Thuglife(n.) ชีวิตอันธพาล
แง้นนน แง้น ๆ ๆ ๆ แง้นนนนน
“ความไวเป็นของรถเครื่อง แต่ถ้ามีเรื่องก็ต้องผมนี่แหละ” หลังสิ้นเสียงท่อมอเตอร์ไซค์สองสูบผ่านไป คู่สนทนาตรงหน้า ก็เริ่มนิยามชีวิตของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ว่าชีวิตที่ไม่ได้ผ่านแค่ร้อนหรือหนาว แต่ยังผ่านลูกปืน รวมถึงคมมีดที่ยังทิ้งร่อยรอยไว้บนใบหน้า
ใกล้บึงแก่นนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในชุมชนโนนทันหรือบ้านโนนทัน นอกจากชุมชนแห่งนี้จะเป็นชุมชนเก่าที่เป็นแหล่งพาณิชยกรรม บ้านโนนทันยังเป็นชุมชนที่มีผู้อยู่อาศัยมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองขอนแก่น รวมถึงเป็นบ้านเกิดและที่อยู่อาศัยปัจจุบันของ โกเบ ชายวัย 25 ปี ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์และอดีตนักเลงของบ้านโนนทัน
“เด็ก ๆ ผมก็เหมือนคนอื่นเลย มีซนบ้าง เล่นบ้าง ตามประสา แต่พอพ่อเสียตอนป.5 ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนไป เหมือนผมเก็บกดอะไรบางอย่างแล้วมันระเบิดออกมา หลังจากนั้นเวลาไปเรียนก็ไม่ได้ไปเรียน ไปอยู่บ้านเพื่อนบ้าง สูบบุหรี่บ้าง ที่บ้านก็ไม่เคยรู้จนกระทั่งเราไปบอกเขาเองว่าเราไม่อยากเรียนแล้ว” โกเบ กล่าว
พ่อของโกเบประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ เขากล่าวว่าในช่วงวัยเด็กตนสนิทกับพ่อมาก พ่อจะเป็นคนคอยสอน คอยกำชับ มีอะไรก็จะคอยเล่าให้พ่อฟัง แต่พอวันที่พ่อไม่อยู่ ทางบ้านก็เริ่มเสียศูนย์ จากที่โกเบเป็นเด็กร่าเริงจึงเริ่มเปลี่ยนทิศ เริ่มหาการยอมรับในรูปแบบของเพื่อน ท้ายที่สุดเขาก็กลายเป็นหัวโจกของชุมชนหรือที่เรียกกันว่าเด็กบ้าน
หลังออกจากโรงเรียน โกเบเริ่มใช้ชีวิตผิดรูปผิดทาง เริ่มใช้ของมึนเมา สูบบุหรี่ ไปจนถึงการเริ่มเป็นคนส่งยาเสพติด เพื่อหารายได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน และในช่วง ม.2 โกเบเล่าว่าเป็นช่วงที่เขาอยู่ในวัยที่เกเรมากที่สุด อยู่มาวันหนึ่งเขาก็เริ่มได้ทำความผิดครั้งแรกและติดคดีในฐานะลักขโมยมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งในย่านสรรพสินค้าแถวบ้าน
“ผมเป็นคนชอบมอเตอร์ไซค์แต่เด็กเลย พวกสายคลาสสิก วันนั้นน่าจะเป็นคดีแรกเลยที่โดน เราเห็นมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งสวยมาก แล้วกุญแจมันเสียบคาไว้ ใจตอนนั้นคิดอะไรไม่รู้แต่รู้ว่าอยากได้ ก็เลยเข็นออกมา แล้วเหมือนยามเห็น พอเขาเข้ามาใกล้ ๆ เราก็ขับหนีเลย แต่ไม่พ้น จนหลบเข้าไปในป่าอยู่พักใหญ่เลย สุดท้ายก็เลยยอมออกมาโดนจับ เพราะไม่ได้กินอะไรเลย” โกเบเล่าไปหัวเราะไป เมื่อนึกย้อนถึงอดีตที่เขานิยามตัวเองในสมัยนั้นว่า ‘ยังเฟี้ยว’
รอยสักของโกเบ ลายแรก ๆ ได้มาจากตอนติดเรือนจำแต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัวออกมาก็มาสักทับในแบบที่ตนชอบ
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากเด็กบ้านโนนทัน โกเบได้เข้าสู่แก็งมังกรดำ เพื่อใช้ชีวิตในฐานะอันธพาลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงเวลานั้นโกเบรับงานของแก็งมาหมดทุกรูปแบบ ทั้งส่งยา ทวงหนี้ แว้นมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงรับจ้างยิงคน จากการเข้าสู่สถานพินิจก็เปลี่ยนไปเข้าออกคุกเป็นว่าเล่น เนื้อตัวที่เกลี้ยงเกลาก็เต็มไปด้วยรอยสักหลายรูปแบบ ทั้งคิ้วยักษ์ คำคม และลายมังกรดำที่กลางหลังซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม
โกเบเล่าวว่า เขาใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมาย วันหนึ่งตื่นขึ้นมาเพื่อออกไปเล่นยา หาหญิง แว้นมอเตอร์ไซค์ ดื่มเหล้า และกลับมานอนเมาที่บ้าน วันแล้ววันเล่า ไม่ได้มองเห็นภาพตัวเองในอนาคต เพราะตั้งแต่วันที่เขาตัดสินใจออกจากโรงเรียน เขาก็ไม่คิดจะมองหาอนาคตใดไว้อีกแล้ว
