โคลอมเบีย (2): เปลี่ยนเมืองอันตรายให้กลายเป็นมิตร - Decode
Reading Time: 4 minutes

ชาวบ้าน ชาวช่อง

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

จากตอนที่แล้วผมเขียนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประเทศโคลอมเบียในระดับย่านชุมชน ตอนนี้ผมจะเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับเมือง จากเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงโลกของการฆาตกรรม (murder capital of the world) เมืองที่อันตรายที่สุดในโลก ทั้งการฆาตกรรมและการจี้ปล้น กลายมาเป็นเมืองที่เป็นมิตร  

เมืองเมเดยิน เป็นเมืองอันดับสองของประเทศโคลอมเบีย เคยเป็นเมืองที่มีสถิติอาชญากรรมสูงที่สุดในโลก ปี 1991 ซึ่งเป็นช่วงที่อิทธิพลของราชายาเสพติดแผ่ซ่านไปทั่ว มีผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมถึง 6,349 คน หรือคิดเป็น 380 คน ต่อประชากร 100,000 คน ถือเป็นอัตราที่สูงมาก ๆ แม้จะลดลงมา เป็น 185 คน ต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2002[i] ก็ยังนับว่าเป็นอัตราที่สูง เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ปี 2006 มีอัตราการฆาตกรรม 4.4 คน ต่อประชากร 100,000 คน[ii] เมื่อ นายเซอร์จิโอ ฟาจาร์โด (Sergio Fajardo) นายกเทศมนตรีเมืองเมเดยิน (2003-2007) เริ่มใช้โครงการลงทุนทางด้านสาธารณะ (public investment) ภายใต้วิสัยทัศน์วิถีเมืองเชิงสังคม (social urbanism) ทำให้เมืองเมเดยินเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างรวดเร็ว การฆาตกรรมลดลงจาก 3,829 ราย ในปี 2003 เป็น 658 ราย ในปี 2014[iii] และนับจากปี 2015 เมเดยินก็ไม่ติด 1 ใน 50 ของเมืองที่มีการฆาตกรรมสูงที่สุดในโลก (สถิติฆาตกรรมไม่ถึง 30 ราย ต่อประชากร 100,000 คน)

ในปี 2013 เมืองเมเดยินได้รับเลือกให้เป็นเมืองที่มีนวัตกรรมที่สุดของโลก (The Most Innovative City of the World) จากนิตยสาร Wall Street Journal ร่วมกับกลุ่ม CITI Group และ Urban Land Institution โดยโครงการลงทุนรถกระเช้าลอยฟ้าไปย่านชุมชนแออัดชานเมืองที่ผมเขียนถึงเมื่อตอนที่แล้ว ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ เพราะต้นทุนการก่อสร้างถูกกว่าการก่อสร้างรถไฟหรือถนน และก่อมลพิษน้อยกว่า อีกทั้งยังเป็นการขยายบริการของรัฐไปสู่พื้นที่ชายขอบของเมือง ทำให้อัตราความยากจนของผู้คนในเมืองลดลงจากปี 1991 ถึงร้อยละ 96 สถิติอาชญากรรมลดลงถึงร้อยละ 80[iv]

อย่างไรก็ดี ผมไม่อยากพูดถึงเมืองในเชิงตัวเลขสถิติเท่านั้น ในฐานะนักมานุษยวิทยา ผมอยากพูดถึงประสบการณ์จากการได้เดินอยู่ในเมืองเมเดยิน และเมืองโบโกต้า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียราวหนึ่งสัปดาห์ และรู้สึกได้ว่า เมืองเมเดยินเป็นเมืองที่เป็นมิตรมาก

ในทางวิชาการ คำว่า เมืองที่เป็นมิตร (friendly city) มักใช้คู่กับคำอื่น ๆ เช่น เมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เมืองที่เป็นมิตรกับเด็ก เมืองที่เป็นมิตรกับคนขี่จักรยาน เป็นต้น แต่เมืองที่เป็นมิตรในความหมายของผมไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับชาวเมืองทั่วไป และก็ไม่ใช่เมืองที่เป็นมิตรเฉพาะกับนักท่องเที่ยว แบบที่กรุงเทพมหานครมักจะได้โหวตติดอันดับท็อปเทนอยู่เสมอ แต่คนกรุงเทพฯ เองกลับรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่เป็นมิตรกับชีวิตของที่อยู่ที่นี่เท่าไรนัก

