Space for Thai
นิศาชล คำลือ
ต้องยอมรับเลยว่า การเติบโตของเทคโนโลยีส่งผลให้มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายขึ้น โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีผลกับชีวิตประจำวันของเราก็คือ เทคโนโลยีดาวเทียม อย่างเช่น ดาวเทียมสำหรับทำแผนที่นำทางและดาวเทียมอินเทอร์เน็ตเพื่อการสื่อสาร ยิ่งเรามีดาวเทียมเหล่านี้มากเท่าไหร่ ยิ่งช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการทำงานอย่างเป็นระบบของดาวเทียม
แต่ในทางกลับกัน ดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปในวงโคจรรอบโลกตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่มนุษย์เริ่มเรียนรู้การส่งวัตถุขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดได้กลายเป็นขยะจำนวนมาก ซึ่งยากจะจัดการ ดาวเทียมบางดวงอาจถูกเลิกใช้งานไป เพราะมีอุปกรณ์บางส่วนเสื่อมสภาพ และดาวเทียมบางดวงก็ถูกเลิกใช้งานไปเพราะมีการพัฒนาชิ้นส่วนใหม่ ๆ ที่ทันสมัยกว่ามาแทน
โดยมีดาวเทียมที่ถูกเลิกใช้งานไปแล้วจะถูกเรียกว่า ขยะอวกาศเทียม เพราะเป็นขยะในอวกาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มีจำนวนที่สามารถติดตามได้ 27,000 ชิ้น แต่นักดาราศาสตร์คาดว่าขยะอวกาศเทียมอาจมีจำนวนมากถึง 150 ล้านชิ้น และแน่นอนว่าขยะกว่า 150 ล้านชิ้น ลอยอยู่เหนือศีรษะของพวกเรา !
แต่มันจะกระทบกับเราอย่างไร แน่นอนว่าขยะอวกาศเทียมที่เป็นชิ้นส่วนของดาวเทียมไม่ได้มีขนาดใหญ่พอที่จะตกลงสู่บ้านเรือนของประชาชนเพราะมันมีแนวโน้มจะถูกเผาไหม้ด้วยชั้นบรรยากาศโลกจนหมดเสียก่อน แต่หากวงโคจรของเราเต็มไปด้วยขยะอวกาศ เราจะไม่สามารถส่งวัตถุใด ๆ ทะลุวงโคจรรอบโลกออกไปได้ ไม่ว่าจะเป็นยานอวกาศ, กล้องโทรทรรศน์อวกาศและดาวเทียม ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะทำให้เกิดพัฒนาของเทคโนโลยีอวกาศชะงักตัวลง
นี่เป็นเพียงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์บนพื้นโลกอย่างเรา ๆ ยังไม่รวมถึงผลกระทบของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศที่อันตรายถึงชีวิต หากสถานีอวกาศถูกชนด้วยขยะอวกาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตรขึ้นไป สถานีอวกาศจะระเบิดออกราวกับถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่เพราะวัตถุในวงโคจรรอบโลกของเราเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงทำให้มันไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดใหญ่ก็สามารถสร้างความเสียหายระดับมโหฬารได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม มี 2 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นถึงปัญหาขยะอวกาศในวงโคจรและเริ่มใช้มาตรการจัดการ นั่นก็คือนาซา (NASA) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยองค์การอวกาศยุโรปมีแผนที่จะดักจับขยะอวกาศที่เป็นขององค์การอวกาศยุโรปซึ่งยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด เพื่อนำกลับเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกและก่อให้เกิดการลุกไหม้จนสูญสลายไป
แม้จะยังไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติบนโลก 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่างจากการเผาไหม้บนพื้นโลก แต่ในปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีเพียงวิธีการนี้เท่านั้นที่ได้ผลและประหยัดทรัพยากรมากที่สุด
ขยะจากอุตสาหกรรมอวกาศไม่ได้ก่อให้เกิดขยะเพียงแค่ในอวกาศเท่านั้นแต่ยังก่อให้เกิดขยะบนพื้นโลกด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นการใช้งานจรวด ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ยังเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่สามารถสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยการนำกลับมาใช้ใหม่ดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกส่วน บางชิ้นส่วนของจรวดไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และจะต้องผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อประกอบกับส่วนที่เหลือ
โดยไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าชิ้นส่วนจรวดที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้วถูกนำไปจัดการต่ออย่างไร
ตรงนี้เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดที่ประสงค์จะพัฒนาจรวดเป็นของตนเองหรือนำเข้าจรวดของหน่วยงานอื่นมาใช้จะต้องมีมาตรการจัดการกับขยะที่เกิดจากชิ้นส่วนจรวดเหล่านี้
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศด้วยเพราะใน 1 ปี การปล่อยจรวดก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 1,000,000 กิโลกรัม
ดูแล้วก็ยังไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตของเราอย่างจัง ๆ ใช่หรือไม่ ? งั้นคุณผู้อ่านลองคิดดูว่าหากพรุ่งนี้รัฐบาลไทย (เรื่องสมมุติ) ตัดสินใจสร้างสเปซพอร์ต (Spaceport) หรือลานปล่อยจรวดไม่ไกลจากบ้านของคุณมากนัก สิ่งแรกที่จะกระทบคุณแน่ ๆ คือเสียงดังของการระเบิดเครื่องยนต์จรวด ต่อมาอากาศแถวบ้านของคุณจะมีระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงกว่าที่อื่น สุดท้ายแล้วเงินภาษีของคุณจะต้องเสียไปกับการส่งออกขยะไปยังประเทศเพื่อนบ้านหากประเทศของคุณไม่รู้ว่าจะจัดการกับขยะจากอุตสาหกรรมอวกาศอย่างไร
อ้อ อีกเรื่องคือหากคุณเดิน ๆ อยู่นอกบ้านอาจจะมีชิ้นส่วนจรวดตกใส่ศีรษะคุณด้วยก็ได้เพราะเคยมีกรณีชิ้นส่วนจรวดของบริษัท สเปซเอ็กซ์ตกใส่พื้นดินบริเวณฟาร์มของชาวบ้านในออสเตรเลีย มันตั้งตระหง่านราวกับเป็นอนุสรณ์สถานบางอย่างแต่โชคดีที่มันไม่ไปทำให้ใครเป็นอันตราย ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยอีกเช่นกันว่าบริษัทดังรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
สรุปก็คือใช่แล้ว ! อุตสาหกรรมอวกาศกำลังทำร้ายโลกของเราทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ทั้งนอกโลกและบนพื้นโลก แต่ข่าวดีคือเราสามารถเริ่มหาทางออกกับมันได้ตั้งแต่วันนี้ เช่น การวางแผนจัดการขยะอวกาศของนาซาและองค์การอวกาศยุโรป ซึ่งผู้เขียนมองว่า 1 ในเรื่องที่ท้าทายต่อจากนี้ก็คือการร่างข้อกำหนดด้านกฏหมาย อย่างเช่น การบังคับให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบต่อดาวเทียมในวงโคจรที่หมดอายุแล้วของตนเอง, การกำหนดข้อบังคับสำหรับสร้างสเปซพอร์ต รวมไปถึงการรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของบริษัท