"Bura naa mano, Holi hai” เทศกาลสาดสีที่การคุกคามทางเพศไม่สมควรให้อภัย - Decode
Reading Time: 3 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

โฮลีในความทรงจำใจ

“หิรัณยกศิปคืออสูรที่ได้รับพรจากพระพรหมให้เป็นอมตะ ด้วยความที่มีอำนาจมาก หิรัณยกศิปจึงอยากให้ทุกคนเคารพบูชาในตัวเขา ในขณะที่ทุกคนเคารพยำเกรงหิรัณยกศิป ลูกชายของเขาที่มีชื่อว่าประหลาด กลับไม่เคารพในตัวพ่อของตัวเอง แต่ไปเคารพบูชาในตัวพระวิษณุ

“หิรัณยกศิปต้องการกำจัดลูกชายตัวเอง จึงออกกลอุบายให้นางโหลิกาผู้เป็นน้องสาว ล่อหลอกให้ประหลาดเข้าไปในกองไฟเพื่อให้ถูกเผา โดยนางโหลิกามีเสื้อคลุมวิเศษที่เมื่อใส่แล้วจะไม่ถูกไฟไหม้ เมื่อวางแผนเสร็จนางโหลิกาเรียกประหลาดให้เข้ามากอดเธอ โดยในขณะที่ประหลาดกำลังกอดเธอนั้น เธอก็ได้จุดไฟ ปรากฏว่าเสื้อคลุมกลับมาห่อหุ้มที่ร่างกายของประหลาด จนทำให้นางโหลิกาโดนไฟคลอกตาย”

อรูชิ โกเอล (Arushi Goel) อดีตนักศึกษาปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์แฟชั่น มหาวิทยาลัย Delhi เล่าเรื่องราวความเป็นมาของเทศกาลโฮลี (Holi Festival) ให้ผมฟัง เธอกล่าวว่านางโฮลีกาแม้จะมีพลังวิเศษ แต่ต้องตายเพราะมีความเกลียดชังอยู่ในใจ แต่ในขณะที่ประหลาดเป็นแค่เด็กหนุ่มธรรมดา เขากลับรอดตายจากกองไฟเพราะเชื่อมั่นในความรัก

“ดังนั้นถ้าเรามีความรู้สึกโกรธใครสักคน เราไม่ได้กำลังจุดไฟเผาเขาเท่านั้น แต่เรากำลังจุดไฟเผาตัวเราเอง”

เทศกาลโฮลีเป็นสัญลักษณ์ของความรักและการให้อภัยแม้กับคนที่คิดร้ายต่อเรา อรูชิเล่าเรื่องราวหนึ่งในเทศกาลที่เธอชื่นชอบ นอกจากประวัติความเป็นมาของเทศกาล อรูชิเองก็มีความทรงจำกับเทศกาลโฮลี

“สมัยประถม ก่อนถึงเทศกาลโฮลีครูจะให้เขียนจดหมายถึงเพื่อนที่เคยผิดใจกัน เราจะเขียนความรู้สึกถึงเขา จากนั้นจะเล่นสาดสีเพื่อให้ลืมเรื่องราวที่เคยบาดหมางกัน เทศกาลโฮลีจึงเป็นเหมือนวันที่ทุกคนพร้อมจะให้อภัย”

อรูชิเริ่มต้นเล่าเรื่องราวความทรงจำของเธอในโรงเรียน ก่อนที่เธอจะเล่าต่อถึงช่วงเวลาที่เธอร่วมเฉลิมฉลองกับคนในครอบครัว

“ลุงฉันมีบ้านสวน ในเทศกาลโฮลีครอบครัวของฉันจะเดินทางมารวมตัวกันที่ฟาร์ม ตอนเช้าเราต่างเอาลูกโป่งใส่น้ำและโยนใส่กัน มันเป็นวันที่ฉันจะได้เล่นสนุกร่วมกับญาติพี่น้องของฉัน”

อรูชิกล่าวพร้อมรอยยิ้มเมื่อเธอย้อนนึกถึงเรื่องราวในวันวาน

“พอตกช่วงบ่าย พ่อแม่ฉันก็จะทำอาหาร ขนมหวาน เพื่อเฉลิมฉลองด้วยกันในครอบครัว คุณปู่ของฉันจะทำบังให้ทุกคนได้ดื่มกัน โฮลีคือช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน”

โดยบัง (Bhang) ที่อรูชิกล่าวถึงนั้น คือการนำใบกัญชาและสมุนไพรมาบดจนกลายเป็นก้อน คนอินเดียมักนำบังมาผสมกับนมดื่มกันในช่วงเทศกาลโฮลี โฮลีเป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนอินเดียจะกลับมาพบปะสังสรรค์กัน 

“เราต่างทำงานหนักจนไม่มีเวลาได้พบเจอพูดคุยกันในครอบครัว จึงไม่แปลกที่ทุกเทศกาล มันคือ

การกลับมาพบกันของคนในครอบครัว” 

แต่ปีนี้อรูชิไม่ได้กลับไปร่วมเฉลิมฉลองโฮลีที่บ้านเกิดของเธอ เพราะพ่อของเธอเพิ่งเสียชีวิต จึงเป็นเหตุผลที่ครอบครัวของเธอเลือกที่จะไม่เฉลิมฉลองโฮลี

“ฉันรู้สึกแย่ที่ไม่ได้เฉลิมฉลองในปีนี้ มันเป็นโฮลีครั้งแรกที่ฉันไม่ได้อยู่กับพ่อ”

แม้เบื้องหน้าของเทศกาลโฮลีจะเต็มไปด้วยสีสัน รอยยิ้ม และความสนุกสนาน แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังสีสันของเทศกาลนี้ ล้วนเต็มไปด้วยความเรื่องราวความทรงจำ และสำหรับผมมันคือโฮลีครั้งแรกของชีวิต!

จากเปลวไฟสู่การสาดสี

1 วันก่อนเทศกาลโฮลีมีการเฉลิมฉลองโดยใช้ชื่อว่า โฮลิกา ดาฮาน (Holika Dahan) อากาศร้อนในตอนกลางวัน เริ่มเย็นสบายลงเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ชาวอินเดียต่างออกมาจับจ่ายซื้อของสำหรับการบูชา 

เมื่อเดินออกไปสำรวจตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ พบว่า ชาวอินเดียจะทำพิธีในค่ำคืนนี้ในเคหสถานของตัวเอง พวกเขาเริ่มเอาท่อนไม้และเชื้อเพลิงมาก่อกองไฟ สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่างมารวมตัว บ้างก็นำสิ่งของที่ไม่ต้องการแล้วโยนเข้ากองไฟ

“เราทำการจุดไฟในวันนี้เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากชีวิต”

ชายอินเดียคนหนึ่งกล่าวกับผม เขาเปิดโอกาสให้ผมได้เข้าไปถ่ายรูปและร่วมพิธีกับพวกเขา เปลวไฟลุกโชนสูงเหนือหัวเหล่าผู้คน ไม่นานสายฝนก็ตกลงมาแผ่วเบา หลังจากชาวอินเดียทำพิธีเสร็จสิ้น ผู้ใหญ่จะมานั่งล้อมวงคุยกัน โดยปล่อยให้ลูกหลานของตัวเองได้วิ่งเล่นกันอยู่รอบ ๆ ร้านค้าเริ่มนำผงสีและปืนฉีดน้ำมาจัดจำหน่าย ชาวอินเดียต่างเตรียมความพร้อมเพื่อรอการมาถึงของเทศกาลโฮลีในวันรุ่งขึ้น

ผมร่วมเทศกาลโฮลีที่วัด Kanifnath Singapur เมืองปูเน่ ภายในวัดเต็มไปด้วยคนเฒ่าคนแก่ที่มาพร้อมลูกหลาน พวกเขาจะทำการกราบไหว้เทพเจ้าของพวกเขาเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเริ่มเล่นสาดสีภายในครอบครัว

ถือเป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างให้เกียรติผู้อื่นในเมืองปูเน่ โดยส่วนใหญ่ชาวเมืองที่นี่จะไม่สาดสีใส่คนแปลกหน้า แต่กลับกันในเมืองอื่น ๆ โดยเฉพาะในอินเดียเหนือผู้คนเฉลิมฉลองกันอย่างบ้าคลั่ง นักท่องเที่ยวหลายคนโดยเฉพาะผู้หญิง ต่างออกมาแชร์ประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศระหว่างเทศกาลโฮลี

มันคือโฮลี อย่าได้โกรธเคืองเพียงแค่เราคุกคามทางเพศคุณ?

“เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่สองของเทศกาลโฮลี เราไปเล่นที่วัดในเมืองมธุรา คนออกันหน้าวัดและเบียดเสียดกัน มีคนมาจับหน้าอกเราส่วนอีกคนก็มาจับถุงผ้าเรา”

อภิวันท์ รัตนวัลย์ หรือตั๊กกี้ หญิงไทยที่หลงรักการท่องเที่ยวอินเดีย แชร์ประสบการณ์ของเธอให้ผมฟัง เธอบอกว่าที่เมืองมธุราเล่นโฮลีกันรุนแรง แต่เธอไม่คาดคิดว่าจะถูกคุกคามทางเพศ

“โชคดีที่มีผู้ชายข้าง ๆ เห็นเหตุการณ์จึงช่วยกันทุบตี แต่ในขณะที่ชุลมุนก็มีคนเอาไอนั้นมาถูก้นเราอีก”

ตั๊กกี้กล่าวว่าการกลับมาเที่ยวอินเดียรอบนี้หลังโควิด คนอินเดียมองคนไทยเปลี่ยนไป เธอรู้สึกถูกคุกคามมากขึ้น และเหตุการณ์ก็ไม่ได้จบเพียงเท่านั้น

“ขากลับคนขับรถขอให้เพื่อนเขานั่งรถมาด้วย เพื่อนเขาขอถ่ายรูปโดยเข้ามาโอบกอดเรา จากนั้นจึงนั่งเบาะหลังมากับเรา มันทำให้เรารู้สึกวิตกกังวลไปตลอดทาง”

นอกจากเรื่องราวของตั๊กกี้แล้ว ลัลลลิลล์ เกียรติวนากร คือสาวไทยอีกคนหนึ่งที่ประสบเหตุการณ์ถูกชายอินเดียคุกคามทางเพศ โดยเธอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม

“ที่พักเราอยู่ห่างจากจุดจัดงานใช้เวลาเดินเท้าครึ่งชั่วโมง วันนั้นบรรยากาศเงียบสงบ ทุกห้างร้านปิดกิจการกันหมด จากนั้นมีกลุ่มผู้ชายวิ่งข้ามถนนมาอีกฝั่งแล้วพูดว่า ‘Happy holi'”

ลัลลลิลล์ กล่าวต่อว่าชายคนดังกล่าวยื่นมือมาขอจับมือเธอ ก่อนที่เธอจะจับมือกลับไป แต่พอชายคนดังกล่าวจับมือเธอได้ เขาก็กระชากตัวเธอไปกอด

“เราตกใจเลยพยายามผลักออก เพื่อน ๆ ของเขาตะโกนชอบใจกันใหญ่”

จากนั้นลัลลลิลล์จึงรีบเดินหนีออกมา พร้อมหยิบสเปรย์แป้งเย็น สิ่งเดียวที่เธอพอจะใช้มาเป็นอาวุธป้องกันตัวได้ แต่เหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไป

“ตลอดเส้นทางที่เดินไปสถานที่จัดงาน จะเจอกลุ่มชายตะโกนตลอดทางว่า ‘Miss, can we play Holi with you?’ จากนั้นพวกเขาจะพยายามมาสัมผัสตัวเรา”

โดยลัลลลิลล์ เลือกที่จะป้องกันตัวเองด้วยการตะโกนกลับไปด้วยความโกรธ เป็นการแสดงท่าทีไม่พอใจให้พวกเขาถอยห่าง แต่ก็ยังมีกลุ่มชายมาขอถ่ายรูป พยายามล็อกคอ และใช้คำพูดในเชิงคุกคามทางเพศเช่น “ฉันชอบหน้าอกของคุณ”

โดยทั้งตั๊กกี้และลัลลลิลล์ ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่อยากมาเทศกาลโฮลีในประเทศอินเดียไว้ว่า

“การมาเที่ยวอินเดียคนเดียว โดยเฉพาะในเทศกาลโฮลี ต่อให้ระวังตัวสุด ๆ ก็ไม่เพียงพอเพราะคนเมาเยอะมาก คงต้องทำใจไว้ก่อนมาว่าภาพที่เห็นไม่ได้สนุกเหมือนสิ่งที่เจอ เท่าที่บอกได้คือแต่งตัวให้มิดชิดปฏิเสธให้เป็น และถ้าโดนคุกคามต้องอย่ายอม” ตั๊กกี้กล่าว

“ถ้าเป็นไปได้ควรมีเพื่อนไปด้วย และหาที่พักในจุดปลอดภัยใกล้กับที่จัดงาน ในช่วงเวลาที่เล่นสาดสีก็ควรแสดงระยะห่างให้พวกเขารู้ว่าการเล่นแบบนี้เรารับไม่ได้ มีสติตลอดเวลาถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยต้องรีบเดินออกมา” ลัลลลิลล์กล่าว

รายงานจากสำนักข่าว CJP ของอินเดีย อ้างอิงข้อมูลการรายงานจากห้องบัญชาการตำรวจเดลีระบุว่า ในเทศกาลโฮลีได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 35,000 เรื่องต่อวัน จากปกติที่ได้รับเรื่องร้องเรียนโดยเฉลี่ย 24,000 เรื่องต่อวัน โดยการร้องเรียนในเทศกาลโฮลีนั้นมี 211 กรณีเป็นการคุกคามทางเพศ 40 กรณีเป็นการใช้อาวุธปืนยิงกัน 142 กรณีเป็นการใช้อาวุธมีดแทงกัน 46 กรณีเป็นเหตุทะเลาะวิวาทบนท้องถนน 21 กรณีเป็นการข่มขืน และ 11 กรณีคือการฆาตรกรรม 

นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอหนึ่งปรากฎในทวิตเตอร์ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งถูกกลุ่มชายวัยรุ่นอินเดียในเมืองนิวเดลีรุมกอด และลูบไล้ไปตามลำตัวและหน้าอกของเธอ หลังจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่จนเป็นไวรัล ไม่นานตำรวจก็สามารถรวบตัวผู้กระทำผิดไว้ได้ แต่ไม่ได้มีการระบุถึงบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดทั้ง 3 คนจะได้รับ

เพื่อนชาวอินเดียหลายคนเลือกไม่ออกจากบ้านช่วงโฮลี ด้วยเหตุผลที่ว่ามีคนอินเดียจำนวนไม่น้อย ใช้เทศกาลโฮลีในการแสดงพฤติกรรมแย่ ๆ แก่คนอื่น ก่อนที่พวกเขาจะกล่าวคำว่า 

“Bura naa mano, Holi hai”

ในความหมายทำนองว่า ‘อย่าได้โกรธเคือง มันคือเทศกาลโฮลี’

“Bura naa mano, Holi hai มันไม่ใช่คำพูดที่น่าสนุกแม้แต่น้อย เป็นเพียงวิธีที่พวกอันธพาลสามารถใช้ในการก่อกวนและทำเรื่องเลว ๆ โดยเฉพาะกับผู้หญิง” Kiran Patwa นักศึกษาชาวอินเดียวัย 20 ปี จากมหาวิทยาลัยเดลีได้กล่าวกับสำนักข่าว The Times of India

Holi shit! สิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การให้อภัย

กลับมาที่เรื่องราวของผมในวัด Kanifnath Temple Singapur หลังจากที่ชาวอินเดียเล่นสาดสี เต้นรำกันจนเหนื่อย พวกเขาจะมากินข้าวกลางวันร่วมกันที่โรงทานของวัด โดยทางวัดจะมีข้าวสวยกับแกงไว้คอยเสิร์ฟ โดยมีของหวานที่ผู้คนต่างทำกันมาจากบ้าน และนำมาแจกให้คนอื่นได้กินร่วมกัน

รอยยิ้มของคนอินเดียยังคงทำให้ผู้มาเยือนอบอุ่นเสมอ หลังจากที่เรากินข้าวกันเสร็จ ผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นยังคงเล่นสาดสีกันต่อจนถึงช่วงบ่าย

อากาศร้อนระอุในยามบ่าย โฮลีคือสัญญาณการส่งต่อของฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน จุดจบของฤดูหนาวที่มาพร้อมพันธสัญญาแห่งการให้อภัย เหมือนดังที่อรูชิเคยบอกกับผมถึงสิ่งที่เธอสัญญากับตัวเองในปีนี้ว่า

“ฉันให้อภัยทุกคนในชีวิตของฉัน ฉันไม่มีความรู้สึกแย่ ๆ ให้กับใคร เพราะชีวิตมันสั้นเกินกว่าที่จะมาทะเลาะกัน ฉันหวังเพียงว่าถ้าฉันเผลอทำให้ใครรู้สึกไม่สบายใจ พวกเขาจะยกโทษให้ฉันและสนุกสนานกับช่วงเวลาที่พระเจ้าประทานพรให้เรา”

บางเรื่องเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การให้อภัย แต่กับบางเรื่องโดยเฉพาะเหตุการณ์คุกคามทางเพศ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเทศกาลโฮลีทุกปี เป็นสิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การให้อภัย เมื่อชาวอินเดียบางส่วนนำเทศกาลมาใช้เพื่อตอบสนองความใคร่ของตนเอง 

“สิ่งที่เจอไม่ได้ทำให้เรากลัวอินเดียไปเลยนะ เพราะด้านที่ดีของประเทศนี้เราก็เจอมาค่อนข้างเยอะ” ตั๊กกี้กล่าว

“เรายังชอบเทศกาลนี้เหมือนเดิม ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล เพราะยังมีคนดีอีกมากที่ช่วยเราตอนโดนสีเข้าตา ลุงคนหนึ่งที่เอาน้ำกับผ้าเช็ดหน้ามาให้ ความสนุกสนานและความสวยงามของวัฒนธรรมอินเดีย ยังคงอยากทำให้เรากลับมาเที่ยวอีก” ลัลลลิลล์กล่าว

สำหรับตั๊กกี้และลัลลลิลล์ 2 สาวนักท่องเที่ยวชาวไทย เทศกาลโฮลีและประเทศอินเดียยังคงสร้างความประทับใจให้กับพวกเธอ แต่หากประเทศอินเดียยังคงปล่อยให้สิ่งเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ความน่ากลัวของประเทศอินเดียต่อสายตาชาวโลก แม้หลายคนจะหลงรักวัฒนธรรมอินเดีย แต่สิ่งเหล่านี้จะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนภายนอกต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

อ้างอิงข้อมูล

Twitter

CJP

Time of India