มองผ่านซากอิฐปูน ในงานเขียน น. ณ ปากน้ำ - Decode
Reading Time: 4 minutes

จริง ๆ แล้ว ผมตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้จบในเดือนเมษายน เพื่อให้รำลึกถึงเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาแตก เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 โดยตั้งเป้าว่าจะขับรถมาเที่ยวอยุธยา พร้อม ‘แบก’ หนังสือ มาดูซากอิฐซากปูนโบราณสถาน

ใช่ครับ ใช้คำว่าแบกหน่ะถูกต้องแล้ว เพราะหนังสือเล่มนี้มีความหนาถึง 536 หน้า มันไม่ได้ถือสบายข้อมือ จะใช้คำว่า ‘พก’ ก็ดูจะผิดข้อเท็จจริงไปหน่อย

ในบทนำเสนอสำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 4 ระบุว่า “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” เป็นผลงานชิ้นสำคัญของ น. ณ ปากน้ำ หรือ ประยูร อุลุชาฎะ (2471-2543) มีที่มาจากการสำรวจโบราณสถานในอยุธยาระหว่าง พฤศจิกายน 2509 ถึง มีนาคม 2510 ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) ตามโครงการของคณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา 200 ปี

เป้าหมายคือต้องการนำภาพถ่าย ภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง และผลการสำรวจอันอุตสาหะนี้ไปจัดแสดงนิทรรศการครบรอบ 200 ปีกรุงแตก

ผ่านมากกว่า 56 ปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่ออ่านจบนอกจากโบราณสถาน ประวัติศาตร์ศิลปะ รูปแบบเจดีย์ สารพัดใบเสมา ที่อัดแน่นอยู่ในเล่ม ผมกับสนใจคำบ่น เสียงเหนื่อยหอบ เรื่องเล่าระหว่างทางที่แอบซ่อนอยู่ระหว่างซากอิฐซากปูน ทีมีทั้งความยากลำบากในการสำรวจ อาชีพของผู้คน และบรรยากาศของอยุธยาเมื่อครั้งอดีต

เรือ พระเอกของงาน แต่ว่าก็เล่นเอาเหงื่อตก

อยุธยาเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วการเดินทางด้วยเรือยังคงตอบโจทย์ เพราะเป็นที่ลุ่ม มีคูคลอง ลำราง ทางน้ำ ดูเหมือนว่า น. ณ ปากน้ำ มีความสนใจในเรื่องเส้นทางน้ำอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมจากวัดสู่วัด และในแง่ของภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการก่อร่างสร้างศาสนสถาน ตลอดการสำรวจเรายังพอได้ยินบทสนทนาของเขา กับชาวบ้านอยู่เป็นระยะ ส่วนมากเป็นการสอบถามถึงเส้นทางคลอง โดยสอบทานกับแผนที่เก่า มีหลายหนที่ต้องเจอกับความผิดหวังเพราะคลองเดิมหลายแห่งตื้นเขิน หรือหมดสภาพไปแล้ว ในภารกิจสำรวจครั้งนี้คณะได้ใช้เรือทั้งหมดสองลำ

ในเบื้องหลังการสำรวจท้ายเล่ม น. ณ ปากน้ำ ให้ปากคำว่า เรือลำแรก เป็นเรือประทุน ซื้อมาในราคา 500 บาท ติดเครื่องเรือหางยาว 1,500 บาท แต่กว่าจะได้เดินทางก็ต้องหาซื้อไม้มาต่อเติมทำประทุน กว่าจะลงตัวต้องใช้เวลา 3-4 วัน

  • 18 พฤศจิกายน 2509
    “เริ่มเอาเรือลงน้ำ ทุลักทุเล เรือแบบบาง ประทุนสูงเกินไป ทำให้เรือโคลง เดินเครื่องไปถึงหัวแหลมต้องหยุด ช่วยกันเลื่อยตัดหัวเรือ เปลี่ยนที่ตั้งเครื่องยนต์ใหม่ ย้ายมาอยู่คนละด้าน ปล้ำกันอยู่ในน้ำจนค่ำ”