ความเป็นมิตรของเมืองเมเดยินที่ผมสัมผัสได้ ประกอบขึ้นจากวิถีของเมืองโดยรวม ทั้งด้านระบบขนส่งมวลชน พื้นที่สาธารณะ ความปลอดภัย และการเป็นมิตรกับคนจากประเทศเพื่อนบ้านและน้องหมา

ระบบขนส่งมวลชนทางราง-ทางเลน ทั่วถึงและเข้าถึง

ในไทย โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เราพูดกันมามากแต่ทำไม่ได้เสียที คือทำให้ระบบขนส่งมวลชนประเภทต่าง ๆ สอดประสานกระจายทั่วถึง แต่เมืองเมเดยินซึ่งไม่ใช่เมืองหลวงด้วยซ้ำกลับวางแผนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1995 มากกว่า 30 ปี และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับจนสมบูรณ์ ที่นี่มีรถไฟสองเส้นทางหลัก ต่อด้วยกระเช้าลอยฟ้าไปตามไหล่เขาชานเมืองอีก 6 สาย และก็มีรถบัสอีกหลาย 3 สาย ทำหน้าที่ขนส่งคนมาขึ้นรถไฟ ยังไม่รวมรถขนส่งสาธารณะของเอกชนอีกหลายสาย ที่พิเศษก็คือ มีรถราง (tram) อีกหนึ่งสาย

ความพิเศษของรถรางไฟฟ้าก็คือ ขบวนไม่ยาวนักหนึ่ง ราวสองตู้รถบีทีเอสเท่านั้น ให้บริการในพื้นที่ใจกลางของเมืองที่มีพื้นที่แคบ ๆ ตัวรางมีความสูงเสมอกับถนนทั่วไป ไม่ต้องสร้างทางรถไฟลอยฟ้าที่มีตอม่อมหึมา สถานีขึ้นลงก็กินพื้นที่ทางเท้าไปอีก ตัวสถานีของรถรางก็มีความสูงแทบจะเท่ากับพื้นถนนทั่วไป และเวลาที่รถรางยังไม่มา รถเล็ก เช่น จักรยาน และรถจักรยานยนต์ก็ไปใช้เลนรถราง พอถึงเวลารถรางมาก็หลบออกจากเลน ฟังดูอาจน่าห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ความจริงไม่ได้อันตราย เพราะรถรางวิ่งในเขตเมืองใช้ความเร็วต่ำ ปลอดภัยกว่ารถไฟขบวนยาว ๆ ที่วิ่งผ่านเมืองในกรุงเทพฯ

นอกจากรถรางแล้ว ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถบัสก็มีประสิทธิภาพเช่นกัน อันนี้ผมสลับไปพูดถึงเมืองโบโกต้าซึ่งเป็นเมืองหลวง สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเมืองคงทราบว่า เมืองโบโกต้ามีชื่อเสียงในเรื่องเมืองจักรยาน ในหนังสือ Happy Cities[v] ที่เขียนโดย ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี่ (Charles Montgomori) อันโด่งดัง ถึงกับใช้เมืองโบโกต้าเป็นเรื่องเปิดเล่มว่า เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนเมืองที่อันตรายมาเป็นเมืองแห่งความสุข อำนวยความสะดวกให้กับการขี่จักรยาน แต่เมื่อผมได้ไปเดินที่โบโกต้า ผมคิดว่าขนส่งสาธารณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้จริงคือ เมโทรบัส

แน่นอนว่า โบโกต้ามีเลนที่อำนวยความสะดวกสำหรับคนปั่นจักรยานจริง โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ถนนสายใหญ่นอกเมืองถึงกับปิดถนนเลนใหญ่สองเลน สำหรับนักปั่นเลยทีเดียว แต่ข้อจำกัดของการใช้จักรยานคือ เมืองนั้นต้องมีขนาดเล็ก สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ห่างกันมากนัก แต่โบโกต้าที่ประชากรมีราว 8 ล้านคน ย่อมไม่ใช่เมืองเล็ก ดังนั้น ย่านที่พักอาศัยที่แทรกอยู่ในเมืองก็มี แต่จำนวนมากที่กระจายอยู่ชานเมือง ผู้คนเดินทางจากย่านที่พักเข้าเมืองด้วยรถโดยสารสาธารณะเป็นสำคัญ แต่เป็นรถบัสด่วน (bus rapid transit system–BRT) ที่ทันสมัย น้อง ๆ รถไฟฟ้า แต่ต้นทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานน้อยกว่ามาก

พูดให้เห็นภาพก็คือ เป็นรถบัสที่มีเลนพิเศษของตัวเอง เรียกว่า trunk เป็นลำต้นหรือทางสายหลัก อยู่ติดเกาะกลางถนน เวลาจะขึ้นหรือลงรถบัสจะต้องเดินข้ามถนนหรือบางแห่งก็เป็นอุโมงค์ไปขึ้นที่ป้ายหยุดรถ เหมือนขึ้นรถที่สถานีรถไฟฟ้า ประการสำคัญก็คือ เส้นทางรถบัส BRT ที่ว่านี้กระจายอยู่ทั่วเมืองรวม 12 สาย เราสามารถขึ้นรถสายนี้ ไปลงสถานีหนึ่ง แล้วต่อรถอีกสายหนึ่งได้อย่างสะดวกทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีรถบัสปกติขนคนจากย่านที่อยู่อาศัยมาสู่ BRT ชาวเมืองโบโกต้าจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว รถติดก็น้อยลง หากใครรีบหน่อย ต้องการไปทางลัดก็เรียกแท๊กซี่

เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ เรามี รถ BRT เพียงเส้นเดียว นั่นคือจากสาทร-นราธิวาสราชนครินทร์ ไปถนนพระราม 3 ถึงเดอะมอลล์ท่าพระ จึงไม่ได้ผล เฉพาะคนที่เดินทางโดยมีต้นทางและปลายทางอยู่บนเส้นทางสายนี้ หรือไม่ไกลจากเส้นทางสายนี้ จึงเดินทางได้สะดวก แต่คนอีกจำนวนมากที่ยังต้องเดินทางต่อจากช่องทางพิเศษนี้ด้วยรถโดยสารสาธารณะแบบปกติ ย่อมพบว่าไม่สะดวก ส่วนคนขับรถส่วนตัวก็มองเลนนี้ด้วยความอิจฉาว่า มีรถอยู่ไม่กี่คัน แต่เอาถนนไปทั้งเลน นั่นก็เพราะเราไม่ได้คิดระดับเมือง ที่ให้เส้นทางแบบนี้กระจายทั่วเมือง คนจึงยังไม่ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

สวนสาธารณะไม่ใหญ่ แต่ใกล้บ้าน

เสน่ห์ของเมืองเมเดยินที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา ผู้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่อยู่แต่โลกส่วนตัว ก็คือ การมีพื้นที่สาธารณะ เริ่มตั้งแต่ย่านสถานีรถไฟหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานี Estadio ซึ่งไม่ไกลจากโรงแรมที่ผมพัก  สถานี San Antonio ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมระหว่างรถไฟสองสาย สถานี Poblado ซึ่งค่อนไปทางตอนใต้ของเมือง ผมพบว่า สถานีรถไฟที่ผมใช้บริการจะมีการออกแบบพื้นที่คล้ายกัน คือ รอบ ๆ สถานีจะเป็นมีพื้นที่สาธารณะให้คนได้นั่งเล่น มีสวนหย่อมเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ มีลาน (plaza) กว้างเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บางแห่งกว้างขนาดปั่นจักรยานได้ ส่วนที่อยู่ใจกลางเมืองจะเล็ก พอให้สามารถคนได้ยืนมุงการแสดงต่าง ๆ (street performance) ได้ ยังไม่นับรวมม้านั่งที่มีเพียงพอ ต่างกับบ้านเราที่ปลายทางของสถานีรถไฟฟ้า ไม่ได้คิดถึงการสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการปฏิสังสรรค์ของผู้คน เราจึงมีแต่ถนน รถไฟฟ้า และก็ห้างสรรพสินค้า

