ชำระประวัติศาสตร์และบาดแผล 'คุชราต' ในมือของ 'นเรนทระ โมที' - Decode
Reading Time: 3 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

จลาจลในรัฐคุชราต 2002

เช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 รถไฟขบวน Sabarmati Express จากเมือง Ayodhya มุ่งตรงไปสู่เมือง Ahmedabad ได้หยุดลงใกล้กับสถานีรถไฟเมือง Godhra ผู้โดยสารส่วนใหญ่บนขบวนรถไฟคือ ผู้แสวงบุญชาวฮินดู จากนั้นได้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างผู้โดยสารบนรถไฟและพ่อค้าที่ขายของอยู่ในสถานีรถไฟ การโต้เถียงรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นเหตุชุลมุน หลังจากนั้นได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ใน 4 โบกี้ของขบวนรถไฟ โดยเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าวมีชาวฮินดูเสียชีวิต 59 คน เป็นชาย 9 คน ผู้หญิง 25 คน และเด็ก 25 คน

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวฮินดูเป็นอย่างมาก เพราะข่าวที่กระจายออกไประบุว่าคนเกิดเหตุคือชาวมุสลิม เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ และต่อเนื่องไปอีก 3 วัน โดยมีคำกล่าวของชาวฮินดูที่ปลุกเร้าให้ทุกคนออกมาใช้ความรุนแรงว่า

“เตรียมพร้อมที่จะฆ่าหรือถูกฆ่า เราไม่มีทางเลือก ตำรวจอยู่ที่นี่ ผู้นำอยู่ที่นี่ ทหารอยู่ที่นี่ และฮินดูทุกคนต้องเปลี่ยนพวกเขา และเริ่มต้นการทำความสะอาด”

ชาวมุสลิม 40 คนเสียชีวิตจากการยิงของตำรวจ มีเด็กและผู้หญิงมุสลิมอย่างน้อย 250 คนถูกรุมโทรมและเผาทั้งเป็น เด็กชาวมุสลิมถูกบังคับให้ราดน้ำมันและถูกจุดไฟเผาต่อหน้าครอบครัวของพวกเขา

Jill McGivering นักข่าวจากบีบีซีที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นรายงานว่า เธอไม่เจอเจ้าหน้าที่สักคนที่พยายามจะหยุดเหตุจลาจล ตำรวจทำเพียงยืนมองสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ทำอะไรเพื่อหยุดเหตุความรุนแรง

Dionne Bunsha อดีตนักข่าวอินเดียในช่วงเวลาที่เกิดการจลาจล ได้เขียนเล่าเรื่องราวถึงการตายของ Ehsan Jafri อดีตสมาชิกรัฐสภาของพรรคคองเกรสชาวมุสลิม ในเหตุการณ์สังหารหมู่ Gulbarg Society ซึ่งเป็นย่านชาวมุสลิมในเมือง Ahmedabad ไว้ว่า ชาวมุสลิมหลายคนเข้ามาหลบภัยที่บ้านของเขา เขาพยายามติดตามเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง รวมทั้งนักการเมืองทั้งจากพรรค BJP และคองเกรส แต่ไม่มีใครตอบรับการร้องขอความช่วยเหลือจากเขา

“Jafri ขอร้องให้ฝูงชนละเว้นผู้หญิง เขาถูกเปลือยกายและลากลงไปบนถนน เพราะเขาปฏิเสธที่จะพูดคำว่า “Jai Shri Ram” (สัญลักษณ์ที่สื่อถึงการยึดมั่นในศาสนาฮินดู) จากนั้นเขาถูกตัดศีรษะและโยนเข้าไปในกองไฟ หลังจากนั้นผู้ก่อจลาจลย้อนกลับมาที่บ้านของเขา และเผาครอบครัวของ Jafri รวมทั้งลูกชายของเขาทั้ง 2 คน”

ในอีกฟากหนึ่งก็มีชาวมุสลิมที่โกรธแค้นการกระทำของชาวฮินดู และได้ก่อเหตุจลาจล รายงานจาก The Times of India ระบุว่า มีชาวฮินดูมากกว่า 1 หมื่นคนต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นระหว่างการจลาจล ชาวมุสลิมโจมตีชาวฮินดูและทำลายที่อยู่อาศัย ชายคนหนึ่งเสียชีวิตโดยถูกควักลูกตาทั้งสองข้างออกมา

เหตุการณ์จลาจลจบลงด้วยผู้เสียชีวิต 1,044 คน สูญหาย 223 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,500 คน โดยสำหรับผู้เสียชีวิตนั้นแบ่งเป็น ชาวมุสลิม 790 คน และชาวฮินดู 254 คน หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย เกิดขึ้นจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการของรัฐคุชราต ภายใต้ผู้นำของรัฐในตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐคุชราต ที่มีชื่อว่า “นเรนทระ โมที” (Narendra Modi)

เส้นทางสู่อำนาจของ “นเรนทระ โมที” 

The Rashtriya Swayamsevak Sangh หรือ RSS หรือลัทธิชาตินิยมฮินดู ที่เกิดขึ้นในปี 1925 โดยแพทย์ที่มีชื่อว่า Keshav Baliram Hedgewar ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับแนวคิดลัทธิชาติ-อำนาจนิยม กำลังเกิดขึ้นในอิตาลีและเยอรมนี

หนึ่งในแนวคิดที่ปลูกฝังอยู่ในกลุ่มนี้คือ “Islamophobia” หรือความหวาดกลัวต่ออิสลาม และต้องการสร้างอินเดียให้เป็นประเทศชาติแห่งฮินดู เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม RSS คือการที่มือสังหารมหาตมะ คานธี เป็นอดีตสมาชิกของกลุ่ม RSS ที่มีชื่อว่านถุราม โคดเส โดยมูลเหตุเกิดจากการที่เขาไม่พอใจท่าทีประนีประนอมของคานธี ที่มีต่อชาวมุสลิมในอินเดีย

กลุ่ม RSS มีสมาชิกเริ่มต้นจากผู้ชายชาวฮินดูที่มาจากวรรณะสูง แต่เมื่อกลุ่มได้เติบโตขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายฐานสมาชิกจากวรรณะอื่น ๆ โดยท่ามกลางการคัดสรรสมาชิกที่มาจากวรรณะต่ำ เด็กหนุ่มอายุ 8 ปี นเรนทระ โมที Narendra Modi จากเมือง Vadnagar, รัฐ Gujarat คือหนึ่งในนั้น โมทีเกิดในวรรณะ Ghanchi พ่อของเขาเปิดร้านขายชาเล็ก ๆ ที่สถานีรถไฟโดยมีน้องชายของเขาคอยช่วยงาน 

โมทีถูกครอบครัวจับแต่งงานเมื่อตอนอายุ 18 ปี แต่อยู่กินกันเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เขาตัดสินใจหย่าและอุทิศตัวให้กับกลุ่ม RSS เขาเริ่มทำงานให้กับกลุ่มด้วยหน้าที่ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของสมาชิกอาวุโส แต่เพียงระยะเวลาไม่นานเขาก็ไต่เต้า จนได้ย้ายตัวเองเข้าสู่พรรคการเมือง B.J.P.  (Bharatiya Janata Party) ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่ม RSS

ครั้งหนึ่งในขณะที่โมที เป็นสมาชิกพรรค B.J.P. ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก เขาเคยถูกสัมภาษณ์โดย อาชิส นานดี (Ashis Nandy) นักจิตวิทยาการเมือง โดยนานดีกล่าวว่าโมทีมีการแสดงออกอย่างชัดเจนในบุคลิกเชิงเผด็จการ เคร่งครัด จิตใจคับแคบและยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ระหว่างการสัมภาษณ์โมทียังได้อธิบายว่าอินเดียตกเป็นเป้าหมาย จากทฤษฎีสมทบระดับโลก ที่ชาวมุสลิมในอินเดียต่างรู้เห็นเป็นใจ

แต่ด้วยลักษณะแข็งกร้าวและมีความเป็นฮินดูนิยมนี้เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 สมัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นผู้นำในดวงใจของชาวฮินดูหลายต่อหลายคน ณ ปัจจุบัน

โมทีดำรงหลายตำแหน่งในพรรค B.J.P. จะกระทั่งปี 2001 ขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการ และในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐคุชราต

นิ่งเฉย สั่งการ อำพรางคดี

หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้รถไฟที่ทำให้ชาวฮินดูเสียชีวิต ทางรัฐอนุญาตให้สมาชิกของกลุ่ม VHP ที่เป็นปีกหนึ่งของกลุ่ม RSS แห่ศพที่จะนำไปเผาผ่านเมือง Ahmedabad เมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐคุชราต ทำให้ชาวฮินดูที่พบเห็นเกิดความโกรธแค้นชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก และเริ่มต้นการโจมตีชาวมุสลิม

โมทีถูกกล่าวหาว่าเขายอมรับให้ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่กระทำการสิ่งใด เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การดูแลของเขา ที่ถูกกล่าวหาเช่นกันว่าชี้นำกลุ่มจลาจล และมอบรายชื่อเจ้าของตึกอาคารที่เป็นของชาวมุสลิมให้แก่กลุ่มก่อจลาจล