บางครั้งระหว่างเดินทางเรือเกิดรั่ว ต้องจอดแวะวิดน้ำ ใบพัดบิดชำรุด ต้องจอดเรือเพราะกลัวเรือล่มจมกลางทาง หรือเมื่อครั้งเดินทางตามหาคลองคูจาม และวัดแก้วฟ้าต้องนั่งจำใจนั่งหนาวสั่นตากฝนหนักร่วมชั่วโมงเต็ม หรือตอนที่เดินทางไปเที่ยวตลาดอำเภอเสนา คณะสำรวจโชคไม่ดีเจอฝนตกหนักชนิดที่ว่าต้องจำใจฝากเรือประทุนเดิมไว้ แล้วต่อเรือหางยาวรับจ้างเดินทางกลับ เพราะประเมิณแล้วว่าถ้าหากฝืนขับเรือฝ่าฝนอาจหนาวตายในเรือ

นับตั้งแต่เอาเรือประทุนลงน้ำสำรวจครั้งแรกผ่านไป 21 วัน น. ณ ปากน้ำ ตัดสินใจซื้อเรือลำที่สอง ที่ วัดท่า อำเภอบางบาล เป็นเรือหางยาวขนาดเล็ก ที่เหมาะกับการสำรวจมากกว่า แต่ด้วยความที่เป็นเรือมือสองทำให้ต้องซ่อมแซมกันอยู่หลายวัน

  • 9 ธันวาคม 2509
    “เสียเวลาเรื่องเรือเพราะน้ำรั่วมาก ต้องจูงกลับ วิดน้ำตลอดทางจนถึงที่พัก ไม่ได้ทำอะไรเลย เตรียมการเสียเวลาเปล่า มาถึงที่จอดจึงขัดล้างเรือแล้วยกเอาคว่ำขึ้นคานไว้ พรุ่งนี้จะจ้างคนเขามายาชันเรือให้เรียบร้อย”

เรือสำรวจลำใหม่ใช้เวลาซ่อมอยู่ 3 วัน บันทึกการทำงานถูกอุทิศไปเรื่องราวการซ่อมเรือ อาจจะเป็นเพราะมีเวลาเยอะ ในช่วงนี้ น. ณ ปากน้ำ บันทึกวิธีผสมชันเรือแบบละเอียดทุกขั้นตอน ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนจะเอาเรือลงน้ำก็บันทึกถึงขั้นการทักท้วงฤกษ์ยามของหญิงชาวบ้าน วันไหนเป็นวันเดือนดับ ไม่มงคล จะเอาเรือลงน้ำควรหันเรือพุ่งไปทางทิศใต้เพราะเป็นทิศวันอาทิตย์ฤกษ์ปลอดโปร่ง หลังจากซ่อมเรือเสร็จเขาขอนั่งเชยชมเรือลำใหม่ลอยน้ำอยู่นานจึงกลับที่พัก

ในสารพัดฉากการสำรวจ ผมสะดุดใจสถานที่หนึ่ง ที่มักแทรกมาบ่อย ๆ ทุกครั้งที่คณะสำรวจนั่งเรือไปหรือกลับจากวัดไชยวัฒนาราม นั่นคือปั้มน้ำมันที่ ‘ปากคลองตะเคียน’ (หรือปากคลองขุนละคอนไชย ในเอกสารเก่า) ระหว่างแวะเติมน้ำมัน ชาวบ้านได้เล่าว่าให้ น. ณ ปากน้ำ ฟังว่าคลองนี้ในอดีตกว้างกว่านี้มาก ภาพคลองที่เขาเห็นเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว

อันที่จริงหลายปีก่อนผมเคยไปยืนอยู่ตรงปากคลองตะเคียน หลังจากอ่านเจอถึงฉากนี้ ถ้ามีโอกาสก็อยากไปตามรอยถามคนแถวนั้น ถึงความทรงจำปั้มเก่าเมื่อ 50 กว่าปีก่อน

นอกจากเรือจะเป็นพระเอกในการสำรวจครั้งนี้ น. ณ ปากน้ำยังเคยปั่นจักรยาน (เคยยางแบนหนึ่งครั้ง) นั่งรถไฟ นั่งรถเมล์ จ้างสามล้อ มีนั่งรถยนต์ส่วนตัวของลูกศิษย์บ้างแต่น้อย ส่วนใหญ่จะนั่งเรือต่อด้วยเดินเท้าจนฟกช้ำดำเขียว ลุยน้ำ ลุยโคลน

อาชีพและค่าแรง สอดแทรกระหว่างซากอิฐ

ระหว่างที่สำรวจออกไปนอกเกาะเมืองอยุธยา ช่วงหนึ่งในบันทึกได้พูดถึงศาลาท่าน้ำ วัดเกตุ ที่มีวัยรุ่นกำลังนั่งสลักลวดลายโต๊ะหมู่บูชาทำส่งกรุงเทพ ได้ค่าจ้างสลักตัวละ 7 บาท น. ณ ปากน้ำ ถึงกับเอ่ยปากว่าค่าจ้างถูกมาก หนึ่งวันชาวบ้านคนหนึ่งทำได้มากสุดประมาณ 2 ตัว

“ไม่ว่าหญิงสาวแก่หรือหนุ่ม ตลอดจนเด็กตัวเล็ก ๆ ต่างก็เป็นช่าง เห็นแกะสลักกันที่ลานบ้านใต้ร่มไม้ หรือที่ใต้ถุนบ้าน เห็นสลอนไปหมด ว่าถึงฝีไม้ลายมือก็ไม่เลวนัก”

หรือจะเป็นย่านคลองบางขวด ใกล้ ๆ เพนียดคล้องช้าง น. ณ ปากน้ำ ได้บรรยายว่า ชาวบ้านแถบนั้นมีอาชีพเผาหม้อดินขาย โดยวางไว้เป็นกองพะเนินบนคันดิน แล้วได้ซื้อหม้อดินมา 2-3 ใบ ราคาใบละ 50 สตางค์ และอย่างแพงคือชนิดมีหู ราคา 1.50 บาท ในสายตาของคนที่เดินทางมาจากเมืองหลวง เขายืนยันว่าหม้อดินเหล่านี้ “นับว่าถูกมาก”

แต่อีกอาชีพที่สอดแทรกตลอดการสำรวจ คือการทำเผาอิฐขาย ชาวบ้านใช้วิธีขุดเอาดินจากริมตลิ่งมาทำอิฐ มีทั้งแถวอำเภอบางปะหันที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันแทบทุกบ้าน และแถววัดสามวิหาร

แล้วมีหลายครั้งเวลาเล่าเรื่องอาชีพคนทำอิฐ หรือเห็นอิฐเก่า ๆ รวมทั้งซากโบราณสถาน น. ณ ปากน้ำมักแทรกประสบการณ์ผ่านน้ำเสียงบอกเล่าที่เศร้าและเสียดาย โดยจะเน้นเรื่องอุตสาหกรรมขุดอิฐเก่ามาขายที่เคยแพร่หลายในอยุธยาหรือที่เขาใช้คำว่า

“อุตสาหกรรมขุดอิฐเก่ามาขาย กรมศาสนาทำออกหน้าออกตา ประชาทำตาม”

ผมอาจต้องเล่าย้อน ทบทวนถึงมายาคติเกี่ยวกับต้นเหตุการถูกทำลายของอยุธยา เราถูกแบบเรียนสอนมาว่าพม่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้อยุธยาย่อยยับเหลือเพียงซาก แต่ขัดหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาหลังกรุงแตกประมาณ 10 ปี ได้ระบุ กรุงเก่านอกจากการถูกทำลายโดยสงครามแล้ว การขุดวัด พังเจดีย์เป็นฝีมือคนไทยคนจีน ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นช่วงสงครามที่จำเป็นต้องหาทรัพย์สินมาขาย แล้วต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 1 ก็เกิดการขนอิฐจากอยุธยาไปก่อสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพอีกจำนวนมาก 

แล้วถ้าเราย้อนมาอ่านบันทึกการสำรวจของ น. ณ ปากน้ำ เราก็จะเห็นว่าเขาพูดถึงการทำลายขุดอิฐหลายครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้หลักฐานทางโบราณคดีเสียหายไปมาก แล้วส่วนหนึ่งมาจากฝีมือของหน่วยงานราชการสมัยนั้น อาจเป็นเพราะในอดีต องค์ความรู้ในเรื่องการอนุรักษ์ยังไม่แพร่หลาย