การออกแบบย่านสถานีให้มีพื้นที่สาธารณะและมีลานเมืองอาจจะเป็นมรดกมาตั้งแต่สเปนเป็นเจ้าอาณานิคม ซี่งต้นแบบสำหรับทุกเมืองที่ต้องมีศาลาว่าการทางการปกครอง มีโบสถ์เป็นตัวแทนของศาสนจักรอยู่ติดกัน แล้วยังต้องมีลานเมืองด้วย สำหรับบ้านเรา ลานวัดหรือตลาดน่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะดั้งเดิม แต่เมื่อการพัฒนามาถึง พื้นที่เหล่านี้ถูกทำให้เป็นเอกชนที่การเข้าถึงมีราคาต้องจ่าย ลานวัดถูกทำเป็นที่จอดรถ ตลาดถูกเบียดขับด้วยห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ

มากกว่านั้น ที่เมืองเมเดยินยังมีสวนสาธารณะเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง เป็นพื้นที่ให้คนได้มาเดินออกกำลังกาย นั่งเล่น พูดคุย สวนสาธารณะใกล้ที่สุดตอนที่ผมไปประชุมที่เมืองเมเดยิน คือ สวนสาธารณะในวงเวียนที่สามารถมองเห็นได้จากโรงแรม ซึ่งเป็นวงเวียนขนาดเล็กที่สามารถเดินข้ามถนนเข้าไปได้โดยสะดวก คำว่า ขนาดเล็ก นี่สำคัญมาก เพราะหากเป็นวงเวียนขนาดใหญ่ ถนนรอบวงเวียนกินพื้นที่หลายเลน ต่อให้สวนสาธารณะใหญ่แค่ไหน ก็ไม่น่าใช้เพราะอันตรายมากสำหรับคนที่จะต้องข้ามถนนหลายเลนเข้าไปที่วงเวียน

สวนหย่อมอีกแห่งหนึ่งที่ผมใช้เวลานั่งและสังเกตุอยู่นาน เพราะอยู่ไม่ไกลจากโรงแรม และอยู่ใกล้อพาร์ทเมนต์ของอาจารย์โจนาธาน ซูลูอาก้า (Jonathan Zuluaga) ที่มหาวิทยาลัยซานติโอเกีย ซึ่งเป็นเจ้าบ้านของงานเวิร์กช้อป ชวนผมไปเดินเล่นหลังจากทานมื้อค่ำ ตอนนั้นเป็นเวลาสักสามทุ่มแล้ว เมื่อไปถึงภาพที่ผมเห็นก็คือ สวนสาธารณะแบบเปิด ไม่มีรั้ว ไม่มีเวลาเปิดปิด ขนาดย่อม ๆ คือ เล็กว่าครึ่งหนึ่งของสนามฟุตบอล ที่ยังมีคนนั่งกันอยู่ในสวนที่มีแสงสว่างพอ มีทั้งกลุ่มนักศึกษาที่นั่งคุยกัน เด็กเล็กเล่นเครื่องเล่นในสวนหย่อม ผมคิดว่า ภาพเด็กเล็กเล่นในสวนหย่อมยามค่ำคืนแบบนี้ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแล คือภาพสะท้อนของเมืองที่ปลอดภัย เพราะสวนหย่อมอยู่ไม่ไกลจากละแวกบ้านที่พ่อแม่พาเด็กเล็กมาเล่นในสวนได้

การมีสวนหย่อมขนาดเล็กกระจายอยู่ตามย่านต่าง ๆ ทำให้คนเข้าถึงได้ และสวนหย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนละแวกบ้านที่ช่วยกันดูแล ต่างกับในกรุงเทพฯ ที่เรามีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ แต่มีน้อยแห่ง คนต้องเหนื่อยเดินทางกว่าจะไปถึง และใหญ่เกินกว่าชุมชนละแวกใกล้เคียงจะดูแล สุดท้ายกลายเป็นสวนของรัฐ ไม่ใช่สวนสาธารณะ เพราะรัฐเป็นผู้ดูแล มีเวลาเปิดปิด ชีวิตทางสังคมตามย่านชุมชนก็ไม่เกิด

เมืองที่เป็นมิตรกับผู้คน และเพื่อนต่างสายพันธ์

ความประทับใจสุดท้าย คือความเป็นมิตรกับผู้คนและสัตว์น้อย คนไทยเรามักจะภูมิใจว่า คนไทยเป็นมิตรกับคนต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติจึงนิยมมาไทย ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่ผมสงสัยว่า คนต่างชาติที่คนไทยเราเป็นมิตรด้วยส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวและก็มักเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เรารู้สึกว่า ฝรั่งเหนือกว่าเรา หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เราจะมีท่าทีเหยียดอยู่ลึก ๆ ไม่ต้องพูดถึงแรงงานข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เขมร ลาว คนไทยมักจะมีอคติต่อคนจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ เช่น มาแย่งงานคนไทยบ้าง ไม่น่าไว้วางใจอาจก่ออาชญากรรมต่อนายจ้างเมื่อไรก็ได้ เป็นต้น

