ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
ผู้เขียนจำได้ว่าเคยมีผู้ตั้งแง่กับประชาธิปไตยว่าทำให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคมทำให้เป็นระบบที่มีข้อบกพร่อง และเมื่อมาเห็นสถานการณ์ในช่วงการเลือกตั้งก็ดูคล้าย ๆ จะเป็นไปในทำนองนั้น คือผู้คนแสดงความเห็นและโต้เถียงกันออกอาการว่ามีความขัดแย้ง บ้างก็ถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันก็มาก สถานการณ์แบบนี้คงเป็นตัวอย่างชัดเจนสำหรับคนที่เห็นว่าประชาธิปไตยนำพามาซึ่งความไม่สงบ
แต่อันที่จริงแล้วถ้ามองจากอีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่าช่วงเวลาของการเลือกตั้งคือเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการที่คนในสังคมจะได้ถกเถียงกันในเรื่องที่ปัญหาและมองหาวิธีแก้ร่วมกัน กระบวนการถกเถียงอาจจะดูดุเดือด แต่มันเป็นวิธีการที่อาจทำให้ได้มาซึ่งฉันทามติของคนในสังคมในเรื่องอะไรคือปัญหาและอะไรควรเป็นวิธีการจัดการปัญหาในห้วงเวลานั้น ๆ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมองหาวิธีจัดการกับความขัดแย้ง โดยที่ไม่ต้องลงเอยด้วยความรุนแรง
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องมาตรา 112 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นประเด็นที่ผู้คนมีความเห็นต่างขั้วกันอย่างมาก และการจะถกเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นเรื่องไม่ง่าย ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้มีปรากฏการณ์น่าสนใจ คือมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกันในสื่อใหญ่ระดับชาติที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อาจจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ที่มีการพูดเรื่องมาตรา 112 กันในลักษณะนี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการสนทนาเหล่านั้นมีทั้งฝ่ายเสนอให้แก้ไขกับฝ่ายที่ต้องการให้ดำรงสภาพการจัดการแบบเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลงรวมอยู่ในเวทีเดียวกัน และพวกเขาทั้งหลายคือคนที่จะเข้าไปทำงานการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าเนื้อหาที่ถกเถียงกันคือสิ่งที่จะไปลงเอยในสภาฯ ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งในเวลาต่อไป
นอกจากเวทีดีเบทโดยสื่อ เราจะพบว่าในเวทีหาเสียงของแต่ละพรรคและโดยทั่วไปก็มีการนำเรื่องนี้มาขึ้นเวทีปราศรัยกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ พรรคการเมืองต่างกำหนดท่าทีของตัวเองในเรื่องจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขกฎหมายมาตรานี้อย่างชัดเจน เท่ากับว่าในกระบวนการเลือกตั้งหนนี้ได้มีการถกกันถึงสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ทั้งวงกว้างและวงแคบ ต้องยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นกันมาก่อนในแง่ของสื่อกับการนำเสนอเรื่องของกฎหมายมาตรา 112 แม้ว่าหลายปีก่อนหน้านี้จะมีสถานีโทรทัศน์ที่จัดรายการพูดคุยในเรื่องนี้ไป แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นวงพูดคุยที่พร้อมหน้าพร้อมตาเท่าในเวลานี้ รวมทั้งสถานการณ์ในเวลานั้นก็ยังไม่สุกงอมพอจะให้คุยกันถึงข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาเท่านี้เช่นกัน และนอกเหนือจากเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เราก็ได้เห็นการหยิบประเด็นสำคัญอีกหลายประเด็นที่สังคมให้ความสนใจขึ้นมาถกกันโดยที่แต่ละฝ่ายพยายามแสดงความสามารถในการใช้เหตุและผลประกอบ เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นเวลาของการชักจูงกันด้วยเหตุผล เราจึงได้เห็นว่าแม้แต่กลุ่มคนที่เคยชินกับการใช้อำนาจก็ยังต้องเปลี่ยนวิธีการ มันจึงเป็นบรรยากาศที่แม้จะดูมีความขัดแย้ง แต่ด้วยกฎกติกาทำให้ไม่ก้าวล่วงไปสู่การใช้กำลัง และถ้าคุยกันด้วยสติในที่สุดสังคมน่าจะตกลงทางออกกันได้อย่างน้อยก็ระดับหนึ่ง
ผู้เขียนรู้สึกว่าข้อดีของการดีเบทคือมันทำให้เราได้เห็นนักการเมืองในหลายมิติ นอกจากความสามารถในการโน้มน้าวแล้วเรายังจะได้เห็นวิธีคิด เห็นบุคลิก มารยาท การตอบหรือไม่ตอบคำถาม การแสดงความรำคาญ เห็นภาษากาย การพูดที่เข้าประเด็นหรือไม่ สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกอย่างล้วนน่าสนใจเพราะบุคลิกและภาษากายมันบ่งบอกตัวตนของคนได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมด ประเด็นที่ถูกหยิบมาเป็นหัวข้อดีเบทก็แน่นอนว่าต้องมีดราม่าผสมผสานไปด้วย แต่การเลือกหัวข้อนั้นถึงอย่างไรก็เชื่อว่าไม่มีวันหนีไปจากสิ่งที่ประชาชนทั่วไปที่จับตาการเมืองกำลังสนใจ
น่าเสียดายว่า ประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่และต้องการบทสนทนาระดับชาติดูเหมือนจะยังก้าวไปไม่ถึงเวทีดีเบทในสื่อใหญ่และในเวทีส่วนกลาง นั่นคือเรื่องจะจัดการอย่างไรกับเรื่องทางออกทางการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ตาม การมีเวทีดีเบทในช่วงของการหาเสียงที่ผ่านมา สำหรับผู้เขียนถือว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นผู้ที่มีความคิดต่างขั้วขึ้นเวทีถกกันในประเด็นที่ปกติสังคมไม่ถก โดยเฉพาะในสภาวะที่ผู้คนหลีกเลี่ยงความขัดแย้งแบบมองหน้ากันไม่ติด มีผู้ออกมาเตือนเหมือนกันถึงอันตรายของการดีเบทเรื่องเช่นนี้ อย่างเช่นจตุพร พรหมพันธุ์ที่แสดงความวิตกว่า การพูดเรื่องมาตรา 112 มากไปจะปลุกความกลัวของฝ่ายอนุรักษ์ในเมืองไทยจนรับไม่ได้และกระตุ้นให้เกิดสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดกันอีก ความกลัวแบบนี้เองทำให้ที่ผ่านมาเราไม่อาจคุยเรื่องแบบนี้กันได้ เพราะผู้คนรู้สึกว่าการคุยกันในเรื่องแบบนี้เป็นการปลุกคนบางกลุ่มให้ไม่พอใจจนนำไปสู่การใช้กำลัง ผู้เขียนยอมรับว่าเพดานการคุยในเรื่องนี้น่าห่วงดังที่มีผู้เตือน และหากไม่ใช่เพราะเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งก็ไม่แน่ใจว่าการจัดดีเบทในเรื่องเช่นนี้จะส่งผลอย่างไร ดังนั้นการที่การเลือกตั้งหนนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสของสังคมที่ทำให้มีการดีเบทอย่างตรงไปตรงมาได้โดยเฉพาะกับเรื่องมาตรา 112 จึงถือได้ว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับวงการสื่อ
เวลาเช่นนี้จึงทำให้เราเห็นได้ถึงความสำคัญของสื่อในฐานะที่เป็นเวทีถกเถียงกันของสังคม ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการเวทีและพื้นที่ให้กับการถกเถียงเพื่อให้ผู้เสพสื่อได้ข้อมูลจากหลายฝ่ายอย่างรอบด้าน ในเรื่องนี้เราจึงเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของเวทีดีเบทที่นักการเมืองหลายฝ่ายเข้าร่วมกับเวทีปราศรัยหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ในขณะที่การจัดการเวทีดีเบทต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดอย่างมากในการแจกลูกโยนคำถามและคุมเกม เวทีปราศรัยเป็นเวทีพูดฝ่ายเดียวที่ไม่มีการท้าทาย
การแข่งขันอาจจะทำให้นักการเมืองแสดงออกอย่างดุดันจนทำให้เกิดการบาดหมางกันได้ เป็นที่รู้กันในหมู่นักการเมืองว่าพวกเขาเข้าใจวิถีเหล่านี้ ในประเทศประชาธิปไตยหลายแห่งมีธรรมเนียมที่ผู้สมัครแข่งขันรับเลือกตั้งจะประกาศยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อถึงเวลาที่รู้ชัดว่าไม่มีทางชนะ พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับคู่แข่ง เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงน้ำใจนักกีฬาและความมีมารยาท อย่างในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เราจะพบว่าผู้ชนะมักจะเริ่มต้นด้วยถ้อยแถลงที่เรียกความปรองดองเสมอ เพราะทุกคนรู้ว่าในระหว่างการหาเสียงที่สู้กันอย่างถึงพริกถึงขิงนั้น บรรยากาศของความปรองดองหดหายไปจนต้องเรียกสติกันใหม่ แต่นักการเมืองอาจจะไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มแฟนคลับ เพราะนักการเมืองรู้ว่าเมื่อถึงเวลาพวกเขาต้องทำงานด้วยกันให้ได้ ด้วยเหตุนี้มีนักวิชาการหลายคนที่จับจ้องบทบาทสื่อเห็นว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของสื่อในระหว่างการเลือกตั้งคือต้องรักษาท่วงทำนองของการพูดคุยที่ดีเอาไว้ให้ได้ ไม่ล้ำเส้นจนกลายเป็นการทำลายทางออกของสังคมหลังเลือกตั้ง เพราะในที่สุดแล้วสังคมต้องทำงานร่วมกัน
ในช่วงการเลือกตั้ง หน้าที่สำคัญของสื่อเท่าที่ผู้เขียนประมวลภาพความคาดหวังจากนักวิชาการและผู้คนที่จับตาการทำงานของสื่อ ก็คือการเป็นช่องทางของการสื่อสารระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่านักการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาให้เลือกนั้นมีแนวทางหรือนโยบายอันใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกของพวกเขา ดังนั้นต้องเป็นการให้พื้นที่พรรคการเมืองอย่างเสมอหน้า นอกจากนั้นสื่อยังควรจะเป็นช่องทางให้ฝ่ายประชาชนได้สื่อสารกับนักการเมืองเพื่อจะนำเสนอสิ่งที่ต้องการ สื่อควรให้พื้นที่กับกลุ่มคนที่ปกติไม่ค่อยมีปากเสียงในสังคมได้นำเสนอความต้องการของพวกเขาสู่นักการเมือง ซึ่งในแง่นี้ผู้เขียนถือว่าในกรณีของชาวเกาะหลีเป๊ะที่พยายามจะจัดเวทีนำเสนอปัญหาให้กับพรรคการเมือง นับได้ว่าเป็นความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการพื้นที่สื่อสาร แต่ยังไม่มีสื่อที่จะตอบสนองพวกเขาเท่าใดนัก
นอกจากนั้นสื่อก็ควรทำหน้าที่ให้ข้อมูลหรือให้การศึกษากับประชาชนในเรื่องระบบการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างที่ควรจะเป็น ต้องติดตามพัฒนาการของการรณรงค์หาเสียงและการวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนตามทัน ซึ่งในการเลือกตั้งหนนี้เราก็ได้เห็นความคึกคักและการตามติดการเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคการเมืองของสื่อ แม้ว่าจะมีเสียงบ่นจากผู้เสพข่าวบางส่วนว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้รับความสนใจจากสื่ออย่างเต็มที่ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อจำกัดของสื่อแล้วก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าหลายเรื่องไม่ได้เกิดจากเจตนาแต่เป็นเรื่องที่เกินกำลังมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราได้เห็นอย่างชัดเจนด้วยก็คือ มีสื่อหรือผู้สื่อข่าวส่วนหนึ่งที่เลือกจะเกาะติดความเคลื่อนไหวของบางพรรคมากไปกว่าพรรคอื่น ๆ บางรายเห็นได้ชัดว่าเนื่องมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกัน แต่บางรายไม่บอกอย่างชัดเจนแต่ถ้าดูจากรายงานก็สามารถจะอนุมานเอาได้ สภาพเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปสำหรับสังคมไทยเพราะเกิดขึ้นเรื่อยมานับตั้งแต่วันที่มีสื่อมืออาชีพบางรายประกาศตนเป็นสื่อเลือกข้าง จะว่าไปแล้วสังคมผู้เสพสื่อของไทยอยู่กับการทำงานของสื่อในลักษณะแบบนี้มาหลายปีจนกระทั่งแทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นความเคยชินทำให้เห็นกันไปว่าสื่อจะต้องเข้าข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากไม่ทำจึงจะถือเป็นเรื่องที่แปลก ในช่วงของการเลือกตั้งเราจึงยังเห็นสื่อขยายประเด็นทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้กับพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ หลายเรื่องเราจะพบว่าข่าวทำหน้าที่เสมือนการแก้ต่าง วางประเด็นเสริม ขยายผล ฯลฯ ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้คนที่จับตาการทำงานของสื่อฝากความหวังเอาไว้ว่าสื่อจะทำในช่วงเลือกตั้ง นั่นก็คือการเป็น watch dog ช่วยเฝ้าระวังจับตาการกระทำที่มิชอบใด ๆ เพราะหน้าที่อันนี้นั่นเองทำให้เรามักจะได้ยินสื่อบางรายเรียกตัวเองว่าเป็น “หมาเฝ้าบ้าน” หรือบางคนก็บอกว่าเป็น “ยามเฝ้าบ้าน” ภารกิจอันนี้ของสื่อเป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังอยู่แล้วแม้ในเวลาที่ไม่มีการเลือกตั้ง คือช่วยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและผู้แทน แต่ในระยะหลังเราจะพบว่าการทำหน้าที่อันนี้ของสื่อมีอุปสรรค ผู้เขียนเองรู้สึกว่าข่าวประเภทที่จะตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจจะต้องเป็นรายงานที่ใช้เวลาและความพยายาม และหายากมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงการทำงานของสื่อในปัจจุบัน เชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรของสื่อเองบวกกับอิทธิพลของโลกออนไลน์ที่มีต่อลักษณะการนำเสนอของสื่อ
ที่ผ่านมาการเติบโตของโลกออนไลน์กับการเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียเขย่าวงการสื่ออย่างหนักหน่วงจนทำให้ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ และเป็นการปรับตัวให้เล็กลงเสียเป็นส่วนมาก เราจะพบว่าคนทำงานในสื่อหลักหลายแห่งนั้นลดน้อยลง แต่ในขณะที่แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียส่งผลต่อการทำธุรกิจของสื่อ อีกด้านหนึ่งโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ให้กับสื่อเช่นกันเพราะข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ที่มาจากบรรดาผู้ใช้ทั้งหลายนั่นเอง ในการเลือกตั้งหรือแม้แต่ก่อนเลือกตั้ง เราก็ได้เห็นการดำรงอยู่และบทบาทที่หนุนเสริมกันอย่างไม่ตั้งใจระหว่างสื่อใหญ่และสื่อใหม่ในการนำเสนอเนื่องจากวัตถุดิบหรือเนื้อหาการสื่อสารที่น่าสนใจมักผลุบโผล่ออกมาจากออนไลน์และสื่อรายใหญ่หยิบไปเล่นต่อขยายจำนวนผู้เสพข่าวให้กับเรื่องนั้น ๆ ในแง่นี้จึงมีผลทำให้สื่อใหญ่หันไปตอบสนองความสนใจและประเด็นข่าวที่กำหนดมาจากการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียลค่อนข้างมาก
ด้วยเหตุนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ในยุคที่โซเชียลมีเดียเฟื่องฟูและสื่อต้องพึ่งพายอดแชร์ยอดไลก์ มันส่งผลกระทบทำให้ข่าวมีลักษณะเปลี่ยนไป ความสามารถในการกำหนด agenda ข่าวของสื่อหลักลดลง และลักษณะของข่าวมีความก้ำกึ่งระหว่างการเป็นข้อมูลกับการสร้างความบันเทิงดังที่มีผู้ใช้ศัพท์คำว่า infotainment มาบรรยายลักษณะของข่าวในปัจจุบัน คำคำนี้มาจากคำว่า information หรือข้อมูล บวกกับ entertainment หรือความบันเทิง คือศัพท์คำนี้ไม่ได้เป็นศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่มีผู้นำมาใช้ให้คำจำกัดความข่าวของสื่อในปัจจุบันว่ามีลักษณะเช่นว่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ คือเป็นข้อมูลที่สร้างความบันเทิงเป็นลักษณะสำคัญ การเน้นข่าวแนวนี้ทำให้ agenda การนำเสนอข่าวเปลี่ยนรูปโฉม ที่แน่ ๆ คือการหยิบโยนข้อมูลและประเด็นในโลกออนไลน์ทำให้เวลาและทรัพยากรของสื่อถูกใช้ไปในเรื่องนี้ มีข่าวบางอย่างได้เนื้อที่น้อยลง
ข่าวส่วนหนึ่งที่หายหรือลดน้อยลงกลายเป็นข่าวกลุ่มที่ต้องใช้พลังงานเช่นเวลาและคนในการทำซึ่งก็มักเป็นข่าวเชิงลึก ข่าวเจาะ ข่าวสืบสวนสอบสวน ซึ่งสัมพันธ์กับการตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเจนในสนามข่าวเลือกตั้งของไทยหนนี้ การทำหน้าที่ยามเฝ้าบ้านของสื่อออกอาการกะปริบกะปรอย และหลายกรณีปรากฎเป็นข่าวขึ้นเมื่อมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำมาเปิดเผย เราไม่ได้เห็นการเจาะข่าวหรือวิเคราะห์ปรากฎการณ์หลายอย่างแม้ว่าจะเป็นที่รู้กันมาพักใหญ่แล้ว เช่นในการจัดเลือกตั้งนั้น ปัญหาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงของการจัดเลือกตั้งล่วงหน้าส่วนหนึ่งมาจากวิธีทำงานที่กกต.กำหนดก่อนหน้านี้ เช่น วิธีการจัดพิมพ์บัตร แต่เราไม่ได้เห็นการหยิบประเด็นเหล่านี้จึงมาพิจารณาในลักษณะลงลึกมากนัก การนำเสนอปัญหาการจัดการเลือกตั้งมีการตามปรากฏการณ์อันเกิดจากการเปิดข้อมูลของผู้ใช้โซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ในแง่หนึ่งก็ทำให้เห็นของพลังของโซเชียลมีเดียและการตื่นตัวของผู้ใช้ แต่ในอีกด้านก็ทำให้เห็นจุดอ่อนของการทำหน้าที่เฝ้าระวังและมอนิเตอร์ของสื่อ
ในช่วงของการเลือกตั้งเรายังจะพบว่ามีการปล่อยข่าวหรือทำคอนเทนต์ประเภทเฟคนิวส์ไม่น้อย การรับมือกับเฟคนิวส์หรือข่าวเท็จก็เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่หลายคนคาดหวังว่าสื่อจะทำ แต่ในปัจจุบัน ด้วยกำลังคนที่น้อยลงทำให้สื่อหลายแห่งพบว่าเกิดอาการเต็มไม้เต็มมือกับการรายงานข่าวและการรับมือกับข้อมูลในโลกออนไลน์ แม้ว่าจะมีสื่อจำนวนหนึ่งพยายามเจียดทรัพยากรไปตรวจสอบเฟคนิวส์แต่ก็ยากที่จะทำได้อย่างทั่วถึง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าภาระในการแยกแยะข้อมูลข่าวสาร อันไหนข่าวจริงและอันไหนข่าวเท็จตกไปอยู่กับผู้เสพสื่อเองเป็นหลัก เท่ากับว่าผู้รับข่าวสารต้องทำงานหนักในอันที่จะต้องแยกแยะระหว่างข่าวจริงกับข่าวเท็จ ระหว่างประเด็นที่สำคัญกับที่ไม่สำคัญ และต้องคอยตรวจสอบความผิดปกติในการทำงานของผู้มีอำนาจด้วย
สัญญานที่ดีก็คือมีการรวมตัวของผู้เสพข่าวสารเพื่อทำงานในเชิงเฝ้าระวังมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นในการเลือกตั้งหนนี้มีกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งเก่าและใหม่เข้ามาติดตามใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีการโกงการเลือกตั้ง แต่ถ้าจะพูดไปแล้วนี่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ปลายน้ำ ในเชิงข้อมูลผู้เขียนรู้สึกว่าเรายังขาดองคาพยพที่จะทำหน้าที่แจ้งเตือนสังคมถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อไป