“พูดถึงอิฐอยุธยาแล้วรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดของทางราชการอย่างฉกรรจ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการประมูลอิฐจากวัดต่าง ๆ ไปขายเสียมากต่อมาก จนแม้ในรายการรับเหมาของกรมโยธาเทศบาล ครั้งหนึ่งก็มีระบุไว้ในสัญญาว่าให้เอาอิฐหักจากอยุธยา ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายอยุธยาให้ยับเยิน แม้ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการลักลอบขุดอิฐโบราณไปขายอยู่เนือง ๆ ควรที่ทางราชการจะสอดส่องดูแลหาทางแก้ไขเสีย บางแห่งรื้อของโบราณทิ้งอ้างว่าเพื่อปฏิสังขรณ์ แบบนี้ก็เป็นการทำลายเช่นกัน

ผมดูไล่ดูภาพถ่ายเก่าในหนังสือ แต่มาสะดุดตากับซากเจดีย์หนึ่งองค์ ที่มีคำอธิบายว่า

“วัดโบสถ์ราชเตชะ วัดนี้เจดีย์หักกลิ้งเป็นท่อน ๆ เคยเห็นเมื่อสิบกว่าปีก่อนอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็อย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง”

เมื่อเห็นชื่อวัดผมก็ลองตามรอย สุดท้ายผ่านมา 56 ปี เจดีย์องค์นี้ก็ยัง “หักกลิ้งเป็นท่อน ๆ” ไม่ต่างจากวันที่ น. ณ ปากน้ำพบราวกับหยุดเวลาไว้

อโยธยา และดงหมามุ่ย

“การสำรวจของเราได้รับความลำบากเหลือประมาณ เพราะต้องผจญกับหนามและดงหมามุ่ย”

ในหนังสือเล่มนี้ น. ณ ปากน้ำ มีเป้าหมายต้องการสำรวจเพื่อตอบคำถามสองเรื่องหลัก ๆ คือ การตามหาเมืองปทาคูจาม และ เมืองอโยธยาเดิม

อโยธยา คือเมืองโบราณอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านตะวันออก บริเวณปัจจุบันเป็นทางรถไฟและสถานีรถไฟอยุธยา เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองก่อนที่จะย้ายไปฝั่งเกาะเมือง และพัฒนาเป็นอยุธยาในปัจจุบัน

“ข้าพเจ้าจึงตั้งจุดมุ่งหมายขึ้นบ้าง เพื่อที่จะค้นหาความจริงตามแหล่งต่าง ๆ คือหาเมืองปทาคูจาม ตามลำคลองประจาม และค้นหาหลักฐานตามแหล่งที่สงสัยกันว่าจะเป็นเมืองอโยธยาเดิม…”

กลุ่มโบราณสถานเมืองอโยธยาในวันที่ น. ณ ปากน้ำ เดินทางมาสำรวจนั้นยังเป็นป่ารก เจดีย์วัดสมณโกฏฐาราม ยังมีเป็นป่าคลุม ต้นหมามุ่ยขึ้นเต็มไปทั้งป่า ชาวบ้านว่าเจดีย์นี้ศักดิ์สิทธิ์ พบเจอรัศมีแสงพวยพุ่งรอบ ๆ องค์ ในยุคสมัยนั้นมีพบรอยเจาะเจดีย์พรุนไปหมด

หรือแม้แต่บริเวณใกล้กับวัดมเหยงคณ์และวัดช้าง แถบนั้นยังคงเป็นป่าทึบ ชาวบ้านร่ำลือกันว่ามีเสืออยู่ โดยเฉพาะวัดมเหยงคณ์ น. ณ ปากน้ำ เล่าว่าต้องใช้พยายามอย่างมากถึงจะเข้าไปได้ ต้องรอจนหมดหน้านาของชาวบ้าน รอทางเดินแห้งไม่เฉอะแฉะ ล้มเหลวในการเดินทาง 2 ครั้ง จนสำเร็จในครั้งที่ 3 คณะต้องนั่งเรือตามลำคลองขนาดเล็ก ที่ตื้นเขินแคบ แล้วต้องเดินเท้าบุกป่าเข้าไป แล้วจอดเรือไว้ที่วัดดุสิตาราม ก่อนเดินเท้าผ่านผ่านลำรางที่แห้งขอด จึงได้เข้าไปถึงตัววัด

“พักเหนื่อยที่ชายป่า ได้ยินเพียงวิทยุดังออกมาจากกำแพงวัด เข้าใจว่ามีคนอยู่ด้านใน ก่อนจะแหวกพงไม้ไต่เถาวัลย์ขึ้นไปบนกำแพงสูงท่วมหัว”

น. ณ ปากน้ำ บรรยายต่ออีกว่าเมื่อปีนแล้วยืนบนสันกำแพง เขารู้สึกเสียวสันหลังวูบ เพราะเบื้องหน้ามีแต่ป่ารกชัฏมีแต่หนามไม้แหลมคม ต้นหมามุ่ยทอดพวงระย้า และแน่นอนไม่มีมนุษย์อยู่เบื้องหน้าแม้แต่คนเดียว เขาได้เข้าไปสำรวจรอบเจดีย์ช้างล้อมด้วยความลำบากเพราะโดนหนามแหลม และคันหมามุ่ย ระหว่างทางกลับได้แวะคุยกับชาวบ้านที่มาดักปลา

ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนมีทหารมาขุดเจดีย์ มีทั้งฝรั่งมาตั้งแคมป์ แต่ที่นี่เลื่องลือเรื่องผีดุ ไม่มีใครกล้าเข้าไป รวมไปถึงสมัยก่อนมีพระใบ้หวยอาศัยอยู่แถวเจดีย์ทองแดง คนนิยมกันมาก แต่พอท่านรวย ท่านก็สึกแล้วหายหน้าไป

ถ้าการเดินทางไปว่าเหนื่อยยาก ขากลับเหนื่อยกว่าหลายเท่า เพราะต้องเดินฝ่าหนองน้ำมหาประลัย กลัวเจอสัตว์ร้าย หรือจระเข้ ต้องฝ่าป่าหนาม น ณ. ปากน้ำใช้คำว่า สารพัดเหนื่อยล้า กัดฟัน เดินวนหลงทาง เลือดตาแทบกระเด็น 

ในปัจจุบันเราสามารถขับรถเข้าไปถึงทุกวัดที่กล่าวถึง ไม่ต้องเจอหมามุ่ยและหนามแหลม ผมเดินชมเจดีย์ช้างล้อมที่เมื่อ 56 กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านเล่าว่าไม่ไกลจากที่นี่มีเสือแม่ลูกอ่อนอาศัย ผมลองมองภาพถ่ายในเล่มที่ยังพอเห็นความดิบรกของโบราณสถาน แล้วจินตนาการตาม

ผมจับสังเกตได้ว่า น. ณ ปากน้ำ คงเหนื่อยล้าพอสมควร โดยเฉพาะช่วงท้ายการสำรวจ ถ้าเทียบการบันทึกรายละเอียดระหว่างทาง ชีวิตของผู้คนและรายละเอียดเรื่องคูคลอง ถนนหนทางน้อยลงถนัดตา เหลือเพียงว่าวัดนี้มีอะไร ศิลปะยุคไหนเท่านั้น

ก่อนเดินทางกลับผมแวะที่สถานีรถไฟอยุธยา ซึ่งในหนังสือเล่มนี้บรรยายฉากเก่า ๆ ไว้เพียงเล็กน้อย อันที่จริงตั้งใจมาเพราะไม่นานมานี้มีประเด็นร้อนแรงเป็นข้อถกเถียงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงที่ตามแผนพัฒนาจะมีการผ่าต่อเนื่องเมืองโบราณช่วงระยะทาง 13.3 กิโลเมตร จากสถานีบ้านโพ-สถานีพระแก้วพาดผ่านพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเลียบด้านนอกเกาะเมืองอยุธยา (ทับทางรถไฟสายเดิม) 

ในปัจจุบันกำลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “Save อโยธยา” ที่ต้องการให้มีการทบทวนการก่อสร้างใหม่ ไม่ได้คัดค้านความเจริญ แต่มีความเห็นและข้อกังวลว่าควรขยับย้ายออกไปเพื่อความปลอดภัยของโบราณสถาน ทั้งบนดินและใต้ดิน

ตัวอย่างสำคัญคือ วัดวิหารขาว ซึ่งมีเจดีย์อยู่ใกล้กับแนวทางรถไฟประมาณ 30 เมตร เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการขุดแต่ง และอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีเนินดินที่คาดว่าเป็นอาคารศาสนสถาน ที่ยังรอการศึกษาเก็บข้อมูล ซึ่งถ้าเกิดการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง อาจเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผมได้มีโอกาสยืนคุยพี่ด้วง (รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร) แถว ๆ ชุมชนวิหารพระสุริยมุนี (หลวงพ่อคอหัก) ชุมชนที่อยู่ติดกับทางสถานีรถไฟอยุธยาที่สุดแห่งหนึ่ง เบื้องหลังของเราเป็นสะพานคอนกรีตสีเหลืองสดใสกลางสะพานมีตราถ่านไฟฉายมีอักษรไทย-จีน สวยงาม ทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างชุมชนกับสถานีรถไฟ ผมขอให้พี่ด้วงช่วยอธิบายถึงคุณค่าของสะพานนี้ในฐานะความทรงจำของชุมชน

“นอกจากประโยชน์ในการใช้งาน สะพานนี้มันสร้างริมทางรถไฟ แต่เดิมสะพานนี้ยาวกว่านี้ เมื่อมีการทำทางรถไฟทางคู่มาสู่อยุธยา สะพานก็เลยถูกตัดครึ่ง และแน่นอนถ้าทางรถไฟความเร็วสูงมา สะพานตรงนี้ก็ต้องหายไป ประวัติศาตร์ความทรงจำของท้องถิ่นที่ไม่ใช่เรื่องวัดเรื่องวัง ซึ่งมันประกอบร่วมเป็นอยุธยาทุกวันนี้คงจะลบหายไปด้วย” 

นอกจากนี้พี่ด้วงยังชี้ให้ดูบ้านพักรถไฟ และใกล้ ๆ กันมีถังน้ำเติมหัวรถจักรไอน้ำ มรดกวัฒนธรรมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอยุธยา

ทั้งสะพานและถังน้ำเติมหัวรถจักรไอน้ำต่างเป็นเพียงจิ๊กซอว์ที่บอกเล่าการประกอบสร้างเป็นอยุธยาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ คำถามคือในการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงได้มองความทรงจำเหล่านี้ แล้วจัดวางไว้ตรงส่วนไหนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ไม่นับรวมหลักฐานทางประวัติศาตร์ และโบราณคดีอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในอนาคต

ผมยืนดูผู้คนเดินขึ้นรถไฟ แล้วนึกย้อนถึงถ้อยความที่ น. ณ ปากน้ำ บ่นปนเศร้าเวลาเห็นภาพซากอิฐซากปูนที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะการประมูลอิฐจากวัดต่าง ๆ หรือการไถกลบ “ปราบ” ทั้งจากหน่วยงานรัฐ และประชาชนในอดีต หลักฐานโบราณคดีหลายพื้นที่โดนทำลายเพราะไม่ได้มีการศึกษาอย่างรัดกุม องค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ยังไม่พัฒนาเท่าปัจจุบัน ถ้าอดีตคือบทเรียน ผมคิดว่าวันนี้เรามีแนวโน้มจะซ้ำรอยเดิม

ผมเชื่อว่ายังไม่สาย ถ้าเราจะช้าลง แล้วคิดทบทวนถึงการก่อสร้างที่เสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อหลักฐานโบราณคดี คุณค่าของอยุธยาในฐานะนครประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นของคนอยุธยา หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นมรดกของคนทั้งประเทศ ควรใช้โอกาสที่เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ เปิดโอกาสให้สังคมได้ถกเถียงอย่างรอบด้าน

หนังสือ: ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา
ผู้เขียน: น. ณ ปากน้ำ
สำนักพิมพ์: เมืองโบราณ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี