แล้วก็มาจากนิยายสมัยใหม่ของนักเขียนอิตาลี เรื่อง 1900

ค่าจ้างคนละครึ่ง

โลกสมมติอันย้อนแย้งทาบทับใบหน้าเปื้อนยิ้มของชาวนาอาวุโส กลับเกิดขึ้นในฉากตอนที่พืชผล ไร่นาทั้งข้าว ข้าวโพด องุ่น มะเขือเทศ และมันฝรั่งเสียหายอย่างมาก “ปีนั้นเป็นปีที่เกิดพายุ” ชาวนาอาวุโสแห่งทุ่งราบอีมิลเลี่ยน เริ่มสนทนาปราศรัย ครอบครัวของปู่อัลโม่เป็นชาวนารับจ้างอยู่ในที่ดินแห่งหนึ่งในทุ่งราบอีมิลเลี่ยน ปีนั้นเป็นปีที่เกิดพายุทำลายพืชผลเสียหายอย่างหนักหลังจากพายุสงบ เจ้าของที่ดินได้สั่งให้คนของเขาสำรวจความเสียหายเรียกประชุมชาวนาและบอกว่าเนื่องจากพืชผลเสียหายครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เขาจะจ่ายค่าจ้างแรงงานเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยจ่ายเท่านั้น

ที่สุดสหพันธ์ชาวนาก็เรียกร้องให้ชาวนาในเขตที่เจ้าของที่ดินไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง นัดหยุดงาน การนัดหยุดงานจึงเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับชาวนาอาวุโส เหมือนกับขบวนการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรไทยในอดีตที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการมานาน แม้ไม่ได้นุ่งยีนส์ กินแฮม ก็ถูกเอาเปรียบจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งแต่จะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติ กดค่าจ้างให้ต่ำ ขณะเดียวกันก็ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ใช้กฎอัยการศึกห้ามการนัดหยุดงานของกรรมกรโดยเด็ดขาด ถ้าไม่สู้ก็เสื่อมทรุดเสียเปรียบต่อนายทุนเจ้าของโรงงานต่อไป ไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวของปู่อัลโม่ ที่ชีวิตขับเคลื่อนด้วยความกลัวมาทั้งชีวิต แร้นแค้นและคับข้อง พวกเขาต่างกลัวว่าถ้าไม่ทำงานพวกเขาจะต้องอดตาย แต่โชคดีที่มีสหพันธ์แรงงานสัญญาจะส่งอาหารมาหนุนช่วยพวกเขาอย่างแข็งขัน การนัดหยุดงานครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น ความขัดแย้งจากค่าแรงคนละครึ่งดำเนินต่อไปจนพวกเจ้าของที่ดินตกใจมากพืชผลกำลังถูกทอดทิ้งให้เน่าเสีย โดยไม่มีใครเก็บเกี่ยว วัวนมกำลังอึดอัดเพราะไม่มีใครรีดนม

ในที่สุดพวกเจ้าของที่ดินและญาติมิตรของเขา ซึ่งเคยดีแต่ชี้นิ้วและกินแรงคนอื่นก็จำต้องลงมาทำงานเอง ปู่อัลโม่ยิ้ม เล่ามาถึงตอนนี้ เป็นตอนหนึ่งที่ปู่จำได้ชัดเจนที่สุด วันนั้นมันเป็นวันธรรมดาที่เดินออกไปทุ่งนากับปู่ของปู่อีกทีหนึ่ง แล้วก็เห็นเจ้าของที่ดินในชุดเสื้อผ้าอย่างดีกำลังสาละวนเกี่ยวข้าวด้วยท่าทางหยิบโหย่ง ตัวเจ้าของที่ดินเองก็พยายามปลอบใจ และกระตุ้นให้คนอื่น ๆ อดทนทำงานกันไป มันดูเป็นภาพตลกที่น่าเหลือเชื่อในสายตาผู้อ่าน ใครจะไปคิดว่า “คนรวยออกไปทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ขณะที่คนจนอย่างเรานอนพักอยู่ใต้ร่มไม้” ท้าทายโลกทัศน์ของผู้มีอำนาจ “แกต้องจำวันนี้ไว้ให้ดีนะอัลโม่ แกน่ะโชคดีมากที่ได้เห็น” เพราะขนาดปู่ของปู่ยังต้องรอมาถึง 73 ปี ภาพถูก ‘สร้าง’ และกำกับฉากโดยชาวนาอาวุโส ท่านหนึ่ง

ครึ่งชีวิตคนหนุ่มสาว

สายตาสั้น 75 150 ของคนหนุ่ม หนังสือเล่มนี้อาจเป็นประจักษ์พยานของโลกอันย้อนแย้งแม้แต่วงการสหภาพแรงงาน ด้วยคนส่วนใหญ่สนใจการเมืองปานกลาง ทั้งที่แต่ละคนเคยทำงานด้านสหภาพแรงงานมาแล้วทั้งนั้น ผู้เขียนขีดเส้นให้ตัวละครโดดเด่นต่างกัน มีชาวอัฟกัน 4 คน และชาวเอเชียอีก 5 คน อินเดีย 3 คนมาจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ กัน แต่ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับตัวละครที่ชื่อ “มุสตาฟา” ชาวบังคลาเทศที่ไม่มีตอนจบ แต่มีอิทธิทางความคิดทั้งต่อผู้เขียนและผู้อ่านวัยกลางคน