เงินที่หามาได้จากการทำงานให้แก็งค์เป็นจำนวนไม่น้อย รายได้ต่อวันอยู่ที่หลักพันถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานประเภทใด อย่างส่งยาถ้าปริมานเยอะหน่อยจะได้อยู่ที่ 5,000 บาท ขึ้นไป แต่ถ้ามีงานให้ไปยิงคน วันนั้นจะได้เป็นหลักหมื่น แต่เงินที่ได้มาไม่เหลือเก็บ เพราะโกเบนำไปใช้กินเหล้าเมายาในแต่ละวันก็หมดแล้ว
รอยแผลเป็นบนแก้มซ้ายของโกเบ เกิดจากโดนมีดปาดระหว่างทะเลาะวิวาทในอดีต
กระทั่งวันหนึ่ง ยาย ผู้เป็นคนชุบเลี้ยงและดูแลโกเบมาตั้งแต่พ่อของเขาด่วนจากไป ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และไม่ได้ต่อว่าอะไรที่โกเบเลือกเส้นทางชีวิตนี้ แต่ด้วยวัยชราที่มากขึ้นแต่ยังต้องทำงานเพื่อมาดูแลบ้าน ภาพที่เขาเห็นในตอนเช้าหลังจากเมากับเพื่อน ๆ คือหญิงชราที่อยู่กับเขามาทั้งชีวิตยังต้องทำงานอยู่ นี่คือจุดเปลี่ยนที่โกเบ ถามหาอนาคตที่เขาทิ้งมันไว้ในอดีต
“เมื่อก่อนผมเคยมองว่าการใช้ชีวิตอย่างนี้มันเท่นะ มีหญิง มียา มีชื่อเสีย(ง) แต่พอมาเห็นคนที่เลี้ยงเรามาแต่เล็กยังต้องเหนื่อยอยู่ ผมกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า ‘มึงเท่แบบไหนวะ ถ้าคิดว่าเท่แล้วทำไมที่บ้านถึงยังเหนื่อยอยู่’ หลังจากนั้นก็ตัดสินใจเลิกยา และหันมาหาซ่อมมอเตอร์ไซค์นี่แหละ เพราะเราชอบมาตั้งแต่เด็ก แล้วมันก็เป็นอาชีพสุจริตด้วย”
แม้ปัจจัยหลักที่ทำให้โกเบเสียศูนย์จะเป็นการที่เขาขาดเสาหลักที่คอยค้ำชูความรู้สึก แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม สิ่งที่ผลักให้เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาคือสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถรั้งให้พวกเขาอยู่ต่อ อีกทั้งมีช่องทางให้พวกเขา “เลือก” ที่จะเดินไปทางอื่น ทั้งยาเสพติด แว้นมอเตอร์ไซค์ หรือการเข้าแก็ง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การได้รับการยอมรับ เมื่อวันหนึ่งครอบครัวและระบบการศึกษา ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมหลักในช่วงวัยนี้ไม่ได้มีให้ความรักกับพวกเขาที่ดีพอ
ปัญหาใหญ่ที่ไม่ใหม่ และมีเด็กน้อยคนที่หลุดเข้าไปแล้วจะออกมาได้ เมื่อมอเตอร์ไซค์ ยาเสพติด และวิถีชีวิตแบบแก็ง คือพื้นที่ปลอดภัยมากกว่าสังคมเดิมที่พวกเขาจากมา
เด็กหลุดจากระบบการศึกษา(น.) หรือเพราะผู้ใหญ่ช่วยกันไม่มากพอ
ตั้งแต่ พ.ศ.2542 จังหวัดขอนแก่นได้เริ่มนโยบายปฏิรูประบบการศึกษา แม้จะเป็นหัวเมืองใหญ่แต่ก็เป็นต่างจังหวัด รัฐรวมศูนย์ของประเทศไทยยังคงไม่กระจายโอกาสทางการศึกษามากนัก
ฉะนั้นการกระจายอำนาจผ่านการดำเนินการของหน่วยงานท้องถิ่นจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันวาระเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น
แม้ผ่านไปหลัก 10 ปี การแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษายังไม่มีวี่แววจะดีขึ้น เทศบาลนครขอนแก่นจึงได้เกิดโครงการครูอาสาสอนเด็กเร่ร่อน เพื่อแก้ปัญหาในเชิงรุก นั่นคือการนำเอาครูไปหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและอาศัยเร่ร่อนข้างทาง
ครูมหา-อังคาร ชัยสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ในขณะที่ยังเป็นพนักงานลูกจ้างสำนักงานศึกษาธิการขอนแก่นเมื่อปี พ.ศ.2554 ได้รับหน้าที่ในการเป็นครูอาสาเด็กเร่ร่อนเพื่อทำมาตรการเชิงรุกเข้าหาเด็กหลุดฯ สิ่งเขาพบเจอกลับทำให้ตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงปัญหาที่ยังซุกปัญหาไว้ใต้พรมอีกจำนวนมาก
ครูมหา-อังคาร ชัยสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย
“เราเข้าใจว่าจะมีเด็กที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษาจำนวนหนึ่ง แต่วันที่เราเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เราไม่คิดว่ามันจะมากมายขนาดนี้ ขนาดเป็นหัวเมืองใหญ่ยังมีเด็กชายขอบอยู่จำนวนมาก เราว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุอย่างตามเด็กกลับมามันไม่พอ เราต้องหาลู่ทางให้เขาจะเดินไปต่อด้วย” ครูมหา กล่าว
ครูมหาเป็นนักกิจกรรมตั้งแต่ครั้งมัธยม ในชมรมสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน และมีความฝันที่อยากจะเป็นครู เขาจึงได้เล่าเรียนจนกระทั่งได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด
“ตอนเรียนเราก็คิดมาตลอด เราสงสัยว่าระบบการศึกษามันมีปัญหา เหมือนครูก็ทำตามหน้าที่ไปงั้น เด็กก็ไม่ได้รับความสนใจมากพอ รวมถึงครูก็ชอบแบ่งเด็กเก่ง-ไม่เก่ง แต่พอได้มาเป็นครูอาสาเด็กเร่ร่อนเราถึงรู้ ว่าปัญหามันไม่ใช่แค่ระบบ แต่มันคือสิ่งแวดล้อม และรัฐไม่หาวิธีรับมือกับมันเลย”
ภายหลังโครงการครูอาสาเด็กเร่ร่อนหมดลง ครูมหาได้คิดเห็นว่าการนำครูไปหาเด็กหลุดฯ ก็อาจยังไม่เพียงพอ เขาเล็งเห็นว่าผู้ใหญ่ต่างหากที่ร่วมมือกันไม่มากพอจะพาเด็กหลุดกลับเข้าสู่ระบบ ช่วงเวลานั้นเองที่เกิดความคิดว่าต้องให้หน่วยงานเอกชน NGO และราชการร่วมมือกัน
“เราพูดกันตามตรง ราชการไม่ได้มีความรู้หรือการจัดการที่ดีพอกับเรื่องเหล่านี้ แต่ภาคประชาสังคมเขามี แต่ที่ภาคประชาสังคมไม่มีคือเงินและอำนาจการจัดการ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ภาคประชาสังคมและราชการร่วมมือกัน ถึงจะพาเด็กหลุดฯ กลับเข้าสู่ระบบได้”
ครูมหาเล่าว่า คนแรกที่ไปติดต่อราชการเพื่อขอความร่วมมือคือ เดชา เปรมฤดีเลิศ ในช่วงเวลานั้น ภาคประชาสังคมและราชการต่างไม่ชอบกันและกัน ในขณะที่ภาคประชาสังคมกล่าวหาว่าภาครัฐไม่ยอมทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้นและราชการเองก็มองว่าภาคประชาสังคมแทรกแซงภาครัฐอยู่เสมอ
“ช่วงแรกการพูดคุยมันค่อนข้างรุนแรงนะ เพราะต่างฝ่ายก็ไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้ว แต่จนแล้วจนรอดทั้งคู่ก็มองเรื่องเดียวกันคือยังมีเด็ก ๆ ที่รอการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่อยู่ การดำเนินการตรงนี้ก็เลยพากันมาได้ไกลจนถึงทุกวันนี้”
ในมุมหนึ่ง เพราะครูมหาเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย เพราะยืนอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการของสมาคมไทสิกขา ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันเรื่องการศึกษาและเยาวชน รวมถึงทำงานอยู่ในหน่วยงานราชการด้วย นั่นทำให้เขามองเห็นจุดบอดในการขับเคลื่อนประเด็นของทั้งคู่และการจะผลักดันให้สำเร็จต้องจับมือทำงานด้วยกัน
หลังการทำงานเป็นครูอาสา ครูมหาพบข้อสังเกตว่าเด็กที่จะหลุดจากระบบการศึกษาของสังคมเมืองขอนแก่นมักอยู่ในช่วง ม.2-ม.3 แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันในเชิงวิชาการที่เพียงพอ แต่ครูมหาให้ความเห็นว่าเด็กในเมืองขอนแก่นช่วงวัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากข้อมูลที่เก็บมาได้คือช่วงวัยนี้เด็กมักจะพบเจอสภาพแวดล้อมที่กดดันมาสักระยะ และเมื่อมีวุฒิภาวะมากขึ้นในมุมมองของเด็กต่างจังหวัด การออกไปใช้ชีวิตที่หนีจากสภาพแวดล้อมเดิมเป็นเรื่องที่ดีกว่าจะต้องทนอยู่
นั่นทำให้ครูมหาก็ได้เริ่มโครงการที่จะพาเด็กที่มีความเสี่ยงหรือหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วในช่วงวัยนี้มาเข้าค่ายทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ต่อมุมมองของเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้เลือกที่จะออกจากสังคมเดิมไป
ครูมหาได้ทำการค้นคว้าข้อมูล และได้พบกับโกเบ พี่ใหญ่ของเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในย่าน จากนั้นก็ได้เชิญชวนมาเข้าค่ายเพื่อที่จะหาทางออกให้กับเด็กหลุดฯ เพราะครูมหาเชื่อว่าเด็กเหล่านี้ขาดการได้รับกิจกรรมที่ดีที่จะทำให้มุมมองของพวกเขาเปลี่ยนไปต่อการเรียนรู้
แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น การปรับตัวของเด็กหลุดฯ ไม่ง่ายอย่างที่คิด ในการพาไปออกค่ายครั้งแรกเหมือนกับแค่ย้ายที่อยู่สำหรับพวกเขา เด็กหลายคนยังพกยาเสพติดไปค่าย ตกดึกหนีออกไปเที่ยว รวมถึงมีทะเลาะวิวาท และการยุติเรื่องราวเหล่านี้ต้องใช้พี่ใหญ่ในการพูดคุย
“เราเลยเข้าใจเลยว่า สิ่งที่เราขาดหายไปสำหรับการแก้ไขปัญหาเด็กหลุด คือการนำเอาหัวหน้าแก็งมาร่วมด้วย คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กหลุดฯ ก็มีสังคมของพวกเขา ถ้าเด็กข้างนอกเชื่อฟังพ่อแม่ เด็กเหล่านี้ก็เชื่อฟังหัวหน้าแก็งค์”
หลังกลับจากค่ายไม่นาน ครูมหาก็ติดต่อกับโกเบ เพื่อที่จะพาไปหาหัวหน้าแก็งมังกรดำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีชื่อในจังหวัดขอนแก่น
ครูมหาเล่าว่า หัวหน้าแก็งมังกรดำเป็นคนลึกลับมาก ไม่ยอมให้ใครพบตัวง่าย ๆ การนัดเพื่อพูดคุยถึงโครงการพาเด็กหลุดการศึกษากลับห้องเรียนจะเกิดจากครูมหาโทรไปหาเบอร์ลูกน้องในแก็ง และให้มาเจอที่จุดนัดพบ ที่บ้านแถวริมรางรถไฟ แต่วันแล้ววันเล่า หัวหน้าแก็งมังกรดำก็ไม่มาพบสักที ครูมหาใช้เวลานานกว่า 6 เดือน กว่าหัวหน้าแก็งมังกรดำหรือ ‘เปี๊ยก มังกรดำ’ จะยอมมาพบเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโครงการ
“ตอนนั้นยอมรับเลยว่ากลัว เราพูดตรง ๆ ว่าเคยบอกกับที่บ้านว่าถ้าตายก็ให้ไปหาแถว ๆ นี้ เหมือนเราไปหามาเฟียเราไม่รู้เลยว่าจะเจอกับอะไรบ้าง แต่เพราะมันเป็นงาน มันเป็นโครงการที่เราอยากทำให้สำเร็จ ถึงจะให้ไปหาแค่ตอนมืด ๆ หรือนัดแล้วไม่มาเจอ แต่เราอยากทำให้มันสำเร็จยังไงเราก็ต้องไป” ครูมหาเล่าด้วยเสียงหัวเราะ แม้จะอยากช่วยเหลือเด็กหลุดฯ มากแค่ไหน แต่สถานการณ์ในตอนนั้นไม่ง่ายเลยที่จะยืนหยัดให้ไปต่อ
วันหนึ่ง เปี๊ยก มังกรดำ ก็ยอมมาพบกับครูมหา แล้วพูดคุยถึงโครงการที่ครูมหากำลังจะทำ การเจรจาเต็มไปด้วยข้อสงสัย ว่าทำไมครูมหาถึงกล้ามาคุยกับมาเฟียท้องถิ่นและทำไมถึงคิดว่าจะยอมทำตาม แต่คงเพราะความใจกล้าของครูมหาที่ทำให้เปี๊ยกตอบตกลงที่จะร่วมโครงการนี้
การร่วมมือกันระหว่างแก็งท้องถิ่น ราชการ และภาคประชาสังคม ก่อให้เกิดศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนนอกระบบเทศบาลนครขอนแก่นหรือศูนย์แรกรับชุมชนโนนทัน และศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชนขอนแก่น เป็นหน่วยเร็วในการเข้าหาเด็กที่ขอความช่วยเหลือ
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ 3 กลุ่มที่มีแนวคิดและการดำเนินงานที่ต่างกัน ครูมหาเล่าว่า แม้เปี๊ยกจะมาร่วมมือแต่วิธีการจัดการของเปี๊ยกยังเป็นแบบแก็งอยู่ ครูมหาและคนอื่น ๆ จึงต้องเจรจาว่าต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพมากกว่านี้
บรรยากาศในวงเนื้อย่าง ซึ่งจะมีวงของผู้ใหญ่ที่มาร่วมหารือการทำงานและเด็ก ๆ ที่มาร่วมรับประทานอาหาร
ปัจจุบัน ครูมหาได้รวบรวมเครือข่ายเยาวชนอื่น ๆ มาร่วมงานกันมากขึ้น จนเกิดเป็นโครงการฟื้นฟูเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนชายขอบในสังคมเมืองขอนแก่น ผ่านกลยุทธ์ 5C ที่จะทำให้การเข้าถึงเด็กหลุดฯ ที่ยังตกหล่นให้ครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันมีเด็กมาเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 524 คน
อีกทั้งการประชุมงานก็ใช้ผ่านวิธี ‘วงเนื้อย่าง’ คือการมานั่งกินข้าวเพื่อหารือด้วยกัน ครูมหากล่าวว่าการประชุมแบบเป็นทางการอาจไม่ได้ให้ความรู้สึกเข้าถึงง่าย การจะมานั่งคุยถึงปัญหาจริง ๆ มันต้องใช้วิธีแบบนี้ บางครั้งก็ประชุมงานของผู้ใหญ่ บางครั้งก็เอาเด็กหลุดฯ มานั่งคุยด้วย ต้องเข้าใจเขาก่อน ก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา
“เราโตที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ถ้าอยากจะสร้างเมืองแต่ไม่สร้างคน แล้วอนาคตใครล่ะที่จะเป็นคนดูแลเมือง ๆ นี้ต่อจากคนรุ่นเรา”
บรรยากาศในวงเนื้อย่าง ซึ่งจะมีวงของผู้ใหญ่ที่มาร่วมหารือการทำงานและเด็ก ๆ ที่มาร่วมรับประทานอาหาร
เด็กผีบ่อยาก(อ.) เด็กที่ผีก็ไม่เอา
หน้าบ้านไม้หลังเก่าในชุมชนโนนทัน รถฟอร์ดเรนเจอร์สีขาวพร้อมติดลายมังกรดำด้านข้างเข้ามาจอด เปี๊ยก มังกรดำ หรือที่เด็ก ๆ จะเรียกกันว่าพี่เปี๊ยก กำลังตรวจดูรอบบ้านพร้อมทักทายเด็ก ๆ ในศูนย์แรกรับฯ
“นี่ก็พึ่งได้ย้ายกันมา ที่เก่าเราโดนปัญหาผู้ให้เช่าเขาโกงเรื่องค่าไฟ สภาพที่พักอาจจะดูเก่าหน่อยนะ แต่ก็พอนอนกันได้” เปี๊ยกเล่าไประหว่างพาเดินชมศูนย์แรกรับฯ
เปี๊ยก มังกรดำ เป็นชายวัยกลางคนผิวคล้ำใส่หมวกเบเร่ต์ หัวหน้าแก็งมังกรดำ ที่วันนี้เปลี่ยนมือมาช่วยเหลือเด็กที่เคยเข้าแก็งกลับเข้าสู่สังคมทั่วไป
ในอดีตแก็งมังกรดำเป็นกลุ่มมาเฟียท้องถิ่นที่ทำงานผิดกฎหมายหลายประเภท ในบรรดา 22 แก็งทั่วขอนแก่น “มังกรดำ” ถือเป็นแก็งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด อดีตมีสมาชิกมากถึง 1,000 คนและทุกคนจะมีรอยสักรูปมังกรดำอยู่กลางหลังเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสมาชิก
โดยจะแบ่งลำดับขั้นเป็น 3 ระดับ คือ 1.มังกรทั่วไป 2.มังกรเหนือพยัคฆ์ 3.มังกรซ่อนเล็บ
“อย่างมังกรทั่วไปก็จะเยอะ ส่วนพวกพยัคฆ์ก็จะเป็นเหมือนหัวหน้า ส่วนมังกรซ่อนเล็บก็คือพี่นี่แหละ” เปี๊ยก กล่าว
เปี๊ยก มังกรดำ
ในอดีตไม่เคยมีใครเห็นหน้าเปี๊ยก เพราะตั้งแต่ที่เขาตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางนี้ในวัย 19 ปี เขาก็ลบข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนเขาทั้งหมด ปล่อยไว้ให้เป็นเพียงปริศนาที่ดูแลคนนับพันคนมานานนับสิบปี
ช่วงที่ครูมหาพยายามติดต่อเปี๊ยก เขาเล่าว่าในอดีตด้วยความเป็นกลุ่มแก็งต้องมีปัญหากับภาครัฐ ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง เขาจึงแปลกใจที่ทำไม พนักงานจากหน่วยงานภาครัฐถึงกล้ามาหาเขา อีกทั้งมาเพื่อขอความช่วยเหลือกับสิ่งที่ขัดผลประโยชน์กับเขาเสียด้วยซ้ำ
“เอาจริง ๆ เราก็แค่อยากลองใจเขา อยากรู้ว่าอดทนพอไหมถ้าจะทำงานด้วยกัน แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำงานช่วยเหลือเด็กนะ ก็คิดดูสิพี่ทำงานมาตั้งหลายอย่าง ทั้งขายยา ค้าผู้หญิง รับจ้างฆ่า วันหนึ่งให้ไปทำอะไรแบบนี้เราว่าแปลกไหมล่ะ” กระทั่งตัวเปี๊ยกเองพูดถึงหน่วยงานราชการหรือผู้ใหญ่ที่ให้มาร่วมงานนี้ว่า ‘เขาบ้าหรือเปล่า ที่ให้คนอย่างผมมาช่วย’
แต่เพราะว่าเป็นคน การเดินทางในเส้นทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เปี๊ยกเล่าว่าไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ขนาดเวลานอนยังต้องนอนทับปืน ไม่รู้ว่าศัตรูจะมาหาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม่ของเปี๊ยกที่แก่ชราขึ้น ก็ยิ่งพูดบ่อยขึ้นถึงความปลอดภัยของลูกชาย
“แม่จะถามเสมอว่าพอได้ไหม แม่เป็นห่วง เราก็ไม่คิดอะไรจนกระทั่งเขาตาย ทั้งชีวิตนี้เขาแค่อยากให้เราเป็นคนดี แต่สิ่งที่เราทำมันตรงข้ามทั้งหมด นั่นแหละเป็นจุดเปลี่ยนที่เราควรพอในเส้นทางนี้ได้แล้ว”
หลังจากเปี๊ยกให้ครูมหาเข้าพบแล้วเล่าถึงโครงการที่กำลังจะเริ่ม เปี๊ยกบอกครูมหาแค่ว่า ‘อยากเห็นปัญหาจริง ๆ ไหม?’ จากนั้นการดำเนินงานก็เริ่มขึ้น จิ๊กซอว์อีกชิ้นที่หายไปสำหรับการช่วยเหลือเด็กหลุดฯ ก็มาเติมเต็ม การมีอยู่ของหัวหน้าแก็ง คือการระบุปัญหาได้ตรงจุด สามารถเข้าถึงปัญหาที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องใช้ ‘คนแบบเขา’ แบบที่เปี๊ยกบอกว่าเด็กเหล่านี้จะยอมรับฟัง
“ก็ยอมรับว่าแต่ก่อนกระทำรุนแรงไปบ้าง ตั้งแต่เราเข้ามาช่วยโครงการคือเราสั่งห้ามคนในแก็งไม่ให้ยุ่งกับยาเสพติด แต่หลายคนก็เลิกยากเพราะติดมาหนัก มันก็อาจจะมีความรุนแรงบ้าง แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมี เราพูดแล้วเขาก็ฟัง”
ปัจจุบันเปี๊ยกพยายามจะสลายการรวมตัวของกลุ่ม แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะสมาชิกในกลุ่มหลายคนก็ไม่มีที่ไป ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ หลายคนก็ยังมีนามสกุลห้อยท้ายว่ามังกรดำ เพียงแต่การดำเนินการของกลุ่มเปลี่ยนจากทำงานผิดกฎหมาย เป็นช่วยกันทำมาหากิน
สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในเมืองขอนแก่น จำเป็นที่จะต้องมีชัยภูมิอยู่ที่ชุมชนบ้านโนนทันมีอยู่ 2 ประการ เรื่องแรกคือบ้านโนนทันเป็นที่อยู่ของเปี๊ยก ฉะนั้นแล้วพื้นที่บริเวณนี้จึงถือได้ว่ามีสมาชิกแก็งมังกรดำมากที่สุด นั่นหมายถึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาด้วย การตั้งศูนย์แรกรับเพื่อให้ใกล้กับเด็กเหล่านี้จึงเป็นการง่ายในการช่วยเหลือ
เรื่องที่สอง นอกจากสมาชิกแก็งมังกรดำในบ้านโนนทัน เนื่องจากชุมชนโนนทันนั้นมีคนอาศัยอยู่มาก กลุ่มคนที่อาศัยจึงหลากหลาย เด็กหลุดฯ ที่ว่าจึงไม่ใช่แค่สมาชิกแก็งมังกรดำ แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่สภาพแวดล้อมทางครอบครัวส่งผลให้เขาหลุดออกมาจากสังคม และยังรอคอยการช่วยเหลือ
เปี๊ยก เคยถูกเชิญไปพูดในเวที TED X BuengKaennakorn ในปี 2016
ศูนย์แรกรับฯ นี้เองก็ไม่ได้มีเยาวชนมาพักอาศัยจำนวนมาก จะมีประจำอยู่ 3-5 คนมานอนที่ศูนย์ ส่วนใหญ่จะมาเมื่อมีงานประชุมประจำเดือนว่าใครไปทำอะไรที่ไหน อย่างไรบ้าง แต่จะมีเด็กเข้ามาเรื่อย ๆ ที่ถูกรับมาจากหน่วยเร็วเพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
เอิร์ธ(นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี เอิร์ธ ไม่ได้มีปัญหาทางด้านครอบครัว แต่เพราะช่วงวัยเด็กเอิร์ธดมกาวมากเกินไป ทำให้ช่วงอายุ 13 ปี สมองของเอิร์ธมีปัญหา เมื่อครอบครัวพาขึ้นมาตรวจที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาที่กรุงเทพมหานคร ก็พบว่าสมองของเอิร์ธได้รับสารระเหยจากกาวกระป๋องจนทำให้เยื่อสมองบางส่วนได้รับความเสียหาย รวมถึงโพรงจมูกของเอิร์ธพบรูพรุนจากสารเคมีในกระป๋องกาวจำนวนมาก
ปัจจุบันเอิร์ธได้รับการรักษาจากศูนย์แรกรับฯ แต่เปี๊ยกเล่าว่าโอกาสที่จะหายดีน้อยมาก เพราะอาการของเอิร์ธยังมีลักษณะมึนเมาตลอดเวลา พูดจาไม่รู้เรื่อง ทำให้การเป็นเด็กหลุดฯ สำหรับเอิร์ธคือการไม่สามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนใดได้เลย
นัท(นามสมมติ) เยาวชนอายุ 10 ปี ที่ไม่ได้ติดยาเสพติด ไม่ได้หนีออกจากโรงเรียน แต่แม่เป็นพนักงานขายบริการและติดยาเสพติด รวมถึงพ่อก็หายไปตั้งแต่ยังเล็ก ในวันที่ลงพื้นที่ก็พบว่านัทไม่สามารถเข้าบ้านได้ เพราะแม่กำลังเมายาเสพติดและไม่ได้กลับบ้านหลังเลิกงาน ก่อนวันนั้นทั้งคืน นัทและน้องสาววัย 5 ขวบ ต้องนั่งหน้าบ้านทั้งคืนเนื่องจากไม่สามารถไปไหนได้ รวมถึงสถานะทางการเงินที่บ้านก็ไม่ได้เพียงพอต่อการส่งนัทหรือน้องสาวเข้าศึกษา นี่ก็เป็นอีกเคสหนึ่งที่ทางศูนย์รับมาดูแล
หรืออย่างภีม(นามสมมติ) ที่เล่นยาเพราะว่าเป็นของเหลือจากพ่อ เมื่อเปี๊ยกรู้เรื่องก็ได้เรียกพ่อมาต่อว่าและพาภีมเข้ารับการรักษาต่อ นี่เป็นเด็กส่วนหนึ่งที่สภาพแวดล้อมบีบให้เขาออกจากระบบการศึกษา
ตะวันเริ่มตก เด็ก ๆ ที่ศูนย์แรกรับชุมชนโนนทันเริ่มประกอบอาหารสำหรับข้าวเย็น ที่ศูนย์เองก็มีการเลี้ยงสัตว์(กระต่าย ไก่ กบ) รวมถึงปลูกผักเพื่อนำมาประกอบอาหาร หรือบางครั้งทางศูนย์จะเป็นคนไปซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารสำหรับ 10-20 คน
“ตัวนี้มันชื่อไอ้แจ้ ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นไก่อะไร แต่วันนั้นที่เจอแถวนี้มันถูกหมารุมกัด คอมันแหว่งไปเลยนะ แต่มันยังสู้ว่ะ ก็เลยตัดสินใจช่วยมันพาไปหาหมอ ก็พึ่งรู้ว่ามันเป็นไก่ชน ทุกวันนี้หมาแถวนี้ไม่กล้าเข้าใกล้บ้านนี้เลยล่ะ” เปี๊ยกเล่าถึงไก่ที่อยู่ประจำศูนย์แรกรับฯ
“ไก่ตัวหนึ่งมันยังสู้ขนาดนี้เลย แล้วทำไมคนมันถึงไม่สู้ เราบอกกับเด็ก ๆ ตลอดว่าให้อดทน ทั้งเรื่องยาเสพติดหรือเรื่องชีวิต รวมถึงเราด้วยนะ ไก่ตัวหนึ่งยังเลี้ยงได้เลย ทำไมคนจะเลี้ยงไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้โอ๋เขา เป้าหมายเราคือให้เขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้”
เปี๊ยกพูดจบก็ครุ่นคิดพร้อมจิบน้ำสีอำพัน
พระอาทิตย์ที่กำลังตกดินเคล้ากับเสียงผัดกับข้าวบนกระทะ แต่ปัญหาเด็กหลุดฯ ของที่นี่คงไม่หมดไปในเร็ว ๆ นี้
ฮีโร่(ก.) ช่วยเหลือเด็กหลุดฯ ไม่มีฉายเดี่ยว ต้องทำงานเป็นทีม
ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา คือเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ ไม่ใช่แค่ประเด็นการศึกษาเพียงอย่างเดียว จากข้อมูลศูนย์แรกรับฯ เด็กส่วนใหญ่ที่พวกเขาพบเจอคือเด็กที่มีปัญหากับสังคม กล่าวคือ พวกเขาถูกผลักออกจากสังคมก่อนที่จะกลายเป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา
เพราะฉะนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เด็ก ๆ ยังคงมีการรวมกลุ่มกันไม่เหมือนในเมือง การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือการสร้างความเข้มแข็งและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และระดับจังหวัด
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น กล่าวว่า มีการพบว่าเด็กเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.8 ล้านคน ในขณะที่ขอนแก่นเองสามารถเข้าถึงเด็กหลุดฯ ไปแล้ว 14,000 คน แต่ตัวเลขนี้ยังน่าเป็นห่วงเพราะตัวเลขในปี 2565 กลุ่มเด็กยากจนพิเศษในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะหลุดไปแล้วหรือมีความเสี่ยงสูงจากสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้พวกเขาหลุดจากวงโคจรยังมากถึง 48,738 คน
“แม้จังหวัดขอนแก่นภายใต้การดำเนินงานตั้งแต่ผมยังเป็นรองนายกฯ ตอนปี 2542 จะสร้างมาตรการเพื่อรองรับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามามาก แต่เราก็ต้องยอมรับ ว่ายังมีอีกหลายส่วนที่เรายังไม่สามารถเข้าถึงได้ หลายสิ่งอย่างเราต้องการเครื่องมือที่ทันสมัยกว่านี้ รวดเร็วกว่านี้ แต่เพราะรัฐรวมศูนย์ทำให้การเข้าไปช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ถูกทำให้ถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ”
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น
นายธีระศักดิ์กล่าวว่า รัฐที่รวมศูนย์นั้นไม่ได้ส่งผลแค่การได้รับงบประมาณหรือเครื่องมือในการติดตาม การจัดทำระบบ เพื่อการค้นหาเด็กหลุดฯ เพียงอย่างเดียว แต่หากไปดูสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้หากทุกจังหวัดยังกลายเป็นต่างจังหวัดยกเว้นกรุงเทพมหานคร
“กระจายอำนาจคืออีกคำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กหลุดฯ ที่ผ่านมาคือเทศบาลเมืองขอนแก่นพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยตนเอง แต่ในความเป็นจริงหากได้รับการสนับสนุนหรือสามารถปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น เราจะสามารถพาเด็กกลับเข้ามาได้เยอะกว่านี้และไวกว่านี้”
นายธีระศักดิ์กล่าวต่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการรวมหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเดียวกัน เพราะในความเป็นจริงยังมีเรื่องของงบประมาณ ผลงาน ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เพียงแต่ทางเทศบาลนครขอนแก่นมองเห็นว่าเมืองของเราควรจะไปได้ไกลกว่านี้ และการจะสร้างเมืองก็ต้องสร้างคนก่อน ทั้งราชการ ประชาสังคม หรือแก็งค์ ต่างก็มีเครื่องมือคนละแบบ แต่ก็เป็นแบบที่แต่ละฝ่ายขาดไป การร่วมมือกันคือทางออกที่ผู้ใหญ่ต้องวางรากฐานให้กับลูกหลาน
โดยเฉพาะในปัจจุบัน การเข้าถึงตัวเด็กหลุดฯ จากระบบการศึกษายิ่งยากกว่าแต่ก่อน ในอดีตเราจะพบว่าเด็กหลุดฯ หลายคนจะไปรวมตัวกันที่บริเวณศาลหลักเมือง ย่านนั้นแต่ก่อนจะมีทั้งเด็กเร่ร่อน คนเร่ร่อน รวมถึงผู้ขายบริการ ซึ่งจะเป็นเด็กโดยส่วนมาก
เด็กหลุดฯ หลายคนเปลี่ยนวิธีการหารายได้ เลือกที่จะขายบริการผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ทำให้เด็กหลายคนสามารถรับลูกค้าได้เยอะมากขึ้น มากจนถึงสามารถเช่าห้องเพื่อรองรับลูกค้าได้ และความคลุมเครือนี้เองที่ทำให้ปัญหาเด็กหลุดฯ จากระบบการศึกษาถูกทับซ้อนกับปัญหาขายบริการ และราชการเองก็ไม่สามารถตรวจเจอได้ว่าเด็กคนไหนที่แท้จริงเป็นเด็กหลุดฯ บ้าง
