Train To Pakistan โศกนาฏกรรมในฤดูร้อน - Decode
Reading Time: 3 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

“ข้อเท็จจริงคือทั้งสองฝั่งมีการฆ่า ทั้งสองฝั่งมีการยิง, แทง, และทุบตี ทั้งสองฝั่งมีการถูกทรมานและข่มขืน”

ข้อความข้างต้นคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์หลังสหราชอาณาจักร คืนเอกราชให้อินเดีย และขีดเส้นแบ่งประเทศปากีสถานสำหรับชาวมุสลิม ประเทศอินเดียสำหรับชาวฮินดู ซิกข์ และศาสนาอื่น ๆ ผู้คนต่างต้องอพยพตามคำสั่งของรัฐบาล

ชาวมุสลิมประมาณ 8 ล้านคน ต้องอพยพไปยังปากีสถาน ชาวฮินดู และชาวซิกข์ประมาณ 6 ล้านต้องอพยพมายังอินเดีย ระหว่างการอพยพมีความรุนแรงเกิดขึ้น ผู้คนถูกฆ่า ทรมาน และถูกปล่อยให้ตายด้วยความอดอยาก จากชนวนเหตุความขัดแย้งทางศาสนา

หนังสือ Train To Pakistan เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์แบ่งแยกดินแดน อินเดีย-ปากีสถาน ผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเขตชายแดนอินเดีย-ปากีสถาน 

โดยผู้เขียน ขุชวันท์ ซิงห์ (Khushwant Singh) เป็นหนึ่งผู้ที่อยู่ร่วมเหตุการณ์การแบ่งแยกอินเดียในปี ค.ศ. 1947 

ความขัดแย้งที่ฝังลึกของชาวมุสลิม ซิกข์ และฮินดู

“ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1947 การแบ่งแยกประเทศอินเดียกับปากีสถาน ไม่ได้มีความหมายอะไรสำหรับชาวซิกข์และมุสลิมในหมู่บ้านมาโนมาจา (Mano Majra)”

หนังสือ Train To Pakistan เริ่มต้นด้วยการบรรยายภาพบรรยากาศ การอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขของชาวซิกข์ ฮินดู และมุสลิมในหมู่บ้านมาโนมาจา พวกเขาใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ได้รับรู้ข่าวสารความรุนแรงจากโลกภายนอก จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดการฆาตกรรมขึ้นในหมู่บ้าน ตามมาด้วยขบวนรถไฟที่แล่นมาจากปากีสถาน พร้อมศพของชาวซิกข์และฮินดูนับพันศพ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว หมู่บ้านมาโนมาจาก็เปลี่ยนไปแบบไม่หวนกลับมา

“ชาวซิกข์แก้แค้นชาวมุสลิม ด้วยการโจมตีขบวนรถไฟชาวมุสลิมที่กำลังอพยพไปยังปากีสถาน มีคนตายเกินพันศพ พวกเขาเขียนที่หัวจักรรถไฟว่าของขวัญสู่ปากีสถาน”

เรื่องราวดังกล่าวในหนังสือ สามารถอ้างอิงได้จากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1947 การสังหารหมู่บนรถไฟที่เมืองอัมริตสา รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ชาวซิกข์โจมตีผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม ด้วยดาบ หอกและปืน มีผู้เสียชีวิต 3,000 คน และบาดเจ็บอีก 1,000 คน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็เกิดการโจมตีขบวนรถไฟผู้ลี้ภัยชาวซิกข์-ฮินดู ในเขตปากีสถาน การโจมตีครั้งดังกล่าวทำให้ชาวซิกข์และชาวฮินดู เสียชีวิตอีก 340 คน และบาดเจ็บอีก 250 คน

หากมองย้อนกลับไป ชนวนเหตุความขัดแย้งระหว่างทั้ง 3 ศาสนา ชาวมุสลิม ชาวซิกข์ และชาวฮินดู ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ยุคที่ชาวมุสลิมเข้ามาปกครองอินเดีย และชาวฮินดูต้องอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมนับเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเข้ามาปกครอง รวมถึงการมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและพิธีกรรมทางศาสนาที่แตกต่างกัน 

รวมทั้งกับชาวซิกข์เองก็มีประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ไม่ค่อยจะดีนักกับศาสนาอิสลาม เมื่อหนึ่งในศาสดาคนที่ 5 ของศาสนาซิกข์ คุรุอาร์จัน (Guru Arjan) ถูกจับภายใต้คำสั่งของจักรพรรดิโมกุล และขอให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เขาปฏิเสธจึงถูกทรมานและประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1606

โดยตัวละครในหนังสือ Train To Pakistan ก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย และฉายภาพให้เห็นถึงบริบทของคนในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเหตุการณ์จราจลที่เกิดขึ้น

หุกัม จันทร์ (Hukam Chand) ผู้พิพากษาในเขตพื้นที่หมู่บ้านมาโนมาจา เขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจสูงสุดในพื้นที่ ปูมหลังของตัวละครเต็มไปด้วยปมขัดแย้งภายในตัวเอง ทั้งการที่ลูกสาวถูกชาวมุสลิมฆ่าข่มขืนที่ปากีสถาน การที่เขาไปหลงรักหญิงสาวชาวมุสลิมที่มีอายุเท่าลูกของตัวเอง และการที่เขาต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อระงับการสังหารหมู่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านมาโนมาจา

อิกบาล (Iqbal) นักสังคมสงเคราะห์ไฟแรง ที่จบการศึกษาจากอังกฤษ ถูกส่งตัวมาเพื่อระงับความรุนแรง แต่โลกแห่งความเป็นจริงการจะเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่ได้เป็นไปได้ง่ายอย่างที่ใจเขาคิด

จูกัส ซิงห์ (Juggut Singh) หนุ่มร่างใหญ่วัย 24 ปี ที่ตำรวจหมายหัวเขาเป็นบุคคลอันตราย เพราะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นโจร เขาได้เข้าไปพัวพันกับการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งต้องพยายามหลบซ่อนความรักระหว่างเขากับหญิงสาวชาวมุสลิม

มิต ซิงห์ (Meet Singh) ผู้เคารพนับถือของชาวซิกข์ในหมู่บ้าน และ อิหม่าม บัค (Imam Baksh) ผู้นำทางความเชื่อชาวมุสลิม พวกเขาต่างอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างพี่น้อง แต่เมื่อรถไฟขนศพชาวซิกข์นับพันมาที่หมู่บ้าน พวกเขาก็ต่างกลายเป็นคนแปลกหน้า และต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเพื่อความอยู่รอดของพวกพ้องตัวเอง

“ถ้าเขาฆ่าชาวซิกข์หรือฮินดู 1 คน เราจะฆ่ามุสลิม 2 คน ถ้าพวกเขาข่มขืน เราจะทำแบบเดียวกัน 2 เท่า ถ้าเขาทำลายบ้านพี่น้องเรา 1 หลัง เราจะทำลาย 2 หลัง ถ้าเขาฆ่าคนทั้งขบวนรถไฟ 1 ขบวน เราจะฆ่า 2 ขบวน นี่จะเป็นการหยุดการฆ่าจากอีกฝั่ง มันจะเป็นการสอนพวกเขา ว่าพวกเราก็สามารถเล่นเกมนี้ได้” คำกล่าวจากกลุ่มชาวซิกข์หัวรุนแรง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1947  ไปจนถึงกลางปี ค.ศ. 1948 ล้วนเกิดขึ้นจากการโต้ตอบกันไปมาระหว่าง 2 ฝ่าย โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐของทั้งฝ่ายอินเดียและปากีสถาน ต่างไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หนำซ้ำหลายเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐล้วนเมินเฉยต่อความรุนแรง และอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราวตอนหนึ่งในหนังสือได้ถ่ายทอดการอพยพของผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าวไว้อย่างเจ็บปวด

“ซันเดอร์ ซิงห์ (Sunder Singh) พยายามเดินทางกลับมายังอินเดียด้วยรถไฟกับภรรยา และลูกของเขาทั้งสามคน ในขบวนรถไฟผู้โดยสาร 500 คน ทั้งชาย หญิง โดยสารในรถไฟโดยปราศจากน้ำภายใต้บรรยากาศที่ร้อนระอุ รถไฟติดค้างอยู่ในสถานีแห่งหนึ่งถึง 4 วัน โดยไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ลงจากรถไฟ ซันเดอร์ ซิงห์ ต้องถ่ายปัสสาวะออกมาให้ลูกของเขาดื่มกิน จากนั้นเขาจึงตัดสินใจยิงลูกและภรรยาทั้ง 4 คนเสียชีวิตคารถไฟ รถไฟเริ่มขยับอีกครั้ง เขาโดยสารรถไฟมายังอินเดียพร้อมศพลูกและภรรยาของเขา”

เสรีภาพ ศาสนา เรื่องเล่าแห่งความหลอกลวง

“อินเดียเต็มไปด้วยความหลอกลวงทางศาสนา สำหรับฮินดูมันหมายถึงระบบวรรณะและการเคารพนับถือวัว สำหรับมุสลิมมันหมายถึงการขลิบและการกินเนื้อ  สำหรับชาวซิกข์คือการไว้ผมยาวและเกลียดมุสลิม พวกเราคือชาวตะวันออกสำหรับสิ่งลึกลับไม่มีการพิสูจน์ เพียงแค่ศรัทธาไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล” 

ความเชื่อเรื่องศาสนายังคงฝังลึกในค่านิยมของคนอินเดียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างศาสนาในอินเดียยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอดตามข่าวสารที่ออกมา เรื่องราวตอนหนึ่งในหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่าง อิกบาลที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกตะวันตก กับมิต ซิงห์ผู้มีความเชื่อเรื่องศาสนายังเต็มเปี่ยม

โดยเมื่ออิกบาลกล่าวว่าเขาไม่ได้นับถือศาสนาใด ๆ และในโลกตะวันตกผู้คนก็ไม่ได้ใส่ใจมากนักเกี่ยวกับการนับถือศาสนา มิต ซิงห์ตอบกลับว่าสิ่งนี้ทำให้พวกชาวตะวันตกไม่มีคุณธรรม 

ก่อนที่อิกบาลจะสวนกลับว่า แต่พวกชาวตะวันตกก็ไม่คอร์รัปชันและพูดโกหกเหมือนคนอินเดียทั้ง ๆ ที่มีศาสนา 

โดยอิกบาล ได้กล่าวต่อว่าคนเราจะมีศีลธรรมหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญลำดับแรกคือพวกเขาควรที่จะมีเงิน มีอาหาร มีเสื้อผ้า และความสะดวกสบายในชีวิต คุณธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีหรือไม่มีศาสนา แต่ขึ้นอยู่กับการมีปัจจัยพื้นฐานของชีวิต

แต่ปัจจัยพื้นฐานที่ปัญญาชนในอินเดียในยุคสมัยนั้นแสวงหา หมายรวมถึงการปลดแอกตัวเองออกจากสหราชอาณาจักร การมีเอกราชสำหรับปัญญาชนหมายถึงชัยชนะและการได้รับอิสรเสรี แต่สำหรับชาวบ้านและคนหาเช้ากินค่ำ ก็เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านเจ้านายจากคนอังกฤษ ไปเป็นคนอินเดียที่มีฐานะและการศึกษา ดังบทสนทนาที่ชาวบ้านในหมู่บ้านมาโนมาจา กล่าวกับอิกบาลว่า

“เรารู้สึกปลอดภัยกว่าภายใต้การปกครองของอังกฤษ เจ้าหน้าที่ของอังกฤษปฏิบัติต่อเราดีกว่าเจ้าหน้าที่ของอินเดีย” ชาวบ้านในหมู่บ้านกล่าว

“คุณอยากเป็นทาสไปตลอดชีวิตเหรอ” อิกบาลถามชาวบ้านก่อนที่เขาจะได้รับคำตอบว่า

“เสรีภาพคือเรื่องดี แต่เราจะได้อะไรจากสิ่งนั้น คนมีการศึกษาเช่นคุณ จะได้งานที่ดีจากเสรีภาพ แต่สำหรับพวกเราจะได้ที่ดินหรือควายเพิ่มอย่างนั้นหรือ? ไม่! เสรีภาพเป็นเรื่องของคนมีการศึกษาต่อสู้เพื่อจะได้มา เราเคยเป็นทาสให้อังกฤษและตอนนี้เราจะเป็นทาสให้คนมีการศึกษาในอินเดียและปากีสถาน”

ความขัดแย้งที่ยังไม่มีวันสิ้นสุดลง

ผมพกหนังสือ Train To Pakistan ติดไปอ่านระหว่างการเดินทางไปยังรัฐปัญจาบ โดยต้องโดยสารรถไฟ ต่อรถบัส ใช้เวลาหลายวันกว่าจะเดินทางไปถึงเมืองมุกสา จังหวัดหนึ่งในรัฐปัญจาบ พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดความรุนแรงระหว่างการแบ่งแยกดินแดนของอินเเดีย

การเดินทางในอินเดียยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนต่างชาติ แต่คงเทียบไม่ได้กับการเดินทางของชาวมุสลิมสักคนหนึ่งที่ต้องเดินทางเพื่อไปให้ถึงปากีสถาน และมีหลายต่อหลายคนที่ไปไม่ถึง ทั้งฝั่งที่เดินทางไปยังปากีสถานและเดินทางมายังอินเดีย ในช่วงเวลาแห่งการแบ่งแยกดินแดน

ตลอดเส้นทางอินเดียเต็มไปด้วยความหลากหลายทางศาสนาในทุกแห่งหน ผมได้ยินเสียงละหมาดยามเช้าในเมืองชัยปุระ ก่อนที่จะเดินเข้าไปเยี่ยมชมย่านชุมชนที่เงียบสงบของชาวมุสลิม ผมแบ่งปันที่นั่งและอาหารร่วมกับชาวฮินดูในขบวนรถไฟ ได้รับความช่วยเหลือจากชาวซิกข์ในเมืองจันดิการ์ เมื่อครั้งต้องหาทางเดินทางต่อไปยังให้ถึงจุดหมาย

คนอินเดียไม่ว่าจะศาสนาอะไร พวกเขาล้วนมีมิตรไมตรีแก่คนรอบข้าง แต่บางครั้งก็ยอมรับว่ามีหลายครั้งที่ถูกพวกเขาเอาเปรียบ สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือความเป็นคนอินเดีย มันเป็นเพียงแค่สัญชาตญาณการเอาตัวรอด ของผู้คนที่ไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานโดยสมบูรณ์ พวกเขาต่างต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยพื้นฐาน และความอยู่รอดของพวกเขา

ความอดอยากและการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด คงเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้คนสามารถมองข้ามศีลธรรมและก่อให้เกิดความรุนแรง ส่วนศาสนาก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คนนำมาใช้เพื่อเรียกหาศรัทธาจากปัจจัยพื้นฐานที่ตัวเองขาดหายไป แต่บางครั้งศรัทธาที่มากเกินไป ผสมรวมกับการดิ้นรนเพื่อต้องเอาชีวิตรอด ก็ก่อให้เกิดการตายของผู้คนจากการอพยพครั้งดังกล่าวในปี ค.ศ. 1947  200,000 ถึง 2 ล้านคน

ทุกวันนี้ไม่มีรถไฟจากอินเดียไปสู่ปากีสถาน และผู้คนที่ต่างต้องบอกลาถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองมา ก็ไม่เคยมีโอกาสได้กลับไปอีกเลย เพราะความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน ยังคงคุกรุ่นตั้งแต่ครั้งแบ่งแยกดินแดนมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

Guru Arjan

Amritsar train massacre

Partition of India

Matichonweekly