ทลายช่องว่าง 1% เราจะใกล้กันมากขึ้นในสังคมรัฐสวัสดิการ - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เพียงแค่นาทีเดียว เจ้าสัวสามารถมีความมั่งคั่งเทียบได้กับคนทั่วไปทำงานทั้งชีวิต
โดยไม่ต้องใช้ความฉลาดหลักแหลม เสียหยาดเหงื่อหรือน้ำตาเลย นี่คือความผิดปกติ”

แล้วทำไมพวกเขาถึงยังหวาดกลัว? คำถามของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ต่อการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทยที่ยังคงล้มลุกคลุกคลาน โดยมีขวากหนามใหญ่คือ ช่องว่างระหว่าง 1% (เจ้าสัวและกลุ่มทุน) กับ 99% (แรงงานทั้งประเทศ) ที่ยังคงถ่างออกอย่างต่อเนื่อง

เรากำลังพูดถึงรายได้รวมของคน 1% ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด จากการจัดอันดับโดย Forbes Thailand ในปี 2564 อภิมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมดอยู่ในหลักห้าล้านล้านบาท
ซึ่งคนที่เกิดในครอบครัวนี้ มีโอกาสสูงมากที่ดำเนินชีวิตต่อไปโดยที่ไม่ต้องทำงานอะไรเลย ทว่าครอบครัวครึ่งล่างที่นอกจากทรัพย์สินจะไม่ได้มากมายแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะส่งต่อหนี้สินไปยังลูกหลานโดยอัตโนมัติ และไม่ใช่เพียงทรัพย์สิน แต่หมายรวมถึงสายธารของอาชีพการงานและโอกาสทางสังคมต่าง ๆ ด้วย “มันคือชีวิตที่ติดลบตัวแดงตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย” เขาเสริม

ฉะนั้น การเก็บภาษีความมั่งคั่ง คือแนวทางแก้ไขสำคัญ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในงานเสวนา “เราจะใกล้กันมากขึ้น ในสังคมที่พร้อมโอบกอดทุกคนไว้” ผ่านหนังสือสังเคราะห์จากงานวิจัยในชื่อเดียวกัน โดย ผศ.ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ เพื่อที่จะบอกว่าหลักการที่ยุติธรรมที่สุด เมื่อเหล่าเจ้าสัวใช้เหงื่อ ใช้เลือด และเหยียบบ่าของแรงงานในการสร้างความมั่งคั่งของตน คือ กระจายทรัพย์สินเหล่านั้นมาเป็น “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ของประชาชนทุกคน

ตามแนวคิดของ Thomas Piketty ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century บอกไว้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโลกเกิดขึ้นมาจากการที่ “อัตรากำไรตอบแทน” สูงกว่า “อัตราการผลิตจริง” นั่นหมายถึงมีเงินเข้ากระเป๋าเจ้าของทุนมากกว่ากระเป๋าของแรงงาน เกิดเป็นช่องว่างของรายได้ระหว่างนายทุนและแรงงาน เมื่อเวลาผ่านไป เงินเหล่านั้นจะสะสมพอกพูนกลายเป็น “ความมั่งคั่ง” ของนายทุน ที่ดีดตัวห่างจากรายได้ของแรงงานขึ้นเรื่อย ๆ

ทว่าการเก็บภาษีความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เกิดขึ้นมาแล้วอย่างยาวนาน บางประเทศยังคงเก็บอยู่
บางประเทศเก็บแบบเฉพาะ และบางประเทศได้ยุติภาษีดังกล่าวไปแล้ว เพราะเหตุผลในการเก็บภาษีตัวนี้ต่างกันไปตามบริบทพื้นที่และโครงสร้างของประเทศ

เอกพลณัฐยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้น โดยยกนอร์เวย์กับสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นประเทศที่ยังคงเก็บภาษีความมั่งคั่งมาจนถึงปัจจุบัน โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การเก็บภาษีมั่งคั่งยังคงแข็งแรง คือการมีประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ ซึ่งหมายความว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นกับรัฐ และภาษีที่จ่ายไปนั้นตอบแทนมาด้วยสวัสดิการที่ตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นได้

ซึ่งมันสะท้อนความละเอียดอ่อนในการมองคนเท่ากัน แม้ประเทศจะมีความเหลื่อมล้ำน้อย แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะเลือกเก็บภาษีความมั่งคั่งต่อไป เพราะมันหาใช่เพียงนโยบายหาเงิน แต่มันเป็นการันตีความมั่นคงในการเป็นมนุษย์ ทำให้ความเป็นอภิสิทธิ์ชนลดลง และยืนยันว่าการที่คน ๆ หนึ่งร่ำรวยขึ้นมาได้ ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของผู้นั้นเพียงอย่างเดียว หากแต่คือความผิดพลาดของนโยบายรัฐ ที่ทำให้ผู้นั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าคนอื่น

กลับมาที่ประเทศไทย ที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยังคงเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ และกินเวลาหลายทศวรรษแล้ว แต่ก็ยังหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนไม่ได้เสียที เอกพลณัฐชี้ให้เห็นว่า แถลงการณ์ของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมาเป็นความจริง แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ผ่านโครงการชั่วครั้งคราวที่ใช้จุนเจือประชาชนเป็นรอบ ๆ ทว่าหากโครงการเหล่านี้หายไป ช่องว่างทางรายได้ที่หดแคบลงที่รัฐบอกก็อาจไม่เป็นจริง แต่สิ่งที่จริงแน่แท้คือ “ความมั่งคั่ง” ที่นับวันยิ่งยืดห่างไปเรื่อย ๆ

เอกพลณัฐแนะว่า การเก็บภาษีมั่งคั่งควรเริ่มเก็บจากทรัพย์สินที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้น้อย และมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือ การเก็บภาษีที่ดิน เพราะปัจจุบันชาวบ้านทั่วไปแทบไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และการครอบครองที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่มีศักยภาพในการจ่ายภาษี แต่เมื่อนโยบายที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินเกิดขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ก็เลือกที่จะใช้วิธีการเลี่ยงภาษี เช่น ปลูกสวนกล้วยกลางเมือง หรือสับแบ่งที่ดินและทำให้โฉนดเล็กลง “ซึ่งนี่เป็นโครงสร้างกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน กลายเป็นประเทศที่ยิ่งรวยยิ่งได้เปรียบ”

“ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เขา(นายทุน) จะย้ายหนีแหล่งสะสมความมั่งคั่งของเขา” ษัษฐรัมย์ให้ข้อสังเกตว่า ในประวัติศาสตร์การจัดตั้งรัฐบาลของไทย มีหลายนโยบายที่ใช้หาเสียงกับประชาชนแต่กลับไม่เคยถูกผลักดัน และมีหลายนโยบายที่ไม่เคยหาเสียงแต่ถูกผลักดันให้เป็นนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษีกลุ่มทุน หรือนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับเจ้าสัว และเมื่อเกิดการพูดถึงนโยบายที่จะเก็บภาษีมั่งคั่งจากคนกลุ่มนี้ กลับเกิดเป็นความเปราะบาง และกลัวกลุ่มทุนเหล่านั้นจะเสียประโยชน์

“เศรษฐกิจของประเทศจะพัง เพราะกลุ่มทุนขาดแรงจูงใจในการสะสมความมั่งคั่งจากการเสียภาษี” “กลุ่มทุนจะไม่มาลงทุนในประเทศหากเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะจะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป” หรือกระทั่ง “เรื่องภาษีไม่ต้องผลักดันหรอก เพราะคนรวยก็หาทางเลี่ยงภาษีได้อยู่แล้ว” ซึ่งสำหรับษัษฐรัมย์แล้ว มันเป็นมายาคติที่รุนแรงมาก เขายกตัวอย่างว่า ในสหรัฐฯ คนชั้นกลางเสียภาษีมากกว่าอภิมหาเศรษฐีระดับท็อป 400 ทว่านั่นไม่ใช่เพราะอภิมหาเศรษฐีเลี่ยงภาษี แต่คนเหล่านั้นได้รับการลดหย่อนภาษีอย่างถูกกฎหมาย ผ่านเพื่อนในรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีต่างหาก “อย่ากังวลเลยว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนมากเกินไป เพราะว่าเศรษฐกิจจะไม่พังเพราะคนมีชีวิตที่ดีขึ้น” เขาเสริม

“ถ้าเราผลักดันเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าได้ ปัญหาเด็กถูกทิ้งจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ” สวัสดิการของเด็กเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องการความสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด ษัษฐรัมย์อธิบายว่า หากเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้าเกิดขึ้นจริง การใช้แรงงานเด็กจะลดลงถึง 70% เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับได้ และลดช่องว่างทางการศึกษาลงได้ อาจต่อเนื่องไปถึงการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินเดือน เพราะมันส่งผลถึงการลดลงของหนี้ครัวเรือนของคนชั้นกลางในต่างจังหวัดที่ต้องแบกภาระทางการศึกษา กระทั่งลดภาวะหนี้ทางการศึกษาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กอีกด้วย

อีกประเด็นคือ การยกระดับประกันสังคม เพราะปัจจุบันมีแรงงานประจำที่เจ้านายทำประกันสังคมให้เพียง 50% ของประชากรทั้งหมด หรือการทำประกันสังคมแบบสมัครใจก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะคนเหล่านั้นไม่สามารถแบกรับค่าประกันในแต่ละเดือนได้ แต่การยกระดับประกันสังคมที่ว่าคือ การให้รัฐซื้อประกันให้ทุกคน เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตของแรงงาน หากเขาป่วยหรือทุพลภาพ ประกันสังคมถ้วนหน้าตรงนี้จะสนับสนุนเขาและเขาจะปลอดภัย

แต่หลักประกันถ้วนหน้าที่ทั้งษัษฐรัมย์และเอกพลณัฐเห็นตรงกันว่า คุ้มค่าอย่างมากทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะยาว คือ การยกระดับบำนาญถ้วนหน้า เพราะว่าผู้สูงอายุหาได้เป็นสุญญากาศในบริบทสังคมไทย เพราะหลายท่านได้กลายเป็นหนึ่งในบ่วงของคนหนุ่มสาว ที่ต้องส่งเงินกลับไปเพื่อช่วยประคองชีวิตยามแก่เฒ่า หรือท่านที่มีอาการป่วยทั้งทางกายและจิต ก็ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่หากคนสูงอายุเหล่านี้ได้รับบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท คนหนุ่มสาวอาจไม่ต้องส่งเงินกลับไปให้พวกเขา การมีหลักประกันว่าแก่ตัวไปจะมีเงิน 3,000 บาทรองรับ จะช่วยพวกเขาวางแผนชีวิตยามชราได้มั่นคงยิ่งขึ้น และนั่นหมายถึงการทวีคูณศักยภาพทางเศรษฐกิจของทุกคนในสังคม 

เอกพลณัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่าในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือ แรงงานหน้าใหม่ หรือเด็กหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับปัญหาต่าง ๆ ภายในองค์กรและไร้ซึ่งอำนาจต่อรอง และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563-2565 เป็นเสียงเรียกร้องที่ดังกึกก้องและสะท้อนถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ คำว่า รัฐสวัสดิการ จึงเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญของหนุ่มสาวในช่วงการเคลื่อนไหวปี 2563 เพื่อสานต่อความหวังในประเทศไทย “สำหรับบางคนมันอาจเป็นเสียงที่แสลงหู แต่มันจำเป็นต้องฟัง เพราะมันเป็นเสียงของสังคม”

“การเก็บภาษีมั่งคั่งไม่ใช่ตรรกะสำหรับหาเงินเท่านั้น แต่หมายถึงการลดอภิสิทธิ์ของกลุ่มทุน และคืนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสังคม” ษัษฐรัมย์ย้ำเราอีกครั้งว่าสิ่งนี้ไม่ใช่แค่นโยบายหาเงิน หากแต่เป็นการคืนความปกติสู่สังคม เราเห็นคนรวยมากมายที่มั่งคั่งโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่เราเห็นแม่บ้านทำงานวันละ 12 ชั่วโมง 6-7 วันต่อสัปดาห์แล้วได้เงิน 12,000 บาท เขาย้ำกับเราว่าเรื่องแบบนี้มันผิดปกติ

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือ ทำให้พวกเขารวยช้าลง และทำให้คนข้างล่างมีชีวิตปกติมากขึ้น
สามารถฝันได้เหมือนกับที่ทุกคนได้ฝัน ให้ลูกเขาสามารถฝันถึงการเรียนมหาวิทยาลัย
หรือการทำธุรกิจ ให้ความฝันที่เคยเป็นนิทาน กลายเป็นความจริงเสียที