แต่ผมสัมผัสความเป็นมิตรของชาวโคลอมเบียนที่ต่างออกไป คือไม่ได้เป็นมิตรแค่เฉพาะกับนักท่องเที่ยว เอาเข้าจริงนักท่องเที่ยวที่มาโคลอมเบียก็ไม่ได้มาก อีกทั้งชาวโคลอมเบียพูดภาษาอังกฤษได้น้อย พูดแต่ภาษาสเปน ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวแคบลงไปอีก จากประสบการณ์ที่ผมซื้อเครื่องดื่มที่ร้านของชำข้างทาง ผมพบว่า คนโคลอมเบียก็เป็นมิตรกับคนต่างชาติ ซึ่งมาจากอีกครึ่งโลกหนึ่งที่เขาแทบจะเรียกชื่อประเทศไม่ถูก ผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน ชื่อประเทศไทยในภาษาสเปน คือ ไทยแลนเดีย (Thailandia)

มากกว่านั้น ผมสังเกตุเห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ในแถบลาตินอเมริกามีการโยกย้ายข้ามพรมแดนไปทำงาน แต่อคติที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ลงลึกและลบเหมือนคนไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เราจะเห็นอาหารของประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา อาหารมื้อแรกของผมที่โรงแรมคือ เซวิเช (ceviche) นั้นเป็นอาหารเปรู ประกอบด้วยอาหารทะเลผสมส่วนผสมอื่น ๆ รสชาติคล้ายอาหารยำบ้านเรา นอกจากนี้สตรีทฟู้ดหาจากประเทศลาตินอเมริกาก็หากินได้ทั่วไป นอกจากทาโกซึ่งเป็นอาหารเม็กซิกันแล้ว ยังมีอาหารจากเวเนซุเอล่าที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งก่อนทานผมไม่รู้ด้วยว่า ปาตาคอน เรเยโน (patacon relleno) ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในลาตินอเมริกา เป็นอาหารจากเวเนซูเอล่า ที่มองเห็นกรอบ ๆ ทรงคล้ายถ้วยทำมาจากกล้วยดิบทอด แล้วผัดส่วนผสมวางบนถ้วยที่ถูกทอดกรอบ เมื่อคุยกับคนที่มาทานอาหารก็พบว่า มาจากเวเนซูเอล่าที่ทำงานต่าง ๆ กัน ทั้งงานบริษัท งานแม่บ้าน และเปิดร้านขายอาหาร

ลองเปรียบเทียบกับไทย นอกจากอาหารลาวที่คล้ายกับคนในภาคอิสานแล้ว เราแทบไม่รู้จักอาหารของชาวพม่า ร้านอาหารพม่า ในไทยมีอยู่เฉพาะในชุมชนชาวพม่าเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เราต่างก็ทราบว่า แรงงานพม่ากระจายอยู่ทุกมุมเมือง แต่เราไม่สนใจที่จะลองกินเพราะเรารู้สึกเหยียดอยู่ลึก ๆ

เรื่องเหวอ ๆ ของผมที่อยากจะเล่าให้ฟังก็คือ หลังจากประทับใจในความเป็นมิตรของชาวโคลอมเบียน ในวันสุดท้ายก่อนกลับจากเมืองโบโกต้า ผมใช้เวลาไปกับการตระเวนชมหลายพื้นที่ในเมืองในเวลาจำกัด และได้รับการช่วยเหลืออย่างดีมากจากคนที่ผมพบบนท้องถนน เธอไม่เพียงแต่บอกทางที่ผมจะไป แต่ช่วยพาผมเดินลัดไปถึงที่ เพราะไม่ไกลจากสถานที่ทำงานของเธอ ก็คือร้านกาแฟที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในรั้วของทำเนียบประธานาธิบดี

ผมขอบคุณเธอผ่าน Google Translate เพราะเธอไม่รู้ภาษาอังกฤษ ส่วนผมก็พูดภาษาสเปนไม่ได้ แล้วบอกเธอว่า ผมประทับใจในความเป็นมิตรของชาวโคลอมเบียนมาก เธอยิ้มแล้วพิมพ์ตอบมาว่า ชาวโคลอมเบียนเป็นมิตร ส่วนเธอนั้นเป็นชาวเวเนซูเอล่าที่มาทำงานที่นี่ได้สามปีแล้ว ผมต้องรีบบอกว่า ชาวเวเนซูเอลาก็เป็นมิตรเช่นกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวเวเนซูเอล่าอย่างเธอที่มาทำงานที่นี่กลมกลืนเข้ากับสังคมโคลอมเบียมาก  

ความเป็นมิตรของเมืองและผู้คนในเมืองเมเดยิน ประการสุดท้ายก็คือ การเป็นมิตรต่อเพื่อนต่างสายพันธุ์อย่างน้องหมา ในฐานะคนที่เพิ่งกำลังเห่อเลี้ยงน้องหมา เช้าวันแรกที่ทานอาหารเช้าที่โรงแรม ผมเห็นคนจูงน้องหมา ก็รู้สึกตื่นเต้นหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูป ผ่านไปไม่กี่นาที ผมก็ตระหนักได้ทันทีว่าไม่ต้องตื่นเต้น เพราะเมืองนี้ผู้คนจูงน้องหมาเดินเป็นเรื่องปกติ บางครั้งมนุษย์คนเดียวมาพร้อมกับสุนัขสี่ห้าตัวก็มี บางคนมาพร้อมสุนัขพันธุ์ใหญ่ตัวเดียว แต่เลี้ยงและฝึกมาอย่างดี ไม่ก้าวร้าว ไม่ต้องห่วงว่าจะกัดใคร ในสวนสาธารณะก็เช่นกัน เราจะเห็นคนจูงน้องหมา คนเล่นกับน้องหมา โยนลูกบอลให้น้องหมาคาบมาคืน ภาพเช่นนี้เห็นได้ทั่วไป

เปรียบเทียบกับบ้านเรา เมืองที่ทางเท้าไม่ดี เมืองที่แทบไม่มีพื้นที่สาธารณะ ผู้คนไม่อาจเอื้อเฟื้อกับคนด้วยกันแล้ว ไหนจะมีใจดูแลสุนัข เรามีสุนัขในพื้นที่สาธารณะเช่นกัน แต่เป็นสุนัขที่ไม่มีคนดูแล สุนัขที่ถูกทิ้งไว้ตามวัด ตามข้างถนน ส่วนคนมีชั้นกลางที่จะเลี้ยงสุนัขก็อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรราคาแพงไม่ได้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ

ประสบการณ์เพียงหนึ่งสัปดาห์เปลี่ยนภาพจำเกี่ยวกับเมืองและประเทศโคลอมเบียอย่างสิ้นเชิง แทบไม่น่าเชื่อว่า เมืองที่เป็นมิตรเช่นนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่สถิติอาชญากรรมสูงที่สุดในโลก แต่ประเทศโคลอมเบียก้าวข้ามบาดแผลนี้ได้ก็เพราะสามารถจัดการกับความขัดแย้งและความรุนแรงในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยระบบการเมืองดี มีวิสัยทัศน์และความรู้

หวังว่าสังคมไทย หลังเลือกตั้งจะได้รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เพื่อก้าวทันโลก หลังจากเราย่ำอยู่กับที่มาร่วมสิบปี      

    


[i] Cerdá, M., Morenoff, J. D., Hansen, B. B., Tessari Hicks, K. J., Duque, L. F., Restrepo, A., & Diez-Roux, A. V. (2012). Reducing violence by transforming neighborhoods: a natural experiment in Medellín, Colombia. American journal of epidemiology175(10), 1046.

[ii] Sakulsaengprapha, V., Peonim, V., & Worasuwannarak, W. (2018). Trends of homicidal deaths in central Bangkok, Thailand: a 5-year retrospective study. Egyptian journal of forensic sciences8(1), 8.

[iii] Giraldo-Ramírez, J and Preciado-Restrepo, A. (2015). Medellín, from Theater of War to Security Laboratory. Stability: International Journal of Security & Development 4(1): 3.

[iv] https://www.blueoceanstrategy.com/blog/medellin-from-murder-capital-of-the-world-to-most-innovative-city/