แฟนพันธุ์แท้ 'ระบบสุริยะ' - Decode
Reading Time: < 1 minute

Space for Thai

นิศาชล คำลือ

‘คนที่จะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดอาจเป็นคนที่เคยเผชิญกับปัญหามาก่อน’

เด็กผู้ชายตัวเล็กอายุ 13 ปี ที่เคยเปิดตัวในรายการแฟนพันธุ์แท้ ตอน ระบบสุริยะในปี 2014 ได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) อายุ 20 ต้น ๆ ในนาม KornKT หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อกรทอง วิริยะเศวตกุล 

โดยกรทองมีความสนใจด้านอวกาศมาตั้งแต่เด็กแต่เขากลับพบว่าการค้นคว้าข้อมูลในสิ่งที่สนใจ ณ ช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบบทความวิชาการยาวเหยียด อีกทั้งยังเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เขาจึงกลายมาเป็น KornKT ครีเอเตอร์ที่ตั้งใจเล่าเรื่องอวกาศให้ออกมาเข้าใจง่าย

ครีเอเตอร์กรทอง

เขาเริ่มสร้างเนื้อหาออกมาในรูปแบบบทความภาษาไทยและแชร์ไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ รวมไปถึงการทำเนื้อหาประเภทวิดีโอลงบนยูทูบ ซึ่งมีผู้ติดตามที่เหนียวแน่นอยู่จำนวนหนึ่ง แต่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีบนโลกของเราไม่ได้หยุดอยู่ที่เฟซบุ๊กหรือยูทูบเท่านั้น การมาของแพลตฟอร์มน้องใหม่อย่างTikTok ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกว่าเนื้อหาประเภทวิดีโอสั้นมีความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก มันจึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ครีเอเตอร์อย่างกรทองได้ปล่อยของ

“วิดีโอสั้นมีประสิทธิภาพอย่างมากในการเข้าถึงคนในยุคปัจจุบันแต่เราก็ต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์มด้วย” – กรทอง วิริยะเศวตกุล

พื้นที่ปลอดภัยของเด็กเนิร์ดสายอวกาศบนโลกอินเทอร์เน็ต

ผู้ติดตามของช่อง KornKT บนติ๊กต๊อกทะยานสูงกว่ายอดผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ซึ่งเกือบจะแตะ 5 แสนคน แล้วในตอนนี้แต่ดูเหมือนช่องของเขาได้กลายเป็นมากกว่าช่องติ๊กต๊อกทั่วไป มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิตีขึ้น เนื่องจากช่องของเขาได้กลายเป็นสถานที่บนโลกอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้คนที่สนใจด้านอวกาศเหมือนกันให้ออกมาถกเถียง, แบ่งปันและถามคำถาม

คอมมิวนิตีด้านอวกาศก็เหมือนกับคอมมิวนิตีของเหล่าทาสแมว มันกลายเป็นจุดเชื่อมให้เหล่าทาสแมวได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกัน มากกว่าการเป็นสถานที่พบของคนที่สนใจเรื่องเดียวกันบนโลกอินเทอร์เน็ต หากคอมมิวนิตีมีความแข็งแรงมากพออาจก่อให้เกิดกิจกรรมร่วมกันบนโลกจริง ๆ ได้ด้วย

กรทอง เล่าว่าผู้ติดตามส่วนใหญ่ของเขาอยู่ในช่วงวัยเรียน ซึ่งอาจมาจากสไตล์ภาษาในการเล่าและพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเสพเนื้อหาบนโลกออนไลน์

ตัวอย่างองค์กรรัฐด้านอวกาศที่มีคอมมิวนิตีที่แข็งแกร่งก็คือนาซา โดยคอมมิวนิตีของนาซาได้ทำให้เกิดกิจกรรมบนโลกจริงระหว่างสมาชิกอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันตามล่าสุริยุปราคาของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น หรือแม้กระทั่งการค้นพบด้านดาราศาสตร์ที่ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลรูปถ่ายทางดาราศาสตร์ของสมาชิก 

ในขณะที่หน่วยงานไทยอย่างนาริท ก็ประสบความสำเร็จกับการเป็นผู้นำให้สมาชิกในคอมมิวนิตีออกมาทำกิจกรรมร่วมกันบนโลกจริง เช่น การฟังเสวนาด้านอวกาศ, การชมดาวหรือดวงจันทร์ ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเล่านิทานดวงดาวให้กับเด็ก ๆ

โดยกรทองกล่าวว่าช่อง KornKT ขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็ก ๆ หนึ่งคนและคงไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในวงกว้างได้ตามลำพัง การจะให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนี้ได้ยังต้องอาศัยคนอื่น ๆ มาช่วยกันผลักดันมากขึ้น

“ยิ่งเราเข้าถึงคนได้มากเท่าไหร่ เราก็สามารถทำให้อวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวคนได้มากเท่านั้น” – กรทอง วิริยะเศวตกุล