สารคดีของ BBC ชิ้นหนึ่งที่กำลังถูกแบนห้ามเผยแพร่ในประเทศอินเดีย นำเสนอข้อมูลจากรายงานจากฝั่งอังกฤษว่า กลุ่ม VHP ที่เป็นลัทธิชาตินิยมฮินดูและพันธมิตร สามารถสร้างความเสียหายได้มาก เพราะเชื่อมั่นว่าการกระทำของพวกเขาจะไม่ต้องรับโทษจากรัฐ

โมทีได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 และสั่งการไม่ให้พวกเขาเข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าการประนีประนอมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

Haren Pandya อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัฐคุชราต คือหนึ่งในพยานที่เข้าร่วมการประชุมในเย็นวันดังกล่าว โดยเขาอ้างถึงคำพูดของโมทีในวันนั้นว่า

“พวกเราไม่ควรเข้าไปยุ่งกับปฏิกิริยาตอบโต้ของชาวฮินดู ที่มีต่อเหตุการณ์การเผารถไฟที่ Godhra”

Pandya คือคนที่คัดค้านการนำศพของผู้เสียชีวิตชาวฮินดูจากเหตุการณ์ Godhra มาที่เมือง Ahmedabad เพราะเขาเชื่อว่าจะกระตุ้นความโกรธของผู้คนแต่นั่นก็ไม่เป็นผล เขาให้ข้อมูลเรื่องการประชุมในเย็นวันดังกล่าวกับนิตยสาร Outlook ในอินเดีย ทั้งยังบอกต่อว่าหากข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยชื่อของตน มีโอกาสที่เขาจะถูกฆ่าสูงมาก

อย่างไรก็ตาม Pandya ได้ให้การต่อศาล เกี่ยวกับการจลาจลของรัฐคุชราตในปี 2002 โดยศาลได้รายงานคำให้การของเขาไว้ว่า

“ศาลได้รับข้อมูลโดยตรงจากพยานที่เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2002 ซึ่งมีหัวหน้าคณะรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรีอาวุโส 2-3 คน, ผู้บัญชาการตำรวจ Ahmedabad เข้าร่วมการประชุม การประชุมมีจุดประสงค์เดียว คือการคาดหวังปฏิกิริยาของชาวฮินดู หลังเหตุการณ์เผารถไฟที่ Godhra โดยที่มีการกำชับว่าตำรวจไม่ควรทำสิ่งใดเพื่อควบคุมปฏิกิริยานี้”

ช่วงเช้าของวันที่ 23 มีนาคม 2003 1 ปีหลังเหตุการณ์จลาจล Pandya ถูกยิงด้วยกระสุน 5 นัด ตอนที่เขาออกไปเดินเล่นในตอนเช้าที่สวน Law Gardens ในเมือง Ahmedabad ร่างของเขาอยู่ในรถ 2 ชม. ก่อนที่ผู้ช่วยของเขาจะมาพบศพนอนตายอยู่ในรถ

คดีความถูกตัดสินในปี 2019 Asgar Al และพวกอีก 11 คน ถูกตัดสินในข้อหาฆ่า Pandya โดยองค์กรพัฒนาเอกชน Center for Public Interest Litigation (CPIL) ได้พยายามยื่นคำร้องให้มีการไต่สวนในคดีนี้อีกครั้ง โดยยกมูลเหตุที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลในรัฐคุชราต 2002 แต่ศาลปฏิเสธคำร้องดังกล่าว และกล่าวหาว่าเป็นการดูหมิ่นศาลถูกปรับ 50,000 รูปี

ทั้งนี้มีทฤษฎีที่กล่าวถึงการตายของ Pandya เป็นการฆาตกรรมที่ไม่สามารถระบุความเชื่อมโยงและแรงจูงใจในการก่อเหตุอาชญกรรม ระหว่างเหยื่อและคนร้ายได้

V. N. Khare อดีตประธานศาลสูงสุดอินเดีย ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การสังหารหมู่ครั้งดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการสมรู้ร่วมคิดของโมที และโมทีเองก็ควรที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการสังหารหมู่

แต่อย่างไรก็ดีในปี 2012 โมทีพ้นข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยศาลฎีกาแห่งอินเดียปฏิเสธคำร้องที่ให้ดำเนินคดีกับโมที โดยกล่าวว่าหลักฐานดังกล่าว “ไม่มีมูลความจริง” และโมทีก็ไม่เคยใช้คำพูดให้คนออกมาฆ่ากัน

ภายหลังจากการรอดพ้นข้อกล่าวหาเพียง 2 ปี นเรนทระ โมทีก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดของประเทศอินเดียในฐานะนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน

จากนักโทษฆ่าข่มขืนสู่เวทีการเมืองBJP

“ฉันกำลังทำอาหารกลางวันอยู่ในครัว เมื่อป้าของฉันวิ่งเข้ามาบอกว่าบ้านเราถูกเผา และพวกเราต้องหนีในทันที เราเดินทางจากหมู่บ้านไปอีกหมู่บ้าน เพื่อมองหาที่หลบภัยในมัสยิด หรือเพื่อนบ้านชาวฮินดูที่เมตตาต่อพวกเรา”

Bilkis Bano ในวัย 19 ปี หนึ่งในเหยื่อความรุนแรงที่ครอบครัวทั้ง 17 คนของเธอถูกฆ่าตายในเช้าวันที่ 3 มีนาคม ในพื้นที่ที่พวกเขาคิดว่าปลอดภัย แต่แล้วก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาหยุดพวกเขา

“พวกเขาทำร้ายเราด้วยดาบและไม้ พวกเขากระชากลูกสาวของฉันออกจากตัก และโยนเธอลงกับก้อนหิน”

Bano ถูกทำร้ายจากเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ชายคนหนึ่งที่เธอเคยเห็นเป็นประจำ เขาฉีกเสื้อผ้าของเธอออกและข่มขืนเธอ โดยไม่สนใจคำอ้อนวอน

ญาติของเธอที่มีลูกสาวเพิ่งแรกเกิดได้ 2 วัน ถูกข่มขืนขณะวิ่งหนี พวกเขาฆ่าเธอและลูกสาวของเธอ ในขณะที่ Bano รอดชีวิตเพราะเธอหมดสติ และพวกเขาคิดว่าเธอตายไปแล้ว

Bilkis Bano ตื่นจากฝันร้ายและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัว จนกระทั่งในปี 2008 ผู้กระทำผิดทั้ง 11 คนถูกตัดสินโทษให้จำคุกตลอดชีวิต ด้วยข้อหาข่มขืน ฆ่า และชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย แต่ทว่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2022  ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเอกราชของอินเดีย นักโทษทั้ง 11 คนได้ยื่นขออภัยโทษ และได้รับอิสรภาพหลังจากติดคุกไปได้ 14 ปี

ต่อมาในเดือนมีนาคม 2023 สำนักข่าว NDTV รายงานว่า Shailesh Chimanlal Bhatt อดีตผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษ ได้ขึ้นเวทีในงานที่จัดขึ้นในรัฐคุชราต ร่วมกับพรรค BJP ของโมที

นเรนทระ โมที ไม่เคยออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รอดพ้นจากข้อกล่าวหาที่ทิ้งคำถามถึงความตายของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ความตายของ Ehsan Jafri อดีตสมาชิกรัฐสภาของพรรคคองเกรสชาวมุสลิม ที่มีพยานกล่าวว่าเขาพยายามโทรขอความช่วยเหลือโมทีก่อนเสียชีวิตแต่ก็ไม่เป็นผล การเสียชีวิตของ Haren Pandya หนึ่งในคนที่เข้าร่วมการประชุมกับโมทีที่เสียชีวิตหลังจากออกมาพูดถึงข้อเท็จจริงในการประชุมวันดังกล่าว ที่โมทีเลือกที่จะไม่ขัดขวางให้คนออกมาทำการจลาจล นับพันชีวิตต้องสูญเสียภายใต้การเป็นผู้นำของเขา รวมทั้งการแบนสื่อสารคดีของ BBC ที่ตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงของเขากับเหตุการณ์จลาจล และการที่นักข่าวอินเดียหลายต่อหลายคนถูกคุกคามเมื่อพยายามตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้

อย่างไรก็ตามแม้ตัวโมทีจะถูกการตั้งคำถามจากทั้งสื่อในอินเดียและสื่อต่างชาติมากมาย แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้กระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นผู้นำในดวงใจ ของชาวอินเดียเชื้อสายฮินดูที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขายังคงรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยเมื่ออยู่ภายใต้การดูแลของผู้นำ ที่ขึ้นชื่อว่ามีความชาตินิยมฮินดูสูง

ความขัดแย้งระหว่างฮินดูกับมุสลิมยังคงดำเนินต่อไปในอินเดีย ยังคงมีเหตุจลาจลเกิดขึ้นเรื่อยมาตัวอย่างเช่น เหตุจลาจล Muzaffarnagar 2013, เหตุจลาจล Bihar 2018, เหตุจลาจล Delhi 2020  ศพแล้วศพเล่าถูกสังเวยให้กับความเกลียดชังระหว่างศาสนา

อ้างอิง

newyorker

aljazeera

quora

bbc

ndtv

hindutvawatch