สมมติว่า มุสตาฟา มีอยู่จริง ไม่สมมติ เขาจะเป็นคนเดียวในชั้นเรียนที่สนอกสนใจการเมืองและมีทัศนะทางการเมืองแหลมคมและก้าวหน้ากว่าเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ เขาจบปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์ และทำงานให้กับสหพันธ์แรงงานแห่งหนึ่งเต็มเวลา เทียบกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่น ๆ แล้วมีพื้นฐานการศึกษาไม่สูงนัก สนใจการเมืองในขั้นปานกลาง ที่เหลือเป็นพวกที่ไม่ค่อยสนใจการเมือง อย่างเพื่อนชาวอินเดียมองการเมืองเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ คิดแต่จะใช้สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือนั้น สหภาพภาพแรงงานควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว 

บางคนก็ออกไปไกลถึงขนาดปกป้องรัฐบาลของตนอย่างมากเสียด้วยซ้ำ เช่น พวกผู้นำสหภาพจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ใครมีพื้นฐานและทัศนะอย่างไร ก็จะเห็นชัดในตอนนำเสนอรายงานเกี่ยวกับประเทศของตน คนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ หรือไม่ค่อยมีความคิดเชิงวิพากษ์ก็จะเสนอออกมาในเชิงโฆษณาประเทศ ราวกับเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศตนก็ไม่ปาน พวกเขามีท่าทีราวกับว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลมาประชุมเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ของประเทศตน ทั้งที่ความจริงแล้วทุกคนต่างมาในฐานะนักศึกษาเพื่อหาความรู้ที่แท้จริงเท่านั้น คนที่พอจะมีความคิดเชิงวิพากษ์ และมองในระดับโครงสร้างออก ก็มีเพียงมุสตาฟา เท่านั้น เขาหยิบยกรายงานของมุสตาฟาที่พยายามวิเคราะห์โครงสร้างสังคมในประเทศของเขา และพยายามชี้ให้เห็นว่า ปัญหาแรงงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจการเมืองของประเทศเท่านั้น

ครึ่งๆ กลาง ๆ ระหว่างกรรมกรกับนายทุน

ถ้าแก้ปัญหาแรงงานได้ก็จะต้องแก้ที่การทลายการครอบงำ แทรกแซงของประเทศมหาอำนาจและเป็น “ประชาธิปไตย มีเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริงเท่านั้น” ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวถูกปูทางมาให้เดาได้ว่าผู้เขียนหนังสือฯ เป็นคนกลาง ๆ ไม่ซ้าย ไม่ขวา ค่อนไปทางแยแสต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ต้น สังเกตุจากน้ำเสียงระหว่างบรรทัดของผู้เขียนที่สนทนากับอาจารย์ของเขาในวันแรกที่เข้ามาเรียนทำนองว่า ฟังดูหรูดี แต่ผมจะกลับไปทำประโยชน์มากแค่ไหนกันเชียว ในเมื่อประเทศผมเรื่องสหภาพแรงงานไม่เพียงเป็นเรื่องใหม่ ยังเป็นเรื่องแปลกประหลาด น่าหวาดระแวงสำหรับนายทุน และเจ้าหน้าที่รัฐและชนชั้นกลางโดยทั่วไป ผู้เขียนแทนตัวละครสมมติในเรื่องเป็นคนที่ทำงานในกรมแรงงานได้อย่างแยบยล ทั้งภาษา ความนึกคิด และความหมายระหว่างบรรทัดของความคับข้องใจในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ แท้จริงปัญหาก็มาจากการพยายามทำตัวเป็น “กลาง” ในการปฏิบัติไปตามตัวบทกฎหมายนั่นแหละ แต่กฎหมายเปิดช่องโหว่ให้นายทุนได้เปรียบมากกว่ากรรมกร ผู้เขียนผูกปมอันมืดบอดนี้ไว้ในเรื่องท่ามกลางแสงสีในเมืองร่ำรวยทางศิลปะแห่งฟลอเรนซ์ที่เขาพรรณาอย่างไร้ที่ติ และอาจเป็นเหตุผลให้ “ปกหลัง” ผู้เขียนบรรจงใส่ความหวังไว้ในความหมายของการเปลี่ยนแปลงว่าทำไมถึงไม่ได้มีลักษณะซ้ำซาก “วนเวียนไปมาเหมือนฤดูกาลดอกนะ แม้แต่ในช่วงที่ดูเหมือนจะตกต่ำมืดมนที่สุด” ฤดูหนาวปีนี้เขาว่าจะหนาวมาก และยาวนานสักหน่อย แต่ฤดูใบไม้ผลิก็จักต้องมาถึงตามชื่อหนังสือ เพราะในเมื่อ ไม่มีคนละครึ่งสำหรับผลกำไร จึงไม่มี “ตรงกลาง” สำหรับการเปลี่ยนแปลงชีวิต “คนงาน” มีแต่ต้องดีขึ้น และดีขึ้นเท่านั้น

หนังสือ: ฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง
ผู้เขียน: วิทยากร เชียงกูล
สำนักพิมพ์: เม็ดทราย

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี