ไม่แตะทุนใหญ่ตัวการ PM 2.5 'เราก็ไม่รอดกันหมด' - Decode
Reading Time: 3 minutes

บ่ายวันที่ 10 มีนาคม 2566 ข้อมูลจากเว็บไซต์ IQAir ที่จัดอันดับมลพิษของเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โชว์หราว่าระดับมลพิษทางอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ทะยานขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 178 US AQI (Air Quality Index) ส่วนกรุงเทพมงลงเป็นอันดับที่ 5  ด้วยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 161 AQI ที่ผ่านมาผู้คนต่างรอคอยอย่างมีความหวังให้รัฐผ่านร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับประชาชน และ ร่าง พ.ร.บ.การรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register-PRTR) แต่ปรากฎว่ากฎหมายทั้งสองฉบับถูกปัดตกทั้งคู่ เมื่อความหวังดับวูบลง จึงเกิดคำถามมากมายในใจประชาชนที่ถูกคุกคามจากฝุ่นทะลุแมสก์ต่อเนื่องนานหลายปี

รัฐเห็นอะไรสำคัญและเร่งด่วนไปกว่าชีวิตของคนในประเทศ?

แก้ปัญหา PM 2.5 ที่ปลายเหตุไม่เคยได้ผล ทำไมไม่แก้ที่ต้นตอ?

ไม่อยากตายผ่อนส่งเพราะมลพิษทางอากาศ เราทำอะไรได้บ้างในฐานะพลเมือง?

De/code ค้นหาคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรง มานพ บุญยืนกุล ผู้ใหญ่บ้านชุมชนอาข่าบนดอยสูง กับปัญหาหมอกควันจากไฟป่าที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลย ชัชวาล ทองดีเลิศ ตัวแทนภาคประชาสังคม ผู้ร่วมก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่เพื่อรับมือกับมลพิษทางอากาศ รวมทั้ง ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และนักวิจัยเรื่อง PM 2.5 ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน เริ่มต้นหาคำตอบของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ ก่อนจะขยายสู่ภาพใหญ่ในระดับประเทศเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์นี้ร่วมกัน

แก้ปัญหาแบบเดิม ๆ อย่าหวังผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้น

“ทุกปีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะมีคำสั่งจากราชการห้ามเผาทุกอย่าง ตั้งแต่ขยะในชุมชนจนถึงเผาในทุกพื้นที่ เขาไม่เคยคุยกับเราเลย แทงคำสั่งลงมาอย่างเดียว ถ้าเราไม่ทำตามจะมีการลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ จับได้ก็โดนเลย ผมว่าวิธีการจัดการมันไม่ถูกต้อง คือเขาคิดเองว่าถูกต้อง แต่มันไม่ใช่”

มานพ บุญยืนกุล ผู้ใหญ่บ้าน วัย 50 ของหมู่บ้านป่าเกี๊ยะ ชุมชนชาติพันธ์อาข่าในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เล่าว่าเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา มีมาตรการจากภาครัฐสั่งให้งดการเผาทุกอย่างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเพื่อแก้ปัญหามลพิษจากหมอกควัน คำสั่งนี้คือนโยบายการห้ามเผาในที่โล่ง (Zero Open Burning) ของคณะกรรมการควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรการห้ามเผาแบบเข้มข้นที่เกิดขึ้นกระทบต่อวิถีของชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นของการเกิดไฟป่าที่มีอุบัติการณ์รุนแรงกว่าที่เคยเป็นมาตามธรรมชาติ

ผู้ใหญ่มานพย้อนเล่าให้ฟังว่าชาวอาข่ามีวัฒนธรรมการจัดการไฟที่สืบต่อกันมา เป็นวิถีที่ไฟจะไม่ลุกลามรุนแรง เป็นผลดีต่อพืชผลการเกษตรเพราะปุ๋ยที่ได้จากการเผาในฤดูกาลที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และอยู่ในวิสัยที่ควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามได้ นอกจากนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ป่า เพราะไฟที่ควบคุมและจัดการได้จะไม่ลามไปยังจุดกำบังตัวของสัตว์ป่าตรงพื้นที่หรือพงหญ้าอันชุ่มชื้น ซึ่งเป็นแนวกันไฟตามธรรมชาติ

“วิถีปกตินั้นเราเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืช เตรียมทำการเกษตรเมื่อถึงฤดูกาล ราว ๆ เดือนมีนาหรือเมษา แต่เราเผาในไร่ตัวเอง หรือมีในป่าบ้าง แล้วขี้เถ้ามันเป็นปุ๋ยที่ดีมาก เพราะสมัยก่อนไม่ได้ใช้ยาฆ่าหญ้า หรือปุ๋ย พอเผาหญ้าแล้วมันจะไม่ขึ้นอีกประมาณหนึ่งปี ปลูกอะไรก็งาม เราทำกันมาแต่ดั้งเดิม สมัยก่อนเวลาเผาเราไม่ได้ทำแนวกันไฟ เพราะตามธรรมชาติไฟจะมอดไปเอง เพราะมันมี “สู่จ่อ” หรือพื้นที่ป่าชื้น ๆ ใกล้ ๆ ห้วย ไฟจะไม่ลามไป สัตว์ป่าจะหนีไปอยู่ที่สู่จ่อนี่แหละ หลังจากไฟไหม้เสร็จมันถึงจะออกมา เมื่อก่อนสัตว์ป่าไม่ค่อยตายเยอะ แต่เดี๋ยวนี้มันไหม้แรงจนไม่มีสู่จ่อแล้ว สัตว์หนีไม่ทันด้วย เพราะไฟลามไวมาก อีกอย่างถ้าบนดอยจุดนี้มีไฟไหม้ ปีหน้าจะไม่ไหม้ เพราะใบไม้มีน้อย”

แต่ด้วยแนวคิดของทางการที่มองว่าปัญหาหมอกควันเกิดจากการเผาของคนท้องถิ่น ทำให้วิถีจัดการไฟที่เคยเป็นมาต้องเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยทยอยเผาบางส่วนด้วยการคุมไฟตามหลักธรรมชาติ เปลี่ยนเป็นการห้ามเผาจนเกิดการสะสมของใบไม้และเชื้อไฟต่าง ๆ ข้ามปี เป็นต้นเหตุของไฟป่าที่โหมรุนแรง ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย นักวิชาการจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเคยมีผลงานวิจัยกับสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง  “แนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน” ได้อธิบายถึงสาเหตุและผลกระทบของเรื่องนี้

“ในหลายกรณีภาครัฐเองขาดความเข้าใจในเรื่องไฟด้วยซ้ำไป เช่น นโยบาย Zero Open Burning คือห้ามเผาเด็ดขาด หรือห้ามมีไฟเกิดขึ้นเลย นโยบายนี้เคยล้มเหลวในหลายประเทศ อย่างในอเมริกาหรือที่อื่น ๆ เพราะมันเป็นการสะสมเชื้อไฟ ในขณะที่ระบบนิเวศของป่าภาคเหนือเป็นป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ซึ่งระบบไฟเป็นส่วนหนึ่งของป่า เพียงแต่เป็นระบบไฟภายใต้การจัดการที่เหมาะสม ฉะนั้นจึงไม่เกิดการลุกลามขนาดนี้ แต่พอภาครัฐใช้วิธีการจัดการปลายทางที่ผิดวิธี เช่น คุมไม่ให้เกิดการเผาเลย มันกลับกลายเป็นสะสมมูลเหตุมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดไฟระบาดขนาดใหญ่”

นอกจากจะไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดมลพิษและหมอกควันโดยตรงแล้ว ชุมชนชาติพันธุ์บนดอยสูงยังถูกระดมให้ไปดับไฟป่าที่ไม่ได้เกิดจากการกระทำของตน สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดทั้งความคับข้องใจและการไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนชาติพันธุ์ มากไปกว่านั้นคือปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขจากต้นตอของสาเหตุที่แท้จริง โดยในส่วนของผลกระทบต่อชุมชนนั้น ผู้ใหญ่มานพได้สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า

“เมื่อก่อนมันเป็นฤดูกาล ดอยไหน ๆ ก็เผาแดงเป็นแนวยาว ไม่เคยมีใครว่าไม่ดี แต่หลัง ๆ มาคนในเมืองบอกว่าเกิดหมอกควันจากไฟป่า มีการห้ามเผา พอไฟป่าเกิดขึ้นมาจากดอยไหนหรือใครมาเผาก็ไม่รู้ เขาประกาศให้คนในหมู่บ้านระดมกันไปดับ ไม่ว่ากลางวันกลางคืนก็ต้องไป กว่าจะไปถึงเหนื่อยมาก และเกิดขึ้นบ่อยมาก ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดี เพราะเราไม่ได้เผา ทำไมเราต้องถูกกระทบด้วย”

เมื่อใช้ข้อสงสัยของผู้ใหญ่มานพเป็นจุดตั้งต้น เพื่อหาคำตอบว่าแท้จริงแล้วไฟป่ารุนแรงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควันพิษเกิดจากปัจจัยใดกันแน่ ดร.กฤษฎาได้อธิบายถึงหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาไฟป่าและปริมาณ PM 2.5 ที่พุ่งสูงในภาคเหนือ

“ปัญหาฝุ่น pm 2.5 รวมทั้ง pm 10 เกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนมากพบในการเผาของภาคเกษตรเชิงพาณิชย์ การทำไร่ข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือที่ลามถึงพื้นที่ป่า เพราะไร่เชิงพาณิชย์รุกซ้อนเข้าไปในพื้นที่ป่าด้วย ระบบธุรกิจการเกษตรเป็นตัวเร่งให้ชาวบ้านต้องใช้วิธีที่เร็วและถูกที่สุด เพราะถ้าใช้วิธีอื่นเช่นกำจัดหญ้าด้วยยาฆ่าหญ้าจะมีต้นทุนสูง ดังนั้นเลยเกิดการเผามากขึ้น จริงอยู่ว่าการทำเกษตรพื้นบ้านในวิถีดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์มีการทำไร่หมุนเวียน การเผาและการใช้ไฟมีอยู่แล้ว แต่เป็นการเผาตามวิถีธรรมชาติและภายใต้ข้อจำกัดจึงไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา ในอดีตคนในภาคเหนือจะมีช่วงที่เรียกว่าฤดูฝุ่นควันซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่การขยายตัวของพืชพาณิชย์เหล่านี้ มันทำให้การจัดการไฟในแบบเดิมยากขึ้น แปลงเกษตรที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม นอกจากนั้นการทำเกษตรเชิงพาณิชย์มีการใช้สารเคมี ดังนั้นเวลาฝุ่นควันพวยพุ่งขึ้นมา จึงผสมผสานด้วยสารเคมีหรือสารก่อมะเร็งต่าง ๆ ”

สาเหตุอีกเรื่องหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศในภาคเหนือ ดร.กฤษฏาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาจเกิดจากฝุ่นควันของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าหงสาทางฝั่งลาว ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ใกล้เขตจังหวัดน่าน จากหลากหลายสาเหตุที่ทำให้ฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูงในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ ยิ่งเรียกร้องวิธีการจัดการปัญหาอย่างละเอียดอ่อนและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น มากกว่าการใช้คำสั่งราชการที่รังแต่จะเกิดปัญหาด้านการสื่อสารและไม่ค่อยเป็นผลสำเร็จอย่างที่แล้วมา

ฝุ่นพิษกระจุก เหลื่อมล้ำกระจาย

ปัญหาหมอกควันอันเป็นผลพวงของเกษตรอุตสาหกรรมที่ต้องการผลผลิตจำนวนมาก ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แค่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เรื่องนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดกับไทยในหลายภูมิภาค ดร.กฤษฏา เรียกปรากฎการณ์ปัญหาฝุ่นควันเหล่านี้ว่าเป็นผลกระทบที่เกิดจากความล้มเหลวของเกษตรเชิงพาณิชย์ ผู้ที่เป็นเหยื่อของฝุ่น PM 2.5 มาโดยตลอดคือสาธารณชนผู้ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันตัวเองจากเรื่องนี้เลย

“ปัญหา PM 2.5 เกิดมานาน ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ อย่างภาคเหนือจะเห็นว่าจุด Hot spot มีตั้งแต่เมียนมาร์และลาว การขยายตัวของพืชจำพวกข้าวโพด รวมทั้งอ้อยต่าง ๆ ลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์เลยรุนแรง อย่างภาคใต้เมื่อก่อนเราจะเจอปัญหาใหญ่คือฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาพื้นที่ปาล์มขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฝุ่นควันลอยข้ามประเทศมาเลย นี่คือภาวะความล้มเหลวของเกษตรพาณิชย์ขนาดใหญ่”

นอกจากผลกระทบจากอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่แล้ว สาเหตุของฝุ่นพิษยังเกิดจากมลภาวะของนิคมอุตสาหกรรม ผลการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่าฝุ่น pm 2.5 ที่ปกคลุมในกรุงเทพมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่รายล้อม โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดฝุ่นควันลอยปกคลุมอย่างหนาแน่น และมีระดับความเข้มข้นของสารพิษที่ก่อมะเร็งสูง นอกจากนั้นฝุ่นพิษยังเกิดจากภาวะความเป็นเมือง โดยเฉพาะเมืองโตเดี่ยวแบบกรุงเทพมหานคร

“เราขาดการจัดการเรื่องระบบขนส่ง เรามีผังเมืองที่เป็นปัญหา ไม่จำกัดปริมาณรถ มีพื้นที่สีเขียวน้อย บวกกับกรุงเทพเป็นเมืองรวมศูนย์ รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ต้องขนส่งของจำนวนมากวิ่งมาในเมืองซึ่งแออัด มีตึกสูงจำนวนมาก ทำให้ระบบการเคลื่อนย้ายของอากาศมีปัญหา พอถึงช่วงหน้าหนาวซึ่งความกดอากาศเคยถูกบรรเทาเบาบางด้วยกระแสลม แต่ปัจจุบันไม่ค่อยเกิดขึ้น ฝุ่นควันจึงก่อตัวเป็นปัญหาหนักมาก ดังนั้นจะเห็นว่าทุกปัญหาเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาปลายทางคือฝุ่นควัน”

เมื่อประมวลสาเหตุต่าง ๆ ของวิกฤติมลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกวัน จะเห็นว่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่เล็กแค่หนึ่งใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผม กลับซ่อนปมปัญหาขนาดใหญ่เหมือนฐานของภูเขาน้ำแข็งไว้ข้างใต้ เพราะถูกหมักหมมเรื้อรังมานาน และไม่เคยถูกจัดการที่รากเหง้าของปัญหา การรับมือกับวิกฤติมลพิษของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีส่วนในการสร้างมลพิษทางอากาศ มักเป็นเพียงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม(Corporate Social Responsibility-CSR) หรือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เช่นเดียวกับมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศในบางจุด หรือแม้แต่การไล่ฉีดน้ำเพื่อลดฝุ่นเป็นคราว ๆ ไป 

ดร.กฤษฏา ย้ำให้ฉุกคิดว่าปัญหาเรื่องฝุ่นไม่ได้เป็นปัญหาโดด ๆ หากแต่พ่วงอยู่กับระบบการใช้ทรัพยากรและระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยยังไม่เห็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด กลุ่มทุนใหญ่ ๆ ทำท่าว่าจะมุ่งสู่ทิศทางโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการก้าวเข้ามารับผิดชอบปัญหามลพิษที่สะสมเรื้อรังมานาน รัฐบาลต้องพิจารณาใช้หลักการ “Polluter pays principle” คือผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย ที่ผ่านมารัฐอ้างว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็น พ.ร.บ.ด้านการเงิน ทำให้เกิดภาระจึงปัดตกไป แต่อย่าลืมว่างบประมาณที่เกี่ยวกับการเยียวยาอันเกิดจากผลกระทบของมลพิษ สามารถดึงผู้สร้างมลภาวะมาเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบได้ ท้ายที่สุด ดร.กฤษฎาได้สรุปบทเรียนเกี่ยวกับประเด็นมลพิษทางอากาศที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนทิศทางการแก้ปัญหาในกรอบที่กว้างขึ้นไปยังระดับนโยบาย

“เรามักจะเห็นปัญหาที่ปลายทาง อีกเรื่องคือเราไม่มีระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้แก้ปัญหา สามคือไม่มีกลไกการทำงานร่วมกัน มีแค่คนทำงานกลุ่มเล็ก ๆ เช่น “สภาลมหายใจเชียงใหม่” และที่สำคัญที่สุดคือยังสาวไปไม่ถึงกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ เหมือนพวกเขาเป็นคนวงนอก ทั้ง ๆ ที่เขาคือ Polluter ทำยังไงให้คนเหล่านี้เข้ามารับผิดชอบปัญหาด้วย สุดท้ายคือเราจะมีเครื่องมือทางนโยบายที่จะมาจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไร ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นเพียงปัญหายอดพิรามิดของผลกระทบที่เกิดขึ้น ข้างใต้คือปัญหาโครงสร้างใหญ่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในเรื่องของการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นการจะแก้ปัญหาได้คือเราต้องยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้จ่าย ที่สำคัญคือต้องกระจายอำนาจ กระจายการมีส่วนร่วม เพราะถ้าหากเราไม่แก้ปัญหานี้ มันจะเกิดปัญหาที่ใหญ่มากกว่าปัญหาสุขภาพ”

สำหรับโมเดลของสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ถูกอ้างถึง เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้ร่วมก่อตั้งสภาฯ ให้ข้อมูลว่าองค์กรภาคประชาสังคมนี้เกิดขึ้นในช่วงปีที่มลพิษสูงสุดติดอันดับโลก ความโชคดีของเชียงใหม่คือเป็นจังหวัดที่มี NGos นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก ทุกฝ่ายจึงหันหน้ามาร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นร่วมกัน โดยมีทั้งตัวแทนจากสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย สภาองค์กรชุมชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพ กลุ่มที่ทำงานด้านที่ดินป่าไม้ นักวิชาการ ศิลปิน รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ โดยมีสโลแกนขององค์กรว่า “เรามีพลังลมหายใจเดียวกัน” ซึ่งคือที่มาของชื่อสภาลมหายใจเชียงใหม่

“เรานำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน อยากให้ทุกฝ่าย “มองเห็นช้างทั้งตัวร่วมกัน” คือเห็นปัญหาร่วมกันในภาพรวมทั้งหมด ทั้งมุมธุรกิจ รัฐ ท้องถิ่น ประชาสังคม จากนั้นคือ “มองเห็นดาวดวงเดียวกัน” ที่ผ่านมาทุกคนมีดาวของตัวเอง ต่างคนต่างทำ แต่ครั้งนี้มันเป็นวิกฤตใหญ่ ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน จากนั้นจึงมาทำแผนร่วมกัน ค่อย ๆ ลดฝุ่นควันลง ช่วยกันคิดว่าจะจัดการยังไง โดยผ่านองค์ความรู้เชิงวิชาการต่าง ๆ ”

ผลงานที่เป็นรูปธรรมของสภาลมหายใจเชียงใหม่คือเรื่องของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยร่วมกันเรียนรู้และนำศักยภาพมาเชื่อมร้อยกัน เช่น ชุมชนมีการวางแผนร่วมกับองค์กรบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น หารือว่าพื้นที่ไหนจะไม่ให้เกิดไฟเลย พื้นที่ไหนเผาได้บ้างแต่มีการควบคุม รวมทั้งมีแอปพลิเคชั่นของนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชื่อ FireD ที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ ทั้งจุดค่าความร้อนและค่า PM 2.5 การเคลื่อนของกระแสลมต่าง ๆ เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและ อบต. ต่างช่วยกันแจ้งข้อมูลผ่านทางแอปพลิเคชั่นนี้ รวมทั้งมีมีวอร์รูมหรือศูนย์ ICT ของสภาลมหายใจฯ ใน อบจ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่ทำงานอันทันสมัยของคณะกรรมการป้องกันปัญหาฝุ่นควันของเชียงใหม่

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ชัชวาลและสภาลมหายใจเชียงใหม่อยากเห็นคือทิศทางของนโยบายในระดับประเทศ รวมทั้งการผลักดันข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สำเร็จตามความต้องการของประชาชน        

“อยากเห็นประชาชนทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ลุกขึ้นมา เริ่มต้นจากตัวเองก็ได้ รวมกลุ่มเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน พวกเราต้องเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สุดท้ายคือต้องออก พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างเร่งด่วนที่สุด การมีสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเรากำลังจะขยายเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือการเรียนรู้ของพลเมืองด้วย หวังว่าเขาจะไม่หยุดแค่เรื่องนี้ จะแก้ปัญหาท้องถิ่น ดูแลส่วนรวมมากขึ้น อันนี้น่าจะเป็นความหวังที่สำคัญมาก ๆ สำหรับอนาคต”