“ในช่วงปี 54-60 เรายังพบว่ามีเด็กจำนวนมากอยู่เต็มข้างถนน แต่พอปี 2561 เป็นต้นมา เราสงสัยว่าเด็กหายไปไหนหมด จะมีก็แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นคนเร่ร่อน นี่ก็เป็นอีกส่วนถ้าเราสามารถกระจายอำนาจได้ เราสามารถเข้าถึงเครื่องมือที่ดีพอ เราจะสามารถเข้าถึงเด็กเหล่านี้และพาเขากลับมาได้”
แม้ว่าโมเดลของเทศบาลนครขอนแก่นจะสำเร็จไปบางส่วน แต่ก็ยังมีเด็กที่หล่นหายอีกเยอะ แต่ละพื้นที่ก็มีบริบทของตัวเองที่จะต้องปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา และที่สำคัญคือการร่วมมือของแต่ละภาคส่วน ที่มีเครื่องมือในการช่วยเหลือต่างกันออกไป
“มันไม่มีใครเป็นฮีโร่หรอก ปัญหานี้มันใหญ่กว่าการจะฉายเดี่ยวได้ การช่วยเหลือเด็กหลุดฯ คือการทำงานเป็นทีม ท้ายที่สุดวิธีการแก้ไขปัญหานี้ว่าคุณมองอนาคตของลูกหลานในพื้นที่คุณยังไง แต่สำหรับผม เยาวชนเหล่านี้คือคนสำคัญที่จะผลักดันขอนแก่นให้ดีขึ้นกว่าเดิม” นายธีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
อนาคต(ว.) สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องมอบให้กับเด็กทั่วประเทศ
“คนก็กลัวกันแหละ เพราะว่าเราสักเยอะขนาดนี้ แต่เราก็เข้าใจพวกเขานะ แค่วันนี้เราเปลี่ยนตัวเองแล้ว หลายรอยสักก็สักเพราะคึกคะนอง แต่บางรอยสักมันคือเครื่องเตือนใจ” โกเบจับตรงหน้าแขนที่มีรอยสักทับไว้เด่นชัดว่า ‘พ่อ แม่’
“2 คำนี้ มีความหมายกับผม” โกเบกล่าว
ปัญหาที่ถูกมองข้ามหลายครั้งของเด็กหลายคนที่หลุดจากระบบการศึกษาและสังคม คือสาเหตุที่พวกเขาไม่สามารถกลับเข้ามาได้เพราะว่าพวกเขาไม่มีที่ให้กลับต่างหาก ไม่ว่าจะจากการติดคุก หรือไม่มีวุฒิการศึกษามากพอ โกเบกล่าวว่า เด็กเหล่านี้ต้องการที่ทางที่จะทำมาหากินต่อหลังกลับเข้าสู่สังคม
“หลายอย่างผมก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการนะ ผมรู้สึกว่าหลายกิจกรรมพวกเขาใช้ความคิดของผู้ใหญ่มาบอกว่าอะไรดีไม่ดี เราคิดว่าจะดีกว่าถ้าฝึกการตัดสินใจให้เด็ก”
โกเบเล่าถึงความฝันของเด็กหลายคน ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง แต่พวกเขาติดที่ไม่สามารถมีเงินก้อนหรือสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ทางที่โกเบเสนอ คือโครงการอาจจะเปิดมติให้เด็กเลือกได้ว่าอยากลองฝึกประกอบกิจการแบบใดแล้วรวมตัวกันโดยต้องให้กิจการดำเนินไปได้ด้วย จากมุมมองของคนที่เคยหลุดไปสุดกรอบและกลับมาได้ การทำงานคือสิ่งที่จะสอนให้เด็กเหล่านี้ใช้ชีวิตในสังคมทั่วไปได้ดีที่สุด
หลังลานออกกำลังกายบึงแก่นนคร โกเบชี้ให้เห็นถึงจุดที่เมื่อก่อนเคยมาแว้นมอเตอร์ไซค์แข่งกับเพื่อน ๆ ช่วงก่อนโควิด ถึงขนาดที่มีชาวต่างชาติมาขอถ่ายรูปด้วย นั่นเป็นความเท่เมื่อสมัยก่อน แต่ปัจจุบันการทำมาหากินอย่างสุจริตคือคำนิยามความเท่ของโกเบทุกวันนี้
“ก็จริงที่ว่าเมื่อก่อนเราเคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันดี เราเคยคิดว่าแข่งความเร็วนี่คือเท่แล้ว เราเคยคิดว่าแข่งกันว่าใครจะรอดจากดงตีนคือเท่แล้ว แต่ความจริงมันไม่ใช่ แข่งกันทำมาหากินดีกว่า”
“ผมแค่อยากให้ครอบครัวผมภูมิใจ
ภูมิใจว่าเด็กคนนี้ก็รักดีเป็นเหมือนกัน“
โกเบโบกมือลาพร้อมไปซ่อมมอเตอร์ไซค์อีกหลายคันที่ยังรอเขาอยู่ เช่นเดียวกับเปี๊ยกและครูมหา ที่ยังวางแผนยามค่ำคืนถึงมาตรการรองรับเด็กหลุดฯ อีกหลายคนที่ยังหล่นหาย
ในความเป็นจริงไม่มีเด็กคนไหนเลือกที่หลุดออกไปจากวงโคจรนี้ แต่สภาพแวดล้อม ระบบการศึกษา และภาครัฐต่างหาก ที่บีบให้พวกเขาหล่นหายไปทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อ เด็ก(น.) ไม่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น เด็กหลุด(น.) ได้เมื่อไหร่
เมื่อนั้น ความฝันของพวกเขาอาจไม่ได้มีแค่ ‘วันนี้จะมีอะไรกิน’ แต่เป็นวันนี้ มีอนาคตแบบไหนบ้างที่รอพวกเขาอยู่ อนาคตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบที่พวกเขาพึงจะได้รับ มาตั้งนานแล้ว