วันนั้น เป็นเวลาใกล้เที่ยง ทางการประกาศอุณหภูมิสูงสุดรายวันที่วัดได้ 40 องศาเซลเซียส ลมร้อนสักหอบหนึ่งพัดพาฝุ่นลอยฟุ้ง เสียงเครื่องยนต์ 155.00 ซีซี.คำรามก้อง ฉันเริ่มผ่อนคันเร่ง แตะคลัทช์ ไต่เนินหินและดินลูกรังไปทีละหลักกิโลเมตรในเส้นทางสายรอง เพียงเพื่อจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างบ้าคลั่ง ไม่มีร้านรวง ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีปั้มน้ำมัน และร้างผู้คน เป็นสี่อย่างที่ยืนยันได้ว่าใกล้ถึงชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน เดิมทีเคยเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าของเรือสำเภาจีนและเรือพาณิชย์เป็นชุมชนขนาดใหญ่ของชาวจีนโพ้นทะเล มาวันนี้ที่ผู้คนและหมู่บ้านหายไปจากแผนที่โลกจากวิกฤติกัดเซาะชายฝั่งที่กลืนกินแผ่นดินจมหายไปในอ่าวไทย เหลือไว้เพียงวัดจมน้ำที่ยังเปิดปิดตามเวลาให้กับนักท่องเที่ยว
มันเป็นความรู้สึกประหลาดพิกลที่ไม่แน่ใจว่าดีหรือร้ายสำหรับผู้มาเยือน ด้านหนึ่งก็ตื่นเต้นเร้าอารมณ์ แต่อีกด้านสั่นไหว ครั้นคร้ามในวงเล็บของประโยค[ปฏิเสธ]ที่จะต้องอยู่อย่างทรหดอดทน หรือไม่ก็ “ชีวิตเราไม่ได้ยืนยาวพอที่จะอยู่อย่างอดทน” ยูซึเกะปลุกปลอบฉันให้ตื่นจากฝันกลางวันแสก ๆ บนถนนสายรองสายขุนสมุทรศิริโชติวัฒน์
ไกลออกไปจากชายฝั่ง มันจะมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า นี่คือ ชีวิตที่ต้องอยู่อย่างทรหดอดทน 73.4K กดรีทวิตภาพเมืองเชียงใหม่ที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นหนาสีซีเปียทั้งเมือง “มันไม่ใช่ที่ที่คนจะอยู่ได้เหรอ” ilovemilitary ถามแทนคนเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่สะสมมายาวนาน ยังไม่นับรวมถึงหลายจังหวัดข้างเคียงในภาคเหนือก็เข้าขั้นวิกฤตสะสม มีรายงานผู้ป่วยที่จากมลพิษทางอากาศสะสมแล้ว 2,019,854 ราย จึงไม่แปลกใจที่ไม่ว่าจะหญิงนิรนามหรือเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คนกรุงฯ หรือคนเหนือ ล้วน Call out โดยพร้อมเพรียง เรียกร้องให้รัฐประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยมิได้นัดหมาย ทั้งยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และ PM10 ให้เป็นวาระที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน
ไม่ว่าจะอธิบาย ร้องขอ หรือยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มในสัปดาห์นี้ก็ดูเหมือนจะไร้สัญญาณตอบกลับ เมื่อการรับรู้โลกของประชาชนกับผู้มีอำนาจกลับกลายเป็นคนละเรื่องในเอกภพเวิ้งว้างสิ้นหวัง แม้จะเป็นนาทีทองของการทำคะแนนในห้วงเวลาที่ถนนทุกสายมุ่งสู่สัปปายะสภาสถาน
“ทำไม่ได้” หรือ “ไม่ได้ทำ” ประเทศก้าวไปข้างหน้าไม่ได้หรอกนะคะ ถ้าประชาชนสุขภาวะย่ำแย่” ซุ่มเสียงของหญิงวัยกลางคนที่นิยามตนเป็นผู้ประสบภัย อาศัยอำนาจประชาชน ผู้มีสิทธิพื้นฐานในการหายใจ บ้างก็ว่า ถ้า “ทางการไม่ประกาศ ประกาศเองก็ได้” หมอหม่อง – นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นคนแรก ๆ เขียนประกาศ ให้พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นพื้นที่ประสบภัย ลงในกระดาษเปล่าที่เขียนด้วยลายมือหมอ
ทันทีที่เสียงร้องขอสิ้นสุด คำตอบ ในรูปนามของคำถามก็ปรากฏชัดในถ้อยคำของ รมว.มหาดไทย ที่ไม่สามารถประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยได้ “เพราะไม่รู้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะกำหนดด้วยค่าอะไร” ความตอนหนึ่งที่ รมว.มหาดไทยตอบคำถามสื่อมวลชน ราวกับความจริงของฝุ่นมหาศาลถูกจับยัดถ่วงน้ำในสองประโยค
คล้ายฉากตอนหนึ่งในโลกแบน ๆเส้น ๆ ของเอ็ดวิน แอ็บบอตต์ ผู้เขียน Flatland ที่แทนตนเองเป็นนายสี่เหลี่ยมในโลกแบน เมื่อเขาพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยากเย็นต่อการอธิบาย เพราะท่ามกลางสมาชิกโลกแบนราบ มิติความลึกไม่มีจริงสำหรับผู้ปกครองในโลกนั้น เลวร้ายกว่านั้นยังถูกผู้ปกครองหยามเหยียดว่าเป็นเพียงผู้หญิง ในโลกที่ใช้เสียงกำหนดเพศสภาพ และปิตาธิปไตยในโลกแบนด้วยแล้ว แม้จะพยายามอธิบายว่าเพศไม่ได้กำหนดด้วยโทนเสียงแต่เป็นรูปทรง แต่ก็เหมือนเหนื่อยเปล่า เพราะผู้ปกครองไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องรูปทรงใด ๆ เพราะเขาเองก็เป็นเพียงเส้นที่เชื่อว่าตัวเองใหญ่โตตามคำบอกเล่าของคนรอบข้าง
“จะมีอะไรไร้เหตุผลและอวดดียิ่งกว่านี้ เอ็งจงยอมรับความโง่เง่าเสีย หรือไม่ก็ไสหัวไปจากอาณาจักรของข้า” คำอธิบายแม้ไร้ผลซ้ำยังถูกผลักไสให้ออกไปจากอาณาจักร Flatland ใน ค.ศ.(1884)นั้น กับ พ.ศ.นี้ที่ผู้มีอำนาจถูกจำกัดการรับรู้ได้แค่กว้าง ยาว สูง และมองเวลาเป็นเพียงสิ่งที่ไหลผ่านไป แอบบอตต์ จงใจใช้สายตาของนายสี่เหลี่ยมเป็นตัวแทนในการมองโลก จนรู้ว่าหากถูกจำกัดมุมมองจะเห็นโลกรอบข้างเป็นอย่างไร ก็เหมือนการตั้งคำถามอีกด้านว่า ตัวเราเองที่สังกัดอยู่ในสามมิติ ก็คงมีอะไร ๆ ที่ถูกจำกัดไม่ให้มองเห็นหรือเข้าใจบางสิ่งเช่นกัน เพียงแต่ พ.ศ.นี้ปัญหานี้ไม่ใช่ประชาชนที่ถูกจำกัดการมองเห็นปัญหา แต่กลับเป็นผู้มีอำนาจที่จำกัดตนและพวกไว้ในวงล้อมของกระดาษที่มีบรรดาเส้นตรง รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยม และรูปร่างอื่น ๆ ทว่าไม่มีอำนาจจะลอยตัวขึ้นหรือจมตัวลงใต้พื้นผิวกระดาษ “เอกภพของข้า” เมื่อเขาเริ่มเล่าเรื่องประชากรของโลกแบน หนังสือเล่มนี้ก็กำลังพาเราเข้าสู่ดินแดนแบนราบที่มีเพียงสองมิติ เป็น จุด ๆ เส้น ๆ ไม่ใช่เพราะเขาเรียกขานมันด้วยชื่อนี้ แต่เรียกชื่อนี้ เพื่อให้ธรรมชาติของโลกเส้นชัดเจนขึ้น เริ่มจากผู้พักอาศัยในโลกแบนประมาณได้ว่ามีขนาดราวสิบเอ็ดนิ้วล้วนประกอบด้วย ประชากรเรขาคณิต ที่ไม่โรแมนติกเหมือนชื่อหนังสือ
ผู้หญิงเป็นเส้นตรง ต่างกันแค่ความสั้นยาว
แรงงานชั้นต่ำสุด คือรูปสามเหลี่ยมที่มีสองด้านยาวเท่ากัน พวกเขาสร้างมุมที่ยอดได้แหลมคมน่าครั่นคร้าม
ชนชั้นกลางของเราประกอบด้วยรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือรูปสามเหลี่ยมที่มีทุกด้านยาวเท่ากัน
ผู้เชี่ยวชาญหรือบุรุษคือรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งเป็นชนชั้นที่เขาสังกัดอยู่
สูงจากนั้นไปคือชนชั้นนำ และผู้ปกครองซึ่งมีด้วยกันหลายลำดับ เริ่มตั้งแต่รูปหกด้านหรือรูปหกเหลี่ยม ยิ่งมีจำนวนด้านมากก็ยิ่งเป็นชนชั้นสูงขึ้นไปจนถึงรูปหลายเหลี่ยม (โพ-ลีกอน) ผู้ปกครองจะตรากฎหมายจำนวนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกันไป เพราะมองว่าผู้หญิงเป็นภัยคุกคามในรัฐต่าง ๆ ของโลกเส้น บางรัฐออกกฎหมายเพิ่มเติมโดยมีบทลงโทษขั้นรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต ทุกรัฐก็ห้ามสตรีเดินหรือยืนในที่สาธารณะ บางรัฐบังคับให้ผู้หญิงเดินทางได้โดยต้องมีผู้ติดตามเป็นบุตรชาย หรือคนใช้ หรือสามี บ้างก็จองจำผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้านโดยสิ้นเชิง นายสี่เหลี่ยมอาศัยอยู่ในระเบียบแบบแผนของสังคมที่ยินดีกับการมีชนชั้น รังเกียจการกระด้างกระเดื่องของแรงงานชั้นต่ำสุด ยกย่องความสูงส่งของชนชั้นนักบวช เหมือนเป็นคุณค่าปกติโดยไม่ต้องปริปากถามด้วยประการทั้งปวง
ทั้งกดข่ม รัฐด้อยความเจริญบางแห่งให้สตรีคนใดที่ยืนให้ที่สาธารณะโดยไม่ส่ายหลังตลอดเวลา เพื่อแสดงการปรากฏตัวของหล่อนเป็นรัฐที่ล้าหลัง กฎธรรมชาติคือ “เกิดเป็นหญิงต้องเป็นหญิงวันยังค่ำ” กระทั่งกฎวิวัฒนาการเองก็ดูจะพักไว้ด้วยความไม่เห็นชอบผู้หญิง ลิขิตไว้โดยชายที่ปรารถนาให้ปราศจากความหวัง ทั้งทุกข์ยากลำเค็ญเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในโลกเส้น
ผู้มีอำนาจมองไม่เห็นรูปร่างของผู้อื่น เพราะมองอะไรไปก็จะเห็นเป็นเส้นตรงไปหมด ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ผู้ปกครองโลกเส้นรับรู้
ผู้อ่านจะไม่ประหลาดใจเลย เมื่อรู้ว่าชีวิตในโลกแบนนั้นน่าเบื่อที่อะไร ๆ ก็เป็นจุด ๆ เส้น ๆ วันใดวันหนึ่งจึงมีเหตุปะทะ ขัดแย้งกันเกี่ยวพันกับปัญหาชีวิตและปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ปะปนกันอย่างน่าประหลาดที่โหมกระพือราวไฟป่าลุกลามเขาวังรี เมื่อการมาถึงของโครมาติสเตส ได้พาความบังเอิญของการค้นพบองค์ประกอบของสีพื้น ๆ ที่ว่ากันว่าเขาเริ่มตกแต่งบ้านของตนก่อนตามด้วยการตกแต่งของพวกทาส บิดา บุตรชาย หลานชาย ไม่ว่าโครมาติสเตส ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกความสนใจได้ทันที เขาไม่ต้องคอยเหน็ดเหนื่อยเปล่งเสียงประกาศตน เหมือนชาวรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและรูปห้าเหลี่ยมไร้สีต้องทำเวลาเคลื่อนตัว ท่ามกลางเหล่ารูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วผู้ไม่เดียงสา
โครมาติสเตส แพร่หลาย รวดเร็วเหมือนไฟป่า ไม่ถึงสัปดาห์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและรูปสามเหลี่ยมทุกคนในท้องถนนถูกมองเห็น มีแค่รูปห้าเหลี่ยมหัวอนุรักษ์เพียงไม่กี่คนที่ต่อต้าน แม้แต่พวกรูปสิบสองเหลี่ยมก็ยังเข้าร่วมนวัตกรรมนี้ ไม่ทันครบปีก็ทั่วถึงสิ้นทุกคน ยกเว้นบรรดาผู้สูงศักดิ์ที่สุดจริง ๆ และภายในสองชั่วคน ก็ไม่มีใครเลยที่ไม่มีสีในโลกแบน เดินทางข้ามเวลามาที่โลกจริง เพียงแค่เดือนเดียวก็ไม่มีใครโรแมนติกไปกับทุ่งฝุ่นลาเวนเดอร์ หนำซ้ำยังอื้ออึงไปด้วยความทุกข์ร้อนเดือดดาลโดยไม่ลดราวาศอกแต่อย่างใด
หนังสือ: Flatland: A Romance of Many Dimensions
ผู้เขียน : Edwin A. Abbott (เอ็ดวิน เอ. แอ็บบอตต์) ,ผู้แปล อิศรา โฉมนิทัศน์
สำนักพิมพ์: สมมติ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี