ว่าที่รัฐบาลใหม่กับประตูสู่สันติภาพที่ภาคใต้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

ดูเผิน ๆ หลายคนที่สนใจการคลี่คลายความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะใจชื้นเมื่อเห็นการรวมตัวของ 8 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สัญญาณบวกไม่ใช่แค่เพียงการมีรัฐบาลพลเรือนที่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน แต่ยังมีเงื่อนไขจากเอ็มโอยูที่บรรจุเอาเรื่องกระบวนการสันติภาพ “ที่ยั่งยืน” ไว้ด้วย บวกกับเรื่องของการกระจายอำนาจ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่งของฝ่ายที่ต้องการเห็นการคลี่ความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติว่าโอกาสใหม่กำลังจะมาถึง

อันที่จริงไม่ใช่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ยึดแนวทางสันติในการแก้ปัญหา การสานต่อกระบวนการสันติภาพต่อจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นสิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ทำมาโดยตลอด ดังนั้นไม่ว่าโดยเนื้อแท้หรือในทางปฎิบัติภาพจะออกมาอย่างไรก็ตาม ดังนั้นในทางหลักการก็ต้องถือว่าองคาพยพของรัฐไทยยึดหลักการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ด้วยสันติ

ส่วนในด้านองค์ความรู้ หลังจากที่ย่ำอยู่กับความขัดแย้งนี้มานานเกือบ 20 ปี ก็เชื่อได้ว่าฝ่ายความมั่นคงของไทยโดยเฉพาะทหารมีความรู้และความเข้าใจเรื่องของความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าเดิม คือเมื่อความขัดแย้งเริ่มเผยโฉมเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเรื่องเนื้อแท้ของปัญหาหรือผู้เล่นต่าง ๆ กลไกของทหารภายใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและกองทัพภาคที่ 4 ทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องยาวนาน มีอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ยิ่งภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งเกาะกุมทิศทางของงานไว้ทุกด้านรวมไปถึงงานของข้าราชการฝ่ายพลเรือน บุคลากรบางคนทำงานในพื้นที่แทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้ย้ายออกไปไหนในช่วงเกือบยี่สิบปีนี้ บางคนที่เกษียณไปแล้วก็ยังวนเวียนทำงานเรื่องปัญหาภาคใต้ ยกตัวอย่างเช่น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 ที่กลายไปเป็นที่ปรึกษาให้กับหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข/สันติภาพในปัจจุบัน ดังนั้นต้องถือว่าฝ่ายความมั่นคงไทยสะสมความรู้ความเข้าใจในพื้นที่นี้มายาวนาน ประเด็นสำคัญมีอยู่อย่างเดียวคือ พวกเขาจะตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนและท่วงทำนองอย่างไรกับความขัดแย้งนี้

ที่ผ่านมาเนื่องจากทหารและฝ่ายความมั่นคงเป็นเนื้อเดียวกันกับรัฐบาล พวกเขาไม่มีความขัดแย้งเรื่องการจะกำหนดแนวทางหรือนโยบายเรื่องภาคใต้ ระหว่างรัฐบาลและผู้ปฏิบัติในภาคส่วนของฝ่ายความมั่นคงเป็นเอกภาพในช่วงที่ผ่านมา หากจะมีความขัดแย้งบ้างก็แค่ระหว่างภาคส่วนที่เรียกกันว่าสายเหยี่ยว ไม่ว่าจะระหว่างเหยี่ยวมาก กับเหยี่ยวน้อย หรือกับสายพิราบ ซึ่งผู้รู้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายหลังนั้นมีที่ทางน้อยลงไปเรื่อย ๆ

มีปรากฏการณ์ที่บอกเราว่าจุดยืนของฝ่ายความมั่นคงที่แสดงออกต่อสังคมยังคงถูกยึดกุมโดยแนวคิดที่ไม่ต่างไปจากเดิม มาจากเนื้อหาของการแถลงข่าวแบบทิ้งทวนของคณะพูดคุยสันติสุขของไทยเมื่อ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในหัวข้อสุดคลาสสิก Light at the end of the tunnel ซึ่งมีรายละเอียดหลายอย่างในเรื่องนโยบายของฝ่ายความมั่นคงต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสรุปงานด้านสันติภาพที่ผ่านมา สิ่งที่น่าสนใจมากคือการแสดงจุดยืนของฝ่ายความมั่นคงต่อความขัดแย้งและแนวทางการแก้ปัญหา

ทีมผู้แถลงประกอบด้วย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช. และพล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาค 4 และรองผอ.กองรมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้งหมดล้วนอยู่ในคณะพูดคุยสันติสุข เนื้อหาทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่าในเรื่องการพูดคุยสันติสุขหรือสันติภาพนั้น ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เจออาการชะงักงันหลายหน เช่น เจอโควิด เจอการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียและล่าสุดเจอการเลือกตั้งของไทย ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดความล่าช้า แต่กระนั้นคณะตัวแทนพูดคุยของไทยรวมทั้ง สมช.ยืนยันว่าผู้เกี่ยวข้องไม่มีหนทางอื่นในเรื่องกระบวนการสันติภาพนอกจากต้องเดินไปข้างหน้าเพราะเรื่องนี้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ต้องสานต่อ

อันที่จริงประเด็นเรื่องที่ว่ากระบวนการสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติดูจะเป็นเรื่องที่แปลกเอาการ เพราะขณะที่คณะผู้คุยฝ่ายรัฐบาลตลอดจน สมช.ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้วนั้น ฝ่ายภาคประชาสังคมและบีอาร์เอ็นดูจะยังไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติแต่อย่างใด หลายคนยังคงพูดเรื่องความจำเป็นที่จะต้องผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติอยู่ เรื่องนี้ดูเหมือนว่าต้องการความชัดเจน ถ้าไม่ใช่เรื่องรายละเอียดของการเป็นวาระแห่งชาติ ก็ต้องถกกันว่าการเป็นวาระแห่งชาติโดยนัยของแต่ละฝ่ายจะต้องเป็นอย่างไร

ที่น่าสนใจด้วยคือการที่รองเลขาธิการ สมช.ให้ข้อมูลว่า สมช.มีนโยบายสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้องทบทวนทุก 3 ปี สำหรับนโยบายที่ใช้ในปัจจุบันครอบคลุม 2565-2567 และเป็นสิ่งที่ผ่านความเห็นชอบของครม.มาแล้ว เท่ากับว่า สมช.กำลังบอกเราว่า เรื่องการดำเนินงานด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลในช่วงเวลานี้ก็จะต้องสานต่อแนวทางที่ สมช.ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์วางไว้ดังกล่าวนั่นเอง แนวทางของ สมช.นั้นมีหกประการด้วยกัน ในบรรดาหกเรื่องนี้รวมไปถึงเรื่องของการพูดคุยสันติภาพด้วย

คณะผู้แถลงข่าวพูดถึงเรื่องกฎหมายพิเศษในพื้นที่นี้ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าใช้อยู่สามฉบับ แต่ฉบับที่มีผลอย่างมากคือกฎอัยการศึกและพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือพรก.ฉุกเฉิน เป็นสองฉบับที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในฐานะที่สร้างผลสะเทือนต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งรองเลขาธิการสมช.และรองผอ.กอ.รมน.ภาค 4 สน. ย้ำว่าเจ้าหน้าที่นำกฎหมายพิเศษมาใช้น้อยมากเพียงแค่หนึ่งหรือสองมาตราเท่านั้นที่เกี่ยวพันกับการให้อำนาจในเรื่องการควบคุมตัว ส่วนเนื้อหาอื่นไม่ได้ใช้ การใช้กฎหมายพิเศษนี้ทั้ง สมช.และตัวแทนกองทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่ากระทบประชาชนทั่วไปน้อยมาก พล.ต.ปราโมทย์ รองแม่ทัพภาค 4 ยืนยันว่า ในพื้นที่ไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่ ไม่เคยมีการกดดันในเรื่องการแสดงออกทางอัตลักษณ์ รองเลขาธิการสมช.ยังกล่าวอีกถึงสองครั้งสองคราว่า หากการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพก้าวหน้าไปได้ ก็มีโอกาสสูงมากที่จะมีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในปี 2570 ส่วนในเรื่องการถอนทหาร ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เข้าใจกัน รองแม่ทัพภาค 4 ยืนยันว่าที่ผ่านมามีการทยอยถอนทหารออกจากพื้นที่เรื่อยมา เช่นที่มาจากกองทัพภาคอื่น ๆ ต่างทยอยกลับที่ตั้งของตน

พล.ต.ปราโมทย์ยืนยันว่าในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ไม่มีภาวะสงคราม ไม่มีความขัดแย้งในลักษณะการสู้รบด้วยอาวุธ จะมีก็แต่การก่ออาชญากรรม ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน ในส่วนเจ้าหน้าที่ไม่มีการละเมิดสิทธิไม่ว่าในรูปแบบใด คำพูดเช่นนี้ของรองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับการหนุนเสริมจากความเห็นของพล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยที่กล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ว่าเป็นเรื่องที่ “มีกลุ่มคนพยายามจะทำให้ความแตกต่างกลายเป็นความแตกแยก” อันเป็นถ้อยคำสั้น ๆ ที่หากไม่มีการขยายความก็ย่อมจะทำให้เข้าใจไปได้ว่าปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เกิดจากการปลุกปั่น ซึ่งเมื่อบวกกันเข้าไปแล้วทำให้หลายคนมีคำถามว่า ถ้าเช่นนั้นที่ผ่านมารัฐบาลคุยกับบีอาร์เอ็นเพื่ออะไร แต่คำตอบอาจจะอยู่ในคำแถลงของคณะผู้แถลงข่าวที่ระบุชัดว่า พวกเขาถือว่าแม้จะก่ออาชญากรรมแต่คนเหล่านั้นก็คือคนไทย ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีพูดคุยแบบคนไทยด้วยกันเพื่อดึงพวกเขากลับมา

ฝ่ายความมั่นคงจึงยืนยันชัดเจนในท่าทีของการพูดคุยแบบ “คนในด้วยกัน” และปัญหาความขัดแย้งนี้มีธรรมชาติเป็นเพียงเรื่องของอาชญากรรม ในแก่นของการแถลงจึงแสดงจุดยืนของฝ่ายความมั่นคงที่สรุปได้สั้น ๆ ว่ายังคงอยู่ที่เดิม โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือรายละเอียดที่ให้เพิ่มเติมเช่นพูดอย่างชัดเจนว่ามีโอกาสที่จะยุติการใช้กฎหมายพิเศษภายในปี 2570 ให้ข้อมูลว่ามีการถอนกำลังทหารออกเรื่อยมา แต่ข้อมูลนี้เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักในทางปฎิบัติเพราะการถอนกำลังทหารจากทัพภาคอื่น ๆ ที่ส่งไปทำงานในพื้นที่ จชต.นั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน.โดยพล.ต.ปราโมทย์เองยอมรับว่าไม่ได้ถอนเฉย ๆ แต่ทว่ามีการทดแทนโดยกำลังพลที่มาจากคนในพื้นที่ นอกจากนั้น ท้ายสุดทั้ง สมช.และกอ.รมน.ภาค 4 สน.ที่เป็นคนขับเคลื่อนการทำงานอย่างสำคัญแสดงท่าทีต่อเรื่องการกระจายอำนาจว่าจะต้องรอบคอบ สรุปว่าโดยเนื้อหาที่เป็นแก่นของการแถลงจะพบว่าเป็นเสมือนการ “ดักทาง” ว่าที่รัฐบาลใหม่ในหลายเรื่องดังกล่าวทำให้เห็นภาพว่าสิ่งที่เป็นข้อเสนอใหม่ ๆ ของพรรคพันธมิตรนั้นอาจไม่จำเป็นเพราะว่าอยู่ในแผนของฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้วไม่ว่าเรื่องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ถอนทหาร ขณะที่กระบวนการพูดคุยก็มีความคืบหน้ามีการวางกรอบไว้ให้แล้วรวมทั้งบรรจุเป็นวาระแห่งชาติด้วย

ในขณะเดียวกันสิ่งที่ว่าที่รัฐบาลใหม่กำลังเผชิญก็เริ่มเผยโฉมมาเรื่อย ๆ ในวันประกาศบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูของแปดพรรคเมื่อ 22 พ.ค. ก็ปรากฎวาทกรรมที่ถูกผลักเข้าสู่ข่าวกระแสหลักจากคำถามที่พุ่งตรงไปยังพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และผู้นำพรรคร่วม เมื่อผู้สื่อข่าวรายหนึ่งตั้งคำถามว่า “ขณะนี้มีสัญญาณแบ่งแยกดินแดนหนาหู เป็นเรื่องจริงหรือไม่และจำเป็นต้องถาม เพราะประชาชนกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะทำให้ด้ามขวานทองหายไป”

ภายใต้แรงกดดันของแนวคำถามในเชิงวิตกกังวลเช่นนี้ ตัวแทนพรรคที่ตอบคำถามดูจะมีทางเลือกไม่มาก หัวหน้าพรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นายพิธาเลือกจะยืนยันว่าสังคมต้องอยู่กับข้อมูลพร้อมกับย้ำว่านโยบายของว่าที่รัฐบาลว่าต้องการจัดการปัญหาหลายจุดเพราะพื้นที่นี้มีปัญหาหลายอย่างรวมทั้งเรื่องปากท้องและอื่น ๆ เขายืนยันว่าพรรคทำงานลงพื้นที่ มีคนจากในพื้นที่เป็น ส.ส.และอยู่กับข้อเท็จจริง

คำตอบของหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อไปบวกกับคำตอบของหัวหน้าพรรคอีกสองรายกลับกลายเป็นประเด็นในตัวเอง นายมูฮำมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติซึ่งมี ส.ส.จากสามจังหวัดใต้มากที่สุดขยายความปัญหาพื้นที่นี้ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการแก้ไขที่ไม่ถูกวิธีมายาวนานจากการใช้กฎหมายและอำนาจโดยไม่คำนึงถึงประชาชน แถมบอกว่า “ประชาชนต้องการการกระจายอำนาจเท่านั้น อาจมีคนที่เห็นแตกต่างกันบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย ซึ่งต้องเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อให้คนเหล่านั้นกลับสู่แผ่นดินแม่อย่างสงบสุขอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีความสุข” คำพูดเหล่านี้เมื่อผสานเข้ากับคำพูดของนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรมที่ยืนยันว่าพรรคเน้นหลักมนุษยธรรมและมนุษยชน และว่าประชาชนจริง ๆ แล้วต้องการด้านสิทธิมนุษยชนและความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าจะแยกตัวเป็นอิสระ ทั้งหมดนี้ทำให้นักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ที่เคลื่อนไหวเรื่องการสร้างสันติภาพรู้สึกว่าเป็นการเกาไม่ถูกที่คันอย่างยิ่งจนหลายคนออกมาแสดงปฎิกิริยาว่าเป็นการตีโจทย์สันติภาพที่ผิดเพราะเท่ากับไม่ยอมรับธรรมชาติของความขัดแย้งที่เป็นเรื่องการเมืองสำหรับคนจำนวนไม่น้อย และไม่ใช่เรื่องของความต้องการการปฏิบัติต่อที่ดีกว่าในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนเท่านั้น

อันที่จริงแล้วผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่า จากระดับการสื่อสารที่ผ่านมาของบุคลากรของพรรคก้าวไกลและพรรคเป็นธรรม แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะไม่รู้ถึงธรรมชาติของปัญหาความขัดแย้งนี้ ยิ่งพรรคประชาชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึง มีคำถามว่าเหตุใดปฏิกิริยาจึงเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนอยากเดาว่านี่เป็นผลภาคบังคับของคำถามในแนวนี้ที่มีกับนักการเมืองซึ่งกำลังถูกบีบให้เดินตามแนวทางที่แคบลง และพวกเขาไม่มีพื้นที่ให้ขับเคลื่อนมากนักเพราะท้ายที่สุดแล้วสังคมไทยยังไม่แสดงตนว่าฐานที่หนักแน่นในอันที่จะสนับสนุนการยอมรับธรรมชาติทางการเมืองของความขัดแย้งอันนี้ สังคมแม้จะอยู่กับปัญหาความขัดแย้งมานานแต่ไม่ได้เข้าใจจริงจัง เห็นได้จากการพูดถึงปัญหานี้ของนักการเมืองจำนวนมากที่ผ่านมา

ถ้าข้อสันนิษฐานนี้จริง รัฐบาลพลเรือนไม่ว่าชุดใดก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ให้อยู่ภายใต้กรอบวาทกรรมที่แสดงความหวาดกลัวจนเกินกว่าจะยอมรับความจริงบางอย่างได้ การจะผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ อาจจะต้องใช้เวลาเพื่อก่อร่างสร้างความรู้แก่สาธารณะ

บันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูของแปดพรรคระบุไว้ชัดในข้อที่ห้าและหก ในข้อห้าคือเรื่องการผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ในขณะที่ข้อหกคือการผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพียงคำว่าการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนก็มีนัยแล้วว่าการกระทำนั้นต้องคำนึงถึงต้นตอของปัญหาทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในขณะที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่และทำให้พื้นที่มีอำนาจจัดการตนเอง เรื่องที่สองเป็นฐานอย่างสำคัญให้กับเรื่องแรก แต่ขณะนี้ปรากฎว่าเรื่องของการกระจายอำนาจกลับเจอเสียงต้านและแรงค้านดังขึ้นอีกครั้ง เดิมทีนักการเมืองสายชาตินิยมเคยเสนอวาทกรรมว่าการกระจายอำนาจคือเปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว วาทกรรมนี้ทำท่าว่าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายมาเป็นกรอบกำหนดการทำงานในเวลาต่อไปเพราะจะทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติรวมทั้งเป็นธรรมจะต้องคอยระวังและแก้ต่างในข้อหาเช่นนี้เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ในพื้นที่เรียกร้องต้องการท่วงทำนองที่ก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะกลายเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะก้าวไปถึงขั้นนั้นได้ อย่าลืมว่าเรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เคยถูกกล่าวหาว่าจะทำดีลลับกับกลุ่มขบวนการทำให้ “ด้ามขวาน”หายไป วาทกรรมเช่นนี้เป็นการเล่นกับความรู้สึกของผู้คนที่แม้ไม่มีใครรู้ชัดว่าปลุกความหวาดกลัวได้จริง ๆ เพียงใด แต่ก็กลายเป็นการปรามอย่างได้ผลมาแล้ว

ปรากฏการณ์เช่นนี้ดูเล็กน้อยก็จริงแต่มันก็สะท้อนภาพที่ใหญ่กว่าที่อยู่เบื้องหลัง เมื่อบวกกับท่าทีของข้าราชการประจำสายความมั่นคง เท่ากับมีการวางเงื่อนไขของการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เอาไว้อย่างเป็นมั่นเหมาะ มันทำให้เห็นได้ว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นงานหินอีกงานของว่าที่รัฐบาลใหม่ซึ่งมีโจทย์พ่วงเข้ามาด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะประสานกลุ่มผู้สนับสนุนหาหนทางเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ ที่สำคัญกลุ่มที่จะต้องประสานเพื่อคลี่ความขัดแย้งสามจังหวัดภาคใต้กลับไม่ได้อยู่ในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น